ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Hypertension.jpg

ความดันโลหิต (Blood pressure) เป็นหนึ่งใน 4 สัญญาณชีพของมนุษย์ ประกอบไปด้วยชีพจร (Pulse) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature) และความดันโลหิต ที่สามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้

 

ความดันโลหิตหรือความดันเลือด (Blood pressure) คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน วัดที่แขนซึ่งจะได้ค่าที่วัด 2 ค่า โดยค่าตัวแรกหรือค่าตัวบน เรียกค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด และค่าตัวตามหรือค่าตัวล่าง เรียกค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว โดยความดันปกติควรจะต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท หากสูงกว่าแต่ไม่ถึง 140/90 มม.ปรอท จัดอยู่ในระดับปกติค่อนข้างสูง ทั้งนี้การวัดความดันโลหิตควรวัดในขณะพัก และวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที แล้วหาค่าเฉลี่ยของความดันที่วัดได้

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) จะหมายถึง ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป โดยการแบ่งระดับความรุนแรงสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

ตารางระดับความรุนแรงโรคความดันโลหิตสูง
ค่าตัวบน (มม.ปรอท) ค่าตัวล่าง (มม.ปรอท)
ปกติ < 130 < 85
ปกติค่อนข้างสูง 130 - 139 85 - 89
ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก 140 - 159 90 - 99
ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง 160 - 179 100 - 109
ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง 180 - 209 110 - 119
ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรงมาก ≥ 210 ≥ 120
WordPress Tables Plugin

 

ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจากการวัดอย่างต่อเนื่อง โดยความดันโลหิตที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราว เช่น ขณะเครียด ดีใจ ตื่นเต้น ออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด

ในบางกรณีอาจพบผู้ที่มีความดันตัวบนสูงเดี่ยว เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยบางโรค อาทิ  ผู้ป่วยหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษ ในขณะที่ผู้ที่มีความดันตัวล่างสูงเดี่ยว พบได้น้อยและมีวิธีการรักษาและข้อแนะนำเหมือนกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ และมักตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษาด้วยปัญหาอื่น ๆ ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ ในรายที่เป็นมานาน ๆ หรือความดันสูงมาก ๆ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว

โดยเมื่อปล่อยความดันโลหิตสูงทิ้งไว้นาน ๆ จะส่งผลต่ออวัยวะที่สำคัญ ๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด สมอง ไต ประสาทตา เป็นต้น ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น

  • ภาวะหลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก (Stroke) กรณีเฉียบพลันอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ (Paresis) อัมพาต (Paralysis) หรือเสียชีวิต ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ได้
  • ภาวะผนังหัวใจหนาตัวและยืดออก ส่งผลให้หัวใจโต และเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart failure) ได้
  • ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) และเกิดหัวใจวาย อาจเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนได้
  • ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้ไตกรองของเสียได้ไม่เต็มที่ เกิดภาวะไตวาย (Renal failure) และส่งผลกลับทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นอีก
  • ภาวะหลอดเลือดแดงในตาเสื่อม อาจมีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวหรือตาบอดได้

โดยจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษา 60 – 45% จะเสียชีวิตจากหัวใจวาย 20 – 30% จะเสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก และ 5 – 10% จะเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง

 

สาเหตุ

  • ผู้ป่วย 90 – 95% เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เรียกความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary hypertension) โดยแพทย์จะตรวจไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุ เริ่มพบภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ที่มีอายุประมาณ 25 – 55 ปี พบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากโอกาสพบภาวะนี้ยิ่งสูงขึ้น
  • ผู้ป่วย 5 – 10% เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ เรียกว่าความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ(Secondary hypertension) มักพบความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นก่อนอายุ 25 ปี หรือหลังอายุ 55 ปี โดยตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ในกลุ่มนี้ ได้แก่
    • ป่วยด้วยโรคไต เช่น โรคไตเรื้อรัง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง หน่วยไตอักเสบ โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง หลอดเลือดแดงไตเสื่อม ฯลฯ
    • ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ
    • ป่วยด้วยโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น คอพอก เนื้องอกบางชนิดของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง โรคคุชชิง
    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
    • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาเม็ดคุมกำเนิด/เอสโตรเจน, อะดรีนาลิน/ซูโดอีเฟดรีน, ไซโคลสปอริน, อิริโทรมัยซิน, อีริโทรโพอิติน, รวมไปถึงการใช้สารเสพติดอย่างแอมเฟตามีน/โคเคน

 

การวินิจฉัย

การวัดระดับความดันโลหิตเป็นสิ่งสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวัดความดันโลหิตด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยเครื่องวัดฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ยต่อการบันทึก 1 ครั้ง ในกรณีที่อยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูง แพทย์อาจพิจารณานัดวัดซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง ใน 4 สัปดาห์ถัดมา ในกรณียังมีความดันโลหิตสูง นอกเหนือจากการซักประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุหรือผลข้างเคียงจากโรคอื่น  เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG, EKG) ตรวจไขมัน หรือตรวจด้วย CT scan ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ จะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

การรักษา

สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงในระยะแรก  แพทย์จะให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว เช่น การควบคุมน้ำหนัก ลดการกินอาหารเค็ม งดสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG, EKG) เพื่อหาสาเหตุที่อาจมาจากโรคอื่น และนัดตรวจวัดความดันเป็นระยะ ๆ ในกรณีที่ค่าความดันยังสูงอยู่ เช่นเดียวกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงในระยะปานกลางและรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดความดันโลหิต

การให้ยาลดความดันโลหิต แพทย์จะเริ่มพิจารณาให้ในแบบยาตัวเดียว และใช้โดสน้อย ๆ ก่อน ถ้าไม่ได้ผลจะมีการปรับโดสเพิ่มขึ้น ในกรณีที่การให้ยาตัวเดียวไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ยา 2 – 3 ชนิดร่วมกัน

ทั้งนี้ในการรักษาความดันโลหิตสูง แพทย์จะมีการวางแผนการรักษาให้สอดคล้องกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นและเกี่ยวเนื่องกับความดันโลหิต ทั้งโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โรคที่เป็นผลแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ปรับพฤติกรรมการกิน มีหลายข้อที่ควรทำ เช่น หลีกเลี่ยง หรือลดการใช้เนย ไขมัน และน้ำมัน ในการปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารทอดให้รับประทานอาหารประเภทอบ นึ่ง ต้ม แทน รับประทานอาหารประเภทผัก ถั่ว ผลไม้ ให้มากขึ้น ดื่มน้ำ กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน นมพร่องไขมัน และน้ำผลไม้
  • ลดการรับประทานอาหารเค็ม การรับประทานเกลือมาก จะทำให้ความดันโลหิตสูง และไตทำงานหนักควรศึกษาปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร เพื่อวางแผนการลดการบริโภค รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารประเภทของดองเค็ม เนื้อเค็ม ซุปกระป๋อง ใช้เครื่องเทศแทนเกลือ หรือผงชูรส เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำ
  • หยุดสูบบุหรี่ รวมทั้งงด หรือ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด รวมถึงความดันโลหิตสูง เช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
  • เพิ่มการออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่เหมาะสม หัวใจ หลอดเลือด ปอด กล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำงานดีขึ้น ระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อร่างกายในการควบคุมความดันโลหิต
  • ลดน้ำหนัก เน้นลดการกินอาหารประเภทไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น อาหารมัน อาหารทอด ขาหมู และคาร์โบไฮเดรต พวกแป้งและน้ำตาล เช่น ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน น้ำอัดลม อาหารที่มีความหวานมาก ควบคู่กับการออกกำลังกาย เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน แม้ผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องความอ้วน การลดน้ำหนัก ยังสามารถช่วยลดความดันโลหิตและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอารมณ์เครียด พยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เครียด ทั้งที่ทำงาน และที่บ้าน ฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ทำสมาธิ บริหารจิต ฟังเพลง การพักผ่อน เป็นต้น
  • รับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง แจ้งให้แพทย์ท่านทราบถึงยาต่าง ๆ ที่ท่านรับประทานอยู่ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวด เป็นต้น รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมียาชนิดใดที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าแพทย์บอกให้หยุด
  • ตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ สัปดาห์ละครั้ง โดยควรจดบันทึกวัน เวลา ค่าที่วัดได้ทุกครั้ง พร้อมสื่อสารกับแพทย์ หากมีปัญหาในการควบคุมความดันโลหิต

 

แหล่งข้อมูล : www.honestdocs.co  www.thaihypertension.org  www.medthai.com  
ภาพประกอบ : www.freepik.com
.
เครื่องวัดความดัน

-PM-2.5-เสี่ยงเป็นโรคไต.jpg

“พฤติกรรมการบริโภคเค็ม” อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างเดียวหลังจากมีการศึกษาพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5  มีความเสี่ยงที่จะมีส่วนร่วมทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง และป่วยเป็นโรคเบาหวาน ได้เช่นกัน

 

ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่นละออง PM 2.5 (Particulate matter 2.5) คืออนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่เห็นลอยในบรรยากาศ โดยมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ที่พบและเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 – 10 ไมครอน และ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากควันเสียจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซลจากยานพาหนะ ควันเสียจากการใช้พลังงานถ่านหินหรือน้ำมันดีเซลในโรงงานอุตสาหกรรม การปิ้ง เผาประกอบอาหาร และการเผาชีวมวลในช่วงก่อน-หลังฤดูการเพาะปลูก ในเขตเมืองจะประสบปัญหาภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า เพราะมีหลายปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง อาทิ การสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาชีวมวลร่วมกับฝุ่นจากเขตเมือง ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ  เพราะเป็นละอองที่ประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ประกอบกับภูมิศาสตร์ของเขตเมืองมีอาคารสูง จึงเกิดลมนิ่งได้ง่ายกว่าทำให้มีความเสี่ยงในการรับฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

  1. ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งโรคไต
    ฝุ่นละอองเป็นปัญหาและภัยต่อสุขภาพได้ทุกรูปแบบ ในช่วงแรกได้มีการตระหนักถึงภัยต่ออาการทางเดินหายใจและโรคหัวใจเป็นหลัก อย่างไรก็ดีฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นมีผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งไตด้วยเช่นกัน จากการศึกษาในประเทศจีน 282 เมือง พบว่า ผู้ที่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตอักเสบ ชนิด membranous nephropathy โดยที่ระดับฝุ่นที่ผู้ป่วยสัมผัสมีปริมาณ ตั้งแต่ 6 – 114 ug/m3 (เฉลี่ย 52.6 ug/m3) การสัมผัสฝุ่นทุก ๆ 10 ug/m3 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคไตขึ้นร้อยละ 14 การศึกษาในสหรัฐอเมริกา US Veterans กว่า 2 ล้านคนพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เพิ่มขึ้น ในไต้หวันก็พบเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และสตรีผลจะรุนแรงขึ้น
  2. ความดันโลหิตสูง
    นอกจากนี้อากาศเป็นพิษหรือฝุ่นละอองจะสัมพันธ์กับการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการยืนยันการศึกษาจากหลายประเทศร่วมกัน พบว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ร่วมกับการที่ไตขับโซเดียมลดลง มีการคั่งของโซเดียมในร่างกายและเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
  3. เบาหวานเพิ่มขึ้น
    ฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ยังสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในยุโรปและอิหร่านพบว่า การสัมผัสฝุ่นละออง PM และ NOx เป็นเวลานาน จะสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสตรีที่อายุน้อยกว่า 50 ปี


โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคต ดังนั้น ฝุ่นละออง PM 2.5 จึงเป็นทั้งสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ กลไกคือมีทั้งการกระตุ้นภาพประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นการสร้างสารก่อการอักเสบ มีความผิดปกติของเซลล์บุหลอดเลือด (endothelium) ทำให้หลอดเลือดหดตัว ผลระยะยาวจากความดันโลหิตสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่ม เช่น สูบบุหรี่ ภาวะอ้วนและเบาหวาน ก็จะทำให้โอกาสเป็นโรคไตสูงมาก สรุป ฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลต่อทุกอวัยวะ สารการอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากฝุ่นนี้จะเข้าสู่ร่างกายแพร่กระจายไปทุกอวัยวะ รวมทั้งมีผลโดยตรงต่อไป เราต้องร่วมมือกันหาแนวทางลดมลภาวะ PM 2.5 เช่น ลดการเผาไหม้ หาแหล่งพลังงานใหม่ และหลีกเลี่ยงจากฝุ่นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก