ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-คาร์บต่ำ-ไขมันสูง.jpg

สูตรไดเอท แบ่งออกได้เป็นหลายสาย แต่ละสายหลักยังมีสูตรย่อยลงลึกไปอีกแตกต่างกันไป บางสูตรเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บางสูตรเป็นที่นิยมเฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม หนึ่งในสูตรไดเอทที่เป็นที่นิยม เผื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับทุกท่าน คือ สูตรไดเอทแบบ “คาร์บต่ำ ไขมันสูง” หรือ Low Carb High Fat (LCHF)

 

หลักคิดการไดเอทแบบ “คาร์บต่ำ ไขมันสูง”

สูตรไดเอทแบบ Low Carb High Fat (LCHF) เน้นการกินแป้ง น้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต (Carb) ในปริมาณต่ำ ๆ ประมาณ 5% หรือน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน โดยกินโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อปลา ให้สอดคล้องกับน้ำหนักตัวประมาณ 20% ส่วนที่เหลือจะเป็นการกินไขมันดีสูง ๆ ประมาณ 75% หลักการ คือว่า เมื่อร่างกายได้รับพลังงานจากแป้ง น้ำตาลลดลง ร่างกายจะเริ่มหันไปใช้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก ก่อให้เกิดคีโตน (Ketone) ซึ่งเป็นสารปลายทางจากการเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล และเข้าสู่ภาวะคีโตซิส (Ketosis) ในเวลาต่อมา ซึ่งร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมัน ไขมันส่วนเกินโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง และไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

จากหลักการดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ที่ทำสำเร็จและร่างกายตอบสนองได้ดี จะมีน้ำหนักลดลง อีกทั้งจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการลดไขมัน ที่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (โรคในกลุ่ม CVD) โรคมะเร็งบางชนิด โรคทางระบบประสาทบางโรค เช่น โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ รวมถึงการช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สำหรับสูตรไดเอทที่นิยมในปัจจุบัน และถือว่าอยู่ในสูตร “คาร์บต่ำ ไขมันสูง” หรือ  LCHF ได้แก่ สูตร Ketogenic diet และสูตร Atkins diet

 

“คาร์บต่ำ ไขมันสูง” อะไรที่กินได้ และอะไรที่กินไม่ได้

อาหารที่ไม่แนะนำ

สูตรการกินแบบ LCHF เน้นให้ลด/จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ดังนั้น ให้หลีกเลี่ยงอาหาร ดังนี้

  • อาหารที่มีแป้ง (starch) เป็นส่วนผสม เช่น เส้นพาสต้า ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ขนมเค้ก ข้าว ธัญพืช
  • อาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล สารให้ความหวานสูง ๆ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวาน ทุกชนิด
  • ผักที่มีแป้ง เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ถั่ว ฯลฯ
  • ผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ได้แก่ มะขามหวาน กล้วยบางชนิด ขนุน ส้มโอ มะม่วงอกร่อง ส่วนผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ ได้แก่ แก้วมังกร แคนตาลูป ชมพู่ เชอร์รี่ แตงโม แตงไทย ฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ แอปเปิ้ล สำหรับผู้สนใจค่าความหวานของผลไม้ไทย หาข้อมูลได้จาก ปริมาณน้ำตาลในผลไม้ไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย 
  • อาหารปรุงแต่งที่มีประมาณน้ำตาลสูง


อาหารที่แนะนำ

ยังคงเป็นอาหารที่มีไขมันดีสูง และคาร์โบไฮเดรตน้อย ๆ ดังนี้

  • กินไข่ทั้งฟอง (กินไข่แดงด้วย)
  • น้ำมันโอลีฟ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอาโวคาโด
  • เนื้อปลาทุกชนิด เนื้อแดง เนื้อไก่
  • เนย ชีส โยเกิร์ต
  • ผักที่ไม่มีแป้ง (Starch) ผักใบเขียวต่าง ๆ เห็ด อัลมอลด์ แมคคาเดเมีย มะม่วงหิมพานต์ เมล็ดฟักทอง
  • อาโวคาโด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
  • เครื่องปรุงจากสมุนไพร พริก พริกไทย

ทั้งนี้ก่อนเริ่มกินแบบ “คาร์บต่ำ ไขมันสูง” ควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว อย่าลืมว่าไม่มีสูตรไดเอท หรือสูตรการกินอาหารแบบใดที่เหมาะสมกับทุกคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย เป้าหมายที่ต้องการ และการตอบสนองต่อสูตรไดเอทของแต่ละคน

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา:  www.healthline.com   www.nutrition.anamai.moph.go.th/.pdf
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


-5-หมู่-เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้-11.jpg

ร่างกายจำเป็นต้องการ “อาหารหลัก 5 หมู่” เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับเซลล์ และอวัยวะในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย สำหรับดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อาหารหลัก 5 หมู่ มีความจำเป็นร่างกาย ดังนี้ 

 

สิ่งที่สำคัญ คือ สารอาหารแต่ละประเภทมีลักษณะ คุณสมบัติ และประโยชน์ที่ไม่เหมือนกัน สารอาหารบางประเภทเน้นการเจริญเติบโต บางประเภทเน้นให้พลังงานและสารอาหารแต่ละประเภทร่างกายต้องการไม่เท่ากัน และยังเปลี่ยนแปลงไปตามวัย การรู้ข้อมูลของอาหารหลัก 5 หมู่อย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจ ทำให้สามารถเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการดูแลตนเองได้

 

อาหารหมู่ที่ 1 โปรตีน

โปรตีนพบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่วต่าง ๆ มีประโยชน์ โดยช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโต อาทิ การสร้างกระดูก สร้างกล้ามเนื้อ ผิวหนังรวมถึงอวัยวะในส่วนอื่น และช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในส่วนที่สึกหรอ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิต้านทาน เพื่อป้องกันโรคให้แก่ร่างกาย โดยโปรตีน 1 กรัมจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี

เมื่อเรารับประทานอาหาร โปรตีนจะถูกย่อยในระบบย่อยอาหาร บริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยจะถูกดูดซึมในรูปของกรดอะมิโน โดยกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการนั้น มีทั้งที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเอง ต้องได้จากอาหารที่รับประทาน เรียก กรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acid) และร่างกายสามารถสร้างเองได้อย่างพอเพียง ในภาวะปกติเรียก กรดอะมิโนไม่จำเป็น (Non-essential amino acid)

ร่างกายเมื่อขาดโปรตีน จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหน็บชา ตะคริวบ่อย อ่อนเพลีย เจ็บป่วยง่าย ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ผิวแห้ง เล็บเปราะบาง ความจำไม่ดี รวมถึงความรู้สึกหดหู่ กังวลใจ

 

อาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรต พบในอาหารประเภทข้าว น้ำตาล แป้ง มัน และเผือก เป็นต้น มีประโยชน์ในการให้พลังงาน  ให้ความอบอุ่นกับร่างกายโดยพลังงานที่ได้จากการทานอาหารประเภทนี้ จะใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น การทำงาน การออกกำลังกาย การเดินทาง โดยถ้าเราทานอาหารประเภทนี้มากเกินไปในแต่ละวัน พลังงานส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ในรูปของไขมัน ซึ่งการสะสมไว้นาน ๆ จะทำให้เกิดโรคตามมา อาทิ โรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) คาร์โบไฮเดรต 1 กรัมจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี

เมื่อเรารับประทานอาหาร คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยในระบบย่อยอาหาร ส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณลำไส้เล็ก โดยจะถูกดูดซึมในรูปของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide)  อาทิ น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลกาแลคโตส และน้ำตาลฟรุกโตส โดยเมื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานในกิจกรรมประจำวัน บางส่วนจะถูกนำไปใช้ในการสร้างสารอื่น และการเก็บไว้ในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) ร่างกายเมื่อขาดคาร์โบไฮเดรต จะมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า ไร้เรี่ยวแรง จากการที่ร่างกายหมดพลังงาน

 

อาหารหมู่ที่ 3 แร่ธาตุ จากพืชผักต่าง ๆ

อาหารในหมู่นี้ พบในพืชและผักต่าง ๆ อาทิ ผัดคะน้า ผักกาด ผักบุ้ง ผักใบเขียว ผักใบสี และผักชนิดอื่น ๆ ที่รับประทานได้

ร่างกายต้องการเกลือแร่ไม่มาก แต่ขาดไม่ได้เนื่องจากเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็น ต่อการเสริมสร้างความแข็งแรง ช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ช่วยรักษาสมดุลของกระบวนการออสโมซิส (Osmosis) และเกลือแร่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นโครงสร้างของร่างกาย ตั้งแต่การเป็นองค์ประกอบของเซลล์ เนื้อเยื่อ เส้นประสาท เอนไซม์ ฮอร์โมนและวิตามิน

เกลือแร่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เกลือแร่ที่มนุษย์ต้องการในปริมาณที่มากกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม ได้แก่ แมกนีเซียม โซเดียม กำมะถัน ฟอสฟอรัสโพแทสเซียม คลอรีน และแคลเซียม และเกลือแร่ที่มนุษย์ต้องการในปริมาณวันละ 2 – 3 มิลลิกรัม นั่นก็คือ เหล็ก โครเมียม ไอโอดีน ทองแดง โคบอลต์ สังกะสี แมงกานีส ซีลีเนียม ฟลูออรีน และโมลิบดีนัม

 

อาหารหมู่ที่ 4 วิตามินจากผลไม้ต่าง ๆ

อาหารประเภทนี้ พบในผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ แอปเปิล ลำไย มังคุด และอื่น ๆ อาหารในหมู่นี้จะให้วิตามิน และเกลือแร่แก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างปกติ มีภูมิในการต้านทานต่อเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ รวมถึงการมีกากใยอาหารที่ช่วยให้การขับถ่ายของลำไส้ เป็นไปตามปกติอีกด้วย

สารอาหารที่เป็นวิตามิน มีทั้งที่เป็นวิตามินละลายในไขมัน  ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีนบางชนิดในร่างกาย และที่เป็นวิตามินละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินซี บี1 บี2 บี3 บี12 ไนอาซิน กรดแพนโทนิก ไบโอติน และโฟลาซิน เกี่ยวข้องในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หรือทำให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ ในร่างกายดำเนินไปได้

การขาดวิตามินจะส่งผลกระทบต่อระบบของร่างกายในหลายระบบ อาทิ ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง เจ็บป่วยง่าย ผิวหนังหยาบกร้าน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกอ่อน หรือกระดูกพรุน มีอาการท้องผูกเป็นประจำ เป็นต้น

 

อาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน

อาหารในหมู่นี้ พบในน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม รวมถึงกะทิ มะพร้าว และไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ประโยชน์ของไขมัน การนอนไม่หลับมีหลายประการ เช่น การให้พลังงานและความอบอุ่นกับร่างกาย โดยไขมัน 1 กรัมจะให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี

นอกจากนี้ ไขมันยังช่วยลดแรงกระแทกต่ออวัยวะภายใน ช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน รวมทั้งเมื่อรวมกับโปรตีนจะกลายเป็นส่วนประกอบของเซลล์อีกด้วย

เมื่อเรารับประทานอาหาร ไขมันจะถูกย่อยในระบบย่อยอาหารและถูกดูดซึมในรูปของกรดไขมัน (Fatty acids) และกรีเซอรอล (Glycerol) โดยเราสามารถแบ่งกรดไขมันออกเป็น 3 ประเภท คือ กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acid) พบมากในน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง (Monounsaturated Fatty Acid) พบมากในน้ำมันเมล็ดชา น้ำมันมะกอก และกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acid) พบมากในน้ำมันเมล็ดคำฝอย น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

 

จากข้อมูลเบื้องต้น ทั้งในเรื่องประเภท แหล่งที่พบ และประโยชน์ของสารอาหารแต่ละประเภท จะช่วยให้พวกเราเห็นความสำคัญของการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของเพศ วัย รูปแบบในการดำเนินชีวิต สภาวะสุขภาพ ทำให้ยังคงมีความจำเป็นในการสอบถามเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.honestdocs.co  www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก: www.thaihealth.or.th


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก