ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

OSA-FAQ.jpg

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) อาจจะมีหลาย ๆ เรื่องที่คล้ายกับปัญหาการนอนหลับในเรื่องอื่น ๆ  นำไปสู่ความเข้าใจที่ทั้งเป็นจริงและไม่เป็นจริงเกี่ยวกับภาวะนี้ โดยความเข้าใจที่ถูกต้อง จะนำไปสู่แนวทางการรับมือที่เหมาะสม

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) เป็นเพียงการนอนกรน (Snoring) เท่านั้น: ไม่เป็นความจริง

การนอนกรนเป็นปัญหาและความผิดปกติของการนอนหลับที่พบบ่อย โดยเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  ผู้ที่เป็นภาวะดังกล่าวมีโอกาสหยุดหายใจได้มากถึง 400 ครั้งตลอดทั้งคืน และการหยุดหายใจบางครั้ง อาจยาวนานได้ถึง 10 – 30 วินาที โดยหลายคนมักจะตามด้วยการสำลัก เพื่อเริ่มต้นหายใจใหม่อีกครั้ง อาการเหล่านี้จะทำลายวงจรการนอนหลับ และทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ มีอาการเหนื่อยในระหว่างวันตามมา

 

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร: ไม่เป็นความจริง

ทุกครั้งที่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  ทำลายการนอนหลับของคุณ มันส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแลอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงาน อุบัติเหตุระหว่างการขับรถ รวมถึงโรคหัวใจล้มเหลวและหลอดเลือดสมองแตก

 

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) เกิดจากการอุดกลั้นทางเดินหายใจ: เป็นความจริง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่พบบ่อยเกิดจากการที่ลิ้น ทอนซิล หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ด้านหลังของลำคอ มาอุดกลั้นทางเดินหายใจ เมื่อคุณพยายามหายใจเข้า อากาศจะไม่สามารถผ่านได้ ในขณะที่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการสั่งของสมอง (Central Sleep Apnea: CSA) พบได้น้อยกว่า โดยเกิดจากการที่สมองไม่ได้ส่งสัญญาณให้ร่างกาย  หายใจอย่างที่ควรจะเป็น

 

ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA): ไม่เป็นความจริง

แพทย์ประเมินว่าชาวอเมริกันมากกว่า 18 ล้านคน กำลังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยพบได้ง่ายในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แท้จริงแล้ว ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในคนที่มีน้ำหนักเกิน เพศชาย เชื้อสายแอฟริกันอเมริกันหรือชาวลาติน

 

แอลกอฮอล์สามารถช่วยเรื่องการนอนหลับ: ไม่เป็นความจริง

คุณอาจจะรู้สึกว่าแอลกอฮอล์ช่วยให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่แอลกอฮอล์จะไม่ช่วยให้คุณได้พักผ่อนอย่างมีคุณภาพแบบที่ต้องการ ทั้งนี้แอลกอฮอล์จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณด้านหลังลำคอของคุณคลายตัว ทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม และนอกจากนี้ยานอนหลับยังให้ผลแบบเดียวกันอีกด้วย

 

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) เกิดขึ้นได้ยากในวัยเด็ก: ไม่เป็นจริง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA)  พบได้บ่อยในเด็ก โดยมีสัดส่วน 1 ใน 10 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการจะไม่ค่อยรุนแรง แต่กับเด็กบางคน อาจเริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรม หรือปัญหาทางการแพทย์ที่ร้ายแรงด้วยผลกระทบจากภาวะนี้

 

การลดน้ำหนักสามารถช่วยได้: เป็นความจริง

คุณสามารถทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) มีอาการดีขึ้นได้ เมื่อลดน้ำหนัก ซึ่งถ้าคุณมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโปรแกรมการลดน้ำหนักที่เหมาะสม และการเลิกสูบบุหรี่ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

 

การนอนตะแคงสามารถช่วยได้: เป็นความจริง

หากคุณนอนหงาย จะทำให้แรงโน้มถ่วง ดึงเนื้อเยื่อในลำคอลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น การนอนตะแคงจะช่วยเปิดลำคอ ไม่ให้เนื้อเยื่อไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ การใช้หมอนข้างสามารถช่วยคุณในการนอนตะแคงได้ และบางคนก็เลือกที่จะเย็บลูกเทนนิสติดไว้ด้านหลังของชุดนอนเพื่อบังคับไม่ไห้นอนหงายโดยไม่รู้ตัว

 

ยางครอบฟันสามารถช่วยได้: เป็นความจริง

ทันตแพทย์สามารถแนะนำยางครอบฟันที่เหมาะสมกับคุณได้ โดยเครื่องมือนี้จะช่วยลดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ไม่รุนแรง ซึ่งยางครอบฟันจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับรูปปาก ทำให้มันช่วยจัดโครงสร้างภายในปากให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ใส่มันก่อนนอนเพื่อเปิดทางเดินหายใจของคุณขณะนอนหลับ

 

วิธีรักษาโดยใช้เครื่องซีแพพ (CPAP) คือการรักษาที่มีประสิทธิภาพ: เป็นความจริง

เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure-CPAP) จะเป่าอากาศเข้าไปขยายทางเดินหายใจของคุณ โดยคุณสามารถที่จะปรับแรงดันอากาศ ได้จนกว่ามันจะเพียงพอ ที่จะทำให้ทางเดินหายใจของคุณเปิดขึ้นในขณะนอนหลับ เป็นการรักษาที่มักใช้กับผู้ใหญ่ที่มีระดับอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในขั้นปานกลางถึงรุนแรง

 

การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดี และแน่นอนที่สุดในการแก้ไขภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ: ไม่เป็นจริง

การผ่าตัดจะได้ผล แค่เพียงในบางกรณีเท่านั้น เช่น เด็กที่มีต่อมทอนซิลขนาดใหญ่ มาบล็อกทางเดินหายใจ  แพทย์สามารถผ่าตัดเพื่อนำทอนซิลที่ก่อให้เกิดปัญหาออก และมีผู้ใหญ่บางคนที่สามารถผ่าตัดเพื่อลดเนื้อเยื่อ แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน หากคุณมีอาการนี้อยู่ ควรพูดคุยกับแพทย์ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการผ่าตัดใดๆ

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


Change-life-drinking-water.jpg

เปลี่ยนชีวิตให้สดใสด้วยการ “ดื่มน้ำ” เคยไหมที่บางครั้งอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกหัวตื้อคิดอะไรไม่ออก สายตาพร่ามัว ผิวพรรณหยาบกระด้าง ริมฝีปากแห้งแตกระแหง ดวงตาไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง และรู้สึกง่วงอยู่ตลอดเวลา เมื่ออาการเหล่านี้เกิดกับคุณโดยเฉพาะคุณผู้หญิง อย่าได้มองข้ามอาการเหล่านี้เด็ดขาด เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งบ่งบอกว่าร่างกายคุณกำลังขาดน้ำ ซึ่งในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้คุณติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ มารู้กันว่าการ “ดื่มน้ำ” สำคัญอย่างไร 

 

ตามปกติแล้วปริมาณน้ำที่คุณผู้หญิงควรดื่มในแต่ละวัน อยู่ที่ 8 – 10 แก้ว สำหรับบางคนที่ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะบ่อย ๆ สามารถดื่มมากกว่านั้นได้ นอกจากนั้น ผู้ที่ติดเชื้อควรเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความอับชื้น โดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) และปัสสาวะทุกครั้งหลังจากมีเพศสัมพันธ์ด้วย

 

รู้ได้อย่างไรว่า “ดื่มน้ำ” อย่างพอเหมาะ  

ประโยชน์ของการดื่มน้ำให้เพียงพอสำหรับร่างกายมีมากมาย สิ่งที่คุณจะรับรู้ได้อย่างชัดเจนด้วยตัวเอง ก็คือ เมื่อดื่มน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับร่างกาย สมองจะสามารถคิด ประมวลผลได้เร็วขึ้น จดจำและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น มีสมาธิในการทำงานเพิ่มขึ้น  ผิวพรรณจะเปล่งปลั่งสุขภาพดี เรียบเนียน ไร้ริ้วรอยเหี่ยวย่น ดูอ่อนกว่าวัย ปวดศีรษะน้อยลง เรียกได้ว่า เปลี่ยนชีวิตให้สดใสด้วยการดื่มน้ำเลยจริงๆ

ส่วนผลลัพธ์ที่อาจมองเห็นไม่ชัดด้วยตาเปล่า เช่น การทำงานของตับและไตจะดีขึ้น ร่างกายจะขับถ่ายของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย เลือดข้น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากนั้น น้ำยังทำให้ข้อต่อแข็งแรง มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การดื่มน้ำมาก ๆ ยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย เพราะน้ำจะช่วยขับของเสียออกจากอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ร่างกายสะอาดขึ้น คุณจะมีความอยากกินอาหารขยะน้อยลง และกลิ่นปากจะลดลงด้วย

 

ถ้าดื่มน้ำมากเกิน

ในทางตรงข้าม การดื่มน้ำมากเกินไปก็มีโทษเช่นกัน ลองสังเกตร่างกายของคุณว่า ดื่มแค่ไหนจึงรู้สึกพอ เพราะร่างกายจะมีกลไกที่บอกว่าได้รับน้ำเพียงพอแล้วสำหรับระยะเวลานั้น อย่าฝืนดื่มน้ำมากเกินไป โดยในช่วงอากาศร้อนจัดและรู้สึกกระหาย ควรจิบน้ำที่อยู่ในอุณหภูมิห้องทีละน้อย หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ หรือเย็นจัดร้อนจัด สังเกตปัสสาวะของตนเองอยู่เสมอ ปัสสาวะที่มีสีเหลืองเข้มอาจบ่งบอกว่าคุณกำลังขาดน้ำก็ได้ ในขณะที่ปัสสาวะสีเหลืองอ่อน คือ สิ่งบ่งบอกว่าคุณดื่มน้ำอย่างเพียงพอแล้ว

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดกับคนจำนวนมาก คือ อาการท้องผูก และการดื่มน้ำสามารถช่วยบรรเทาท้องผูกได้เช่นกัน สาเหตุที่ทำให้คนดื่มน้ำน้อยมักท้องผูก เพราะเมื่อขาดน้ำลำไส้จะไปดึงน้ำออกจากอุจจาระเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ทำให้อุจจาระแข็งตัวและขับถ่ายลำบาก วิธีแก้ไขง่าย ๆ เบื้องต้น คือ ลองดื่มน้ำอุ่น ๆ ก่อนนอน 1 แก้ว เพราะน้ำจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบย่อยอาหาร และทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น

นอกจากนั้น ผู้ที่ท้องผูกควรรับประทานอาหารจำพวกกากใย ผัก ผลไม้ให้มาก ๆ เป็นนิสัย ขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน อย่านอนดึก หรืออดนอน  และเมื่อร่างกายขับถ่ายของเสียได้ดีขึ้นแล้ว ระบบในร่างกายก็มีแนวโน้มที่จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และเกิดอาการเมาค้างในตอนเช้า น้ำดื่มสะอาดก็สามารถช่วยคุณให้พ้นจากอาการปวดหัวได้เช่นกัน เพราะน้ำมีคุณสมบัติช่วยขับปัสสาวะ หากคืนไหนรู้สึกว่าดื่มหนัก ๆ ก่อนเข้านอนลองดื่มน้ำดู เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาน้ำจะช่วยขับแอลกอฮอล์ที่ตกค้างในร่างกายของคุณออกไป ช่วยให้คุณฟื้นคืนสภาพได้เร็วขึ้น

นอกจากการดื่มน้ำสะอาดแล้ว ผลไม้ต่าง ๆ ที่มีน้ำอยู่มาก เช่น แตงโม สับปะรด สตรอเบอรี่ แคนตาลูป ส้ม หรือแอปเปิล ก็ยังช่วยดับกระหายและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกายคุณได้ด้วย เพียงแค่เลือกรับประทานบ่อย ๆ เป็นนิสัย คุณก็จะมีสุขภาพดีขึ้นและอ่อนวัยขึ้นได้อย่างง่ายดาย

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ   
แหล่งข้อมูล: www.mindbodygreen.com
ภาพประกอบ:  www.freepik.com


-ทำไงดี.jpg

รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา อาจไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะมีคนเป็นจำนวนมากที่รู้สึกเช่นนั้น มีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 3 นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ก็ยังต้องไปทำงานหรือทำธุระต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เราสามารถแก้ไขอาการอ่อนเพลีย และไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อยตลอดอีกต่อไป

 

คำถามแรกที่คุณมักถามตัวเองคือ “ทำไมฉันถึงรู้สึกเพลียตลอดเวลา” และ “ฉันจะแก้ไขการอ่อนเพลียนี้ได้อย่างไร” คำตอบคือ เพราะคุณพักผ่อนไม่พอนั่นเอง และทางแก้ไขก็คือ จัดตารางชีวิตเสียใหม่

โดยให้เวลาตัวเองเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทีละน้อย เช่น ลดเวลาทำงาน ลดการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ลง หาเวลาส่วนตัวสำหรับพักผ่อน นอนหลับจริง ๆ ไม่ใช่นอนเล่นมือถือบนเตียงจนเช้า หรือดูซีรีส์จนสว่างคาตา เพิ่มเวลานอนหลับให้มากยิ่งขึ้น การนอนหลับให้พออาจต้องสร้างบรรยากาศในห้องนอนที่เอื้อต่อการนอนหลับ  แต่หากทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดแล้วก็ยังคงรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาอยู่ ก็ลองสำรวจตัวเองดูว่าคุณมีพฤติกรรมผิด ๆ เหล่านี้หรือไม่

 

  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป การดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้เลือดในร่างกายข้นและไหลเวียนช้า ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้น้อยลง และทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย
  • ไม่ได้กินอาหารเช้า เพราะอาหารเช้าช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกายและสมอง ทำให้สมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย
  • กินอาหารขยะ (Junk food) มากเกินไป อาหารเหล่านี้เกือบทุกชนิดมีน้ำตาล ไขมัน โซเดียม และคาร์โบไฮเดรตสูงมาก
  • ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 3 ชั่วโมงก่อนนอน ทำให้ฮอร์โมนอดรีนาลีนในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจึงตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือรับข่าวสารเรื่องเครียด ๆ ก่อนเข้านอน ข้อมูลเหล่านี้จะยังติดอยู่ในสมอง ส่งผลให้จิตใจไม่สงบ ฝันร้าย และนอนไม่หลับได้
  • เล่นมือถือ แท็บเล็ตก่อนนอนมากเกินไป เพราะแสงสว่างจากหน้าจอจะทำให้นาฬิกาชีวิตปรวนแปรได้
    และยังทำให้สายตาเสียอีกด้วย
  • มีความเครียดในการทำงานและชีวิตประจำวันสูง การมีหน้าที่รับผิดชอบสูงมาก ๆ อาจทำให้อ่อนเพลียทั้งกายและใจ อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ลองใช้วิธีแก้ไขด้วยการพยายามปล่อยวาง ผ่อนคลาย และฝึกสมาธิให้จิตใจปลอดโปร่งขึ้น

 

หากมั่นใจแล้วว่านอนหลับ พักผ่อนเป็นเวลานาน แต่ตื่นนอนแล้วก็ยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ คุณควรไปปรึกษาแพทย์เพราะนั่นอาจเป็นอาการของโรคบางอย่าง เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจเป็นระยะ ๆ หรือมีการหายใจตื้น ๆ สลับกับการหายใจที่เป็นปกติในระหว่างที่นอนหลับ อาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจยาวเป็นนาทีก็ได้ โดยมักเกิด 5 – 30 ครั้งหรือมากกว่าในเวลา 1 ชั่วโมง ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่และอ่อนเพลียในตอนเช้า เกิดจากอุดกั้นทางเดินหายใจจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อช่วงลำคอ หรือความหนาของเนื้อเยื่อผนังคอในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือพยายามนอนตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนหงาย งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ก่อนนอน รวมถึงลดน้ำหนักหากน้ำหนักเกิน โดยแพทย์จะแนะนำการรักษาการหยุดหายใจขณะหลับที่เหมาะสม

แต่สำหรับคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีภาวะผิดปกติทางสุขภาพ  การแก้ไขที่มักได้ผลเสมอ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง นอกจากนั้นควรหาวิธีให้ตัวเองนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ อาจดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนนอนเพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้น เพราะในนมมีทริปโตเฟนซึ่งช่วยในการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งช่วยให้หลับง่ายและหลับลึกขึ้น เพิ่มการกินไข่ขาวและเมล็ดฟักทองซึ่งมีทริปโตเฟนสูงเช่นกัน งดการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือทำงานบนเตียงนอน และผ่อนคลายจิตใจด้วยการทำสมาธิ กำหนดหายใจเข้าออก เมื่อจิตใจสงบแล้ว ร่างกายก็จะผ่อนคลายทำให้นอนหลับง่ายในที่สุด

 

เมื่อทราบแล้วว่า การรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และวิธีแก้ไขอาจง่ายดายมากโดยเริ่มที่ตัวคุณเอง ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความอ่อนเพลียบั่นทอนร่างกายและจิตใจ รีบแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ แล้วประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.prevention.com
ภาพประกอบ : www.unsplash.com


healthy-bedclothes.jpg

มนุษย์เราใช้เวลาในการนอน ประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของร่างกาย โดยร่างกายจะมีกลไกสำคัญ ๆ ในช่วงเวลานอน เพื่อให้ร่างกายพร้อมมากที่สุดภายหลังการตื่นนอน ดังนั้นคุณภาพการนอนจึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ของทุก ๆ คน

 

อ่านย่อหน้านี้ แล้วจะรักการ “นอนหลับ”

สำหรับใครที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า การนอนหลับเป็นเวลาที่ทุกระบบในร่างกายหยุดหมดนั้น ความจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้น การนอนหลับ สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ คือ ช่วงหลับธรรมดา (non-rapid eye movement (NREM) sleep) และช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement (REM) Sleep) รวมเป็นวงจรการนอนหลับสลับไปมาในระหว่างที่เรานอนหลับ จนกระทั่งตื่น
โดยช่วงหลับธรรมดายังแบ่งย่อยเป็น เริ่มง่วง หลับตื้น หลับปานกลาง หลับลึก ในทุกช่วงของการนอนหลับระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังคงทำงานอยู่ ยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น ช่วงหลับลึก เป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอน กินเวลา 30 – 50 นาทีในแต่ละรอบการนอน ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น Growth hormone เพื่อการเจริญเติบโต มีการซ่อมแทรมส่วนที่สึกหรอ
หรือช่วงหลับฝัน กินเวลา 30 นาทีในแต่ละรอบการนอน ช่วงนี้สมองจะมีการจัดการข้อมูลต่างๆที่เข้ามา ทำให้เกิดเป็นความทรงจำ ความเข้าใจ และอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลานอนนั้น หลาย ๆ ระบบในร่างกายยังคงทำงาน ทั้งเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การหลั่งของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต การหลั่งของสารที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของร่างกาย การจัดระเบียบความคิดและความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเครียด รวมถึงการสะสมพลังงานเพื่อใช้ในขณะตื่น

 

ผลเสียของการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ

การอดนอน นอนไม่หลับหรือนอนไม่พอเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการนอนเกินจะส่งผลต่อสุขภาพ มีการศึกษาพบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน มีผลต่ออัตราการตายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง ติดต่อกัน 6 คืน จะเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญกลูโคส การใช้อินซูลิน ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกระบวนการจำ คิดและตัดสินใจอีกด้วย

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการคุณภาพการนอน

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการนอนมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเพศ วัย อาชีพ สภาพแวดล้อม สุขนิสัย ความเจ็บป่วย โดยผู้สูงอายุมักจะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งจากฮอร์โมน ความคิดและอื่น ๆ ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพการนอนที่แย่ลง
มีเทคนิคแก้นอนหลับไม่สนิทอยู่หลายข้ออาทิ ทำกิจกรรมคลายเครียดก่อนเข้านอน ออกกำลังกายช่วงเย็น อาบน้ำอุ่นก่อนนอน ปรับเวลาเข้าและตื่นนอน ปรับบรรยากาศห้องนอนให้น่านอน เพลงกล่อมนอน เป็นต้น

 

“ที่นอน” อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพการนอน

อุปกรณ์การนอนโดยเฉพาะ “ที่นอน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญต่อคุณภาพการนอน เนื่องจากสรีระของผู้นอนที่แตกต่างกัน ทั้งความสูง น้ำหนักตัว เพศชายหญิง โดยการที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด
ท่านอนที่มีไม่มากเป็นเวลานานหลาย ๆ ชั่วโมง ล้วนส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ตัวอย่างเช่น ที่นอนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือท่านอนที่ผิด อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อของผู้นอน เป็นต้น บางคนตื่น ๆ หลับ ๆ
บางคนตื่นมาแล้วยังรู้สึกง่วงนอนอยู่ บางคนรู้สึกปวดหลัง  ปวดแขน ปวดขา หลังจากตื่นนอน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นผลมาจากคุณภาพ “ที่นอน” ที่ใช้อยู่ประจำ

 

คุณลักษณะของ “ที่นอน” ที่ดี

ที่นอนที่ดีนั้นไม่ควรนิ่มหรือแข็งจนเกินไป โดยที่นอนแบบนิ่ม จะมีผลทำให้ปวดหลังได้มากกว่าที่นอนแบบแข็ง โดยที่นอนที่เก่า มีการใช้งานมานาน มีความนิ่มไม่คืนตัว เป็นแอ่งกระทะ ผู้นอนจะเกิดอาการปวดหลัง  หายใจไม่สะดวก ทำให้นอนไม่หลับ สะสมจนเกิดอาการนอนไม่พอ
นอกจากนี้ที่นอนยังควรมีโครงสร้างที่เหมาะสม เช่น ความแน่น จำนวนชั้น วัสดุ รูปทรง ที่สามารถรองรับน้ำหนักและสภาพร่างกายที่แตกต่างกันของผู้นอนได้ ทั้งนี้ควรรวมถึงการรองรับอย่างเหมาะสม ในเวลาที่ผู้นอนขยับตัว ทั้งการดิ้น พลิกตัว หรือลุกตื่นจากการนอน

 

ประเภทของที่นอน

  • ที่นอนฟองน้ำ เป็นที่นอนที่นำฟองน้ำมาอัดใส่ข้างในโดยผสมสารเคมี ทำให้ที่นอนมีความแข็งแรง ไม่ยุบเร็ว น้ำหนักเบา ความนุ่มนิ่มจากฟองน้ำคือ คุณสมบัติหลักของที่นอนประเภทนี้ แต่ต้องแลกับคุณสมบัติในการคืนตัวของที่นอนที่มีต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นแอ่งเว้าโค้งตามบริเวณที่มีน้ำหนักกดประจำ ที่นอนฟองน้ำเหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประหยัด ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนปวดหลังง่าย
  • ที่นอนใยมะพร้าว ผลิตขึ้นจากการอัดของเส้นใยแข็งที่ได้มาจากกาบมะพร้าว ทำให้ที่นอนใยมะพร้าวค่อนข้างมีความแข็ง ไม่ยวบยาบ ไม่ยุบตัว มีความแน่นทึบ คงสภาพดี ระบายอากาศได้ดี เป็นมิตรต่อธรรมชาติ แก้อาการปวดหลังจากการนอนบนที่นอนนิ่มและยุบตัวง่าย แต่หากหมดสภาพแล้ว ใยมะพร้าวจะเริ่มลุ่ย เป็นขุย เกิดเชื้อราจากความชื้น และอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ
  • ที่นอนสปริง เป็นที่นอนที่มีการผลิตและจัดจำหน่ายเยอะที่สุด คุณภาพแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของสปริง เช่นเดียวกับราคา ที่นอนสปริงมีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมความชื้น ยิ่งมีน้ำหนักมากยิ่งมีสปริงมาก ทำให้รับสรีระส่วนที่โค้งเว้าได้ดี จุดเด่นของที่นอนประเภทนี้ คือที่นอนจะเด้ง นุ่ม น้ำหนักเบา สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ประเภทของสปริงแต่ละแบบ ก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป โดยยิ่งมีจำนวนรอบเกลียว มาก ก็จะยิ่งยืดหยุ่นและรับน้ำหนักได้ดี ข้อเสียของที่นอนสปริง คือสปริงจะยุบ ล้ม และล้าได้ตามคุณภาพของวัสดุและจำนวนสปริง
  • ที่นอนยางพารา เป็นที่นอนที่มีคุณสมบัติคล้ายที่นอนฟองน้ำ แต่มีความยืดหยุ่นและทนทานกว่า สามารถรองรับสรีระความโค้งเว้าทุกส่วนของผู้นอนได้ดี ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ทำให้นอนหลับได้สบายตัว ไม่เมื่อย ไม่ปวดหลังเวลาตื่นนอน เป็นที่นอนที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้กันในหลายประเทศ ทั้งนี้ควรใช้ที่นอนยางพาราแท้เพื่อผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากที่นอนยางพาราแท้จะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าที่นอนประเภทอื่น ๆ นิ่มกำลังดี คงทน ไม่ยุบตัวง่าย ไม่ปวดเมื่อย ไม่สะสมความชื้น รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้นอนสามารถนอนได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับที่นอนประเภทอื่นแล้ว ที่นอนยางพารามีราคาที่สูงกว่า

การใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิต และเป็นเวลาสำคัญที่ร่างกายพักฟื้น ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งสารเคมีกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย จัดระเบียบความคิดและความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเครียด สะสมพลังงานเพื่อใช้ในขณะตื่น ดังนั้นช่วงเวลานอนหลับจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทุกๆคนจึงควรใส่ใจกับลักษณะของที่นอนมากอันส่งผลถึงคุณภาพของการนอนมากยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียงโดยกองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ต

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ความรู้เรื่องการนอนหลับ
  2. 10 เทคนิคช่วยนอนหลับสนิทตลอดคืน
  3. รู้จักที่นอนและการเลือกที่นอนให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดี

 


-บอกสุขภาพเรื่องอะไรได้บ้าง.jpg

หลาย ๆ คนอาจละเลยการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลิ้นตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสามารถสื่อได้ถึงสุขภาพในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี เรามาลองดูกันว่าในเบื้องต้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจบอกถึงสภาวะทางด้านสุขภาพอะไรได้บ้าง

 

ทำความรู้จัก…ลิ้น

ลิ้น เป็นอวัยวะชิ้นเล็ก ๆ ในช่องปาก แต่มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง ได้รับคุณประโยชน์ทางโภชนาการอย่างเต็มที่จากอาหารที่ทานเข้าไป เพราะทำหน้าที่เคี้ยว กลืนและรับรู้รสชาดอาหารว่าน่าทานหรือไม่เพียงไร ลิ้นที่มีสุขภาพดีต้องมีสีแดงอมชมพู ไม่ใช่สีแดงสด และผิวของลิ้นต้องขรุขระ เรามาดูว่าโรคบางโรค จะมีลักษณะของลิ้นเป็นอย่างไร

 

สุขภาพลิ้นบอกโรคอะไรบ้าง

  1. โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
    เชื้อราในช่องปาก (Oral thrush) คืออาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้  ทั้งนี้ “เชื้อรา” สามารถบอกถึงระบบภูมิคุ้มกันที่อาจอ่อนแอลง จนเกิดการติดเชื้อในช่องปากที่เรียกว่า  Oral candidiasis  โดยมีเชื้อราสะสมจนเห็นฝ้าสีขาวข้นเป็นเยื่อเมือกที่ลิ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวาน มักมีปัญหาปากแห้ง ส่งผลให้ลิ้นสูญเสียความสามารถบางอย่างไปได้
  2. โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
    ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ในรายที่การรักษายังทำได้ไม่ดี อาจมีอาการที่แสดงถึงการติดเชื้อ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น  การมีฝ้าขาว แผลแดงที่ปรากฏขึ้นบนลิ้น จุดต่างๆ ภายในปาก เป็นสัญญาณให้รู้ว่าคุณอาจติดเชื้อเอชไอวี
  3. โรคเซลิแอค (Celiac disease)
    โรคเซลิแอคหรือโรคที่จัดอยู่ในโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune disease) ต่อระบบทางเดินอาหาร จากตัวกระตุ้นคือ โปรตีนที่เรียกว่า กลูเตน ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ ท้องผูก อุจจาระร่วง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดกล้ามเนื้อ และลิ้นอักเสบ ผิวลิ้นเรียบ เจ็บ อาจมีภาวะลิ้นแห้ง ลิ้นพองรวมถึงการมีแผลร้อนในที่ลิ้น
  4. โรคปากแห้งตาแห้ง (Sjogren’s syndrome)
    “โจเกรน” เป็นกลุ่มอาการที่จัดอยู่ในโรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่นเดียวกันกับโรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยมีลักษณะเด่นอยู่ 2 อย่างคือ ตาแห้งและปากแห้ง จากการที่ต่อมน้ำตาและต่อมน้ำลายถูกทำลายจากโรค จนไม่สามารถสร้างน้ำตาและน้ำลายได้เพียงพอ เป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราในช่องปาก ผู้ป่วยบางคนยังอาจมีอาการแสบร้อนในช่องปาก และลิ้นแตกอีกด้วย
  5. มะเร็ง (Cancer)
    หากคุณมีอาการลิ้นบวม เจ็บที่ลิ้นหรือบริเวณอื่น ๆ ในช่องปาก ต่อเนื่องกันนานกว่า 2 สัปดาห์ นั่นอาจเป็นสัญญาณถึงความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงก็เป็นได้ ควรรีบพบแพทย์เพราะมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ และช่องปากอาจมีอาการทำให้ลิ้นของคุณผิดปกติได้
  6. โรคขาดวิตามิน
    ลิ้นของคนสุขภาพดีจะมีสีแดงอมชมพู แต่ถ้าใครมีลิ้นสีแดงสด แสดงว่าร่างกายขาดกรดโฟลิก วิตามินบี 12 หรือธาตุเหล็ก ดังนั้นควรเร่งแก้ไขด้วยการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งปรับด้านโภชนาการเพื่อเติมส่วนที่ขาด  นอกจากนี้ ลิ้นสีแดงสดยังเป็นสัญญาณของอาการคออักเสบ หรือโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) ได้อีกด้วย
  7. ความเครียด
    แผลร้อนใน เป็นอาการที่เกิดจากไวรัสและยังเป็นสัญญาณของโรคเครียด โดยอาจเกิดแผลร้อนในที่ลิ้น หรือส่วนอื่นๆ ภายในช่องปาก ถ้าพบอาการนี้ลองบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ เปลี่ยนมาทานอาหารนิ่ม ๆ เย็น ๆ เช่น โยเกิร์ต เป็นต้น

ในบางกกรณี อาการลิ้นบวมและลิ้นเจ็บ ก็อาจเกิดจากการขบฟันหรือกัดลิ้นตัวเอง ซึ่งวิธีผ่อนคลายความเครียดทำได้โดยการออกกำลังกาย เล่นโยคะ นั่งสมาธิ และการเคี้ยวอาหารช้า ๆ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เข้าใจว่าหลาย ๆ คนคงหันกลับมาสังเกต ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของลิ้นและสุขภาพช่องปาก เพื่อหาความผิดปกติของร่างกายและวางแผนการรักษากันแต่เนิ่น ๆ คะ

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.health.com   www.honestdocs.co   www.haamor.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


B-sleep.jpg

สำหรับใครที่มักมีปัญหานอนไม่หลับในตอนกลางคืนกันอยู่บ่อย ๆ จนดวงตาเป็นแบบแพนด้าถามหาแล้ว ขอแนะนำ 10 เทคนิค แก้นอนหลับไม่สนิท เอาแบบหัวถึงหมอนแล้วหลับสนิทยาวตลอดคืน ตื่นเช้ามาพบกับความสดใสอารมณ์ดีมาฝากดังนี้

 

เทคนิคแก้ปัญหานอนไม่หลับ

ใครที่ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับการนอน ทั้งเรื่อง หลับอย่างมีคุณภาพ  รู้ได้อย่างไร นอนไม่พอ  หรือเรื่องของไลฟ์สไตล์แบบไหน แก้ปัญหานอนไม่หลับ เรามาดูเทคนิคง่ายๆแก้ปัญหานอนไม่หลับเพิ่มเติมกัน กับ 10 เทคนิค แก้นอนหลับไม่สนิท ดังนี้

  1. ทำกิจกรรมเบา ๆ ปล่อยวางจากความเครียดก่อนนอน
    หยุดทำกิจกรรมเครียด ๆ ก่อนนอนให้ได้นานที่สุด เพราะกิจกรรมเหล่านั้นจะทำให้คุณไม่อยากนอน ถึงนอนก็นอนหลับไม่สนิท เพราะจิตใจจะหมกมุ่น วนอยู่กับเรื่องที่ทำค้าง แนะนำว่าควรเป็นกิจกรรมเบา ๆ เช่น ฟังเพลงเบา ๆ พูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไป เรื่องสนุกสนานกับครอบครัว สวดมนต์ นั่งสมาธิก่อนนอนได้ยิ่งดี การปล่อยใจให้ว่าง ๆ นำไปสู่คุณภาพการนอนที่ดี และแน่นอนว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย
  2. อย่ากินอาหารแล้วเข้านอนทันที
    เวลารับประทานอาหารในช่วงมื้อเย็นของคนเราควรอยู่ที่ประมาณ 6 โมงหรือไม่เกิน 1 ทุ่มกำลังดี เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้ย่อยอาหารก่อนเข้านอน เวลานอนเราจะได้ไม่รู้สึกอึดอัดหรือปวดท้องตามมา ขอแนะนำว่าอย่าจัดหนักมื้อเย็น หลังกินอาหารร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการย่อย ยิ่งถ้ากินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ยิ่งใช้เวลาย่อยนานขึ้น การกินอาหารแล้วนอนทันทีจะทำให้กระบวนการย่อยไม่สมบูรณ์และยังอาจทำให้นอนไม่หลับ เสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ด้วย
  3. ออกกำลังช่วงเย็น ช่วยให้นอนหลับสบาย
    ถ้าคุณมีปัญหาในเรื่องของการนอนหลับยากเป็นประจำ แนะนำว่าการออกกำลังกายในช่วงเย็นหรือ 4 – 6 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้หลับสนิทได้ทันทีที่หัวถึงหมอน แต่นั่นไม่ได้หมายถึง การที่คุณมีก๊วนเล่นกีฬากันหลัง 3 ทุ่ม เพราะช่วงดังกล่าวร่างกายควรพักผ่อน เพื่อเตรียมสร้างฮอร์โมนสำคัญ ๆ และสมองไม่ควรตื่นตัวมากเกินไป
  4. อาบน้ำอุ่นก่อนนอน
    ร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้ามาทั้งวันจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาทันที ถ้าเจอกับน้ำอุ่น ๆ หากคุณชื่นชอบการแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ ขอแนะนำให้หยดกลิ่นลาเวนเดอร์หรือคาโมมายล์ลงไปด้วย จะยิ่งช่วยแก้ปัญหานอนหลับยากให้หลับง่ายยิ่งขึ้น หรือจะแช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเข้านอนก็ช่วยได้เหมือนกัน
  5. ใช้อุปกรณ์เสริม
    สำหรับคนค่อนข้างเซนซิทีฟกับแสงหรือเสียง การใช้อุปกรณ์เสริมอย่างที่ปิดตาหรือที่อุดหู ก็เป็นตัวช่วยที่น่าสนใจเช่นกัน แต่หากจะให้ดีแนะนำให้นอนในที่ไม่มีแสงหรือปิดไฟเข้านอนทุกครั้งจะดีกว่า
  6. กำจัดสิ่งรบกวน
    ห้องนอนคือ ห้องที่คุณจะต้องใช้พักผ่อนอย่างสงบ จึงไม่ควรมีทีวี คอมพิวเตอร์ เพราะมีงานวิจัยระบุว่าแสงจากอุปกรณ์เหล่านี้จะไปกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้ร่างกายตื่นตัว ดังนั้นควรปิดไฟและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์สื่อสารก่อนนอนราว 1 ชั่วโมง ก็จะทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย เตรียมตัวเข้าสู่การนอนหลับได้ดีขึ้น
  7. กล้วยหอม ช่วยเรื่องการนอนหลับได้ดี
    กินกล้วยหอมก่อนนอน 1 ผล เนื่องจากผิวของกล้วยหอมนั้นมีฤทธิ์เหมือนยานอนหลับและมีอมิโน เอซิด ที่เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น เซโรโทนิน (Serotonin) เมื่อกินแล้วจะช่วยคลายเครียดคลายกังวล เปลี่ยนจากนอนหลับยากทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น
  8. ปรับบรรยากาศห้องนอนให้น่านอน
    ระหว่างห้องนอนที่รกรุงรัง มีเสียงดังรบกวน มีแสงไฟลอดเข้ามา กับห้องนอนที่สะอาดสะอ้าน เงียบสงบ มีม่านบังตา มิดชิด ห้องนอนไหนจะทำให้คุณหลับสบายมากกว่ากัน… รู้อย่างนี้แล้วลองลุกขึ้นมาจัดระเบียบห้องนอน เพื่อการพักผ่อนอันแสนสุขของกันดีกว่า
  9. ปรับเวลาเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาทุกวัน
    เปลี่ยนนิสัยการนอนใหม่ด้วยการเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพียงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้นร่างกายก็จะเริ่มคุ้นเคย นาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) จะทำงานได้เป็นระบบ แถมเราจะได้ตารางเวลาชีวิตในช่วงเวลาอื่นที่ดีขึ้นอีกด้วย
  10. ฟังเพลงกล่อมนอน
    การเปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงบรรเลงจังหวะช้าคลอเบา ๆ จะช่วยให้ปัญหาการนอนไม่หลับของคุณดีขึ้น เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ว่าเพียงฟังดนตรีจังหวะผ่อนคลายเป็นเวลา 45 นาทีก่อนนอน จะทำให้คุณหลับสนิทตลอดคืน

10 เทคนิค ช่วยนอนหลับสนิทตลอดคืน

อย่าลืมว่าปัญหาสุขภาพหลายอย่างที่เกิดขึ้นส่วนมากก็เกิดจากการอดหลับอดนอนหรือมีปัญหานอนไม่พอ แต่ด้วย 10 เทคนิคช่วยการนอนหลับง่าย ๆ แบบนี้ ก็สามารถทำให้คุณมีค่ำคืนที่หลับสบายอย่างยาวนานมากขึ้นแล้ว อีกทั้งยังทำให้ตื่นมามีอารมณ์ดี สดใส เมื่อสุขภาพจิตใจดี สุขภาพกายก็ย่อมแข็งแรงตามแน่นอน

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.organicbook.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

 

 


.jpg

อะไรคือ โรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ …คุณอาจจะอดใจไม่ใหวเมื่อกินบุฟเฟ่ต์กับเพื่อนหรือไปจัดหนักด้วยอาหารมื้อใหญ่กับครอบครัว โดยคุณอาจจะกินจนแน่นหรือปวดท้องบางครั้ง แต่นั่นไม่ใช่อาการของโรค…ทว่าเมื่อใดที่คุณเริ่มเสพติดและทำพฤติกรรมนี้เป็นประจำ กินทีละมาก ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป ก็อาจแปลว่าโรคนี้คืบคลานเข้ามาแล้ว

 

ความรู้สึกเศร้าจากภาวะการกินที่ผิดปกติ

ผู้คนที่อยู่ในภาวะการกินที่ผิดปกตินี้ มักรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมการกิน ทั้งปริมาณและแม้แต่ชนิดของอาหาร พวกเขาจึงมักจะกินไม่หยุดจนกว่าจะรู้สึกแย่ ป่วย หรืออิ่มจนกินไม่ใหวแล้ว และอารมณ์ที่ตามมาหลังจากนั้นคือ เริ่มรู้สึกผิด ขยะแขยง อับอาย และเศร้าใจกับการกิน จนทำให้เริ่มกินคนเดียว หลบซ่อนการกินที่ผิดปกตินี้จากเพื่อนและครอบครัว

 

Binge eating disorder แตกต่างจากโรค Bulimia

ถึงแม้ทั้งสองจะเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการกินเหมือนกัน แต่ผู้ที่เป็นบูลิเมียมักจะหาทางนำอาหารที่กินเข้าไปออกโดยการอาเจียน ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือออกกำลังกายมากเกินไป ส่วนผู้เป็นโรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติจะไม่ได้พยายามทำเช่นนั้น

 

ใครเสี่ยงเป็น โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ

ทุกคนมีความเสี่ยงเป็นโรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอย่างเชื้อชาติ เพศ อายุ หรือแม้แต่น้ำหนัก สำหรับผู้ที่เป็นโรค มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยเพศหญิงจะมีจำนวนมากกว่าเพศชายเล็กน้อย

 

โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ นี้มีผลต่อน้ำหนักอย่างไร

ผู้มีภาวะการกินที่ผิดปกติจำนวนสองในสาม มักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วน ทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานประเภท 2 ตามมา และยังพบโรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติในผู้ที่พยายามจะลดน้ำหนัก สูงถึง 30% อีกด้วย

 

ความเกี่ยวข้องของโรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ กับสุขภาพจิต

ผู้คนมากมายที่ตกอยู่ในสภาวะการกินที่ปกติ มักมีปัญหาเกี่ยวกับ อารมณ์และจิตใจในด้านอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพล่า หรือมีการใช้สารเสพติด โดยพวกเขาอาจมีชีวิตในวังวนของความเครียด ปัญหาการนอนหลับ มั่นใจในตัวเองต่ำ และอับอายกับรูปร่างของตน

 

สาเหตุของโรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ

ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของโรคนี้กันแน่ แต่จากที่เคยพบ มีปัจจัยมากมาย ตั้งแต่ยีนส์ของมนุษย์ จิตวิทยา ภูมิหลัง ทำให้คนบางคนสามารถไวต่อการกระตุ้นจากอาหาร เช่น สีสัน หรือกลิ่น และยังมีเหตุผลเกี่ยวกับความเครียด ความเจ็บปวดในชีวิต ก็สามารถนำมาสู่ โรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติได้เช่นกัน

 

การรักษาโรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ

หากคุณคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยก่อนเป็นอันดับแรก โดยคุณอาจต้องตรวจร่างกายและตอบคำถามเกี่ยวกับนิสัยการกิน สุขภาพจิต รูปร่างและความรู้สึกต่ออาหารเพื่อไปสู่ขั้นต่อไป

โดยการรักษา อาจเริ่มจากการบำบัดในด้านต่าง ๆ เช่น การบำบัดด้วยความรู้ความเข้าใจพฤติกรรม (CBT) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนรูปแบบความคิดเชิงลบที่จะนำไปสู่โรค และยังมี การบำบัดระหว่างบุคคล (IPT) โดยมุ่งไปที่ปัญหาความสัมพันธ์ ส่วนเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ควรมีนักโภชนาการที่สามารถให้คำปรึกษา เรียนรู้วิธีการกินเพื่อสุขภาพและเก็บบันทึกเมนูอาหาร ขณะที่คุณกำลังฟื้นตัว ส่วนเรื่องการใช้ยาในการรักษา ยาบางชนิดจะช่วยควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งมักจะได้ผลเมื่อทำควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ

 

ถึงแม้การควบคุมน้ำหนักและความอยากอาหารจะเป็นเรื่องยาก สำหรับผู้ที่ป่วยเป็น โรคพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ก็ตาม แต่แทนที่จะจมอยู่กับความทุกข์ และรู้สึกผิดทุกครั้งที่กินอาหาร ลองเริ่มต้นหาทางออกด้วยการพยายามปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ เพื่อเข้าถึงข้มูลวิธีไดเอ็ตเฉพาะสำหรับผู้มีภาวะการกินผิดปกติได้อย่างถูกต้อง

 

เรียบเรียงโดย  : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา :  www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


-เสี่ยงอัลไซเมอร์.jpg

เป็นที่ทราบกันดีว่า เราไม่อาจบ่งชี้โรคอัลไซเมอร์ด้วยสาเหตุของโรคเพียงอย่างเดียว เพราะองค์ประกอบทางพันธุกรรมทำให้ความผิดปกติของสมองเพิ่มขึ้น เสื่อมถอยลงและทำให้เกิดอาการหลงลืม อีกทั้งกระบวนการทางชีววิทยาก็มีความข้องเกี่ยวกันกับผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้ ปัจจุบันมีข้อมูลที่อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้…อาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน”

 

“ง่วงนอนตอนกลางวันมากๆ” อีกหนึ่งสัญญาณความเสี่ยง

แม้จะมีข้อมูลว่าอายุมากขึ้น นอนหลับยาก ขึ้น แต่นั้นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีอายุทุกคน ต้องเผชิญกับอาการ “ง่วงนอนตอนกลางวัน” (Daytime sleepiness)  โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นพบว่าอาการดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์  โดยมีผลการศึกษาหลายเรื่องแสดงให้เห็นถึง คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีแนวโน้มว่าจะมีแบบแผนการนอนหลับที่สับสน หนึ่งในนั้นคืออาการ “ง่วงนอนตอนกลางวันมากๆ” ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่าแอมีลอยด์ (Amyloid) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่มีหลายชนิดย่อยๆ เมื่อเข้าไปจับกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จะก่อให้เกิดการผิดปกติในการทำงานของอวัยวะนั้น  โดยเมื่อไปจับที่สมองจะเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

  

ไขความลับ “ง่วงนอนตอนกลางวัน” กับแอมีลอยด์ (Amyloid)

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีอาการ “ง่วงนอนตอนกลางวัน” ในตอนเริ่มต้นโครงการ มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของแอมีลอยด์ (Amyloid) ในสมองรวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีอาการ “ง่วงนอนตอนกลางวัน” โดยการเพิ่มขึ้นนั้น จะพบมากใน 2 ส่วนของพื้นที่สมอง คือ anterior cingulate cortex และ cingulate precuneus ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่พบแอมีลอยด์มากในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยขณะนี้ยังมีการศึกษาอยู่ว่า อาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” ทำให้มีการสะสมของแอมีลอยด์ที่สมองเพิ่มขึ้น หรืออีกด้านการสะสมของแอมีลอยด์ที่สมอง เมื่อถึงระดับหนึ่งจะส่งผลต่อความรู้สึกสับสนในการนอน ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

งานวิจัยว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันอาจต้องใช้เวลานาน แต่ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์สำหรับทุก ๆ คนให้มาสนใจกับ การหลับอย่างมีคุณภาพ  การนอนให้พอ  เพื่อวางแผนการนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ช้าลง หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.yahoo.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


.jpg

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันนี้เราใช้ชีวิตอยู่หน้าจอกันเป็นส่วนใหญ่ และเทคโนโลยีใกล้ตัวนี่แหละคือตัวการที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้อย่างคิดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ที่แสงจ้าเกินไป การจ้องจอ ท่าทางการนั่งทำงานนาน ๆ หรือแม้แต่เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เราได้รับมาจากอุปกรณ์เหล่านี้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นสิ่งของข้างกายเราแทบตลอดเวลา

 

พฤติกรรมเสี่ยงที่มาจากเทคโนโลยี

  1. จ้องจอคอมพิวเตอร์
    การจ้องจอส่งผลกระทบต่อเราได้หลากหลายแบบ โดยส่วนมากมักทำให้เกิดอาการแสบตา น้ำตาไหลเมื่อจ้องจอมากเกินไปเนื่องจากตาแห้ง นอกจากนั้นยังมีอาการเมื่อยตา ปวดหัว สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ภาพในจอคอมพิวเตอร์นั้นกระพริบตลอดเวลาโดยที่เราไม่ทันสังเกต ทำให้เรากระพริบตาน้อยลงอย่างไม่รู้ตัวจนตาเกิดอาการแห้ง ซึ่งอาการนี้จะนำไปสู่ความเสื่อมขอสายตาในที่สุด คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ก็อาจส่งผลต่อระบบประสาททำให้รู้สึกคลื่นไส้และนอนไม่หลับได้
  2. นั่งผิดท่า
    การทำท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะทำงาน การนั่งหรือนอนเล่นแท็บเล็ตท่าเดิม ๆ หรือการใช้นิ้วเลื่อนจอภาพไปมานานหลายชั่วโมง ผลของการทำท่าเดิมซ้ำ ๆ นี้จะไม่แสดงเด่นชัดนัก แต่จะสะสมไปเรื่อยจนเป็นมากแล้วจึงเกิดอาการขึ้นมา เช่น การปวดคอ ปวดไหล่ ปวดข้อมือ ในระยะเริ่มแรกเมื่อได้พักแล้วอาการอาจจะหายไป แต่หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรม อาการก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พักแล้วไม่หาย ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหรือขั้นรุนแรงสุดคือ ปวดอยู่ตลอดเวลา ที่จริงอาการเหล่านี้อาจเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกายที่ค้างไว้ท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ อย่างไม่ถูกสุขลักษณะ อาการขั้นร้ายแรงที่เป็นกันมาก ก็คือ อาการอักเสบ ชา และเจ็บปวดมาก จนต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อไปอีก
  3. เจ็บข้อมือ
    อาการเจ็บข้อมือที่เกิดจากเส้นประสาทข้อมืออักเสบ (Carpal tunnel syndrome) เกิดขึ้นมากในกลุ่มคนทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องกระดกข้อมือค้างไว้เกือบจะตลอดเวลา ทั้งคลิกเม้าส์ เลื่อนเม้าส์ ประกอบกับมีการกดทับตรงข้อมือ ทำให้เกิดการเสียดสีกันในช่องทางเดินของเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทบริเวณข้อมืออักเสบ อาการนี้รักษาเบื้องต้นได้ด้วยการกินยาแก้ปวดและพักการใช้ข้อมือ แต่ส่วนใหญ่ถ้ากลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิมอีกก็จะกลับมาปวดอีกจนเรื้อรัง หากเป็นมากแพทย์จะต้องฉีดสเตียรอยด์บริเวณข้อมือเพื่อลดการอักเสบโดยตรงและหากเป็นหนักกว่านั้นก็อาจถึงกับต้องผ่าตัด
  4. ความอดทนต่ำ
    อีกอาการหนึ่งที่อาจไม่ส่งผลทางกายภาพชัดเจนนัก คือ การที่พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีส่งผลให้ผู้ใช้มีความอดทนต่ำลง เพราะคุ้นเคยกับการทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ค้นคว้าข้อมูล ติดต่อสื่อสารด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว หรือแม้แต่เกิดอาการหงุดหงิดกระวนกระวายเมื่อขาดอุปกรณ์เทคโนโลยีที่คุ้นเคย เช่น คอมพิวเตอร์เสีย ลืมเอาโทรศัพท์มือถือมาจากบ้านหรือแม้แต่แท็บเล็ตแบตเตอรี่หมด นอกจากนั้นการเสพย์ติดโซเชียลมีเดียจนเคยชิน ยังทำให้เรามีอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จนบางครั้งลืมขีดจำกัดของตนเองไป เช่น การดูซีรี่ส์จนดึกทั้งที่วันรุ่งขึ้นต้องไปเรียนหนังสือ หรือคุยแชตกับแฟนจนไม่ได้นอนทั้งคืน ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมลงโดยไม่รู้ตัวในที่สุด

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวทั้งสิ้น ดังนั้น ควรระลึกไว้เสมอว่าต้องรู้เท่าทันพฤติกรรมของตนเองและจำไว้ว่าเทคโนโลยีอาจมีทั้งผลกระทบแง่บวกและลบ ขึ้นอยู่กับที่เราจะปรับตัวและป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียจนเกินเยียวยา แม้กิจวัตรประจำวันของเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่เราสามารถเลือกที่จะไม่ป่วยเพราะเทคโนโลยีได้

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา :  www.reo14.moe.go.th
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com


.jpg

ในบางครั้ง ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า อาจทำให้รู้สึกว่าคุณไม่สามารถควบคุมหรือทำอะไรกับได้ซักอย่าง แต่แท้จริงแล้ว คุณยังสามารถลุกขึ้นสู้ไปพร้อมกับการบำบัดและรับยาต้านอาการด้วยวิธีที่หลากหลาย โดยอาจเริ่มจากข้อเสนอแนะเหล่านี้

 

จัดการกับโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง

  1. กำหนดตารางชีวิตประจำวัน
    ในภาวะซึมเศร้าบ่อยครั้งที่วันเวลามักใหลและเลือนหายไปแบบไม่รู้ตัว การจัดตารางกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันจะช่วยให้คุณค่อย ๆ กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติขึ้นได้อีกครั้ง
  2. กำหนดเป้าหมาย
    หากเป็นโรคซึมเศร้าแล้วอย่ารู้สึกแย่กับตัวเอง หากไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ซักอย่างในขณะที่มีอาการ มาเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้งด้วยการตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ที่คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยนะ
  3. ออกกำลังกาย
    การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความรู้สึกที่ดีโดยการหลั่งสาร Endorphins กระตุ้นสมองในทางที่ดี และยังถือเป็นกิจกรรมที่เป็นผลดีระยะยาวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยคุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก ลงวิ่งมาราธอน หรือทำสิ่งที่เหนื่อยเกินไป การออกไปเดินเล่นรับลมซักหน่อยในแต่ละสัปดาห์ เราก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายเช่นกัน
  4. กินเพื่อสุขภาพ
    อาจจะไม่มีอาหารวิเศษใด ๆ ที่สามารถแก้ไขภาวะซึมเศร้าได้โดยตรง แต่ถ้าอาการป่วยทำให้คุณกินมากเกินไป การควบคุมอาหารนั่นแหละที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นอีกครั้ง และอย่าลืมทานอาหารที่มีแนวโน้มจะช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ เช่น อาหารที่มีไขมันโอเมก้า 3 จำพวกปลาแซลมอน ทูน่า และอาหารประเภทกรดโฟลิค พวกผักโขม และอะโวคาโด
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    นอกจากภาวะซึมเศร้าจะทำให้รู้สึกหดหู่ การนอนน้อยจะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง แก้ไขนิสัยการนอนโดยพยายามนอนหลับและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน และนำสิ่งที่อาจรบกวนการนอนออกจากห้อง
  6. เพิ่มหน้าที่รับผิดชอบ
    โรคซึมเศร้าอาจทำให้คุณปลีกตัวจากสังคม ครอบครัว การงาน และปล่อยทิ้งความรับผิดชอบทั้งหมด แต่เราจะแนะนำให้ลองกลับไปอีกครั้ง โดนยังไม่ต้องก้าวข้ามไปเต็มตัวก็ได้ แต่นำไลฟ์สไตล์บางอย่างของคุณกลับมา อาจเริ่มจากหน้าที่รับผิดชอบง่าย ๆ หรืองานอาสาสมัครที่จะไม่ทำให้คุณรู้สึกกดดัน
  7. ท้าทายความคิดด้านลบ
    พยายามเปลี่ยนความคิดของคุณทีละนิด หยุดความฟุ้งซ่านด้วยการตั้งคำถาม อย่าง คุณอาจจะรู้สึกว่าไม่มีใครชอบคุณ แต่มีหลักฐานจริง ๆ หรือเปล่า ? หรือการรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าที่สุดในโลก มันเหมือนจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรอ ? มันอาจจะต้องใช้เวลาในการค่อย ๆ ฝึกเอาชนะความคิดด้านลบ แต่แค่ลองเริ่ม ก็เป็นก้าวแรกที่เยี่ยมยอดแล้ว
  8. ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหรืออาหารเสริมใด ๆ
    เพราะสารบางตัวในยา หรืออาหารเสริมต่าง ๆ อาจสามารถมีผลกระทบกับอาการภาวะซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า เพราะฉะนั้นควรคุยกับแพทย์ให้แน่ใจว่าคุณสามารถใช้มันได้โดยไม่มีผลเสียตามมา
  9. ทำอะไรใหม่ ๆ
    ลองผลักดันตัวเองไปทำอะไรที่ต่างจากที่เคย หาไอเดียดี ๆ อย่างการไปพิพิธภัณฑ์อ่านหนังสือในสวน ทำอาหาร หรือแม้แต่ลงเรียนภาษา เพราะการพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองอย่าง Dopamine ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสุข ความเพลิดเพลินและการเรียนรู้
  10. พยายามสนุกสนานอีกครั้ง
    โรคซึมเศร้าอาจทำให้คุณรู้สึกหมดความสนใจ และไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่จะสนุกแล้วในโลกนี้ ซึ่งมันเป็นอาการของโรค เพราะฉะนั้นมาเริ่มเรียนรู้ที่จะค่อย ๆ กลับมารู้สึกสนุกอีกครั้งผ่านกิจกรรมโปรด กับคนใกล้ชิด เมื่อถึงเวลา ความรู้สึกสนุกสนานนี้อาจค่อย ๆ กลับมาเติมเต็มรอยยิ้มให้คุณอีกครั้ง

 

เมื่อเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีอาการภาวะซึมเศร้าแล้ว สิ่งที่ควรระลึกเสมอ คือ อย่าได้ย่อท้อหรือสิ้นหวังโดยเด็ดขาด ทุกปัญหาย่อมมีทางออกอยู่เสมอ แค่ผสานสองวิธีการบำบัดด้วยตัวเองและการรักษาโดยจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในอีกไม่นานก็ต้องพบผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก :  www.pixabay.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก