
ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) หมายถึงการอักเสบที่เกิดบริเวณช่องคลอดผู้หญิง ทำให้มีสารคัดหลั่งในช่องคลอดหรือ “ตกขาว” ที่ผิดไป จากปกติตกขาวจะสีขาวขุ่นหรือใส มีปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่มีอาการคัน ไม่มีกลิ่น เป็นตกขาวมีสี มีอาการคัน กลิ่นเหม็นและอาจมีเลือดปน โดยการผิดปกติของตกขาวเป็นภาวะที่ทำให้ผู้หญิงมาพบแพทย์ทางสูตินรีเวชมากที่สุด
สาเหตุและอาการสำคัญ
ช่องคลอดอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้มีอาการที่แตกต่างกันไป โดยแบ่งสาเหตุสำคัญ ๆ และอาการที่พบบ่อยได้ดังนี้
- สาเหตุจากการติดเชื้อ โดยเชื้อและอาการที่พบบ่อยมีดังนี้
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis, BV) ผู้ป่วยจะมีอาการคันในช่องคลอด หรือรอบ ๆ ปากช่องคลอด และมีตกขาวผิดปกติ ซึ่งอาจมีสีเขียว สีเทา หรือสีขาวที่มีลักษณะเป็นน้ำ เป็นฟอง หรือเป็นแผ่น แสบร้อนเวลาปัสสาวะ มีกลิ่นเหม็นคาวปลา ซึ่งจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะหลังร่วมเพศ เป็นต้น
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราแคนดิด้า (Vulvovaginal candidiasis, VVC) ผู้ป่วยจะมีอาการคันในช่องคลอด หรือรอบ ๆ ปากช่องคลอดอย่างมาก และมีตกขาวลักษณะข้นขาวคล้ายแป้งเปียก หรือคราบนม อาจมีความรู้สึกเจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีอาการปัสสาวะบ่อย และปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย บางคนอาจมีผื่นแดงรอบ ๆ ปากช่องคลอดหรือบริเวณขาหนีบ
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิไตรโคโมนาส (Trichomonas vaginalis, TV) ผู้ป่วยจะมีอาการคันในช่องคลอดมาก บางครั้งอาจมีอาการขัดเบา หรือปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ และมีอาการตกขาว ออกเป็นสีเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นเหม็น มักออกเป็นจำนวนมากและมีลักษณะเป็นฟอง ๆ
- สาเหตุที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ช่องคลอดอักเสบอาจเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง (Atrophic vaginitis)
การแพ้สารเคมี (Allergic vaginitis) หรือการมีสิ่งแปลกปลอมระคายเคืองช่องคลอดจนทำให้เกิดอาการอักเสบ เช่น ห่วงคุมกำเนิด ถุงยางอนามัยบางประเภท โดยผู้ป่วยจะมีอาการตกขาวผิดปกติ และมีอาการคันบริเวณช่องคลอดเช่นเดียวกัน
อาการที่ควรมาพบแพทย์
อาการคันบริเวณอวัยวะเพศ และรอบช่องคลอด ตกขาวเปลี่ยนไป เช่น สีเปลี่ยน มีความข้น มีกลิ่นเหม็นกลิ่นคาว ปัสสาวะแสบขัด ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ปวดหน่วงท้องน้อย อาการเหล่านี้ควรรีบมารับการตรวจจากแพทย์
ปัจจัยเสี่ยง
ช่องคลอดอักเสบ มีโอกาสเกิดสูงในผู้หญิงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ผู้หญิงที่มีอายุน้อย มีเพศสัมพันธ์ถี่ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในช่องคลอดมากขึ้น
- ผู้หญิงที่มีโรคประจำตัวทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเอดส์
- ผู้หญิงที่สวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ ทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเกิดความไม่สมดุล เกิดการเปลี่ยนสภาวะกรดด่าง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ผู้หญิงวัยสูงอายุ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางลง ทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเกิดความไม่สมดุล เกิดการเปลี่ยนสภาวะกรดด่าง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ผู้หญิงที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดนาน ๆ หรือใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอด
- ผู้หญิงที่รับประทานยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ จนส่งผลต่อความสมดุลของเชื้อประจำถิ่นในช่องคลอดทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- คู่นอนมีเชื้อหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การวินิจฉัย
- การตรวจภายใน นอกเหนือจากการซักประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว แพทย์จะทำการตรวจภายใน ในกรณีที่มีการอักเสบและเกิดจากการติดเชื้อ จะตรวจพบตกขาวปริมาณมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น สีของตกขาวจะเปลี่ยนเป็นเขียวหรือสีเหลืองหรือสีเทา บางครั้งตกขาวข้นคล้ายตะกอนนมหรืออาจมีลักษณะเป็นฟองขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากเชื้อสาเหตุใด ผนังช่องคลอดจะเป็นสีแดงมากขึ้น กรณีที่มีการอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงในสตรีสูงวัย ผนังช่องคลอดจะมีสีแดง เรียบ ไม่ค่อยมีรอยย่น เมื่อสัมผัสผนังช่องคลอดเลือดจะออกง่าย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะป้ายตกขาวจากในช่องคลอดไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อค้นหาเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบ
การรักษา
การรักษาช่องคลอดอักเสบขึ้นกับสาเหตุ ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โดยทั่วไปมีแนวทางการรักษา ดังนี้
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ยาเมโทรดินาโซล (Metronidazole) หรือยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ซึ่งมีทั้งแบบรับประทานและแบบสอดเข้าช่องคลอด หลังการรักษาแพทย์อาจไม่นัดตรวจซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ให้ผลการรักษาดี ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจรักษาคู่นอน
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา/เชื้อราช่องคลอด กรณีที่มีอาการไม่มาก จะใช้ยาเหน็บช่องคลอด เช่น ยาโคลไตมาโซล (Clotrimazole) ยานิสแตติน (Nystatin) หรือยาไมโคสแตติน (Mycostatin) ร่วมกับยาทาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) แต่หากมีอาการมาก จะให้ยารับประทานร่วมด้วย เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) หรือยาไอตราโคนาโซล (Itraconazole) ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจรักษาคู่นอน
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิ หากส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะทีมีผลยับยั้งเชื้อพยาธิ เช่น ยาเมโทรดินาโซล (Metronidazole) และต้องตรวจคู่นอนด้วยเสมอ
- ช่องคลอดอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง แพทย์จะให้ครีมฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen cream) สำหรับทาในช่องคลอด ซึ่งต้องใช้ในขนาดและในระยะเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- ช่องคลอดอักเสบจากการแพ้สารเคมีหรือน้ำยาสวนล้างช่องคลอด ภายหลังจากสืบรู้สาเหตุ แพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดใช้ ร่วมกับการให้การรักษาตามอาการ
- ช่องคลอดอักเสบในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการอักเสบ มักจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด น้ำคร่ำอักเสบ คลอดก่อนกำหนด หรือมีการติดเชื้อหลังคลอดหรือหลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาชนิดรับประทาน ไม่แนะนำใช้ยาสอดช่องคลอด โดยยาที่แนะนำจะเป็นยาในกลุ่มรักษาการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และมีการตรวจซ้ำภายหลังได้รับยาไปสักระยะ
ข้อแนะนำในระหว่างการรักษาและการป้องกัน
- ไม่สวนล้างช่องคลอดหรือใช้น้ำยาล้างโดยไม่จำเป็น
- รับประทานยาหรือสอดยาในช่องคลอดให้ครบตามแพทย์แนะนำ
- ดูแลความสะอาดของร่างกายรวมถึงเสื้อผ้าและชุดชั้นใน ไม่ควรใส่ซ้ำ ไม่ปล่อยให้อับชื้น
- งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา ถ้าจำเป็นควรใช้ถุงยางอนามัย
- ดูแลความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์หลังการขับถ่ายทุกครั้ง โดยการล้างจากด้านหน้าไปด้านหลังแล้วซับให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูสะอาด
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมีกลิ่น สีผิดปกติ คันบริเวณช่องคลอดหรืออาการกลับไปคล้ายก่อนการรักษา หรือมีอาการผิดปกติใหม่ ๆ เช่น ปัสสาวะแสบขัด อ่อนเพลีย มีไข้ ให้มาพบแพทย์ทันที และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในขณะรับการรักษา
- เมื่อเป็นการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ต้องรักษาคู่นอนด้วย
แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com www.si.mahidol.ac.th