ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง

มาตรการหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 มีการตรวจหาเชื้อ แยกผู้ติดเชื้อ (Isolation) กักกัน (Quarantine) ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง สังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อต่ำ และมีมาตรการรองรับแต่ละกลุ่ม โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

 

วิธีตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด 19 ที่นิยมทำในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง ได้สิทธิตรวจหาเชื้อโควิดฟรี ตรวจสอบสถานที่ตรวจได้ที่ www.service.dmsc.moph.go.th/labscovid19 กรณีที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงอาจมีค่าบริการ สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ สายด่วน สปสช. 1330 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
.
สำหรับวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สรุปได้ดังนี้

  • Real-time RT PCR เป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งเป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่แนะนำในปัจจุบัน โดยการป้ายเอาเมือกและเยื่อบุในคอ หรือโพรงจมูก หรือนำเสมหะที่อยู่ในปอดไปตรวจ เป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มีความไว มีความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อย ๆ ได้ ทั้งนี้ผลตรวจเป็นบวกสามารถยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 ได้ หากผลตรวจเป็นลบเป็นการตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งอาจต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากนั้น สำหรับสาเหตุที่ตรวจไม่พบอาจมาจากเชื้ออยู่ในระยะฟักตัว ยังมีจำนวนน้อย และสาเหตุทางด้านเทคนิคอื่น ๆ
  • Antibody test การเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว ทราบผลได้ใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5 – 7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10 – 14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค วิธีนี้มีราคาถูกกว่า แต่หากเพิ่งได้รับเชื้อ ยังไม่มีอาการ ผลการตรวจอาจขึ้นเป็นลบ เหมือนว่าผู้ป่วยไม่ได้รับเชื้อโควิด 19 ปัจจุบันยังไม่แนะนำมาใช้เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยหลัก

 

กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง

กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง เช่น สมาชิกในครอบครัว ญาติ และผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่มีอาการป่วยที่ต้องกักตัว (Quarantine) ต้องทำอย่างไรบ้าง
.

การกักตัวสามารถทำที่บ้าน (Home Quarantine) สิ่งที่ต้องปฏิบัติตลอด 14 วัน

  • ผู้กักตัวควรหยุดเรียน หยุดงาน พักอยู่บ้าน ไม่ออกไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะ
  • ผู้กักตัวควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในขณะที่ผู้อื่นต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับผู้กักตัวด้วย
  • จัดห้องพักแยกต่างหาก เลือกที่อากาศถ่ายเท ไม่ใช้พื้นที่ร่วมกันโดยไม่จำเป็น แม้แต่ห้องน้ำ
  • กรณีต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน นอกเหนือจากทุกคนใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ผู้กักตัวควรรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ควรอยู่ใกล้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังหรือเด็กเล็ก
  • เลี่ยงการใช้สิ่งของและเลี่ยงทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน เลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกัน
  • ทำความสะอาดพื้นที่ เครื่องใช้ ห้อง พื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อเป็นประจำ เช่น ห้องน้ำ หากมีการใช้ร่วมกันก็ควรทำความสะอาดทุกวันด้วยเช่นกัน
  • การซักผ้าควรใช้น้ำร้อน 60 – 90 องศาเซลเซียส ร่วมกับน้ำยาซักผ้าปกติในการซักผ้า และเครื่องนอนของผู้ที่ต้องกักตัว และอย่าให้เสื้อผ้า เครื่องนอนที่ใช้แล้วของผู้กักตัวสัมผัสกับผ้าอื่นๆ ที่สะอาด
  • ควรสวมถุงมือทุกครั้งในการทำความสะอาด และล้างมือทั้งก่อนและหลังทำความสะอาด ถ้าเลือกได้แนะนำถุงมือประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  • ถ้าต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ควรปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำชำระ
  • ถ้าไอหรือจาม แม้แต่ไอแห้งเบา ๆ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือแขนเสื้อปิดปาก หลังไอจามเสร็จควรล้างมือทุกครั้ง
  • แยกขยะ เช่น ถุงมือ กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย และทำเครื่องหมายติดป้ายไว้ว่าขยะติดเชื้อ และแม้ตอนนี้ตามท้องถนนจะยังไม่มีถังขยะแยกสำหรับขยะติดเชื้อเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ก็เป็นการดีกว่าที่เราจะได้บอกเจ้าหน้าที่เก็บขยะให้เพิ่มความระมัดระวัง
  • เก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อตรวจหาเชื้อ วิธี Real-time RT PCR จำนวน 2 ครั้ง เก็บตัวอย่างครั้งแรกโดยเร็วเมื่อเจ้าหน้าที่ระบุผู้สัมผัสได้ และเก็บตัวอย่างครั้งที่สอง 7 วัน หลังจากตรวจครั้งแรก หรือ 13 วัน หลังจากวันสัมผัสผู้ป่วยยืนยันครั้งสุดท้ายแล้วแต่ว่าวันใดถึงก่อน

 

กลุ่มเสี่ยงต่ำที่ต้องสังเกตอาการต้องทำอย่างไรบ้าง

ผู้สังเกตอาการ ไม่ต้องทำแบบการกักตัว แต่เน้นมาตรการป้องกันหลัก ๆ คือ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกต้องบ่อย ๆ เว้นระยะห่างกับผู้อื่นให้เพียงพอ โดยหากอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูก เจ็บคอ ไม่หายภายใน 3 – 4 วัน หรืออาการรุนแรงขึ้นต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที

.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19  |  “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร  |  โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้  |  ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ  |  ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง  |  การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


-ข้อสงสัย-การควบคุม.jpg

ไม่มีอาการป่วย ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ช่วยอะไรได้บ้าง

ช่วยด้านการป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐในแต่ละพื้นที่

 

ไม่มีอาการ แต่มีตัวอย่าง 5 กรณีนี้ ควรทำอย่างไร

1) ไปเที่ยวกลางคืน ภายหลังสถานที่ดังกล่าว พบผู้ติดเชื้อในวันและเวลาใกล้เคียงกัน  2) เพื่อนที่ทำงานนั่งใกล้ ๆ กันติดเชื้อ  3) คนในบริษัทเดียวกันติดเชื้อ ไม่รู้จักส่วนตัว  4) คนในคอนโดที่พักติดเชื้อ ไม่รู้จักส่วนตัว  5) ไปห้างสรรพสินค้าที่มีข่าวคนติดเชื้อ ไม่ได้ไปที่ร้านเดียวกัน  6) คุณลุงที่บ้านอยู่ด้วยกัน ติดเชื้อ

  • กรณีที่ 1 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอาการ แต่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ให้ใช้มาตรการกักตัว 14 วัน หากมีอาการป่วยไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
  • กรณีที่ 2 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อทุกวัน ให้ไปตรวจหาเชื้อโควิด ระหว่างรอผลให้ใช้มาตรการกักตัว หากมีอาการป่วยไปพบแพทย์ทันที
  • กรณีที่ 3 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ โอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อน้อย ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการป้องกัน หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
  • กรณีที่ 4 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ โอกาสสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อน้อย ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการป้องกัน หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
  • กรณีที่ 5 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ โอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อน้อย ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการป้องกัน หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
  • กรณีที่ 6 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อทุกวัน ให้ไปตรวจหาเชื้อโควิด ระหว่างรอผลให้ใช้มาตรการกักตัว หากมีอาการป่วยไปพบแพทย์ทันที

*เป็นแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ในสถานการณ์จริงให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1668 กรมการแพทย์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

 

ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อยากรู้ว่าใช่โควิดหรือเปล่าต้องทำอย่างไร

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ให้ดูว่ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเข้าออกพื้นที่เสี่ยงไหม กรณีมีปัจจัยเสี่ยงให้ติดต่อเพื่อตรวจโควิดทันที กรณีไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้สังเกตอาการ หากต้องการตรวจสามารถติดต่อขอตรวจโดยออกค่าใช้จ่ายเองจากหลายสถานบริการ

 

ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง รอสังเกตอาการ เมื่อไหร่ควรไปหาหมอหรือตรวจโควิด

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 – 4 วัน หรืออาการรุนแรงขึ้นระหว่างสังเกตอาการ เช่น ไข้สูงขึ้น หอบเหนื่อย ให้พบแพทย์และตรวจโควิดทันที

 

ผู้ติดเชื้อโควิดแล้วมีอาการ แบบไหนอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง แบบไหนอาการรุนแรง

ผู้ติดเชื้อโควิด ในช่วง 1 – 5 วันแรก อาการจะไม่รุนแรง เป็นอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่น ระยะต่อมาประมาณ 6 – 15 วันหลัง เชื้อลุกลามเข้าสู่หลอดลมและปอด เป็นระยะโควิดลงปอด อาการจะรุนแรงขึ้น มีอาการไอถี่ขึ้น ไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอาจเสียชีวิตได้

 

การตรวจหาเชื้อโควิด 19 มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจได้ผลเป็นลบหรือไม่

มีโอกาส สาเหตุเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดพลาดจากการเก็บเชื้อของผู้ทำการตรวจ ตำแหน่งที่เก็บเชื้ออาจเข้าไปในช่องทางเดินหายใจไม่ลึกพอ หรืออยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ ทำให้เชื้อมีน้อยตรวจไม่เจอ ดังนั้น ถ้าผลการตรวจเป็นบวก คือ ติดเชื้อโควิด ถ้าผลเป็นลบ คือ ตรวจหาเชื้อไม่เจอ อาจต้องมีการตรวจซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาถัดไป

 

เมื่อผลตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ผลเป็นลบ สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เลยไหม

ไม่ได้ กลุ่มเสี่ยงยังต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ในบางกรณีอาจต้องมีการตรวจซ้ำ

  

เมื่อผลตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ผลเป็นบวก ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

เข้าสู่มาตรการแยกตัว (Isolation) ซึ่งทางภาครัฐจัดไว้ กรณีไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยจะพักที่รพ.สนาม หรือ Hospitel กรณีมีอาการรุนแรงต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

 

ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Quarantine) เป็นใครได้บ้าง แล้วต้องปฏิบัติอย่างไร

กลุ่มเสี่ยง เป็นผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เดินทางเข้าออกพื้นที่มีการระบาด กับกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมดในระหว่างที่รอรับการตรวจ รอผลการตรวจ โดยให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ผู้ถูกกักกันต้องไม่ออกจากที่พักอาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
  2. รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น โดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วน้ำส่วนตัว ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
  3. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70%
  4. สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านประมาณ 1 – 2 เมตร
  5. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด พูดคุยกับบุคคลอื่นในบ้าน
  6. ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง
  7. ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบ ๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำ ด้วยน้ำยาฟอกขาว
  8. ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70 – 90 °C

.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19  |  “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร  |  โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้  |  ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ  |  ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง  |  การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง  |  การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : น.ท.หญิง พญ. ศิริพร ผ่องจิตสิริ

ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก