ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

ความดันโลหิต (Blood pressure) เป็นหนึ่งใน 4 สัญญาณชีพของมนุษย์ ประกอบไปด้วยชีพจร (Pulse) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature) และความดันโลหิต ที่สามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้

 

ความดันโลหิตหรือความดันเลือด (Blood pressure) คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน วัดที่แขนซึ่งจะได้ค่าที่วัด 2 ค่า โดยค่าตัวแรกหรือค่าตัวบน เรียกค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด และค่าตัวตามหรือค่าตัวล่าง เรียกค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว โดยความดันปกติควรจะต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท โดยหากสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท จะเป็นความดันโลหิตสูง และหากต่ำกว่า 90/60 มม.ปรอท จะเป็นความดันโลหิตต่ำ ทั้งนี้การวัดความดันโลหิตควรวัดในขณะพัก และวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ห่างกันและหาค่าเฉลี่ยที่วัดได้

โดยความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) อาจต่ำเพียงความดันซีสโตลิค หรือไดแอสโตลิกตัวใดตัวหนึ่ง หรือต่ำทั้งสองตัวก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์ไม่จัดความดันโลหิตต่ำเป็นโรค แต่จัดเป็นภาวะ หากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในทางการแพทย์ยังจัดว่าสุขภาพเป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา พบได้ทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน และพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ภาวะความดันโลหิตต่ำบางคนไม่มีอาการใด ๆ ในรายที่มีอาการสามารถพบได้ดังนี้ ตาลาย ตาพร่า มองไม่ชัดเจน ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง ทรงตัวไม่อยู่ หน้ามืด เป็นลม กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ผิวซีด/ตัวเย็น โดยอาการที่เป็นชั่วคราว สามารถนั่งพัก ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ในรายที่เป็นบ่อยๆ พักแล้วก็ไม่หายหรือมีอาการอย่างอื่นด้วย ควรพบแพทย์ทันทีเพราะปล่อยไว้อาจทำให้สมองขาดเลือด หมดสติ ชัก นำไปสู่โรคแทรกซ้อนหรืออุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้

 

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ โดยต้องระวังภาวะนี้อาจทำให้มีอาการวิงเวียน เกิดการล้มได้ง่าย
  • ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียน รุนแรง หรือภาวะลมแดด ดื่มน้ำน้อย
  • ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคของต่อมไทรอยด์ และภาวะซีด
  • ผู้ที่กินยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาโรคความดันโลหิตสูง และยาโรคเบาหวาน

 

สาเหตุ

ภาวะความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต การแพ้ยา สารเคมี อาหารอย่างรุนแรง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตสูง ยาไวอากร้า (Viagra) ยาทางจิตเวชบางชนิด
  • การตั้งครรภ์ในระยะ 6 เดือนแรก
  • โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคของต่อมหมวกไต โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับหัวใจละหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคพาร์กินสัน
  • สุดท้ายจากพันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น การตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาภาวะช็อก ตรวจระดับความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตต่ำ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด (Blood Tests) การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter and Event Monitors) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ จะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

การรักษา

แนวทางการรักษาจะเป็นการเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เบื้องต้นมีวิธีการดังนี้

  • การรักษาด้วยการใช้ยา โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ โดยยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ยาเพิ่มความดันโลหิต (Vasodilator) ยาแอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic Hormone) ยาทางจิตเวชบางตัว (Antipsychotic agents) และยาสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นต้น
  • การให้น้ำเกลือ ในผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือในผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะช็อกขึ้น อาจได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น
  • การปรับเปลี่ยนยา หากสาเหตุความดันโลหิตต่ำมาจากการทานยาตัวใดตัวหนึ่งเป็นประจำอยู่

นอกจากนี้ แพทย์จะวางแผนการรักษาโรคหลักที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันต่ำควบคู่ไปด้วย เช่น หากความดันต่ำจากฮอร์โมนผิดปกติ อาจส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ หากความดันต่ำจากการติดเชื้อ อาจส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์ทางด้านโรคติดเชื้อ หรือวางแผนการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วยตัวเอง เป็นต้น

 

ข้อแนะนำ และการป้องกัน

  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หรือมากกว่านั้น หากอากาศร้อน เป็นหวัด หรือเสียน้ำมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ และเพิ่มปริมาณเลือดให้สูงขึ้น
  • ควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ และแบ่งเป็นหลายมื้อ จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือ เพราะโซเดียมจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  • ระมัดระวังเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าอื่น โดยเฉพาะขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน ควรหาที่ยึดจับเมื่อเปลี่ยนท่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • เลือกสวมถุงน่องที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  • ควรยกระดับศีรษะให้สูงกว่าลำตัวในขณะนอน
  • ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ควบคู่ไปกับภาวะความดันโลหิตต่ำ

 

แหล่งข้อมูล

  1. www.pobpad.com
  2. www.mayoclinic.org

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-มีประโยชน์อย่างไร.jpg

ปัญจขันธ์ เป็นพืชที่พบในภูมิภาคเขตร้อน เขตอบอุ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมามีการกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อน และเขตอบอุ่นอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้มีประวัติการใช้มายาวนานในประเทศจีน และญี่ปุ่น ทั้งใช้เป็นยาแก้อักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ และแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และเป็นอาหารเสริมสุขภาพ

 

สมุนไพรปัญจขันธ์ มีชื่อจีนว่า เจียวกู่หลาน

“ปัญจขันธ์” มีชื่อจีนว่า “เจียวกู่หลาน” (Jiaogolan) หรือซีแย่ตั่น เซียนเฉ่า มีคำแปลว่าสมุนไพรอมตะ และมีชื่อญี่ปุ่นว่าอะมาซารู (ซาหวานจากเถา) ฟากตะวันตกมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Miracle glass (หญ้ามหัศจรรย์) หรือ Southern ginseng (โสมภาคใต้) หรือ 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ) ดังนั้น “ปัญจขันธ์” จึงนับว่าเป็นยาสารพัดชื่อที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการทดลองศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรจีน “เจียวกู่หลาน” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสร้างรายได้ ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศไทย ในการนำเข้าพืชสมุนไพรจากประเทศจีน ปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เดิมเจียวกู่หลาน เป็นอาหารที่ใช้รับประทานแก้หิว ยามกระหาย ใช้เป็นยาแก้ไอ และแก้ร้อนใน

ต่อมาก็เริ่มมีการคิดค้นวิจัยและพัฒนาใช้เจียวกู่หลานในการผลิตยาและเหล้า ซึ่งหลังจากการศึกษาด้านคลินิก และด้านเภสัชในประเทศจีน พบว่า มีสรรพคุณใช้บำรุงร่างกาย ระงับประสาท ช่วยให้นอนหลับ ลดความตื่นเต้น ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และกรดไขมันอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ชะลอความชรา ยืดอายุของเซลล์ เพิ่มจำนวนอสุจิ รักษาโรคปวดหัวข้างเดียว ช่วยควบคุมน้ำหนักได้โดยไม่ต้องอดอาหาร และช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณในการควบคุมการเจริญของเซลล์มะเร็ง และสามารถควบคุมการแพร่การเจริญของเซลล์มะเร็งเองได้ รวมทั้งสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อ HIV

สำหรับในประเทศไทย มีการบันทึกการใช้ประโยชน์ปัญจขันธ์ ในยาพื้นบ้านของชาวเขาเผ่าลาหู่ ใช้ทั้งต้นเป็นยาพอกแผล รักษากระดูก และอาการปวดกระดูก ปัจจุบันมีการใช้เป็นสมุนไพร ในรูปแบบชาชงสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกาย

 

ภาพประกอบจาก: www.th.wikipedia.org


.jpg

บุหรี่ มีสารพิษต่าง ๆ หลายชนิด แต่สารสำคัญที่ทำให้เกิดการเสพติด คือ นิโคติน เป็นสารที่มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี ร้อยละ 95 ของนิโคตินที่เข้าสู่ร่างกายจะไปจับอยู่ที่ปอด บางส่วนจับอยู่ที่เยื่อหุ้มริมฝีปาก และบางส่วนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลโดยตรงต่อต่อมหมวกไต ก่อให้เกิดการหลั่งสาร อิพิเนฟริน (Epinephrine) ทำให้ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดรัดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น

 

เมื่อหยุดสูบบุหรี่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดนิโคตินในร่างกาย หรือที่เรียกว่าภาวะขาดนิโคติน จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว บางคนอาจเกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 วันแรกเท่านั้น และเมื่อผ่านพ้นระยะนี้แล้ว หากมีความอยากสูบบุหรี่อีกต่อไป นั่นเป็นเพียงความต้องการทางอารมณ์ หรือความเคยชินเท่านั้น ภาวะขาดนิโคตินมีอาการดังนี้ โหยหา อยากสูบบุหรี่ หงุดหงิด กระวนกระวาย ใจสั่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ง่วงนอน เซื่องซึม สมองตื้อ ซึมเศร้า ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ กระเพาะอาหารและลำไส้แปรปรวน

 

ยาที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่มีหลายอย่างด้วยกัน คือ

  1. น้ำยาอดบุหรี่ (Mouth wash) มีส่วนผสมของ Sodium Nitrate โดยจะทำปฏิกิริยากับต่อมรับรสในปากทำให้สูบบุหรี่ไม่อร่อย เสียรสชาติ จึงทำให้เกิดการเบื่อบุหรี่ วิธีใช้ ใช้อมประมาณ 1 – 2 นาที แล้วบ้วนทิ้ง อย่ากลืน เพราะจะทำให้คลื่นไส้อาเจียน
  2. โคลนิดีน (Clonidine) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ ที่สำคัญ คือ มีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ ปัจจุบันไม่นิยมนำมาใช้กับผู้ต้องการเลิกบุหรี่
  3. สมุนไพร สมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้เกิดการเบื่อบุหรี่ เช่น หญ้าดอกขาว ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีขึ้นกระจายทั่วไปตามที่รกร้างข้างทาง ทุกภาคของประเทศไทย ใช้ทั้งต้นต้มรับประทานแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ใบสดตำให้ละเอียดปิดสมานแผล ทำให้เย็น หรือผสมกับน้ำนม คนกรองเอาแต่น้ำ หยอดตา แก้ตาแดง ตาฝ้า ตาเปียก ตาแฉะ แต่ในปัจจุบันนำมาใช้กับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ เพราะผลข้างเคียงของสมุนไพรหญ้าดอกขาว จะทำให้ช่องปากจืดรับรสได้น้อยลง และเบื่อบุหรี่ วิธีใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาว ใช้ทุกส่วนของลำต้นโดยผ่านกระบวนการผลิต สามารถนำมาชงแทรกชาดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 10 – 15 วัน จะช่วยลดอาการหงุดหงิดจากการเปรี้ยวปากอยากสูบบุหรี่ได้

 

ภาพประกอบจาก: en.wikipedia.org


-ทำอะไรบ้าง.jpg

การดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เพราะโรคต่าง ๆ ไม่คอยใคร บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ต้องสอนลูกหลาน ลูกศิษย์ เกี่ยวกับการมีพฤติกรรมในทางที่ดี  ในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่าง ๆ เพราะตั้งแต่มนุษย์เกิดมาหลอดเลือดทั่วร่างกาย เราจะเริ่มต้นตีบทีละเล็กละน้อย จนตีบร้อยละ 70 จึงจะมีอาการ ซึ่งจะสายไปเสียแล้ว

 

คนไทย 10 ล้านคนที่เป็นโรคความดันโลหิต อาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย ฉะนั้น แพทย์ บิดา มารดา สังคม จึงต้องแนะนำเยาวชนให้กินอาหารเพิ่มสุขภาพ (ผัก ปลา ผลไม้ เป็นหลัก) ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์) ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด เมื่อถึงเวลาต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เดินสายกลางในชีวิต ไม่เล่นการพนัน

 

ทั้งนี้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ควรดูแลให้ดัชนีมวลกาย (body mass index – BMI) อยู่ต่ำกว่า 23 (BMI คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) และพุงชายเล็กกว่า 90 เซนติเมตร พุงหญิงเล็กกว่า 80 เซนติเมตร

 

ถ้าปฏิบัติได้ก็จะลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย โดยไม่เสียงบประมาณอะไรมากมาย ถึงแม้ทำทุกอย่างตามนี้แล้ว ก็น่าจะไปพบแพทย์เมื่ออายุ 30 ปี หรือเร็วกว่านี้ ถ้ามีกำลังทรัพย์ (หรือถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ตับ มะเร็ง ฯลฯ)

ถึงแม้จะสบายดี เพื่อคุยกับแพทย์ แพทย์จะได้มีประวัติข้อมูลเบื้องต้นไว้ เช่น ความสูง ความดันเลือด ชีพจร น้ำหนักตัว เป็นพื้นฐานไว้ เพราะคนไทย 10 ล้านคนที่เป็นโรคความดันโลหิตอาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย แต่ถ้าไม่ไปตรวจอาจอยู่ดี ๆ เป็นอัมพาตไปเลย จากหลอดเลือดในสมองแตก

ถ้าสบายดี เมื่อไรจึงควรไปตรวจ แล้วแต่เศรษฐฐานะ ความอ้วน ญาติพี่น้อง ว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่

 

การตรวจร่างกายอาจพิจารณาเลือกตรวจ ดังนี้

 ปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะจะบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น การมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ อาจนึกถึงการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ การมีนิ่ว หรือการที่มีไข่ขาว (อัลบูมิน) อาจต้องคิดถึงโรคไต

อุจจาระ

ดูลักษณะของอุจจาระ สี มูก ดูว่ามีเลือดสดหรือไม่ อุจจาระมีไขมันหรือไม่ ดูเม็ดเลือดแดง ขาว เชื้อโรค จากกล้องจุลทรรศน์ จะช่วยบอกว่ามีเลือดออกจากระบบทางเดินอาหารหรือไม่ ดูไข่พยาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินปลาร้าดิบ ถึงแม้นานมาแล้ว เพราะอาจพบไข่ของพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งถ้าไม่รักษา อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับได้

เลือด

  • การตรวจดูเม็ดเลือดแดง ขาว เกล็ดเลือด (Complete blood count, CBC ดูว่าเลือดจางหรือไม่ เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำ มีการติดเชื้อโรคหรือไม่ เช่น ถ้ามีการติดเชื้อโรคเม็ดเลือดขาวอาจสูง สำหรับผู้ที่มีเชื้อไวรัส เม็ดเลือดขาวอาจอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ ถ้ามีเกล็ดเลือดน้อยไป อาจเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออก
  • น้ำตาลกลูโคสเพื่อดูโรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ ปกติค่าน้ำตาลระหว่างที่อดอาหารควรจะอยู่ ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  ถ้าน้ำตาลอยู่ระหว่าง 101 – 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็น “ว่าที่” เบาหวาน การตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลในเลือด ควรทำหลังอดอาหารมาแล้ว 12 ชั่วโมง เช่น กินอาหารค่ำ 19.00 น. แล้วไม่กินอะไรเลย ยกเว้นน้ำเปล่า และควรตรวจเลือดอย่างน้อย 12 ชั่วโมงหลังจากนั้น คือ 17.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
  • ไขมันในเลือด แพทย์มักตรวจคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และหาค่าเอชดีแอล (HDL – high density lipoprotein เป็นไขมันที่ดีช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) แอลดีแอล (LDL – low density lipoprotein ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากไป และต้องควรควบคุมให้ต่ำกว่า 130 มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนธรรมดา แต่ในผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ต้องควบคุมให้ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ดูโรคเกาต์ (กรดยูริก) ดูการทำงานของไต ตับการแข็งตัวของเลือด
  • อาจตรวจหาเชื้อไวรัสตับเอ บี และซี ถ้าไม่มีเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และบี ถ้ามีเชื้อบีและซีแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อได้จากการกินอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอยต่าง ๆ ที่ดิบ หรือดิบ ๆ สุก ๆ ส่วนไวรัสตับอักเสบ บี ซี ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และจากการใช้ยาเสพติด โดยการใช้เข็มฉีดที่สกปรกร่วมกัน

สำหรับการตรวจต่าง ๆ ถึงแม้ท่านไม่มีอาการท่านอาจมีความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีตับอักเสบ หรือมีเชื้อไวรัสบี ซี ของตับได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งของตับได้

การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ร่วมกับการไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ ถึงแม้จะสบายดี เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

ผู้เขียน ศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์. นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่ 347. มีนาคม 2551. “การตรวจสุขภาพ ทำอะไรบ้าง”
แหล่งที่มา: https://www.doctor.or.th/article/detail/1183 (14 พฤษภาคม 2560)
รูปภาพจาก: https://pixabay.com


-ได้เวลาเปลี่ยนตัวเองด้วยการออกกำลังกาย.jpg

เพิ่มพลังฮึดสู้ เปลี่ยนตัวเองด้วยการออกกำลังกาย ไม่ว่าใครก็อยากเริ่มต้นทุกวันของชีวิตอย่างปลอดโปร่งและมีสุขภาพดี…ลองนึกถึงการที่ได้ตื่นนอนตอนเช้าอย่างสดชื่น คึกคัก มีพลังเต็มเปี่ยม และอารมณ์ดีพร้อมสู้กับชีวิตวันใหม่อย่างเต็มร้อย วิธีง่าย ๆ ที่ทำได้ทันทีเลยก็คือ…การออกกำลังกายนั่นเอง

 

ชีวิตดีด้วยการออกกำลังกาย

หลายคนคงเคยมีคำถามในใจว่า…นอกจากการออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพดีแล้ว จะทำให้ชีวิตดีด้วยได้อย่างไร? คำตอบนั้นไม่ยากเลย…นั่นเพราะการอกกำลังกายมีผลต่อการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารความสุขในร่างกาย เมื่อได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสารแห่งความสุขนี้ก็จะหลั่งออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากเราก็จะรู้สึกเบิกบานและสบายตัว

 

 

ออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้สุขภาพดี หัวใจละหลอดเลือดแข็งแรง ผลที่ตามมาคือคุณจะ “อึด” ตั้งแต่ระบบภายในร่างกาย เพิ่มพลังฮึดสู้ มีพลังงานเหลือเฟือในการประกอบกิจกรรมประจำวัน ไม่อ่อนเพลียง่าย รวมไปจนถึงระดับคอเลสเตอรอลกับความดันโลหิตลดลง เพียงแค่ออกกำลังกายในระดับปานกลางวันละ 40 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้งเท่านั้น! ผลพลอยได้อื่น ๆ อีก อาทินอนหลับสนิทยิ่งขึ้นตอนกลางคืน ตื่นนอนแล้วไม่รู้สึกมึน เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับควรลองออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอีกนิด หลังจากได้หลับสนิทตลอดคืนคุณจะอารมณ์ดีไปทั้งวันเลยทีเดียว

 

เอ็นโดรฟิน… สูตรลับความสุขของร่างกาย

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าหลังจากออกกำลังกาย จิตใจของคุณจะผ่องใสกระปรี้กระเปร่าเพราะระดับเอ็นโดรฟินเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเมื่อร่างกายจิตใจเบิกบาน สมาธิและความทรงจำระยะสั้นก็จะดีขึ้นด้วย  จิตใจกับสุขภาพจิตก็จะแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน  ใครที่มีอาการเซ็งบ่อย ซึมเศร้า ถ้าลองออกกำลังกายดูอาจพบทางสว่างที่ทำให้โลกของคุณหายห่อเหี่ยวก็ได้ นั่นเพราะการออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทและโปรตีนที่เรียกว่าสารแห่งความสุข (Neurotrophic Factors) ซึ่งจะสร้างการเชื่อมต่อประสาทใหม่  ๆ ขึ้น ทำให้อาการหดหู่เศร้าสร้อยลดน้อยลงได้ เพิ่มพลังฮึดสู้ ให้ตัวรู้สึกดีได้ทุกวัน

 

 

ออกกำลังกายแบบไหนให้เหมาะกับตัวเอง

นอกจากการออกกำลังกายในบ้านแล้ว การออกไปร่วมออกกำลังกายเป็นกลุ่มตามที่สาธารณะก็เป็นวิธีที่ดีมาก เพราะสามารถเพิ่มความรื่นรมย์ ช่วยให้คลายความเหงา ได้พบคนหน้าใหม่ ๆ เพื่อนใหม่ ๆ หรือบางคนอาจเจอคนถูกใจที่พัฒนาไปได้ไกลกว่านั้น

โดยการออกกำลังกายที่ดีควรเลือกแบบที่สำพันธ์กับช่วงเวลา อย่างระหว่างวันมาลองทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างเอ็นโดรฟิน เช่น การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอดูที่ช่วยให้หัวใจอึดและแข็งแรง มีแรง ตอนเช้าควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะ ซึ่งส่งผลดีต่ออารมณ์

มีงานวิจัยที่ระบุว่า เมื่อส่งผู้มีอาการวิตกกังวลหดหู่ไปฝึกโยคะเพิ่มเติมนอกเหนือจากการรักษาตามปกตินาน 6 สัปดาห์ อาการก็ดีขึ้นอย่างสังเกตได้เลยทีเดียว…สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ให้ดีคือ ต้องหาการออกกำลังแบบที่ชอบ เพราะหากไม่ชอบ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทรมานตัวเองให้จิตตกลงไปกว่าเดิม ลองหาการออกกำลังที่คิดว่าน่าสนุกและทำได้เพลิน ๆ เป็นเวลานานดีกว่า อีกอย่างที่สำคัญมากก็คือ อาหาร พยายามกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดของหวานลง กินโปรตีนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ แล้วร่างกายจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากหยาดเหงื่อที่เสียไปอย่างคุ้มค่า

 

สรุป

อย่าลืมหาการออกกำลังกายที่คุณชอบให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นบาสเก็ตบอล เทนนิส ฟุตบอล ขี่จักรยาน วิ่งจ็อกกิง หรือถ้าอากาศร้อนนักก็เข้าโรงยิมไปวิ่งบนสายพานก็ได้ ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม หรือถ้าพาคนรักหรือลูกหลานไปออกกำลังด้วยก็จะยิ่งสนุกและกระชับความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว คุณจะเพิ่มความอึด แรงฮึด ได้ทั้งพลังกายและพลังใจครบถ้วน พร้อมจะสู้กับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีพลังงานเหลือ ๆ ทุกวัน  เพียงแค่ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเท่านั้นเอง  

 

ภาพประกอบจาก : www.unsplash.com


-ความดันเลือด-Blood-pressure-re.jpg

ความดันโลหิต หรือ ความดันเลือด (Blood pressure) คือ ความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งเรียกว่า ความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) และเมื่อหัวใจพักคลายตัว ซึ่งเรียกว่า ความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) ดังนั้น การรายงานผลความดันโลหิต จึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ โดยจะบันทึกความดันซีสโตลิกเป็นตัวแรก หรือ ตัวบน ส่วนความดันไดแอสโตลิกจะบันทึกเป็นตัวตามหรือตัวล่าง เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 หมายความว่า ความดันซีสโตลิค คือ 120 ส่วนความดันไดแอสโตลิค คือ 80

 

หน่วยวัดความดันโลหิต คือ มิลลิเมตรปรอท (มม. ปรอท) ทั้งนี้เพราะเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้ในระยะแรกก่อนมีเครื่องชนิดอัตโนมัติ (Automatic blood pressure monitor) วัดจากความดันเลือดที่สามารถดันสารปรอทให้เคลื่อนที่ได้สูงกี่มิลลิเมตร

การวัดความดันโลหิต โดยทั่วไปวัดที่แขน วัดได้ทั้งแขนซ้ายหรือแขนขวา ซึ่งให้ค่าความดันโลหิตได้เท่ากัน ยกเว้น เมื่อมีโรคของหลอดเลือดแขนตีบ (พบได้น้อยมาก ๆ) ทั้งนี้การวัดความดันฯ วัดได้ทั้งในท่านอนหงายหรือท่านั่ง และควรพักอย่างน้อย 5 – 10 นาที ก่อนวัดความดันฯ เพราะการออกแรงจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ในภาวะทั่วไปที่ไม่ใช่ โรคความดันโลหิตสูง แต่สามารถส่งผลให้ความดันฯสูงขึ้นได้ ที่พบบ่อย คือ การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว อาการไข้ ยาบางชนิด เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน (เช่น Levothyroxine) อารมณ์/จิตใจ (เครียด โกรธ กังวล) กินอาหารเค็ม นอกจากนั้น คือ ช่วงกลางวันความดันฯจะสูงกว่าช่วงนอนพักและช่วงกลางคืน และผู้ใหญ่ความดันฯจะสูงกว่าเด็ก

ความดันโลหิตจัดเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพที่สำคัญ (ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ชีพจร และอุณหภูมิของร่างกาย) ซึ่งสามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเป็นความสำคัญเบื้องต้นที่บอกถึง โรคความดันโลหิตสูง  การทำงานของหัวใจและโรคหัวใจ

นอกจากนั้น ทุก ๆ คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 หรือ 20 ปี ควรมีการตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อคัดกรอง โรคความดันโลหิตสูง และเมื่อพบเริ่มมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง แพทย์ พยาบาลจะได้แนะนำการดูแลตนเองหรือวินิจฉัยหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เพื่อการป้องกัน โรคความดันโลหิตสูง และเพื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านั้นแต่เนิ่นๆ เพื่อผลการรักษาควบคุมโรคได้ดีกว่า เมื่อตรวจพบหลังจากมีอาการผิดปกติแล้ว

  • ความดันโลหิตปกติ คือ 90 – 119 / 60 – 79 มม.ปรอท
  • ความดันโลหิตในผู้มีแนวโน้มจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง  คือ 120 – 139 / 80 – 89 มม.ปรอท
  • โรคความดันโลหิตสูงระยะ 1 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140 – 159 / 90 – 99 มม.ปรอท
  • โรคความดันโลหิตสูงระยะ 2 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง คือ ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 180/ 110 มม.ปรอทเป็นต้นไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาจจาก โรคหัวใจล้มเหลว สมองสูญเสียการทำงาน และ/หรือไตล้มเหลว
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน คือความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้ จากการทำงานล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต

อนึ่ง ความดันโลหิตสูงวินิจฉัยจากความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวขึ้นสูงกว่าปกติ ทั้งนี้เมื่อวัดความดันฯผิดปกติ ให้วัดซ้ำอีกครั้ง ห่างกันประมาณ 5 นาทีหลังพักประมาณ 5 – 10 นาที ถ้าค่าการวัดยังผิดปกติ จึงจะถือว่าความดันฯผิดปกติจริง

.
บรรณานุกรม
1. Madhur,M. et al. Hypertension http://emedicine.medscape.com/article/241381-overview#showall [2014,July26]

 

ผู้เขียน : ศ.เกียรติคุณ.  พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์. “ความดันโลหิต ความดันเลือด (Blood pressure)” (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://haamor.com/th/ความดันโลหิต
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก