ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-หลับยาก.jpg

หลาย ๆ คนรู้สึกว่าตัวเองตื่นนอนเร็วกว่าที่เคยเมื่อตอนยังหนุ่ม ยังสาวไหม บางคนตอบว่าเคย แต่ไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกหลายคนนอกจากการตื่นเร็วแล้ว ยังมีอาการปวดเมื่อย อ่อนล้าตามมา ยิ่งถ้าเป็นเรื้อรังปัญหายิ่งเพิ่มอีก

เป็นที่รับรู้กันว่าอายุที่มากขึ้น ร่างกายต้องการการนอนหลับน้อยลง แต่กระนั้นร่างกายก็ยังคงต้องการการนอนหลับ ระหว่าง 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน ในกรณีที่ระยะเวลาและคุณภาพการนอน ไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ แน่นอนว่าย่อมมีผลเสียตามมา เช่น มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการนอนไม่พอกับการดื้อต่ออินซูลิน รวมถึงการเสื่อมสภาพของสมองและปัญหาด้านความจำ

 

สาเหตุการนอนไม่หลับ……ที่เกี่ยวกับอายุ

การอดนอน นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ในผู้สูงอายุอาจเป็นผลมาจากปัจจัยหนึ่งหรือหลายอย่าง ได้แก่

ปัจจัยทางชีวภาพ (Biological)

วงจรนาฬิกาชีวภาพของร่างกายจะกำหนดเวลาหลับตื่นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละคน เมื่ออายุมากขึ้น พบว่ารูปแบบการนอนของเราจะเปลี่ยนไป โดยผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะง่วงนอนตั้งแต่เย็น นั่นหมายความว่าในรายที่ปกติซึ่งใช้เวลาในการนอนหลับ 7 – 8 ชั่วโมง พวกเขาจะต้องตื่นแต่เช้า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่มีผลมากในบางคน แต่มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง ที่การเปลี่ยนรูปแบบการนอนนี้ ทำให้พวกเขาสับสน ยุ่งเหยิง เกิดปัญหานอนไม่หลับ หลับยาก หากสะสมเป็นเวลานานจะเกิดผลเสียกับร่างกาย

ปัจจัยทางการแพทย์ (Medical)

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอน เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคข้ออักเสบ ปวดเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ซึ่งเป็นภาวะที่การหายใจเข้าออก ถูกขัดจังหวะอย่างต่อเนื่องในเวลากลางคืน หรือยาที่ใช้อยู่ เช่น ยาขับปัสสาวะเพื่อรักษาความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ที่กล่าวมาล้วนส่งผลต่อการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก เกิดอาการนอนไม่พอ เป็นต้น

ปัจจัยทางอารมณ์ (Emotional)

ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากสถานการณ์ต่างๆเช่น อยู่บ้านคนเดียว การเกษียณอายุ การสูญเสียเพื่อนสนิท ความท้าทายด้านการเงินหรือสุขภาพ ทั้งหมดสามารถทำให้นอนไม่หลับเลย แม้กระทั่งการกังวลเรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอ ก็ส่งผลให้นอนไม่หลับหรือหลับได้น้อยลง พูดชัด ๆ การเข้านอนขณะที่กำลังมีอะไรกลุ้มใจ กังวลใจ จะไม่เอื้อต่อการพักผ่อนที่ดี

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental)

การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม อาทิ การย้ายบ้าน การเดินทางเปลี่ยนสถานที่นอน หรืออยู่ในที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้คุณภาพการนอนลดลง

 

ปรับพฤติกรรม เอาชนะปัญหาการนอน

ถึงแม้ว่าเรื่องของอายุ คุณจะควบคุมไม่ได้ แต่มีบางเรื่องที่คุณสามารถปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงสุขภาพกายและสุขภาพใจ สถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับผู้สูงอายุ (National Institute on Aging) แนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังนี้

นอนให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย

ตรวจติดตามจังหวะดังกล่าวให้เจอ แล้วเข้าและตื่นนอนในเวลาที่สอดคล้องและเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่เว้นแม้วันหยุดสุดสัปดาห์ โดยถ้าจะงีบหลับ ขอให้ก่อนเวลานอนปกติอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการไม่ง่วง เมื่อถึงเวลานอนจริง

ฝึกให้เป็นกิจวัตรประจำวัน

ทำอะไรที่ผ่อนคลาย ก่อนนอนให้เป็นนิสัย เช่น แช่ในอ่างอาบน้ำ โดยหลีกเลี่ยงการดูทีวีก่อนเวลานอน เพราะแสงจากทีวีมีผลต่อระดับเมลาโทนิน ฮอร์โมนจากสมองที่ช่วยในการนอนหลับ

ปรับแต่งห้องนอน

ห้องนอนควรมีไว้ใช้ 2 เรื่องเท่านั้น คือ การนอนหลับและการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นห้องนอนควรมืด เย็นและเงียบสงบ โดยควรเอาทีวีออกจากห้องนอน

ออกกำลังกาย

ร่างกายที่กระฉับกระเฉงจะช่วยให้นอนหลับดีขึ้น แต่ไม่ออกกำลังกายในช่วง สามชั่วโมงก่อนนอน เพราะร่างกายคุณจะตื่นตัว หลับยาก

กินและดื่มให้เป็น

อาหารมื้อใหญ่ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ก่อนนอน จะทำให้คุณหลับยาก ของขบเคี้ยวเล็ก ๆ ก่อนนอนจะช่วยในการนอนหลับ ไม่แนะนำให้ดื่มมากๆในตอนเย็นหรือค่ำ เพราะจะเพิ่มโอกาสที่คุณต้องลุกไปเข้าห้องน้ำหลังจากนอน

 

การนอนหลับมีผลต่อร่างกายและอารมณ์ของเราอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลปัญหาเรื่องการนอนหลับอย่างจริงจัง หากมีปัญหาการนอน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่คุณติดต่อได้

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.everydayhealth.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-เสี่ยงนอนไม่หลับ-นอนไม่พอ.jpg

ร่างกายของคนเรา คุ้นเคยกับการทำกิจกรรมในตอนกลางวันและพักผ่อนในตอนกลางคืน โดยมีสมองและฮอร์โมนคอยควบคุมชีวิต ให้ดำเนินไปตามวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock)  อย่างไรก็ตาม การทำงานในบางอาชีพ เป็นอุปสรรคสำคัญในการที่ปฏิบัติตัวตามวงจรนี้  มาดูว่ามีอาชีพอะไรบ้าง

 

1. ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ
ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ท้าทาย แต่บางครั้งการทำงานโดยต้องปลุกตัวเองให้ตื่นตัวตลอดทั้งคืน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย นั่นเป็นเพราะรูปแบบการทำงาน ขัดกันกับวงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย ส่งผลให้นอนหลับไม่พอ เกิดการหลับในอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะกับคนที่มีอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ

 

2. ผู้ดูแลระบบออนไลน์
ในขณะที่ข้อดีของระบบเครือข่ายออนไลน์ในปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการในการสั่งซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคได้อย่างสะดวกสบายตลอด 24  ชั่วโมง แต่ข้อเสียที่ไม่อาจมองข้าม คือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลระบบจะต้องอดหลับอดนอน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลระบบ อาจนำมาซึ่งภาวะ นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย

 

3. คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในกะกลางคืน และพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง การดำเนินชีวิตแบบนี้ นอกจากมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงานกับเครื่องจักรแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน
และโรคซึมเศร้า

 

4. ผู้บริหาร
สำหรับผู้บริหารแล้ว ความเครียดในการบริหารงาน บริหารคน บวกกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ส่งผลกระทบโดยตรงกับการพักผ่อน  ยิ่งใช้ชั่วโมงในการทำงานมากเท่าไหร่ ช่วงเวลาการพักผ่อน รวมถึงการนอนก็น้อยลงไปเท่านั้น และการนอนน้อย ก็ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน 

 

