ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Sinusitis.jpg

โรคที่พบได้บ่อยในหน้าฝน คือ โพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ไข้หวัด (Common cold) และไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ซึ่งโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้มักมีอาการตลอดทั้งปี โดยจะมีอาการมากในหน้าฝนและหนาว อาการเด่น คือ คัดจมูก น้ำมูกใส นอนกรน ไม่มีไข้ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเป็นหวัดบ่อยทำให้มีการติดเชื้อตามมาได้ โดยการแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและภูมิแพ้ คือ ภูมิแพ้ไม่มีไข้และอาการคงอยู่ตลอด ส่วนหวัดจะมีไข้ ไอ น้ำมูกและมักจะหายภายใน 7 – 10 วัน

 

โดยปกติในเด็กจะเป็นหวัดปีละ 4 – 6 ครั้ง โดยผู้ใหญ่เป็นหวัดปีละ 2 ครั้ง กรณีเป็นหวัดบ่อย หรือเรื้อรังเกิน 7 – 10 วัน ต้องระวังว่าจะมีภาวะไซนัสอักเสบแทรกซ้อนได้

 

ข้อมูลเบื้องต้น

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) จัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคแพ้อากาศ

ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบ ๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตำแหน่งเป็นคู่ ๆ คือ บริเวณหน้าผาก ใกล้กับหัวคิ้วทั้งสองข้าง บริเวณข้างจมูกทั้งสองข้าง บริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง และบริเวณกะโหลกศีรษะใกล้กับฐานสมอง โดยหน้าที่หลัก ๆ ของไซนัส คือ ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส

ไซนัสอักเสบจะเกิดขึ้นเมื่อจมูกมีการติดเชื้อหรือมีการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นหวัดไม่สบาย ส่งผลให้บริเวณท่อที่เชื่อมต่อระหว่างจมูกกับไซนัสอุดตัน ทำให้มีน้ำมูกคั่งค้าง เมื่อน้ำมูกมีการสะสมมากขึ้นจะมีความหนืด และเป็นแหล่งของเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นไซนัสอักเสบได้ นอกจากนี้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากการเป็นภูมิแพ้ มีสารระคายเคืองหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกได้อีกด้วย

 

 

ประเภทของไซนัสอักเสบ

โดยไซนัสอักเสบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันและไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง

  • ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) จะมีอาการทั่วไปคล้ายกับเป็นไข้หวัด มีไข้สูงหรือต่ำก็ได้ เมื่อเชื้อลุกลามเข้าสู่ไซนัสผู้ป่วยจะมีอาการปวดจมูก ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ น้ำมูกและเสมหะจะมีสีเหลืองอมเขียว ไอมีเสมหะไหลลงคอ ไซนัสอักเสบชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยอาการจะเป็นอยู่น้อยกว่า 8-12 สัปดาห์ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษามีโอกาสที่จะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังได้
  • ไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ซึ่งจะมีอาการมากกว่า 3 เดือน และในช่วงที่เป็นนั้นอาการจะหนักเบาสลับกันไป แต่ไม่มีช่วงที่หายสนิท โดยมักมีอาการไอเรื้อรัง น้ำมูกใสสลับเขียว มีเสมหะเหนียวในลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง ไข้เป็นๆหายๆ ร่วมกับอาการคัดจมูกเรื้อรัง และประสิทธิภาพในการดมกลิ่นลดลง ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักพบร่วมกับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้บ่อย ดังนั้นควรตรวจภาวะนี้ในคนไข้กลุ่มนี้ด้วย

 

ความรุนแรงและความน่ากลัวของไซนัสอักเสบ

หากปล่อยให้เป็นนาน ๆ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่อาจลุกลามเข้าไปในกระบอกตา ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ ตาอักเสบ เกิดเป็นฝีรอบตา และอาจถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเกิดฝีใต้เยื่อหุ้มสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็อาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

 

การวินิจฉัย ไซนัสอักเสบ

วิธีการที่ดีที่สุด คือ เช็คประวัติและตรวจร่างกายที่มีอาการคล้ายหวัด แต่ไม่หายภายใน 10 วันหรือเป็นหวัดบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งจะบอกได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้นกรณีอาการไม่ชัดเจน เช่น ประวัติไม่ชัดเจนหรือรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น จึงจะมีการเอกซเรย์ไซนัส แต่การเอกซเรย์ไซนัสบางครั้งก็บอกได้ยาก ต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ซึ่งจะบอกได้ดีกว่า การส่งคนไข้ไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่คนไข้มีอาการหนักหรืออาการไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่ต้องส่งผ่าตัดเท่านั้น เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในโครงสร้างของจมูกหรือไม่ เช่น มีจมูกคด เป็นต้น แต่ทั้งนี้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นปัจจุบันก็ยังนิยมการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก

 

วิธีการรักษา 

ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาปฏิชีวนะและแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ควบคู่ไปด้วยนอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีการอุดตันของเสมหะข้างในโพรงไซนัสอาจใช้การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยได้ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่ ส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัด ซึ่งจะถูกพิจารณาเป็นกรณีสุดท้าย มักใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยเท่านั้น ในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเป็นบ่อยเกิน 4 ครั้ง/ปี หรือ 3 ครั้งใน 6 เดือน ควรได้รับการตรวจและรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ด้วย

ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคหวัด ที่อาจนำไปสู่ไซนัสอักเสบได้

 

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหืด โรคภูมิแพ้ และโรคระบบหายใจ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ

 


.jpg

เบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM, Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายทำให้ตับอ่อนมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษา หรือรักษาแล้วระดับน้ำตาลยังสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลแทรกซ้อนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายชนิด ที่ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ  เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เส้นเลือดในสมองตีบ ไตเสื่อม ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นทุกปี  โดยในประเทศไทย พบผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้ใหญ่ ประมาณ 8.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นผู้ป่วยทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านราย ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อป้องกัน ดูแลและรักษาผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญ

 

ชนิดของเบาหวานและสาเหตุ

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ โดยจะมีอาการ สาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาที่แตกต่างกัน

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type I  DM) พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยมาก หรือผลิตไม่ได้เลย โดยเกิดจากร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านการทำงานของตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้พบในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 30% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ มักมาด้วยอาการเลือดเป็นกรดเป็นอาการแสดงแรก โรคเบาหวานชนิดนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาฉีดอินซูลินตลอดชีวิต
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II  DM) พบประมาณ 90 – 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือ ตัวจับอินซูลินที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีพอ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 – 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรืออ้วนลงพุง หรือมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน เบาหวานชนิดนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่าตนเป็นเบาหวานอยู่ การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) พบประมาณ 2 – 5% ของเบาหวานทั้งหมด โดยในขณะตั้งครรภ์ร่างกายหญิงจะมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด โดยบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์  ทั้งนี้ภายหลังการคลอดบุตร ระดับน้ำตาลในเลือดของมารดามักจะกลับเป็นสู่ปกติและไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาล
  • โรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ (Specific types of Diabetes due to Other Causes) เบาหวานกลุ่มนี้เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวไปข้างต้น สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

 

อาการโรคเบาหวาน

ในบทความนี้จะกล่าวถึงอาการเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย และน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากภาวะคีโตแอซิโดซิส (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่เลือดในร่างกายเป็นกรด ซึ่งมีระดับน้ำตาลและคีโตน (Ketone) ในเลือดสูง สืบเนื่องจากการขาดอินซูลิน
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นน้อย ๆ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน โดยอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรือตรวจร่างกายประจำปี สำหรับในรายที่มีอาการผิดปกติ อาจพบอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะในตอนกลางคืน กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง บางครั้งมีอาการสายตามัว เห็นภาพไม่ชัด ปัสสาวะมีมดขึ้น (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 mg/dL) ทั้งนี้อาการมักค่อยเป็นค่อยไป กรณีที่เป็นเรื้อรัง น้ำหนักตัวอาจลดจากการที่ร่างกายหันมาใช้พลังงานจากโปรตีนในกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังที่หายช้ากว่าปกติ

ผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในภาวะเบาหวานมานานและไม่รู้ตัว อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น อาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนปลายมือปลายเท้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สายตามัว เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะเบาหวานมีดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะข้อพับแขนหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose: FPG) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะที่ข้อพับแขนขณะที่ไม่ได้อดอาหาร มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ร่วมกับมีอาการแสดงของโรคเบาหวาน เช่น ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด เลือดเป็นกรด ถือว่าสามารถวินิจฉัยเบาหวานได้
  • การทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) สามารถทำโดยให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 2 ชั่วโมง (ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล.) ถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไปจะถือว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวาน

นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่

  • การตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ
  • การตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน (ค่าปกติจะต่ำกว่า 5% แต่ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% จะถือว่าเป็นเบาหวาน)
  • การตรวจระดับไขมันในเลือด เพราะเบาหวานมักมีความสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดสูง
  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต เพราะเบาหวานมักส่งผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง
  • การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานต่อจอตา
  • การวัดความดันโลหิต เนื่องจากเบาหวานมักพบร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง
  • การตรวจเท้า เพื่อหารอยแผลและการรับความรู้สึกผิดปกติ เนื่องจากสัมพันธ์กับผู้เป็นเบาหวานระยะเวลานาน
  • หากสงสัยภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจภูมิคุ้มกันในเลือด (Antibody) เพื่อยืนยันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1

 

การรักษา โรคเบาหวาน 

เป้าหมายของการรักษาเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 1 หรือ 2 คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ซึ่งประกอบไปด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ยาลดระดับน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ประกอบไปด้วย การออกกำลังกาย การควบคุมอาหารและการงดสูบบุหรี่

การออกกำลังกาย

แนะนำให้ออกกำลังกายระดับเบา กล่าวคือ ชีพจรให้ได้ร้อยละ 50 – 70 ของชีพจรสูงสุด (220 – อายุเป็นปี) โดยหากออกกำลังกายแบบแอโรบิก แนะนำให้ปฏิบัติ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแบ่งออกกำลังกายวันละ 30 – 50 นาทีให้ได้ 3 – 5 วันต่ออาทิตย์ และไม่ควรงดออกกำลังกายติดต่อกันนานกว่า 2 วัน สำหรับการออกกำลังแบบต้านแรง (resistance) แนะนำให้ปฏิบัติคู่กับการออกกำลังแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย 8 – 10 ท่า (หนึ่งชุด) แต่ละท่าทำ 8 – 12 ครั้ง วันละ 2 – 4 ชุด

การควบคุมอาหาร

ผู้ป่วยเบาหวานควรมีการควบคุมการรับประทานอาหารและให้มีการลดลงของน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 – 7 โดยการควบคุมอาหาร ไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนว่า สัดส่วนของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันควรจะเป็นเท่าใด สำหรับคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทานชนิดที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้ และนมจืดไขมันต่ำ ร่วมกับเลือกทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ควรบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งเป็นหลักเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือด สำหรับโปรตีนควรบริโภคปลาและเนื้อไก่เป็นหลัก และบริโภคปลามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มโอเมก้า-3 ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่ม ควรจำกัดปริมาณไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้หญิง และ 2 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้ชาย

 

การใช้ยาลดระดับน้ำตาล

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ โดยชนิดของยารับประทานมี ดังนี้

  • ยากลุ่มไบกัวไนด์ (Biguanide) เช่น metformin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกลูโคสที่ตับและกระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ นำกลูโคสไปใช้งานได้มากขึ้น มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาตัวแรกในผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถใช้ควบกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปากคอขม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง ท้องเสีย น้ำหนักลดเล็กน้อย ถ้าใช้กับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียหรือยาฉีดอินซูลิน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น glipizide และ gliclazide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน ผลข้างเคียงสำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักขึ้น และการแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ยากลุ่มกลิตาโซน (Glitazone) เช่น pioglitazone เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อนำกลูโคสไปใช้งานได้ดีขึ้นใช้ควบคู่กับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม แต่หากใช้คู่กับอินซูลินอาจทำให้บวมมากขึ้น ควรพิจารณาปรับขนาดยา ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ บวม น้ำหนักตัวขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) ขึ้น การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น
  • ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เช่น repaglinide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน สามารถใช้แทนยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียได้ในทุกกรณี ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase inhibitor) ได้แก่ acarbose  มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นิยมใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาเสริมยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ มีลมในท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ยากลุ่มยับยั้งการดูดซึมกลูโคสที่ไต (SGLT2 inhibitor) ได้แก่ empagliflozin, canagliflozin และ dapagliflozin สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลกลูโคสที่ท่อไตส่วนต้นได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่การลดการเสื่อมของไตและลดการเกิดหัวใจล้มเหลวด้วย ผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ความดันต่ำ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
  • ยาฉีดกลุ่ม GLP-1 agonist (GLP-1 receptor agonist) ได้แก่ liraglutide สามารถทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น กระเพาะและลำไส้บีบตัวได้น้อยลง ทำให้อิ่มไวและระดับน้ำตาลลดลง ผลข้างเคียงที่สำคัญได้แก่ น้ำหนักตัวลด ท้องอืด
  • ยาฉีดอินซูลิน (Insulin) ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในบางกรณี เช่น กินยารักษาเบาหวานเต็มที่แล้ว ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยเบาหวานที่แพ้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน

ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการทานยารักษาเบาหวานบางชนิดข้างต้น  อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ คือทำให้มีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็น หิวข้าว ถ้าเป็นรุนแรง อาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือชักได้ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้ป่วยจึงควรระวังอาการในลักษณะดังกล่าว ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการก็ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอมทันที ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย

ในรายที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ได้รับการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy) เกิดจากการที่น้ำตาลคั่งอยู่ในหลอดเลือดฝอยในลูกตา ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ตาเสื่อม ส่งผลให้จอตาเสื่อม ระยะแรกอาจไม่มีอาการ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมาด้วยการมองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นจุดดำลอยไปมา หรือตาบอด เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยไต ทำให้หลอดเลือดฝอยไตเสื่อม ส่งผลให้เกิดไตวาย (Renal failure)  ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า ขา ซีด อ่อนเพลีย เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในแต่ละอวัยวะ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะดังกล่าวเสื่อม ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า มีความเสี่ยงต่อแผลหายช้า อัมพาตกล้ามเนื้อตา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเบ่งปัสสาวะไม่ได้ กระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ รวมถึงการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ การที่หลอดเลือดหัวใจเสื่อมจากภาวะเบาหวานประกอบกับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) บางรายมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด ผู้ป่วยหลายกรณีไม่มีอาการล่วงหน้า บางรายอาจมีอาการแบบรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน หรือ หัวใจล้มเหลวฉับพลัน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease/stroke) สูง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าบุคคลปกติ 3 – 5 เท่า โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสนหรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ กลืนอาหารแล้วสำลักบ่อยๆ เป็นต้น
  • แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer) ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการปลายประสาทอักเสบ ภาวะขาดเลือดจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ และติดเชื้อง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เกิดแล้วหายช้า อาจลุกลาม รุนแรง เป็นเนื้อตายจนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะบริเวณดังกล่าวทิ้งได้ โดยเฉพาะแผลที่เท้า

 

สรุป

  • ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อเจาะตรวจเลือด หรือวางแผนการรักษาตามวันเวลานัด การขาดการจริงจังกับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยประสบกับปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้นได้
  • ห้ามซื้อยารับประทานเอง ทั้งนี้ยาสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาล ทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงจนอยู่ในระดับผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการและอาจเป็นอันตรายได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูง
  • หมั่นตรวจและดูแลเท้าอย่างละเอียดทุกวัน ระวังไม่ให้มีบาดแผลหรือมีการอักเสบ ถ้ามีแผลที่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรประคบร้อน
  • คนปกติที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรเจาะเพื่อตรวจเบาหวาน โรคตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีพี่น้องเป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรตรวจทุกปี โดยหากพบในระยะเริ่มแรกจะได้วางแผนการรักษาแต่เนิ่น
  • ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ อย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือหากเป็นโรคอ้วนก็ควรลดน้ำหนัก เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80% ฉะนั้น การควบคุมน้ำหนักจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
  • ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ ลดคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ลดไขมัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมหวาน ผลไม้รสหวานจัด หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารทอด หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยทำในปริมาณพอ ๆ กันทุกวันและไม่หักโหม ทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
  • เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบเร็วขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

 

แหล่งที่มา

  1. www.mayoclinic.org
  2. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. เบาหวาน. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 473-483
  3. Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes care. 2020;43(Suppl 1):S98-s110.
  4. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. (2560)
  5. www.idf.org

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-และไข้เลือดออก.jpg

สถานการณ์ปัจจุบัน ไข้เดงกี (Dengue fever) และไข้เลือดออก (Dengue hemorrhage fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 สายพันธุ์นำโรค โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายนี้จะกัดคนที่ป่วยเป็นโรคและไปกัดคนอื่น ๆ ทำให้เกิดโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออก ไข้เดงกีและไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และตอนกลางของทวีปอเมริกา ซึ่งอาจเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากรในเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้มีสภาพเป็นชุมชนแออัด มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น และการขาดการควบคุมยุงที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งในปัจจุบันมีการเดินทางที่รวดเร็วและขยายตัวมาก ทำให้นักทัศนาจรที่มีอาการป่วย สามารถนำเชื้อไวรัสเดงกีไปยังที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกได้โดยง่าย

 

ในประเทศแถบหนาวเริ่มมีรายงานของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มนักทัศนาจรที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) และประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีโรคนี้ชุกชุม ไข้เดงกีและไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย พบได้ตลอดทั้งปีแต่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เดงกีและไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น และพบว่ามีการระบาดของโรคในบางปีจนทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 100,000 รายต่อปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าการเสียชีวิตของไข้เลือดออกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กซึ่งแสดงถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต เด็กเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสเด็งกีบ่อยที่สุดและอัตราตายสูงโดยเฉพาะในช่วงอายุ 5 – 9 ปี ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยไข้เดงกีและไข้เลือดออกพบได้บ่อยขึ้นในเด็กโตและวัยรุ่น รวมทั้งมีรายงานของผู้ป่วยผู้ใหญ่อายุ 15 – 25 ปี เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย อินเดีย และ สิงค์โปร์  ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออก แม้ว่าจะพบเพียงร้อยละ 20 – 30 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ในปีที่มีการระบาดของโรค ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากได้

  

อาการและการวินิจฉัย ไข้เดงกี และไข้เลือดออก

ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี ทำให้ป่วยเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออก มักมีอาการที่ไม่รุนแรงเหมือนในผู้ป่วยเด็ก วัยรุ่น ผู้ป่วยผู้ใหญ่บางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวและอาการหายเองได้ โดยไม่ได้รับการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ที่มีการติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น ไข้สูง ปวดตามกล้ามเนื้อมาก บางรายอาจมีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกร่วมด้วย พบว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตมักพบว่ามีอาการที่สำคัญคือ ภาวะช็อก เลือดออกรุนแรง ตับวาย ไตวายและไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีอาการ/อาการแสดงผิดแผกจากที่พบโดยทั่วไป เช่น อาการปวดท้องตั้งแต่ระยะแรก อาการชัก อาจทำให้แพทย์ไม่ได้คิดถึงโรคนี้หรือไม่ได้ส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเป็นไข้เด็งกี (ซึ่งในผู้ใหญ่พบได้บ่อยกว่าการป่วยเป็นไข้เลือดออก) มักพบว่ามีไข้สูง ปวดเมื่อย ปวดกระดูก ปวดศีรษะ  มักไม่พบมีอาการไอหรือมีน้ำมูก  อาการเจ็บคอพบได้บ้าง  มักพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้บ่อย ผู้ป่วยมักมีไข้ประมาณ 5 ถึง 7 วันและพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีไข้น้อยกว่า 9 วัน การมีผื่นแบบจุดเลือดออกโดยเฉพาะที่ขา แขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วยมักพบในช่วง 1 – 2 วันก่อนที่ไข้จะลดลงหรือผื่นอาจเกิดหลังจากไข้ลดลงแล้ว ผู้ป่วยไข้เดงกีอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติได้แต่มักไม่รุนแรง พบว่าการใช้อาการทางคลินิกดังกล่าวร่วมกับการตรวจพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือเกร็ดเลือดต่ำ และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเป็นไข้เลือดออกมักมี ไข้สูง อาเจียน และมีเลือดออกผิดปกติ ภาวะเลือดออกมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งภาวะเลือดออกมักพบในช่วงวันที่ 5 – 8 ของการมีไข้ ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกเป็นภาวะเลือดออกในผู้ป่วยที่พบบ่อยที่สุดโดยมักพบบริเวณแขน ขา รักแร้และลำตัว เลือดออกผิดปกติในตำแหน่งอื่นๆในผู้ป่วยที่พบ ได้แก่ เลือดออกจากจมูก ผู้หญิงบางรายมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด พบว่าในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกรุนแรง มักพบว่ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น เลือดออกในช่องท้อง ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีการรั่วของของน้ำเลือดไปในช่องปอด ช่องท้องมักพบในช่วง 5 – 7 วันหลังมีไข้ ทำให้มีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น บางรายมีน้ำในช่องปอดหรือมีน้ำในช่องท้องทำให้หายใจลำบาก ตับโต ปวดท้อง กดเจ็บที่ท้อง เหนื่อยหอบปัสสาวะลดลง และทำให้ผู้ป่วยบางรายมีภาวะความดันโลหิตต่ำลงจนเกิดภาวะช็อก ซึมลง หายใจล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนรุนแรง  ผู้ป่วยซึมหรืออ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง กระหายน้ำตลอดเวลา กระสับกระส่าย ตัวเย็นชื้น ปวดท้องมาก มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

 

การรักษา ไข้เดงกี และไข้เลือดออก

ปัจจุบันไม่มียาจำเพาะในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ดังนั้นการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่และการให้สารน้ำและการรักษาตามอาการ เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเดงกี ในกรณีที่ผู้ป่วยมีคลื่นไส้ อาเจียน ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ให้จิบครั้งละน้อย ๆ บ่อย ๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว อาหารควรเป็นอาหารอ่อน   แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแก่ผู้ป่วยโดยการอาศัยการประเมินอาการทางคลินิกและติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปริมาณสารน้ำที่ให้ผู้ป่วย ในระยะที่มีการรั่วของน้ำเลือดผู้ป่วยที่มีไข้ให้ทำการเช็ดตัวลดไข้ อาจเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อย ๆ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแล้วบิดพอหมาด ๆ ลูบเบาๆบริเวณหน้า ลำตัว แขน และขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นอก แผ่นหลัง และขาหนีบ ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที

ในกรณีที่มีไข้สูงสามารถพิจารณาให้ยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นโดยเฉพาะยาแอสไพริน อย่างไรก็ตามยาลดไข้จะช่วยให้ไข้ลดลงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วไข้ก็จะสูงขึ้นอีก พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายมีภาวะตับอักเสบร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งมักพบในช่วง 5 – 7 วันหลังมีไข้ ดังนั้น ควรระมัดระวังการใช้ยาซึ่งมีผลทำให้เกิดตับอักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยรับประทานยาพาราเซตตามอลเพื่อลดไข้ในขนาดสูงและบ่อยเป็นเวลานาน (5 – 7 วัน) ติดต่อกัน รวมทั้งการได้รับยาอื่น ๆ ที่มีผลต่อตับ เช่น ยาแก้อาเจียนบางชนิด ยาป้องกันชัก ยาปฏิชีวนะบางชนิด ที่อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยมีตับอักเสบรุนแรงได้

 

การป้องกัน ไข้เดงกี และไข้เลือดออก

การป้องกันไม่ให้ยุงกัดและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดโรค เช่น ควรนอนในมุ้งหรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน กำจัดยุงด้วยการพ่นสารเคมีในบริเวณมุมอับภายในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้ ให้ใส่ทรายอะเบทหรือใส่ปลาหางนกยูง ไม่ให้มีวัสดุที่เหลือใช้รอบ ๆ บ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีมาอย่างต่อเนื่อง วัคซีนป้องกันการติดเชื้อมีความก้าวหน้าไปจนถึงการทดสอบในระยะที่ 3 พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและทำให้เกิด ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี และมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ อย่างไรก็ตามวัคซีนดังกล่าวยังไม่มีการผลิตเพื่อใช้สำหรับประชาชนทั่วไป

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

 


-H2C00-1.jpg

โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคที่เกิดอาการอักเสบ เนื่องจากมีกรดยูริก (Monosodium urate monohydrate – MSU) ตกตะกอน ใน ข้อและอวัยวะต่าง ๆ ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า และพบบ่อยในผู้ชายอายุ 35 ปี ขึ้นไป ผู้หญิงจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน

 

อาการและอาการแสดง

  • ข้ออักเสบฉับพลัน ปวด บวม แดง ร้อน อย่างชัดเจน มักมีอาการอักเสบมากที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงแรก
  • พบบ่อยที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หลังเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก อาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ๆ
  • ระยะแรก จะมีการอักเสบ ข้อเดียวนาน 1 – 2 วัน ปีละ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 60 จะกลับมีอาการซ้ำอีกภายใน 1 ปี) แต่ถ้าไม่ได้รักษา การอักเสบจะบ่อยขึ้น นานขึ้น เป็นหลายข้อพร้อมกัน มีก้อนผลึกกรดยูริกหรือก้อนโทฟัส (Tophus) ทำให้ข้อผิดรูป และกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อเสื่อมอย่างถาวร
  • มีโอกาสเกิดนิ่วในไต ร้อยละ 20 และมีโอกาสเกิดไตวาย ร้อยละ 10
  • ถ้าเป็นเรื้อรัง อาจพบก้อนโทฟัส ที่ข้อศอก ข้อเท้า ใบหู ก้อนอาจแตก และมีสารคล้ายชอล์กสีขาว ผลึกกรดยูริกออกมา แต่ถ้าก้อนไม่แตกเอง ก็ไม่ควรไปผ่า เพราะแผลจะหายช้ามาก
  • ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้แสดงว่าเป็นโรคเกาต์แบบรุนแรง เช่น ปริมาณกรดยูริกในเลือดสูง มีก้อนโทฟัส เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย มีอาการไตอักเสบ หรือมีนิ่วในไต เป็นต้น

 

โรคเกาต์

 ภาพจาก : www.webmd.com

  

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์

  • เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบในโรคเกาต์ที่แน่นอน (definite) คือ การตรวจพบผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium urate crystal) จากน้ำไขข้อหรือก้อนโทฟัส ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจผลึก อาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเกาต์ของ Rome (Rome criteria) โดยอาศัยเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
    • ข้อบวมเจ็บซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและหายภายใน 2 อาทิตย์
    • ระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชายและมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิง
    • พบก้อนโทฟัส (tophus)
  • 2015 Gout Classification Criteria An American College of Rheumatology/European League Against Rheumatism Collaborative Initiative The entry criterion for the new classification criteria requires the occurrence of at least 1 episode of peripheral joint or bursal swelling, pain, or tenderness.
    • The presence of MSU crystals in a symptomatic joint/bursa (i.e., synovial fluid) or in a tophus is a sufficient criterion for classification of the subject as having gout, and does not require further scoring.
    • The domains of the new classification criteria include clinical (pattern of joint/bursa involvement, characteristics and time course of symptomatic episodes), laboratory (serum urate, MSU negative synovial fluid aspirate), and imaging (double contour sign on ultrasound or urate on dual-energy computed tomography, radiographic gout-related erosion).
    • The sensitivity and specificity of the criteria are high (92% and 89%, respectively).

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยจะต้องมีข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนฉับพลัน เป็น ๆ หาย ๆ และไม่ได้อาศัยการเจาะเลือด ตรวจกรดยูริกเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดว่า เจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูง เป็นเกาต์ แต่ถ้าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกต่ำ ไม่เป็นเกาต์ ถ้าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูง แต่ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ แต่จะเรียกว่า ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ไม่ต้องรักษา ยกเว้นมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 13.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศชาย และ 10.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง หรือการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะมากกว่าวันละ 1,100 มิลลิกรัม เมื่อรับประทานอาหารตามปกติ จะพบอุบัติการณ์ของไตทำงานบกพร่องและนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น ควรพิจารณาให้การรักษา

 

โรคเกาต์

ภาพจาก : theheartysoul.com

 

สาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ

  • การบาดเจ็บหรือข้อถูกกระทบกระแทกแบบไม่รุนแรง โดยตอนกระแทกจะไม่ค่อยเจ็บ แต่ต่อมาเจ็บมากขึ้น
  • อาหารที่เป็นของแสลง ไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในบางคน แต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงควรสังเกต จดบันทึกชนิดอาหารที่ทานก่อนเกิดข้ออักเสบ และหลีกเลี่ยงของแสลง โดยเฉพาะช่วงที่มีข้ออักเสบ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ไก่ เป็ด ห่าน น้ำต้มกระดูก กุ้งทะเล หมึก หอย ซุปก้อน กะปิ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง พืชบางชนิด เช่น ถั่ว เห็ด กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก สะเดา สะตอ ผักโขม หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า แตงกวา ของหมักดอง
  • เหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ
  • อากาศเย็นหรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้า หรือ ก่อนฝนตก เป็นต้น
  • ยา เช่น แอสไพริน ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ

 

แนวทางรักษา

  1. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ
  2. ลดการใช้งานของข้อที่อักเสบถ้าในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจจำเป็นต้องใส่เฝือกชั่วคราว เพื่อให้ข้ออยู่นิ่ง ๆ
  3. ยา
    • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs, เอนเสด) เป็นยาบรรเทาอาการเท่านั้นไม่ได้รักษาโรค เมื่ออาการดีขึ้น ไม่ปวด ไม่บวม ไม่แดง ไม่ร้อน ก็หยุดยาได้ มีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะคลื่นไส้ ท้องอืด แสบท้อง จุกแน่นลิ้นปี่ แผลในกระเพาะอาหาร หน้าบวม ตาบวม ขาบวม
    • ยา โคชิซีน (colchicine) ถ้ามีการอักเสบมากก็จะต้องใช้ยาปริมาณมาก ทาให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน ซึ่งถ้าเกิดอาการข้างเคียงมาก ให้ลดปริมาณยาลง หรือ หยุดยาไว้ก่อน

      • การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
        • ถ้ามีข้ออักเสบบ่อย เช่น ข้ออักเสบทุก 1 – 2 เดือน ควรพิจารณาให้ยา 3 – 1.2 มก./วัน รับประทานทุกวัน
        • ถ้ามีข้ออักเสบไม่บ่อย เช่น ทุก 3 – 4 เดือนขึ้นไป อาจพิจารณาให้ยาเฉพาะช่วงที่เริ่มมีอาการปวดข้อ
      • การพิจารณาหยุดยา colchicines
        • ถ้าผู้ป่วยไม่มีปุ่มโทฟัส ให้พิจารณาหยุดยาเมื่อ ไม่มีข้ออักเสบ และควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการ เป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน
        • ถ้าผู้ป่วยมีปุ่มโทฟัส ให้พิจารณาหยุดยาเมื่อ ปุ่มโทฟัสหายไป และควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการเป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน
    • ยาลดกรดยูริก ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก และยาเร่งการขับกรดยูริก
      • ควรเริ่มยา หลังจากข้ออักเสบหายสนิทแล้วเท่านั้น แต่ ในกรณีที่ใช้ยาอยู่แล้ว ให้ยาเดิมต่อไป ไม่ควรปรับขนาดยาลดกรดยูริกที่ผู้ป่วยได้รับขณะที่มีข้ออักเสบ
      • ตั้งเป้าหมายให้กรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับเท่ากับหรือต่ำกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ ในกรณีที่มีก้อนโทฟัสแล้วอาจตั้งเป้าหมายลดระดับกรดยูริกในเลือดลงมาเท่ากับหรือต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
      • ระยะเวลาของการให้ยาควรให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้ยาไปจนผู้ป่วยไม่มีอาการอักเสบของข้อหรือให้จนปุ่มโทฟัสหายไปหมดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 – 5 ปี ในรายที่มีประวัตินิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะมากกว่า 800 มก./วัน ต้องพิจารณาให้ยาลดกรดยูริกชนิดยายับยั้งการสร้างกรดยูริกไปตลอด
      • แนวทางการใช้ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (Xanthine oxidase inhibitor เช่น allopurinol febuxostat)
        • มีปุ่มโทฟัส
        • มีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะมากกว่า 800 มก./วัน
        • มีประวัติหรือตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
        • ใช้ยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไตไม่ได้ผล
        • แนวทางการใช้ยาเร่งการขับกรดยูริก (Uricosuric agents)
      • อายุน้อยกว่า 60 ปี
        • หน้าที่การทำงานของไตปกติ การใช้ยา probenecid ควรมีค่า CCr มากกว่า 80 cc/min การใช้ยา benzpromarone ควรมีค่า CCr มากกว่า 30 cc/min)
        • มีการขับกรดยูริกออกทางไตน้อยกว่า 800 มก./วัน
        • ไม่มีประวัติหรือตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
        • ควรแนะนาให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร หรือเปลี่ยนสภาวะความเป็นกรดของปัสสาวะให้เป็นด่าง (alkalinization; urine pH 6.5 – 7) โดยให้ potassium citrate หรือ potassium bicarbonate หรือ soda mint
    • ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ จะใช้ในกรณีที่มีข้ออักเสบอย่างรุนแรง และผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ เท่านั้น เพราะการฉีดยาเข้าข้อจะมีผลเสียค่อนข้างมาก เช่น ติดเชื้อในข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และกล้ามเนื้อรอบข้อลีบ


แนะนำอ่านเพิ่มเติม

  • 2015 Gout Classification Criteria An American College of Rheumatology/European League Against Rheumatism Collaborative Initiative
  • ARTHRITIS & RHEUMATOLOGY Vol. 67, No. 10, October 2015, pp 2557–2568
  • 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 1: Systematic Nonpharmacologic and Pharmacologic Therapeutic Approaches to Hyperuricemia
  • Arthritis Care & Research Vol. 64, No. 10, October 2012, pp 1431–1446
  • 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 2: Therapy and Antiinflammatory Prophylaxis of Acute Gouty Arthritis
  • Arthritis Care & Research Vol. 64, No. 10, October 2012, pp 1447–1461
  • แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ (Guideline for Management of Gout) โดย สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555 (ปรับปรุงจากแนวทางเวชปฏิบัติภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและโรคเกาต์ ปี พ.ศ. 2544)
  • แนวทางเวชปฏิบัติ ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) และโรคเก๊าท์ (Gout) โดยสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย


ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ


-Osteoarthritis-of-Knee.jpg

โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of Knee) จะมีพยาธิสภาพหลักอยู่ที่ กระดูกอ่อน (articular cartilage) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลงและขรุขระ กระดูกงอกบริเวณขอบข้อ และน้ำไขข้อมีการสูญเสียคุณสมบัติ ทำให้มีปริมาณมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นลดลง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจทวีความรุนแรงขึ้นตามลาดับ

 

มีปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น อายุ (พบบ่อยเมื่ออายุเกิน 40 ปี) น้ำหนักตัวมาก เพศ (ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า) การใช้ข้อไม่เหมาะสม อุบัติเหตุ กระดูกหัก เส้นเอ็นฉีกขาด ติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

 

อาการ

อาการและอาการแสดง อาจพบเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรก อาการจะไม่มาก และเป็น ๆ หาย ๆ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็จะมีอาการมากขึ้น หรือเป็นตลอดเวลา เช่น

  • ปวดเข่า มักจะระบุตำแหน่งไม่ได้ รู้สึกเมื่อยตึงที่น่อง ข้อพับเข่ามีเส้นเอ็นอักเสบ ทาให้ปวด กดเจ็บ ด้านในเข่าและหน้าแข้ง
  • ข้อฝืด เหยียดงอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับเข่า ถ้านั่งยอง คุกเข่า นั่งพื้น แล้วลุกลำบาก
  • ข้อบวม ร้อน เพราะมีการอักเสบทำให้น้ำไขข้อมากขึ้น มีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่าจากเยื่อบุข้อเข่าโป่งออก
  • เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก หรือ มีกระดูกงอก ทาให้ข้อผิดรูป กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง เดินกะเผลก

เอกซเรย์พบมีช่องของข้อเข่าแคบลง มีกระดูกงอก แต่ความผิดปกติทางเอกซเรย์ อาจไม่สัมพันธ์กับอาการ (เอกซเรย์มีข้อเสื่อมมากแต่ไม่ค่อยปวด) จึงไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้น ผู้ที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือก่อนการผ่าตัด

โรคข้อเข่าเสื่อม

http://www.kinetesisspineandjoint.ca/knee_osteoarthritis

 

ACR Clinical Classification Criteria for Osteoarthritis of the knee:

Using history and physical examination

  • pain in the knee and 3 of the following
    • Over 50 years of age
    • Less than 30 minutes of morning stiffness
    • Crepitus on active motion
    • Bony tenderness
    • Bony enlargement
    • No palpable warmth of synovium

 

แนวทางรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาด จุดมุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีคือ บรรเทาอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร

 

การจัดการและการใช้ยา

  • ขณะปวด ให้พักการใช้ข้อเข่า
  • ใช้ยาต้านการอักเสบชนิดทาภายนอก หรือ ยาทาเจลพริก
  • ประคบด้วยความเย็น/ความร้อน กายภาพบำบัด การฝังเข็ม
  • ผ้ารัดเข่าเฝือกอ่อนพยุงเข่า (แต่ถ้าใส่ติดต่อกันนาน จะทาให้กล้ามเนื้อลีบ) ถ้ามีเข่าผิดรูป ให้ใส่เป็น สนับเข่าแกนเหล็กด้านข้าง หรือใช้อุปกรณ์พยุงเข่า (knee brace / support)
  • บริหารกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและป้องกันข้อติด เพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อรอบข้อ
  • ยาบรรเทาอาการ เช่น Acetaminophen, Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา และต้องระวังภาวะแทรกซ้อน
  • ยากลุ่ม SYSADOA (Symptomatic slow acting drugs for osteoarthritis) เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine sulfate) หรือไดอะเซอเรน (Diacerein) ถือว่าเป็น “ทางเลือก” ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน ให้หยุดยา แต่ถ้าอาการดีขึ้น แนะนำให้ใช้ต่อไม่เกิน 6 เดือน และหยุดยาอย่างน้อย 6 เดือน
  • ฉีดน้ำไขข้อเทียม ช่วยให้อาการดีขึ้น เฉลี่ย 6 เดือน – 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง (13,000 – 16,000 บาท) จึงแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ รักษาด้วยวิธีอื่น ๆไม่ได้ผล แต่ยังไม่อยากผ่าตัด หรือผ่าตัดไม่ได้
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือเจาะดูดน้ำไขข้อ ถึงแม้ทาให้อาการปวดดีขึ้นรวดเร็ว แต่ผ่านไป 1 – 2 เดือน จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม และมีผลข้างเคียงสูง เช่น ข้อเสื่อมเร็วขึ้น กระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ ติดเชื้อ แต่ถ้าจำเป็น ขณะ ฉีดยา หรือเจาะข้อ ต้องป้องกันการติดเชื้ออย่างดี เช่น ใช้ผ้าปลอดเชื้อ ถุงมือปลอดเชื้อ เป็นต้น ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ มากกว่าปีละ 2 – 3 ครั้ง หลังฉีดต้องลดการใช้เข่า 1 – 2 อาทิตย์และใส่ผ้ารัดเข่าร่วมด้วย

โรคข้อเข่าเสื่อม

http://www.kinetesisspineandjoint.ca/knee_osteoarthritis

 

การผ่าตัด

  • การส่องกล้องผ่าตัดในข้อ (Arthroscopic surgery) เฉพาะในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการเนื่องจาก มีหมอนรองข้อเข่า (meniscus) หรือกระดูกอ่อนหลวม (Loose bodies) หรือมีแผ่นเนื้อ (Flap) ทำให้ข้อเข่ายึดเหยียดงอไม่ได้หรือเดินแล้วล้มเท่านั้น และไม่แนะนำ การเจาะล้างข้อเข่า (Needle lavage) ครูดหรือเจาะเนื้อเยื่อในข้อ (Arthroscopic abrasion or drilling) รวมทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีเข่าผิดรูป เพราะไม่ให้ประโยชน์
  • การผ่าตัดจัดแนวกระดูก (Realignment osteotomy) ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในช่องเพียงด้านเดียว (Unicompartment) ซึ่งมีอาการ แต่ยังแข็งแรงแคล่วคล่อง (Active) และมีแนวกระดูกผิดปกติ (Malalignment)
  • การผ่าตัดกระดูกจัดแนวแข้งด้านบน (High Tibial Osteotomy: HTO) ในผู้ป่วยอายุน้อยและยังมีกิจกรรมมาก (young, active) โดยผู้ป่วยต้อง งอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา ยังมีกระดูกอ่อนผิวข้อด้านในคงเหลืออยู่ ไม่มีการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าด้านนอกและกระดูกอ่อนผิวสะบ้าหรือมีน้อยมาก และเข่ายังมั่นคงดีหรือมีการเลื่อนไปด้านนอกหรือความไม่มั่นคงไม่มากนัก
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total knee arthroplasty) เป็นต้น การผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย ใช้ในผู้ที่มีอาการมาก รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ดีขึ้น เนื่องจากมีข้อจากัด เช่น ข้อเข่าเทียมจะใช้ได้แค่ 10 – 15 ปี เป็นต้น แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะดีในแง่ลดอาการปวด เคลื่อนไหวข้อได้ดีขึ้น

ข้อบ่งชี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ ต้องมีลักษณะซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ทุกข้อดังต่อไปนี้

  • ให้การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด มากกว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ผล
  • มีผิวข้อเข่าทุกผิวเสื่อมอย่างรุนแรง (Severe tri-compartmental osteoarthritis)
  • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป

ข้อห้าม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้

  • ข้อเสื่อมเหตุประสาทพยาธิสภาพ (Neuropathic arthritis)
  • มีการติดเชื้อในข้อในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา
  • มีการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อเหยียดเข่าอย่างสิ้นเชิง

ข้อแนะนำการดูแลตนเอง

  1. ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีคำนวณตัวเลขสุขภาพ มากกว่า 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรลดน้ำหนักลงให้อยู่ในระดับใกล้เคียงมาตรฐานหรืออย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวขณะที่มีอาการปวดข้อ เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้าวิ่งจะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว (การถีบจักรยาน เข่าจะรับแรงกดเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น) ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง อาการปวดก็จะลดลงด้วย
  2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี หลีกเลี่ยง การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น
  3. เวลาอาบน้ำ หรือสระผมควรใช้ เก้าอี้นั่ง เพื่อป้องกันการลื่นหกล้มขณะอาบน้ำ
  4. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่ง (แบบนั่งราบ) หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มีรูตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน และควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน
  5. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่าเมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี
  6. ไม่ควรนอนราบบนพื้น เพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น
  7. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว
  8. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ควรขยับเปลี่ยนท่าหรือเหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ
  9. การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน
  10. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ หลีกเลี่ยง ทางลาดเอียงหรือทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และมีขนาดกระชับพอดี
  11. ใช้ไม้เท้า ในช่วงที่มีอาการปวด หรือในผู้ที่มีข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก (ลดแรงกระทำต่อข้อเข่าได้ประมาณร้อยละ 25 ของน้ำหนักตัว) และช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือไม้เท้าในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือไม้เท้าในข้างที่ถนัด
  12. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น การทรงตัวดีขึ้น
  13. ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น แนะนำให้ออกกาลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละ 20 – 40 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
• แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2554
http://www.rcost.or.th/web/
• ACR Diagnostic Guidelines Osteoarthritis
http://www.hopkinsarthritis.org/physician-corner/education/arthritis-education-diagnostic-guidelines/

 

ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ


.jpg

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงเกิดหนาตัว มีความแข็ง ขาดความยืดหยุ่นและอาจถึงขั้นตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวลดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายและใกล้เคียงไม่เพียงพอ ในกรณีที่ตีบตันจะทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายของหลอดเลือดที่ตีบตัน ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อบริเวณส่วนปลายเท้าตาย ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรือตัน

 

อาการ

โรคหรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยผู้ที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะไม่ทราบจนกระทั่งเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ได้แก่

  1. หลอดเลือดที่คอหรือสมอง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการ อัมพาต อัมพฤกษ์ เวียนศีรษะ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  2. หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด ปวดเค้นอก แน่นหน้าอก เหมือนมีสิ่งของมาทับอาจจะปวดร้าวมาไหล่และแขนซ้ายด้านใน เหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย กรณีเป็นรุนแรงทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
  3. หลอดเลือดที่ขา อาจทำให้เกิดอาการปวดเวลาเดิน ชา มีแผลจะหายช้า เท้ามีสีดำคล้ำ อาจจะเกิดส่วนที่ดำและตายในส่วนปลายของตำแหน่งที่ตีบตันบริเวณเท้า
  4. เส้นเลือดที่ไต จะทำให้มีความดันโลหิตสูงและถ้าเป็นรุนแรงอาจจะทำให้ไตวายได้

 

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการมีไขมันหรือแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และการสะสมของไขมันและสารอื่น ๆ รวมถึงเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดการอักเสบ มีเกล็ดเลือดมาเกาะ และแผ่นคราบ (plaque) หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจจะแตกออกและเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้หลอดเลือดแดงแข็ง มักเกิดในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ พบในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กเป็นส่วนน้อย

 

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

WordPress Tables Plugin
  • การสูบบุหรี่*
    ความรุนแรงของความเสี่ยง อาจจะพิจารณาจาก จำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน x จำนวนปี

    สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นนิโคตินและความถี่ที่สูบ
    นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลในครอบครัวก็เพิ่มความเสี่ยงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง
  • ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน** อาจจะคำนวณจากดัชนีมวลกายหรือรอบเอว
    • ดัชนีมวลกาย (Body mass index) = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (ม.)2
      ตัวอย่าง ส่วนสูง 1.68 เมตร น้ำหนัก 68 กก. ดัชนีมวลกายเท่ากับ 68/(1.68)2 = 24.1 กก/ม2
      ปกติ ดัชนีมวลกายถ้ามากกว่า 23 กก/ม2 จะถือว่าน้ำหนักเกินและเพิ่มความเสี่ยง
    • รอบเอว ชาย ไม่ควรเกิน 90 ซม. หญิง ไม่ควรเกิน 80 ซม.
      หรือ รอบเอวไม่เกิน ส่วนสูง/2
  • ความดันโลหิตสูง*** ตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ที่สถานพยาบาล
    • แม้แต่ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอทในกลุ่มที่อ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ไขมันผิดปกติ****
    • ไขมันที่ไม่ดี คือ ระดับ LDL-C ถ้ามากว่า 190 มก./ดล. ถือว่าความเสี่ยงสูงมาก การรักษาควรให้ลดระดับ LDL-C เท่าใด ขึ้นกับความเสี่ยง เช่น น้อยกว่า 100 มก./ดล. ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น เบาหวาน หรือ น้อยกว่า 70 มก./ดล. ในผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ไขมันที่ดี คือ HDL-C เพศชายควรมีระดับ มากกว่า HDL-C 40 มก./ดล. และเพศหญิง ควรมากกว่า 50 มก./ดล. และถ้ามากกว่า 60 มก./ดล. อาจจะมีส่วนในการป้องกันโรคหัวใจ
  • เบาหวานหรือระดับน้ำตาลสูง*****
    • แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลสูงถึงระดับเบาหวาน แต่มีค่าน้ำตาลก่อนอาหารมากกว่า 100 มก./ดล. หรือน้ำตาลสูงที่ 2 ชั่วโมงหลังรับทานน้ำตาล 75 กรัม มากกว่า 140 มก./ดล. ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

  

การประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

บุคคลทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย application หรือ ทางอินเตอร์เน็ตที่ดูโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดและการแนะนำการปฏิบัติตนใน Thai CV risk score* ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลความเสี่ยง ได้แก่ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ประวัติโรคเบาหวาน ระดับความดันตัวบน ในกรณีที่ไม่ใช้ผลเลือดไขมัน จะใช้ ค่าวัดรอบเอวและส่วนสูง หรือถ้ามีผลเลือด จะใช้ค่า โคเลสเตอรอล LDL-C HDL-C

* https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (ตามรายละเอียดในข้อสาเหตุ) พร้อมการตรวจร่างกาย การตรวจหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รอบเอว น้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต อาการแสดงของหลอดเลือดแดงแข็งบริเวณอวัยวะที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคลำชีพจรที่เท้า ฟังเสียงฟู่ที่ท้อง หลัง และคอ

ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น

  1. การตรวจเพื่อเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. การตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใช้เทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์หรือการสแกน เพื่อดูความผิดปกติหลอดเลือด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) การทำดอปเปอร์อัลตร้าซาวด์ (Doppler ultrasound) เพื่อวัดความดันและการไหลของเลือดในหลอดเลือดที่คาดว่าผิดปกติ
  3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อวินิจฉัยและหาตำแหน่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test) เพื่อตรวจหาการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
  4. การฉีดสารทึบแสงพร้อมการเอ็กซเรย์ (Angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด

 

การรักษา

ภายหลังการวินิจฉัย รู้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ภาวะของโรคร่วมหรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาตามแนวทาง

  1. การรักษา/ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของ
    • การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ยาลดไขมัน ซึ่งยาที่มีหลักฐานชัดเจนส่วนใหญ่ คือ ยากลุ่มสแตติน (Statin) นอกจากนี้อาจจะใช้ยากลุ่มอื่นร่วมถ้าไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจากยากลุ่มสแตติน (Statin) ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเอจอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น ยาลดระดับน้ำตาลในผู้เป็นเบาหวาน อาจจะพิจารณายากลุ่มเอส จี แอล ที ทู อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 inhibitor) หรือ จีแอลพีวัน รีเซ็บเตอร์อโกนิส (GLP-1RA) หรือ เม็ทฟอร์มิน (metformin) หรือ ไพโอกลิททาโซน (pioglitazone)
    • การไม่ใช้ยา มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร กินให้ถูกโภชนาการ เน้นอาหารสุขภาพ เช่น ปลา ผัก ข้าวกล้อง ผลไม้ไม่หวานจัด การเพิ่มการออกกำลังกายตามสุขภาพร่างกายและอายุ งดบุหรี่รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง แอลกอฮอล์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกปล่อยวาง เป็นต้น
  2. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยยาป้องกันเกาะกันของเกล็ดเลือด (antiplatelet) เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคพิโดรเกล (clopidrogel) หรือ ยาอื่นๆ หรือการใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาลิน (Warfarin) ในกรณีที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดร่วมด้วย แต่ในกรณีที่หลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลันพิจารณายาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic)  
  3. การขยายหลอดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำบอลลูน (Balloon) การใช้ลวดตาข่าย (Stent) ถ่างหลอดเลือด
  4. การผ่าตัดทำบายพาส (artery bypass grafting) เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงที่หัวใจโดยการนำหลอดเลือดดำที่ขามาเชื่อมหลอดเลือดแดงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างทางเบี่ยงข้ามบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างปกติ ลดอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด

ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดของอวัยวะใด การตีบตันเกิดในตำแหน่งใดของหลอดเลือด อายุ สุขภาพร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ผู้ป่วยต้องปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและบางรายซึ่งส่วนใหญ่อาจจะต้องใช้ยาควบคุมเพื่อชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติเพิ่มเติม ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันที แม้ว่าอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงในการที่อาการดังกล่าวจะกลับมา และส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ มากกว่าเดิม
  • บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันและชะลอภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ได้โดย
    • การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยควรงดสูบบุหรี่ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
    • การควบคุมอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการทานอาหารในทุกมื้อ ไม่ควรทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน และอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • การออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
    • การควบคุมน้ำหนัก ควรให้ความสำคัญกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้
    • รักษา/ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานให้ได้ตามเป้าหมาย
    • ตรวจสุขภาพเพื่อดูการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และการทำงานของไต เพื่อคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
.
.
แหล่งที่มา
  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Atherosclerosis
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-20350569
  3. https://www.honestdocs.co/atherosclerosis-cur
  4. https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk
ภาพประกอบจาก : www.pngtree.com

 


-edit.jpg

ไข้หวัด หรือโรคหวัด (Common Cold) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ประกอบด้วย จมูก คอ ไซนัส กล่องเสียง พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่า โดยเฉลี่ยปีละ 6 – 12 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่เต็มที่ ส่วนผู้ใหญ่ติดเชื้อหวัดโดยเฉลี่ยปีละ 2 – 3 ครั้ง

 

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมีเชื้อไวรัสมากกว่า 200 ชนิดจาก 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ยังมีไวรัสกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) กลุ่มฮิวแมน พาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Human para-influenza virus) กลุ่มอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) กลุ่มอาร์เอสไวรัส (Respiratory syncytial virus-RSV) กลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus)  กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และกลุ่มเฮิร์บ ซิมเพลคไวรัส (Herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคหวัดขึ้นในแต่ละครั้ง จะเกิดจากการได้รับเชื้อหวัดหรือเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว หลังจากนั้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น โดยการเกิดโรคหวัดในครั้งต่อไปจะเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เวียนไปเรื่อย ๆ

เนื่องจากเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งผ่านทางการไอ จาม หายใจรดกัน ทำให้ละอองอากาศที่มีเชื้อหวัดลอยเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่อาจติดอยู่ตามข้าวของ เครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส ภายหลังนำมือไปจับบริเวณตา ปาก และจมูกทำให้เชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกาย  ทั้งนี้พบว่าการสัมผัสโดยตรงทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าการหายใจเอาละอองอากาศเข้าไป นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ การอยู่ในสถานที่แออัด ห้องเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสสัมผัส ไอ จามใส่กันได้ง่าย เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหวัดมากขึ้น หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสะสม ผู้ที่ติดบุหรี่ สารเสพติด ล้วนเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ยังไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์แน่ชัดว่าจากสาเหตุใด อากาศที่เปลี่ยนทำให้ระบบทางเดินหายใจมีความไวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการติดหวัดได้ง่ายในช่วงฤดูดังกล่าว

 

อาการ

อาการสำคัญของโรคไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะด้วยเล็กน้อย มักเป็นเสมหะขาว เจ็บคอ หายใจไม่สะดวกจากเยื่อบุจมูกบวมหรือน้ำมูกอุดตัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อตัว ในเด็กมักมีไข้ เด็กเล็กอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย วัยผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้หรือไข้อ่อน ๆ

ถ้าเป็นอยู่นานหลายวัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนจากใส เป็นน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว อาจมีไข้สูงขึ้น และอาจมีอาการจากการที่เชื้อติดซ้ำลุกลามไปจนเกิดการอักเสบที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ทอนซิลบวมโต มีหนองจากการเป็นทอนซิลอักเสบ ปวดมึน หนักหน้าผาก โหนกแก้ม รวมถึงมีเสมหะข้นเหลืองเขียวจากการเป็นไซนัสอักเสบ เสียงแหบ เจ็บหน้าอก เสมหะขุ่นข้นจากการเป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น


เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์

ผู้ใหญ่มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 2 วัน มีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายไปแล้ว เจ็บคออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีดและหายใจหอบเหนื่อย หรือ ปวดบริเวณโหนกแก้มหรือไซนัส ในเด็กแรกเกิด ถึง 12 สัปดาห์ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 1 วัน อาการของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด เด็กมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง หรือมีอาการงอแงมากขึ้น

ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีความคล้ายคลึงกัน แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยอาการไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า อาการสำคัญคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และรู้สึกไม่สบายตัวจนมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนอาการไข้หวัดทั่วไป จะมีความรุนแรงไม่มาก มีเพียงอาการ ไข้ ไอและน้ำมูกไหล และเจ็บคอเป็นอาการเด่น

 

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยโรคหวัดส่วนใหญ่ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในรายที่มีไข้สูงมาก อาการซับซ้อนหรือมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่อาการในระยะแรกคล้ายกับโรคหวัด  เช่น ไข้เลือดออก ไข้ออกผื่น เป็นต้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ ประวัติการระบาดของโรค และตรวจร่างกายในกรณีที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่โรคหวัดทั่วไป ทั้งนี้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเบื้องต้นจะแยกได้จากตำแหน่งที่แสดงอาการ เช่น โรคหวัดจะมีอาการทางจมูกเป็นหลัก โรคคอหอยอักเสบจะมีอาการบริเวณลำคอเป็นหลัก โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการไอเป็นหลัก โดยทั่วไปจะไม่สามารถระบุประเภทของไวรัสได้จากอาการ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยเอกซเรย์ และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก การตรวจเลือด เพื่อใช้ในการยืนยันผล หรือในรายที่มีไข้สูง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดครบ (Complete Blood Count) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรือการตรวจดูค่าเกล็ดเลือด เพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

 

การรักษา

ไข้หวัดเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในกรณีที่รู้แน่ชัดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา การรักษาจึงไม่มีวิธีการเฉพาะ โดยมักเป็นการปฏิบัติตัวของคนไข้ ร่วมกับการใช้ยาประคับประคองตามอาการ ยกเว้นถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย  จึงจะให้ยาปฏิชีวนะ ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อและน้ำมูก การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกหรือน้ำอุ่น เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ขึ้นสูง
  • อาจมีการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ในผู้ใหญ่ ใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้  มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ เจ็บคอใช้ยาอม สมุนไพรหรือสเปรย์พ่นคอเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการลงได้
  • ในกรณีที่มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ influenza A B แพทย์ สามารถที่จะสั่งยาต้านไวรัส โอเซลตามีเวีย ให้แก่ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหญิงตั้งครรภ์

สำหรับเด็กเล็ก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ซึ่งจะมียาและอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะจะปลอดภัยที่สุด

  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีอาการแพ้และผลข้างเคียงกับผู้รับประทานยา เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดแม้อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจทำให้เกิดภาวะปวดอักเสบนิวโมเนีย โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

บุคคลทั่วไป

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อหวัด โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในข่ายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน มิถุนายน ก่อนเข้าหน้าฝน

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากในช่วงนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันยังเป็นการลดความเสี่ยงในการนำเชื้อหวัดไปแพร่ให้กับผู้อื่นได้

 

พ.อ. นพ. ยศวีร์ วงศ์เจริญ
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แหล่งที่มา : นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ตำราการตรวจและรักษาโรคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2544.   www.mayoclinic.org   www.medicinenet.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

โรคเครียด (Acute Stress Disorder, ASD) เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดัน โดยแสดงออกผ่านการทำงานที่ผิดปกติของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งทางด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม ผู้ที่เผชิญสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันซ้ำ ๆ และไม่ได้รับการแก้ไข นานไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เป็นโรคเครียดได้ ทั้งนี้สถานการณ์ที่เป็นแรงกดดัน จนนำไปสู่ภาวะและโรคเครียดอาจแตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์กดดันได้มากน้อยแตกต่างกัน  

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดมักเกิดอาการของโรคทันทีที่เผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด โดยจะเกิดอาการของโรคเป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาการของโรคเครียดในแต่ละด้านมีดังนี้

WordPress Tables Plugin

 

อาการที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการข้างต้นเกิดขึ้นบ่อยหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นอาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์หรือพฤติกรรม โดยไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันนั้น ๆ ให้ดีขึ้นได้ ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่ควรทำ

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบประเมินเพื่อเป็นตัวช่วยให้ประชาชนสามารถคัดกรองภาวะเครียดเบื้องต้นด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางการดูแลตัวเองและวางแผนจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม โดยให้สำรวจอาการที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ว่ามีอาการหรือความรู้สึกในตารางด้านล่างนี้มากน้อยเพียงใด

โรคเครียด

เมื่อคุณตอบแบบประเมินครบทั้ง 20 ข้อ แล้วให้รวมคะแนนแต่ละข้อ ดังนี้

  • ไม่เคยเลย = 0 คะแนน
  • เป็นครั้งคราว = 1 คะแนน
  • เป็นบ่อย ๆ = 2 คะแนน
  • เป็นประจำ = 3 คะแนน

จากนั้น ให้รวมคะแนนทั้ง 20 ข้อ คะแนนที่ได้จะอยู่ระหว่าง 0 – 60 คะแนน ซึ่งแต่ละช่วงคะแนนมีความหมาย ดังนี้

  • 0 – 5 คะแนน แสดงว่า เครียดน้อยกว่าปกติ อาจเป็นเพราะคุณมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนในการดำเนินชีวิตสักเท่าใดนัก คุณอาจถามตัวเองว่าพอใจหรือไม่กับสิ่งที่เป็นอยู่ หากพอใจและชีวิตไม่เดือดร้อนก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข แต่ถ้าไม่พอใจควรปรับเปลี่ยนวิถี เช่น อ่านหนังสือ สังสรรค์กับเพื่อน หรือวางเป้าหมายชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองแล้วดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
  • 6 – 17 คะแนน แสดงว่า เครียดในระดับปกติ คุณสามารถจัดการกับความเครียดที่เกินขึ้นในชีวิตประจำวันได้ดี และปรับตัวปรับใจให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างอย่างเหมาะสม คุณควรพยายามรักษาระดับความเครียดเช่นนี้ต่อไปให้ได้นาน ๆ
  • 18 – 25 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าระดับปกติเล็กน้อย คุณอาจกำลังมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจ อาจทำให้มีอาการผิดปกติทางร่างกาย จิตใจและการแสดงออกได้เล็กน้อย แต่เมื่อได้พักผ่อนหย่อนใจก็จะรู้สึกดีขึ้นเอง หากทำแล้วยังไม่หายเครียดควรพูดคุยหรือปรึกษาเรื่องที่รบกวนจิตใจกับคนไว้วางใจ
  • 26 – 29 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงว่าระดับปกติปานกลาง คุณอาจกำลังมีปัญหาบางอย่างในชีวิตที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ ทำให้มีอาการผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ และการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด และแม้จะพักผ่อนหย่อนใจแล้วก็อาจจะไม่หายเครียด ควรค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ไม่สบายใจ คิดแก้ไขปัญหาและลงมือแก้ไข
  • 30 – 60 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าระดับปกติมาก คุณอาจกำลังเผชิญภาวะวิกฤตในชีวิตหรือสะสมความเครียดไว้มากเกินไปเป็นเวลานาน ควรคลายเครียดด้วยการหยุดพักความคิด ยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายผ่อนคลาย พักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง คิดแก้ปัญหาและลงมือแก้ไขปัญหา หากไม่ดีขึ้นควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ที่มา : แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

 

สาเหตุ

ผู้ที่เป็นโรคเครียดมักเป็นผู้ที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรง ที่ทำให้รู้สึกกลัว ตื่นตระหนก หรือรู้สึกสะเทือนขวัญ เช่น การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง การเจ็บป่วยร้ายแรงของตนเองหรือคนในครอบครัว การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเครียด ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เครียด เช่น มีพ่อแม่เครียด มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาในการทำงานหรือปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน โดยทั้งหมดต้องติดต่อพบเจอกันเป็นประจำ ผู้ที่มีประวัติประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ หรือผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงรอยต่อ เช่น ช่วยวัยรุ่นก่อนเป็นผู้ใหญ่ หญิงในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน ชายหญิงวัยเกษียณ เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ โดยนอกจากตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว จะมีการสอบถามถึงสถานการณ์ที่อาจเป็นแรงกดดันจนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น การมีอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย ความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวด้วย เช่น การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง โรคประจำตัวหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เพื่อวางแผนในการรักษาได้ถูกต้อง

 

การรักษา

ผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงหรือเกิดความเครียดเรื้อรัง ควรต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นวิธีรักษาโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดอาการรุนแรงและเป็นมานาน โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยจัดการอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้
  • บำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นวิธีจิตบำบัดที่มีแนวคิดว่าความคิดบางอย่างของผู้ป่วยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคเครียดอาจได้รับการบำบัดระยะสั้น โดยแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความคิดบางอย่างนั้นไม่ถูกต้อง และปรับทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อสิ่งต่างๆให้มองทุกอย่างได้ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง
  • ใช้ยารักษา แพทย์อาจจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบางรายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคเครียด เช่น อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาการนอนไม่หลับ อาการซึมเศร้า เป็นต้น โดยยาที่ใช้รักษาโรคเครียด ได้แก่ ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-Blocker) และยาไดอะซีแพม (Diazepam) โดยใช้ช่วงเวลาสั้นๆในผู้ป่วยบางรายที่จำเป็น

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น ยาระงับอาการวิตกกังวล ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

การปรับไลฟ์สไตล์ให้เกิดความสมดุลในด้านต่าง ๆ ของชีวิต สามารถช่วยป้องกันภาวะเครียดในเบื้องต้น ดังนี้

  1. จัดแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวให้เหมาะสม (Work Life Balance) การดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างรีบเร่ง การมีชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่ยาวนานเกินไป หรือการนำงานจากที่ทำงานกลับไปทำที่บ้านบ่อย ๆ ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมได้
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง หรืออย่างน้อยให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวัน เช่น เดิน ขึ้นลงบันได ในวันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
  3. พักผ่อนโดยเฉพาะนอนหลับให้เพียงพอ เบื้องต้นควรนอนก่อน 4 ทุ่ม และควรนอนให้ได้คืนละ 7 – 8 ชั่วโมง
  4. มีงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสุนัข สะสมแสตมป์ อ่านหนังสือ งานจิตอาสาและอื่น ๆ ที่ช่วยให้สมองและร่างกายได้ผ่อนคลายจากสถานการณ์ต่างๆที่เป็นแรงกดดันให้เกิดความเครียด
  5. ฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดจนเกินไป ทั้งด้วยการทำสมาธิ การสวดมนต์ ปฏิบัติหรือสนทนาธรรมกับผู้รู้หรือกัลยาณมิตร เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ แก้ปัญหา สถานการณ์ต่าง ๆ โดยไม่ทำให้เครียดมากขึ้น
  6. ฝึกเป็นคนมองโลกในแง่บวก มีงานวิจัยพบว่าการคิดบวกเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ ทั้งชีวิตยืนยาวอย่างมีความสุขมากขึ้น ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เสริมสร้างสุขภาพหัวใจ ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียดและสถานการณ์ยากลำบากได้ดีขึ้น

 

แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com  www.dmh.go.th  www.siamhealth.net  กรมสุขภาพจิต

ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


-H2C00.jpg

หลายคนเข้าใจว่า “ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative disc)” เป็นภาวะที่มักจะพบในผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมเกิดขึ้นในร่างกายตามวัยที่สูงขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า จากสถิติของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังนั้น มีเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุและในหลากหลายอาชีพ ซ้ำแล้วในวัยทำงานอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คืออายุตั้งแต่ 25 – 50 ปี ยังพบว่ามีผู้ที่ประสบภาวะนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย

 

สาเหตุสำคัญ

ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการหลัก

  1. การสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่น นั่งนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอริยาบท นั่งขับรถเป็นระยะทางไกล ๆ เป็นกิจวัตร
  2. การยกของหนัก
  3. การเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง ส่งผลให้กระดูกเสื่อมเร็วก่อนเวลาอันควร

 

อาการที่พบ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ที่เอวระดับเข็มขัดและอาจร้าวลงไปถึงบริเวณด้านข้างของสะโพก ในบางรายที่มีอาการเฉียบพลัน เช่น ไปยกของหนักมีอาการเจ็บหลังร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งทันที แสดงว่า เกิดปริแตกหรือโป่งยื่นของหมอนรองกระดูก ทำให้มีส่วนเนื้อในของหมอนรองกระดูก (Nucleus) โป่งหรือทะลักออกมา ไปกดทับเส้นประสาทที่ไปขา บางรายจะมีอาการชาและทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา อ่อนแรงของเท้า ทำให้เดินลำบาก ผู้ป่วยลักษณะนี้จะมีภาวะที่เรียกว่า “Acute Herniated Disc Syndrome” ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน

อาการที่แสดงว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเอว ลักษณะอาการปวดจะตื้อ ๆ ระดับเข็มขัดอาจร้าวลงมาที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านข้าง ซึ่งอาการปวดจะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น มีอาการปวดเมื่อนั่งนาน ขับรถนาน ยืนนาน หรือเดินนาน บางรายอาจนั่งได้เพียง 10-15 นาทีก็จะมีอาการ แต่เมื่อนอนพักอาการปวดจะทุเลาลง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการกดทับเส้นประสาทมากจะมีอาการปวดร้าวลงขา บางรายมีอาการชาและอ่อนแรงของขาหรือเท้าตามเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ

หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

ภาพจาก : discmdgroup.com 

 

แนวทางในการรักษา

สิ่งแรกแพทย์ต้องจะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองเป็นโรคอะไร มีลักษณะผิดปกติอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง พร้อมกับแนะนำวิธีการดูแลรักษาตนเอง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง “โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือโป่งยื่น ส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด (ประมาณกว่า 90% ของผู้ป่วย)” แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเ ร่วมกับให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบ ๆ เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้อาการปวดลดลงได้ และอาจใช้การทำกายภาพบำบัด
ร่วมด้วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชาและอ่อนแรง อาจให้ยาบำรุงเส้นประสาท หรือบางรายที่อาการรุนแรงอาจต้องหยุดพักงาน 2-3 วัน จากนั้นจะเริ่มกลับไปมีกิจวัตรประจำวันตามปกติ อีกแนวทางอีกวิธี คือ การฉีดยารอบเส้นประสาท (Selective nerve block) ด้วยการฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและระงับปวดบริเวณเส้นประสาท ในกรณีที่รักษาแบบเบื้องต้นดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น

 

การผ่าตัด

สำหรับข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยสมควรเข้ารับการผ่าตัด คือ การรักษาด้วยวิธีการพื้นฐานไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการชา หรืออ่อนแรงมากขึ้น มีอาการชารอบก้น อั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่อยู่ เรียกภาวะนี้ว่า “CaudaEquina Syndrome“ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้น้อย และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนทันที

เมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการส่งตรวจ MRI เพื่อดูลักษณะของหมอนรองกระดูกสันหลังที่โป่งยื่นหรือสึกหรอ การผ่าตัดจะเป็นการตัดชิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังที่โป่งยื่นออกมาเท่านั้น เรียกว่า “Discectomy” ซึ่งมีเทคนิคหลายวิธี ตั้งแต่เปิดแผลผ่าตัดขนาด 10 เซนติเมตร จนถึงการผ่าตัดเล็ก ขนาด 1-2 เซนติเมตร โดยใช้เทคนิคไมโครสโคปเข้าช่วย (Microdiscectomy) ซึ่งหลังการผ่าตัด คนไข้จะพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จากนั้นสามารถกลับบ้านได้ แต่จะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ

ข้อที่ต้องหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดอย่างน้อย 3 เดือน คือ ห้ามยกของหนัก ห้ามก้มเก็บของหรือเอี้ยวบิดตัวรุนแรง หลีกเลี่ยงการไอจาม การเบ่งถ่ายอุจจาระ ทั้งนี้เนื่องจากจะทำให้เกิดแรงดันในช่องหมอนรองกระดูกสันหลังสูงขึ้น เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บขึ้นได้ และไม่ควรนั่งนานเกิน 1 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ต้องหมั่นเปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ ด้วยการลุก ยืน เดิน พร้อมกับการบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง

 

เมื่อผ่าตัดแล้ว จะหายขาดหรือไม่

หลังการผ่าตัดอาการจะดีขึ้นอย่างชัดเจน และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนโอกาสที่จะเกิดซ้ำมีประมาณ 5% ส่วนใหญ่เกิดซ้ำในปีแรก โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด เรียกว่าเป็นช่วง 3 เดือนอันตราย ขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง และลักษณะการโป่งยื่นของหมอนรองกระดูก

ส่วนวิธีการรักษาโดยใช้เลเซอร์คลื่นความถี่สูง (RADIOFREQUENCY : RF) และขดลวดความร้อน อาจนำมาใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยไม่ผ่าตัด แต่ผลของการรักษาโดยวิธีดังกล่าวนี้ได้ผลเพียงชั่วคราว ซึ่งบางรายก็อาจไม่ได้ผล กรณีของการรักษาโดยนักจัดกระดูก (Chiropractor) โดยถ้ามีการปวดหลังเรื้อรัง อาจมีการพิจารณาเลือกรักษาได้ แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงขา โดยเฉพาะมีอาการชาและอ่อนแรง ไม่แนะนำให้รับการจัดกระดูก เพราะอาจทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทมากขึ้นและอาการเลวลงได้

สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือโป่งยื่น ก็คือการใช้หลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายและการทำงาน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง สามารถช่วยพยุงให้สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ดังนั้น เมื่อคุณมีอาการปวดหลังและร้าวลงขาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดมากขึ้นเนื่องจากหมอนรองกระดูกเสียหายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษามากตามไปด้วย

 

รศ. นพ. อารีศักดิ์ โชติวิจิตร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางกระดูกสันหลังและการผ่าตัดข้อเทียม
ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH)
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ใต้รูปภาพ


.jpg

ความกลัวหรือความตระหนกตกใจที่เกิดขึ้นอย่างทันทีเหมือนจู่โจม เป็นลักษณะสำคัญของโรคทางจิตเวชโรคหนึ่ง คือ โรคแพนิค ซึ่งมีอาการทางกายที่รุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3 – 10 นาที เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจนานถึงครึ่งชั่วโมงโดยเกิดขึ้นร่วมกับความหวาดกลัว

 

อาการที่สำคัญของ โรคแพนิค

อาการที่เกิดขึ้นแบบจู่โจม (แพนิค) นี้มักเกิดขึ้นโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ จึงยากที่จะทำนายได้ ทำให้บางรายเกิดความหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือ กิจกรรมนั้น ๆ ที่เคยมีแพนิคเกิดขึ้น อาการแพนิคสงบลง ผู้ป่วยมักตกอยู่ในสภาพหวาดหวั่นวิตกกังวลว่าจะเกิดอาการขึ้นมาอีก ไม่อาจรู้ว่าเมื่อไรและ ที่ใดยิ่งมีความหวาดหวั่นและ วิตกกังวลมากเท่าใดก็ดูเหมือนว่าจะเกิดอาการจู่โจมมากขึ้นเท่านั้น ผู้ป่วยได้ตกอยู่ในวงเวียนของการเกิดอาการเสียแล้ว

 

WordPress Tables Plugin

 

โรคแพนิคพบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง และความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ตึงเครียดมากขึ้น ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือ โรคร้ายแรง เวียนไปพบแพทย์บ่อยๆ ซึ่งการตรวจร่างกายและการทดสอบพิเศษจะไม่พบความผิดปกติ

 

สาเหตุ

มีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ เช่น

  • ศูนย์ควบคุมการทำงานของสมองและจิตใจเกี่ยวกับความหวาดกลัวไวต่อสิ่งกระตุ้น มากกว่าปกติ
  • กรรมพันธุ์ โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
  • การมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นครั้งแรก อาจมีความสัมพันธ์กับความตึงเครียดในชีวิต โรคทางอายุรกรรม หรือสารยาบางตัว บางรายอาจไม่มีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้เลยและ ถึงแม้ว่า สิ่งกระตุ้นได้หมดไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นต่อไป

 

การรักษา โรคแพนิค

ในปัจจุบันวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือการรักษาทางยาร่วมกับการดูแลทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมาก จนหายขาดได้้ 7 หรือ 9 ราย ใน 10 ราย โดยอาการดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัดภายหลังเริ่มการรักษาแล้ว 6-8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์ยังคงให้การรักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันการกำเริบของอาการ การหยุดยา ควร ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการของการหยุดยา หรือมีอาการ เก่ากำเริบ

 

คำแนะนำ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

สิ่งที่ควรทำ ออกกำลังกายตามสมควร ตามความสามารถ

  • โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต เหมือนที่ผู้ป่วยมักกลัว
  • ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรักษา
  • ไม่ควรบรรเทาอาการด้วยการเสพสุรา หรือใช้ยานอนหลับ เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อหยุดเสพ
  • ลดหรืองดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ประเภทโคล่าทุกชนิด
  • ออกกำลังกายตามสมควรตามความสามารถ
  • เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาแล้ว ควรออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่เคยหวาดกลัว และลองทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยง โดยเริ่มทีละเล็กน้อยแต่สม่ำเสมอ
  • ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เพื่อลดระดับของความตึงเครียด


การฝึกควบคุมการหายใจเพื่อการผ่อนคลาย

  • นอนหงายตามสบายบนเตียง หรือพื้นที่ในบริเวณที่สงบ
  • มือทั้งสองประสานวางอยู่บนหน้าท้องไม่เกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออกและหัวไหล่
  • สูดลมหายใจเข้าช้าๆพร้อมทั้งสังเกตและจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจ ที่ผ่านรูจมูกเข้าไปลึกเต็มที่จนหน้าท้องขยายขึ้นรู้สึกได้จากการที่มือทั้ง สองถูกยก
  • ขึ้นช้า ๆ และหัวไหล่เคลื่อนขึ้น
  • เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว นับ 1, 2, 3 ในใจช้า ๆ
  • ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ พร้อมทั้งสังเกต และจดจ่อที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจที่เคลื่อนที่ออกผ่านรูจมูกจนหน้าท้อง แฟบลง มือทั้งสองลดต่ำลง
  • เมื่อหายใจออกจนหมด นับ 1, 2, 3 ในใจช้า ๆ
  • เริ่มหายใจเข้าและหายใจออกสลับกันไป เป็นจังหวะสม่ำเสมออย่างน้อย 10 ครั้ง
  • เมื่อมีความชำนาญอาจทำเวลานั่งโดยพิงเก้าอี้ตามสบาย มือทั้งสองวางไว้ที่หน้าขาหรือประสานกันอยู่ที่หน้าท้อง วิธีการเหมือนกับการควบคุมการหายใจในท่านอนหงายทุกประการ

 

แหล่งข้อมูล : thaipsychiatry.wordpress.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก