วิ่งเป็นการออกกำลังกายที่นิยมในปัจจุบัน แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ออกมาวิ่ง หรือวิ่งแล้วแต่เสี่ยงอันตราย เพราะมี ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งเพื่อสุขภาพ วันนี้ทีมงานขอเรียบเรียง ความเชื่อบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการวิ่ง โดยเฉพาะการวิ่งเพื่อสุขภาพ รู้แล้วรีบแก้กันเลยนะค่ะ
1. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งเพื่อที่ว่า วิ่งให้หนัก ๆ ไว้ก่อน จะดีต่อร่างกาย
ความจริงแล้ว การวิ่งควรสอดคล้องกับสภาพร่างกายและเป้าหมายของการวิ่ง ดังนั้นใครที่สนใจการวิ่ง ควรมีเป้าหมายของการวิ่ง เช่น วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งเพื่อลดน้ำหนัก วิ่งเพื่อความอึดทน เป็นต้น เป้าหมายของการวิ่ง จะสัมพันธ์กับระดับความหนักของการวิ่ง โปรแกรมการวิ่งในแต่ละสัปดาห์ ในทางตรงข้ามการวิ่งที่หนักโดยมีอัตราการเต้นของหัวใจไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย อาจทำให้การวิ่งไม่เห็นผล เกิดการบาดเจ็บและอาจเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับหัวใจได้
2. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งที่ว่า หากวิ่งแล้วเหนื่อย ให้หยุดพักทันที
ข้อนี้อันตรายมาก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการออกกำลังกาย การวิ่งเหนื่อย ๆ หัวใจจะเต้นแรงเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการวิ่ง การหยุดทันทีจะทำให้เลือดคั่งในกล้ามเนื้อ และไหลเวียนกลับสู่หัวใจถึงสมองยากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ หลังวิ่งหนักเพื่อให้ได้ประโยชน์การออกกำลังกายอย่างแท้จริง จึงต้องมีการวอร์มดาวน์ เช่น การเดินต่อเนื่องอีกสักระยะ โดยกรณีที่มีอาการหน้ามืด ให้นอนราบยกปลายเท้าสูงกว่าศีรษะเพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับหัวใจและสมองเร็วขึ้น
3. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งที่ว่า วิ่งแล้วกินมากขึ้น ยิ่งวิ่งจะยิ่งอ้วน
จริงอยู่ที่ว่าการวิ่งซึ่งเหมือนการออกกำลังกายทั่วไป ร่างกายต้องการใช้พลังงาน ทำให้ต้องกินอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอ การวิ่งก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นลำพังการวิ่งจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้อ้วน มีการศึกษาพบว่า การกินมากหรือน้อยเป็นความแตกต่างในแต่ละผู้วิ่ง ถ้ากินมากเกินพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ ก็จะทำให้อ้วนได้
4. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งที่ว่า วิ่งแล้วข้อเข่าเสื่อม
ความจริงแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาข้อเข่ามาก่อน จากเรื่องหัวใจสำคัญการออกกำลังกาย การวอร์มอัพ วอร์มดาวน์ที่ถูกวิธีและนานพอ ท่าวิ่งที่ถูกต้อง ระดับความหนักหรือเข้มข้นของการวิ่งที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอายุ รวมถึงน้ำหนักตัวไม่มากเกินไป ผู้วิ่งพักผ่อนเพียงพอ การวิ่งจะเพิ่มการหมุนเวียนน้ำหล่อเลี้ยงในข้อ ซึ่งเป็นสารอาหารให้เซลล์กระดูกอ่อน กระตุ้นการสร้างและซ่อมส่วนที่สึกหรอ หากมีการทำอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้
5. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งที่ว่า วิ่งแล้ว ขาและน่องใหญ่
การวิ่งไม่จัดอยู่ในประเภทของการออกกำลังกายที่มุ่งเพิ่มขนาดของมัดกล้ามเนื้อโดยตรง เหมือนการเล่นเวทเทรนนิ่ง แต่เป็นการใช้มัดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการยืดหดกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการวิ่ง ร่วมกับการทำงานของระบบอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ การวิ่งโดยเฉพาะวิ่งเพื่อสุขภาพ จะไม่สามารถเพิ่มขนาดของมัดกล้ามเนื้อให้ใหญ่มาก ๆ ได้ แต่สามารถช่วยให้กล้ามเนื้อขาและน่องแข็งแรง มีความกระชับมากขึ้น โดยผู้วิ่งที่ดีควรเข้าเวทเทรนนิ่งเพื่อสร้างมัดกล้ามเนื้อให้แข็งแรงมากขึ้นด้วย
6. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งที่ว่า วิ่งแล้วจะหลังค่อม หรือเตี้ยลง
การเตี้ยลง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุสาเหตุหลักจะมากจากการเสื่อมของกระดูกและข้อ ถ้าไม่ใช่การออกกำลังกายประเภทที่ต้องใช้น้ำหนักกดทับร่างกายในแนวดิ่งแล้ว การวิ่งหรือออกกำลังกายอื่น ๆ ประกอบกับการกินอาหารที่เหมาะสม การพักผ่อนที่เพียงพอ จะช่วยรักษากระดูกให้แข็งแรง และชะลอการเสื่อมได้
7. ความเชื่อผิด ๆ ของการวิ่งที่ว่า วิ่งแล้วจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปวดหลัง
การปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดหลังสามารถเกิดได้กับการออกกำลังกายทุกประเภท ที่ผู้ออกกำลังกายปฏิบัติไม่ถูกวิธี กรณีการวิ่ง การปวดกล้ามเนื้ออาจเกิดจาก ขาดการวอร์มอัพหรือคูลดาวน์ที่เพียงพอ ท่าวิ่งที่ผิด การวิ่งที่หนักหรือนานจนเกินไป เป็นต้น จึงควรศึกษาข้อมูลและวิ่งให้ถูกต้อง สอดคล้องกับกำลังของร่างกาย
แนะนำอ่านเพิ่มเติม ตอบข้อสงสัยการออกกำลังกาย 1-3
เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.runnersworld.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com