ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

ตกขาวเป็นสิ่งที่พบได้ในผู้หญิงทั่วไป  ความสำคัญ คือ คุณควรรู้ว่าเมื่อไหร่ตกขาวนั้นปกติ เมื่อไหร่ตกขาวนั้นผิดปกติ ซึ่งการประเมินนั้นจะขึ้นอยู่กับสี กลิ่น ปริมาณ และอาการผิดปกติอื่น ๆ บริเวณพื้นที่ลับของคุณ

 

ตกขาวปกติ

ตกขาว เป็นสิ่งปกติที่พบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยธรรมชาติของเพศหญิง ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่หลั่งจากต่อมบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อหล่อลื่นและความสะอาดอวัยวะเพศ โดยทั่วไปตกขาวจะมีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว เชื้อแบคทีเรียและของเสียอื่นจากภายในช่องคลอด ดังนั้น ตกขาวจึงเป็นขั้นตอนธรรมชาติในการรักษาความสะอาดภายในอวัยวะเพศของผู้หญิง ซึ่งจากกระบวนการนี้ทำให้ โดยทั่วไปการล้างทำความสะอาดตอนอาบน้ำนั้นก็เพียงพอ ในการทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศแล้ว ไม่จำเป็นต้องสวนล้างด้วยน้ำยาหรือสเปรย์ใด ๆ ซึ่งน้ำยาหรือสเปรย์เหล่านั้นจะระคายเคืองช่องคลอด และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อภายในช่องคลอดได้

ลักษณะตกขาวของผู้หญิงหนึ่งคนอาจจะแตกต่างกันในแต่ละช่วง เช่น ช่วงมีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงให้นมบุตร หรือกระทั่งช่วงใกล้หมดประจำเดือน และสำหรับผู้หญิงในช่วงหมดประจำเดือนแล้วนั้นส่วนมากจะมีตกขาวที่ลดลง ลักษณะตกขาวที่ปกติโดยทั่วไปนั้นจะมีสีขาวใส และเหนียวข้น แต่อาจจะมีลักษณะเป็นเมือกลื่นๆได้ หากผู้หญิงคนนั้นอยู่ในช่วงตกไข่ของรอบเดือน หรือกำลังมีการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ โดยการใช้ยาคุมกำเนิด หรือยาฆ่าเชื้อบางชนิดอาจทำให้ตกขาวนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะปกติเดิมได้ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นความผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษาอะไร การหยุดยาเหล่านั้นจะทำให้ตกขาวกลับมาปกติเอง

นอกจากลักษณะขาว ใส เหนียวข้นแล้ว ตกขาวที่มีลักษณะเป็นครีมขาว หรือการมีเลือดปนออกมาบ้างครั้ง (มักพบในช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน) ก็ถือว่าเป็นปกติได้ และตกขาวที่ปกติก็มักจะไม่มีกลิ่น หรือมีกลิ่นฉุน ๆ แค่เพียงเล็กน้อย

 

ตกขาวที่ผิดปกติ

ลักษณะที่พบได้บ่อยสำหรับตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีสีเหลือง เขียว หรือเป็นตะกอนก้อนๆ คล้ายชีสหรือตะกอนคล้ายนมและการมีอาการปวด แสบ หรือคันบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย ซึ่งจากลักษณะข้างต้นนั้น เป็นอาการของภาวะช่องคลอดอักเสบ โดยสาเหตุหลักมักเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อภายในช่องคลอด หรือ จากภายนอกช่องคลอดก็ได้ โดยราชวิทยาลัยสูตินรีเวชของประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Congress of Obstetricians and Gynecologists) ได้อธิบายถึงภาวะการอักเสบของช่องคลอด ซึ่งเกิดจากเชื้อภายในช่องคลอดว่า เกิดจากความผิดปกติของสมดุลระหว่างเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อราในช่องคลอด โดยในช่องคลอดของผู้หญิงนั้นจะมีเชื้อแบคทีเรียและราอาศัยอยู่ร่วมกันอยู่ในลักษณะของการรักษาความสมดุล หากเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งปริมาณน้อยลงอีกชนิดหนึ่งก็จะการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณมากขึ้น  หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสมดุลดังกล่าวทำให้เชื้อตัวใดตัวหนึ่งมีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติเชื้อนั้นจะทำให้เกิดภาวะอักเสบของช่องคลอด โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อสมดุลในช่องนั้นประกอบด้วย ยาฆ่าเชื้อ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การสวนล้างช่องคลอด ยาฆ่าตัวอสุจิ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อขนิดอื่นๆ นอกจากนั้นเชื้อจากภายนอกที่ทำให้ช่องคลอดอักเสบนั้น สามารถติดทางการมีเพศสัมพันธ์ได้ เช่น เชื้อคลามัยเดีย (Chlamydia) เชื้อหนองใน (Gonorrhea) เชื้อทิโครโมนาส (Trichomoniasis)

ดังนั้น เมื่อสงสัยว่ามีตกขาวที่ผิดปกติหรือสงสัยว่าจะตัวเองจะเป็นช่องคลอดอักเสบให้มองหาลักษณะเหล่านี้ในตกขาวของคุณ

  • กลิ่นที่ผิดปกติ ซึ่งหากคุณทำความสะอาดอย่างถูกต้องเป็นประจำ ตกขาวของคุณไม่ควรจะมีกลิ่น หากกลิ่นของตกขาวนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั้นเป็นอาการบ่งบอกว่า คุณอาจมีภาวะช่องคลอดติดเชื้อได้ โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ คลามัยเดีย (Chalmydia) ทิโครโมแนส (Trichomoniasis) และเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอดเอง
  • สีที่ผิดปกติ โดยปกติสีของตกขาวจะเป็นสีขาวครีม หรือขาวใส หากตกขาวของคุณเปลี่ยนไปเหลือง เขียว หรือน้ำตาล และอาจมีเลือดปนออกมาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในข่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน แสดงว่าคุณมีภาวะช่องคลอดอักเสบ
  • ลักษณะของตกขาวที่ผิดปกติไป เช่นการมีตกขาวที่มีลักษณะ เหนียว ข้น ร่วมกับการมีตะกอน คล้ายก้อนชีสเล็กหรือ ตะกอนของนม ซึ่งเป็นลักษณะของการอักเสบของช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อรา โดยการติดเชื้อรา มักเกิดความอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือการเปลี่ยนสมดุลกรดเบสในช่องคลอด นอกจากลักษณะของตกขาวที่เปลี่ยนไปแล้ว มักจะมีอาการคันบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย ซึ่งการรักษานั้นสามารถทำได้ง่าย โดยการใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไป
  • อาการอื่น ๆ เช่น อาการคัน ปวดแสบปวดร้อน บวม แดง ผื่น  หรืออาการที่แสดงถึงการระคายเคืองอวัยวะเพศ

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ในกรณีที่เคยไปรักษาและได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อรา และหากอาการในครั้งนี้เป็นเหมือนเดิม คุณสามารถซื้อยาฆ่าเชื้อราในช่องคลอดมาใช้เองได้ ซึ่งโดยส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบยาสอดทางช่องคลอด แต่หากไมแน่ใจสาเหตุ หรือเพิ่งเปลี่ยนคู่นอนควรปรึกษาแพทย์

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: Qualityhealth.(2009).ตกขาว.23 ธันวาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.Qualityhealth.com
ภาพประกอบจาก: www.ayushveda.com


-ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด.jpg

การตรวจภายใน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ประโยคสั้น ๆ นี้ที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่สบายใจไปตาม ๆ กัน หากต้องรับการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นหญิงมีบุตรแล้ว หรือหญิงที่ยังไม่แต่งงานก็ตาม อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการตรวจภายในเป็นการตรวจทางการแพทย์ ที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องตรวจตามความเหมาะสม

 