5. นักข่าว
ในชั่วโมงที่การนำเสนอข่าวแข่งกันด้วยความสด อาชีพนักข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้ผลิตรายการ แทบจะต้องใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมง อุทิศให้กับการผลิตและรายงานข่าวให้ทันเหตุการณ์ การทำงานเช้ายันเช้า หรือเย็นจนถึงดึกดื่นอีกคืน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอาชีพนี้

 

6. พยาบาล
การดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล เป็นงานหนัก ต้องใช้ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน พยาบาลแทบทุกคนทำงานและเข้าเวร มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน (ส่วนใหญ่อยู่ที่ 12 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ ) ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพแล้ว ยังลามไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานให้กับประชาชนอีกด้วย

 

7. นักวิเคราะห์ทางการเงิน
ยิ่งเป็นนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศ เช่น ยุโรป หรือเอเชีย ความต่างของเวลา ทำให้ร่างกายและสมองต้องปรับตัว ปรับชั่วโมงการทำงานที่ผิดจากเวลาปกติ นานวันไปจะส่งผลเสียต่อวงจรนาฬิกาชีวภาพของร่างกายได้

 

8. ตำรวจ
งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง  ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามปรับตัว ให้พร้อมกับการเข้าเวรในกะเช้าและกะกลางคืนหมุนเวียนกันไป

 

9. แพทย์ฝึกหัด
แม้จะคุ้นเคยกับการอดหลับอดนอน ในการเรียนการสอบตอนเป็นนักเรียนแพทย์ แต่ภาวะนั้นไม่ได้จบลง การเป็นแพทย์ฝึกหัดที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตอนกลางคืน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กับแพทย์หลายคน รวมทั้งการนอนน้อย ยังอาจส่งผลต่อความผิดพลาดในการวินิจฉัยผู้ป่วยอีกด้วย

 

10. นักบิน
อาชีพนักบินกับการอดนอน และนอนในเวลาที่แตกต่างแทบจะเป็นของคู่กัน ทั้งนักบินที่บินระยะสั้นแต่หลายเที่ยวบิน หรือนักบินที่บินทางไกลข้ามทวีป จะต้องเจอปัญหาการบินข้ามเวลามาซ้ำเติม การนอนหลับให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันความอ่อนล้า หรือ Pilot Fatigue ซึ่งจะทำให้คุณภาพการทำงานของนักบินลดลง กระทบต่อการตัดสินใจ และความปลอดภัยในการบิน

 

11. ครอบครัวที่มีลูกอ่อน
เลิกคิดถึงการนอนหลับยาว ๆ เมื่อเจ้าตัวน้อยพร้อมจะตื่นทุกสองสามชั่วโมงตลอดคืน งานวิจัยพบว่าคุณแม่มือใหม่อาจได้นอนถึง 7 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่การนอนที่มีคุณภาพไม่มีทางหลับสนิทได้ แต่โชคดีที่สถานการณ์นี้จะคลี่คลายขึ้น เมื่อ 16 สัปดาห์ผ่านไป

 

12. คนขับรถบรรทุก
เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรในช่วงกลางวัน การเดินทางในเวลากลางคืน คือ เวลาที่คนขับรถนิยม แต่มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่เกิดจากการหลับในของคนขับ

 

13. บาร์เทนเดอร์
งานกลางคืนที่หลายคนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ยิ่งดึกยิ่งตาสว่าง แต่นั่นหมายถึงสมดุลในการนอนตามธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวงจรนาฬิกาชีวภาพกำลังถูกทำลายไป โดยไม่รู้ตัว

 

อดนอนเป็นอาชีพ ส่งผลเสียอย่างไร

การนอนผิดเวลาบ่อย ๆ ทำให้วงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน วงจรการหลับและตื่นถูกรบกวน หลายคนต้องประสบปัญหานอนไม่หลับ ตามมาด้วยความรู้สึกอ่อนเพลียหลับยาก หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพอีกมากมาย

 

อย่าเพิ่งตกใจ ทางแก้ยังมี

  • พยายามปรับเวลาเข้านอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
  • สร้างบรรยากาศการนอนให้เป็นเหมือนเวลากลางคืนมากที่สุด
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแสงไฟ ไม่มีเสียงดังรบกวน
  • ในเวลาทำงานกะดึก พยายามหาเวลางีบบ้างซัก 15-30 นาที
  • เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ช่วยซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ
  • ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แถมช่วยให้หลับสนิทขึ้น

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com


healthy-bedclothes.jpg

มนุษย์เราใช้เวลาในการนอน ประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของร่างกาย โดยร่างกายจะมีกลไกสำคัญ ๆ ในช่วงเวลานอน เพื่อให้ร่างกายพร้อมมากที่สุดภายหลังการตื่นนอน ดังนั้นคุณภาพการนอนจึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ของทุก ๆ คน

 

อ่านย่อหน้านี้ แล้วจะรักการ “นอนหลับ”

สำหรับใครที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า การนอนหลับเป็นเวลาที่ทุกระบบในร่างกายหยุดหมดนั้น ความจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้น การนอนหลับ สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ คือ ช่วงหลับธรรมดา (non-rapid eye movement (NREM) sleep) และช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement (REM) Sleep) รวมเป็นวงจรการนอนหลับสลับไปมาในระหว่างที่เรานอนหลับ จนกระทั่งตื่น
โดยช่วงหลับธรรมดายังแบ่งย่อยเป็น เริ่มง่วง หลับตื้น หลับปานกลาง หลับลึก ในทุกช่วงของการนอนหลับระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังคงทำงานอยู่ ยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น ช่วงหลับลึก เป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอน กินเวลา 30 – 50 นาทีในแต่ละรอบการนอน ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น Growth hormone เพื่อการเจริญเติบโต มีการซ่อมแทรมส่วนที่สึกหรอ
หรือช่วงหลับฝัน กินเวลา 30 นาทีในแต่ละรอบการนอน ช่วงนี้สมองจะมีการจัดการข้อมูลต่างๆที่เข้ามา ทำให้เกิดเป็นความทรงจำ ความเข้าใจ และอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลานอนนั้น หลาย ๆ ระบบในร่างกายยังคงทำงาน ทั้งเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การหลั่งของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต การหลั่งของสารที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของร่างกาย การจัดระเบียบความคิดและความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเครียด รวมถึงการสะสมพลังงานเพื่อใช้ในขณะตื่น

 

ผลเสียของการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ

การอดนอน นอนไม่หลับหรือนอนไม่พอเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการนอนเกินจะส่งผลต่อสุขภาพ มีการศึกษาพบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน มีผลต่ออัตราการตายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง ติดต่อกัน 6 คืน จะเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญกลูโคส การใช้อินซูลิน ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกระบวนการจำ คิดและตัดสินใจอีกด้วย

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการคุณภาพการนอน

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการนอนมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเพศ วัย อาชีพ สภาพแวดล้อม สุขนิสัย ความเจ็บป่วย โดยผู้สูงอายุมักจะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งจากฮอร์โมน ความคิดและอื่น ๆ ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพการนอนที่แย่ลง
มีเทคนิคแก้นอนหลับไม่สนิทอยู่หลายข้ออาทิ ทำกิจกรรมคลายเครียดก่อนเข้านอน ออกกำลังกายช่วงเย็น อาบน้ำอุ่นก่อนนอน ปรับเวลาเข้าและตื่นนอน ปรับบรรยากาศห้องนอนให้น่านอน เพลงกล่อมนอน เป็นต้น

 

“ที่นอน” อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพการนอน

อุปกรณ์การนอนโดยเฉพาะ “ที่นอน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญต่อคุณภาพการนอน เนื่องจากสรีระของผู้นอนที่แตกต่างกัน ทั้งความสูง น้ำหนักตัว เพศชายหญิง โดยการที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด
ท่านอนที่มีไม่มากเป็นเวลานานหลาย ๆ ชั่วโมง ล้วนส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ตัวอย่างเช่น ที่นอนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือท่านอนที่ผิด อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อของผู้นอน เป็นต้น บางคนตื่น ๆ หลับ ๆ
บางคนตื่นมาแล้วยังรู้สึกง่วงนอนอยู่ บางคนรู้สึกปวดหลัง  ปวดแขน ปวดขา หลังจากตื่นนอน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นผลมาจากคุณภาพ “ที่นอน” ที่ใช้อยู่ประจำ

 

คุณลักษณะของ “ที่นอน” ที่ดี

ที่นอนที่ดีนั้นไม่ควรนิ่มหรือแข็งจนเกินไป โดยที่นอนแบบนิ่ม จะมีผลทำให้ปวดหลังได้มากกว่าที่นอนแบบแข็ง โดยที่นอนที่เก่า มีการใช้งานมานาน มีความนิ่มไม่คืนตัว เป็นแอ่งกระทะ ผู้นอนจะเกิดอาการปวดหลัง  หายใจไม่สะดวก ทำให้นอนไม่หลับ สะสมจนเกิดอาการนอนไม่พอ
นอกจากนี้ที่นอนยังควรมีโครงสร้างที่เหมาะสม เช่น ความแน่น จำนวนชั้น วัสดุ รูปทรง ที่สามารถรองรับน้ำหนักและสภาพร่างกายที่แตกต่างกันของผู้นอนได้ ทั้งนี้ควรรวมถึงการรองรับอย่างเหมาะสม ในเวลาที่ผู้นอนขยับตัว ทั้งการดิ้น พลิกตัว หรือลุกตื่นจากการนอน

 

ประเภทของที่นอน

  • ที่นอนฟองน้ำ เป็นที่นอนที่นำฟองน้ำมาอัดใส่ข้างในโดยผสมสารเคมี ทำให้ที่นอนมีความแข็งแรง ไม่ยุบเร็ว น้ำหนักเบา ความนุ่มนิ่มจากฟองน้ำคือ คุณสมบัติหลักของที่นอนประเภทนี้ แต่ต้องแลกับคุณสมบัติในการคืนตัวของที่นอนที่มีต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นแอ่งเว้าโค้งตามบริเวณที่มีน้ำหนักกดประจำ ที่นอนฟองน้ำเหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประหยัด ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนปวดหลังง่าย
  • ที่นอนใยมะพร้าว ผลิตขึ้นจากการอัดของเส้นใยแข็งที่ได้มาจากกาบมะพร้าว ทำให้ที่นอนใยมะพร้าวค่อนข้างมีความแข็ง ไม่ยวบยาบ ไม่ยุบตัว มีความแน่นทึบ คงสภาพดี ระบายอากาศได้ดี เป็นมิตรต่อธรรมชาติ แก้อาการปวดหลังจากการนอนบนที่นอนนิ่มและยุบตัวง่าย แต่หากหมดสภาพแล้ว ใยมะพร้าวจะเริ่มลุ่ย เป็นขุย เกิดเชื้อราจากความชื้น และอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ
  • ที่นอนสปริง เป็นที่นอนที่มีการผลิตและจัดจำหน่ายเยอะที่สุด คุณภาพแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของสปริง เช่นเดียวกับราคา ที่นอนสปริงมีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมความชื้น ยิ่งมีน้ำหนักมากยิ่งมีสปริงมาก ทำให้รับสรีระส่วนที่โค้งเว้าได้ดี จุดเด่นของที่นอนประเภทนี้ คือที่นอนจะเด้ง นุ่ม น้ำหนักเบา สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ประเภทของสปริงแต่ละแบบ ก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป โดยยิ่งมีจำนวนรอบเกลียว มาก ก็จะยิ่งยืดหยุ่นและรับน้ำหนักได้ดี ข้อเสียของที่นอนสปริง คือสปริงจะยุบ ล้ม และล้าได้ตามคุณภาพของวัสดุและจำนวนสปริง
  • ที่นอนยางพารา เป็นที่นอนที่มีคุณสมบัติคล้ายที่นอนฟองน้ำ แต่มีความยืดหยุ่นและทนทานกว่า สามารถรองรับสรีระความโค้งเว้าทุกส่วนของผู้นอนได้ดี ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ทำให้นอนหลับได้สบายตัว ไม่เมื่อย ไม่ปวดหลังเวลาตื่นนอน เป็นที่นอนที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้กันในหลายประเทศ ทั้งนี้ควรใช้ที่นอนยางพาราแท้เพื่อผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากที่นอนยางพาราแท้จะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าที่นอนประเภทอื่น ๆ นิ่มกำลังดี คงทน ไม่ยุบตัวง่าย ไม่ปวดเมื่อย ไม่สะสมความชื้น รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้นอนสามารถนอนได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับที่นอนประเภทอื่นแล้ว ที่นอนยางพารามีราคาที่สูงกว่า

การใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิต และเป็นเวลาสำคัญที่ร่างกายพักฟื้น ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งสารเคมีกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย จัดระเบียบความคิดและความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเครียด สะสมพลังงานเพื่อใช้ในขณะตื่น ดังนั้นช่วงเวลานอนหลับจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทุกๆคนจึงควรใส่ใจกับลักษณะของที่นอนมากอันส่งผลถึงคุณภาพของการนอนมากยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียงโดยกองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ต

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ความรู้เรื่องการนอนหลับ
  2. 10 เทคนิคช่วยนอนหลับสนิทตลอดคืน
  3. รู้จักที่นอนและการเลือกที่นอนให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดี

 


B-clock.jpg

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาพบว่าสิ่งมีชีวิตมีระบบที่สำคัญในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในรอบวัน เสมือนนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ในมนุษย์ ระบบดังกล่าวจะควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพื่อความตื่นตัว เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย เพื่อควบคุมวงจรการหลับ-ตื่น (มืด-สว่าง) และเพื่อควบคุมระดับอุณหภูมิร่างกาย

รวมถึงพฤติกรรมและสรีรวิทยาในเรื่องอื่น ๆ ถ้าระบบนาฬิกาชีวภาพปกติ ร่างกายจะเกิดสมดุล ส่งผลให้สุขภาพเป็นปกติ แต่ถ้าคนเราอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ระบบของนาฬิกาชีวภาพผิดปกติไป ผลเสียต่อสุขภาพจะตามมา

 

ระบบนาฬิกาชีวภาพ

มีศูนย์ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นในร่างกาย ตั้งอยู่ที่ Suprachiasmatic nucleus (SCN) ของสมองส่วนไฮโปธารามัส (Hypothalamus) โดยมีการศึกษาพบคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถสร้างจังหวะการทำงานขึ้นมาได้เอง และถูกตั้งค่าใหม่ได้โดยแสงสว่าง ปกติในช่วงสว่างเมื่อจอประสาทตาหรือเรตินา (Retina) ได้รับแสงจะส่งสัญญาณไปยัง SCN โดย SCN จะแปรสัญญาณไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย  หากเป็นตอนเช้าสัญญาณจะส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และชะลอการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin)

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นและมีความพร้อมสำหรับกิจกรรม ขณะที่ในช่วงมืด จอประสาทตาหรือเรตินา เมื่อได้รับแสงน้อยลง ต่อมไพเนียล (Pineal gland) จะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมามากขึ้น  SCN จะแปรสัญญาณส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนอนหลับโดยร่างกายจะมีอุณหภูมิและความดันโลหิตลดลง และอาศัยช่วงเวลาที่นอนหลับซ่อมแซม ฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอ จัดระเบียบความคิด ความจำในด้านต่าง ๆ ทำให้ร่างกายสามารถดำเนินกิจกรรมในเวลาต่อมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสภาวะอารมณ์ที่ดี

ในชีวิตประจำวัน มีหลายๆปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้นาฬิกาชีวภาพผิดปกติ ทั้งด้านสรีรวิทยา ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยนาฬิกาชีวภาพที่ผิดปกติจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : 
en.wikipedia.org  ejournals.swu.ac.th  thestandard.co
ภาพประกอบจาก : myeivf.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก