โรคจิตเภท คือ เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของความคิด การรับรู้ประสาทสัมผัส การแสดงออกทางอารมณ์ และการแสดงออกทางพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหลงผิดไปจากความเป็นจริง ความคิดที่ไม่สมเหตุผล อาการประสาทหลอน (โดยเฉพาะอาการหูแว่ว) มีการแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แปลกแยกไปจากปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งการดูแลตนเอง การเรียนหรือการทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้มีหลายปัจจัยร่วมกัน โรคนี้มักเป็นเรื้อรังและมีการกำเริบซ้ำได้
โรคจิตเภท เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการโรคจิต (psychotic disorder) ที่พบได้บ่อยที่สุดและมีความรุนแรง พบว่า ในประชากรทุก ๆ 100 คน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคจิตเภท 1 คน และพบได้บ่อยในเพศชายและเพศหญิงเท่า ๆ กัน ช่วงอายุที่จะเกิดอาการป่วยครั้งแรกส่วนใหญ่ในเพศชายคือ ช่วงวัยรุ่นถึงอายุ 25 ปีและในเพศหญิงคือ ช่วงอายุ 25 – 35 ปี สำหรับการรักษานั้นจะเป็นแบบผสมผสานทั้งการใช้ยาร่วมกับการบำบัดและฟื้นฟูทางจิตสังคม ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยจิตเภท
สาเหตุการเกิด โรคจิตเภท
- ปัจจัยจากพันธุกรรม พบว่า ผู้ที่มีญาติป่วยด้วยโรคจิตเภทมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าคนทั่วไป 10 เท่า โดยเฉพาะการเป็นฝาแฝด พี่น้อง หรือลูกของผู้ป่วย
- ปัจจัยจากสารสื่อประสาท พบว่า ในสมองของผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหลอนและความคิดหลงผิด พบว่า มีระดับของสารสื่อประสาทชนิด “โดปามีน (dopamine)” และ “เซโรโทนิน (serotonin)” ที่เสียสมดุลไป โดยระดับของโดปามีนที่สูงผิดปกติจะเกี่ยวข้องด้านบวก (positive symptoms) ได้แก่ ประสาทหลอน ความคิดหลงผิดและพฤติกรรมแปลกแยก ในขณะที่ระดับของเซโรโทนินที่สูงผิดปกติจะเกี่ยวข้องกับทั้งอาการด้านบวกและอาการด้านลบ (negative symptoms) ได้แก่ อารมณ์เฉยเมย เฉื่อยชา แยกตัวเก็บตัว ขาดสมาธิ เป็นต้น
- ปัจจัยจากโครงสร้างสมอง พบว่า สมองของผู้ป่วยมีขนาดเล็กลงจากจำนวนเซลล์ประสาทที่ลดลง รวมถึงโครงสร้างของสมองหลายตำแหน่งมีการทำงานของที่ผิดปกติไป ส่งผลให้วงจรหรือโครงข่ายสมองส่วนต่าง ๆ ถูกรบกวนการทำงานจนก่อให้โรคจิตเภทได้
- ปัจจัยจากครอบครัวและการเลี้ยงดู พบว่า เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคและทำให้โรคกำเริบซ้ำได้ เพราะมีผลต่อการปรับตัวเมื่อเกิดความเครียดหรือปัญหาชีวิต เช่น ในวัยเด็กมีการเติบโตในครอบครัวที่มีบรรยากาศห่างเหิน ไม่เป็นมิตร ไม่อบอุ่น และการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองมีลักษณะจุกจิกจู้จี้ในเรื่องต่าง ๆ ตำหนิวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปและใช้อารมณ์ที่รุนแรง
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม พบว่า เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคและทำให้โรคกำเริบซ้ำได้ เช่น การที่สภาพสังคมบีบคั้นกดดัน ความยากจน การอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด หรือการอยู่ในสังคมที่ห่างเหิน โดดเดี่ยว ไม่เป็นมิตร
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรคและทำให้โรคกำเริบซ้ำ เช่น การใช้สารเสพติด ความเครียดอย่างรุนแรง เป็นต้น
การวินิจฉัย โรคจิตเภท
จิตแพทย์ส่วนใหญ่นิยมอ้างเกณฑ์การวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้วินิจฉัยโรค ซึ่งโรคจิตเภท มีเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรค ดังนี้
- ลักษณะอาการสำคัญ ที่ต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไปต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน และต้องมีอาการในข้อ (1), (2) หรือ (3) อย่างน้อยใน 1 ข้อ
- อาการหลงผิด (delusion)
- อาการประสาทหลอน (hallucinations)
- การพูดจา การสื่อสารแปลกแยก เช่น พูดไม่เป็นเรื่องราว พูดไม่ปะติดปะต่อ พูดคนละเรื่อง
- พฤติกรรมแปลกแยก หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม
- อาการด้านลบ ได้แก่ อารมณ์เรียบเฉย พูดน้อยหรือไม่พูด เฉื่อยชาหรือขาดความกระตือรือร้น ขาดสมาธิ สูญเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาและการใช้เหตุผล
- อาการหลงผิด (delusion)
- อาการสำคัญดังกล่าวส่งผลต่อหน้าที่การทำงาน/การเรียน การดูแลตัวตัวเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
- ช่วงเวลาที่มีอาการต้งเป็นอย่างต่อเนื่องนาน 6 เดือนขึ้นไป โดยต้องมีอาการในข้อ A. อย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งเรียกว่า ระยะกำเริบ (active phase) และใน 6 เดือนนี้อาจรวมระยะเวลาที่เป็นอาการนำ (prodromal) หรืออาการที่หลงเหลือภายหลังจากการรักษา (residual phase)
- อาการต่าง ๆ ดังกล่าวต้องไม่ได้เป็นผลต้องโรคทางกายอื่น โรคทางจิตเวชอื่น ๆ และจากการใช้สารเสพติด
อาการและอาการแสดง โรคจิตเภท
- อาการด้านบวก (positive symptoms) หมายถึง ผู้ป่วยมีความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่ผิดแปลกประหลาดไปจากคนทั่วไป ได้แก่
- ความหลงผิด เป็นความเชื่อที่ฝังแน่นไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเหตุผล ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น เชื่อว่ามีคนติดตามและคิดปองร้าย เชื่อว่าคู่ครองมีชู้ เชื่อว่าถูกไสยศาสตร์มนต์ดำ เชื่อว่ามีร่างกายถูกควบคุมจากคลื่นวิทยุ หรือเชื่อว่าสื่อสารทางจิตและอ่านใจคนได้ เป็นต้น
- อาการประสาทหลอน ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทมักมีอาการประสาทหลอนทางการได้ยิน (หูแว่ว) มากกว่าอาการประสาทหลอนรูปแบบอื่น เนื้อหาของหูแว่วมีได้หลากหลาย เช่น ได้ยินคนอื่นนินทาตนเอง ได้ยินเสียงสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ยินเสียงคุยหลายคนพูดคุยกัน เป็นต้น
- อาการด้านลบ (negative symptoms) หมายถึง ผู้ป่วยขาดการมีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่คนทั่วไปจะมีเป็นปกติ ได้แก่ พูดน้อยลงหรือไม่พูดเลย ไม่แสดงอารมณ์หรือเฉยเมย ไม่สบตา ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น แยกตัวจากสังคม เก็บตัว สนใจดูแลตนเอง รักษาความสะอาด เป็นต้น
- ความบกพร่องของการความคิดและการทำงานของสมอง (cognitive symptoms) หมายถึง การสูญเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจแก้ไขปัญหา การคิดเชิงนามธรรม การวางแผน สมาธิไม่ดี ความจำแย่ลง คิดช้า และการรู้จักกาลเทศะเสียไป ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียน การปรับตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคมของผู้ป่วยโรคจิตเภท
การตรวจประเมินเพื่อให้การวินิฉัย
- การสัมภาษณ์ทางจิตเวช เป็นขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญที่สุด แพทย์จะซักถามอาการต่าง ๆ โดยไล่เรียงตามลำดับเวลา ซึ่งการสัมภาษณ์นี้ แพทย์จะสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากทั้งผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น คนในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง) คำถามประกอบด้วย
- อาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ และอาการต่าง ๆ ที่พบรวมในปัจจุบัน
- ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัวและการรักษา
- ประวัติการใช้สารเสพติด
- ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว โดยเน้นประวัติโรคทางจิตเวชและการฆ่าตัวตาย
- บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
- ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
- อาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ และอาการต่าง ๆ ที่พบรวมในปัจจุบัน
- การตรวจสภาพทางจิต เป็นกระบวนการที่รวมการสังเกตและการประเมินจากสัมภาษณ์ทางจิตเวช ร่วมกับแบบคำถามที่มีการประเมินด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยประกอบด้วยการประเมินลักษณะท่าทางโดยทั่วไป การเคลื่อนไหว การแต่งกาย การแสดงออกของอารมณ์ การพูดสื่อสาร เนื้อหาเรื่องราวที่พูด เนื้อหาความคิดและกระบวนการคิด การรับสัมผัส รวมถึงการทดสอบเกี่ยวกับการทำงานของสมอง เช่น สมาธิ ความจำ ความรู้ทั่วไป การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา
- การตรวจร่างกาย การตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจร่างกายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วย รวมทั้งตรวจระบบประสาทและสมอง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคทางกายที่อาจเป็นสาเหตุของอาการทางจิตโดยเฉพาะในการป่วยครั้งแรก นอกจากนี้ การตรวจทางร่างกายยังมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้ยารักษาอาการทางจิตและยาร่วมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้มีผลรักษาที่ดีและเกิดอาการข้างเคียงจากยาให้น้อยที่สุด
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจส่งตรวจเลือด ส่งตรวจทางรังสีวินิจฉัย หรือส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ เพื่อยืนยันการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจว่าอาการทางจิตนั้นไม่ได้มีสาเหตุจากโรคทางกาย หรือจากสารเสพติด และเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ยารักษาอาการทางจิตและยาร่วมต่าง ๆ อย่างหมาะสม เพื่อให้มีผลรักษาที่ดีและเกิดอาการข้างเคียงจากยาให้น้อยที่สุด
การรักษา โรคจิตเภท
เนื่องจากโรคจิตเภทมีสาเหตุหลักจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทและโครงสร้างของสมอง ร่วมกับปัจจับอื่น ๆ อีกหลายปัจจัย ดังนั้นการรักษาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ การรักษาด้วยยารักษาอาการทางจิต ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคมและการฟื้นฟูสมรรถภาทางกายและใจ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษา การให้คำปรึกษาและการทำจิตบำบัด เพื่อคลายความทุกข์ใจและให้กำลังใจ การฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาและทักษาะการสื่อสาร เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเครียดและสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น โดยการรักษาทางจิตสังคมนี้ให้แก่ทั้งผู้ป่วยและญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย ด้วยเหตุนี้เอง การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความจำเพาะตัวที่มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน จึงมีความยากและต้องเป็นใช้เวลาและทรัพยกรต่าง ๆ เพื่อที่ช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดีและเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
หลักในการรักษาอาจแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ตามอาการ ได้แก่
- การรักษาในระยะอาการกำเริบ (active phase) หมายถึง การรักษาในระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการกำเริบ ทั้งในการป่วยครั้งแรกหรือครั้งถัด ๆ มา โดยมีเป้าหมายของการรักษา คือ ควบคุมอาการที่กำเริบโดยเร็ว การจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย การควบคุมอาการก้าวร้าวรุนแรง และการสร้างสัมพันธภาพในการรักษากับผู้ป่วยและญาติ ญาติควรมีส่วนร่วมในการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อให้ญาติเห็นความสำคัญของการรักษาและสร้างความร่วมมือที่ดีในระยะต่อ ๆ ไป ในระยะกำเริบนี้อาจต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติพิเศษ เพื่อแยกสาเหตุจากโรคทางกายหรือจากสารที่ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับโรคจิตเภท รวมทั้งประเมินสภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ในระยะนี้จะเน้นการการใช้ยารักษาอาการทางจิตเป็นหลัก ร่วมกับยาร่วมอื่น ๆ เพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ ลดความก้าวร้าว และต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมและเฝ้าระวังการเกิดอาการข้างเคียงจากยา เพื่อให้การรักษาอาการข้างเคียงได้ทันท่วงที หากอาการรุนแรงมากหรือใช้เวลานานกว่าจะตอบสนองต่อยา จิตแพทย์จะพิจารณาใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy; ECT) ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือก่อความเดือดร้อนรบกวนส่วนรวม ปฏิเสธการเจ็บป่วยและการรักษา หรือมีปัญหาอื่นที่ต้องดูแลใกล้ชิด เช่น มีอาการข้างเคียงจากยารุนแรง หรือเพื่อควบคุมเรื่องยา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยา หรือมีปัญหาในการวินิจฉัย แพทย์จะพิจารณาให้รับรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่วนการรักษาทางจิตสังคมสำหรับระยะกำเริบ บุคลากรทางการแพทย์จะประเมินปัจจัยทางจิตสังคมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และให้ความช่วยเหลือในด้านจิตสังคมที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนตามความเหมาะสม การให้ความรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติรับทราบข้อเท็จจริงเพื่อเพิ่มความร่วมมือ และมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการลดสิ่งเร้าหรือความกดดันที่มีต่อผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ยุ่งยากหรือต้องใช้สมาธิความตั้งใจมาก การสื่อสารแบบกระชับชัดเจน เข้าใจง่าย และกำหนดกิจกรรมประจำวันเป็นลำดับขั้นที่แน่นอน
- การรักษาในระยะอาการทุเลา ระยะนี้อาการต่าง ๆ ที่กำเริบเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยเริ่มพอที่จะควบคุมตนเองได้บ้าง การสื่อสารดีขึ้นและอาการด้านบวกยังคงมีอยู่แต่ความรุนแรงลดลง แต่ยังหลงเหลืออาการด้านลบอยู่ เป้าหมายในการรักษาในระยะนี้ คือ การควบคุมอาการโดยการใช้ยาในขนาดเท่ากับขนาดในการรักษาระยะอาการกำเริบนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีในการป่วยครั้งแรก เพื่อลดโอกาสที่โรคจะกำเริบซ้ำ และในผู้ป่วยที่มีการกำเริบซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง ควรรักษาด้วยยาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคมที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูทักษะในการดำเนินชีวิต ทักษะในการเข้าสังคม และทักษะการแก้ปัญหา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเครียดและสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ในระยะนี้กิจกรรมต่าง ๆ จะยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนรูปแบบได้มากขึ้น หากผู้ป่วยกลับไปทำงานควรเปลี่ยนลักษณะงานเป็นงานที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบหรือมีความกดดันมากนัก และการพูดคุยกับญาติให้ลดความคาดหวังในตัวผู้ป่วยลง เสริมสร้างความเข้าใจ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและให้กำลังใจให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การดำเนินโรคและการพยากรณ์
การดำเนินโรคของโรคจิตเภทมีลักษณะที่จะกลับเป็นซ้ำได้อีกภายหลังอาการสงบลงและอาจเป็นเริ้อรังตลอดชีวิต ผู้ป่วยที่มีอาการในครั้งแรกสามารถฟื้นคืนไปสู่ภาวะปกติของตนเองได้อย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการกำเริบซ้ำและเมื่อมีการกำเริบซ้ำบ่อยขึ้น จะส่งผลต่อความเสื่อมสมรรถถภาพการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังพบว่าเมื่อป่วยด้วยโรคจิตเภทแล้วผู้ป่วยจะเปราะบางมากขึ้นต่อสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นการรักษาในช่วง 5 ปีแรกนับจากการป่วยด้วยโรคจิตเภทครั้งแรกนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงพยากรณ์ของโรคที่ดีหรือไม่ในระยะ เมื่อเวลาผ่านไป ความรุนแรงของกลุ่มอาการด้านบวกจะลดลง ในขณะที่กลุ่มอาการด้านลบจะรุนแรงมากขึ้น
มีการศึกษาถึงผลการรักษาในระยะ 5 – 10 ปีภายหลังจากการป่วยครั้งแรก พบว่า ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 – 20 เท่านั้นมีผลการรักษาที่ดี ในขณะที่มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยะจะมีการกำเริบซ้ำ การกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำ มีอาการป่วยด้วยภาวะอารมณ์ผิดปกติ และการฆ่าตัวตาย ดังนั้นการรักษาโรคนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากทั้งการใช้ยาและการบำบัดทางจิตสังคม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปสู่สภาวะเดิมที่เคยเป็นและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งของผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม
แหล่งที่มา
- Stahl’s Essential Psychopharmacology: Neuroscientific Basis and Practical Applications, 4th Edition, 2013
- Kaplan and Sadock’s Synopsis of Psychiatry: Behavioral Sciences/Clinical Psychiatry 11th Edition, 2014
- ตำราจิตเวชศาสตร์ธรรมศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2562