ข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบในข้อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่อยู่ภายในข้อ เช่น หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อนหุ้มผิวข้อ เยื่อบุภายในข้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก เกิดการอักเสบ เสียหายและบาดเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดข้อ ข้อบวม กดเจ็บ เกิดข้อติดขัด ไม่สามารถขยับข้อได้อย่างปกติ ข้ออักเสบพบได้ในคนทุกเชื้อชาติ พบทั้งในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 65 ปี และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
อาการ ข้ออักเสบ
ข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันได้ โดยสามารถแบ่งอาการข้ออักเสบเป็น อาการบริเวณข้อและอาการนอกบริเวณข้อ
- อาการบริเวณข้อ จะพบอากาดังนี้ ปวด บวม แดง ร้อน หรือกดเจ็บบริเวณข้อ มีภาวะข้อยึดติด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวได้น้อย ขยับข้อได้ลำบาก ยืดข้อได้ไม่สุด และอาจมีข้อผิดรูป เช่น ข้อ งอ โก่ง ข้อปูดบวมได้
- อาการนอกบริเวณข้อ เป็นอาการที่เกิดร่วมกับอาการบริเวณข้อ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้ออักเสบ เช่น อาการของโรคออโตอิมมูน อาการจากภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นต้น
สำหรับข้ออักเสบชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis: OA) เป็นโรคที่มีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ อาจมีปุ่มงอกบริเวณข้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ โดยมักปวดตื้อ ๆ ที่บริเวณข้อ ปวดทั่วๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้ มักปวดเรื้อรัง และมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อจำเป็นต้องใช้งานหรือลงน้ำหนักที่ข้อนั้นเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะมีภาวะข้อฝืด โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังจากพักข้อเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีข้อบวมผิดรูป และจะค่อย ๆ สูญเสียการทำงานหรือการเคลื่อนไหวที่บริเวณข้อนั้น ๆ โรคข้อเสื่อมมักพบที่ข้อเข่า ข้อกระดูกสันหลังบริเวณเอว ข้อสะโพก ข้อมือ และต้นคอ
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis: RA) มักเกิดในผู้หญิงอายุ 30 ถึง 50 ปี มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อของกระดูก อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ร้อน และบวมตามข้อ โดยเฉพาะข้อต่อเล็ก ๆ เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า และมักเกิดสมมาตรกัน โดยหากเกิดข้ออักเสบด้านขวาก็จะเกิดด้านซ้ายด้วยเช่นกัน และพบตรงบริเวณข้อใหญ่ ๆ ได้น้อย อาการปวดมักมีอยู่แม้ในขณะพักไม่ได้ใช้ข้อ หลังจากตื่นนอนจะมีอาการข้อต่อติดแข็งเป็นเวลานานกว่าชั่วโมง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เมื่อยล้า มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และอาจพบก้อนรูมาตอยด์ใต้ผิวหนังบริเวณข้อศอกและข้อมือได้ โดยก้อนรูมาตอยด์เป็นปุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดเก็บกินเซลล์ต่าง ๆ ที่ตายแล้ว
เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์
เนื่องจากกิจกรรมบางอย่าง เช่น การยกของหนัก ออกกำลังกาย อาจทำให้เกิดการปวดข้อได้ อย่างไรก็ตามหากพักข้อหรือคอยดูอาการหลายวันแล้ว ไม่บรรเทาลงหรืออาจมีอาการเพิ่มขึ้น ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุพร้อมวางแผนการรักษาทันที
ผลข้างเคียง
ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่ไม่รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ อาจมีภาวะข้อผิดรูปและสูญเสียการทำงาน จนถึงขั้นพิการ ทั้งนี้ไม่นับรวมผลข้างเคียงจากโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ข้ออักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดผลเสียเช่นเดียวกัน
สาเหตุ ข้ออักเสบ
ข้ออักเสบมีสาเหตุหลายอย่าง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ข้อเสื่อมตามอายุ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้สูงอายุจะมีเซลล์เนื้อเยื่อข้อเสื่อมลงเป็นส่วนใหญ่ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือหลังวัยหมดประจำเดือน
- ข้ออักเสบจากการใช้ข้อซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น การเล่นกีฬาอาชีพ การยกของหนัก การก้มหรือการนั่งงอเข่านาน ๆ
- ข้อเสื่อมจากข้อรับน้ำหนักมากต่อเนื่อง เช่น ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินทำให้เกิดแรงกดปริมาณมาก ไปยังข้อที่รับน้ำหนักของร่างกาย เช่น ข้อเข่าและสะโพก
- โรคออโตอิมมูน โรคของความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในร่างกาย ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อที่บริเวณข้อต่อ หรือน้ำเลี้ยงข้อต่อ ทำให้เกิดภาวะข้ออักเสบในที่สุด ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นต้น
- ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เชื้อสาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้อาจพบเชื้อรา และเชื้อไมโคแบคทีเรียร่วมด้วย
- โรคจากความผิดปกติในการเผาผลาญพลังงานจากอาหาร เช่น โรคเกาต์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของกรดยูริกในข้อ หรือโรคเกาต์เทียม ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต
- อุบัติเหตุต่อข้อ เกิดจากข้อได้รับบาดเจ็บที่ข้อโดยตรง เช่น การทำงาน การออกกำลังกาย
การวินิจฉัย ข้ออักเสบ
- การซักประวัติอาการต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต อาชีพ กิจกรรม การออกกำลังกาย การทำงาน และซักหาอาการสำคัญอื่น ๆ เช่น ช่วงเวลาการเกิดอาการเจ็บปวด รูปแบบการปวด ความสมมาตร อาการข้อติดขณะพัก หรือหลังตื่นนอน ปัจจัยกระตุ้นให้อาการปวดรุนแรงหรือทุเลาลง เป็นต้น
- การตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะตรวจดูข้อที่มีอาการและข้อต่าง ๆ ที่ปกติ อาจมีการตรวจภาพข้อด้วยการเอกซเรย์ การทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อติดตามหรือประเมินความรุนแรงของโรค
- การตรวจสืบค้นที่ซับซ้อนเพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือด เพื่อดูสารภูมิต้านทาน แอนตี้บอดีจำเพาะ รูมาตอยด์แฟกเตอร์ ตรวจหาการติดเชื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเจาะตรวจของเหลวจากข้อ การตัดชิ้นเนื้อเยื่อบริเวณข้อไปตรวจ หรือตรวจภาพข้อด้วยวิธีจำเพาะอื่น ๆ เช่น เอ็มอาร์ไอ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรง ควรเข้าพบเพื่อรับการตรวจรักษา จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อโดยตรง
การรักษา ข้ออักเสบ
ข้ออักเสบมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป การรักษานอกจากควบคุมอาการปวดเฉพาะที่แล้ว ยังจำเป็นต้องควบคุมสาเหตุของโรคด้วย แนวทางการรักษาโรคข้ออักเสบจึงแบ่งเป็น
- การรักษาการอักเสบบริเวณข้อ การรักษาการอักเสบบริเวณข้อ จะใช้ยาที่สามารถลดการปวดและอักเสบ โดยเป็นยาในกลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ชื่อเต็มคือ Non-Steroidal Anti-Inflammatory เป็นกลุ่มยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวด บวม หรืออักเสบต่าง ๆ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen) ไดโคลฟิเน็ก (Diclofenac) อินโดเมธาซิน (Indomethacin) เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะใช้บรรเทาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะเสี่ยงต่ออาการข้างเคียง เช่น การแพ้ยา กระเพาะอาหารอักเสบ ไตวาย และโรคหัวใจ โดยบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อลดการอักเสบแบบเฉียบพลัน และมักใช้ในกรณีข้ออักเสบรูมาตอยด์
- การรักษาที่สาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบ โดยการรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของข้ออักเสบ เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบจากการติดเชื้อจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ผู้ป่วยข้ออักเสบจากโรคออโตอิมมูน อาจต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นต้น
นอกจากนี้การรักษาข้ออักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาแบบผสม โดยแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด พร้อมการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี ควบคุมน้ำหนัก ใช้อุปกรณ์พยุงข้อ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อหรือใส่ข้อเทียม การหลีกเลี่ยงการใช้ข้อหรือการพักข้อเมื่อข้ออักเสบเกิดจาการใช้งานข้อซ้ำๆ หรือเกิดอุบัติเหตุ การดูดของเหลาวที่คั่งอยู่ในข้อออกลดภาวะข้อบวม การฉีดยาลดการอักเสบเข้าบริเวณข้อ ซึ่งเหล่านี้ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ และสาเหตุการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายในขณะนั้น
ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคข้ออักเสบ
การดูแลตนเองเมื่อมีข้ออักเสบ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รับประทานยาให้ถูกต้อง ตรงเวลา ที่สำคัญไม่หยุดยาเอง โดยเฉพาะยา กลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ยกเว้นเมื่อมีอาการปวดรุนแรง และไม่ควรรับประทานยากลุ่มนี้ติดต่อเป็นเวลานาน เนื่องจากเสี่ยงเกิดการแพ้ยา หรือเกิดอาการข้างเคียง ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไตวาย โรคหัวใจ และอื่น ๆ
- โรคข้อเสื่อม เป็นโรคเรื้อรัง อาการมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในผู้ที่มีอาการในระยะเริ่มแรกควรหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังเพื่อชะลอการดำเนินของโรคให้ได้มากที่สุด หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่เป็นอันตรายต่อข้อ ลดน้ำหนัก บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรง หรือพักข้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งระยะและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามสภาพผู้ป่วยแต่ละคน แม้ไม่สามารถย่นระยะเวลาการเป็นโรคได้ แต่การรักษาแต่เนิ่น ๆ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยคงสภาพการทำงานของร่างกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
- ควรประคบข้อที่อักเสบด้วยการประคบร้อน/ประคบอุ่น หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูกให้แข็งแรง
การป้องกัน
ข้ออักเสบเป็นภาวะที่ป้องกันได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะข้ออักเสบที่เกิดจากอิมมูน อย่างไรก็ตามโรคข้อเสื่อมซึ่งมักพบได้ในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงได้โดยปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการนั่งย่อหรือนั่งงอเข่าเป็นเวลานาน
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เนื่องจากภาวะอ้วนจะเพิ่มแรงกดทับที่บริเวณข้อต่อที่รับน้ำหนักของร่างกาย
- บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อ โดยเฉพาะที่บริเวณข้อเข่า ให้แข็งแรง ใช้ข้อต่าง ๆ และเคลื่อนไหว ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
- ออกกำลังกาย โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักบริเวณข้อมากเกินไป เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น
แหล่งที่มา
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com