กวาวเครือ ที่พบในประเทศไทยนั้นมี 4 ชนิด คือ
- กวาวเครือขาว (Pueraria mirifica Airy Shaw et Suvatab) เป็นไม้เถา ขึ้นกับต้นไม้ หรือเลื้อยไปบนดิน ก้านใบหนึ่งมี 3 ใบ ใบเล็กกว่าชนิดแดง หัวคล้ายมันแกว การใช้ทำยาให้เลือก หัวแก่ เอามีดปาดดูจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เนื้อเปราะมีเส้นมาก
- กวาวเครือแดง (Butea superba) เมื่อสะกิดเปลือกหัวจะมียางสีแดงคล้ายเลือดไหลออกมา เมื่อใช้ทำเป็นยา ชนิดแดงแรงกว่าชนิดขาว
- กวาวเครือดำ (Mucuna macrocarpa Wall.) ลำต้นและเถาเหมือนกวาวเครือแดง แต่ใบและหัวมีขนาดเล็กกว่า มียางสีดำ ใช้ทำเป็นยามีฤทธิ์แรงมาก ขนาดที่ใช้จึงน้อยมาก
- กวาวเครือมอ ทุกส่วน ต้น เถา ใบ หัว เหมือนกับชนิดดำ แต่เนื้อในหัวและยางมีสีมอ ๆ
ประโยชน์ของกวาวเครือที่กล่าวไว้ ในตำรายาไทยหลวงอนุสารสุนทร ได้กล่าวถึงสรรพคุณต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้สูงอายุ ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย (คนหนุ่มสาวห้ามรับประทาน)
- ทำให้กระชุ่มกระชวย
- ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล
- ช่วยเสริมอก กระตุ้นเต้านมขยายตัว โดยเฉพาะกวาวเครือขาว
- ช่วยทำให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และเพิ่มปริมาณเส้นผม
- แก้โรคตาฟาง ต้อกระจก
- ทำให้ความจำดี
- ทำให้มีพลังการเคลื่อนไหวการเดินเหินจะคล่องแคล่ว
- ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยทำให้รับประทานอาหารอร่อย
นอกจากนี้ ในการใช้กวาวเครือขาวเพื่อประโยชน์ทางยานั้น ควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างแน่ชัด เพราะจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกวาวเครือที่กำลังได้รับความนิยม คือ กวาวเครือขาวนั้นมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนที่พบในเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ดังนั้น การใช้ประโยชน์ทางยา จึงไม่ควรใช้ในปริมาณมาก ๆ และติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงได้ คือ ในเพศหญิงจะทำให้เต้านมโตเกินไป เต้านมแข็งเป็นก้อน และทำให้เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งที่เต้านมได้ ส่วนเพศชายจะมีเยื่อหุ้มที่อัณฑะหนาตัวขึ้น และนำไปสู่การเป็นมะเร็งที่อัณฑะได้
ส่วนแหล่งที่พบกวาวเครือนั้น ส่วนใหญ่จะพบในป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบผสมป่าใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าก่อเชิงเขาหินปูน ริมห้วย หรือลำธารที่มีน้ำไหลตามฤดูกาล และมักจะมีหินปูน ทับทราย หรือดินลูกรังผสมอยู่ พบมากในภาคเหนือลงมาจนถึงเทือกเขาตะนาวศรีในภาคตะวันตก และในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก จากจังหวัดเลยลงมาจนถึงจังหวัดลพบุรี สระบุรี และนครราชสีมา
ภาพประกอบจาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th