ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงเกิดหนาตัว มีความแข็ง ขาดความยืดหยุ่นและอาจถึงขั้นตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวลดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายและใกล้เคียงไม่เพียงพอ ในกรณีที่ตีบตันจะทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายของหลอดเลือดที่ตีบตัน ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อบริเวณส่วนปลายเท้าตาย ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรือตัน

 

อาการ

โรคหรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยผู้ที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะไม่ทราบจนกระทั่งเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ได้แก่

  1. หลอดเลือดที่คอหรือสมอง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการ อัมพาต อัมพฤกษ์ เวียนศีรษะ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  2. หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด ปวดเค้นอก แน่นหน้าอก เหมือนมีสิ่งของมาทับอาจจะปวดร้าวมาไหล่และแขนซ้ายด้านใน เหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย กรณีเป็นรุนแรงทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
  3. หลอดเลือดที่ขา อาจทำให้เกิดอาการปวดเวลาเดิน ชา มีแผลจะหายช้า เท้ามีสีดำคล้ำ อาจจะเกิดส่วนที่ดำและตายในส่วนปลายของตำแหน่งที่ตีบตันบริเวณเท้า
  4. เส้นเลือดที่ไต จะทำให้มีความดันโลหิตสูงและถ้าเป็นรุนแรงอาจจะทำให้ไตวายได้

 

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการมีไขมันหรือแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และการสะสมของไขมันและสารอื่น ๆ รวมถึงเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดการอักเสบ มีเกล็ดเลือดมาเกาะ และแผ่นคราบ (plaque) หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจจะแตกออกและเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้หลอดเลือดแดงแข็ง มักเกิดในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ พบในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กเป็นส่วนน้อย

 

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

WordPress Tables Plugin
  • การสูบบุหรี่*
    ความรุนแรงของความเสี่ยง อาจจะพิจารณาจาก จำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน x จำนวนปี

    สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นนิโคตินและความถี่ที่สูบ
    นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลในครอบครัวก็เพิ่มความเสี่ยงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง
  • ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน** อาจจะคำนวณจากดัชนีมวลกายหรือรอบเอว
    • ดัชนีมวลกาย (Body mass index) = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (ม.)2
      ตัวอย่าง ส่วนสูง 1.68 เมตร น้ำหนัก 68 กก. ดัชนีมวลกายเท่ากับ 68/(1.68)2 = 24.1 กก/ม2
      ปกติ ดัชนีมวลกายถ้ามากกว่า 23 กก/ม2 จะถือว่าน้ำหนักเกินและเพิ่มความเสี่ยง
    • รอบเอว ชาย ไม่ควรเกิน 90 ซม. หญิง ไม่ควรเกิน 80 ซม.
      หรือ รอบเอวไม่เกิน ส่วนสูง/2
  • ความดันโลหิตสูง*** ตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ที่สถานพยาบาล
    • แม้แต่ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอทในกลุ่มที่อ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ไขมันผิดปกติ****
    • ไขมันที่ไม่ดี คือ ระดับ LDL-C ถ้ามากว่า 190 มก./ดล. ถือว่าความเสี่ยงสูงมาก การรักษาควรให้ลดระดับ LDL-C เท่าใด ขึ้นกับความเสี่ยง เช่น น้อยกว่า 100 มก./ดล. ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น เบาหวาน หรือ น้อยกว่า 70 มก./ดล. ในผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ไขมันที่ดี คือ HDL-C เพศชายควรมีระดับ มากกว่า HDL-C 40 มก./ดล. และเพศหญิง ควรมากกว่า 50 มก./ดล. และถ้ามากกว่า 60 มก./ดล. อาจจะมีส่วนในการป้องกันโรคหัวใจ
  • เบาหวานหรือระดับน้ำตาลสูง*****
    • แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลสูงถึงระดับเบาหวาน แต่มีค่าน้ำตาลก่อนอาหารมากกว่า 100 มก./ดล. หรือน้ำตาลสูงที่ 2 ชั่วโมงหลังรับทานน้ำตาล 75 กรัม มากกว่า 140 มก./ดล. ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

  

การประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

บุคคลทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย application หรือ ทางอินเตอร์เน็ตที่ดูโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดและการแนะนำการปฏิบัติตนใน Thai CV risk score* ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลความเสี่ยง ได้แก่ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ประวัติโรคเบาหวาน ระดับความดันตัวบน ในกรณีที่ไม่ใช้ผลเลือดไขมัน จะใช้ ค่าวัดรอบเอวและส่วนสูง หรือถ้ามีผลเลือด จะใช้ค่า โคเลสเตอรอล LDL-C HDL-C

* https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (ตามรายละเอียดในข้อสาเหตุ) พร้อมการตรวจร่างกาย การตรวจหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รอบเอว น้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต อาการแสดงของหลอดเลือดแดงแข็งบริเวณอวัยวะที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคลำชีพจรที่เท้า ฟังเสียงฟู่ที่ท้อง หลัง และคอ

ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น

  1. การตรวจเพื่อเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. การตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใช้เทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์หรือการสแกน เพื่อดูความผิดปกติหลอดเลือด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) การทำดอปเปอร์อัลตร้าซาวด์ (Doppler ultrasound) เพื่อวัดความดันและการไหลของเลือดในหลอดเลือดที่คาดว่าผิดปกติ
  3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อวินิจฉัยและหาตำแหน่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test) เพื่อตรวจหาการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
  4. การฉีดสารทึบแสงพร้อมการเอ็กซเรย์ (Angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด

 

การรักษา

ภายหลังการวินิจฉัย รู้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ภาวะของโรคร่วมหรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาตามแนวทาง

  1. การรักษา/ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของ
    • การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ยาลดไขมัน ซึ่งยาที่มีหลักฐานชัดเจนส่วนใหญ่ คือ ยากลุ่มสแตติน (Statin) นอกจากนี้อาจจะใช้ยากลุ่มอื่นร่วมถ้าไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจากยากลุ่มสแตติน (Statin) ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเอจอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น ยาลดระดับน้ำตาลในผู้เป็นเบาหวาน อาจจะพิจารณายากลุ่มเอส จี แอล ที ทู อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 inhibitor) หรือ จีแอลพีวัน รีเซ็บเตอร์อโกนิส (GLP-1RA) หรือ เม็ทฟอร์มิน (metformin) หรือ ไพโอกลิททาโซน (pioglitazone)
    • การไม่ใช้ยา มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร กินให้ถูกโภชนาการ เน้นอาหารสุขภาพ เช่น ปลา ผัก ข้าวกล้อง ผลไม้ไม่หวานจัด การเพิ่มการออกกำลังกายตามสุขภาพร่างกายและอายุ งดบุหรี่รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง แอลกอฮอล์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกปล่อยวาง เป็นต้น
  2. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยยาป้องกันเกาะกันของเกล็ดเลือด (antiplatelet) เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคพิโดรเกล (clopidrogel) หรือ ยาอื่นๆ หรือการใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาลิน (Warfarin) ในกรณีที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดร่วมด้วย แต่ในกรณีที่หลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลันพิจารณายาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic)  
  3. การขยายหลอดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำบอลลูน (Balloon) การใช้ลวดตาข่าย (Stent) ถ่างหลอดเลือด
  4. การผ่าตัดทำบายพาส (artery bypass grafting) เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงที่หัวใจโดยการนำหลอดเลือดดำที่ขามาเชื่อมหลอดเลือดแดงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างทางเบี่ยงข้ามบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างปกติ ลดอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด

ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดของอวัยวะใด การตีบตันเกิดในตำแหน่งใดของหลอดเลือด อายุ สุขภาพร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ผู้ป่วยต้องปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและบางรายซึ่งส่วนใหญ่อาจจะต้องใช้ยาควบคุมเพื่อชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติเพิ่มเติม ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันที แม้ว่าอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงในการที่อาการดังกล่าวจะกลับมา และส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ มากกว่าเดิม
  • บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันและชะลอภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ได้โดย
    • การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยควรงดสูบบุหรี่ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
    • การควบคุมอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการทานอาหารในทุกมื้อ ไม่ควรทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน และอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • การออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
    • การควบคุมน้ำหนัก ควรให้ความสำคัญกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้
    • รักษา/ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานให้ได้ตามเป้าหมาย
    • ตรวจสุขภาพเพื่อดูการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และการทำงานของไต เพื่อคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
.
.
แหล่งที่มา
  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Atherosclerosis
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-20350569
  3. https://www.honestdocs.co/atherosclerosis-cur
  4. https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk
ภาพประกอบจาก : www.pngtree.com

 


.jpg

ความกลัวหรือความตระหนกตกใจที่เกิดขึ้นอย่างทันทีเหมือนจู่โจม เป็นลักษณะสำคัญของโรคทางจิตเวชโรคหนึ่ง คือ โรคแพนิค ซึ่งมีอาการทางกายที่รุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3 – 10 นาที เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจนานถึงครึ่งชั่วโมงโดยเกิดขึ้นร่วมกับความหวาดกลัว

 

อาการที่สำคัญของ โรคแพนิค

อาการที่เกิดขึ้นแบบจู่โจม (แพนิค) นี้มักเกิดขึ้นโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ จึงยากที่จะทำนายได้ ทำให้บางรายเกิดความหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือ กิจกรรมนั้น ๆ ที่เคยมีแพนิคเกิดขึ้น อาการแพนิคสงบลง ผู้ป่วยมักตกอยู่ในสภาพหวาดหวั่นวิตกกังวลว่าจะเกิดอาการขึ้นมาอีก ไม่อาจรู้ว่าเมื่อไรและ ที่ใดยิ่งมีความหวาดหวั่นและ วิตกกังวลมากเท่าใดก็ดูเหมือนว่าจะเกิดอาการจู่โจมมากขึ้นเท่านั้น ผู้ป่วยได้ตกอยู่ในวงเวียนของการเกิดอาการเสียแล้ว

 

WordPress Tables Plugin

 

โรคแพนิคพบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง และความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ตึงเครียดมากขึ้น ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือ โรคร้ายแรง เวียนไปพบแพทย์บ่อยๆ ซึ่งการตรวจร่างกายและการทดสอบพิเศษจะไม่พบความผิดปกติ

 

สาเหตุ

มีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ เช่น

  • ศูนย์ควบคุมการทำงานของสมองและจิตใจเกี่ยวกับความหวาดกลัวไวต่อสิ่งกระตุ้น มากกว่าปกติ
  • กรรมพันธุ์ โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
  • การมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นครั้งแรก อาจมีความสัมพันธ์กับความตึงเครียดในชีวิต โรคทางอายุรกรรม หรือสารยาบางตัว บางรายอาจไม่มีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้เลยและ ถึงแม้ว่า สิ่งกระตุ้นได้หมดไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นต่อไป

 

การรักษา โรคแพนิค

ในปัจจุบันวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือการรักษาทางยาร่วมกับการดูแลทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมาก จนหายขาดได้้ 7 หรือ 9 ราย ใน 10 ราย โดยอาการดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัดภายหลังเริ่มการรักษาแล้ว 6-8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์ยังคงให้การรักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันการกำเริบของอาการ การหยุดยา ควร ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการของการหยุดยา หรือมีอาการ เก่ากำเริบ

 

คำแนะนำ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

สิ่งที่ควรทำ ออกกำลังกายตามสมควร ตามความสามารถ

  • โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต เหมือนที่ผู้ป่วยมักกลัว
  • ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรักษา
  • ไม่ควรบรรเทาอาการด้วยการเสพสุรา หรือใช้ยานอนหลับ เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อหยุดเสพ
  • ลดหรืองดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ประเภทโคล่าทุกชนิด
  • ออกกำลังกายตามสมควรตามความสามารถ
  • เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาแล้ว ควรออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่เคยหวาดกลัว และลองทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยง โดยเริ่มทีละเล็กน้อยแต่สม่ำเสมอ
  • ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เพื่อลดระดับของความตึงเครียด


การฝึกควบคุมการหายใจเพื่อการผ่อนคลาย

  • นอนหงายตามสบายบนเตียง หรือพื้นที่ในบริเวณที่สงบ
  • มือทั้งสองประสานวางอยู่บนหน้าท้องไม่เกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออกและหัวไหล่
  • สูดลมหายใจเข้าช้าๆพร้อมทั้งสังเกตและจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจ ที่ผ่านรูจมูกเข้าไปลึกเต็มที่จนหน้าท้องขยายขึ้นรู้สึกได้จากการที่มือทั้ง สองถูกยก
  • ขึ้นช้า ๆ และหัวไหล่เคลื่อนขึ้น
  • เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว นับ 1, 2, 3 ในใจช้า ๆ
  • ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ พร้อมทั้งสังเกต และจดจ่อที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจที่เคลื่อนที่ออกผ่านรูจมูกจนหน้าท้อง แฟบลง มือทั้งสองลดต่ำลง
  • เมื่อหายใจออกจนหมด นับ 1, 2, 3 ในใจช้า ๆ
  • เริ่มหายใจเข้าและหายใจออกสลับกันไป เป็นจังหวะสม่ำเสมออย่างน้อย 10 ครั้ง
  • เมื่อมีความชำนาญอาจทำเวลานั่งโดยพิงเก้าอี้ตามสบาย มือทั้งสองวางไว้ที่หน้าขาหรือประสานกันอยู่ที่หน้าท้อง วิธีการเหมือนกับการควบคุมการหายใจในท่านอนหงายทุกประการ

 

แหล่งข้อมูล : thaipsychiatry.wordpress.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


.jpg

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับไข้หวัด (Common cold) แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดทำให้มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า พบได้ในคนทุกเพศและทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี ส่วนมากในช่วงฤดูฝน การระบาดของเชื้อก่อโรคอาจมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในแต่ละปี

 

อาการ ไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า

  • อาการสำคัญที่พบบ่อย
    • ระยะแรก มีไข้สูง ถึงสูงมาก 38 – 41 องศาเซลเซียส อาจมีอยู่ได้ถึง 2 – 3 วัน (ซึ่งต่างจากโรคหวัด ซึ่งมักจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ) ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลากลอกลูกตา ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก และเบื่ออาหาร
    • ระยะที่สอง มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ในเด็กเล็กอาจได้ยินเสียงหายใจดังครืดคราด อาการมักจะหายหลังผ่านระยะแรกไปได้ 3 – 4 วัน
    • ระยะที่สาม ระยะฟื้นตัว ดังนั้นจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ อาจอยู่ได้นานถึง 2 – 4 สัปดาห์

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ อาจมีอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว

  • เมื่อไร่จึงควรไปพบแพทย์ ผู้ป่วยเด็กเล็กอายุ < 5 ปี หรือผู้ป่วยสูงอายุ > 65 ปี ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง) และสตรีมีครรภ์ เมื่อมีอาการไข้สูงเกิน 39 – 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังรับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีหน้าอกบุ๋ม มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซาไวรัส Influenza virus) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A B และ C ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ไปอีกมากมาย เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในแต่ละปี

  • ไวรัสสายพันธุ์ A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์ (ไก่ นก แมว หมู) มาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ไวรัสสายพันธุ์ A แบ่งชนิดตามสารโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส คือ สาร Hemagglutinin (HA: H1-H16) และสาร Neuraminidase (NA:N1-N9) ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ A สามารถแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ย่อย ตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวดัง ได้แก่ H1N1 (ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009/ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
  • ไวรัสสายพันธุ์ B ก่อโรคในคนและแมวน้ำ แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ B/Yamagata และ B/Victoria มักแพร่ระบาดในฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu)
  • ไวรัสสายพันธุ์ C ก่อโรคในคนและหมู พบได้น้อย เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย

โดยสรุปความแตกต่าง อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B และ C เมื่อแพร่ระบาดแล้วจะยากต่อการควบคุม ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่น

 

การติดต่อ

ติดต่อโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่ผ่านการหยิบจับเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเกิดอาการถึง 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

 

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากการถามประวัติและการตรวจร่างกาย และ ตรวจยืนยันโดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่ป้ายมาจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab) วิธีที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ “Rapid influenza diagnostic test” ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 15 – 30 นาที ราคาถูก แต่ความไวในการจับเชื้อได้นั้นไม่มากนัก และ วิธี “Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR)” ทราบผลตรวจในเวลา 2 – 4 ชั่วโมง ความไวและความจำเพาะสูง สามารถแยกสายพันธุ์ A และ B ได้ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า

 

การรักษา

กรณีอาการไม่รุนแรง

การรักษาจะคล้ายกับการรักษาไข้หวัด คือ การประคับประคองตามอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ จะใช้เฉพาะกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง จะส่งผลเสียในระยะยาวคือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเช็ดจากล่างขึ้นบน เพราะทิศทางสวนรูขุมขน จะช่วยระบายความร้อนได้มากกว่า เน้นเช็ดบริเวณข้อพับ รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ ข้อเข่า
  • รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ พาราเซตามอล ไม่ควรรับประทาน แอสไพริน เพราะจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก(ยาแก้แพ้)  มีอาการไอ ใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือ ขับเสมหะ อาการเจ็บคอ ใช้ยาอม หรือ สเปรย์พ่นคอ

กรณีอาการรุนแรง

หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้มาพบแพทย์ เพื่อให้พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้การใช้ยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ (ปอดบวม) สมองอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

บุคคลทั่วไป

  1. รับประทานอาหารที่ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Surgical mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าในโซนแออัด เป็นต้น
  5. รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ปีละ 1 ครั้ง จำเป็นต้องให้ทุกปี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ตลอดเวลา สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาด ซึ่งสามารถลดโอกาสในการเกิดไข้หวัดใหญ่ลงได้ 50 – 65% วัคซีนนี้มีข้อห้าม ในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไก่ แพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis)

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  3. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

 

นพ. ฐิติกร เจียงประดิษฐ์
แหล่งที่มา :

  1. Cohen YZ, Dolin R. Influenza. In: Kasper, Dennis L, et al. Harrison’s Principles of Internal Medicine. 19th edition. New York:McGraw Hill Education, 2015. P.1209-1214
  2. นพพร อภิวัฒนากุล. ไข้หวัดใหญ่. ใน: เปรมฤดี ภูมิถาวร, สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์, กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ, สุเทพ วาณิชย์กุล, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์สำหรับนักศึกษาแพทย์ เล่มที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ; 2552. หน้า 125-132
  3. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.mayoclinic.org
  4. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.cdc.gov/flu

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก