ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

แบ่งตามลักษณะการใช้

  • ชนิดฉีด
  • ชนิดกิน

 

แบ่งตามลักษณะของ antigen

  • ชนิดเชื้อตาย (killed vaccine)
  • ชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine)

 

วัคซีนชนิดเชื้อตาย (killed vaccine) อาจแบ่งออกได้เป็น

  • Whole-cell vaccine เช่น วัคซีนไทฟอยด์ วัคซีนอหิวาต์ และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
  • Subunit vaccine การนำเอาชิ้นส่วนของจุลชีพมาใช้ทำวัคซีน เช่น
    • ผลิต Antigen โดย extract จากเชื้อจุลชีพโดยตรง เช่น Plasma-derived hepatitis B vaccine
    • ผลิต antigen โดยวิธี recombinant DNA technology เช่น Yeast-derived hepatitis B vaccine
    • สังเคราะห์ antigen ในหลอดทดลอง (peptide synthetic vaccine)
  • Killed whole cell-subunit vaccine เช่น Oral B subunit-whole cell cholera vaccine
  • Toxoid ผลิตจาก toxin ของแบคทีเรีย เช่น tetanus toxoid และ diphtheria toxoid
  • Anti-idiotypic vaccine โดยนำ antigen ไปฉีดกระตุ้นให้มีการสร้าง antibody จากนั้นนำ antibody (Ab1) ฉีดเข้าสัตว์ทดลองอีกครั้ง สัตว์ทดลองจะสร้าง anti-idiotypic antibody (Ab2) ซึ่งจะมีลักษณะภายใน (internal image) เลียนแบบคล้ายเป็น antigen ตัวเริ่มต้น (antigen-mimic) นำไปผลิตเป็นวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพก่อโรคต้นกำเนิดได้ วัคซีนชนิดนี้อยู่ในขั้นศึกษาทดลอง
  • Nucleic acid vaccine ปัจจุบันมีการศึกษาในสัตว์ทดลอง นำ DNA ที่มี gene ของเชื้อโรคที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิด protective antibody ฉีดเข้าไปใน host cell เพื่อให้มีการสร้างโปรตีนที่ต้องการขึ้นในร่างกาย และเป็น antigen กระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้น จากการศึกษาในสัตว์ พบว่า nucleic acid vaccine สามารถนำเข้าสู่ host ได้หลายวิธี เช่น นำ DNA มา coat บน gold particles เล็ก ๆ และยิงเข้าสู่ skin cell โดยใช้ special DNA gun หรืออาจทำได้โดยการเชื่อม DNA เข้ากับสารไขมันที่เรียกว่า cationic lipids เข้าสู่ host โดยการพ่นในรูป aerosol ทางจมูก หรือคอ

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พัฒนาการผลิตวัคซีนในรูปของผักผลไม้ ซึ่งจะเป็นการให้วัคซีน โดยการรับประทาน (oral immunization) โดยอาศัยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม และ transgenic plants เช่น ต้นยาสูบและมันฝรั่ง ผักผลไม้ที่มี protein antigen สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ ได้ วัคซีนที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาทด ลองใช้กับวิธีดังกล่าว ได้แก่ hepatitis B vaccine และ cholera vaccine เป็นต้น

 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine)

วัคซีนประเภทนี้ทั้งหมดเป็น whole cell vaccine ผลิตโดยนำจุลชีพจากธรรมชาติที่ยังมีฤทธิ์ก่อให้เกิดโรค มาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือลดความรุนแรงลง แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ วิธีการทำให้จุลชีพอ่อนฤทธิ์ มีดังนี้

  1. การเพาะเลี้ยงไปเรื่อย ๆ จนจุลชีพอ่อนฤทธิ์
  2. การ treat จุลชีพด้วยสารเคมีบางชนิด
  3. การ treat ด้วยแสง UV
  4. การใช้ recombinant DNA tecnology เปลี่ยนแปลงสภาพ gene ฃองจุลชีพ

ปัจจุบันการผลิต live anttenuated vaccine ยังผลิตได้ในรูปของ hybrid vaccine โดยการ insert gene ที่สามารถ express antigen ของจุลชีพก่อโรคชนิดหนึ่งเข้าไปอยู่ในจุลชีพอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอ่อนฤทธิ์ลงแล้ว นำจุลชีพอ่อนฤทธิ์ที่มีการ insert gene มาผลิตเป็นวัคซีน เมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกายก็จะมีการสร้าง antigen ที่ควบคุมโดย gene ที่ insert กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพที่เป็นเจ้าของ gene

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2010).ประเภทวัคซีน.10 มิถุนายน 2558.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.healthimpactnews.com


-ที่นี่มีคำตอบ.jpg

วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความจำเป็นแค่ไหน ประเทศไทยพบโรคไข้หวัดใหญ่ ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน พบมากในฤดูฝนช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และฤดูหนาวช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม แต่พบได้ประปรายตลอดปี

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เหตุผลที่ควรฉีด

เหตุผลที่ควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่เสมอ ทำให้เกิดเชื้อใหม่ในสัตว์และในคนอยู่เป็นระยะ เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์และในคนที่มีอยู่เดิม อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น คงอยู่ไม่นานและมักจะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน หรือปี ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี จึงเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เหมาะสมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มาใหม่แต่ละปี และมีระดับที่สูงอยู่ตลอดเวลาสำหรับรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามาสู่ร่างกายของเรา

 

ชนิดของวัคซีน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จะประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ย่อยของเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ สายพันธุ์ A 2 subtypes (H1N1 และ H3N2) และสายพันธุ์ B 1 สายพันธุ์ย่อย โดยองค์การอนามัยโลกจะคัดเลือกสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่พบการระบาดหลายแห่งทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเชื้อต้นเหตุในปีถัดไปของซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ เพื่อเป็นข้อกำหนดให้ใช้ในการผลิตวัคซีนสำหรับปีถัดไป ในปัจจุบัน พบว่า มีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดที่มี 3 สายพันธุ์ย่อย (Trivalent Vaccine; TIV) และ 4 สายพันธุ์ย่อย (Quadrivalent Vaccine; QIV) ของ influenza virus ซึ่งคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกสำหรับปี พ.ศ. 2558 – 2559 มีดังนี้

  • สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มี 3 สายพันธุ์ย่อย (Trivalent Vaccine; TIV) ควรประกอบด้วย
    • InfluenzaA/California/7/2009 (H1N1) pdm 09-like virus;
    • InfluenzaA/Switzerland/9715293/2013 (H3N2)-like virus;
    • InfluenzaB/Phuket/3073/2013-like virus.

โดยการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ย่อย (Quadrivalent Vaccine; QIV) อาจมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อ Influenza B ชนิดที่เพิ่มขึ้นในวัคซีนนี้ และเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Influenza B และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

 

กลุ่มเป้าหมายที่แนะนำให้ฉีด

กลุ่มเป้าหมายที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 เข็ม ตามสายพันธุ์ที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ได้แก่

  1. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน หลังจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
  • บุคคลที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • บุคคลที่เข้ารับการบำบัดอยู่ใน nursing home และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรัง
  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคระบบหัวใจไหลเวียน รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคหอบหืดด้วย
  • ผู้ใหญ่ หรือเด็กที่ต้องเข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำด้วยโรคเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกัน
  • เด็ก หรือวัยรุ่น(6 เดือน – 18 ปี) ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพรินเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น Reye’s Syndrome หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
  1. กลุ่มที่อาจแพร่โรคไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูง
  • แพทย์-พยาบาล บุคลากรอื่น ๆ ในโรงพยาบาล
  • เจ้าหน้าที่ใน nursing home และสถานที่บำบัดผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • บุคคลที่เข้าพักอยู่ในบ้านเดียวกันกับคนที่มีความเสี่ยงสูง
  1. กลุ่มอื่น ๆ

ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีดเพื่อป้องกันการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยคนที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดบวมบริเวณที่มีการฉีดวัคซีน แต่อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง และสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 1 – 2 วัน สำหรับบุคคลที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่แบบรุนแรง เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผลิตจากไข่ไก่ฟัก และผู้ที่มีไข้สูง หรือมีอาการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน ควรรอให้อาการไข้ลดลงก่อนแล้วจึงไปเข้ารับการฉีดวัคซีน

 

ผู้เขียน: อาจารย์ จันทนา ห่วงสายทอง
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แหล่งที่มา: www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/staff/jantana.ho


active-passive-immunity.jpg

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทำได้ 2 แบบ คือ แบบ active (กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง) และแบบ passive (ให้ภูมิคุ้มกันของคน หรือสัตว์ที่เกิดขึ้นแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแบบ active ได้แก่ การให้วัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ท็อกซอยด์ (toxoid)

ใช้ป้องกันโรคที่เกิดขึ้นเป็นผลจากพิษ หรือท็อกซินของแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากตัวแบคทีเรียโดยตรง เช่น โรคคอตีบ หรือโรคบาดทะยัก ทำได้โดยทำให้พิษของแบคทีเรียหมดไป แต่ความสามารถให้การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันยังมีอยู่ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

โดยทั่วไปเมื่อฉีดพวกนี้เข้าไปจะไม่มีไข้ หรือปฏิกิริยาเฉพาะที่ นอกจากเคยฉีดมาแล้วหลายครั้ง หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีเช่นนี้อาจเกิดปฏิกิริยาอิมมูนบริเวณที่ฉีด ทำให้มีอาการบวมแดง เจ็บบริเวณที่ฉีด และมีไข้ได้

 

กลุ่มที่ 2 วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated หรือ killed vaccine)

  • ทำจากแบคทีเรีย หรือไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว (whole cell vaccine) พวกที่ทำจากเชื้อแบคทีเรียมักเกิดจากปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด บางครั้งอาจมีไข้ด้วย อาการมักจะเริ่มเกิดหลังฉีด 3 – 4 ชั่วโมง และจะมีอยู่ประมาณ 1 วัน บางครั้งอาจมีปฏิกิริยาอยู่นานถึง 3 วัน ตัวอย่างของวัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดเอ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ วัคซีนพวกนี้มักจะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ห้ามเก็บในตู้แช่แข็ง เพราะจะทำให้แอนติเจนเสื่อมคุณภาพ
  • ใช้เฉพาะส่วนของแบคทีเรีย หรือไวรัสที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้นมาทำเป็นวัคซีน (subunit vaccine) เช่น วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี วัคซีนป้องกัน  โรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type b) วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular pertussis vaccine) วัคซีนป้องกัน ไทฟอยด์ชนิดวีไอ (Vi vaccine)

 

กลุ่มที่ 3 วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live attenuated vaccine)

เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนสำหรับไวรัส ส่วนวัคซีนสำหรับแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลาย ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) วัคซีนป้องก้นโรคไข้ไทฟอยด์ชนิดกิน ส่วนวัคซีนสำหรับไวรัสที่ใช้ในประเทศไทย คือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคสุกใส วัคซีนในกลุ่มนี้เมื่อให้เข้าไปในร่างกายแล้ว จะยังไม่มีปฏกิริยาทันที จะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเริ่มมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด จะมีอาการไข้ประมาณ วันที่ 5 ถึงวันที่ 12 หลังฉีด วัคซีนในกลุ่มนี้จะต้องเก็บไว้ให้ดีเป็นพิเศษ เพราะถ้าเชื้อตายการให้วัคซีนจะไม่ได้ผล นอกจากนี้ ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง เช่น ได้รับอิมมูโนโกลบุลิน หรือเดิมที่เรียกกันว่า แกมมาโกลบุลิน อาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของวัคซีน การให้วัคซีนในกลุ่มนี้จะต้องระวัง ถ้าให้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ หรือผู้ที่ได้รับยา หรือสารกดภูมิคุ้มกันอยู่ อาจมีอันตรายได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2009).การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค.24 มีนาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.psychcentral.com


vaccine-1.jpg

คุณผู้อ่านอาจคุ้นหูกับคำว่าวัคซีนกับเซรุ่มกันมาบ้าง แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกสับสนกับความหมายของคำสองคำนี้ วันนี้เรามาคุยกันถึงคำ 2 คำนี้กันครับ

 

วัคซีน (Vaccine)

เป็นยาชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่เป็นอันตราย ใช้สำหรับฉีด หรือกิน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อนั้น ๆ เช่น วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคคอตีบ ก็ประกอบด้วยเชื้อคอตีบ (ซึ่งเป็นแบคทีเรีย) ที่ตายแล้ว เมื่อเอามาฉีดให้เด็กขณะที่ยังแข็งแรงดี ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคคอตีบ ต่อมาถ้าหากเด็กคนนี้อยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคคอตีบ แม้จะรับเชื้อเข้ามา ก็มีภูมิคุ้มกันคอยช่วยทำลายเชื้อคอตีบที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาได้ ก็จะไม่เกิดเป็นโรคคอตีบ

เปรียบเสมือนการซ้อมรบของกองทหาร คือ เอาศัตรูปลอม ๆ (เทียบได้กับวัคซีน) ทำทีว่าเข้ามารุกรานประเทศของเรา เพื่อให้ทหารหาญของเรา (เทียบได้กับเม็ดเลือดขาว และกลไกการสร้างภูมิคุ้มกัน) เกิดความตื่นตัว และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับศัตรู เมื่อเกิดมีศัตรูจริง (เทียบได้กับภูมิคุ้มกัน) เข้ามา ทหารหาญของเราที่เตรียมพร้อม (ภูมิคุ้มกันโรค) ก็จะทำลายศัตรูได้ฉับพลันทันที ในปัจจุบันมีโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น วัณโรค ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไทฟอยด์ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี สมองอักเสบ เป็นต้น

 

เซรุ่ม (Serum)

เป็นของเหลวสีเหลืองใส ที่สกัดจากเลือดม้า หรือเลือดคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว (ซึ่งเตรียมขึ้นโดยการฉีดเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือมีฤทธิ์อ่อนเข้าไปในม้า หรือคน เพื่อกระตุ้นให้ม้า หรือคนนั้นสร้างภูมิคุ้มกันโรค แล้วก็เอาเลือดของม้าหรือคนนั้นมาสกัดอีกที)

การฉีดเซรุ่มเข้าไปในคน ก็เท่ากับเอาภูมิคุ้มกันโรคจากม้า หรือคนมาใช้แทนร่างกายของเรา ในการทำลายเชื้อโรค จึงมักจะฉีดหลังจากที่ร่างกายติดเชื้อโรคชนิดหนึ่งชนิดใดเข้าไปแล้ว

เปรียบเสมือนประเทศที่ถูกข้าศึกรุกราน (เทียบได้กับการติดเชื้อ) แล้วขอร้องให้กองทัพพันธมิตร (เปรียบได้กับเซรุ่ม) เข้ามาช่วยทำลายข้าศึก (เชื้อโรค) นั่นเอง โรคที่สามารถใช้เซรุ่มช่วยในการรักษา เช่น บาดทะยัก คอตีบ พิษสุนัขบ้า พิษงู เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป

วัคซีน เป็นเชื้อโรคที่ไม่มีพิษ ฉีด หรือกินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมาเอง จะให้เมื่อร่างกายแข็งแรง (ยังไม่ได้รับเชื้อ หรือได้รับเชื้อในระยะแรก) และต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะอยู่คงทนถาวรตลอดไป

เซรุ่ม เป็นภูมิคุ้มกันโรคที่ได้โดยตรงจากเลือดของสัตว์ หรือคนอื่น ๆ ฉีดให้ร่างกายหลังจากติดเชื้อในระยะที่อาจเป็นอันตราย ได้ผลทันทีต่อการต่อสู้กับเชื้อโรค แต่จะอยู่ได้เพียงระยะสั้น ๆ ก็สลายตัวไป มักจะใช้กับคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนต่อโรคนั้น ๆ มาก่อน

ข้อเสียของเซรุ่ม คือ ทำให้ร่างกายแพ้ยา ซึ่งอาจรุนแรงถึงตายได้ เพราะเป็นเลือดของสัตว์ หรือคนอื่น ส่วนวัคซีนไม่ทำให้เกิดการแพ้ที่เป็นอันตราย โดยแพทย์จะเลือกใช้วัคซีนสำหรับการป้องกันโรคในระยะยาว และใช้เซรุ่มสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อที่อยู่ในระยะที่อาจเป็นอันตราย

ถ้าไม่อยากเสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม ก็ควรรีบหาทางฉีดวัคซีนเสียแต่เนิ่น ๆ กันเถอะครับ!

 

ข้อมูลจาก: ภาษิต ประชาเวช. นิตยสารหมอชาวบ้าน. 2529. “วัคซีน/เซรุ่ม”. (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา: www.doctor.or.th


.jpg

ปัจจุบันวิธีการผลิตวัคซีนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อาจแบ่งวิธีการผลิตตามเทคโนโลยีการผลิต antigen ได้เป็น 4 วิธี คือ

 

1. First generation vaccine production

เป็นการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม (conventional method) ที่ใช้การผลิตวัคซีนทั่ว ๆ ไป ได้แก่

  • Killed vaccine หรือ Inactivated vaccine Antigen ได้จากการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคมาทำให้ตาย เช่น วัคซีนไทฟอยด์ อหิวาต์ ไอกรน โรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด เป็นต้น
  • Live attenuated vaccine Antigen ได้จากการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค มาทำให้อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน และวัคซีนไข้เหลือง เป็นต้น
  • Toxoid Antigen ได้จากการทำให้ toxin ที่ตัวเชื้อก่อโรคสร้างขึ้นหมดความเป็นพิษลง เช่น ท๊อกซอยด์บาดทะยัก และท๊อกซอยด์คอตีบ เป็นต้น
  • Subunit Vaccine Antigen ได้จากการแยกชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรคตามธรรมชาติ เช่น plasma-derived hepatitis B vaccine ได้จากการนำส่วน HBsAg ของ hepatitis B virus หรือการนำส่วน polysaccharide ของเชื้อ meningococcus และเชื้อ pneumococcus มาผลิตเป็น meningococcal vaccine และ pneumococcal vaccine

 

2. Second generation vaccine production Antigen

เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งได้จากการผลิตในสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยความรู้ด้าน molecular biology และ recombinant DNA tecnology เช่น yeast-derived recombinant hepatitis B vaccine

 

3. Third generation vaccine production

Antigen เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งผลิตในหลอดทดลอง โดยขบวนการทางเคมีและฟิสิกส์ วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

 

4. Forth generation vaccine production Antigen

เป็น DNA ของเชื้อโรคที่ควบคุมการสร้างโปรตีน ที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เรียกวัคซีนประเภทนี้ว่า nucleic acid vaccine หรือ DNA vaccine วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2009).เทคโนโลยีการผลิตวัคซีน.22 ธันวาคม 2557.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.thaicancerj.wordpress.com


-ร้ายแรง-แต่ป้องกันได้.jpg

“โรคพิษสุนัขบ้า” “โรคกลัวน้ำ” หรือ “โรคหมาว้อ” (ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว 

 

“หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัด ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน”

 

เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง หากเชื้อเข้าสู่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลัง แล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด

ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2 – 8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า  1  ปี  โดยระยะฟักตัวจะสั้น หรือยาว ขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ  หรือมือ อีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และการล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก

ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้นมีอัตราการเสียชีวิต 100% แต่อย่างไรก็ดี โรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

 

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ได้จากการนำเชื้อ Rabies virus ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยวิธีการเฉพาะ ซึ่งเชื้อจะถูกทำให้ตาย ก่อนที่จะนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM) และฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal; ID)

 

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด

  • Lyssavac N® (Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine; PDEV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (embryonated duck eggs) แนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้น มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาว ขุ่นเล็กน้อย เนื่องจากมี Thimerosal เป็นสารกันเสีย ปริมาตรรวม 1 ml
  • SII Rabivax® (Human Diploid Cell Rabies Vaccine; HDCV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน human diploid cell แนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้น มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส สีชมพู ปริมาตรรวม 1 ml
  • Rabipur® (Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine; PCECV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน primary chick embryo fibroblast cell สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 ml
  • Verorab® (Purified Vero Cell Rabies Vaccine; PVRV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน Vero cells สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำเกลือสำหรับทำละลาย (solution of sodium chloride 0.4%) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 0.5 ml

วัคซีนทั้ง 4 ชนิดมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งจะมีความปลอดภัยและมีความบริสุทธิ์มากกว่าวัคซีนแบบเก่า ที่ผลิตจากการนำเชื้อ Rabies virus จากสมองสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาใช้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้แล้ว

 

ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร

ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงทั้ง 4 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย มีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่โอกาสในการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็ยังมีอยู่ หากได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก หรือถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสเชื้อ จะมีประสิทธิผลที่ดีกว่าการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสเชื้อ

ผลข้างเคียงของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงเกิดขึ้นได้น้อย และไม่รุนแรงเหมือนวัคซีนที่ทำจากสมองสัตว์ ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบเซลล์เพาะเลี้ยงที่พบการรายงาน ได้แก่ ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด แดง ร้อน คัน หรือปฏิกิริยาทั่วไป เช่น ไข้ ปวด อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายเองเมื่อได้รับการรักษาตามอาการ ส่วนในเรื่องของการแพ้วัคซีนรุนแรงนั้นยังไม่พบการรายงานแต่อย่างใด พบแต่เพียงรายงานการเกิด serum sickness ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ข้ออักเสบ ปวดข้อ และพบผื่นที่ผิวหนัง  นอกจากนี้ ยังพบรายงานการเกิดลมพิษที่ไม่รุนแรง จากการได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำบ่อย ๆ ได้เช่นกัน

 

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์ (Prophylaxis) มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่นกัน

การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้น อีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ : วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)

การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์  จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้

  1. ไม่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนังไม่มีแผล หรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลาย หรือเลือด (ยกเว้น น้ำลาย หรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปาก จะต้องรับการฉีดวัคซีน)
  2. ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่
  • ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก
  • ถูกเลีย หรือน้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอก หรือมีแผล
  • ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออก หรือออกซิบ ๆ
  • ถูกกัด หรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียว หรือหลายแผล) และมีเลือดออก
  • มีน้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละ หรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูก หรือแผลตามผิวหนังในการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้น สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐบาลที่ใกล้ที่สุด (ที่ใดก็ได้) ทันที จนครบทุกเข็มโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

ในกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนหลังสัมผัสสัตว์ จะพิจารณาจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนตามประวัติของการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

  • ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย หรือเคยฉีดมาแล้วแต่น้อยกว่า 3 เข็ม
    • ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด 5 ครั้ง ครั้งละ 1 โด๊ส* ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือ 3 ครั้งในวันที่ 0, 7 และ 28 โดยวันที่ 0 จะได้รับการฉีด 2 โด๊ส* และอีกสองครั้งที่เหลือฉีดครั้งละ 1 โด๊ส*
    • ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้าในผิวหนัง บริเวณต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด 4 ครั้งในวันที่ 0, 3, 7  และ 28 โดยแต่ละครั้งจะต้องฉีด 2 จุด จุดละ 0.1 มล. (ต้นแขนด้านซ้าย และขวา) หรือ 5 ครั้งในวันที่ 0, 3, 7, 28 และ 90 โดยสามครั้งแรกฉีดครั้งละ 2 จุด  และสองครั้งที่เหลือฉีดอีกครั้งละ 1 จุด จุดละ 0.1 มล. หรือ 4 ครั้งในวันที่ 0, 7, 28 และ 90โดยครั้งแรกฉีดทั้งหมด 8 จุด ครั้งที่สอง 4 จุด และสองครั้งที่เหลืออีกครั้งละ 1 จุด จุดละ 0.1 มล.

*  หมายเหตุ: 1 โด๊ส จะใช้วัคซีนปริมาตร 1 ml สำหรับ HDCV, PCECV และ PDEV หรือ 0.5 ml สำหรับ PVRV

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 0 เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

สำหรับอิมมูโนโกลบุลิน เป็นโปรตีนในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อิมมูโนโกลบุลินสามารถผลิตได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ม้า (Equine Rabies Immunoglobulin; ERIG) หรือคน (Human Rabies Immunoglobulin; HRIG) และฉีดกระตุ้นจนกระทั่งมีแอนติบอดีอยู่ในระดับสูงพอ จึงเจาะเลือดมาแยกซีรั่มผลิตเป็นอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากม้าจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากคน

ส่วนผู้ที่ถูกน้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ กระเด็นเข้าสู่เยื่อบุตา ปาก จมูก หรือแผลตามผิวหนัง และผู้ชำแหละซากสัตว์หรือลอกหนังสัตว์จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาว่าจะต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินหรือไม่ ตามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นราย ๆ ไป

  • เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้ว)

ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน หรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกัน ในวันที่ 0 และ 3โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

  • เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาไม่เกิน 6 เดือน)

ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน หรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันเพียงครั้งเดียว ในวันที่ 0 เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

 

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่น ๆ กัด

เมื่อถูกสัตว์ข่วน หรือกัด โดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบปฐมพยาบาล และปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ล้างแผลทันทีด้วยน้ำ และฟอกด้วยสบู่หลาย ๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใด ๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบ หรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
  • เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (Povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ ไม่ควรปิดปากแผล ยกเว้นว่าเลือดออกมาก หรือแผลใหญ่มาก
  • ไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือเร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีน หรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม
  • กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคน หรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไป ให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  • หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้

วิธีการส่งซากสัตว์และสถานที่สำหรับส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของกองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์

 

ลืมมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายไปเป็นอะไรไหม

การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดี หากลืม หรือไม่สามารถมาตามกำหนดวันนัดหมาย ก็ควรรีบมารับการฉีดวัคซีนต่อจนครบให้เร็วที่สุด (ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดไป 2 – 3 วัน จะไม่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าช้าเกินกว่านี้ยังไม่พบข้อมูลการรับรองประสิทธิภาพ)

 

หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่  

หญิงตั้งครรภ์ ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย และอิมมูโนโกลบุลินก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน

 

 สามารถเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีน หรือเปลี่ยนวิธีการฉีดได้หรือไม่

วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ มีคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยใกล้เคียงกัน ในการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกยี่ห้อ แต่ชนิดที่ฉีดเข้าในผิวหนังนั้น อาจต้องระมัดระวัง เนื่องจากบางยี่ห้อไม่แนะนำให้ฉีดเข้าในผิวหนัง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยควรมีสมุดบันทึกการฉีดวัคซีน ที่ระบุทั้งชื่อยี่ห้อวัคซีน และวิธีฉีดวัคซีนไว้ด้วยเสมอ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดวิธีเดียวกันตลอดจนครบชุด ไม่ควรเปลี่ยนวิธีการฉีดสลับไปมา

 

บรรณานุกรม
• สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. คู่มือวัคซีน 2008. กรุงเทพมหานคร:ธนาเพรส; 2550.
• กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์. โรคพิษสุนัขบ้า.[Online]. [cited 2010 Mar 23]

 

บทความ: คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แหล่งที่มา: www.pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก: www.northhillanimalhospital.com

 


-1.jpg

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น เป็นวัคซีนเฉพาะที่ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป แต่เป็นวัคซีนที่สำคัญสำหรับบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป กลุ่มผู้แสวงบุญที่จะไปประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกาบางประเทศ

 

ข้อมูลโรคไข้กาฬหลังแอ่น

  1. โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก เชื้อก่อโรค คือ เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Neisseria meningitidis ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือเกิดการแพร่กระจายลุกลามในกระแสโลหิต (Meningococcemia) และทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
  2. โรคนี้ติดต่อทางละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย หรือจากสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายจะเป็นพาหะ มีน้อยรายมากที่เชื้อจะลุกลามไปที่เยื่อหุ้มสมอง หรือกระแสโลหิต ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ประปราย ไม่พบการระบาดใหญ่ จากสถิติย้อนหลังพบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศไทย ปีละไม่เกิน 10 คน
  3. โรคนี้จะติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือคลุกคลีอยู่กันคนหมู่มาก อยู่รวม ๆ กัน เช่น นักเรียนนักศึกษาในหอพัก กลุ่มผู้แสวงบุญ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวนักเดินทางที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในประชากรกลุ่มดังกล่าว
  4. วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทย สามารถป้องกันโรคได้ 4 สายพันธุ์คือ A, C, Y, W-135 แต่ในประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สายพันธุ์ B ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ดังนั้น จึงยังไม่มีคำแนะนำให้การฉีดวัคซีนในคนไทยโดยทั่วไปในการป้องกันโรคนี้

 

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนนี้ มี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. นักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าไปพักในหอพัก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคนี้ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทำให้ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีข้อกำหนดเลยว่า นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าไปเรียนจะต้องได้รับวัคซีนดังกล่าวก่อนเข้าไป และจะต้องยื่นเอกสารว่าได้รับการฉีดวัคซีนนี้ด้วย นอกจากวัคซีนชนิดนี้แล้ว ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดเรื่องสุขภาพแตกต่างกัน เช่น ในบางมหาวิทยาลัยกำหนดว่าจะต้องได้รับวัคซีนหัดหัดเยอรมัน-คางทูม ด้วย หรือจะต้องทำการตรวจวัณโรคก่อนไป ฯลฯ แต่ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้บังคับไว้ ดังนั้น สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการมาตรวจสุขภาพ หรือมาฉีดวัคซีนก่อนไปเรียน ควรนำใบข้อกำหนดต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยมาให้แพทย์ดูด้วย จะได้พิจารณาเรื่องการตรวจต่าง ๆ และเรื่องวัคซีนไปในคราวเดียวกัน
  2. กลุ่มผู้แสวงบุญในพิธีฮัจจ์ และอุมเราะห์ เป็นข้อกำหนดของทางการประเทศซาอุดิอาระเบีย ว่าก่อนเข้าร่วมพิธีดังกล่าวจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น โดยจะต้องยื่นหลักฐานว่าเคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว เพื่อใช้ในการขอ visa เข้าประเทศ โดยจะต้องฉีดล่วงหน้าก่อนเดินทางไปอย่างน้อย 10 วัน แต่ไม่เกิน 3 ปี
  3. กลุ่มนักท่องเที่ยว/นักเดินทางที่จะไปในประเทศในเขต Meningitis belt ในแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศแกมเบีย บูร์กินาฟาโซ เซเนกัล กีนี ไล่ไปทางตะวันออกจนถึงประเทศเอธิโอเปีย หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องเข้าไปคลุกคลีกับคนพื้นที่มาก ๆ หากศึกษาเพิ่มเติมได้จากแผนที่ Meningitis belt จาก US CDC จะเห็นว่าประเทศในแถบนี้เคยมีการระบาดของโรคที่รุนแรง และมีอัตราการเกิดโรคสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าไปท่องเที่ยว หรือทำงานในประเทศดังกล่าว ควรได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง

วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทย เป็นชนิด tetravalent meningococcal polysaccharide vaccine มีชื่อการค้าว่า Menomune สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ คือ A, C, Y, W-135 ฉีดได้ในผู้ใหญ่ และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 7 – 10 วัน และฉีด 1 ครั้งภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ 3 – 5 ปี 

เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป จึงอาจหาได้ยาก และไม่มีในโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนสามารถติดต่อได้ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข

 

ข้อมูลจาก: thaitravelclinic.(2009).เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น. 14 กันยายน 2558.
แหล่งที่มา: www.thaitravelclinic.com
ภาพประกอบจาก: www.scitechdaily.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก