ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-เมื่อคุณหมอให้กลับบ้าน.jpg

ข้อปฏิบัติต้องรู้เมื่อคุณหมอให้กลับบ้าน สำหรับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ซึ่งนาน ๆ ครั้งจะเข้าโรงพยาบาลที พอถึงเวลาที่จะต้องออกจากโรงพยาบาล มีความกังวลใจว่า จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เราเรียบเรียงบทความจากจาก Health at home มานำเสนอให้ทุกท่านรู้สึกมั่นใจมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกจากโรงพยาบาล

 

1. ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร เข้าใจตรงกับแพทย์ไหม

ก่อนออกจากโรงพยาบาลทุกครั้ง ควรตรวจสอบกับแพทย์เจ้าของไข้ ถึงโรคที่เป็นทุกครั้ง เพราะหลายครั้งผู้ป่วยอาจมีหลายโรค หรือมีแพทย์หลายคนที่ร่วมดูแล การสื่อสารให้ชัดเจน จะทำให้การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ที่บ้านเป็นไปอย่างถูกต้อง

 

2. เตรียมความพร้อมของบ้านและอุปกรณ์ทางการแพทย์

ประเมินว่าสิ่งแวดล้อมที่บ้านเหมาะสมกับระดับความหนักเบาของโรค ที่ผู้ป่วยเป็นไหม เช่น จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยพักที่ชั้นล่างของบ้านหรือเปล่า ต้องเพิ่มทางขึ้นลงแบบพื้นสโลปไหม อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแล เช่น เตียงผู้ป่วย วอล์คเกอร์ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ ที่นอนลม เป็นต้น

 

3. วิธีปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ที่บ้าน

กิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำขณะอยู่ที่บ้าน เช่น การกิน การนอน การเข้าห้องน้ำ การทำกายภาพบำบัด การให้อาหารทางสาย สิ่งเหล่านี้ผู้ป่วยโดยเฉพาะญาติผู้ป่วย ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี ว่าจะทำอย่างไร ทำที่ไหน ใครเป็นคนทำ เพราะการกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

4. ผู้ดูแลขณะอยู่ที่บ้าน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ญาติ หรือครอบครัวผู้ป่วย ต้องพิจารณาความเหมาะสมของผู้ที่มารับผิดชอบ กรณีที่ญาติดูแลเองต้องมีการหาข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้อง กรณีที่ต้องจ้างผู้ดูแล ควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ประวัติอาชญากรรม ทักษะความสามารถ และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย

 

5. ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องป้องกัน

ควรทราบถึงสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงของการป่วย สิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการป่วยอีกครั้ง อย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงที่น้ำตาลจะสูง หรือต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจวายอาจต้องระวังปริมาณน้ำ และเกลือ

 

6. อาการสัญญาณเตือนของโรค คืออะไร

ควรรู้ว่าผู้ป่วยมีโรค และโรคร่วมอะไรบ้าง เมื่อมีอาการแล้วเบื้องต้นควรปฏิบัติอย่างไร มีความเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที การบันทึกข้อมูลประจำวันของผู้ป่วย เช่น สัญญานชีพ ระดับค่าน้ำตาล อาการทั่วไปในแต่ละวันจะช่วยให้เราติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด และจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ถ้ามีผู้ดูแลร่วมดูแลหลายคน

 

7. ยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทาน

จากสถิติพบว่า ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวเฉลี่ย 3 – 4 โรค และยาก็เป็นสิ่งที่ตามมา นอกจากนั้น ทุกครั้งที่นอนโรงพยาบาล แพทย์ก็มักสั่งยาเพิ่มเติมกลับบ้านมาด้วย ดังนั้น ผู้ดูแลจะต้องรู้จักยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยรับประทานให้ดี เช่น อะไร คือ อาการข้างเคียงของยา อะไร คือ อาการแพ้ยา เมื่อมีอาการเหล่านั้นควรปฏิบัติอย่างไร

 

8. วันนัดหมายกับแพทย์

ผู้ดูแลและญาติผู้ป่วย ควรตรวจสอบวันนัดหมายกับแพทย์ให้ถูกต้อง และต้องมีการตรวจสอบว่า ในวันนัดผู้ป่วยต้องมีการเตรียมตัวอะไรบ้าง เช่น ต้องงดน้ำงดอาหารเพื่อเจาะเลือดหรือไม่ และควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดไปให้แพทย์ดูทุกครั้ง

 

9. เบอร์โทรติดต่อในกรณีฉุกเฉิน

ควรมีการรวบรวมเบอร์ติดต่อในกรณีที่ฉุกเฉินเอาไว้ เบอร์ของลูก หรือคนในครอบครัว (กรณีมีผู้ดูแลข้างนอกมาดูแล) เบอร์ของแพทย์ หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ และที่สำคัญ 1669 คือ เบอร์ติดต่อฉุกเฉินที่โทรได้ 24 ชั่วโมง

 

10. ประวัติการรักษา

ควรขอประวัติการรักษาของผู้ป่วย และผลทางห้องปฏิบัติการไว้เสมอ ในกรณีมีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ หรือในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ การมีประวัติการรักษา และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจช่วยลดการตรวจซ้ำซ้อนลงได้

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.medium.com
ภาพประกอบ: www.pexels.com


-ประกันสังคม.jpg

สำนักงานประกันสังคม แจ้งว่าในปี 2561 นี้มีโรงพยาบาลเอกชนขอออกจาก “ระบบประกันสังคม”  3 แห่ง คือ โรงพยาบาลยันฮี  โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รัตนาธิเบศร์ และโรงพยาบาลศรีระยอง  หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เลือก 1 ใน 3 โรงพยาบาลนี้เพื่อใช้บริการอยู่ สิ่งที่ต้องทราบและดำเนินการ คือ

 

1. เลือกโรงพยาบาลแห่งใหม่

  • หากเป็นพนักงานเอกชนทั่วไป (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) สำนักงานประกันสังคมจะส่งหนังสือไปยังบริษัท ที่พนักงานมีสิทธิอยู่ที่โรงพยาบาลที่ออกจากระบบ จากนั้นฝ่ายบุคคลจะดำเนินการต่อให้
  • ส่วนผู้ที่เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก (ผู้ประกันตนมาตรา 39) หรือกลุ่มอาชีพอิสระที่ประกันตนเอง (ผู้ประกันตนมาตรา 40) สำนักงานประกันสังคมจะส่งหนังสือไปที่บ้านของผู้ประกันตนโดยตรง ให้รอเอกสารที่จะส่งมาถึง

จากนั้นให้กรอกแบบฟอร์มเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการไปใช้สิทธิ 1 แห่ง และโรงพยาบาลสำรองอีก  2 แห่ง แล้วส่งกลับฝ่ายบุคคล หรือส่งเอกสารไปที่สำนักประกันสังคม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้เอง

 

2. แจ้งโรงพยาบาลที่จะไปใช้สิทธิ์ใหม่

ภายในเดือนธันวาคม 2560 ทางสำนักงานประกันสังคมจะแจ้งชื่อโรงพยาบาล ที่จะไปใช้สิทธิ์แห่งใหม่ให้ทราบ ซึ่งหากผู้ประกันตนมีโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อาจจะต้องประสานกับโรงพยาบาลเดิม เพื่อขอรายละเอียดการรักษาต่าง ๆ เตรียมไว้ด้วย และผู้ประกันตนยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเดิมได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

 

3. เริ่มใช้สิทธิตอนต้นปี

สำหรับสิทธิการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหม่ จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

ส่วนผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม ก็ยังสามารถทำได้ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม เหมือนปกติ

 

ข้อมูลอ้างอิง ข่าวจากสำนักงานประกันสังคม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือที่เว็บไซต์ประกันสังคม
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


-เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต-72-ชม.แรก-รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล-1.jpg

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 รัฐบาลได้บังคับใช้หลักเกณฑ์ “การจ่ายค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินใน 72 ชม.แรก” ไว้ให้กับประชาชนทุกคน ไม่ว่าสิทธิสุขภาพไหนก็ตาม บัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ต้องได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุมากที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หลังจาก 72 ชม. ต้องย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิต่อไป แต่น่าจะมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองได้รับสิทธินี้ เลยเอามาบอกกัน

 

ส่วนเงื่อนไขในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีอะไรบ้าง? จะแบ่งตามความรุนแรง 3 ระดับ คือ

 

1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง)

  •  เข้ารักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ทั้งรัฐเอกชนที่ใกล้ที่สุด
  • ไม่ต้องสำรองจ่าย 72 ชม.แรก
  • ถ้าต้องการรักษาเกิน 72 ชม. ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาหลังจากนั้นไปก่อน แล้วค่อยไปเบิกทีหลัง โดยจะเบิกค่ารักษาได้ 2 กรณี คือ
    • กรณียังไม่พ้นวิกฤต และไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลรัฐได้ เบิกได้ 50% ของที่จ่ายไป
    • กรณีพ้นวิกฤตและย้ายไปโรงพยาบาลรัฐได้ แต่ไม่มีเตียงรองรับ เบิกได้ 50% ของที่จ่ายไป 8,000 บาท

 

2. ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง)

  • เบิกค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชม.แรกได้ 50% ของเงินที่จ่ายไป แต่ไม่เกิน 8,000 บาท
  • หลังจาก 72 ชม.แรก ถ้าไม่ย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ต้องจ่ายเอง

 

3. ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินรุนแรง (สีเขียว)

  • เบิกค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชม.แรกได้ 50% ของเงินที่จ่ายไป แต่ไม่เกิน 8,000 บาท
  • หลังจาก 72 ชม.แรก ถ้าไม่ย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ต้องจ่ายเอง

 

ทุกกรณี สามารถเบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้ในอัตราของทางราชการ ไม่รวมการนัดมาตรวจ หรือการนัดมาทำแผล หากพ้นวิกฤตและย้ายไปยังโรงพยาบาลรัฐได้ แต่ปฏิเสธการย้าย ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังพ้นวิกฤตเอง

ซึ่งเราจะรู้ว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินประเภทไหน ต้องผ่านการพิจารณาจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติก่อน ถึงจะเบิกใช้สิทธิได้  ส่วนจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” รึเปล่า จะมีการติดป้ายนี้ไว้หน้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เพื่อให้ญาติผู้ป่วยทราบเป็นการเบื้องต้น

เรื่องเหล่านี้เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรารู้ไว้ก็ไม่เสียหาย จะได้ไม่ต้องเสียสิทธิแล้วมาเสียดายทีหลัง แต่ยังไงก็คิดว่า ถ้ามันไม่ทำให้เราเดือดร้อน หรือลำบากเกินไป การซื้อประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพไว้ ก็สามารถทำให้เราสบายใจไปได้ระดับนึง เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลมากนัก

 

แหล่งที่มา: www.moneybuffalo.in.th
ภาพประกอบจาก:  www.lifespan.org


-เวลาที่ต้องเข้าโรงพยาบาล-1.jpg

ไม่อาจปฏิเสธว่าร่างกายมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากเครื่องจักรประเภทหนึ่งที่ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง นานหลายปี มีระบบกลไกการทำงานภายใน ที่ไม่สามารถมองเห็นความเสื่อมสภาพได้ด้วยตาเปล่า และคนส่วนใหญ่ก็มักจะละเลยการดูแลสุขภาพ ทั้งที่ร่างกายมีอายุการใช้งานจำกัด สึกหรอไปตามวัย และการใช้งาน

 

ทำให้ชีวิตคุณเต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และการเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด และปัญหาหลักที่จะตามมา คือ ค่าใช้จ่ายในการ “รักษาพยาบาล” ที่คุณต้องควักจ่ายไปกับการรักษาตัว แต่ก่อนถึงจุดนั้น มาเช็คกันหน่อยว่า ถ้าคุณ “เจ็บป่วย” หนึ่งครั้ง ต้องควักจ่ายเท่าไหร่ เพื่อวางแผนการเงินในปัจจุบันและในอนาคต

 

ค่าบริการตรวจรักษา หรือค่าบริการหมอเฉพาะทาง

รายจ่ายที่ต้องรับมือแน่นอนเมื่อเข้ารับการรักษา คือ “ค่าหมอ” ที่ต้องจ่ายทุกครั้งเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้นของคุณ เฉลี่ยอยู่ที่ 150 – 1,000 บาท*/ครั้ง แต่ราคาดังกล่าว อาจเพิ่มสูงขึ้น 2 – 3 เท่า หากคุณจำเป็นต้องพบหมอเฉพาะทาง เช่น หาหมอระบบไขข้อกระดูก หาหมอสูตินารีแพทย์ หาหมอระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ และค่าหมอมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น หากคุณเกิดเจ็บป่วยนอกเวลาทำงานของแพทย์

 

ค่ายารักษาโรค

ค่ายารักษาโรคตามโรงพยาบาล มักมีราคาแตกต่างกันออกไป เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาทขึ้นไป/1 ตัวยา ทั้งนี้ ราคาขึ้นอยู่กับกลุ่มของโรคที่คุณเจ็บป่วยด้วย ว่าต้องใช้ยาชนิดใดในการรักษา ต้องกินอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ค่ายาเวชภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ แม้ค่ายาตามโรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาสูง แต่อย่าลืมว่าการได้รับยาที่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะยารักษาที่ตรงกับโรคของคุณ ย่อมช่วยให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลง และลดระยะเวลาการพักฟื้นได้

 

ค่าห้องพักผู้ป่วยใน

ในกรณีที่คุณเจ็บป่วยหนัก และแพทย์ลงความเห็นว่า ควรนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตามมาหลังการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น โดยราคาห้องพักผู้ป่วยเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 2,400 – 10,600 บาท/คืน แต่ราคาดังกล่าวยังไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ เช่น ค่ายาเวชภัณฑ์ ค่าบริการพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าอาหารผู้ป่วย หากรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คุณต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเฉลี่ยอยู่ที่คืนละ 6,500 บาท ขึ้นไป (ราคาขึ้นอยู่กับห้องพัก แต่ละประเภท)

 

ค่าการเอกซเรย์ ค่าฉายแสงบำบัด ค่าผ่าตัด

หากคุณเกิดเจ็บป่วยกะทันหัน ป่วยฉุกเฉิน หรือมีอาการของโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องวินิจฉัย หรือรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การเข้าเครื่องเอกซเรย์ สแกน MRI การ ส่องกล้องทางเดินอาหาร การตัดชิ้นเนื้อตรวจ ฯลฯ การตรวจด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการหาหมอหนึ่งครั้งเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว โดยเฉลี่ยแล้วค่ารักษาต่อครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3,xxx – 1x,xxx บาทขึ้นไป

 

ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดใหญ่

มักเกิดในผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือมีอาการของโรคเกิดขึ้นเฉียบพลัน ต้องรับการผ่าตัดทันทีเพื่อรักษาชีวิต ซึ่งทุกการผ่าตัดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และความพร้อมของผู้ป่วย แต่บางกรณีต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

โดยค่าใช้จ่ายการผ่าตัดเฉลี่ยต่อครั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 3,xxx – 1xx,xxx บาทขึ้นไป (ยังไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ ของโรงพยาบาล) ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของโรค ระยะของโรค ชนิดของโรค อุปกรณ์พิเศษที่ต้องใช้ในการผ่าตัด ฯลฯ

 

ค่าใช้จ่ายแฝง

กรณีหาหมอแบบผู้ป่วยนอก นอกจากต้องชำระค่าหมอตรวจรักษา และค่ายา คุณต้องเสียค่าบริการของโรงพยาบาลเพิ่มเติม เช่น ค่าอุปกรณ์การแพทย์และวัสดุสิ้นเปลือง ค่าบริการพยาบาล ค่าคลินิกนอกเวลา ค่าบริการผู้ป่วยนอก ฯลฯ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,xxx บาท ขึ้นไป++ ต่อการตรวจรักษา 1 ครั้ง

 

นี่เป็นเพียงการประเมินค่าใช้จ่ายการเจ็บป่วย “1 ครั้ง” ในกรณีตัวอย่างเท่านั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เช่น จ่ายค่าเครื่องมือแพทย์ แลกกับความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรค ยาเวชภัณฑ์คุณภาพสูง สภาพเศรษฐกิจ มาตรฐานโรงพยาบาล แต่ละแห่ง ฯลฯ

นอกจากค่าใช้จ่ายในการหาหมอแล้ว การเจ็บป่วยแต่ละครั้งก็มีโอกาส ทำให้คุณสูญเสียรายได้หากต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ดังนั้น ควรมองหาตัวช่วยเพื่อรักษารายได้ของคุณ ซึ่งประกันชีวิตแบบชดเชยรายได้ เป็นตัวช่วยหนึ่งในการสร้างความอุ่นใจทุกครั้ง เมื่อต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.play.scblife.co.th
ภาพประกอบจาก: www.kasikornbank.com

 

 


-เมื่อประสบภัยจากรถ.jpg

ข้อควรรู้เมื่อประสบภัยจากรถ ประชาชนทุกคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถ จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าผู้ประสบภัยนั้นจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ในรถหรือนอกรถ เป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร เจ้าของรถ คนเดินถนน หากได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตอันเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

 

การที่รัฐออกกฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องจัดให้มีประกันภัย อย่างน้อยที่สุด คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ ที่ได้รับบาดเจ็บ/เสียชีวิต เพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที กรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล/สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นสวัสดิการสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุประสบภัยจากรถ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือนร้อน แก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว

 

ข้อพึงปฏิบัติเมื่อประสบภัยจากรถ

เมื่ออุบัติเหตุรถยนต์เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ หรือผู้พบเห็นควรปฏิบัติ ดังนี้

  • กรณีมีผู้บาดเจ็บ
  1. นำคนเจ็บเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และสะดวกที่สุดก่อน
  2. แจ้งเหตุที่เกิดให้ตำรวจทราบ และขอสำเนาประจำวันตำรวจเก็บไว้
  3. แจ้งเหตุบริษัทประกันภัยทราบ แจ้งวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ
  4. เตรียมเอกสาร ถ่ายสำเนากรมธรรม์ประกันภัยรถคันเกิดเหตุ ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ออกโดยราชการ กรณีเมื่อเรียกร้องค่าเสียหาย
  5. ให้ชื่อ ที่อยู่ ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์เพื่อช่วยเหลือในการเป็นพยานให้แก่คนเจ็บ
  • การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นผ่านโรงพยาบาล

เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัย ให้เตรียมเอกสาร ดังนี้

  1. สำเนากรมธรรม์ของรถ (ใบเสร็จรับเงินจากบริษัทประกัน)
  2. สำเนาใบบันทึกประจำวันของตำรวจประทับตราโล่ และสำเนาถูกต้องเอกสาร
  3. สำเนาคู่มือรถหน้าจดทะเบียน และหน้ารายการเสียภาษี หรือสำเนาสัญญาซื้อขาย (สมุดเขียว/น้ำเงิน)
  4. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบภัย
  5. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประสบภัย
  6. สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ
  7. สำเนาบัตรทะเบียนบ้านเจ้าของรถอย่างละ 2 ชุด

 

มีสิทธิข้าราชการ อุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิไหนก่อน?

เมื่อผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามนัยมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2535 ของระบบราชการ ต้องใช้สิทธิ พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ

 

มีสิทธิบัตรประกันสุขภาพ อุบัติเหตุจากรถ  จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก่อนโดยไม่ใช้ พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถได้หรือไม่?

ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2540 ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถก่อน

การเบิกค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยมากับรถคันไหนให้เบิกค่าเสียหายเบื้องต้นจากรถคันนั้น แต่ถ้าผู้ประสบภัยเป็นบุคคลภายนอกให้เบิกค่าเสียหายเบื้อต้นจากรถที่เกิดเหตุ (หรือเบิกจากกองทุนเงินทดแทน)

ดังนั้น กรณีที่มีผู้ประสบภัยจากรถ ท่านสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยที่ท่านจะรับการรักษาด้วยความสะดวกรวดเร็วไม่น้อยกว่ามาตรฐานของโรงพยาบาล เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัย หรือญาติ จะต้องแจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และให้ญาติเตรียมเอกสารดังกล่าวข้างต้นให้กับโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลจะเป็นผู้ตั้งเบิกต่อบริษัทประกันแทนผู้ประสบภัย ตามค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง ไม่เกิน 30,000 บาท โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

 

วงเงินความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.

  • ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายถึง ค่าเสียหายต่อชีวิต – ร่างกายของผู้ประสบภัย อันเนื่องจากการใช้รถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่าย โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิด และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน

1. ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 30,000 บาท
2. ค่าทุพพลภาพ/สูญเสียอวัยวะ หรือค่าปลงศพตามข้อ 1, 2 รวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท ในชั้นต้น 35,000 บาท

  • ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น) หมายถึง ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต – ร่างกายของผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเมื่ออุบัติเหตุจากรถนั้นเป็นความผิดของผู้ขับขี่รถที่เอาประกันภัย

1. กรณีบาดเจ็บ ไม่เกิน 80,000 บาท
2. กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร 300,000 บาท
3. สูญเสียอวัยวะ
• นิ้วขาด 1 ข้อขึ้นไป 200,000 บาท
• สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน 250,000 บาท
• สูญเสียอวัยวะ 2 ส่วน 300,000 บาท
4. ค่าชดเชยการรักษาตัว (ผู้ป่วยใน) 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วัน  4,000 บาท

* ยกเว้น ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิดจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

หมายเหตุ สำหรับกรมธรรม์ที่เกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: https://med.mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก: www.psh.go.th


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก