กองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund) และสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute for Cancer Research) ได้รายงานปัจจัยที่จะช่วยป้องกันและลดโอกาสของการเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของระบบสุขภาพทั่วโลก
ในประเทศไทย อัตราการตายจากโรคมะเร็งมากขึ้น ๆ อย่างต่อเนื่อง จนขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้า การตายจากอุบัติเหตุที่มาเป็นอันดับ 2 และจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในอันดับ 3 และ จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand) พ.ศ. 2554 พบว่า ผู้ชายไทยป่วยเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีในตับมากที่สุด รองลงมา คือ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และท่อน้ำดีในตับ (https://www.m-society.go.th/article_attach/19824/20879.pdf)
รายงานดังกล่าวเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ณ เวบไซต์ https://www.wcrf.org/dietandcancer/cancer-prevention-recommendations ซึ่งรวบรวมจากผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ ได้แนะนำข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดโอกาสการเป็นโรคมะเร็ง 10 ประการง่าย ๆ ได้ดังนี้
- น้ำหนักตัวเหมาะสม (Healthy Weight) เพราะหากควบคุมดูแลน้ำหนักตัวให้ได้ตามเกณฑ์ ไม่อ้วน หรือผอมเกินไป จะส่งผลป้องกันมะเร็งได้ถึง 12 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร มะเร็งในช่องปาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งเยื่อบุมดลูก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (Physical Active) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 90 นาที ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์ว่า ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุมดลูกได้
- อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ที่ควรรับประทานในสัดส่วนที่มากขึ้น ได้แก่ เมล็ดธัญพืชทั้งเมล็ด (Whole Grain) ผัก (Vegetable) ผลไม้ (Fruit) และถั่ว (Bean)
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือลดสัดส่วนลง ได้แก่ อาหารจานด่วน หรือฟาสฟูด (Fast Food) อาหารที่มีไขมัน หรือแป้ง น้ำตาล (Food with High Fat, Starch, Sugar) ในปริมาณสูง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
- ควรหลีกเลี่ยงเนื้อแดง และเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการ (Red Meat & Processed Meat) เพราะการบริโภคเนื้อแดง หรือเนื้อแปรรูป จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง ในทางตรงกันข้ามจะแนะนำให้บริโภคเนื้อขาว เช่น ปลา ไก่ หรือแหล่งโปรตีนจากพืชแทน
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มน้ำตาล (Sugar Drink)
- ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ (Alcohol) เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชื่อมโยงกับโรคกว่า 200 ชนิด อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ตับแข็ง โรคหัวใจ ความจำเสื่อม และมะเร็ง
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาดสูง (High Dose of Food Supplement) ซึ่งแนะนำให้ใช้อาหารตามธรรมชาติดีกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breast Feeding) หากเป็นไปได้หญิงตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้ว ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างน้อยสัก 6 เดือน หรือจนกระทั่งบุตรอายุ 2 ปี
- หากเป็นมะเร็ง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง
นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยง บุหรี่ แสงแดด เกลือ ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง หัวใจ เป็นต้น