ผู้หญิง ควรจะตรวจภายในเมื่อไร ตรวจแล้วจะบอกอะไรได้บ้าง เวลาตรวจควรเตรียมตัวมาอย่างไร การตรวจภายในทำได้ทุกอายุของผู้หญิงเลย ถ้าเกิดมีตกขาวผิดปกติ มีเลือดออก ช่องคลอดมีกลิ่น ปวดท้องน้อย สงสัยมีก้อน หรือมีน้ำในท้อง ในเด็กวัยอนุบาล ประถม ก็ตรวจได้ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าว จะมีเครื่องมืออันเล็กเหมือนที่ตรวจรูจมูก บางครั้งสูตินรีแพทย์ใช้นิ้วก้อยตรวจได้ หรือตรวจทางทวารหนักแทน

เด็กผู้หญิง ที่มีเพศสัมพันธ์เร็วตั้งแต่วัยรุ่นก็สามารถตรวจได้ เพื่อรักษาโรคทางเพศสัมพันธ์ ตกขาว เลือดออกผิดปกติ ปวดท้องน้อย หรือเกิดโชคร้ายท้องนอกมดลูก เป็นถุงน้ำที่รังไข่ ก็สามารถตรวจภายในวินิจฉัยได้

ส่วนผู้หญิงโสด ถ้าประจำเดือนปกติ ตรวจสุขภาพทั่วไปและอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกปกติ จะเริ่มตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูกตอนอายุ 30 ปีขึ้นไปก็ได้

 

ในการตรวจภายใน สิ่งที่ต้องคำนึงด้วยเสมอเพื่อมิให้วินิจฉัยโรคผิดพลาด

เรื่องประจำเดือน ซึ่งต้องเน้นรายละเอียดและความแม่นยำที่ถูกต้อง ในบางครั้งคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงที่ยังเป็นนางสาว มิได้ยืนยันการไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ถ้าเชื่อตามคำนำหน้าชื่ออาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ การสอบถามประวัติของแพทย์ และการให้ข้อมูลที่เป็นจริงของผู้ได้รับการตรวจ เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เคยเจอมาแล้วก็คือ สูตินรีแพทย์บางคนเกรงใจไม่กล้าถามมาก ปรากฏว่าได้ผ่าตัดสิ่งที่คิดว่าเป็นเนื้องอกในมดลูก ที่มีขนาดเท่าอายุครรภ์ 4 เดือนออกไป หลังจากตรวจชิ้นเนื้อกลับ พบว่า เป็นเด็กทารก เป็นที่น่าเสียใจว่าเธอถูกตัดมดลูกออกไปโดย ที่ไม่มีโอกาสมีบุตรอีก เพราะพยายามปิดบังข้อมูลกับแพทย์ และแพทย์ท่านนั้นก็ไม่นึกว่าเธอจะมีเพศสัมพันธ์จนมีบุตร เพราะลักษณะภายนอกเธอเป็นผู้ดี และเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้

เพราะฉะนั้น การซักประวัติส่วนตัวอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ การใช้ยาคุม จำนวนบุตร การแท้งธรรมชาติ หรือการทำแท้ง จะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคมาก ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่แพทย์จำเป็นต้องถามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เด็กผู้หญิงบางคนจะใจแข็งมาก บางครั้งอยู่ที่หอพักเดียวกัน พากันมาส่งเพราะมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องป่อง แพทย์ห้องฉุกเฉินนึกว่าปัสสาวะไม่ออกเลยปวด กำลังจะสวนปัสสาวะให้ ปรากฏว่าเบ่งแป็บเดียวเด็กออกมาเลย ก็เคยพบกันบ่อย ๆ นอกจากนี้ ยังมีบางคนที่มารดาพามาตรวจ นึกว่าเป็นโรคท้องป่องท้องมาร นึกว่าใครเสกอะไรเข้าท้อง พอหมอตรวจท้อง ฟังแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจอีกดวงก็ยังไม่ยอมรับ ผู้หญิงเรามักจะใจแข็งจริง ๆ แต่พอเอกซเรย์ดูจึงเห็นกระดูกศีรษะ ซี่โครง แขนขา มารดาเข่าอ่อนไปเลยก็มี ส่วนใหญ่มารดาของเด็กสาวมักจะห้ามบอกบิดา เพราะบิดาจะอารมณ์รุนแรงรับไม่ได้ ทั้งที่พ่อแม่ควรให้อภัยแก่ลูกสาว บางเรื่องพลาดแล้วย้อนกลับคืนไม่ได้ แต่โอกาสทำความดีต่อไปของคนเรายังมี อย่าไปด่าว่า หรือทุบตีรุนแรงเลย

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ในบางครั้งระยะที่ขาดประจำเดือนกับขนาดท้องไม่สัมพันธ์กัน เป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่เสมอ ต้องติดตามดูอาการ และได้รับการตรวจครรภ์ตามแพทย์ และใส่ใจประเมินครบกำหนดคลอด บางคนมีลูกมา 2 – 3 คนแล้ว ท้องลาย ก้นลาย แต่มาบอกหมอสูติว่าท้องแรก เอ้า…ท้องแรกก็ท้องแรก แต่เวลาคุณเธอคลอดเราต้องระวัง เพราะท้องแรกจะคลอดช้า ท้องสองและสามจะไวมาก หมอสูติต้องเตรียมพร้อม

 

เรื่องอาการทางกระเพาะปัสสาวะ มักเกี่ยวข้องกับช่องคลอดและมดลูกเสมอ ในเรื่องการรักษา เช่น ถ้ากระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ รักษาไม่หาย ควรนึกถึงการอักเสบเรื้อรังในช่องคลอดด้วย บางครั้งปัสสาวะไม่ออก เพราะมดลูกจากผู้หญิงที่เบ่งลูก หลายคนเอ็นที่ยึดมดลูกจะไม่ตึง ทำให้มดลูกหย่อนมาจุกตรงช่องคลอด กดช่องปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่ออก

การเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก และช่องคลอดนำส่งตรวจหามะเร็งต่อไปจาก

  1. มดลูก
  2. ปากมดลูก
  3. ช่องคลอด
  4. คีมปากเป็ด

 

เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมตัวรับการการตรวจภายใน

ผู้หญิงสามารถตรวจภายในได้ทุกเวลา ยกเว้นช่วงที่มีประจำเดือน แต่ถ้ามีเลือดออกผิดปกติไม่ใช่ประจำเดือนก็ตรวจได้เลย จะได้ดูจุดที่เลือดออก สีของเลือด ปริมาณมากน้อยแค่ไหน วินิจฉัยได้แม่นยำ ไม่ต้องรอเลือดหยุด ซึ่งควรเตรียมตัวก่อนรับการตรวจภายในดังนี้

  • ควรปัสสาวะทิ้งให้หมดก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกให้ชัดเจน
  • ถ้ามีปัญหาเรื่องกระเพาะปัสสาวะ สูตินรีแพทย์อาจสวนตรวจเพาะเชื้อโรค และให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อโรคนั้นๆ
  • ถ้ามีปัญหาเรื่องตกขาวมีกลิ่น คัน ตกขาวเปลี่ยนสี ไม่ควรสอดยามาเอง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจเชื้อได้ถูกต้อง ให้ยาได้ทันท่วงที ถ้าสอดยามาจะมียาเต็มในช่องคลอด จะตรวจไม่ได้
  • ไม่ควรใช้น้ำยาล้างลึกเข้าไปในช่องคลอดก่อนมาตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือมาตรวจการ เพราะภาวะความเป็นกรดด่างถูกทำลาย เซลล์ที่หลุดลอกออกมาถูกล้างไปหมด
  • ไม่ต้องงดอาหารและน้ำดื่มมาในการตรวจภายใน มาตรวจได้เลย ทางสูตินรีแพทย์จะตรวจคลำเต้านมให้ด้วย ถ้ามีน้ำไหลจากหัวนมจะบีบใส่ slideไปตรวจเซลล์มะเร็ง
  • ในการวินิจฉัยบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่ อาจตรวจทางทวารหนักร่วมด้วย โดยใช้นิ้วชี้ตรวจทางช่องคลอด นิ้วกลางตรวจทางทวารหนัก และอีกมือคลำหน้าท้องด้วย
  • เวลาตรวจภายในจะเริ่มจากดูต่อม Bartholin และต่อม Skene ซึ่งหลั่งสิ่งหล่อลื่นในช่องคลอด รวมทั้งกลิ่นด้วยว่ามามีหนอง หรือเป็น cyst ไหม มีการหย่อนด้านหลังของผนังช่องคลอดไหม ตรวจดูว่าหูรูดกระเพาะปัสสาวะหย่อนหรือไม่ ให้เบ่งดู หรือไอดู ขณะมีน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะอยู่เต็ม ว่าเล็ดกระเด็นออกมาหรือไม่ มดลูกเคลื่อนต่ำลงมาหรือเปล่า มีหนองอยู่ในที่ปัสสาวะและในช่องคลอดหรือไม่ สังเกตปากมดลูกว่าปลิ้น มีรอยฉีกขาดอักเสบเรื้อรัง หรือมีหนองจากรูมดลูกหรือไม่ จังหวะนี้ก็จะตรวจมะเร็งปากมดลูกจากรูมดลูก รอบคอมดลูก และด้านหลังของช่องคลอดส่วนลึกต่ำกว่าปากมดลูก นอกจากนี้ ก็จะคลำขนาด ตำแหน่งการเคลื่อนไหวของมดลูก กดแล้วเจ็บหรือไม่ รวมทั้งผิวเรียบหรือไม่ และคลำปีกมดลูก 2 ข้างด้วย เพื่อดูเนื้องอกรังไข่และท่อรังไข่ ว่ามีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่

การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด แต่จะกลับทำให้ผู้หญิงเรามั่นใจได้ว่าสุขภาพสตรีของตัวเองนั้นปกติดีหรือไม่ หรือหากพบความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ง่ายต่อการรักษาและหายได้เร็ว ลดโอกาสการสูญเสียต่าง ๆ ได้มากกว่าค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: นิตยสาร Health Today.(2010).ตรวจภายในไม่น่ากลัวอย่างที่คิด. 24 ธันวาคม 2557.
แหล่งที่มา: www.healthtodaythailand.net
ภาพประกอบจาก: www.yourhealthyguide.com


.jpg

เมื่อมีอาการคัน หรือมีตกขาวปริมาณมาก สตรีมักจะนึกถึงการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นสาเหตุแรก ๆ ทำให้ไปหาซื้อยามาใช้เอง ใช้ครบบ้างไม่ครบบ้าง จนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังขึ้นมา อันที่จริงแล้วอาการคันและตกขาวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือแม้กระทั่งไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย เช่น การตกขาวปกติร่วมกับความเป็นกรดของช่องคลอด สิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในช่องคลอด เป็นต้น ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อยามาใช้เองควรได้รับการประเมินจากสูติ-นรีแพทย์ก่อน โดยเฉพาะในการเป็นครั้งแรก

เชื้อราในช่องคลอด ช่องทางของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง เป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ บางชนิด การพบเชื้อดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าสตรีรายนั้นเป็นโรค พบมากถึงร้อยละ 41 ของสตรี จะมีเชื้อราในช่องคลอดโดยไม่มีอาการ ทั้งนี้ ขึ้นกับอายุ ฐานะ ภูมิภาคที่อยู่อาศัย เชื้อราชนิดที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ส่วนใหญ่คือ เชื้อ Candida albicans เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี นอกจากนี้ เชื้อ Candida ยังสามารถอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้โดยไม่ก่ออาการอีกด้วย โดยสามารถตรวจพบเชื้อรานี้ในอุจจาระของประชากรร้อยละ 65

 

เชื้อ Candida albicans

Candida albicans เป็นเชื้อราที่เมื่อย้อมสีแกรมจะติดสีน้ำเงิน ปรากฏให้เห็นเป็นสองรูปแบบ คือ ยีสต์และสายรายาว สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งบนพื้นผิว และในสารคัดหลั่งของร่างกาย โดยเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นรูปแบบยีสต์ที่มีการแตกหน่อจำนวนมาก ขณะที่เจริญแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนรูปร่างเป็น เส้นใยที่มีและไม่มีผนังกั้น

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเชื้อราในช่องคลอด

การอักเสบในช่องคลอดจากเชื้อรา พบได้น้อยในเด็กหญิงก่อนมีวัยประจำเดือน และสตรีวัยหมดประจำเดือน ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน คือ ปริมาณไกลโคเจนในสารน้ำในช่องคลอดและความชื้น ดังนั้น ภาวะนี้จึงพบได้มากในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภูมิประเทศที่อาการร้อนและมีความชื้นสูง ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังพบบ่อย ในผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง ทำให้การกำจัดหรือการลดจำนวนของเชื้อราได้ช้าลง

 

อาการและอาการแสดง

อาการแสดงที่เด่นชัดที่สุดคือ อาการคัน ซึ่งมักจะคันค่อนข้างมาก อาการมักจะดีขึ้นเมื่อมีประจำเดือน เชื่อว่าเกิดจากความเป็นด่างของเลือดประจำเดือน โดยอาการคันจะครอบคลุมบริเวณฝีเย็บด้วย หากคันเฉพาะบริเวณแคมใหญ่ ควรคิดถึงการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หรือการติดปรสิตบางชนิด หากคันทั้งที่ในช่องคลอดและฝีเย็บอาจเกิดจากเชื้อ T. vaginalis, Human papilloma virus โดยควรได้รับการตรวจแยกโรคที่สถานพยาบาล อาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์หรือแสบเมื่อปัสสาวะ โดนบริเวณอักเสบก็สามารถพบได้บ่อย สำหรับอาการตกขาวจะไม่ชัดเจนในบางรายโดยหากมีตกขาวผู้ป่วยมักจะมีอาการคันนำมาก่อน

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยจะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของช่องคลอดอักเสบร่วมกับผลการตรวจข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ตรวจตกขาว Wet smear (saline, 10% KOH) หรือ Gram stain พบ yeast, hyphae, หรือ pseudohyphae
  2. เพาะเชื้อหรือการตรวจอื่นแล้วพบยีสต์ชนิดใดชนิดหนึ่ง

โดยการตรวจเหล่านี้จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่มีความชำนาญ สำหรับการเป็นครั้งหลัง ๆ ผู้ป่วยอาจลองซื้อยามาใช้เองได้ แต่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและครบตามจำนวน

 

การรักษา

  • ยาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาทา หรือยาเหน็บ ยากลุ่มนี้ ทั้งครีมและยาเหน็บเป็น Oil-based ควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับ Latex condom ยาทาเฉพาะที่อาจทำให้มีการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้ แต่จะไม่ทำให้แพ้ทั้งร่างกาย
  • ยารับประทาน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือปวดศีรษะได้ สำหรับยารับประทานกลุ่ม Azole พบมีรายงานทำให้เมีเอนไซม์ตับสูงขึ้น ภาวะข้างเคียงจะพบมากขึ้นหากใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น Astemizole, Calcium channel antagonists, Cisapride, Cyclosporine A, Oral hypoglycemic agents, Phenytoin, Protease inhibitors, Tacrolimus, Terfenadine, Theophylline, Trimetrexate, Rifampin, และ Warfain

 

สามีต้องรักษาด้วยหรือไม่

ภาวะนี้ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงยังไม่มีข้อสรุปให้รักษาในทุกราย หากคู่นอนมีอาการ ก็ควรที่จะรักษาร่วมกันไปด้วย

 

กรณีที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

  • อาการไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นซ้ำในสองเดือน หลังการรักษา
  • การมีอาการอย่างน้อย 4 ครั้งใน 1 ปี พบได้ในน้อยกว่าร้อยละ 5 ของสตรีทั่วไป
  • อาการรุนแรง คือ อวัยวะเพศบวมแดงมาก มีผิวเป็นขุย จนถึงอาจมีรอยแตกของผิวหนัง กลุ่มนี้มักจะตอบสนองต่อยาระยะสั้นทั้งรูป รับประทานหรือทายาเฉพาะที่ระยะสั้นได้ไม่ดี
  • ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง

 

ผู้เขียน: รศ. พญ. เจนจิต ฉายะจินดา. หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. 2554.
แหล่งที่มา: www.si.mahidol.ac.th
ภาพประกอบ: http://www.ultrabeauty.it/


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก