ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

สำหรับผู้ที่ยังดื่มแอลกอฮอล์ แนะนำให้จำกัดการดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง สำหรับใครที่อยากทำตาม แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร บางครั้งเพื่อนชวน บางครั้งแพ้ใจตัวเอง อดอื่มไม่ได้ มีเคล็ดลับเล็ก ๆ มาฝาก เลือกวิธีที่ถนัดกันได้เลย

 

หลีกเลี่ยงการไปเที่ยวผับ บาร์

คุณต้องมีวิธีในการถ้าอยากนัดพบเพื่อน คนรักหรือพูดคุยธุรกิจ ควรเลือกจุดนัดพบเป็นร้านกาแฟ หรือร้านที่ไม่ใช่สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการใช้เวลาร่วมกัน โดยได้บรรยากาศดี ๆ นั้น อาจไม่ต้องมีเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นตัวช่วย

 

เลือกดูถ่ายทอดกีฬาอยู่กับบ้าน

คล้ายกับข้อ 1 การเลือกดูการแข่งขันกีฬาร่วมกับสมาชิกหรือเพื่อนฝูงอยู่กับบ้าน แทนการอออกไปรวมพลเชียร์กันตามแหล่งสังสรรค์ ประเภท Sports bar ยามค่ำคืน ถือเป็นทางเลือกในการเลี่ยงแอลกอฮอล์ได้บ้าง เพราะแค่อาหารว่างสัก 1 – 2 ชิ้น ก็สามารถนั่งเชียร์ทีมโปรดได้แล้ว

 

ตั้งกฏว่า “ไม่ดื่มคนเดียว”

การดื่มคนเดียวไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความเคยชินกับการนั่งดื่มตามลำพัง มีแนวโน้มที่จะทำให้คุณดื่มในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ตั้งกฎว่า “ดื่มได้ไม่เกินชั่วโมงละแก้ว”

ถ้าจำเป็นต้องดื่ม ลองฝึกการดื่มแบบช้า ๆ หาอาหารทานไปด้วย พูดคุยกับเพื่อน ๆ ไปด้วย รับรองว่าวิธีนี้คุณจะควบคุมการดื่มได้เป็นอย่างดี

 

อย่าดื่มเพื่อปลอบใจตัวเอง

ควรดื่มเพื่อความสุข อย่างมีสติ ไม่ใช่ดื่มเพื่อระบายความเจ็บปวดหรือโศกเศร้า อย่างคนขาดสติ เพราะนั่นเป็นภาพที่เห็นกันซ้ำซากของคนที่ล้มเหลวในชีวิต ซึ่งไม่ใช่คุณที่นั่งอ่านบทความนี้อยู่แน่

 

อย่าดื่มจนเป็นนิสัย

ถ้าทุกสัปดาห์คุณวนเวียนอยู่กับว่า หนึ่งทุ่มแล้วได้เวลาดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานวันนี้เสร็จแล้ว เย็นนัดดื่มแอลกอฮอล์ ตัดหญ้าในสนามเสร็จแล้วต้องต่อด้วยเบียร์ นั่นหมายถึง สมองคุณจะบรรจุพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์เป็นนิสัยแล้ว ซึ่งอาจเกิดผลเสียกับร่างกายของคุณในอีกไม่นาน

 

เปลี่ยนการดื่มแอลกอฮอล์ มาสู่การทำกิจกรรมที่ดีกว่า

เลือกเปลี่ยนช่วงเวลาที่เคยดื่มแอลกอฮอล์ มาทำกิจกรรมอื่นแทน เช่น หลังเลิกงานต้องเล่นกีฬา ทุกเย็นวันเสาร์ต้องทำกับข้าว เวลาพักเปลี่ยนจากนั่งเป็นเดิน ดื่มชา กาแฟ น้ำแร่ น้ำผัก น้ำผลไม้ อื่น ๆ ลองฝึกทำเป็นประจำ ในอีกไม่นานคุณจะได้นิสัยใหม่ที่ดีกว่าเดิม

 

อย่าถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดมือเป็นนิสัย

สร้างนิสัยการถือขวดน้ำหรือแก้วน้ำในมือ แทนแก้วหรือขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อคุณคุ้นเคยกับความอร่อยของน้ำเปล่าแล้ว แน่นอนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีรสชาดแปลก ๆ ทันที

 

อย่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดบ้าน

ถ้าคุณซื้อเบียร์หรือซื้อไวน์ติดบ้านเป็นประจำแล้วละก็ โอกาสที่คุณจะลดแอลกอฮอล์ได้มีน้อยมาก แนะนำให้ซื้อเล็ก ๆ น้อย ๆ กินเป็นครั้ง อย่างน้อยคุณจะไม่มีความรู้สึกว่าต้องพยายามดื่มให้หมด ในอีกทางการหาเวลาไปซื้อขวดใหม่ อาจทำให้ช่วงเวลาในการดื่มของคุณห่างออกไปได้

 

ลองดื่มโซดาเพียว ๆ

น้ำโซดาที่คุณใช้ผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากคุณดื่มเปล่า ๆ ดูบ้าง รับรองว่านอกจากคุณจะได้สัมผัสฟองซ่า และความสดชื่นแล้ว หลาย ๆ คนอาจไม่รู้สึกอยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเลย

 

ดื่ม “น้ำเปล่า” เป็นอันดับแรก

เมื่อจำเป็นต้องดื่ม ให้ดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ต่าง ๆ ก่อนและตามหลังด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สักแก้ว วิธีนี้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายคุณจะไม่เยอะจนเกินไป

 

ทบทวนเหตุผลในการลดหรือหยุดดื่ม

หาโอกาสทบทวนอยู่เรื่อย ๆ ว่า ทำไมควรลดหรือหยุดดื่ม เหตุผลแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่การทบทวนเหตุผลหรือเป้าหมายบ่อย ๆ จะทำให้คุณมุ่งมั่นเพิ่มมากขึ้นตัวอย่างเช่น อยากลดน้ำหนัก อยากนอนหลับดีขึ้น อยากลดระดับน้ำตาลในเลือด อยากให้คุณภาพของเพศสัมพันธ์ดีขึ้น

 

จดบันทึกค่าใช้จ่าย

ทำรายการว่าแต่ละสัปดาห์ใช้จ่ายเงินไปกับการดื่มแอลกอฮอล์เท่าไร วิธีนี้จะทำให้คุณเห็นข้อดีของการลดการดื่มได้อย่างชัดเจน ลองคิดดูว่ายอดค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถ้าลดได้ครึ่งหนึ่ง จะเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้าง หรือถ้าเป็นเงินเก็บ สิ้นปีคุณจะมีเงินเหลืออีกเท่าไร แน่นอนว่าข้อนี้เป็นข้อสำคัญลำดับต้น ๆ ของหลาย ๆ คนเลย

 

บอกให้เพื่อนรู้

ในที่สุดคุณอาจจำเป็นต้องบอกให้เพื่อน ๆ รู้ ถึงความตั้งใจ เชื่อได้ว่าเพื่อนที่ดี ๆ จะสนับสนุนคุณ อย่างน้อยแค่แก้วเดียว คงพอที่จะรักษามิตรภาพกับเพื่อนดี ๆ ไว้

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.rd.com   www.verywellmind.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


-ทำอย่างไร.jpg

วันที่คุณพร้อมจะเลิกสูบบุหรี่ ความมุ่งมั่นถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญ จริงอยู่มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีดียว แต่กระนั้น การเลือกวิธีเลิกสูบบุหรี่ที่เหมาะสมก็เป็นจุดเริ่มต้น ในการเสริมความมั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ

 

ต้องมีแผนการเลิกสูบบุหรี่

อย่างที่คุณอาจทราบ มีหลายวิธีในการเลิกสูบบุหรี่ วิธีนี้อาจจะดีกว่าวิธีนั้น แผนการที่ดีที่สุดคือ แผนที่คุณสามารถทำสู้ไปกับมันได้ พิจารณาสิ่งเหล่านี้อาจเหมาะกับคุณ

  • หักดิบด้วยตัวเอง ประมาณ 90% ของผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ เริ่มด้วยการหักดิบ โดยไม่พึ่งอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นการขอความช่วยเหลือ การเข้ารับการรักษาการติดบุหรี่ การใช้ยา พบว่ามีผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้โดยการหักดิบสำเร็จ เพียง 4 – 7% เท่านั้น
  • พฤติกรรมบำบัด วิธีนี้เป็นการเข้าไปขอคำปรึกษากับผู้ให้การบำบัด เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการที่จะทำให้คุณไม่อยากสูบบุหรี่ เมื่อคุณรู้ถึงสิ่งกระตุ้นของคุณ เช่น อารมณ์หรือสถานการณ์ที่ทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ จะได้วางแผนที่จะทำให้คุณผ่านช่วงเวลานั้น โดยไม่ต้องพึ่งบุหรี่
  • การบำบัดโดยนิโคตินทดแทน หมากฝรั่ง แผ่นทดแทน ยาสูดพ่น สเปรย์และยาอม เป็นวิธีการบำบัดแบบนิโคตินทดแทน โดยจะให้นิโคตินแก่คุณโดยคุณไม่ต้องสูบบุหรี่ และอย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายคือการเลิกเสพติดสารนิโคติน ไม่ใช่เพียงแค่เลิกสูบบุหรี่ ในทางปฏิบัติจึงอาจใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับการทำพฤติกรรมบำบัด
  • การใช้ยาช่วยลดอาการถอนยา Bupropion , Varenicline เป็นต้น เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ที่สามารถช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ รวมถึงลดอาการถอนยาได้
  • การรักษาแบบผสม การใช้วิธีการรักษาแบบผสมสามารถเพิ่มโอกาสในการเลิกสูบบุหรี่ ตัวอย่าง เช่น การใช้แผ่นนิโคตินทดแทนร่วมกับหมากฝรั่งอาจดีกว่าใช้แผ่นนิโคตินเพียงอย่างเดียว หรือ การรักษาแบบพฤติกรรมบำบัดร่วมกับการบำบัดนิโคตินทดแทน การใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ร่วมกับแผ่นนิโคตินทดแทน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อให้รู้ว่าวิธีการที่เหมาะสำหรับคุณ ควรเป็นวิธีใด

ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีใด ส่วนสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่คือ การสร้างแผนการเลิกบุหรี่ที่เหมาะกับคุณ เลือกวันที่จะตัดสินใจเลิก เพื่อจะช่วยให้คุณมีเวลาเตรียมตัวโดยไม่สูญเสียแรงจูงใจ บอกเพื่อนและครอบครัวว่าคุณกำลังเลิกสูบบุหรี่ ทิ้งบุหรี่และที่เขี่ยบุหรี่ทั้งหมดออกจากบ้าน ที่ทำงานและรถของคุณ มองวิเคราะห์ถึงสิ่งกระตุ้นที่ให้คุณอยากสูบบุหรี่และตัดสินใจว่าคุณจะจัดการกับพวกมันอย่างไร

 

ทำอย่างไร ให้อยู่ในแผนการเลิกบุหรี่ได้จนสำเร็จ

ความรู้สึกอยากกลับไปสูบบุหรี่ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด ทำให้หลาย ๆ คนล้มเลิกและย้อนกลับไปสูบบุหรี่ตามพฤติกรรมเดิมๆ เรามาดูกันว่ามีวิธีปฏิบัติอะไรบ้าง ที่ช่วยให้คุณอยู่ในแผนการที่วางไว้จนกระทั่งสำเร็จ

  1. รู้ถึงสิ่งกระตุ้นให้คุณอยากสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยง หลังจากเขียนถึงสิ่งกระตุ้นและวิธีการที่คุณจะจัดการในแต่ละสถานการณ์แล้ว เรื่องพื้นฐานคือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่หลายๆคนล้มเลิกความตั้งใจและเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ
  2. รู้ว่า 2 – 3 วันแรก เป็นวันที่ลำบากที่สุด คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิด หดหู่ ทำอะไรช้า ๆ และเหนื่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเลือกใช้วิธีหักดิบ ในทางปฏิบัติการมีเพื่อนดี ๆ คอยให้กำลังใจ หรือมีศูนย์เลิกสูบบุหรี่ที่คุณสามารถปรึกษาได้ เป็นสิ่งที่ดี จากการศึกษาพบว่าหลาย ๆ คนเมื่อผ่านวันนี้ไปได้จะรู้สึกดีขึ้น แม้ว่าจะยังมีความอยากสูบบุหรี่อยู่ก็ตาม
  3. อย่ายอมจำนนกับความอยากของคุณ ทุกครั้งที่คุณอยากสูบบุหรี่ และคุณไม่สูบได้ โอกาสของคุณที่จะเลิกสูบบุหรี่ก็มีมากขึ้น ฝึกเปลี่ยนนิสัยของคุณ ให้ปากคาบอย่างอื่นแทน เช่น คาบแครอทที่ตัดเป็นแท่งเล็ก ๆหรือกินเมล็ดดอกทานตะวัน
  4. หางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำร่วมกับเพื่อนที่ไม่สูบบุหรี่ ทำบางสิ่งบางอย่างที่ช่วยให้มือของคุณไม่ว่างและลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้น เช่น การพาสุนัขเดินเล่น การเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน วิ่ง อื่นๆ ทั้งหมดล้วนทำให้คุณห่างจากบุหรี่มากขึ้น
  5. ให้รางวัลกับตัวเอง สิ่งที่คุณกำลังทำไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อคุณทำถึงขั้นที่สำคัญหรือสูงสุด ให้อะไรกับตัวเองด้วยสิ่งที่คุณต้องการหรือชอบ

 

ความยากในการเลิกสูบบุหรี่

ความยากง่ายในการเลิกสูบบุหรี่ มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน มีปัจจัย 3 ข้อ ช่วยคุณให้เข้าใจในเรื่องนี้ได้

  • คุณสูบบุหรี่มากน้อยเท่าไรในแต่ละวัน
  • เพื่อนและสมาชิกในครอบครัวของคุณสูบบุหรี่ด้วยไหม
  • สุดท้ายคือ ทำไมคุณสูบบุหรี่

มองถึงประโยชน์ที่จะได้ ภายในไม่กี่ชั่วโมงของการเลิกสูบบุหรี่ ร่างกายของคุณจะเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบจากนิโคตินและการเสพติด ทั้งความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิของร่างกายของคุณ ซึ่งทั้งหมดเคยสูงกว่าที่ควรจะเป็นเพราะนิโคตินในบุหรี่ แต่จากนี้ ทุกอย่างจะเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ

คุณสามารถหายใจได้ง่ายสะดวกขึ้น ระดับของคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นพิษในเลือดลดลง ทำให้เลือดของคุณสามารถนำพาออกซิเจนได้มากขึ้น และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเลิกสูบบุหรี่ช่วยให้ร่างกายทั้งหมดของคุณดีขึ้น แต่ยังช่วยปรับปรุงรูปลักษณ์ของคุณ ให้ดูดีสมวัยมากขึ้น

 

เกิดอะไรขึ้นถ้าฉันกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง

คล้ายการกำเริบของโรค มันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก ก่อนที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร ดังนั้นถือเป็นเรื่องปกติมากในการเสพติดที่รุนแรง เช่น การสูบบุหรี่ ถ้าคุณเกิดกำเริบ ลองพยายามสูบบุหรี่ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จนกว่าคุณจะพร้อมที่จะเลิกสูบบุหรี่อีกครั้ง การหยุดอย่างถาวรคือกระบวนการที่อาจใช้เวลานานสักหน่อยแต่มันคุ้มค่า

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com

 


BannerQuiz-เทคนิคปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง-edit1.jpg

แบบทดสอบ เทคนิคปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง

 

เลือกคำตอบที่ถูกต้อง จากเนื้อหาที่อยู่ในหมวดหมู่ เทคนิคปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง

แนะนำให้ "คลิก" กลับไปที่เรื่อง หลังตอบครบทุกข้อ

1. ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในเวลาเท่าใดหลังการดื่ม
2. ผู้ขับขี่รถมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ระดับใดถือว่าผิดกฎหมาย
3. ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ในร่างกาย
4. การใช้ถุงยางอนามัยในข้อใด อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดลง
5. การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคใดได้ดี
6. เหตุใดเมื่อเลิกสูบบุหรี่แล้ว ผู้ที่เคยสูบจะหายใจสะดวกขึ้น
7. ข้อใดกล่าวถูกต้อง ในการเลิกสูบบุหรี่
8. ในการเลิกบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้ได้ภายในช่วงเวลาใด
9. นิโคตินในบุหรี่ทำให้สิ่งเหล่านี้สูงขึ้นยกเว้นข้อใด
10. ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อความยากในการเลิกสูบบุหรี่

 

 

 

 

 

 


-health.jpg

การวัดระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายมีมานานแล้ว ก่อนหน้านี้จะเป็นการวิเคราะห์หาปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างจากเลือดหรือปัสสาวะแต่มีข้อจำกัดในเรื่องห้องปฏิบัติการและผู้ที่มีความชำนาญ รวมถึงการทราบผลช้า และปริมาณน้ำในร่างกายอาจทำให้ผลที่ได้ไม่สามารถสื่อไปถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอย่างแท้จริง

ต่อมาได้มีการนำวิธีการวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจมาใช้ โดยได้มีการคิดค้นเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจขึ้น และได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งแบบพกพา (Mobile) และแบบประจำที่ (Stationary) และแบบเพื่อการตรวจคัดกรอง (screening) โดยแสดงผลว่าเกินหรือไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และแบบเพื่อการตรวจยืนยันผล (Evidential) โดยแสดงผลเป็นตัวเลขในหน่วย mg/100ml เช่น 50 mg/100ml

 

เส้นทางเดินของแอลกอฮอล์ในร่างกาย

เมื่อเราดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่เลือด โดยเราสามารถตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดภายในเวลา 5 นาที หลังสิ้นสุดการดื่มขณะท้องว่าง ระดับแอลกอฮอล์จะขึ้นสูงสุดภายในเวลา 30 – 45 นาที หลังดื่ม เนื่องจากโมเลกุลของแอลกอฮอล์มีขนาดเล็กและไม่ต้องการน้ำย่อย  แอลกอฮอล์จะเคลื่อนที่ตามทิศทางเดินของเลือด โดยแอลกอฮอล์บางส่วนจะถูกทำลายโดยตับ จากนั้นเลือดจะผ่านไปทางหัวใจด้านขวา และถูกสูบฉีดไปปอด สู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แอลกอฮอล์เข้าสู่สมอง ทำให้การสั่งงานของสมองช้าลง เมื่อแอลกอฮอล์ผ่านปอด แอลกอฮอล์บางส่วนจะแพร่ออกสู่อากาศ (ลมหายใจ) ซึ่งการวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจจะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์หาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้

 

หลักการทำงาน

สำหรับการทำงานของเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจนั้น ในการตรวจจะให้ผู้ตรวจเป่าลมหายใจเข้าเครื่องซึ่งมีตัวตรวจจับแอลกอฮอล์ (Alcohol Detector) ซึ่งมี 4 แบบ ได้แก่

  1. Colorimeter เปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นเขียว เมื่อได้รับสารแอลกอฮอล์
  2. Semiconductor หรือสารกึ่งตัวนำ เป็นเครื่องที่ใช้ทดสอบตัวเอง พกพาสะดวก แต่ไม่มีความเที่ยงตรง
  3. Fuel cell หรือเซลไฟฟ้าเคมี มีความเที่ยงตรง สามารถใช้เป็นหลักฐานทางคดีได้ ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก มีราคาสูงและ
  4. Infrared มีความเที่ยงตรง สามารถใช้เป็นหลักฐานทางคดีได้ ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับใช้ประจำที่ เช่น สถานีตำรวจ

ทั้งนี้ตัวตรวจจับเมื่อได้รับแอลกอฮอล์จากลมหายใจ จะมีการแปรสภาพ การเปลี่ยนแปลงสีของสารเคมี หรือวัดได้จากพลังงาน เช่น กระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพนี้ จะถูกแปลค่าให้รายงานออกมาที่หน้าปัดของเครื่อง ในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration: BAC) ทั้งนี้ โดยอาศัยการคำนวณค่าจาก ค่าความสัมพันธ์ของสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็น ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ

 

เครื่องเป่าแอลกอฮอล์

www.lvcriminaldefense.com/dui/breathalyzer-test/

 

การวัดและระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่กฎหมายกำหนด

การที่เครื่องวัดฯ จะวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจได้ถูกต้อง ต้องใช้ลมหายใจจากส่วนลึกของปอดที่สัมผัสกับเส้นเลือดฝอยในปอด เพื่อจะให้ได้ค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง ผู้ผลิตได้ออกแบบให้เครื่องวัดฯ เมื่อถูกเป่าลมหายใจเข้าเครื่องต่อเนื่องไปได้ระยะหนึ่ง ความแรงในการเป่าจะลดลง สูบไฟฟ้าในเครื่องฯ จะเก็บตัวอย่างลมหายใจประมาณ 1 ซีซี แบบอัตโนมัติ 

ในกรณีที่เครื่องไม่ได้ออกแบบให้เก็บตัวอย่างลมหายใจแบบอัตโนมัติ การตรวจวัดต้องให้ผู้ถูกตรวจเป่าลมหายใจเข้าเครื่องอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ทำการตรวจวัด จะนับ 1 ถึง 5 ในใจอย่างช้า ๆ เมื่อนับครบแล้ว จึงกดปุ่มรับตัวอย่าง เพื่อให้สูบไฟฟ้าเก็บตัวอย่าง 

ทั้งนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ไม่ให้เกิน 50 mg/100ml หรือ 50 mg %

ตามประกาศกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 16/2537 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อเปรียบเทียบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจร พบว่า

 
WordPress Tables Plugin


จากข้อมูลเบื้องต้น ทุกคนจะเห็นว่าระดับ
แอลกอฮอล์ในเลือดจะทำให้เกิดอันตราย โดยระดับตั้งแต่ 50 mg % จะมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้การทำงานช้าลง ถ้าขับขี่ยานพาหนะ จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในร่างกายตั้งแต่  2 เท่าขึ้นไป             

หากจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ ควรไปรถโดยสาร หรือรถรับจ้างสาธารณะ หรือมีผู้อื่นขับรถให้

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์บริการวิชาการและพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.sri.cmu.ac.th, ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล www.si.mahidol.ac.th, กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546
ภาพประกอบจาก : www.breathalyzer.net


-h2c-1.jpg

ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาลาติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ มีทั้งที่ทำจากลำไส้สัตว์ (Skin condom) ทำจากวัสดุยางพารา (Rubber condom or latex condom) และทำจากวัสดุสังเคราะห์ (Rolyurethane condom) และมีทั้งแบบถุงยางอนามัยชายและถุงยางอนามัยหญิงสำหรับถุงยางอนามัยชาย ฝ่ายชายใช้สวมครอบองคชาตของตนเอง

โดยประเทศไทยมีจำหน่ายขนาดหลัก ๆ 2 ขนาดคือ ขนาดความกว้าง 49 มม. และขนาดความกว้าง 52 มม. ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์และการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน และเอดส์ได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ จะมาจากการใช้ถุงยางที่ไม่ถูกต้อง

 

การใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี

ก่อนอื่นผู้ใช้ต้องเลือกซื้อให้เหมาะสมกับขนาดองคชาตตรวจสอบวันหมดอายุและรอยฉีกขาด ไม่ควรนำมาใช้หากพบรอยฉีกขาดที่ซอง การฉีกซองควรใช้มือฉีก ไม่ควรใช้กรรไกร และปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ผู้ใช้ต้องใส่และถอดให้ถูกวิธี โดยให้ใส่เมื่อองคชาตแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น โดยผู้ที่ไม่ได้ขลิบปลายองคชาตต้องดึงหนังหุ้ม รูดให้สุดเสียก่อน
  2. บีบปลายกะเปาะไล่ลม แล้วสวมลงบนองคชาต โดยให้ด้านที่มีขอบม้วนอยู่ด้านนอก รูดลงมาจนถึงโคน กรณีที่ใส่ผิดด้าน จะทำให้ไม่สามารถรูดถุงยางอนามัยจนถึงโคนได้ควรทิ้งถุงยางอนามัยนั้นไปเลย
  3. เมื่อเสร็จการร่วมเพศ ค่อย ๆ ใช้กระดาษทิชชูรูดถุงยางออกจากองคชาตในขณะที่ยังแข็งตัวมิฉะนั้นถุงยางอาจจะหลุดอยู่ในช่องคลอดได้ และล้างอวัยวะเพศทันที

 

การใส่ถุุงยาง

https://careguru.in

 

ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย

  1. ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ดี เพราะมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ หากเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน โดยทั่วไปหากผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 100 คน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันเป็นเวลา1 ปี พบว่า 80 – 90 คน จะตั้งครรภ์หากใช้ถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายอย่างถูกต้อง พบว่าเพียง 2 จาก 100 คน จะตั้งครรภ์ แต่หากใช้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง จะมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 15 จาก 100 คน สำหรับถุงยางอนามัยที่ออกแบบเพื่อเพิ่มความสุขในขณะมีเพศสัมพันธ์ เช่น มีตัวตุ๊กตา รอยตะปุ่มตะป่ำขนาดใหญ่ พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
  2. ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ได้ เช่น โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หนองในเทียม หนองในแท้ พยาธิในช่องคลอด ซิฟิลิส แต่ป้องกันโรคที่ติดจากการสัมผัสหรือความใกล้ชิดได้ไม่ดีนัก เช่น โลน หิด เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก  เป็นต้น

 

ปัญหาที่พบบ่อยจากการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง

สำหรับปัญหาที่พบบ่อยจากการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง จนทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง ได้แก่

  1. ใช้สารหล่อลื่นไม่ถูกต้อง ทำให้ถุงยางแตกหรือลื่นหลุด เช่น การใช้สารหล่อลื่นชนิดละลายในน้ำมันกับถุงยางอนามัยที่ทำจากยางลาเท็กซ์ทำให้แตกง่าย
  2. ไม่ใช้ถุงยางอนามัยใหม่แกะกล่อง
  3. ใช้ถุงยางเพียงครั้งแรกเท่านั้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์ต่อไปไม่ได้ใช้ถุงยาง
  4. ใช้ถุงยางอนามัยที่เสื่อมสภาพอย่างเห็นได้ชัด
  5. มึนเมาสุราหรือสารเสพติด จึงตัดสินใจถอดถุงยางทิ้งกลางคัน
  6. แกะถุงยางอนามัยออกมาเล่น ก่อนมีเพศสัมพันธ์
  7. ใส่ถุงยางผิดด้านแล้วนำกลับมาใช้ใหม่

ดังนั้น หัวใจสำคัญในเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยจึงมีสองประการ คือ ต้องใช้ทุกครั้งและใช้อย่างถูกต้อง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th  www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก : www.bangkokbiznews.com  www.careguru.in


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก