เมื่อกล่าวถึงชุดชั้นใน สำหรับบางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยสนใจ แต่ข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามูลค่าตลาดชุดชั้นในทั่วโลกสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกจากมูลค่าทางการตลาดที่สูงแล้ว ชุดชั้นในยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่น่าสนใจ อย่างเช่นการเป็นเสื้อผ้าชิ้นที่อยู่ใกล้ชิดกับส่วนที่บอบบางที่สุดแห่งหนึ่งในร่างกายของเรา หากเคยสงสัย และยังไม่เคยมีโอกาสที่จะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในด้านสุขภาพของชุดชั้นใน รีบอ่านต่อเลย เรามีคำถามยอดฮิตและคำตอบมาแชร์กับทุกคนแล้ว
Q: ถ้าเราใส่ชุดชั้นในซ้ำ เป็นวันที่ 2 จะเป็นอย่างไร
เรามีข่าวดีสำหรับทุกคนที่เกลียดการซักผ้า และมักจะขี้เกียจซักชุดชั้นในบ่อยๆ เพราะการใส่ชุดชั้นในซ้ำกัน 2 วันจะไม่มีผลกระทบ ที่สามารถลามไปเป็นปัญหาสุขภาพ แต่สก็อต แคสเตลเลอร์ (Scott Kasteler, M.D.) ผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่า “ตราบเท่าที่ไม่มีคราบของสิ่งปฎิกูลจากร่างกายเกิดขึ้นก็ไม่มีปัญหา” หากมองด้านสุขภาพเป็นหลัก “คุณสามารถใช้ชุดชั้นในซ้ำไปได้หลายวัน”
แต่ก็มีข้อยกเว้น คือ ถ้าคุณมีรอยขีดข่วนที่ผิวหนัง แผล หรือผื่นเกิดขึ้น นั่นคือสัญญาณสำคัญ ว่าคุณไม่ควรใช้ชุดชั้นในซ้ำ ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะจบลงด้วยการติดเชื้อ หรือถ้าคุณเป็นคนที่เหงื่อออกมาก หรือไปทำกิจกรรมหนักๆ จนเหงื่อท่วม คุณก็ควรจะเปลี่ยนชุดชั้นในเช่นกัน เพราะสำหรับเพศหญิง ความเปียกชื้นสามารถก่อให้เกิดแบคทีเรียที่เรียกว่า Candida ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อราในช่องคลอด และในขณะที่ผู้ชายอาจจะไม่ค่อยระคายเคืองจากความชื้นมากนัก แต่ถึงยังไงก็ควรทำให้แน่ใจ ว่าพื้นที่ภายในชุดชั้นใน จะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ เพราะมันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงหรอก
Q: ประเภทของเนื้อผ้ามีผลอย่างไร
เนื้อผ้าของชุดชั้นในสามารถสร้างความแตกต่างในด้านสุขภาพได้ ในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะเพศในอนาคต เช่น การติดเชื้อช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกของสตรี (Vulvovaginitis) สังคัง (Jock itch) ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้สวมชุดชั้นในที่ทำจากผ้าคอตตอนที่ใหม่ สะอาด ไม่รัดจนเกินไป สามารถระบายอากาศ และขจัดความชื้นที่จะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้ดี
ปัจจุบันเนื้อผ้าโพลีเอสเตอร์หรือโพลีเอสเตอร์ผสม ซึ่งมีคุณสมบัติขจัดความชื้นได้ดี ได้รับความนิยมและถูกใช้เป็นเนื้อผ้าหลัก ๆ ในการทำชุดกีฬาสำหรับใช้กลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ซึ่งกลางวันสั้นกว่ากลางคืน และยังมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่สวมใส่ผ้าสังเคราะห์เหล่านี้ จะสามารถแสดงประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และมีความสะดวกสบายมากกว่าการสวมผ้าคอตตอนธรรมดา
Q: ออกกำลังกายโดยสวมชุดชั้นในแบบไม่เต็มตัว เช่น พวกจีสตริง ดีไหม
ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ การศึกษาเรื่องการสวมใส่ชุดชั้นในแบบไม่เต็มตัว และผลกระทบด้านสุขภาพยังมีจำนวนไม่มาก ดังนั้นคุณอาจต้องระวังเมื่อเลือกที่จะสวมใส่ชั้นในสุดเซ็กซี่ขึ้นวิ่งบนลู่วิ่ง เพราะชุดชั้นในแบบไม่เต็มตัว มีแนวโน้มก่อให้เกิดปัญหาบางอย่าง จากการเคลื่อนไหวมาก มีการกดทับซ้ำๆ เสียดสี ในแนวหรือพื้นที่เล็กๆ ขณะเดียวกันชุดชั้นในแบบนี้ ยังเปิดโอกาสให้อวัยวะเพศของคุณไปสัมผัสกับเสื้อผ้าส่วนอื่นๆ ที่อาจมีปัญหาเรื่องการระบายความชื้น ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกได้ง่าย แนะนำให้ใส่ชุดชั้นในแบบเต็มตัวจะดีกว่า
Q : กางเกงชั้นในชายแบบที่มีขา (Boxer) กับแบบที่ไม่มีขา (Briefs) แบบไหนดีต่อสุขภาพ
เป็นที่รู้กันว่าระหว่างแฟชั่นและความสบายมักสวนทางกันอยู่เสมอ โดยมีการถกเถียงกันอย่างจริงจังในหัวข้อที่ว่า กางเกงชั้นในชายแบบไหนจะเวิร์คที่สุด โดยใช้หลักในการตัดสินอยู่ที่ประสิทธิภาพในการผลิตสเปิร์ม (Sperm) เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยผลที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงเรื่องของอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตสเปิร์ม และสิ่งที่จะช่วยให้อวัยวะเพศของคุณผู้ชายถูกห่อหุ้ม มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ก็คือกางเกงในชายแบบไม่มีขานั่นเอง
Q : ถ้าจะไม่ใส่ชุดชั้นในเลย จะดีไหม
จากผลสำรวจ 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันไม่สวมชุดชั้นใน ทั้งที่ไม่มีชั้นในและหรือเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็มีบางกรณีที่จะต้องคำนึงถึง เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย อย่างกางเกงนักมวยที่หลวม จะเคลื่อนตัวเสียดสี ถูเข้ากับผิวหนังทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย แต่ถ้ากางเกงที่คุณสวมใส่มีความพอดี อยู่ทรง มีเนื้อผ้าที่แห้งเร็ว ไม่อับชื้น แค่นั้นชุดชั้นในก็ไม่จำเป็น แล้วยิ่งถ้าคุณไม่มีปัญหาเรื่องผิว ผื่นคัน รอยขีดข่วนและอื่นๆ การไม่สวมใส่ชั้นในก็ไม่เป็นปัญหาอะไรทั้งนั้น เพลิดเพลินไปกับอิสรภาพได้เต็มที่
สรุปแล้วก็คือ เช็คผิวของคุณก่อน ว่าง่ายต่อการระคายเคืองและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากแค่ใหน เลือกชุดชั้นในที่เหมาะสม ระมัดระวังในการเลือกชั้นในสำหรับการออกกำลังกาย ตราบใดที่คุณยังสามารถรักษาบริเวณที่บอบบางให้แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ การใช้ชั้นในซ้ำกันไปในบางวันก็ไม่เป็นไร และสุดท้ายคือคุณจะไม่ใส่ชั้นในในบางครั้งก็ได้ หากผิวของคุณไม่ได้บอบบางนัก
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.everydayhealth.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com