ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Insole-เพื่อสุขภาพ.jpg

แผ่นรองรองเท้า (Insole) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า แผ่นรองรองเท้าหรือ Insole นั้นคือ ส่วนประกอบของรองเท้าที่สัมผัสกับฝ่าเท้าของผู้สวมใส่โดยตรง หากซื้อรองเท้ามาจะอยู่ในส่วนของพื้นรองด้านในที่ส่วนใหญ่สามารถดึงออกได้ ซึ่งจะไม่ใช่พื้นรองเท้าชั้นกลางหรือ Midsole ที่แต่ละแบรนด์จะพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตัวเอง เช่น พื้นชั้นกลางแบบ Air sole, Lunar lon หรือ Boost เป็นต้น

ประเด็นก็คือว่า ฝ่าเท้าของแต่ละคนมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน หากแผ่นรองรองเท้าไม่เหมาะสมกับฝ่าเท้าผู้สวมใส่ โอกาสที่จะได้สัมผัสเทคโนโลยีที่แตกต่างกันของพื้นรองเท้าแต่ละแบรนด์ได้จริง ๆ ก็อาจเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับฝ่าเท้าภายหลังการสวมใส่ไประยะหนึ่งได้ เช่น ปวด ตึง บวมหรืออักเสบ ส้นเท้า ฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวาย นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป รองช้ำ เป็นต้น จนถึงขั้นอุบัติเหตุขณะใช้งาน

 

ฝ่าเท้าคนมีกี่แบบ แบบไหนบ้างที่ควรใส่แผ่นรองรองเท้า หากไม่ใช้แผ่นรองมีข้อเสียอย่างไร

แยกตามประเภทของอุ้งเท้าได้เป็น 3 ประเภทหลัก อุ้งเท้าสูง (High arch) อุ้งเท้าปกติ (Normal arch) และอุ้งเท้าแบน (Flat arch) ทั้ง 3 แบบต้องเลือกใช้แผ่นรองที่แตกต่างกัน โดยปัญหาหลัก ๆ จะอยู่กับคนที่อุ้งเท้าแบน กับอุ้งเท้าสูง

ประเภทของอุ้งเท้า

ภาพจาก : www.luckyonegroup.net

 

ในรายที่อุ้งเท้าแบน หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาคือ เจ็บอุ้งเท้า ส้นเท้า ฝ่าเท้าด้านในบวม อาจกดเจ็บ ฝ่าเท้าแข็ง รู้สึกชา ปวดเอ็นร้อยหวาย น่อง ขา เคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก บางรายมีอาการเจ็บหลัง

ในรายที่อุ้งเท้าสูง หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาคือ เจ็บฝ่าเท้าด้านหน้า ส้นเท้าซึ่งต้องรับน้ำหนักแทนส่วนกลางของอุ้งเท้า ข้อเท้าผิดรูป ข้อเท้าพลิกง่าย ข้อเท้าเสื่อม เป็นต้น

แผ่นรองรองเท้า ถือเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นสำหรับคนที่มีฝ่าเท้าแบนและฝ่าเท้าสูง ทุกคนสามารถตรวจเช็กฝ่าเท้า และเลือกแผ่นรองรองเท้าที่เหมาะสมได้เลย

 

แผ่นรองรองเท้า (Insole) มีกี่ประเภท ใครเหมาะกับแบบไหน

แบ่งกว้าง ๆ ให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้สวมใส่ ได้ 2 แบบ คือ

  • แผ่นรองรองเท้าแบบทั่วไป เน้นประโยชน์ในการเพิ่มความหนาให้กับพื้นรองเท้าเดิม เพื่อซับแรงและให้สวมใส่ได้กระชับเท้ามากขึ้น ทั้งนี้รองเท้าเดิมอาจใส่มานานจนพื้นบางลง หรือเสริมพื้นรองเท้าใหม่ให้กระชับมากขึ้น โดยทั่วไปปรับใช้ได้กับรองเท้าหลายประเภทที่มีรูปทรงใกล้กัน
  • แผ่นรองรองเท้าเพื่อช่วยแก้หรือบรรเทาอาการจากความผิดปกติของฝ่าเท้า กรณีนี้จะคล้ายกับอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ โดยต้องมีการตรวจเช็กความผิดปกติของฝ่าเท้า และเลือกแผ่นรองรองเท้าที่ช่วยแก้ความผิดปกติดังกล่าว โดยบางรายอาจต้องรักษาอาการผิดปกติกับแพทย์ด้วยแผ่นรองเท้าประเภทนี้ แบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ
    • แบบสำเร็จรูป แผ่นรองแบบนี้จะทำมาสำเร็จรูป โดยปรับองศาส้นเท้า กลางเท้า ปลายเท้า ให้เป็นไปตามอุดมคติของสรีระเท้า โดยมักจะทำการเสริมอุ้งเท้าขึ้นมา ซึ่งเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหาเท้ามาก รวม ๆ แล้วจะช่วยปรับสมดุลของแรงกระแทก ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการต่าง ๆ จากความผิดปกติของฝ่าเท้าได้
    • แบบทำเฉพาะคน แผ่นรองแบบนี้ มักมีแพทย์เป็นผู้ดูแล สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของฝ่าเท้าอย่างชัดเจน และต้องแก้ไข ซึ่งมีทั้งแบบใช้การหล่อและไม่หล่อฝ่าเท้า แต่จะได้แผ่นรองที่ใช้งานได้ตามสรีระของแต่ละคน.
      สำหรับแผ่นรองรองเท้าเฉพาะคน ยังมีแบบที่ทำสำหรับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน รูมาตอยด์ ผู้ที่กระดูกผิดรูป ซึ่งมีปัญหาเรื่องการกดทับ ทำให้ต้องใช้แผ่นรองที่นุ่ม ยืดขยาย ตามขนาดของเท้า เพื่อลดแรงกด ลดอาการปวด ได้

ลักษณะเท้า 2

ภาพจาก : www.amazon.com

 

แผ่นรองรองเท้าที่ซื้อสำเร็จรูปตามร้านขายทั่วไป เป็นแบบไหน ทำไมราคาแตกต่างกันมาก

เบื้องต้น ถ้าเป็นแผ่นรองที่ติดมากับรองเท้าที่ซื้อ หรือแผ่นรองสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านขายทั่วไป มักจะเป็นแผ่นรองรองเท้าแบบทั่วไป ที่เน้นการเพิ่มความหนา ซับแรงกระแทกให้กับผู้สวมใส่ ราคาขายมักจะสูงต่ำตามประเภทของวัสดุ ความคงทนและแบรนด์สินค้า

และถ้าเป็นแผ่นรองรองเท้าแบบที่ช่วยแก้ปัญหาความผิดปกติของฝ่าเท้า จะต้องตรวจเช็กเท้าเพื่อตรวจสอบความผิดปกติ แล้วถึงดูรูปแบบของแผ่นรองรองเท้าที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ในกรณีที่ผิดปกติไม่มาก สามารถใช้แผ่นรองแบบสำเร็จรูป ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดของแต่ละแบรนด์  กรณีที่ฝ่าเท้าผิดปกติมากหรือสำหรับเท้าผู้ป่วย ควรใช้แบบที่ทำขึ้นเฉพาะคน และมักจะมีการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เฉพาะทาง

 

แผ่นรองรองเท้า (Insole) ใช้ได้กับรองเท้าทุกประเภทไหม

โดยทั่วไปแผ่นรองรองเท้า สามารถปรับใช้ได้กับรองเท้าที่มีพื้นลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น สามารถใช้กับรองเท้ากีฬา รองเท้าคัทชู รองเท้าเดินเล่นทั่วไป  ยกเว้นรองเท้าที่มีส้นหรือรองเท้าที่มีรูปทรงแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามบางแบรนด์อาจทำแยกเพื่อกิจกรรมหรือกีฬาแต่ละประเภท แนะนำให้แจ้งวัตถุประสงค์ และลักษณะในการใช้งาน เพื่อเลือกรูปแบบแผ่นรองที่สอดคล้องกับความต้องการให้มากที่สุด

ลักษณะเท้า 3

ภาพจาก : www.freepik.com

 

มีไหมที่วัดความผิดปกติฝ่าเท้าอย่างถูกต้อง แต่ซื้อแผ่นรองรองเท้าแบบปรับแก้อาการไปแล้ว ยังไม่ดีขึ้น

เบื้องต้น ต้องแน่ใจว่าแผ่นรองที่ซื้อนั้นเป็นแบบปรับแก้อาการฝ่าเท้าผิดปกติ ไม่ใช่แผ่นรองรองเท้าแบบทั่วไป สังเกตง่าย ๆ ต้องมีการตรวจเช็กฝ่าเท้าถึงความผิดปกติด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เมื่อมั่นใจและซื้อแผ่นรองที่ถูกต้องไปใช้งานจริง ในบางรายอาจยังไม่สบายเท้าเหมือนที่คิดไว้ หรือแก้ปัญหาไม่ได้ 100% กรณีนี้ต้องกลับไปยังร้านที่ซื้อ เพื่อตรวจสอบและอาจต้องมีการปรับแก้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแผ่นรองแบบปรับแก้อาการแต่ละแบรนด์อาจมีวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรซื้อจากร้านที่สามารถเป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาภายหลังการใช้งานในเบื้องต้นได้

 

วัสดุและเทคโนโลยีที่ใช้ทำแผ่นรองรองเท้ามีอะไรบ้าง  แต่ละแบบอายุการใช้งานนานแค่ไหน

ในเกรดปานกลางถึงสูง หรือแผ่นรองประเภทที่แก้อาการ แต่ละแบรนด์ก็จะใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป วัสดุพื้น ส้นเท้า ฝ่าเท้าอาจเป็นคนละแบบกันก็ได้ วัสดุหลัก ๆ ที่นิยมใช้ก็จะมีโฟม คาร์บอน โพลิเมอร์ ซิลิโคนเจล ไมโครไฟเบอร์ รูปแบบหรือเทคนิคก็แตกต่างกัน เช่น มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง  แบบมีผ้าไนล่อนหุ้มโครงพื้น แบบปรับระดับความสูงของส้นเท้า อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ เช่น ใช้วิ่ง ใช้ออกกำลังกาย หรือใช้เดินทั่วไป รวมถึงความถี่ในการใช้ แต่เบื้องต้น 1 – 2 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลด้วย

  

หลักในการเลือกซื้อแผ่นรองรองเท้าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

ตอบแบบกระชับเลย อันดับแรก ต้องรู้ก่อนว่าฝ่าเท้าเราเป็นแบบไหน มี 3 แบบเบื้องต้น มีอุ้งเท้าสูง อุ้งเท้าปกติ หรืออุ้งเท้าแบน ถามว่าจะรู้ได้อย่างไร แนะนำให้ไปหานักกายภาพบำบัดทั้งที่เป็นคลินิกหรือโรงพยาบาล หรือไปร้านที่ขายแผ่นรองรองเท้าที่มีเครื่องสแกนเท้า มีเครื่องวัดเท้าที่บอกได้ว่า ฝ่าเท้าเราเป็นแบบไหน

ลักษณะเท้า 4

ภาพจาก : www.freepik.com

 

ต่อมาก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ในการใช้ เช่น ใช้เดินทั่วไป ใช้เล่นกีฬา และถ้าสามารถลงลึกไปถึงกีฬาประเภทไหนด้วยจะดี เนื่องจากแผ่นรองรองเท้าบางแบรนด์มีแยกตามประเภทกีฬาอีก เช่น วิ่ง เตะฟุตบอล ขี่จักรยาน เป็นต้น เพราะแผ่นรองที่เหมาะกับกีฬาแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน พื้นคอร์ด พื้นหญ้า บันไดจักรยาน ถ้าเป็นไปได้ถือรองเท้ากีฬาที่จะใช้งาน หรือสเปคของรองเท้ารุ่นนั้นติดไปด้วยก็ได้ เพราะบางทีอาจต้องพิจารณาแผ่นรองประกอบกับพื้นจริง (Midsole) ของรองเท้าด้วย

มาถึงจุดที่เรารู้ประเภทเท้า วัตถุประสงค์ในการใช้ อาจจะเหลือไม่เกิน 3 แบรนด์ ก็ดูงบประมาณของเรา เทคโนโลยี ความทนทาน และบริการหลังการขาย  เช่น หากไปใส่แล้วมีปัญหามีทางเลือกในการปรับเสริมเติมแต่งอะไรได้บ้างไหม เป็นต้น

 

ฝากข้อแนะนำเรื่องการดูแลเท้าในชีวิตประจำวัน

ฝาก 3 ข้อ คือ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณเท้า เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันข้อต่อต่าง ๆ ยึด ด้วยการยืดเหยียดเท้าเป็นระยะ ไม่แช่หรือกดทับอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ นวดผ่อนคลายบ้างตามโอกาส สำหรับคนที่มีฝ่าเท้าผิดปกติมากควรปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือแพทย์เฉพาะทาง หากต้องเล่นกีฬาใดเป็นประจำควรเลือกประเภทรองเท้า รวมถึงพื้นรองรองเท้าให้สอดคล้องกันด้วย

 

แนะนำแผ่นรองรองเท้า CurrexSole

CurrexSole เราเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาความสมดุลของเท้า ช่วยลดการบาดเจ็บ โดยได้รับการยอมรับจากแพทย์และนักกายภาพบำบัดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้มีการจดสิทธิบัตรในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งมีเรื่องของ Auto fit heel cup, Triple layer, Dynamic arch technology, Metatarsal cushioning

ที่เมืองไทยเรามีรุ่น Runpro สำหรับกีฬาวิ่งและเดินในชีวิตประจำวัน รุ่น Bikepro สำหรับกีฬาปั่นจักรยาน รุ่น Activepro สำหรับกีฬาบอลทุกชนิด แบดมินตัน เทนนิส ฟิตเนส และรุ่น Edgepro สำหรับกีฬากอล์ฟ

 

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ คุณกิตติ์ธเนศ อัศวธนะสิริกุล Managing Director บริษัท ไซคลอลิค จำกัด
ติดต่อ Facebook : CurrexSoleThailand
แหล่งที่มา :
1. คู่มือดูแลสุขภาพเท้า กรมแพทย์ทหารเรือ
2. เท้าแบน ปัญหาของนักวิ่ง เว็บไซต์ www.samitivejhospitals.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com


12-ข้อง่ายๆ-ทำต่อเนื่องสุขภาพดีเลิศ.jpg

หลาย ๆ คนมองเห็นเพื่อน ๆ หรือคนที่มีสุขภาพดี ด้วยความชื่นชม และแน่นอนว่านั่นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เป็นแบบอย่างของคนรักสุขภาพ มาถึงคำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสเป็นคนสุขภาพดีถึงดีเลิศได้ มาดูเรื่องง่าย ๆ ที่คนมีสุขภาพดีส่วนใหญ่ทำกัน

 

1. ทานอาหารมื้อเช้าเป็นประจำ

การรับประทานอาหารเช้า จะช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายให้ทำงานได้ดีตลอดทั้งวัน มีผลการศึกษาที่ระบุว่า คนวัยทำงานที่ทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะทำงานได้คุณภาพดีตลอดทั้งวัน ขณะที่เด็กวัยเรียนที่ทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะสามารถทำคะแนนสอบได้ดีอีกด้วย

 

2. ต้องวางแผนการกิน

การวางแผนการกินว่าควรรับประทานอะไร ตอนไหน ที่ไหน เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการกินให้เป็นประโยชน์กับร่างกายต้องกินให้ถูกหลัก รู้ประเภทของสารอาหารที่ควรได้รับ เช่น ช่วงลดน้ำหนักต้องไม่เน้นแป้งไขมัน เปลี่ยนมาเป็นโปรตีนและวิตามินนอกจากนี้การวางแผนการกินยังช่วยให้คุณประหยัดเวลา และประหยัดเงินอีกด้วย

 

3. ดื่มน้ำเปล่าอยู่เสมอ อย่างน้อยต้องให้เพียงพอ

ดื่มน้ำเปล่าอยู่เสมอ ร่างกายปกติต้องการใช้น้ำในปริมาณหนึ่ง การดื่มน้ำให้เพียงพอจึงมีแต่ข้อดี รวมถึงการและช่วยลดความอ้วนอย่างไรก็ตามต้องเลี่ยงน้ำหวาน แต่ถ้าติดความหวานของน้ำ ก็ลองเติมผลไม้ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นส้ม แตงโม ในเครื่องดื่มแทน

 

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ

คนสุขภาพดี มักจะมีพฤติกรรมการออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเลิกงาน อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากใครยังไม่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยควรหาเวลายืดเส้นสายในระหว่างวัน เช่น จอดรถให้ห่างจากร้านอาหารเพื่อให้มีระยะทางเดิน ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ รวมถึงการเลือกทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อ ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าสมองตื่นตัวสดชื่นได้

 

5. ใช้โซเชียล มีเดียแต่พอดี

การติดโซเชียล มีเดีย ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ หลายๆประเทศ เช่น เกาหลีใต้จัดว่าเป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต ทางเลือกสำหรับคุณคือ วางโทรศัพท์มือถือ แล้วเปลี่ยนมาใช้เวลากับการเดินเล่น อ่านหนังสือเล่มโปรด หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพแทน

 

6. เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ควรเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสมองให้ยังคงดีอยู่เสมอ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร การหาเวลาเข้าอบรมทักษะต่างๆ เช่น การเขียนอย่างสร้างสรรค์ การถ่ายรูป การดูนก หรือฝึกเรียนภาษาใหม่ๆ ล้วนเป็นวิธีกระตุ้นให้สมองทำงาน และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้

 

7. ไม่สูบบุหรี่

คนสุขภาพดี ต้องไม่สูบบุหรี่ การตัดสินใจเลิกบุหรี่จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยร่างกายคนเราจะมีระบบซ่อมแซมที่รวดเร็ว สมมุติคุณสูบบุหรี่มวนสุดท้ายแล้วตัดใจเลิก ใน 20 นาทีต่อมา ร่างกายจะตอบสนองด้วยการมีอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตที่ดีขึ้นในทันที

 

8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับให้เพียงพอของแต่ละคน เป็นสิ่งจำเป็น นอกจากการช่วยเรื่องสมาธิและความจำที่ดีขึ้นแล้ว ในระยะยาวยังช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและช่วยให้สมองมีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วย

 

9. บริหารกล้ามเนื้อเป็นประจำ

คนสุขภาพดี มักจะมีเวลาในการเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายสมส่วน หัวใจทำงานแข็งแรง และมวลกระดูกหนาแน่นขึ้น

 

10. รับแสงแดดอยู่เสมอ

กิจกรรมกลางแจ้งที่เหมาะสม จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งมีประโยชน์ต่อกระดูก หัวใจและอารมณ์ มีผลศึกษาพบว่า การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ช่วยให้มีร่างกายและจิตใจที่สงบ ทำให้มีความสุขมากกว่าคนในเมือง ที่แวดล้อมไปด้วยตึกระฟ้า

 

11. รักษาสมดุลให้ร่างกาย

ไม่ว่าจะในวัยหนุ่มสาว หรือวัยผู้ใหญ่ คนสุขภาพดีมักจะมีกิจกรรมที่เป็นการฝึกฝนทักษะในการรักษาความสมดุลของร่างกาย อาทิ โยคะ ไทเก็ก ไทชิ ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บของร่างกายจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม กระดูกหัก อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นใจด้วย

 

12. มีสมาธิเพียงพอ

คนสุขภาพดีมักจะมีการฝึกสมาธิ หยุดแสงสีเสียงไว้ชั่วคราว มีผลศึกษาของการฝึกสมาธิว่า หากร่างกายได้ทำสมาธิติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองในส่วนของอารมณ์ การเรียนรู้ และความทรงจำที่ดีขึ้น ทั้งนี้ฝึกสมาธิไม่ได้จำกัดแค่การนั่งสมาธิ แต่หมายรวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความจดจ่อ ไม่เลื่อนลอย

 

การเป็นคนมีสุขภาพที่ดีไม่ใช่เรื่องยากเลย ทั้ง 12 ข้อข้างต้นล้วนแต่เป็นคำแนะนำให้มีกิจกรรมที่สามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตาม หากรักตัวเอง อย่าลืมดูแลตัวเอง ให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีเลิศอยู่ตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่ได้คือรางวัลชีวิต ร่างกายแข็งแรง สดใส ดูเยาว์วัย ห่างไกลโรคร้าย.

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.webmd.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com


-หลับยาก.jpg

หลาย ๆ คนรู้สึกว่าตัวเองตื่นนอนเร็วกว่าที่เคยเมื่อตอนยังหนุ่ม ยังสาวไหม บางคนตอบว่าเคย แต่ไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกหลายคนนอกจากการตื่นเร็วแล้ว ยังมีอาการปวดเมื่อย อ่อนล้าตามมา ยิ่งถ้าเป็นเรื้อรังปัญหายิ่งเพิ่มอีก

เป็นที่รับรู้กันว่าอายุที่มากขึ้น ร่างกายต้องการการนอนหลับน้อยลง แต่กระนั้นร่างกายก็ยังคงต้องการการนอนหลับ ระหว่าง 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน ในกรณีที่ระยะเวลาและคุณภาพการนอน ไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ แน่นอนว่าย่อมมีผลเสียตามมา เช่น มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการนอนไม่พอกับการดื้อต่ออินซูลิน รวมถึงการเสื่อมสภาพของสมองและปัญหาด้านความจำ

 

สาเหตุการนอนไม่หลับ……ที่เกี่ยวกับอายุ

การอดนอน นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ในผู้สูงอายุอาจเป็นผลมาจากปัจจัยหนึ่งหรือหลายอย่าง ได้แก่

ปัจจัยทางชีวภาพ (Biological)

วงจรนาฬิกาชีวภาพของร่างกายจะกำหนดเวลาหลับตื่นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละคน เมื่ออายุมากขึ้น พบว่ารูปแบบการนอนของเราจะเปลี่ยนไป โดยผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะง่วงนอนตั้งแต่เย็น นั่นหมายความว่าในรายที่ปกติซึ่งใช้เวลาในการนอนหลับ 7 – 8 ชั่วโมง พวกเขาจะต้องตื่นแต่เช้า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่มีผลมากในบางคน แต่มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง ที่การเปลี่ยนรูปแบบการนอนนี้ ทำให้พวกเขาสับสน ยุ่งเหยิง เกิดปัญหานอนไม่หลับ หลับยาก หากสะสมเป็นเวลานานจะเกิดผลเสียกับร่างกาย

ปัจจัยทางการแพทย์ (Medical)

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอน เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคข้ออักเสบ ปวดเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ซึ่งเป็นภาวะที่การหายใจเข้าออก ถูกขัดจังหวะอย่างต่อเนื่องในเวลากลางคืน หรือยาที่ใช้อยู่ เช่น ยาขับปัสสาวะเพื่อรักษาความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ที่กล่าวมาล้วนส่งผลต่อการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก เกิดอาการนอนไม่พอ เป็นต้น

ปัจจัยทางอารมณ์ (Emotional)

ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากสถานการณ์ต่างๆเช่น อยู่บ้านคนเดียว การเกษียณอายุ การสูญเสียเพื่อนสนิท ความท้าทายด้านการเงินหรือสุขภาพ ทั้งหมดสามารถทำให้นอนไม่หลับเลย แม้กระทั่งการกังวลเรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอ ก็ส่งผลให้นอนไม่หลับหรือหลับได้น้อยลง พูดชัด ๆ การเข้านอนขณะที่กำลังมีอะไรกลุ้มใจ กังวลใจ จะไม่เอื้อต่อการพักผ่อนที่ดี

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental)

การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม อาทิ การย้ายบ้าน การเดินทางเปลี่ยนสถานที่นอน หรืออยู่ในที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้คุณภาพการนอนลดลง

 

ปรับพฤติกรรม เอาชนะปัญหาการนอน

ถึงแม้ว่าเรื่องของอายุ คุณจะควบคุมไม่ได้ แต่มีบางเรื่องที่คุณสามารถปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงสุขภาพกายและสุขภาพใจ สถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับผู้สูงอายุ (National Institute on Aging) แนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังนี้

นอนให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย

ตรวจติดตามจังหวะดังกล่าวให้เจอ แล้วเข้าและตื่นนอนในเวลาที่สอดคล้องและเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่เว้นแม้วันหยุดสุดสัปดาห์ โดยถ้าจะงีบหลับ ขอให้ก่อนเวลานอนปกติอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการไม่ง่วง เมื่อถึงเวลานอนจริง

ฝึกให้เป็นกิจวัตรประจำวัน

ทำอะไรที่ผ่อนคลาย ก่อนนอนให้เป็นนิสัย เช่น แช่ในอ่างอาบน้ำ โดยหลีกเลี่ยงการดูทีวีก่อนเวลานอน เพราะแสงจากทีวีมีผลต่อระดับเมลาโทนิน ฮอร์โมนจากสมองที่ช่วยในการนอนหลับ

ปรับแต่งห้องนอน

ห้องนอนควรมีไว้ใช้ 2 เรื่องเท่านั้น คือ การนอนหลับและการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นห้องนอนควรมืด เย็นและเงียบสงบ โดยควรเอาทีวีออกจากห้องนอน

ออกกำลังกาย

ร่างกายที่กระฉับกระเฉงจะช่วยให้นอนหลับดีขึ้น แต่ไม่ออกกำลังกายในช่วง สามชั่วโมงก่อนนอน เพราะร่างกายคุณจะตื่นตัว หลับยาก

กินและดื่มให้เป็น

อาหารมื้อใหญ่ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ก่อนนอน จะทำให้คุณหลับยาก ของขบเคี้ยวเล็ก ๆ ก่อนนอนจะช่วยในการนอนหลับ ไม่แนะนำให้ดื่มมากๆในตอนเย็นหรือค่ำ เพราะจะเพิ่มโอกาสที่คุณต้องลุกไปเข้าห้องน้ำหลังจากนอน

 

การนอนหลับมีผลต่อร่างกายและอารมณ์ของเราอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลปัญหาเรื่องการนอนหลับอย่างจริงจัง หากมีปัญหาการนอน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่คุณติดต่อได้

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.everydayhealth.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


7-นิสัยเสีย-ไม่รีบแก้แก่ตัวสุขภาพแย่แน่นอน.jpg

การเกิดมามีครบ 32 ประการ ถือว่ามีต้นทุนชีวิตที่ดี แต่พฤติกรรมการดำเนินชีวิตผิด ๆ หรือเรียกให้ง่ายว่านิสัยเสียบางอย่างหากไม่รีบแก้ นอกจากจะทำให้ทุนชีวิตที่ดีหดหายหรือมีสุขภาพแย่ลงแล้ว ยังต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แล้วอาจกลับมาได้ไม่เหมือนเดิม ทีมงาน H2C ขอเชิญชวนเพื่อน ๆ ปรับแก้นิสัยเสียหลัก ๆ ที่อาจทำให้สุขภาพแย่ ตามเรื่องนี้ได้เลยค่ะ

 

หยุดทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว

พฤติกรรมหลายอย่างในการดำเนินชีวิตทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว เพื่อนหลายคนอาจคิดว่าร่างกายยังสบายดีอยู่ เช่น ดื่มน้ำเฉพาะเมื่อรู้สึกกระหาย โดยไม่ได้คิดว่าร่างกายต้องการน้ำอย่างต่ำวันละหลายลิตร หรือการนอนวันละ 5 – 6 ชั่วโมง เมื่อตื่นเช้ารู้สึกสมองช้า ไม่ตื่นตัว ก็ดื่มกาแฟเข้าไปกระตุ้นเพื่อให้รู้สึกไม่ง่วง หรือการไม่กินอาหารเช้า แล้วไปกินเพิ่มในมื้ออื่น ๆ ทั้งที่ร่างกายต้องการอาหารเช้าจากการที่ไม่ได้ทานอาหารมาเป็นเวลาเกือบ 8 ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งการไม่ออกกำลังกายเพราะคิดว่า ระหว่างการทำงานมีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ร่างกายต้องการการออกกำลังที่มีความหนักและยาวนานเพียงพอ เพื่อพัฒนาการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย การมีพฤติกรรมไม่ดีหรือนิสัยเสียบางอย่าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากไม่ได้รับการแก้ไข มาดูว่านิสัยเสียต่อสุขภาพหลัก ๆ มีอะไรบ้าง

 

7 นิสัยเสียหลัก ๆ ที่อาจทำให้ทุกคนมีสุขภาพแย่ลง

  • นิสัยเสียที่ 1 ไม่ให้ความสำคัญกับการกินให้ถูกโภชนาการ เมื่อพูดถึงการกินหลายๆคนมักจะนึกถึงสถานที่กิน อาหาร ของกินอร่อย ๆ เมนูขึ้นชื่อ โดยละเลยเรื่องของโภชนาการที่ถูกต้องไป นำไปสู่การมีสุขภาพที่แย่ มีสำนวนที่กล่าวว่า “You are what you eat” หรือ “กินอย่างไร ร่างกายก็เป็นอย่างนั้น” เป็นสิ่งที่จริง ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ใครที่ชอบกินข้าว แป้งหรือกับข้าวที่มีมันมาก ๆ ในแต่ละมื้อ อาหารเหล่านั้นจะมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันซึ่งให้พลังงานสูง และยิ่งบางคนไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ร่างกายใช้พลังงานน้อยกว่าที่ได้รับจากอาหาร ก็จะสะสมในรูปของไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย นานไปเข้าสู่ภาวะอ้วน ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกหลายโรคปัจจุบันกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ออกข้อปฏิบัติในการกินเพื่อสุขภาพดีหรือธงโภชนาการ เน้นให้แต่ละมื้อควรมีอาหารหลักครบ 5 หมู่ ไม่กินเมนูเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ และที่สำคัญกินอาหารแต่ละหมู่ให้ถูกสัดส่วน ในเบื้องต้นเรียงจากมากไปน้อยจะเป็นข้าวขัดสีน้อยสลับกับแป้ง ต่อด้วยผักและผลไม้ ต่อด้วย เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว ไข่ นม ส่วนน้ำมัน น้ำตาล เกลือ กินให้น้อยสุดเฉพาะที่จำเป็นหรือหากใช้หลักการแบ่งสัดส่วนอาหารในแต่ละมื้อเพื่อสุขภาพ ก็สามารถใช้สัดส่วนง่าย ๆ คือ 2:1:1 โดย เป็นผักและผลไม้ 2 ส่วน ข้าว แป้ง ธัญพืช 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง ไข่ เต้าฮู้ นม รวม 1 ส่วน และลดในแต่ละมื้อ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เป็นต้น
  • นิสัยเสียที่ 2 ไม่ดื่มน้ำหรือดื่มน้ำน้อย ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยน้ำราว 60 – 70% ของน้ำหนักตัว โดยอยู่ทั้งในระบบไหลเวียนโลหิต และเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ น้ำมีหลายหน้าที่ ทั้งการเป็นส่วนประกอบ ควบคุมอุณหภูมิ ช่วยขับถ่ายของเสีย และอื่นๆ การขาดน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยจะมีอาการจากน้อยไปหามาก ตั้งแต่ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไปจนถึงปัสาวะน้อย ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น นานๆเข้าจะส่งผลให้สุขภาพแย่ลงโดยเฉลี่ยผู้ชายน้ำหนักตัวมาตรฐานควรได้รับน้ำ 3 – 4 ลิตร และผู้หญิง 2 – 3 ลิตรต่อวัน (ข้อมูลจาก NAS และ IOM) ดังนั้นควรสร้างนิสัยดื่มน้ำหลังตื่นนอน ก่อนนอน และดื่มเล็กน้อยเป็นระยะระหว่างวันให้สอดคล้องกับเพศ วัยและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน
  • นิสัยเสียที่ 3 ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งการช่วยลดน้ำหนัก การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ คุมน้ำตาลในเลือด ร่างกายแข็งแรง ป่วยยาก ในทางตรงข้ามหากขาดการออกกำลังกายร่างกายจะอ่อนแอ ไม่แข็งแรง ยิ่งมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือนิสัยเสียด้านอื่นๆประกอบด้วย อาจทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้นดังนั้นใน 1 สัปดาห์ ควรมีการออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิก แบบเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  แบบเพิ่มความยืดหยุ่นและความอ่อนตัว อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงขึ้นไป
  • นิสัยเสียที่ 4 นอนหลับน้อยกว่า 7 – 8 ชั่วโมงเป็นประจำ โดยร่างกายจะใช้เวลาในช่วงการนอนหลับ เพื่อให้ระบบอวัยวะต่างๆได้พัก ลดการทำงานเหลือไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็น ในช่วงเวลาดังกล่าวร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อช่วยในการซ่อมแทรมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงการจัดระเบียบข้อมูลต่างๆในสมองด้วย หากนอนไม่พอจะทำให้สมาธิน้อย ความคิดช้า ความจำสั้น ภูมิคุ้มกันร่างกายและความต้องการทางเพศต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า สุขภาพจะค่อย ๆ แย่ลงทั้งนี้แนะนำให้เพื่อนๆนอนคืนละ 7 – 8 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม โดยวงจรการนอนหลับจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น
  • นิสัยเสียที่ 5 ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป น้ำหนักตัวเป็นดัชนีวัดด้านสุขภาพที่สำคัญ โดยผู้ที่มีน้ำหนักตัวเหมาะสมกับวัย และได้สัดส่วนกับความสูงของตนเอง จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรค และมีชีวิตยืนยาว การมีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป จะนำไปสู่โรคหรือปัญหาสุขภาพได้ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคข้อเข่าเสื่อม โรคความดันโลหิตสูงและอื่น ๆ เบื้องต้นเพื่อนๆสามารถดูน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูงได้จากการคำณวนค่า BMI โดยค่า BMI มากกว่า 25 ถือเป็นโรคอ้วนขั้นที่ 1 และกรณีค่า BMI น้อยกว่า 18.5 ถือเป็นผอมมาก เสี่ยงต่อการที่ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย เป็นต้น
  • นิสัยเสียที่ 6 สูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือน้ำอัดลม สำหรับการดื่มสุรา พบว่าผู้ที่ติดสุราหนักจะมีอายุสั้นกว่าบุคคลทั่วไประหว่าง 10-14 ปี และยังเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคนอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ซึมเศร้า สมองพิการ มะเร็งตับ และโรคเรื้อรังอื่นๆ รวมถึงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสำหรับการสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าควันบุหรี่เต็มไปด้วยนิโคติน สารเคมี สารพิษรวมถึงสารก่อมะเร็งจำนวนมาก ผู้สูบจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดบวม โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคมะเร็งปอด

    สำหรับการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลปริมาณมากสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อโรคอ้วน ภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน รวมถึงฟันผุ
    ดังนั้นในเบื้องต้นควรลดหรืองดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงการดื่มน้ำอัดลม เพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ.
  • มองโลกในแง่ลบ ไม่มีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี การมองแบบแง่ลบที่จะเป็นการสร้างความกดดันเพิ่มมากกว่าความเป็นจริงให้กับตัวเอง เป็นต้นเหตุให้เกิดการวิตกกังวล เครียดสะสม ร่างกายเกร็ง กล้ามเนื้อไม่ผ่อนคลาย นอนหลับยาก ภูมิคุ้มกันลด ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่ายการฝึกการมองโลกในแง่บวกหรืออย่างน้อยมองตามความเป็นจริง ไม่สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นให้กับตัวเอง เป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ โดยการมองเรื่องที่ไม่ว่าจะดีหรือร้ายในด้านบวก เป็นการสร้างแรงผลักดัน กระตุ้นให้มีพลังกายพลังใจ ในการเอาชนะอุปสรรคไปได้แบบไม่เครียด ไม่วิตกกังวลจนเกินไป และสามารถเสริมสร้างความมั่นคงของจิตใจเพิ่มมากขึ้น

 

ปรับแก้พฤติกรรมหรือนิสัยเสีย ให้เป็นของขวัญดี ๆ ให้กับร่างกาย

เพื่อนๆ บางคนอาจจะมีนิสัยเสียข้อใดข้อหนึ่งอยู่ โดยคิดว่าสุขภาพยังดีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่นิสัยเสียเหล่านี้หากทำจนติดเป็นนิสัย ผลเสียไม่ได้มีให้เห็นวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือปีหน้า แต่ผลเสียจะมาในรูปของอาการป่วย โรคเรื้อรังต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไปตามอายุที่มากขึ้น และเมื่อมีอาการหรือเป็นโรคร้ายแล้ว การรักษามีค่าใช้จ่ายสูง ไม่นับผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่จะตามมาทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลง ดังนั้นการปรับแก้พฤติกรรมหรือนิสัยเสีย ให้เป็นของขวัญดี ๆ ให้กับร่างกายจึงเป็นสิ่งที่น่าทำอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.thaihealth.or.th  care.diabetesjournals.org  www.webmd.com  www.pobpad.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


5-rules.jpg

มีคำถามจำนวนมากเกิดขึ้น เมื่อคุณตัดสินใจที่จะลดน้ำหนัก อาทิ  ควรลดคาร์โบไฮเดรตหรือลดไขมันดี สามารถกินช็อคโกแลตหรือน้ำผลไม้ได้หรือไม่ ควรออกกำลังกายแบบกระตุ้นการทำงานของหัวในหรือการแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดี คำถามอาจมีมาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการลดน้ำหนัก

 

บทความนี้ต้องการจะบอกว่า ต่อให้คุณสนใจในรายละเอียดมากเพียงใด แต่ถ้าคุณละเลยเรื่องสำคัญ ๆ ไปแล้ว การลดน้ำหนักสำหรับคุณมีโอกาสจะ “ล้มเหลว” มากกว่าประสบความ “สำเร็จ” ตัวอย่างเช่น คุณอาจหยุดกินของหวาน หยุดกินน้ำอัดลมไปได้ แต่ถ้าคุณยังบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่มากกว่าที่คุณใช้ในแต่ละวัน น้ำหนักของคุณก็ไม่มีวันลดลง สิ่งเหล่านี้หมายรวมถึงการออกกำลังกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยรวมด้วย

ฟาร์ติมา โคดี้ สแตนฟอร์ด (Fatima Cody Stanford, M.D.) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วน ที่ Massachusetts General Hospital กล่าวถึงกฎการลดน้ำหนักขั้นพื้นฐาน 5 ข้อที่สำคัญ

“ฉันขอแนะนำให้คุณใช้กฎ 5 ข้อนี้ พร้อม ๆ กันในทุกข้อ เว้นแต่คุณจะรู้สึกว่ามันยากเกินกว่าที่จะปฏิบัติตามได้ทั้งหมดในคราวเดียว ให้เริ่มทำไปทีละขั้น โดยเริ่มจากเรื่องของอาหารแล้วค่อยไปทำเรื่องของการออกกำลัง”

 

1. เน้นการรับประทานอาหารไม่แปรรูป และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

อาหารที่คุณควรรับประทานจริง ๆ คือ “อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง พวกโปรตีนที่ปราศจากไขมัน (Lean protein) เช่น ไข่ขาว อกไก่ ปลาเนื้อขาว รวมถึงผัก ธัญพืช และผลไม้” อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ควรเลือกอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ข้อมูลจากการศึกษาตีพิมพ์ลงในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคอาหารโปรตีนสูง (High quality diets) ทำให้ไขมันลดลงได้เกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับการบริโภคโปรตีนทั่วไป (Moderate quality diets) นอกจากนี้ยังระบุว่าการกินผัก และผลไม้ยังช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนเรื่องที่ว่าทุกคนควรให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินเท่าที่คุณจะทำได้

 

2. เคลื่อนไหวร่างกายทั้งในและนอกฟิตเนส

“การออกกำลังกายไม่ได้ต้องทำ ขณะที่อยู่ในฟิตเนสเสมอไป คุณควรที่จะขยับร่างกายให้ได้ตลอดทั้งวัน” จากบทความตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition กล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะออกกำลังกายที่ฟิตเนสมากแค่ไหน แต่ถ้าตลอดทั้งวันคุณนั่งอยู่กับที่ไม่คิดจะขยับร่างกายใด ๆ น้ำหนักของคุณก็จะเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิคระดับปานกลาง (Moderate-intensity aerobics)  อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle strength training) เป็นประจำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์

 

3. นอนหลับ พักผ่อนให้มากขึ้น

การอดนอนและปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวมีผลเกี่ยวเนื่องกันโดยตรง  “คุณต้องการการนอนหลับที่มีคุณภาพและต้องทำจนเป็นนิสัย เพราะการนอนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก” ข้อมูลจากวารสาร Annals of Internal Medicine พบว่าผู้ลดน้ำหนักที่ใช้เวลาในการนอนประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน สามารถลดปริมาณไขมันในร่างกาย (Body fat) ได้น้อยและมวลกาย (Body mass) เพิ่มมาก (ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ต้องการ) เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับ 8 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการอดนอนจะไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) ที่ส่งผลในเรื่องของความอยากอาหาร หมอสแตนฟอร์ดแนะนำว่า ปกติเราควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมงต่อคืน

 

4. จัดเวลานอนหลับและตื่นนอนด้วยนาฬิกาชีวภาพ

ต่อเนื่องจากข้อ 3 ไม่ใช่แค่ว่าคุณต้องนอนหลับให้เพียงพอเท่านั้น การนอนและตื่นนอนให้ตรงตามวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ยังส่งผลในเรื่องของน้ำหนักอีกด้วย  “ปกติร่างกายจะตื่นตัวในตอนเช้าและง่วงในตอนกลางคืน เมื่อเราทำลายรูปแบบกลไกนี้ เช่น ตื่นกลางคืน นอนกลางวัน จะเป็นการขัดขวางกลไกการทำงานสมองในการควบคุมน้ำหนัก” งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดพบว่า เมื่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพ การเผาผลาญปริมาณแคลอรี่จะลดน้อยลงจากปกติร้อยละ 12 – 16  และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องของน้ำหนักตัวและความอ้วน ดังนั้นควรกำหนดเวลาการนอนหลับและการตื่นนอนให้เป็นอุปนิสัย หากคุณต้องทำงานในช่วงเวลากลางคืน ยิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการลดน้ำหนักเพื่อเป็นการชดเชย

 

5. อย่าเครียดจนเกินไป

แน่นอนว่าพูดง่ายกว่าทำ แต่ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนักจริงๆ ถึงเวลาที่คุณต้องควบคุมสติและความนึกคิดให้มากขึ้น เนื่องจากความเครียดสะสมมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จากวารสาร Obesity เมื่อเทียบระดับความเครียดและน้ำหนักตัวพบว่า คนที่มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตเมื่อมีความเครียด เป็นกลุ่มคนที่มีน้ำหนักและดัชนีมวลกาย (BMIs) สูงมากกว่ากลุ่มคนทั่ว ๆ ไป

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.womenshealthmag.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com

 


-และพฤติกรรมสุขภาพ-re2.jpg

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า แบบแผนการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์นั้น  เป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพมากที่สุด โดยส่งผลทั้งในทางดีและไม่ดีต่อสุขภาพ มีข้อมูลพบว่าร้อยละ 50 ของประชาชนที่เสียชีวิตในอเมริกามีสาเหตุมาจากการมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง (Walker et al 1988 :89)

 

แบบแผนการดำเนินชีวิต เกี่ยวกับสุขภาพ

แบบแผนการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ สามารถจัดแบ่งได้หลาย ๆ หัวข้อ อาทิ แบ่งจากพฤติกรรมที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน กับไม่เป็นกิจวัตรประจำวัน แบ่งจากพฤติกรรมสุขภาพในวัยทำงาน วัยเด็กและวัยสูงอายุ  ในบทความนี้จะพูดถึงพฤติกรรมที่เป็นและไม่เป็นกิจวัตรประจำวัน

พฤติกรรมเกี่ยวกับอนามัยส่วนบุคคล เป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติเพื่อการมีอนามัยที่ดี เช่น การแปรงฟัน การอาบน้ำ ความสะอาดของเสื้อผ้า การสระผม การดูแลสุขภาพของผิวหนัง การดูแลความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันที่บุคคลปฏิบัติ ซึ่งหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การแปรงฟันไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับเหงือก

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก เช่น การรับประทานของขบเคี้ยวบางอย่างทำให้ฟันผุ การไม่รับประทานผักและผลไม้ ทำให้มีกากอาหารน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดทำให้ท้องเสีย รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปลาดิบ ก้อย ปลา ทำให้เป็นโรคพยาธิ บางคนชอบอาหารที่มีไขมันสูง อาจทำให้เป็นโรคอ้วน จากการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับปัจจัยซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราตายในวัยผู้ใหญ่พบว่า 2 ใน 7 ประการ เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยเป็นเรื่องของ อาหารเช้าและน้ำหนักตัว (Breslow Engstrom : 1980 quoted in Kulbok, Earls, and Montgomery 21-35)

พฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ผู้ที่ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา ถ่ายลำบาก อุจจาระมีลักษณะแข็งต้องเบ่งถ่ายอุจจาระ มีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วย เป็นโรคริดสีดวงทวาร สูงกว่าคนที่มีการขับถ่ายเป็นเวลาและถ่ายสะดวก นอกจากนี้พฤติกรรมการกลั้นปัสสาวะทำให้เกิดเป็นโรคติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ ได้ง่าย

พฤติกรรมการพักผ่อนและการนอนหลับ การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือ การนอนหลับ ผู้ที่พักผ่อนหรือนอนหลับไม่เพียงพอจะมีผลเสียต่อสุขภาพคือ ถ้าอดนอน 48 ชั่วโมง ร่างกายจะผลิตสารเคมีซึ่งมีโครงสร้างคล้าย เอส ดี 25 (D. 25) สารนี้มีผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้ที่อดนอนจะรู้สึกหนักมึนศีรษะ รู้สึกเหมือนตัวลอย ควบคุมสติไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ถ้าอดนอน 4 วัน ร่างกายจะไม่ผลิตสารที่สร้างพลังงานแก่เซล ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีทำให้มีการปล่อยพลังงานออกมา เป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนเพลีย ต่อมาจะเกิดอาการสับสน ประสาทหลอน และปรากฏอาการทางจิตขึ้น (Hayter 1980 quote in Murray and Zentner, 1985:412)

พฤติกรรมทางเพศ การตอบสนองความต้องการทางเพศ เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ ถ้าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง เช่น สำส่อนทางเพศ พฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศแบบวิตถาร ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งจากโรคติดเชื้อ เช่น กามโรค โรคเอดส์ หรือร่างกายได้รับบาดเจ็บจากการร่วมเพศ แบบวิตถารหรือรุนแรงถึงขนาดสูญเสียชีวิตจากการฆาตกรรม เพราะความรักและความหึงหวงได้

พฤติกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของทุกคน แต่อาจเป็นพฤติกรรมประจำของบางคน และส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินยาบ้า การขับรถเร็ว

  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่พบว่าทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ สู่มะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป เพศหญิงที่สูบบุหรี่ขณะรับประทานยาคุมกำเนิดจะยิ่งเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองมากยิ่งขึ้น และถ้าตั้งครรภ์ บุตรในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวน้อย
  • พฤติกรรมการดื่มเหล้า ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นตับแข็ง มากกว่าบุคคลทั่วไป นอกจากนี้เหล้ายังเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงผลเสียที่ตามมาในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายประการ
  • การกินยาบ้า ยาบ้าเป็นยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามิน (amphetamine) เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงสามารถทำงานต่อไปได้ ทั้ง ๆ ที่สภาพจริง ๆ ของร่างกายต้องการพักผ่อน ทำให้เกิดผลเสียมากมาย เช่น ประสาทหลอน เกิดอุบัติเหตุ คดีอาชญากรรม
  • การขับรถเร็ว ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้อุบัติเหตุแต่ละครั้ง มีการบาดเจ็บที่รุนแรง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.healthcarethai.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com

 


9-สิ่ง-ที่ทำเป็นประจำสุขภาพดีได้ทุกวัย3.jpg

มีการกล่าวกันว่า คนส่วนใหญ่เกิดมาโดยธรรมชาติได้มอบการมีสุขภาพที่ดีในระดับหนึ่ง แต่การจะรักษาสุขภาพให้ดีและสอดคล้องกับวัยนั้น เป็นหน้าที่ของเพื่อน ๆ แต่ละคนต้องดูแลกันเอง ซึ่งบางเรื่องหลายคนก็ทำได้ถูกต้อง ในขณะที่อีกหลายเรื่องต้องเรียนรู้ ฝึกฝนมีวินัยในการปรับแก้ วันนี้มาดูเรื่องที่ควรทำเป็นประจำ ช่วยให้สุขภาพดีกันค่ะ

 

ร่างกายเสมือนเครื่องยนต์ เสื่อมตามเวลาและวิธีการใช้งาน

ร่างกายของมนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องของรถยนต์ ซึ่งนอกจากจะเสื่อมตามการเวลาที่มากขึ้นแล้ว ยังมีตัวเร่งเสื่อมเร็วขึ้นหากมีการใช้งานที่ไม่ถูกต้องอีก มีตัวเร่งให้เสื่อมเร็วช้าได้อีก นั่นคือนิสัยหรือพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อน ๆ จึงจำเป็นต้องดูแลอวัยวะของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่เสื่อมไปก่อนวัย แต่ในทางปฏิบัติด้วยสภาวะแวดล้อมในการดำเนินชีวิตของหลาย ๆ คน ทำให้บางคนมีการปล่อยประละเลย ทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพเร็ว เมื่อถึงหมอหลาย ๆ คนก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเหมือนเดิมได้อีก

 

9 นิสัย ทำเป็นประจำช่วยให้สุขภาพดี

มีหลายสิ่งที่เพื่อนๆทำหรือปฏิบัติแล้วช่วยให้สุขภาพดี แต่จะมีหลักใหญ่ๆอยู่ไม่กี่ข้อที่หากทำได้แล้ว จะเพิ่มโอกาสการมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับพฤติกรรม เช่น โรคไขมันสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และอาจรวมถึงโรคเครียด และโรคที่เกี่ยวเนื่อง มาดูกันค่ะ นิสัยหรือพฤติกรรมเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

  • กินให้เป็นหรือกินให้ถูกโภชนาการ ปัจจุบันกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ออกข้อปฏิบัติในการกินเพื่อสุขภาพดีหรือธงโภชนาการ สรุปเป็นแนวทางเบื้องต้นได้ดังนี้การกินในแต่ละมื้อควรมีอาหารหลักครบ 5 หมู่ ในแต่ละหมู่ควรเป็นรายการอาหารที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป อย่าให้จำเจ โดยกินให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้องมี กลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวขัดสีน้อยสลับกับแป้งมากที่สุด ต่อด้วยกลุ่มวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ต่อด้วยกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว ไข่ นม และทานน้ำมัน น้ำตาล เกลือ เท่าที่จำเป็น
    .
    ธงโภชนาการ
    ภาพ: nutrition.anamai.moph.go.th
    .
    สำหรับเพื่อน ๆ ที่น้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกินไป ควรลงรายละเอียดและปรับการกินอาหารให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น หากน้ำหนักตัวเกินและต้องการลดน้ำหนักอาจแบ่งอาหารในจาน ออกเป็น 4 ส่วน เน้นวิตามิน เกลือแร่จากผักและผลไม้ 2 ส่วนหรือ 50% โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว ไข่ นม เป็น 1 ส่วน และลดข้าวหรือแป้งเหลือ 1 ส่วนในแต่ละมื้อ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ทั้งนี้ไม่ควรงดมื้อเช้าเพราะเป็นแหล่งพลังงานในแต่ละวัน
  • ดื่มน้ำทั้งวัน โดยเฉพาะหลังตื่นนอนและก่อนนอน การดื่มน้ำอย่างเหมาะสมทำให้สุขภาพดี สิ่งแรกที่ทำหลังตื่นนอนควรดื่มน้ำ 1 – 3 แก้ว ที่อุณหภูมิห้องไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป เพื่อกระตุ้นและหล่อเลี้ยงการทำงานของระบบต่างๆ ขณะที่ก่อนนอนควรดื่มน้ำอีก 1 – 2 แก้วเพื่อช่วยชำระล้างสิ่งตกค้างในลำไส้และกระเพาะอาหาร และระหว่างวันควรดื่มน้ำอาจจะสักครึ่งถึง 1 แก้วทุกๆ 1 – 2 ชั่วโมง โดยทั้งวันปริมาณน้ำที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับเพศ น้ำหนักตัว และกิจกรรมที่ทำ โดยเฉลี่ยผู้ชายน้ำหนักตัวมาตรฐานควรได้รับน้ำ 3 – 4 ลิตร และผู้หญิง 2 – 3 ลิตรต่อวัน (ข้อมูลจาก NAS และ IOM)
  • ออกกำลังกายให้หนักพอเหมาะ สม่ำเสมอทุกอาทิตย์ ใน 1 สัปดาห์ ควรมีการออกกำลังกาย ทั้ง 1) แบบแอโรบิกเพื่อพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ และปอด เช่น การวิ่งโซน 2 – 3 ติดต่อกันมากกว่าครึ่งชม. 3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป และ 2) แบบเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ  เช่น การเล่นเวทเทรนนิ่ง วิดพื้น ซิทอัพ และ 3) แบบเพิ่มความยืดหยุ่นและความอ่อนตัว (Flexibility exercises) เช่น โยคะ พิลาทิส ไทชิ ชี่กง โดยหากเพื่อน ๆ ออกกำลังกายครบทั้ง 3 ลักษณะ ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายจะมีกล้ามเนื้อที่ทนทานแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดี โดยไม่เหนื่อยง่าย ทั้งนี้หากไม่สามารถทำประจำได้ ให้ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันช่วย เช่น การกวาดบ้าน ล้างจาน ซักผ้า ขึ้นลงบันได  หรือหากไม่ได้ไปที่สนามกีฬา สามารถออกกำลังกายง่าย ๆ ที่บ้านได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การพักผ่อนมีหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่สุดและขอเน้น คือ การนอนหลับ ทั้งนี้ร่างกายจะใช้เวลาในช่วงนอนหลับ เพื่อให้ระบบอวัยวะต่างๆได้ลดการทำงาน และจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อช่วยในการซ่อมแซม สร้างเพิ่มขยายเซลล์ของอวัยวะที่สึกหรอ รวมถึงการจัดระบบความจำด้วย ทั้งนี้แนะนำให้เพื่อนๆนอนคืนละ 7 – 8 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม โดยวงจรการนอนหลับจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น

-เสี่ยงนอนไม่หลับ-นอนไม่พอ.jpg

ร่างกายของคนเรา คุ้นเคยกับการทำกิจกรรมในตอนกลางวันและพักผ่อนในตอนกลางคืน โดยมีสมองและฮอร์โมนคอยควบคุมชีวิต ให้ดำเนินไปตามวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock)  อย่างไรก็ตาม การทำงานในบางอาชีพ เป็นอุปสรรคสำคัญในการที่ปฏิบัติตัวตามวงจรนี้  มาดูว่ามีอาชีพอะไรบ้าง

 

1. ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ
ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ท้าทาย แต่บางครั้งการทำงานโดยต้องปลุกตัวเองให้ตื่นตัวตลอดทั้งคืน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย นั่นเป็นเพราะรูปแบบการทำงาน ขัดกันกับวงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย ส่งผลให้นอนหลับไม่พอ เกิดการหลับในอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะกับคนที่มีอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ

 

2. ผู้ดูแลระบบออนไลน์
ในขณะที่ข้อดีของระบบเครือข่ายออนไลน์ในปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการในการสั่งซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคได้อย่างสะดวกสบายตลอด 24  ชั่วโมง แต่ข้อเสียที่ไม่อาจมองข้าม คือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลระบบจะต้องอดหลับอดนอน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลระบบ อาจนำมาซึ่งภาวะ นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย

 

3. คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในกะกลางคืน และพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง การดำเนินชีวิตแบบนี้ นอกจากมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงานกับเครื่องจักรแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน
และโรคซึมเศร้า

 

4. ผู้บริหาร
สำหรับผู้บริหารแล้ว ความเครียดในการบริหารงาน บริหารคน บวกกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ส่งผลกระทบโดยตรงกับการพักผ่อน  ยิ่งใช้ชั่วโมงในการทำงานมากเท่าไหร่ ช่วงเวลาการพักผ่อน รวมถึงการนอนก็น้อยลงไปเท่านั้น และการนอนน้อย ก็ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน 

 

5. นักข่าว
ในชั่วโมงที่การนำเสนอข่าวแข่งกันด้วยความสด อาชีพนักข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้ผลิตรายการ แทบจะต้องใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมง อุทิศให้กับการผลิตและรายงานข่าวให้ทันเหตุการณ์ การทำงานเช้ายันเช้า หรือเย็นจนถึงดึกดื่นอีกคืน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอาชีพนี้

 

6. พยาบาล
การดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล เป็นงานหนัก ต้องใช้ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน พยาบาลแทบทุกคนทำงานและเข้าเวร มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน (ส่วนใหญ่อยู่ที่ 12 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ ) ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพแล้ว ยังลามไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานให้กับประชาชนอีกด้วย

 

7. นักวิเคราะห์ทางการเงิน
ยิ่งเป็นนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศ เช่น ยุโรป หรือเอเชีย ความต่างของเวลา ทำให้ร่างกายและสมองต้องปรับตัว ปรับชั่วโมงการทำงานที่ผิดจากเวลาปกติ นานวันไปจะส่งผลเสียต่อวงจรนาฬิกาชีวภาพของร่างกายได้

 

8. ตำรวจ
งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง  ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามปรับตัว ให้พร้อมกับการเข้าเวรในกะเช้าและกะกลางคืนหมุนเวียนกันไป

 

9. แพทย์ฝึกหัด
แม้จะคุ้นเคยกับการอดหลับอดนอน ในการเรียนการสอบตอนเป็นนักเรียนแพทย์ แต่ภาวะนั้นไม่ได้จบลง การเป็นแพทย์ฝึกหัดที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตอนกลางคืน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กับแพทย์หลายคน รวมทั้งการนอนน้อย ยังอาจส่งผลต่อความผิดพลาดในการวินิจฉัยผู้ป่วยอีกด้วย

 

10. นักบิน
อาชีพนักบินกับการอดนอน และนอนในเวลาที่แตกต่างแทบจะเป็นของคู่กัน ทั้งนักบินที่บินระยะสั้นแต่หลายเที่ยวบิน หรือนักบินที่บินทางไกลข้ามทวีป จะต้องเจอปัญหาการบินข้ามเวลามาซ้ำเติม การนอนหลับให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันความอ่อนล้า หรือ Pilot Fatigue ซึ่งจะทำให้คุณภาพการทำงานของนักบินลดลง กระทบต่อการตัดสินใจ และความปลอดภัยในการบิน

 

11. ครอบครัวที่มีลูกอ่อน
เลิกคิดถึงการนอนหลับยาว ๆ เมื่อเจ้าตัวน้อยพร้อมจะตื่นทุกสองสามชั่วโมงตลอดคืน งานวิจัยพบว่าคุณแม่มือใหม่อาจได้นอนถึง 7 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่การนอนที่มีคุณภาพไม่มีทางหลับสนิทได้ แต่โชคดีที่สถานการณ์นี้จะคลี่คลายขึ้น เมื่อ 16 สัปดาห์ผ่านไป

 

12. คนขับรถบรรทุก
เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรในช่วงกลางวัน การเดินทางในเวลากลางคืน คือ เวลาที่คนขับรถนิยม แต่มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่เกิดจากการหลับในของคนขับ

 

13. บาร์เทนเดอร์
งานกลางคืนที่หลายคนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ยิ่งดึกยิ่งตาสว่าง แต่นั่นหมายถึงสมดุลในการนอนตามธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวงจรนาฬิกาชีวภาพกำลังถูกทำลายไป โดยไม่รู้ตัว

 

อดนอนเป็นอาชีพ ส่งผลเสียอย่างไร

การนอนผิดเวลาบ่อย ๆ ทำให้วงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน วงจรการหลับและตื่นถูกรบกวน หลายคนต้องประสบปัญหานอนไม่หลับ ตามมาด้วยความรู้สึกอ่อนเพลียหลับยาก หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพอีกมากมาย

 

อย่าเพิ่งตกใจ ทางแก้ยังมี

  • พยายามปรับเวลาเข้านอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
  • สร้างบรรยากาศการนอนให้เป็นเหมือนเวลากลางคืนมากที่สุด
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแสงไฟ ไม่มีเสียงดังรบกวน
  • ในเวลาทำงานกะดึก พยายามหาเวลางีบบ้างซัก 15-30 นาที
  • เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ช่วยซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ
  • ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แถมช่วยให้หลับสนิทขึ้น

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com


6-habits-deep-sleep-healthy.jpg

บางคนอาจคิดว่า ลำพังการก้าวขึ้นเตียงแล้วนอนหลับเป็นการปิดฉากวันอันสมบูรณ์ แต่ลืมนึกถึงคุณภาพการนอนในช่วงเวลาดังกล่าวไป โดยการนอนหลับที่ไม่ลึกและระยะเวลาไม่นานพอ ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่พอส่งผลเสียตามมามากมาย วันนี้เราจะมาดูเรื่องของนิสัยที่ทำแล้วนอนหลับลึก ร่างกายพักผ่อนเพียงพอ เจ็บป่วยยาก โอกาสสุขภาพดีมีแน่นอนค่ะ 

 

นอนหลับสำคัญมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด

มนุษย์เราใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ โดยอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า การนอนหลับนั้นร่างกายมีสภาพเสมือนหยุดนิ่ง หรือการนอนหลับนั้นมีลักษณะแบบเดียวกันตั้งแต่เริ่มนอนไปถึงตื่นนอน มีงานวิจัยพบว่า จริงๆแล้วการนอนหลับนั้นมีวงจรของการนอนหลับที่ซ้ำเป็นช่วง ๆ ทั้งช่วงหลับธรรมดาและหลับฝัน โดยการนอนหลับที่มีคุณภาพต้องมีวงจรเหล่านี้ซ้ำกันหลายรอบ และมีเวลาที่นานเพียงพอในแต่ละรอบ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ร่างกายจะทำการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต การหลั่งสารที่ควบคุมความต้านทานของร่างกาย การจัดระเบียบความคิดความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเคร่งเครียด รวมถึงการรวบรวมสะสมพลังงาน เพื่อที่จะทำงานในวันถัดไป

 

อาการของคนที่นอนหลับไม่พอ

การนอนหลับไม่พอมีผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน โดยถ้านอนหลับน้อยไปเพียงหนึ่งวัน อาจไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงนัก อย่างมากก็แค่ง่วงซึมบ้างในช่วงกลางวัน แต่ครั้นพอตกกลางคืนเมื่อได้นอนอย่างเต็มอิ่มอีกครั้งร่างกายก็จะฟื้นตัวกลับมาสดชื่นได้อีก แต่ถ้ายังนอนไม่พอสะสม จะส่งผลเสียหลายประการ เช่น คนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน มีผลต่ออัตราการตายที่สูงขึ้น หรือคนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อคืน ติดต่อกัน 6 คืน พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญกลูโคส มีการขัดขวางการใช้อินซูลิน ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่น

อาการที่สังเกตง่ายๆของการนอนหลับไม่พอ ได้แก่ ตื่นมาตอนเช้า รู้สึกยังไม่สดชื่น อยากจะนอนต่อไปอีก และในระหว่างวัน จะมีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เรื่อย ๆ โดยถ้ามีโอกาสได้นอนในตอนกลางวัน อาจหลับได้ภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น เป็นต้น

 

6 นิสัยและข้อหลีกเลี่ยง ทำได้นอนหลับลึกแน่นอน

ถึงเวลาที่จะหันมาใส่ใจกับคุณภาพการนอน ด้วยการปรับปรุงนิสัยเล็กน้อย แต่ส่งผลดีต่อไปนี้

  • นิสัยที่ 1 เข้านอนให้ตรงเวลา และหลับให้เพียงพอ 7 – 8 ชั่วโมง ความสม่ำเสมอของเวลานอนจะทำให้วงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ทำงานและสมองสั่งการได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
    หลีกเลี่ยง การงีบนอนตอนเย็น เพราะจะทำให้หลับไม่สนิทในตอนกลางคืน หากรู้สึกเพลียมากควรงีบระหว่างวันสัก 15 นาที เพื่อให้เวลาสมองจัดระเบียบข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามา และผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย
  • นิสัยที่ 2 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกเวลาเช้าหรือเย็น การศึกษาวิจัยทุกสำนักชี้ผลว่าการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมช่วยให้หลับสบาย.
    หลีกเลี่ยง การออกกำลังกายหนักในช่วงค่ำโดยเฉพาะก่อนนอน เพราะเป็นเวลาที่กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายควรอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย
  • นิสัยที่ 3 กินอาหารมื้อเย็นให้น้อยหรือแค่พออิ่ม ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้พักผ่อนอย่างแท้จริง โดยสิ่งที่ทานได้ก่อนนอนควรเลือกเพียง นม ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชบางชนิด โดยอาจปั่นทานในรูปแบบสมูทตี้ได้.
    หลีกเลี่ยง การกินมื้อเย็นที่หนัก นอกจากจะเสี่ยงกับปัญหาน้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว การกินก่อนนอนทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายไม่ได้หยุดพัก ระบบอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายยังต้องทำงานหนักอยู่ ซึ่งหมายถึงร่างกายไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างแท้จริง
  • นิสัยที่ 4 ไม่ควรดื่มชา กาแฟ ช็อคโกแลต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนที่มากเกินไป และควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ให้น้อยที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนให้ลดลงอีกด้วย.
    หลีกเลี่ยง หลีกเลี่ยงการดื่มกินหรือสูบ โดยเฉพาะช่วงใกล้เวลาเข้านอน เพื่อลดผลกระทบที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง
  • นิสัยที่ 5 ใช้เครื่องมือสื่อสารเฉพาะที่จำเป็น การใช้โทรศัพท์มือถือ แทปเลต อ่าน E-book เล่น Line เล่น Facebook หรือ Social media อื่น ๆ บางคนถึงขั้นติด เป็นการกระตุ้นให้สมองต้องทำงานอย่างต่อเนื่องส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและอาจถึงสุขภาพใจหากเรื่องที่พูดคุยไม่ถูกใจ นอกจากนี้เครื่องมือสื่อสารหลายชนิดยังมีแสงสีที่กระตุ้นทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลง.
    หลีกเลี่ยง ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ แสงสีฟ้าจากจออุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต โน๊ตบุ๊คทำให้ร่างกายรับรู้ว่ายังไม่มืด และหลั่งสารเมลาโทนินออกมา ทำให้หลับยาก และแสงสีฟ้าจากหน้าจอก่อสารพิษทำให้ประสาทสายตาเสื่อมลงเร็วขึ้น
  • นิสัยที่ 6 ทำกิจกรรมเบา ๆ ที่ช่วยให้สมองผ่อนคลาย 30 นาที – 1 ชั่วโมงก่อนนอน เช่น ฟังเพลงเบา ๆ ดูสารคดีธรรมชาติ ชีวิตสัตว์ ดูตลก เรื่องราวธรรมะ วาดรูป นั่งสมาธิ เป็นต้น.
    หลีกเลี่ยง การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจทำให้เครียดหรือสมองทำงานหนัก เช่น ทำงานที่เร่งด่วน พูดคุยธุรกิจ ปัญหาชีวิตหนัก ๆ เรื่องความเป็นความตาย เล่นเกมส์ที่เป็นการต่อสู้แข่งขัน

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ร่างกายไม่ได้หยุดนิ่งในขณะหลับ แต่มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งฮอร์โมน สารเคมีที่สำคัญ ๆ จัดระเบียบความคิดความจำ รวมถึงการรวบรวมสะสมพลังงาน ดังนั้นการนอนหลับลึกอย่างมีคุณภาพเป็นประจำ จะทำให้สุขภาพของหลายๆคนดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

แหล่งที่มา
  1. ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี, สืบค้นจาก www.medicine.swu.ac.th
  2. UCSF Health สืบค้นจาก, https://www.ucsfhealth.org/education/tips-for-a-better-nights-sleep
  3. BBC NEWS ไทย สืบค้นจาก, https://www.bbc.com/thai/features-47968198
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


-ต้องไปหาหมอ.jpg

มนุษย์เราใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ โดยร่างกายอาศัยช่วงเวลานอนหลับในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ต่อมต่าง ๆ มีการหลั่งฮอร์โมนรวมถึงสารเคมีชนิดต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโต เพิ่มความต้านทานโรค สมองมีการจัดระเบียบความคิด ความจำ กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆคลายตัวเพื่อปลดปล่อยความเคร่งเครียด รวมถึงมีการสะสมพลังงาน เพื่อที่จะทำงานในวันถัดไป

 

คุณภาพการนอนหลับ

การนอนหลับที่มีคุณภาพในแต่ละคืนนั้น จะประกอบไปด้วยวงจรการนอนหลับที่มีช่วงหลับธรรมดาและหลับลึกรวม 4 ระยะและช่วงหลับฝัน 1 ใช้เวลารวม 80 – 120 นาทีต่อรอบ จำนวน 4 – 6 รอบต่อเนื่องกันจนกระทั่งตื่นนอนเช้า กินเวลา 7 – 8 ชั่วโมงในวัยผู้ใหญ่ การนอนหลับไม่พอจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของจำนวนชั่วโมงการนอนว่าครบ 7 – 8 ชั่วโมงหรือไม่ แต่ยังหมายรวมถึง การหลับแต่ละช่วงทั้งช่วงหลับธรรมดา หลับลึกและหลับฝัน มีระยะเวลาที่นานพอและมีความสมดุลกันด้วยหรือไม่ มีงานวิจัยพบว่าคุณภาพการนอนมีผลต่อสุขภาพกาย เช่น คนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน มีอัตราการตายที่สูงขึ้น หรือคนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อคืน ติดต่อกัน 6 คืน มีปัญหาในการเผาผลาญกลูโคส มีการขัดขวางการใช้อินซูลิน ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังได้

 

อาการนอนไม่หลับ แบบที่ต้องไปพบแพทย์

เมื่อพูดถึงอาการ “นอนไม่หลับ” แน่นอนว่าทุกคนจะต้องเคยได้ยิน และเคยประสบปัญหานี้กันมาบ้างแล้ว ส่วนใหญ่อาการนอนไม่หลับจะเป็นเพียงบางช่วงสั้น ๆ เมื่อมีเรื่องรบกวนจิตใจ หรือมีความเจ็บป่วยทางกาย เมื่อเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาผ่านไป หรือมีการปรับเทคนิคแก้นอนไม่หลับ การนอนหลับก็ดีขึ้น แต่ในบางคนอาการนอนไม่หลับนั้นเป็นอยู่นานเป็นเดือน ไม่หายไปเอง หรือบางครั้งสามารถนอนหลับได้ แต่ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ตอนกลางวัน รู้สึกง่วงนอน ต้องแอบงีบหรือนั่งสัปหงก ไม่มีสมาธิ แม้ว่าชั่วโมงนอนจะเพียงพอแล้วก็ตาม เรามาดูเกณฑ์เบื้องต้นที่พอจะสังเกตกันได้ หากใครมีอาการนอนไม่หลับแบบนี้ แนะนำให้จัดเวลาไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ วินิจฉัยและวางแผนการรักษาก่อนที่อาการนอนไม่หลับจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

  • นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์ หรืออาจน้อยกว่า 4 สัปดาห์ แต่ส่งผลต่อสุขภาพในช่วงกลางวัน ทำให้ไม่สามารถเรียน ทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปกติ
  • ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกระหว่างนอนหลับ โดยรู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทันหรือหายใจไม่เต็มปอดหรือมีคนใกล้ชิดสังเกตว่ามีช่วงหยุดหายใจหรือช่วงที่หายใจกระตุก
  • รู้สึกปวด ชาหรือยกขาไม่ขึ้นเป็นประจำ ในขณะนอนหลับ
  • ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก โดยรู้สึกแสบร้อนกลางอก หรือมีอาการดังกล่าวจนไม่สามารถนอนหลับได้ปกติ
  • นอนไม่หลับหรือต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะมีความเจ็บปวดที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ
  • นอนหลับไม่สนิท แล้วรู้สึกอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น หดหู่ ซึมเศร้า เบื่ออาหาร หมดแรงง่าย เป็นต้น

อาการนอนไม่หลับข้างต้น เป็นอาการนอนไม่หลับแบบที่ควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ที่โรงพยาบาลกรณีทั่วไป แต่หากมีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจไม่สะดวกเวลาตื่นขึ้นมากลางดึกทำให้นอนไม่หลับ และอาการนั้นไม่หายไปในเวลาสั้น ๆ แบบนี้ควรจะรีบไปตรวจที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อประเมินภาวะที่อาจเป็นอันตรายอย่างหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลว ทันที

กล่าวโดยสรุปแล้ว อาการนอนไม่หลับนั้น เป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกิดได้กับทุกคน แต่หากมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังติดต่อกันนาน หรืออาการนั้นรบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ อีกทั้งอาการเหล่านี้ยังอาจเป็นอาการของโรคทางกายอื่น ๆ ที่ทำให้นอนไม่หลับซ่อนอยู่ จึงต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

แหล่งข้อมูล : www.webmd.com 
ภาพประกอบ : www.freepik.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก