กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (Lower urinary tract infection) ทำหน้าที่กักเก็บน้ำปัสสาวะที่ผ่านการกรองจากไต เพื่อรอการระบายออกทางท่อปัสสาวะ ถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่สัมผัสกับปัสสาวะนานที่สุด หากในปัสสาวะมีเชื้อโรคอยู่และไม่ถูกระบายออก เชื้อโรคจะสามารถเติบโตและทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) ได้
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์ แต่ก็สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยผู้ป่วยหากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่กำจัดที่สาเหตุของโรค อาจจะทำให้กลับเป็นโรคซ้ำ โดยมีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนสามารถส่งผลต่อกรวยไตและไตได้
อาการ
อาการสำคัญที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
- ปวดปัสสาวะมากและบ่อยครั้ง แต่กลับถ่ายปัสสาวะออกมาได้ครั้งละเล็กน้อย
- ปัสสาวะมีสีขุ่นและมีกลิ่นผิดปกติ บางรายอาจมีเลือดและอาการครั่นเนื้อครั่นตัวร่วมด้วย ในเด็กเล็กอาจพบอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อย ๆ หรือมีไข้และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดบริเวณท้องน้อยหรือหัวเหน่า แสบ ขัดขณะปัสสาวะโดยเฉพาะช่วงใกล้ ๆ สุด
สาเหตุ
สาเหตุหลักที่พบมากที่สุด คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล (Escherichia coli : E. coli), เคล็บซิลลา (Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas), เอนเทอโรแบกเตอร์ (Enterobacter) ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะมีอยู่มาก ที่บริเวณรอบทวารหนัก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือการสวนปัสสาวะ นอกจากนี้ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดได้น้อยมาก เช่น เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้ยา การใช้ผลิตภัณฑ์บริเวณจุดซ่อนเร้น การฉายรังสีบริเวณกล้ามเนื้อเชิงกราน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น
โดยมีปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้ติดเชื้อและเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่
- เพศหญิงจะมีโอกาสในการเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้นและอยู่ใกล้กับทวารหนัก จึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคจากทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้ง่ายกว่า ส่วนในผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย เนื่องจากท่อปัสสาวะอยู่ห่างจากทวารหนักมากกว่า
- การทำความสะอาดหรือมีสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะในเพศหญิง เช่น การเช็ดจากด้านทวารหนักมาด้านหน้า การเข้าห้องน้ำสาธารณะที่มีความสะอาดไม่พอ เป็นต้น
- การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้ปัสสาวะมีการค้างในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ
- การเจ็บป่วยด้วยโรคบางโรคหรือในบางภาวะ เช่น ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมาก นิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือการเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสที่ปัสสาวะจะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะเป็นเวลานานขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปถึงกรวยไตด้วย
- การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น
- การขาดสุขอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีพอ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะ ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
- ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิต้านทาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
- การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากข้อมูลการสอบถามผู้ป่วยถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ประวัติการเจ็บป่วย การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน ร่วมกับการตรวจร่างกายและตรวจปัสสาวะ เพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว หรือเลือด หากตรวจไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากปัสสาวะ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแสดงของโรคที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่น การส่องกล้อง (Cystoscopy) ใช้ตรวจหาความผิดปกติภายในของกระเพาะปัสสาวะ โดยการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านทางระบบทางเดินปัสสาวะ หากพบความผิดปกติจะมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบางส่วนมาตรวจด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ การส่องกล้องจะใช้ในกรณีที่คาดว่าสาเหตุไม่ใช่การติดเชื้อ และการถ่ายภาพทางรังสี (Imaging Tests) เป็นวิธีการใช้รังสีตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ก้อนเนื้องอก เพื่อหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ อาจใช้การเอกซเรย์หรือการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งแพทย์ใช้พิจารณาใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะเนื้องอกหรือความผิดปกติอื่นเท่านั้น
การรักษา
การรักษาผู้ป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลัก ๆ จะเป็นการกินยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานที่ครอบคลุมชนิดเชื้อที่เป็นสาเหตุ โดยได้รับยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 – 5 วัน แม้ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นหลังการได้รับยา ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ไตรเมโทพริม (Trimethoprim) นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นต้น และอาจให้ยาอื่นตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการปวดเพื่อลดการปวดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ ยาลดไข้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การกำจัดปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุร่วมในการเกิดโรค จะช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคซ้ำได้ เช่น การเข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ การดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น การใช้ครีมทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนทาบริเวณช่องคลอด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นขณะมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อซ้ำ แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาความผิดปกติอื่น ๆ ควบคู่กับการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานขึ้น โดยหากมีการตรวจพบสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะวางแผนในการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุไปด้วย
ข้อแนะนำและการป้องกัน
- การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะรวมถึงการกลับมาเป็นซ้ำได้ เช่น การดื่มน้ำปริมาณที่เหมาะสมและบ่อยครั้ง เพื่อช่วยให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น การถ่ายปัสสาวะทันที ไม่กลั้นไว้โดยไม่จำเป็น และในแต่ละครั้งที่ถ่ายปัสสาวะควรนั่งจนมั่นใจว่าปัสสาวะออกหมด
- การมีสุขอนามัยโดยเฉพาะภายหลังการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระที่ถูกต้อง เช่น เพศหญิงควรเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่เช็ดย้อนทางหรือเช็ดกลับไปมา การทำความสะอาดอวัยวะเพศและทวารหนักโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงการไม่ใช้น้ำยาล้างบ่อยจนเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้
- หากมีอาการแสดงของโรคหรือมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที ไม่ควรซื้อยาทานเอง โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ทั้งนี้หากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าเกินไป อาจทำให้กรวยไตอักเสบ โรคไตเรื้อรังได้
ภาพประกอบ : www.freepik.com