ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

H2CCVM11400.jpg

รศ. พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง
ประชาสัมพันธ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
สาขาวิชาต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แรงบันดาลใจในการเลือกแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีวิทยา แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ตอนนั้นทางบ้านอยากให้เป็นแพทย์ เพราะคุณพ่อในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก เรียนหนังสือเก่งแต่ต้องหยุดเรียนออกมาทำการค้า จึงอยากให้ครอบครัวมีความสุข และตอนเด็กๆ เราได้เห็นบทบาทแพทย์ ในมุมมองที่เป็นคนไข้ แพทย์ประจำตัวคุณย่า ศ. นพ. เสนอ อินทรสุขศรี และกุมารแพทย์ ประจำตัวเรา คือ ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา จึงรู้สึกประทับใจวิชาชีพแพทย์ และด้วยความที่ชอบวิชาชีววิทยา คิดว่าไปทางวิทยาศาสตร์การแพทย์น่าจะเป็นประโยชน์

จากนั้นเอนทรานซ์ติดที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงปี 4 ได้ขึ้นวอร์ดศัลยกรรมเป็นวอร์ดแรก ได้เห็นตัวอย่างการทำงานหนักเพื่อคนไข้ของอาจารย์และแพทย์ประจำบ้าน ช่วงชั้นคลินิกใช้เวลาในการเรียนหนักขึ้น พักผ่อนน้อยลง แต่รู้สึกสนุก ได้เจอคนไข้ ได้มีประสบการณ์จริง ตอนที่ผ่านอายุรศาสตร์ เจอคนไข้วัยรุ่นเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว มาแอดมิดให้คีโม เราชวนคนไข้คุย ไปเยี่ยมเขาบ่อย ๆ เอาหนังสือที่เขาชอบมาให้อ่าน หลังจากนั้นผ่านไป 2 ปีพยาบาลที่วอร์ดเล่าให้ฟังว่าคนไข้คนนี้มาตามหาคุณหมอ เขาหายดีเลยอยากเอาขนมมาให้ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก ถึงแม้เป็นนิสิตแพทย์ ก็สามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับคนไข้ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้อยากทำแบบนี้ต่อไป พอจบแพทย์ ไปรับเลือกเป็นแพทย์ใช้

ทุนของ รพ.จุฬาฯ ทำอินเทิร์น 1 ปี อยู่ที่ โรงพยาบาลจังหวัดนครนายก และกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางเลือกเรียนกุมารแพทย์ ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกุมารแพทย์ประจำตัวเรา ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รู้สึกว่าอาจารย์เป็นแพทย์ที่เก่ง วินิจฉัยได้แม่นยำ มีเทคนิคชวนคุย ฉีดยาโดยที่ไม่ให้เห็นเข็มและอาจารย์รักคนไข้มาก ๆ ช่วงเป็นนิสิตแพทย์ รู้สึกชอบแผนกเด็ก มีความสุขมากเวลาได้อุ้มเด็ก จึงเลือกเรียนกุมารแพทย์ 3 ปี ตอนนั้น ได้พบท่าน ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเรา บุคลิกของอาจารย์นุ่มนวล ใจดีกับคนไข้และเพื่อนร่วมงานทุกคน เป็นอาจารย์ที่เก่งมาก และ รศ. พญ. สุมาลี ศรีวัฒนา เป็นอาจารย์อาวุโสที่วินิจฉัยคนไข้ได้แม่นยำและเอาใจใส่คนไข้มาก ๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนต่อเฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่ออีก 2 ปี จากนั้นไปศึกษาต่อที่ University of California, San Francisco, USA ไปเป็น visiting fellow อีก 2 ปี ศึกษาเกี่ยวกับการทำวิจัยในเชิงลึก ในเรื่องของ Molecular endocrinology การทำวิจัยทาง Basic science research มีโอกาสได้ดูคลินิกเบาหวานและต่อมไร้ท่อที่ทันสมัย ตอนนั้นโปรแกรมไดเรกเตอร์และ mentor ของเราคือ โปรเฟสเซอร์ Walter miller ซึ่งเป็นอาจารย์อีกท่านที่เป็นคนสำคัญ
ของเรา ถ่ายทอดวิชาความรู้ วิชาชีวิต ได้เรียนรู้การทำงานวิจัยชั้นยอดได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และทีมงานดูแลคนไข้ครบวงจรเพื่อมาพัฒนาระบบบริการบ้านเรา เพื่อมาเซ็ตอัพทีมที่จุฬาฯ และกลับมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อเด็กจนถึงปัจจุบัน

 

เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์

เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ อยากให้งานในพันธกิจ 3 ด้าน ขับเคลื่อนไปด้วยกันเป้าหมายทางด้านงานบริการ คือ การดูแลผู้ป่วย สร้างระบบบริการที่ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งโรคเบาหวานเป็นอะไรที่ชัดมาก จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมสหสาขาที่มีความพร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกัน ตอนที่กลับมาก็เริ่มแผนงาน โดยเข้าไปคุยกับทุกฝ่าย ขอความช่วยเหลือ มีการจัดค่ายเบาหวานชวนทีมงานไปหลายสิบชีวิต รวมถึงผู้ปกครองและครอบครัวมาเข้าร่วม เป็นการสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายไปในทิศทางเดียวกัน พอมาใช้ชีวิตร่วมกันในค่ายได้เห็นความลำบากของคนไข้ ได้รู้ปัญหาของทุกฝ่าย ทุกคนยินดีช่วยเหลือกันทำให้งานที่สานต่อ มีความราบรื่น และวันหนึ่งที่เราไม่อยู่ ทีมจะยังเดินไปได้ คือ กงล้อต้องหมุนไปด้วยตัวของเขาเอง ในที่สุดประโยชน์ที่จะได้คือ คนไข้จะได้เข้าถึงบริการที่เป็นมาตรฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และปีที่แล้ว เรามีเป้าหมายการตั้งคลินิกต่อมไร้ท่อเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้จัดทำเป็น Transitions Clinic เป็นคลินิกต่อมไร้ท่อเปลี่ยนผ่าน เราอยากจะส่งต่อคนไข้ลูก ๆ ของเราที่เรารักให้ถึงฝั่งอย่างมีความสุขปลอดภัย จึงจับมือคุยกับทีมเบาหวานผู้ใหญ่ ศ. ดร. นพ. วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและศูนย์ความเป็นเลิศเบาหวานฯ ท่านให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากโดยมีเวิร์คช้อปหลายครั้งระหว่างทีมเด็กและผู้ใหญ่มีหมอเด็กหมอผู้ใหญ่ออกตรวจคนไข้ด้วยกัน ประชุมวางแผนการรักษาด้วยกัน ให้คนไข้มาผ่านคลินิกนี้ 1 ปี ทั้งการตรวจ รับยา ทำที่คลินิกผู้ใหญ่ จนคนไข้มั่นใจแล้วว่า คุณหมอผู้ใหญ่ท่านนี้เข้าใจเขา ทำให้การส่งต่อเป็นไปอย่างราบรื่น

เป้าหมายด้านการเรียนการสอน เวลาที่ทีมเบาหวานไปออกตรวจ OPD หรือทีมนักสังคมสงเคราะห์ ทีมเบาหวาน ไปเยี่ยมโรงเรียน เยี่ยมบ้านเยี่ยมคนไข้เบาหวานรายใหม่ เราพานิสิตแพทย์ไปเรียนตรงนั้นด้วย จะได้เรียนรู้ชีวิตผู้ป่วยจริง ๆ ว่ากว่าเขามาถึง รพ. ไม่ได้มาง่าย ๆ การจะส่งเขากลับบ้าน เราต้องทำงานอีกมาก คุณครูที่โรงเรียนจะดูแลผู้ป่วยอย่างไร แก้ไขน้ำตาลตก ปรับยาการออกกำลังกาย ตรงนี้ต้องวางแผน ติดตามอย่างดี นิสิตแพทย์ไปเยี่ยมคนไข้ กลับมาเล่าให้ฟังเขาได้เรียนรู้ มีความเห็นอกเห็นใจคนไข้ เป้าหมายที่เขาวาดไว้อาจไปไม่ถึงเพราะขาดแคลนอุปกรณ์เราต้องดูแลในมิติทางจิตสังคมด้วย ซึ่งนิสิตแพทย์จะเห็นภาพตรงนี้ชัดเจนมาก

เป้าหมายด้านงานวิจัย เราเป็นมหาวิทยาลัยต้องผลิตองค์ความรู้ใหม่ เพื่อสังคม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน นี้คือพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเก็บข้อมูลทำ Routine to research พัฒนาระบบให้ดี และเก็บข้อมูล ตีพิมพ์ ทำงานวิจัย เผยแพร่ผลงานไปด้วยงานวิจัยเหล่านี้ให้แพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของเรา ทำวิทยานิพนธ์ เราเป็นที่ปรึกษา เขาเก็บข้อมูล เรียนรู้ เขียนผลงานตีพิมพ์ทีมก็นำผลการศึกษาเหล่านี้มาพัฒนาบริการหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ

 

เรายังต้องการแพทย์ที่รับฟังคนไข้กุมมือเขา เห็นอกเห็นใจเขา ซึ่งเครื่องจักรทำแทนเราไม่ได้

 

บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

คนแรก ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตั้งแต่ตนเองเป็นแพทย์ประจำบ้านได้เห็นการใช้ชีวิตของอาจารย์ในบทบาท หัวหน้าหน่วยงานต่อมไร้ท่อ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสมาคมวิชาชีพ ของต่อมไร้ท่อในเด็กในระดับภูมิภาค เห็นบทบาทของท่านที่เป็นคุณพ่อของลูกชาย 2 คน เห็นความทุ่มเทในการทำงานควบคู่กับการดูแลครอบครัวท่านทำทุกบทบาทได้ดี เป็น One of a kind จริง ๆ ก็มองท่านเป็นตัวอย่างในแง่เป็นแพทย์ เป็นอาจารย์ เป็นนักบริหาร ที่ประสบความสำเร็จ และแบ่งเวลาได้ดีทั้งครอบครัว ตนเอง และหน่วยงานด้วย

คนที่สอง ผศ. พญ. เทวี วัฒนา เป็นกุมารแพทย์ ทางด้านโรคไต อาจารย์เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ชี้นำอาจารย์แพทย์รุ่นน้อง เห็นอาจารย์ในบทบาทผู้ขับเคลื่อนงานดูแลคนไข้เรื้อรังของ รพ.จุฬาฯ Psycho-social team มีทีมนักสังคมสงเคราะห์คุณครู จิตแพทย์ ซึ่งมาดูแลคนไข้ร่วมกัน มีการประชุมทีมสม่ำเสมอ อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกในส่วนงานตรงนี้ขึ้นมา ทำให้ช่วยสนับสนุนทีมบริบาลคนไข้โรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกด้วย

คนที่สาม หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพุทธนิกายเซน ที่ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม เป็นพระภิกษุที่ผ่านความยากลำบากมาในช่วงสงครามโลก สงครามเวียดนาม ถูกขับไล่ออกจากประเทศ ท่านเป็นสายเมตตา การยุติความรุนแรงด้วยสันติภาพ ด้วย Nonviolent คำสอนและวิธีการของท่านเป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วโลก เทคนิคของท่านนำมาฝึกและใช้ในงานได้ง่าย ทำอย่างไรที่จะผ่านความขัดแย้งโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดชังกันหลักการนี้ใช้ได้ทุกระดับ ทุกความสัมพันธ์ ทั้งครอบครัว ตนเอง เพื่อนร่วมงานและผู้ป่วย และหลักการนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่าง ทำให้งานทุกอย่างราบรื่น

 

คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี และบ่มเพาะความกรุณากับผู้คนรอบ ๆ ตัว ภาพลายเส้นของหลวงปู่ที่แปะในห้องทำงานของตัวเองคือ “Breathe and Smile”

 

มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การแพทย์ของไทยเข้าสู่ยุคไอที ใช้ AI มากในฐานะแพทย์ เราคงไม่สามารถสร้างนิสิตแพทย์ให้เก่งเอาชนะ AI ต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกันเราต้องรักษาคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ที่ AI ชนะเราไม่ได้คือเรื่องความเห็นอกเห็นใจกัน ความกรุณาต่อกันการรับฟังกัน เรายังต้องการแพทย์ที่รับฟังคนไข้กุมมือเขา เห็นอกเห็นใจเขา ซึ่งเครื่องจักรทำแทนเราไม่ได้ มองว่าอนาคตแพทย์รุ่นใหม่ต้องมีทักษะตรงนี้ให้ดี ซึ่งโรงเรียนแพทย์ก็ต้องพยายามบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ให้กับบัณฑิตรุ่นใหม่

 

ที่มา : www.cimjournal.com

.

 

 


H2CCVM11500.jpg

รศ. นพ. ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ
สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคหัวใจ

เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหตุผลที่เลือกเรียนแพทย์ เนื่องจากชอบวิชาชีววิทยา และรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ได้ช่วยคน อีกส่วนหนึ่งครอบครัวก็อยากให้เรียนแพทย์ด้วยตอนเอนทรานซ์ ติดที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุที่อยากเรียนอายุรศาสตร์ เพราะอายุรศาสตร์เป็นรากฐานของวิชาแพทย์แขนงต่าง ๆ มากมาย หากเรียนรู้ให้ดีจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มาก โดยในขณะนั้นมี รศ. นพ. วันล่า กุลวิชิต อาจารย์ประจำหน่วยอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ เป็นแรงบันดาลใจ จึงตามรอยอาจารย์ จบจาก จุฬาฯ และไปใช้ทุนที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เป็นแพทย์ใช้ทุนอายุรศาสตร์ที่ มอ. 4 ปี

จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้ง คือ ตอนไปเจอ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย อาจารย์เป็นปูชนียบุคคลอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของ มอ. อาจารย์มีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง เข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้ เนื่องจาก อ. วันล่า เคยบอกไว้ว่า หากได้มา มอ. ให้ไปเรียนกับอาจารย์ให้ได้มาก ๆ อาจารย์จะเริ่ม round คนไข้ตอนสองทุ่มวันอังคาร ผมก็จะพยายามไปเรียนกับอาจารย์ให้บ่อยครั้งที่สุด ในทุก ๆ ครั้งที่ไม่ได้อยู่เวร ซึ่งได้เรียนรู้จากอาจารย์มากมาย อาจารย์สอนให้ตั้งคำถาม และฝึกกระบวนการคิดหาคำตอบ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังจากที่จบอายุรศาสตร์จาก มอ. อยากจะเรียนต่อแผนกหัวใจ ที่รพ.รามาฯ ได้รับความกรุณาจาก อ. ธาดา เขียนจดหมายแนะนำตัวให้ การที่อาจารย์ให้เกียรติเขียน letter of recommendation ให้นั้นนับเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิต เมื่อได้เข้ามาเรียนที่แผนกโรคหัวใจที่ รพ.รามาฯ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ด้วยเนื้อหาวิชาที่ชอบตั้งแต่แรกและบรรยากาศการเรียนที่เป็นกันเอง อาจารย์สอนสนุก และเพื่อนร่วมงานดี เป็นสองปีที่ได้เจอผู้คนในสถานที่ใหม่ ๆ และได้โอกาสพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้านมาก

หลังจากนั้น เรียนเฉพาะทางด้านหัวใจที่ รพ.รามาฯ 2 ปี สนใจในกลุ่มงานที่เกี่ยวกับ cardiac imaging ซึ่งได้รับความกรุณาจาก อ. พญ. อรพร สีห์ ช่วยติดต่อ รศ. นพ. อดิศัย บัวคำศรี ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง อ. อดิศัย เป็นรุ่นพี่ที่จบจากรามาฯ ช่วยส่งจดหมายติดต่อไปที่ Cleveland clinic, Ohio, U.S.A. รอไปเรียนที่นี่ 1 ปี และหลังจากนั้นไปเรียนในปีถัดไป

ปีแรก ไปเป็น Research fellow มีหน้าที่เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล พยายามนำเสนอผลงานวิจัยตีพิมพ์ ผมบอกเขาว่าผมอยากทำ Clinical fellow อยากดูคนไข้ อยากนำวิชาความรู้ที่ทันสมัยกลับมาช่วยเหลือคนไข้ในประเทศไทย เขาให้เงื่อนไขว่า เราต้องทำผลงานวิจัยได้ 3 ชิ้น เสร็จภายใน 1 ปี และได้ตีพิมพ์ สุดท้ายก็ทำได้ ซึ่งเจ้านายผมในขณะนั้นคือ Professor Thomas Marwick จึงไปคุยกับ program director ให้พิจารณาให้ได้เรียน MRI พร้อมกับ Echo ในปีเดียว ผมจึงได้เป็น Clinical fellow ในปีที่ 2 ส่วนในปีที่ 3 ผมเห็นว่ามีเรื่องวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนหัวใจ การรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ซึ่งตอนนั้น รพ.รามาฯ ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ จึงปรึกษากับอาจารย์หลายคน รวมถึง ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา ซึ่งอาจารย์ก็เห็นด้วย สุดท้ายจึงได้เข้าไปเรียน เป็นปีที่สนุก ได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนในประเทศไทย ได้เจอคนไข้หลากหลาย และทำหัตถการมากมาย ทำให้มี connection จนถึงทุกวันนี้ หลังจากเรียนจบก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จนถึงปัจจุบัน

 

คนที่เขาดีกับเรา เขาจะกล้าวิจารณ์เราตรง ๆ โดยที่เขารู้ว่า คำติติงของเขา ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เรารู้สึกแย่ แต่ตั้งใจทำให้เราดีขึ้น

 

เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เริ่มที่การเป็นแพทย์ก่อน คือ เป้าหมายของการรักษา ผมตั้งใจเอาความรู้ที่เรียนมาจากต่างประเทศมาพัฒนา ศาสตร์ที่เรียนมาก็เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มโปรแกรมการเปลี่ยนหัวใจครั้งแรกในรามาธิบดีได้สำเร็จ ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น การใส่อุปกรณ์หัวใจเทียม ที่เรียกว่า LVAD การดูแลคนไข้ที่ต้องใช้ ECMO รวมถึงการก่อตั้งคลินิกเพื่อผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ทั้งหมดเกิดขึ้นตอนช่วงที่ผมกลับมา และพยายามสร้างของพวกนี้ขึ้นมาทีละชิ้น หลังจากนั้นก็เริ่มหารุ่นน้องที่มีความสนใจทางด้านนี้มาทำต่อ ให้ผ่อนลงมาบ้าง จะได้ทำการศึกษามากขึ้น

เป้าหมายการเรียนการสอน ตอนนี้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาและวิจัย ผมต้องมีการบริหารเกี่ยวข้องกับการวางแผนหลักสูตรใหม่ เกี่ยวกับการทำ Simulation Center ซึ่งเราอาศัยหุ่นจำลอง หรือแบบจำลองเพื่อใช้ในการสอนนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านนี่เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมถึงการเรียนการสอนด้วย ผมเป็นคนที่ชอบสอนและมีความสุขที่ได้สอน

เป้าหมายด้านการวิจัย ต้องยอมรับว่าทำน้อยลง ถ้าเทียบกับตอนที่อยู่ต่างประเทศ เพราะว่าเวลาของเราจะถูกแบ่งไปกับการดูแลผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย อาศัยการลงแรง อาศัยเวลาที่ต้องทุ่มเท ประคับประคองช่วงหลังผ่าตัดจนผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้

งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว ที่กำลังพัฒนากับทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คือ การพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนด้วยวัสดุฉลาด ก็ได้รางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติที่ประเทศเยอรมันก็หวังว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ไว้ใช้ในการรักษาผู้ป่วย Heart failure with preserved LV ejection fraction (HFpEF) ที่มีหัวใจล้มเหลวน้ำท่วมปอดบ่อยครั้งต้องเข้าโรงพยาบาลหลายรอบจนกระทั่งไม่มีการรักษา ไม่สามารถทำการผ่าตัดทั่วไปได้ เป็นสิ่งที่อยากจะทำเพิ่มต่อไป

สำหรับเป้าหมายด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการเป็นแพทย์ ดำรงตำแหน่งประธานวิชาการของชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ประธานวิชาการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สิ่งที่เรามองในแง่ของบทบาทของสมาคมหรือชมรม คือ ในฐานะองค์กรวิชาชีพผู้ซึ่งให้ความรู้กับสังคม ก็ได้จัดทำ แนวทางการปฏิบัติ หรือ guideline ของภาวะหัวใจล้มเหลวให้ออกมารู้สึกดีใจที่ผลักดันได้สำเร็จ และอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์หลายสถาบันที่ช่วยกัน ในส่วนสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ก็คงออกมาในรูปของการจัดประชุมวิชาการ กิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งจะให้ความรู้ออกไปสู่โรงพยาบาลที่ห่างไกล เช่น วิชาการสัญจร ที่เราออกไปต่างจังหวัด

 

ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร

เป้าหมายที่จะสำเร็จได้จะประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งภายใน และภายนอกปัจจัยภายในเริ่มจาก ปัจจัยแรก passion ความอยากที่จะทำ ถ้ามีเป้าประสงค์มีความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ผมเชื่อว่าปัญหาอะไรก็แก้ไขได้ เช่น เรากำลังจะตั้งศูนย์ที่มีการปลูกถ่ายหัวใจขึ้นมา เราต้องเริ่มต้นหาความรู้ว่า เรามีทรัพยากรบุคคลมีสถานที่แค่ไหน ถ้าจะทำจริง ต้องมีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง กว่าจะได้บุคลากรที่จะมาร่วมงานทีละคนก็ไม่ง่าย กว่าที่เราจะ convince ให้เขารู้สึกว่าทำร่วมกัน หลังจากนั้นก็ต้องขอ Top-down support ต้องยอมรับว่า ผมได้รับความเมตตาเอ็นดูจากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่สนับสนุนโครงการให้เกิดขึ้นได้ จากนั้นก็ไปรวบรวมประชาสัมพันธ์ ว่าต้องการเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ต้องอาศัยเครือข่ายที่มีรุ่นพี่รุ่นน้องที่จบไป ช่วยกันส่งเคสกลับมาให้เราได้ทำ ก็ต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกหลายครั้ง สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ความเพียรพยายาม แน่นอนเราต้องผิดพลาดบ้าง แต่หลังจากที่ล้ม เราทำอย่างไรให้ลุกกลับขึ้นมาใหม่ได้เร็ว เหมือนตุ๊กตาล้มลุก

ปัจจัยต่อมา กัดไม่ปล่อย เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่า ต้องทำให้สำเร็จ ก็ต้องทำให้สำเร็จ ผิดพลาดก็เรียนรู้ไป อย่าทำให้เกิดซ้ำอีก เรียนรู้จากความผิดพลาดเดิมผมมั่นใจว่าถึงจุดหนึ่งก็ต้องเก่งขึ้น ทำได้ดีขึ้น

 

มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

ส่วนใหญ่จะมองเป็นส่วนที่แก้ไขได้กับส่วนที่แก้ไขไม่ได้ ถ้าเป็นส่วนที่แก้ไขไม่ได้จริง ๆ เราคงต้องยอมรับมันว่า เราทำเต็มที่แล้ว ทำได้แค่นี้ เช่น อยากจะจัดงานอะไรบางอย่าง แต่โควิดเข้ามา ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ยอมรับไป นี่คือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่อะไรที่เกิดจากตัวเราเอง และเราทำไม่เต็มที่ หรือว่าเราทำไม่ดีพอ และแก้ไขได้ก็เรียนรู้ไปว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้ในครั้งต่อไป

 

ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหาแก้อย่างไร หรือปรึกษาใคร

ก็คงเหมือนกับทุกคนที่การดำเนินชีวิตต้องเจอกับปัญหา คนที่ผมปรึกษาบ่อยที่สุดก็คงเป็นครอบครัว คือคุณแม่ และ ศ. นพ. สุรเดช หงส์อิง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่สามารถคุยได้ทุกเรื่อง หากถ้าเป็นเรื่องงาน หลายครั้งที่มีปัญหาก็จะขอคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่น ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา เป็นคนหนึ่งที่ผมโทรหาทุกครั้ง ผศ. นพ. ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ เป็นอีกหนึ่งคนผมปรึกษาบ่อยครั้ง ผศ. นพ. ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมปรึกษาบ่อยครั้งเช่นกัน ข้อดี คือ ทำให้เราเห็นตัวเอง ถ้าคนที่เขาดีกับเราจริง ๆ เขาจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์เราตรง ๆ โดยที่เขารู้ดีว่า คำติติงของเขานั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เรารู้สึกแย่หรือว่าเสียใจแต่ตั้งใจทำให้เราดีขึ้น

 

ที่มา : www.cimjournal.com

.

 

 


FeaturedImageH2C17122019.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

แนะนำตัว

สวัสดีค่ะ ชื่อ ธนัฎฐ์สินี เย็นรมภ์ อายุ 38 ปี Sport leader ร้านอุปกรณ์กีฬา Deacathlon สาขาแครายค่ะ

 

แรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย

เริ่มจากเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ แล้วเป็นภูมิแพ้ค่ะ ป่วยบ่อย บางทีก็คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ บางครั้งก็คันตา โดยอาการจะเรื้อรังเป็นๆหายๆ ตอนนั้นมีผลกระทบในชีวิตมาก แต่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพ ก็พยายามหาวิธี เป็นที่มาของการออกกำลังกาย เริ่มแรกก็เต้นแอโรบิกก่อน แต่เราอาจจะออกกำลังกายไม่หนักพอ น้ำหนักเริ่มขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น ก็มาเสริมด้วยการว่ายน้ำ  แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราต้องหยุดการออกกำลังกายไป น่าจะประมาณ 1 ปี เนื่องจากทำงานเป็นกะ แล้วเดินทางบ่อย ช่วงนั้นไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง สุขภาพเริ่มแย่ แล้วคอเราเริ่มบวมขึ้น ภายหลังมาพบว่า เราเป็นภาวะ “ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ” อาการตอนนั้นจะมี น้ำหนักเพิ่ม อ่อนเพลีย ขี้หนาว มีซึมเศร้าบ้าง ปนๆกัน ปรึกษาแพทย์แล้ว ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง ทั้งการพักผ่อน การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหาร

 

ภายหลังมาพบว่าเป็น ภาวะ …ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) อาการตอนนั้นจะมี น้ำหนักเพิ่ม อ่อนเพลีย ขี้หนาว มีซึมเศร้าบ้าง ปน ๆ กัน

 

วิธีการออกกำลังกายของตัวเอง

ด้วยงานของเราทำในวันเสาร์และวันอาทิตย์ค่ะ แล้วก็ทำเป็นกะด้วย เราเลยใช้เวลาออกกำลังกายด้วยการเข้าฟิตเนสอย่างน้อย 2 คลาสในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ สลับกับการวิ่ง แล้วเราก็กลับมาวิ่งมาราธอนด้วย เราอยากให้สิ่งนี้มาบังคับตัวเราเองให้มาซ้อม ให้มาวิ่ง พอถึงวันงานจริงจะได้ไม่เหนื่อย และสุขภาพเราก็ดีด้วย

สำหรับการวิ่งของเรา  ปกติแล้วก็จะซ้อมวิ่ง 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะวิ่งในตอนเย็น โดยวิ่งอย่างน้อย 5 – 10 กิโลเมตร โซน 1-2 ใช้เวลา 1 ชั่วโมงขึ้นไป เราเป็นคนวิ่งช้าค่ะ ไม่ใช่สายเน้นทำความเร็วเท่าไหร่ค่ะ

ส่วนฟิตเนสเราจะเข้า 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยใช้เวลาครั้งละ 1 – 2 ชั่วโมงค่ะ  โดยเราชอบเข้าคลาสออกกำลังกายกับครูฝึกมากกว่าการออกกำลังกายกับเครื่องออกกำลังกาย เพราะว่าชอบที่จะได้เจอผู้คน ได้ทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ด้วย  โดยคลาสที่ชอบเข้าจะมี คลาส Body Combat และคลาส Body Pump สองคลาสนี้ค่ะ

 

ชอบเข้าคลาส Body Combat และคลาส Body Pump 87เพราะชอบที่จะได้เจอผู้คน ได้ทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ

 

ยิ่งเราเป็นคนชอบอะไรที่ทะมัดทะแมง การเข้าคลาส Body Combat ถือว่าตอบโจทย์ที่สุด ด้วย Body Combat จะเป็นการออกกำลังกายด้วยการใช้ศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ ทั้งคาราเต้และมวยไทยซึ่งมันก็เหมาะกับเรา ส่วนคลาส  Body Pump เป็นการออกกำลังกายด้วยการยกเหล็กตามจังหวะเพลง แบ่งท่าออกเป็นเซ็ต ๆ  มันจะเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย โดยครูจะเป็นคนบอกว่าท่าที่เราทำจะช่วยเสริมความแข็งแรงส่วนไหนของร่างกายบ้าง มีอีกคลาสที่ชอบเข้า คือคลาส Core ABS คลาสนี้ช่วยในเรื่องความแข็งแรงของลำตัว ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งของเราได้ค่ะ

 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังจากออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

เริ่มแรกที่เราออกกำลังกายเพราะเราเป็นภูมิแพ้ อยากให้ร่างกายแข็งแรง ช่วงนั้นร่างกายก็จะสดชื่น รูปร่างเราดีขึ้น มีความมั่นใจ แต่ช่วงที่เราพักไปเพราะติดภารกิจร่างกายเริ่มแย่ มันทำเรานึกถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย ย้อนกลับไปคิดว่า เรารู้สึกดีแค่ไหนเมื่อเราได้ออกกำลังกาย มีสุขภาพที่ดีขึ้น ดูดีขึ้น และมีหุ่นดีขึ้นด้วย

 

ถ้าเราปล่อยตัวเองให้มันแย่ลงเรื่อย ๆ มันไม่มีใครจะดูแลเรา…ได้เท่าเราดูแลตัวเอง

 

เมื่อเราออกกำลังกายเสร็จ เหมือนเราได้ปลดปล่อย ได้พักผ่อน  ใครหลายคนมักคิดว่าการออกกำลังกายเป็นการใช้แรง ทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่จริง ๆ แล้ว หนึ่งในข้อดีของการออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “สารเอ็นดอร์ฟิน” ออกมา  สารชนิดนี้จะทำให้เรารู้สึกมีความสุข รู้สึกสดชื่น ทำให้เราอารมณ์ดีความเครียดลดลงด้วย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลย คือเรามีรูปร่างดีขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น และเราก็กล้าที่จะใส่บิกินี่อวดกล้ามหน้าท้องเวลาไปเที่ยวทะเลด้วยค่ะ

 

การเตรียมตัวไปวิ่งมาราธอน

เราเตรียมตัวด้วยการวางระยะซ้อมให้มากที่สุดคือ 15 กิโลเมตร แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ซ้อมอะไรจริงจัง เน้นวิ่งไปเรื่อยๆ แล้วเพิ่มระยะทางเอาในแต่ละสัปดาห์  คิดเอาไว้ว่าหนึ่งสัปดาห์ต้องวิ่งให้ได้ 5 วัน วันละ 10 กิโลเมตร

แต่ช่วงที่ซ้อมวิ่งสำหรับรายการวิ่งแบบ Full Marathon เราก็เริ่มหาข้อมูลการวิ่งจากเพจต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลเรื่องวิธีการฝึกซ้อม เราทำตารางการวิ่ง และระยะเวลาที่ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเราเอง สำหรับของฟ้าจะไม่เน้นสาย Performance หรือทำเวลาในการวิ่ง แต่จะเน้นวิ่งไปเรื่อยๆ ทำความเร็วปกติ  และเลือกใช้วิธีการวิ่งสะสมระยะทางต่อสัปดาห์แทนตามตารางการฝึกซ้อมที่เราทำไว้  จากนั้นเราก็เพิ่มระยะทางไปเรื่อยๆ จนเราสามารถจบโปรแกรมฝึก Full Marathon ได้ อย่างน้อยก่อนวิ่งจริง 1 สัปดาห์ เราต้องวิ่งครบ 42 กิโลเมตรให้ได้ก่อน

 

ช่วงสุดท้ายก่อนจะวิ่งมาราธอน เราต้องกินปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอ

 

อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องโภชนาการ เราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยเฉพาะ เรื่องอาหาร น้ำหนักตัวต้องไม่มากเกินไป ควบคุมอาหารแต่ละวัน รับประทานให้ครบ 5 หมู่ ยิ่งช่วงก่อนวิ่งมาราธอน ร่างกายของเราต้องได้รับปริมาณคาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถดึงคาร์โบไฮเดรตมาใช้ ในขณะที่เรากำลังวิ่งมาราธอนอยู่

 

ปัญหาและอุปสรรคในการออกกำลังกาย

 

ถ้าเราไม่ซ้อม เราก็จะวิ่งไม่ได้ สุดท้ายเราก็จะโทษตัวเองว่าทำไมเราไม่ซ้อม เราไม่ทำพยายามใช้จุดนั้นมาเป็นแรงผลักดันให้เราทำตามจุดมุ่งหมายที่เราวางไว้

 

อุปสรรคที่เรามีคือเรื่องงานค่ะ ด้วยเราทำงานไม่เป็นเวลา แล้วบางครั้งต้องไปประชุมต่างสถานที่ มันทำให้เรารู้สึกเหนื่อย ไม่อยากออกกำลังกาย  เราเลยพยายามสะกดจิตตัวเองเอาไว้ในเรื่องแรกเลยคือ ค่าคอร์สฟิตเนสที่เราเสียเงินไปแล้ว ถ้าเราไม่ไปออกกำลังกายมันจะไม่คุ้มกับเงินที่เราจ่าย อีกข้อเลยคือเราจะลงรายการวิ่งมาราธอนเอาไว้แล้ว มันเป็นการบังคับให้ตัวเราเองต้องหมั่นฝึกซ้อม ถ้าเราไม่ซ้อม เราก็จะวิ่งไม่ได้ สุดท้ายเราก็จะโทษตัวเองว่าทำไมเราไม่ซ้อม เราไม่ทำ พยายามใช้จุดนั้นมาเป็นแรงผลักดันให้เราทำตามจุดหมายที่เราวางเอาไว้ให้ได้ค่ะ

อุปสรรคอีกอย่าง คือ นิสัยการกิน เราชอบกินขนมหวาน โดยเฉพาะพวกเค้ก ไอศกรีม เวลาเดินผ่านเราจะต้องพยายามนึกถึงความเหนื่อยที่เราพยายามออกกำลังกายมาตลอดค่ะ และระยะเวลาที่ใช้สำหรับเบิร์นสิ่งที่เรากินเข้าไป

 

เทคนิคการรับประทานอาหาร

ส่วนใหญ่เราจะทำอาหารทานเอง พยายามใช้น้ำมันให้น้อยที่สุดค่ะ พยายามให้มีผัก มีโปรตีนอย่างเพียงพอ เราจะทานข้าวกล้อง ส่วนตอนเย็นก็ไม่งดอาหารนะคะ แต่จะทานให้น้อยลง แล้วเพิ่มผลไม้ นมหรือ ขนมปังโฮลวีทแทน

หลังจากที่ทานมาหนึ่งปีแล้ว  สิ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือ ปริมาณไขมันสะสมในร่างกายลดลง เมื่อเอาผลตรวจสุขภาพของปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าปริมาณคอเลสตอรอลจะยังดูสูงอยู่ แต่ก็ลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างเยอะทีเดียว หมอบอกว่าวิธีการดูแลตัวเองของเรามาถูกทางแล้วให้ทำแบบนี้ต่อไป  แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงของหวานหรืออะไรที่มีคอเลสเตอรอลสูง

 

แนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากออกกำลังกาย 

 

ถ้าเราอยากอยู่กับคนที่เรารักไปนาน ๆ ออกกำลังกายกันเถอะค่ะ

 

ในอนาคต เราอยากเห็นตัวเองเป็นภาพไหนก็จงตั้งเป้าหมายเอาไว้ ที่เราออกกำลังกายเพราะเราอยากเห็นภาพตัวเองในแบบนี้ เราก็ต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ อย่าหยุดกลางคันให้มองย้อนกลับไปว่า ณ วันที่เราเริ่มตั้งเป้าหมาย  เริ่มมองหาตัวเองในอนาคต พยายามนึกถึงคนที่เจ็บป่วยว่าสุขภาพที่แย่มันว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไรค่ะ

อยากให้ทุกคนหันมาเห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย  มองหาประโยชน์ของการออกกำลังกาย เพราะสุดท้ายแล้วเนี่ย เวลาออกกำลังกาย คนที่ได้ไม่ใช่ใครที่ไหน คนที่ได้ก็คือตัวเราเอง

 

 


FeaturedImageH2C12092018.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

แนะนำตัว

สวัสดีค่ะ ชื่อ ส้ม – วรรณวรา สุทธิศักดิ์ ตอนนี้อายุ 33 ปี เป็น Social editor อยู่ที่ Rabbittoday.com ค่ะ

 

การออกกำลังกายครั้งแรก

ส้มเริ่มมาจากการโยคะก่อน เพราะว่าคิดว่าเข้าถึงง่ายสำหรับเรา ที่ชอบโยคะเพราะเราได้ฝึกการยืดหยุ่น พอเล่นแล้วก็เหมือนท้าทายตัวเองไปเรื่อย ๆ เป้าหมายหลัก ๆ ก็คือสร้างความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย ทำให้เรารู้สึกว่าเราเล่นสนุกขึ้น ได้ชาเล้นท์ตัวเองให้ทำท่าต่าง ๆ ได้มากขึ้น แต่ว่าเล่นมา 10 กว่าปีมันรู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์เรื่องการใช้กล้ามเนื้อ การลดน้ำหนักก็คิดว่ามันน่าจะมีทางเลือกอื่น ๆ ในการออกกำลังกายมากขึ้น

 

การออกกำลังกายในปัจจุบัน

ตั้งแต่ปีที่แล้วที่เราอยากจะหาวิธีการออกกำลังกายที่มันแตกต่าง ตอนนั้นก็ได้รู้จักการออกกำลังกายที่เรียกว่า Boot camp ซึ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ใหม่เหมือนกันสำหรับคนออกกำลังกายทั่วไป

Boot camp คือเราสร้างกล้ามเนื้อโดยเล่นท่าต่าง ๆ ตามที่ผู้สอนเค้าเซ็ตมาให้เราในแต่ละวัน เราก็จะได้ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกายเลย เราก็จะได้เรียนรู้ท่าทางที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน เรื่องการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมาได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการออกกำลังกาย แล้วทำให้ร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

 

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน

พอกลับมาหลังจากเล่น Session แรก เรานอนไม่หลับ รู้สึกว่าร่างกายมันตื่นตัวมาก มันแตกต่างจากโยคะที่เราเล่นมาโดยสิ้นเชิง เพราะว่าร่างกายเราได้ใช้กล้ามเนื้อหมดทุกส่วน รวมไปถึงหัวใจด้วย เรื่องหัวใจสำคัญมากสำหรับการออกกำลังกาย เพราะว่ามันมีส่วนในการลดน้ำหนัก ช่วยให้ร่างกายได้เผาผลาญแคลอรี่ได้ตลอดทั้งวัน นี่คือสิ่งที่ส้มได้เรียนรู้จากการออกกำลังกายแบบ Boot camp พอเล่นได้สักระยะนึงก็จะเห็นพวกกล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้ชัดขึ้น เช่น กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อแขน หรือไม่ก็กล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งมันแตกต่างจากการออกกำลังกายแบบเก่าที่ส้มเคยเล่นมา ไม่ว่าจะเป็นโยคะหรือการวิ่ง

 

หลัก ๆ คือเรื่องของการจัดสรรเวลา มันคืออุปสรรคที่ทำให้คนล้มเลิก มันทำให้วินัยของเราเสีย

 

อุปสรรคของการออกกำลังกาย

ส้มคิดว่าหลัง ๆ คือเรื่องเวลา แต่ละคนก็คงคิดเหมือนกันว่าเราไม่มีเวลาไปออกกำลังกายเลย หรือทำไมเช้าจัง ฉันขี้เกียจตื่น ฉันเหนื่อย การออกกำลังกายแต่ละประเภทอาจจะแตกต่างกันเรื่องรายละเอียด แต่เมื่อเราพาตัวเองไปออกกำลังกาย มันจบละ

การมีวินัยในการออกกำลังกายสำคัญมาก ตอนนี้ส้มก็จะมาช่วงเช้าเป็นประจำจันทร์-ศุกร์ ออกกำลังกายเสร็จแล้วเราไปทำงาน กลับมาเราก็รีบพักผ่อน แล้วตอนเช้าก็มาออกกำลังกายใหม่ให้เป็นประจำ เมื่อทำเป็นกิจวัตรแล้วมันก็จะข้ามอุปสรรคเรื่องเวลาได้ค่ะ

 

ตารางการออกกำลังกาย

ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปีที่แล้วจะเล่นถี่มาก ส้มจะเล่นประมาณ 5 – 6 วัน ตอนนั้นเหมือนกับร่างกายเราเคยชินกับการออกกำลังกายมันก็จะสนุกไปด้วย ส้มจะชอบเล่นช่วงเช้า 7 โมง เล่น 1 ชั่วโมง ถือว่าจบในวันเดียว มันพอแล้ว แล้วช่วงกลางสัปดาห์ก็จะพักบ้างเพื่อเป็นการฟื้นฟูร่างกาย แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มกลับมาเล่นใหม่ เป็นการเริ่มฟื้นฟูกล้ามเนื้อใหม่ ก็จะเล่นประมาณ 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ค่ะ

 

เป้าหมายสำคัญในการออกกำลังกายของส้มก็คือการได้ฟื้นฟูและพัฒนาจิตใจของเราไปด้วย

 

เป้าหมายของการออกกำลังกายตอนนี้

เราออกกำลังกายมาช่วงนึงแล้วก็อยากจะทำให้มันเหมือน Maintain กล้ามเนื้อของเราให้ดีขึ้น เราโอเคที่เราได้ออกกำลังกายทุกวัน ได้เคลื่อนไหว เป็นการสร้างความสุขในทุกๆ วัน ส่วนสำคัญในเรื่องการออกกำลังกายของส้มคือการช่วยในเรื่อง Mental health ก็คือในเรื่องของจิตใจร่วมด้วย ส้มคิดว่าไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบไหนมันช่วยในเรื่องของจิตใจของเรา

ทุกวันนี้เราเจอกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทุกวัน ไม่ว่าจะเรื่องของการทำงาน ความสัมพันธ์ ครอบครัว ฯลฯ การออกกำลังกายด้วยโยคะเราจะได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้การฝึกท่าทางต่าง ๆ ส่วนการออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็น Boot camp หรือ Circuit training ถึงมันจะมีความแตกต่างกัน แต่เราได้โฟกัสไปที่ร่างกายของตัวเอง และที่สำคัญคือเราได้โฟกัสไปที่จิตใจของตัวเองว่าเป้าหมายสำคัญในการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตของเราคืออะไร

 

การดูแลสุขภาพนอกเหนือไปจากการออกกำลังกาย

นอกจากการออกกำลังกายแล้วก็เป็นเรื่องของการรับประทานอาหารค่ะ เราออกจากยิมไปแล้วเราต้องดูแลตัวเอง มันเหมือนแบ่งเปอร์เซ็นต์ไว้ชัดเจนคือ การรับประทานอาหารคือ 70% ออกกำลังกายเพียงแค่ 30% เท่านั้น ส้มก็ลองทำอาหารเองมาแล้วหลายปีเหมือนกัน ลองดูว่าเมนูไหนที่เราพอจะทำได้โดยที่ไม่ต้องปรุงมาก ใช้เพียงแค่น้ำมันน้อย ๆ ปรุงไม่มาก อาจจะใช้เกลือ หรือพริกไทยเล็กน้อย อาจจะเป็นผักต้ม ผักสลัด ไข่ต้ม ซึ่งเป็นอาหารที่เราสามารถทำรับประทานเองได้ในช่วงกลางวัน เราอาจจะเตรียมตอนเย็นที่กลับถึงบ้านแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วค่อยนำออกมาเข้าไมโครเวฟแล้วรับประทานช่วงกลางวัน เพราะอาหารแต่ละวันที่เราออกไปทานตอนกลางวันก็จะมีตัวเลือกไม่มาก เช่น ข้าวแกง อาหารตามสั่ง ซึ่งมีน้ำมันมาก และมีการปรุงรสมากจนเกินไป

 

การสร้าง Passion ใหม่ ๆ ให้กับตัวเองจะทำให้การออกกำลังกายสนุกขึ้น

 

เทคนิคการสุขภาพ

ส้มคิดว่าแต่ละคนคงมีแตกต่างกันไป แต่สำหรับส้มเองก็คือการสร้างเป้าหมายให้กับตัวเอง การสร้าง Passion ใหม่ ๆ ให้กับตัวเองอยู่เรื่อย ๆ การออกกำลังกายแบบใหม่เราก็อาจจะไปลอง อย่างตอนนี้ส้มก็อยากจะลองการออกกำลังกายแบบอื่นที่แปลกใหม่ไปเลย เช่น Paddle board ค่ะ

 

เริ่มออกกำลังกายด้วยการข้ามกรอบของตัวเอง และเข้าไปพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์

 

แนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากออกกำลังกาย

ส้มอยากบอกว่าให้ข้ามกรอบของตัวเองออกไปเลยค่ะ ไม่ต้องมองว่าตอนนี้กระแสมันคืออะไร หรือไปแล้วมันจะยากหรือไม่สนุกหรือเปล่า ให้ปัดกำแพงนี้ออกไปให้หมด แล้วก็มาโฟกัสที่ตัวเองว่าเราเริ่มจากตรงไหน บางคนอาจชอบเสื้อผ้าก็ไปซื้อเสื้อผ้า รองเท้า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็ออกไปที่ยิมเลยค่ะ แค่เข้าไปถามว่ามีโปรแกรมอะไรที่น่าสนใจหรือคนใกล้ตัวอย่างเพื่อน ๆ ครอบครัวที่ออกกำลังกาย ก็เข้าไปถามเค้าดูว่ามันสนุกยังไง เราต้องทำอย่างไรถึงจะได้สุขภาพที่ดีอย่างเขา ส้มว่าการสร้างคอมมูนิตี้ หรือการเข้าไปพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ก็จะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายและออกกำลังกายได้อย่างสนุกค่ะ

 


FeaturedImageH2C07092018.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

แนะนำตัวเอง

สวัสดีครับ ผมชื่อ ตู่ – มหัสนัย ลิ่วเฉลิมวงศ์ อายุ 45 ปี เป็นช่างภาพอิสระครับ

 

ปัญหาสุขภาพก่อนเริ่มออกกำลังกาย

ก่อนที่จะมาออกกำลังกาย ตอนเช้า ๆ ก็จะตื่นมาปวดหัว มึนหัว ไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า พอทำงานอากาศร้อน ๆ เดินไกล ๆ ก็จะเริ่มเหนื่อยง่าย หรือบางงานที่ต้องขึ้นไปถ่ายภาพมุมสูง ๆ ก็จะมีปัญหาเมื่อยขาต้องคอยพักบ่อย ๆ ก็เป็นอุปสรรคในการทำงานพอสมควรครับ

 

แรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย

แรงบันดาลใจของผม ผมไม่มีนะ มันเกิดจากตัวเราเองเลย เกิดจากเรามองว่าในอนาคตเราจะมีอายุไปอีกกี่ปี แล้วจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร เพราะว่าพอเราอายุมากขึ้นปัญหาต่าง ๆ มันก็จะรุมเร้า เราเริ่มจากตัวเราเองว่า วันนี้เราลองทำร่างกายของเราให้มันสมดุล ไม่ให้มันล้นเกินไป อ้วนเกินไปก็เลยหันมารักษาสุขภาพ ที่มาที่ไปมีแค่นี้เอง เพื่อตัวเราเอง

 

เริ่มออกกำลังกาย

ผมเริ่มออกกำลังกายปลายปี 2016 จนถึงปัจจุบันผมก็ลดไปประมาณเกือบ ๆ 30 กิโลกรัมครับ ช่วงแรก ๆ ผมเล่นคาร์ดิโอโดยการวิ่งกับปั่นจักรยานเพื่อลดไขมันก่อน เริ่มจากการปั่นจักรยานแล้วก็วิ่งบ้างสลับกัน ประมาณ 4 – 5 วันต่อสัปดาห์ ผมจะดูว่าผมมีเวลามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเวลา 3 – 4 ชั่วโมงผมจะเลือกที่จะปั่นจักรยาน ถ้ามีเวลาเหลือสักชั่วโมงนึง ผมก็จะวิ่งสัก 45 นาทีครับ ผ่านไปสัก 6 – 7 เดือนผมก็มายกเวท เพื่อให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้น แล้วก็ช่วยให้ระบบเผาผลาญมันดีขึ้น

 

โปรแกรมการออกกำลังกายปัจจุบัน

ในสัปดาห์นึงผมจะออกกำลังกายสลับกัน อย่างวันจันทร์ถ้าผมเล่นคาร์ดิโอก็จะวิ่งหรือปั่นจักรยาน วันอังคารก็จะเป็นฟรีเวท บอดี้เวท หรือแมชชีน อีกวันก็จะเป็นคาร์ดิโอสลับกับเวทแบบนี้ครับ

ถ้าเป็นเวทหรือยกน้ำหนักผมจะใช้เวลา 45 นาที – 1.30 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายเรามีความพร้อมแค่ไหน จะไม่หักโหมเกินไป ถ้าเป็นคาร์ดิโออย่างต่ำ ๆ คือ 40 นาที ความถี่ 5 วันต่อสัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้ก็คือทุกวันครับ มันเหมือนเป็นสิ่งเสพติดไปแล้ว เหมือนเป็นกิจวัตรไปแล้ว

 

การควบคุมอาหาร

ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารมากครับ ผมมองว่าการดูแลสุขภาพ 70% คือเรื่องอาหารการกิน 30% คือเรื่องการออกกำลังกาย ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการกินค่อนข้างมาก พยายามเลี่ยงมัน เลี่ยงเค็ม เลี่ยงหวาน อย่างทานก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ปรุง พวกกาแฟก็ไม่ใส่น้ำตาลเลย ทุกอย่างคือไม่มีหวานเลย

ตอนนี้ผมก็เริ่มอยู่ตัวนะ เริ่มกลับมาทานอะไรได้ปริมาณเยอะขึ้น อาจจะเป็นเพราะกล้ามเนื้อเรามากขึ้น ระบบการเผาผลาญเราดีขึ้น มันจะหิวบ่อย 2 ชั่วโมงก็หิวละ ทานตลอด แต่น้ำหนักก็ไม่ขึ้นนะ แล้วไขมันก็ไม่ได้ขึ้น เพราะระบบร่างกายเราน่าจะมีการเผาผลาญที่ดี

 

การออกกำลังกายมันมีผลต่อการทำงาน มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คนรอบข้างมาทักว่าเราเปลี่ยนแปลงไป เราก็มีกำลังใจอยากทำต่อ

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ตอนแรกผมหนักประมาณ 120 กิโลกรัม ช่วง 1 – 2 เดือนแรก น้ำหนักไม่ลงสักขีดเลย เกือบจะท้อแล้วนะ แต่ก็เออ…ทำต่อไป พอขึ้นสู่เดือนที่ 3 มันเริ่มลงนะ เดือนที่ 5 ลงจนถึง 25 กิโลกรัม แต่ลดสูงสุดคือ 27 กิโลกรัม โดยใช้แค่การปั่นจักรยานกับการวิ่ง แต่ว่าทำให้สม่ำเสมอ บางสัปดาห์นี่ 6 วัน ไม่หยุดเลย

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือความกระฉับกระเฉงในการทำงาน อย่างผมเป็นช่างภาพอุปกรณ์ที่แบกก็ค่อนข้างจะหนัก ผมเห็นได้ชัดเลยคือเราสามารถถืออุปกรณ์หนัก ๆ ได้ทั้งวัน ไม่เหนื่อย แล้วก็เดินได้มากขึ้น รับงานได้มากขึ้น

 

อุปสรรคและความยากลำบาก

ช่วง 1 – 2 เดือนแรกรู้สึกท้อมาก ๆ เลย แต่มันอยู่ที่ใจ ใจเราคิดว่าเราทำได้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2011 ผมเคยมาแล้วทีนึงด้วยการออกกำลังกายนี่แหละ พอผอมแล้วก็ประมาทไปหน่อย ปล่อยตัวเลย คิดว่ามันไม่กลับมาแล้ว ผมคิดว่า ทำได้ก็คือทำได้

 

มันต้องเริ่มจากใจเรา ใจเราต้องมุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่มีใครมาควบคุมเราได้นอกจากตัวเราเอง

 

เทคนิคการออกกำลังกาย

เทคนิคของผมคือทำไปเรื่อย ๆ สม่ำเสมอ ถ้าจะให้แนะนำนะ มันต้องเริ่มจากใจเรา ใจเรามันต้องมุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่มีใครมาควบคุมเราได้นอกจากตัวเราเอง ด้วยใจที่มีความสุขนะ ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จ ให้ทำไปเรื่อย ๆ มันจะทำได้

 

ผมยังหาข้อเสียของการออกกำลังกายไม่เจอเลยครับ ผมจะแนะนำทุกคนที่เจอในฟิตเนสเลยว่า เราไม่ได้ฝืนตัวเองลุกขึ้นมา เราต้องทำด้วยใจที่มีความสุข มันจะมีผลดี

 

แนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากออกกำลังกาย

สิ่งที่ผมทำมันมีผลต่อคนรอบข้างให้หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ผมรู้สึกดีนะ อย่างเราทำได้ คนอื่นก็ทำได้ เราก็อยากให้คนรอบตัวมาออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพมากขึ้นเพราะว่ามันมีผลต่องาน ถ้าสุขภาพเราดี ผลงานเราก็ดี คุณภาพชีวิตเราก็จะดี

ผมก็จะแนะนำว่าให้เริ่มทำเดี๋ยวนี้เลย เริ่มจากอะไรก็ได้ที่ทำให้เราเหงื่อออก อาจจะเดินเร็วแล้วก็เริ่มวิ่ง หลายคนที่ผมแนะนำไปเค้าทำตามแบบนี้นะแล้วมันจะดีขึ้น การออกกำลังกายในความคิดผมก็คือขอความสม่ำเสมอ วันนึงไม่จำเป็นต้องวิ่ง 5 กิโลเมตร หรือ 10 กิโลเมตร อาจจะวิ่ง 3 – 4 กิโลเมตรก็ได้แต่ให้ทำทุกวันต่อเนื่อง เพราะว่าความต่อเนื่องมันสำคัญ มันจะเห็นผล บางคนทำ 2 – 3 สัปดาห์ ยังไม่เห็นเปลี่ยนแปลงเลยก็หยุดไปที่ทำมามันก็สูญเปล่า

 

 


FeaturedImageH2C20082018.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

แนะนำตัว

สวัสดีค่ะ ชื่อ มิ้งค์ – ภัทรวดี สุระสัจจะ อายุ 31 ค่ะ ทำงานเป็น Sport leader อยู่ที่บริษัท Decathlon ค่ะ

 

ปัญหาสุขภาพ

เป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก ๆ คุณหมอก็เลยแนะนำให้ออกกำลังกาย ก็เริ่มเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนนั้นมีกีฬาสีที่โรงเรียน อยากมีส่วนร่วมก็เลยไปขอเค้าเล่นบาสเกตบอล ก็เล่นมาเรื่อย ๆ พอตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เริ่มเล่นกีฬาอื่นอย่าง ปั่นจักรยาน ต่อยมวย ตอนนี้เริ่มสนใจกีฬาทางน้ำค่ะ

 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังจากออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

เราอยากให้หัวใจสูบฉีด พอเลือดมันสูบฉีดแล้วระบบในร่างกายมันก็จะทำงานดีค่ะ จากที่ออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็กมันทำให้เราไม่ค่อยป่วยค่ะ เวลาออกกำลังกายก็จะเล่นกีฬาได้ถึงจุดที่มากกว่าที่เราคิด เช่น เราคิดว่าวิ่ง 2 – 3 กิโลเมตรก็เหนื่อยแล้ว แต่เราอาจจะวิ่งได้ 4 – 5 กิโลเมตร อย่างกีฬาทางน้ำ มิ้งค์คิดว่าว่ายไปสัก 20 เมตรก็น่าจะเหนื่อยแล้ว แต่เราว่ายไปได้ไกลกว่านั้น เพราะว่ากล้ามเนื้อเราแข็งแรงค่ะ

 

ปัญหาและอุปสรรคในการออกกำลังกาย

อาจจะเป็นเรื่องของการจัดสรรเวลา เพราะตอนนี้ทำงานก็เยอะเหมือนกัน แล้วเราก็ต้องพักผ่อนให้พอด้วยค่ะ เราแก้ปัญหาโดยการจัดเวลาให้เป็น Life balance ซึ่งมิ้งค์จะตื่นตั้งแต่ 7 โมง พอเลิกงานก็จะไปยิม แล้วก็พยายามนอนไม่เกินเที่ยงคืนค่ะ

 

ตารางการออกกำลังกาย

มิ้งค์จะออกกำลังกายอาทิตย์นึงประมาณ 3 ครั้งโดยเฉลี่ย ครั้งละประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงค่ะ ก็จะมีคาร์ดิโอ แล้วก็เล่นบอดี้เวท บางทีก็จะเป็น Zumba body combat หรือโยคะบ้าง ส่วนในวันธรรมดาปกติจะเป็นเหมือนเราพัฒนากล้ามเนื้อเราให้แข็งแรง เวลาเราไปออกกำลังกายที่ค่อนข้างเอ็กซ์ตรีมหรือใช้แรงเยอะอย่างกีฬาทางน้ำ เราจะได้มีแรงค่ะ

 

กีฬาทางน้ำเป็นเรื่องของการเอาชนะความกลัวของตัวเอง นอกจากนั้น ยังทำให้ร่างกายเราพัฒนาขึ้นแล้ว จิตใจเรายังพัฒนาขึ้นด้วย

 

เสน่ห์ของการเล่นกีฬาทางน้ำ

คือไม่ใช่จะบอกว่ากีฬาอินดอร์มันไม่ท้าทายนะ บางคนไม่ชอบออกกำลังกายเลย ก็เปลี่ยนตัวเองในการมายกเวท มาคาร์ดิโอ แต่สำหรับมิ้งค์กีฬาทางน้ำมันเป็นเรื่องของการเอาชนะความกลัวของตัวเอง เหมือนเรากลัวคลื่น แต่เราเล่นเซิร์ฟ เราพายเข้าไปหามัน นอกจากมันจะทำให้ร่างกายเราพัฒนาขึ้นแล้วจิตใจเรายังพัฒนาขึ้นด้วยค่ะ

 

พยายามออกมาจาก Comfort zone ของตัวเอง โดยการเข้าหามัน ทำให้เรากลัวน้อยลง

 

อย่างเช่นเราอาจจะรู้สึกว่าเราอยู่ใน Comfort zone ของเรา ทำงาน เข้ายิม แต่การที่เราออกไปข้างนอก ทำอะไรใหม่ ๆ มันทำให้เราค้นพบว่าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่า จริง ๆ คลื่นมันก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น หรือว่าเราก็ว่ายน้ำไปในทะเลไกล ๆ ได้นะ พอเราเอาชนะตัวเองได้ในสิ่งที่เรากลัว เราก็จะมีแรงใจที่จะไปเอาชนะเรื่องอื่นทีเรากลัวได้อีกค่ะ ตอนนี้ก็ยังกลัวอยู่ค่ะ แต่ก็พยายามที่จะเอาชนะตัวเองไปเรื่อย ๆ ค่ะ

 

การดูแลสุขภาพนอกเหนือไปจากการออกกำลังกาย

มิ้งค์เป็นคนทานเยอะมากค่ะ ทานได้เรื่อย ๆ เหมือนเรามีความสุขกับการทาน แต่เราก็ต้องออกกำลังกายด้วยค่ะ ถ้าช่วงไหนที่ไม่มีเวลาออกกำลังกายก็จะเน้นไปทางการรับประทานอาหารมากขึ้น คือทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ห้ามอดอาหาร อาหารเช้าจะสำคัญมากค่ะ แล้วถ้าช่วงไหนที่ออกกำลังกายก็อาจจะทานโปรตีนเยอะมากขึ้น เพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อ แล้วก็ไม่ดื่มกาแฟ ไม่ค่อยทานน้ำอัดลม ดื่มน้ำในแต่ละวันให้พอเพียงค่ะ

 

เทคนิคการสุขภาพ

เทคนิคในการดูแลสุขภาพของมิ้งค์คือ รับประทานอาหารให้พอ พักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายเท่าที่เรารับได้ อย่าหักโหม มันสำคัญมากทั้งร่างกายและจิตใจเพราะเราจะไม่เครียดกับมันค่ะ

มิ้งค์รู้สึกว่าการออกกำลังกายมันคือ การผ่อนคลายด้วยนะ ทุกคนมันมีความเครียดในทุกเรื่อง ครอบครัว งาน บางเรื่องเราก็ต้องปล่อยมันบ้าง อย่าไปกดดันตัวเองมาก เพราะถ้าไม่กดดันตัวเองเราจะทำได้นานค่ะ

 

คนที่อยากออกกำลังกายทางน้ำ มันมีเสน่ห์คือ มันเหมือนการเที่ยวไปในตัว

คือ เที่ยวด้วย ออกกำลังกายด้วย มันได้ทั้งร่างกาย และจิตใจค่ะ

 

แนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากออกกำลังกาย

ก่อนอื่นต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าเราออกกำลังกายเพื่ออะไร เพื่อรักษาตัวเอง เพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อการผ่อนคลาย หรือว่าอยากออกจาก Comfort zone ของตัวเอง พอมีเป้าหมายเราจะเริ่มเซ็ตแล้วว่าเราจะทำแบบนี้ แล้วค่อย ๆ เดินตามเป้าหมาย ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองค่ะ

มีหลายคนนะที่ไม่ได้เล่นกีฬาทางน้ำเพราะว่าว่ายน้ำไม่เป็น แล้วก็มีหลายคนที่มาเล่นกีฬาทางน้ำทั้ง ๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น มันน่าสนใจตรงที่เราจะกล้าเดินออกจากจุดที่เป็น Comfort zone ของเราหรือเปล่า

สำหรับคนที่จะเล่นกีฬาทางน้ำ หนึ่งควรจะต้องว่ายน้ำเป็น ไม่ต้องว่ายแข็งก็ได้ สองคือ ควรจะรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างเช่นการทำ CPR อย่างน้อยเรารู้ว่าเวลาเราเจอคนหมดสติจากการทำกิจกรรมทางน้ำเราจะช่วยเค้าอย่างไร มิ้งค์ว่าอันนี้สำคัญเหมือนกันนะ

กีฬาทางน้ำจริง ๆ ไม่ได้น่ากลัวนะคะ มันมีความท้าทาย การเล่นกีฬาทางน้ำอย่างเช่น Surf board SUP (Stand up paddle) หรือว่า Kayak หรือการล่องแก่งต่าง ๆ ในแต่ละวันเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันนี้คลื่นจะเป็นอย่างไร มันสนุกตรงที่เราได้ท้าทายตัวเองค่ะ

 

ขอบคุณสถานที่ : TACO LAKE

 


FeaturedImageH2C05072018.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

แนะนำตัว

สวัสดีครับ สาครินทร์ สุธรรมสมัย ครับ ชื่อเล่นชื่อคริน อายุ 34 ปี อาชีพตอนนี้เป็นนักแสดงและนักดนตรีครับ

 

ปัญหาสุขภาพของตัวเอง

ผมขี้โรคมาตั้งแต่เด็ก เป็นภูมิแพ้ด้วย แต่พอโตขึ้นมาก็ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีอาการภูมิแพ้อยู่ แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้สุขภาพมันเปลี่ยนคืออุบัติเหตุรถชนเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ผมเดินไม่ได้อยู่ช่วงนึงเพราะว่าเข่ากระแทกกับตัวคอนโซลรถ ก็เลยมีปัญหาเกี่ยวกับบอดี้ช่วงล่างตั้งแต่นั้น ประกอบกับเป็นคนที่เล่นบาสเกตบอลมาด้วย ทั้งเข่า ทั้งข้อเท้าก็มีปัญหามานานละ

 

วิธีการรักษาหรือการดูแลสุขภาพ

เรื่องรับประทานอาหาร ผมเป็นคนไม่ทานของทอด ของมัน ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยได้ระดับนึงเลย แล้วก็มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มันก็จะมีช่วงชีวิตที่ออกกำลังกายหนักๆ เป็นปี อย่างเช่นเข้ายิมประมาณ 3-4 วันต่ออาทิตย์ ทานโปรตีน คุมอาหาร การทานคลีนวันละ 4-5 มื้อ แต่ตอนนี้ก็พยายามให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา

 

การวางแผนการออกกำลังกาย ให้เหมาะกับอายุที่มากขึ้น จะเป็นการออกกำลังกาย เพื่อเน้นให้ร่างกายตื่นตัวเสมอ มากกว่าการพัฒนาศักยภาพ

 

การออกกำลังกายในปัจจุบัน

ด้วยอายุที่มันเพิ่มมากขึ้น โปรแกรมการออกกำลังกายก็จะเปลี่ยนไป มันไม่ใช่การเสริมสร้างกล้ามเนื้อเหมือนนักกีฬาแล้ว เมื่อก่อนผมเป็นนักกีฬาก็จะมีแพทเทิร์นการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเรา แต่ตอนนี้มันเป็นการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาระบบเผาผลาญ เพื่อการใช้ร่างกายหรือกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้คงที่ขึ้น ปัจจุบันก็เป็นการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมันตื่นตัวสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง

โปรแกรมการออกกำลังกายก็จะเน้นให้ร่างกายตื่นตัวเสมอ เพราะฉะนั้นจะออกกำลังกายไม่หนัก แต่เน้นความสม่ำเสมอต่ออาทิตย์มากกว่า อย่างเช่น ตอนนี้ก็เล่นกีฬา Rock climbing หรือการปีนหน้าผา มันจะเป็นการรวมเรื่องของโยคะ เวทเทรนนิ่ง คาร์ดิโอ แล้วก็มีเรื่องของการท้าทายด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของร่างกายหลังออกกำลังกาย

ใครที่เป็นภูมิแพ้จะทราบดีว่ามันไม่หายง่าย ๆ ครับ บางคนก็แพ้ตลอดชีวิตเลยก็มี ของผมจะมีหลาย ๆ ช่วง อย่างช่วงที่เป็นนักกีฬาบาสดีขึ้น ช่วงที่มาเล่นยิม ปีนเขาก็ดีขึ้น ถามว่ามันช่วยไหม มันช่วย แต่ว่ามันไม่ได้หายสนิท อันนี้อาจจะเป็นคาแรคเตอร์ของโรคภูมิแพ้ด้วยครับ

ก่อนหน้านี้ผมยืนขาเดียวไม่ได้ ขามันสั่น จากอุบัติเหตุและการเล่นบาส คนสูง ๆ จะรู้เลยว่ามันเป็นปัญหากันทุกคนถ้าเล่นบาส พอมาปีนหน้าผาก็ทำให้อาการนี้มันหายไป มันได้ความแข็งแรงของช่วงบอดี้ข้างล่าง รูปร่างที่จะเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ คือจะไม่เหมือนกันเล่นยิมที่เราไปเน้นตามสัดส่วนต่าง ๆ อันนี้จะเป็นการสร้างบอดี้โดยธรรมชาติ เพราะเราใช้ร่างกายของตัวเองในการเทรน ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลาย ๆ อย่าง ทั้งโยคะ การยืดหยุ่น การเบิร์น การคาร์ดิโอ การเวทเทรนนิ่งอย่างที่ผมบอกไป มันถูกรวมไว้แล้ว กลายเป็นว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องมาโฟกัสอะไร

 

ผลตอบรับที่ได้จากร่างกายที่ดีขึ้น จะทำให้อุปสรรค และความยากลำบากมันหายไปครับ

 

อุปสรรคและความยากลำบาก

ความสม่ำเสมอครับ หลาย ๆ คนอยากจะลดน้ำหนัก หลาย ๆ คนอยากจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเอง แต่เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องความสม่ำเสมอและเรื่องของระเบียบวินัย ผมว่าอันนี้เป็นข้อสำคัญ การที่จะบังคับตัวเองไปออกกำลังกายแต่ละอาทิตย์ ถ้ามีคำว่า “บังคับ” เกิดขึ้น แสดงว่าคุณไม่ได้แฮปปี้ที่จะออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นคุณจะต้องหากีฬาหรือการออกกำลังกายที่คุณอยากทำ อยากไปเล่น อยากใช้เวลาอยู่กับมัน แล้วความยากลำบากหรืออุปสรรคนี้มันจะไม่เกิดขึ้น

 

มาทำสิ่งดี ๆ ให้มันเกิดขึ้นกับร่างกาย และจิตใจของคุณ ด้วยการออกกำลังกายกันดีกว่า

 

คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจการออกกำลังกาย

ร่างกายเราเมื่ออายุเกิน 25 ปี มันเป็นการเริ่มต้นของการทำงานที่ลดลงของระบบร่างกายทั้งหมด เพราะฉะนั้นแล้วการที่เราจะทำให้ชะลอความแก่ได้ดีที่สุดมันคือการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร ถ้าแนะนำคืออยากให้ทุกคนหาความสนุกที่จะออกกำลังกาย เพราะร่างกายเราถดถอยลงทุกวันด้วยอายุที่มากขึ้นทุกวัน เราจะต้องคงความแข็งแรงของร่างกายไว้ให้ยาวนานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ ระบบการทำงานภายใน ทุกอย่างมันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตคุณมีความสุขมากขึ้น การออกกำลังกายมันมีแต่ข้อดี มันไม่ใช่แค่เรื่องรูปร่างของคุณเท่านั้น มันยังมีเรื่องสังคมรอบ ๆ ที่คุณจะได้ด้วยครับ การพักผ่อนที่ดีขึ้น การเอาชนะตัวเอง การที่ระบบภายในร่างกายดีขึ้นก็ส่งผลต่อการทำงานของคุณ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคุณ มันเป็นสิ่งที่ดีที่คุณทำได้ ณ เดี๋ยวนี้เลย

 

เชิญชวนให้มาเล่นกีฬาปีนหน้าผาจำลอง

นอกจากเรื่องที่ผมบอกไปว่ามีการเวทเทรนนิ่ง เรื่องของคาดิโอ โยคะ อีกเรื่องนึงที่น่าสนใจคือมันเป็นกีฬาที่สนุกมาก ๆ จะมีชาเล้นท์ให้คุณไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน ในแต่ละครั้ง

ผมเล่นกีฬามาเยอะ มันจะเป็นกีฬาที่เป็นของทีม ฝ่ายตรงข้าม มีคู่แข่ง มีสกอร์บอร์ด แต่กีฬาปีนผามีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ ทุกคนที่มาปีนกับคุณจะเป็นทีมเดียวกับคุณไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในแต่ละด่านที่คุณปีนขึ้นไปทุกคนก็จะเอาใจช่วยคุณให้คุณปีนขึ้นไปจนถึงข้างบนจนจบ เป็นกีฬาที่ไม่มีคู่แข่ง เป็นกีฬาที่มีแต่มิตรภาพ สร้างสังคมรอบ ๆ ตัว เมื่อทุกคนเอาใจช่วยกัน มันก็จะมีแต่ความรู้สึก Positive ในการมาเล่นกีฬานี้ แล้วก็เหมาะสำหรับคนที่ชอบความท้าทาย ชอบโจทย์ใหม่ ๆ อยู่เสมอในชีวิต

ถ้าใครชอบกีฬาที่ท้าทาย ชอบความรู้สึก Positive ในการเล่น ผมก็แนะนำครับ มาลองดู สนุก ตื่นเต้น แล้วก็รวมหลาย ๆ ศาสตร์ในการออกกำลังเอาไว้ แล้วก็มีสังคมที่ดี มี Energy ที่ดีที่คุณจะออกมาทำอะไรสักอย่างให้ตัวคุณเอง แนะนำอย่างให้มาลองกันครับ

 

 


FeaturedImageH2C10052018.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

แนะนำตัว

ชื่อ แป๋ง – นรุตม์ ลีระสันธนะ อาชีพธุรกิจส่วนตัว อายุ 28 ปี

 

แรงบันดาลใจในการหันมาดูแลสุขภาพ

ตั้งแต่เด็กมาเป็นคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี ต้องใช้ชีวิตเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลบ่อยมาก ด้วยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ คุณหมอก็แนะนำให้ออกกำลังกายพร้อมกับพ้นยาไปด้วย ซึ่งพอเริ่มเข้าชั้นมัธยมก็หันมาเล่นกีฬาแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง เล่นฟุตบอลและบาสเก็ตบอล เป็นต้น พอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ได้หันมาดูแลสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น เพราะคิดว่าการควบคุมอาหารไปพร้อมกับการออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม

 

เริ่มดูแลสุขภาพด้วยวิธีใดและผลเป็นอย่างไร

เริ่มแรกคือเราเล่นกีฬาอย่างเดียว แต่ไม่ได้ควบคุมเรื่องอาหาร ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ส่วนในเรื่องของรูปร่างนั้นยังไม่เป็นไปตามที่เราต้องการเท่าที่ควร จึงทำให้หันมาเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น โดยเน้นทานอกไก่ ไข่ต้มและผักผลไม้ครับ

 

การดูแลสุขภาพหลังจากนั้น

คือเราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพของเราเอง จึงได้หันมาทำความเข้าใจและศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพอย่างจริง ๆ ว่าควรต้องทำยังไง เราก็เริ่มศึกษาจากเว็บไซต์สุขภาพต่าง  ๆ สอบถามจากคนที่รู้บ้างว่า คนนี้ออกกำลังกายในยิมแบบนี้ คนนี้เลือกรับประทานอาหารแบบนี้ เราก็สะสมความรู้ไปเรื่อย ๆ ครับ

 

วิธีการดูแลสุขภาพที่ใช้ในปัจจุบัน และสาเหตุที่ชอบ

วิธีการดูแลสุขภาพในปัจจุบันก็คือ การออกกำลังกายด้วยการเวทเทรนนิ่งและเราก็เลือกรับประทานอาหาร รวมถึงช่วงเวลาที่ควรทานอาหาร และนำความรู้ตรงนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หากวันนี้เราไปกินบุฟเฟ่ต์มา วันรุ่งขึ้นเราก็ต้องออกกำลังกายให้หนักขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องกดดันตนเองว่าเราจะไม่กินเลย

 

ผลดีที่ได้รับกับการออกกำลังกาย

ผลที่ได้รับจากการออกกำลังกายคือ ไม่ว่าจะทานอาหารไปมากขนาดไหนน้ำหนักจะคงที่ เพราะเราได้ออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร รูปร่างก็ดีขึ้น อีกทั้งโรคภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ก็ดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

 

ฝากถึงผู้ติดตาม

สำหรับคนที่เริ่มหันมาดูแลสุขภาพนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุก ๆ คน บนโลกนี้เลย ทุกคนมักบอกว่าไม่มีเวลา แต่การไม่มีเวลาเราก็ต้องมาคิดดูว่า จริง ๆ แล้วการไม่มีเวลานี่คือเราให้ความสำคัญกับสุขภาพของเราในอันดับท้าย ๆ หรือเปล่า เราก็ต้องจัดการความคิดของเราเองว่าสุขภาพของเราสำคัญนะ แล้วมันจะทำให้เราหาเวลามาออกกำลังกายได้ไม่ยาก อย่างน้อยวันละ 20 นาที หรือจะเป็นการเดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ คือทุก ๆ อย่างมันจะมีทางออกให้หมด และที่สำคัญข้อมูลที่เราได้รับนั้นควรมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ และใครที่มีโรคประจำตัวอยากจะบอกว่าเรื่องสุขภาพจะต้องมาเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ถ้าคุณอยากจะมีชีวิตที่สบายขึ้น ตื่นมาไม่อยากมีน้ำมูกไหล หรือไปที่ทำงานแล้วไม่อยากมีขอบตาดำคล้ำ สุขภาพที่คุณภาพต้องดูแลสำคัญมาก เริ่มต้นจากการออกกำลังกายง่าย ๆ หรือเดินให้เยอะขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อีกทั้งทางคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญว่าสุขภาพต้องมาก่อนเป็นอันดับ 1 นั้น สุดท้ายเวลาคุณไปหาหมอเค้าจะทิ้งท้ายมาเสมอว่า กลับไปให้ออกกำลังกาย เดิมน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนเยอะ ๆ และก็ต้องกลับมาออกกำลังกายอยู่ดี แต่ถ้าเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่ตอนนี้เลยไม่ดีกว่าหรอครับ

 


FeaturedImageH2C09052018.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

แนะนำตัวเอง

ชื่อมะเหมี่ยว – ชรวดี วงศ์พานิช ค่ะ อาชีพปัจจุบันคือผู้แทนเครื่องมือแพทย์ อายุ 26 ปี

 

แรงบันดาลใจที่หันมาออกกำลังกาย

เรากำลังจะเป็นว่าที่เจ้าสาว ก็เลยขอดูแลสุขภาพของตัวเองเพื่อเอาใจคนรักค่ะ จึงไปปรึกษาคุณหมอเรื่องสุขภาพ และบอกปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น เราเจ็บหน้าอก หรือมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย แล้วก็ปวดเมื่อยเนื้อตัว จากการไปปรึกษาคุณหมอ ได้คำแนะนำว่า ให้ออกกำลังกายตามแบบที่ตัวเองชื่นชอบ และดูแลเรื่องอาหารการกินเพื่อเตรียมพร้อมความสวยค่ะ

 

เริ่มด้วยการออกกำลังกายอย่างไร

เริ่มแรกก็คือใช้วิธีว่ายน้ำค่ะ โดยปรึกษาแฟนและมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายมาให้คำแนะนำในการดูสุขภาพ ควบคุมอาหาร และออกแบบคอร์สว่ายน้ำให้ โดยวันหนึ่งจะต้องว่ายประมาณ 1 กิโลเมตร ในเวลา 45 นาที จะกำหนดให้อยู่ระดับกลาง ๆ ไม่หักโหมหนักเกินไป หลังจากนั้นก็ออกกำลังกายด้วยวิธีการคาร์ดิโอ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการไหลเวียนโลหิต เพื่อลดการปวดท้องประจำเดือน

 

การดูแลสุขภาพหลังจากนั้น

นอกเหนือจากการว่ายน้ำแล้ว ก็จะคุมปริมาณอาหาร เช่น อาหารประเภทของมัน ของทอด เครื่องดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำที่มีน้ำตาลสูง เราจะลดปริมาณการบริโภคลงทีละน้อย จากเดิมจะต้องกินอาหารเหล่านี้แทบจะทุกมื้อ ทุกวัน แต่พอหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนวิธีกิน จะค่อย ๆ ตัดทีละอย่าง เนื่องจากว่าถ้าเราหยุดทันที จะทำให้เราโหยและยิ่งกินเยอะกว่าเดิม หรือถ้าเราออกกำลังกายตามเป้าที่ตั้งไว้ ก็ให้รางวัลกับตัวเองด้วยของหวานเล็กน้อย โดยใช้วิธีแบ่งกับเพื่อน ๆ แทน ซึ่งเรื่องการควบคุมอาหารเราไม่จำเป็นต้องเลิกกินทั้งหมด แต่หาวิธีจัดการกับมันได้ตามแบบของเราค่ะ

 

ริง ๆ แล้ว เรื่องการดูแลสุขภาพเราไม่จำเป็นต้องเลิกกินทั้งหมด แต่หาวิธีจัดการกับมันได้ตามแบบขงเรา

 

วิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ตอนนี้วิธีออกกำลังกายหลัก ๆ ก็จะเป็นการว่ายน้ำ เนื่องจากว่า ถ้าวิ่งจะมีปัญหาเรื่องข้อเข่า จึงเลือกการออกกำลังกายที่มีแรงต้านน้อย และไม่มีแรงกระแทก นอกจากนี้ก็มีการพาสุนัขไปเดินเล่น และปั่นจักรยานบ้าง หรือเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน เช่น วันทำงานปกติจะใช้วิธีการเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ และทำสม่ำเสมอให้เป็นเรื่องปกติค่ะ

 

ผลที่ได้รับมีอะไรบ้าง

สิ่งที่ได้รับหลังจากหันมาดูแลสุขภาพ คือ เรื่องความทนในการออกกำลังกาย หรือว่าการทำกิจกรรมต่าง ๆ เราเหนื่อยยากขึ้น เรามีแรงที่จะทำอย่างอื่นมากขึ้น แล้วก็ร่างกายมีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า อาการปวดเมื่อย อารมณ์หงุดหงิดในช่วงประจำเดือนก็ลดลง ที่สำคัญช่วยขจัดความเครียดได้ จากที่เราทำงานแทบทุกวันต้องเผชิญความเครียดรอบ ๆ ตัว แต่พอมาออกกำลังกาย เราก็ได้ปลดปล่อยความเครียดออกไปด้วย แถมคนรักก็ชื่นชมความสดใสของหน้าตา และรูปร่าง ก็รู้สึกสดชื่นแจ่มใสขึ้น

 

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกาย

อยากให้เข้าใจในเรื่องของการรักษาสุขภาพว่า ไม่ได้หมายถึงการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือการทานอาหารคลีนอย่างเดียว แต่อยากให้เข้าใจว่า การดูแลสุขภาพไม่จำเป็นว่าเราจะต้องหุ่นดี ผอม หรือบางท่านเข้าใจว่าการลดน้ำหนัก เราอยากได้ผลเร็วใน 1 เดือนลงไปเยอะ ๆ อันนี้ก็จะไม่แนะนำ อยากให้ทุกท่านคิดว่าเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานทาน การออกกำลังกาย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว และที่สำคัญไม่ควรหักโหมออกกำลังกายซึ่งจะส่งผลเสียและบั่นทอนสุขภาพค่ะ

 

 


FeaturedImage-ทำไมคนตะวันตก-H2C.jpg

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ “คลิก”

 

ทีมงาน Health2click ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวาสินี สร้อยสุวรรณ ชื่อเล่น “ญี่ปุ่น” ตำแหน่ง Sales & Customer Manager (Trainer) ของ Sport city ในฐานะที่เธอมีประสบการณ์ในเรื่องของการดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ติดตามกันได้เลยค่ะ

 

มุมมองต่อการดูแลสุขภาพระหว่างคนไทยกับคนตะวันตก เป็นอย่างไร

โดยภาพรวมของคนในประเทศตะวันตก เขามีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย อาหารการกิน สภาพอากาศ ที่ค่อนข้างได้เปรียบเรา ตัวอย่างเช่น ในการใช้ชีวิตเขาจะเดินเยอะ ขี่จักรยานเยอะ อากาศบ้านเขาเย็น เขาจึงต้องพยายามออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย ในด้านอาหารการกิน ด้วยภูมิประเทศติดทะเลหรือถ้าไม่ติดก็มีการคมนาคมที่ดี มีเนื้อปลา เนื้อสัตว์ มีโปรตีนในรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกกินกันได้หมด ที่สำคัญคือหลายๆประเทศเขามีเป็นยิมเล็กๆสำหรับออกกำลังกาย  เพราะฉะนั้นเขาจะมีพื้นฐานการออกกำลังกายตั้งแต่วัยเด็ก ต่อยอดอะไรได้ง่าย และเขาให้ความสำคัญกับท่าทาง มุมการเคลื่อนไหว จังหวะการเคลื่อนไหว รวมไปถึงเรื่องของความยืดหยุ่น (Flexibility) จึงทำให้การดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายของเขานั้นออกมาค่อนข้างดี สังเกตได้จากเราจะเห็นนักท่องเที่ยงชาวตะวันตกสูงอายุ สุขภาพดี ๆ มาเที่ยวบ้านเราเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะเขาดูแลสุขภาพมาตั้งแต่หนุ่ม สาว

สำหรับคนไทย เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า อดีตที่ผ่านมาเราใส่ใจในเรื่องสุขภาพน้อยกว่าคนตะวันตกมาก คนไทยจะเริ่มสนใจหนัก ๆ ก็ตอนที่เป็นโรค หรือกลัวจะเป็นโรค ซึ่งมาถึงตอนนั้นก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไร โชคดีที่ปัจจุบันคนไทยหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น เรียกว่าเป็นเทรนที่มาแรงเลยก็ว่าได้ สำหรับ “เทรนรักสุขภาพ”  อย่างตัวเองอยู่กับการออกกำลังกายจะเห็นเลยว่ามีคนหันมาดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น โดยเฉพาะเวท เทรนนิ่ง (Weight training) หรือที่เรียกฮิตติดปากว่า “เล่นเวท” รวมถึงการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว สุขภาพดีขึ้นมากอย่างชัดเจน

 

ปัจจุบัน เปลี่ยนไปในทิศทางไหน

คนไทยที่สนใจทางด้านสุขภาพมีเพิ่มขึ้นมาก แต่มีคนที่ยังออกกำลังกาย หรือทำเวท เทรนนิ่งไม่ถูกต้องอีกเยอะพอสมควร และยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอยู่ด้วย เช่น มาออกกำลังกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพอีก ต้องผอมแล้วจะแข็งแรงไม่มีโรค ต้องหุ่นดีแล้วจะไม่ปวดหลัง ปวดเข่า เลือกออกกำลังกายแล้วก็อดอาหารไปด้วย ประเภทที่เรียกว่าลดความอ้วนด้วยการชั่งน้ำหนัก โดยไม่ใส่ใจในการเลือกทานอาหารที่ให้สารอาหารครบถ้วน เหตุที่พูดแบบนี้เพราะ คนอ้วนใช่ว่าจะไม่แข็งแรง จะต้องมีโรค และคนผอมหุ่นดีใช่ว่าจะแข็งแรง จะไม่มีโรค รวมทั้งพวกกล้ามโต ทั้งหลายก็เช่นกัน การดูแลสุขภาพด้วยออกกำลังกายนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าที่คิด ควรศึกษาพื้นฐานเบื้องต้นก่อนว่าประกอบด้วยอะไรยังไง ให้ความสำคัญในส่วนลึกของขั้นตอนการออกกำลังกายอย่างแท้จริง เพื่อสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืนและไม่ส่งผลทำลายสุขภาพภายหลัง และการจะมีสุขภาพที่ดีนั้น การออกกำลังกายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นที่จะมีสุขภาพที่ดี แต่ก่อนเริ่มออกกำลังกายควรประเมินสุขภาพและพื้นฐานเบื้องต้นของแต่ละบุคคลก่อน โดยควรหาที่ปรึกษาหรือศึกษาข้อมูลก่อนเริ่มต้น

 

มีคนที่ยังออกกำลังกาย หรือทำเวท เทรนนิ่ง
ไม่ถูกต้องอีกเยอะ
และยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ
การดูแลสุขภาพอยู่ด้วย”

  

ประสบการณ์การดูแลสุขภาพ มีเคสไหนน่าสนใจบ้างข้อแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย

ก็มีหลายเคสนะ เคสแรก เป็นผู้ชายอายุ 45 ปี มาออกกำลังกายโดยที่ไม่ตรวจสุขภาพ มาก่อน ไม่มีพื้นฐานมาก่อน มาเล่นเองเลย สุดท้ายอยู่ ๆ เจ็บอกล้มลงไป หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่โชคดีที่เรามีเครื่อง AED เราจึงช่วยไว้และนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน เคสนี้เตือนว่าต่อให้ออกกำลังกายแล้วก็ยังต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำ

เคสที่สอง เป็นเด็กอายุ 3 – 4 ขวบ ชอบวิ่ง ๆ แล้วล้ม หยิบของหลุดมือ ทรงตัวไม่ดีเท่าที่ควร มีกล้ามเนื้อหลายมัดที่ไม่แข็งแรง เราก็ฝึก ก็ปรับ ด้วยแบบฝึกจำพวก motor learning (การฝึกทำให้ระบบประสาทมีการเรียนรู้ ทำให้กล้ามเนื้อร่วมมือกันในการเคลื่อนไหว) ก็ดีขึ้นกว่าตอนที่เด็กไม่ได้ทำ

สำหรับเคสอื่น ๆ ก็จะเป็นเคสที่การพัฒนาร่างกายของเขาอาจต้องใช้เวลา เราต้องมีการให้ข้อมูล อธิบายรูปแบบ วางแผนการฝึกเป็นระยะตามศักยภาพของร่างกาย เช่น เคสที่เกิดการบาดเจ็บหรือมีปัญหาที่เข่าแล้วต้องมาเวทสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อพยุงข้อต่อ อัมพฤกษ์ ปวดหลัง และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพที่อยากนำเสนอ

โดยส่วนตัว แนะนำให้ตรวจดูองค์ประกอบของร่างกาย ที่เรียกว่า Body composition ดูกล้ามเนื้อ มวลกระดูก ไขมัน น้ำ แล้วก็เอาข้อมูลมาดีไซน์การออกกำลังกายให้เหมาะกับแต่ละคน โดยจัดส่วนผสมให้ลงตัว ทั้งแบบที่เป็น Cardio, Weight, Fat burn, Stretching เป็นต้น

 

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย

อยากให้เรามาเริ่มออกกำลังกาย ใครมีลูกหรือหลาน ก็ปลูกฝังวินัยการออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก เพียงแค่เอาชนะใจตัวเอง ชนะความไม่ว่าง ชนะความขี้เกียจ วางมือจากแท็บเล็ตและลงมือทำ เพราะเดี๋ยวนี้การออกกำลังกายง่ายกว่าที่คิด  มีข้อมูลให้เข้าถึงได้มากมาย มีเทคนิครวมถึงเคล็ดลับต่าง ๆ จากเพจหรือเว็บไซต์ แต่ควรเลือกศึกษาในเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูลถูกต้อง นอกจากนี้การมีสุขภาพที่ดีได้นั้นต้องครอบคลุม การทานอาหารที่ดีครบถ้วน การนอนหลับ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ลดละพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ พยายามทำให้ได้ติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน แล้วมันจะกลายเป็นนิสัย ถึงจุดนั้นเราจะได้สัมผัสว่าชีวิตนี้วิเศษมาก ท้าทายทุกคนทำแล้วจะรู้ว่า ไม่มีอะไรยากเกินกว่าจะทำได้ ขอให้ทุกคนมีความสุขและมีสุขภาพทีดี

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก