ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Respiratory-system.jpg

ระบบหายใจ (Respiratory system) เป็นระบบที่นำอากาศซึ่งมีออกซิเจนเข้าสู่ปอด จากการหายใจเข้า เพื่อให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) ในขณะเดียวกันยังเป็นการรับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการดังกล่าว ส่งออกนอกร่างกาย จากการหายใจออก

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

ทางเดินหายใจส่วนบน ประกอบด้วย จมูกและปาก (Nose and Mouth) หลอดคอ (Pharynx) หลอดเสียง (Larynx)

ขณะหายใจเข้า อากาศจะผ่านรูจมูก เข้าโพรงจมูก ที่โพรงจมูกจะมีเส้นขนและต่อมน้ำมันที่ช่วยกรองและจับฝุ่นละออง รวมถึงการปรับความชุ่มชื้นและอุณหภูมิอากาศให้เหมาะสม หลังจากนั้นอากาศจะผ่านหลอดคอและกล่องเสียง ด้านบนของกล่องเสียงจะมีฝาปิดกล่องเสียง ซึ่งจะปิดในระหว่างการกินอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารตกเข้าสู่หลอดลม

ทางเดินหายใจส่วนล่าง ประกอบด้วย หลอดลม (Trachea) หลอดลมเล็กหรือขั้วปอด (Bronchus) ปอด (Lung) ซึ่งมีหลอดลมฝอย (Bronchiole) ถุงลม (Alveoli) เยื่อหุ้มปอด (Pleura)

อากาศเมื่อผ่านกล่องเสียง จะเข้าสู่หลอดลมที่ซึ่งมีขนอ่อนขนาดเล็กและเยื่อเมือกคอยดักจับสิ่งแปลกปลอม ก่อนแยกเข้าสู่หลอดลมเล็กหรือขั้วปอดทั้งด้านซ้ายและขวา ที่ปอดหลอดลมเล็กจะลดขนาดเป็นหลอดลมฝอย และถุงลมในปอด โดยปอดแต่ละข้างจะมีถุงลมปอดประมาณ 300 ล้านถุง ล้อมรอบด้วยเส้นเส้นเลือดฝอยปอดซึ่งมีขนาดเล็กและบางเพียงพอในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเป็นการเชื่อมต่อระหว่างระบบหายใจกับระบบไหลเวียนโลหิต

 

การทำงานของระบบหายใจ

ในขณะที่หายใจเข้า อากาศที่มีออกซิเจนจะไหล่ผ่านทางเดินหายใจส่วนบน เข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ที่บริเวณถุงลมปอด ออกซิเจนจากถุงลมปอดจะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดฝอยรอบ ๆ ถุงลมปอด และรวมตัวกับฮีโมโกลบิน (Haemoglobin; Hb) ที่ผิวของเม็ดเลือดแดง (Red blood cell) กลายเป็นออกซีฮีโมโกลบิล (Oxyhemoglobin; HbO2) ซึ่งมีสีแดงสด โดยเลือดที่มีออกซีฮีโมโกลบินนี้จะถูกส่งเข้าสู่หัวใจและสูบฉีดผ่านหลอดเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ที่เนื้อเยื่อ ออกซีฮีโมโกลบินจะสลายให้ออกซิเจนและฮีโมโกลบิน โดยออกซิเจนจะแพร่จากหลอดเลือดฝอยเข้าสู่เนื้อเยื่อ และถูกนำไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญเพื่อให้พลังงานแก่เซลล์ของเนื้อเยื่อต่อไป

ในทางกลับกัน คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการเผาผลาญ ก็จะแพร่จากเนื้อเยื่อเข้าสู่หลอดเลือดฝอย โดยผ่านขั้นตอนทางเคมีระหว่างการเดินทาง โดยเมื่อถึงบริเวณถุงลมปอด คาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่จากเส้นเลือดฝอยจะแพร่เข้าสู่ถุงลมปอด และถูกขับออกจากร่างกาย ผ่านการหายใจออก

 

โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ

ไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่   โรคหืด   หลอดลมอักเสบ   โรคปอดบวม   โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง   มะเร็งปอด

ไข้หวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบน ส่งผลต่อจมูก ปากและหลอดคอ อาการที่พบ เช่น คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้อ่อน ผู้ที่เป็นยังสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ในกรณีที่มีการดูแลร่างกายและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

ไข้หวัดใหญ่ อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีไข้เด่น และมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ โดยอาการอาจมีความรุนแรงและพัฒนาไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ โรคนี้พบได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว ซึ่งเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่จะแพร่ได้เป็นอย่างดี

โรคหืด บางครั้งเรียกหอบหืด เกิดจากการที่หลอดลมมีความไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแวดล้อม โดยภายหลังถูกกระตุ้น จะทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม หรือการมีสารคั่งค้างอยู่ภายในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ ตีบแคบ หายใจลำบาก และเป็นอันตรายกับผู้ป่วย

หลอดลมอักเสบ มีทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง โดยเกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ แสบคอ หายใจลำบาก และมีไข้ ทั้งนี้การอักเสบส่วนใหญ่พัฒนามาจากโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น

โรคปอดบวม ปอดบวมเกิดจากการมีเชื้อโรคเข้าสู่เนื้อปอด โดยการหายใจหรือสำลักเอาเชื้อโรคเข้าไปในปอด หรือจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ มีไข้ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย โรคนี้จะเป็นอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคปอดชนิดเรื้อรัง โดยจะมีภาวะถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบเรื้อรังร่วมกัน อาการหลัก คือ หอบ ไอ หายใจลำบาก ติดเชื้อปอดบ่อย สาเหตุหลักของโรคเกิดจากการสูบบุหรี่ การรักษาเป็นการหยุดสาเหตุ และรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

มะเร็งปอด เกิดจากการที่เซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปอดมีความผิดปกติ และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเนื้อร้าย ภายหลังมีการแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย ระยะแรงมักไม่แสดงอาการ ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง ไอปนเลือด หายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด  ปวดหรือเจ็บขณะหายใจหรือไอ เป็นต้น

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.pobpad.com  www.haamor.com  th.wikipedia.org  www.meded.psu.ac.th    
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 


.jpg

อาการ “เหน็บชา” หรือ “อาการชา” พบได้บ่อยและมีอยู่หลายแบบ บางคนแค่ชาเฉพาะที่เป็นครั้งคราวจากการนั่งหรือนอนผิดท่า แค่เปลี่ยนท่าทางชั่วครู่ก็หายได้ แต่อาการชาของบางคนนั้นบ่งบอกถึงความผิดปกติที่มีการกดทับเส้นประสาทบริเวณต่าง ๆ จนอาจต้องถูกผ่าตัดเลยก็มี

 

ดังนั้นหากเราเรียนรู้ลักษณะของอาการชาประเภทต่าง ๆ ไว้ ก็จะช่วยวินิจฉัยโรคของตัวเองในเบื้องต้นได้บ้าง จะได้ไม่ตกใจจนเกินเหตุ หรือจะได้ไม่ชะล่าใจจนเกินไป

 

อาการชา แบบไหน บริเวณไหน

สิ่งสำคัญคือ ต้องสังเกตตัวเองให้ดีว่ามีอาการชาแบบไหน และชาบริเวณไหนกันแน่ อย่านำไปปนกับอาการปวด มันคนละเรื่องกัน ปวดก็คือปวด แต่ชาคือการที่มีความรู้สึกในบริเวณนั้นน้อยลง คนไข้เองก็ต้องให้ความร่วมมือ ตั้งสติและสังเกตตัวเองให้ดี อย่าบอกมั่ว ถ้ามั่วไปก็วินิจฉัยไม่ถูกหรือถ้าบอกบริเวณที่ชาผิดตำแหน่งก็อาจจะกลายเป็นคนละเรื่อง คนละโรคกันไปเลย บางคนถึงขั้นถูกผ่าตัดผิดที่ก็มีมาแล้ว

เกือบทุกคนคงเคยมีอาการเหน็บชาเฉพาะที่จากการนั่งหรือนอนผิดท่าเป็นครั้งคราว ซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาทบางเส้น เช่น เหน็บชาบริเวณเท้าขณะนั่งพับเพียบไหว้พระ เมื่อเปลี่ยนท่าสักครู่อาการก็จะหายไป แต่ถ้ายังฝืนทนหรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเปลี่ยนท่าได้ เช่น หลับลึก เมาสุรา ป่วยหนัก พิการทางสมอง เป็นต้น เส้นประสาทที่ถูกกดทับจะช้ำมากจนไม่สามารถฟื้นคืนสภาพปกติภายในเวลาอันสั้น หรืออาจเสียหายถาวรได้

 

สาเหตุที่พบบ่อย

  1. ชาปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว
  2. ชามือ เท้าไม่ชา
  • ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่นิ้วก้อยไม่ชาหรือชาน้อย มักเป็นกลางคืนหรือตอนตื่นนอน ในตอนกลางวันมักชามากในบางท่า เช่น ชูมือ ขี่มอเตอร์ไซค์ ถือโทรศัพท์ หรือใช้มือทำงานหนัก สาเหตุเกิดจากเอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ ต้องลดงานที่ใช้มือลง เลี่ยงท่าที่ทำให้ชา บางคนอาจต้องฉีดยาที่ข้อมือ
  • ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และขอบมือด้านเดียวกัน แต่ไม่เลยเกินข้อมือ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับตรงข้อศอก ให้เลี่ยงท่าที่ทำให้ชา (ถ้าชาเลยข้อมือขึ้นมาถึงศอก จะเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า ควรปรึกษาแพทย์)
  • ชาหลังมือไม่เกินข้อมือ โดยเฉพาะบริเวณง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ต้นแขน ห้ามนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้ แต่ถ้าชาเลยขึ้นมาถึงแขน เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้
  • ชาเป็นแถบตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ เกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์

 

  1. ชาเท้า มือไม่ชา
  • ชาหลังเท้าขึ้นมาถึงหน้าแข้ง เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก ให้เลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง ขัดสมาธิ พับเพียบ และห้ามใช้อะไรรองใต้ข้อพับเข่าเวลานอน
  • ชาฝ่าเท้า เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ตาตุ่มด้านในหรือในอุ้งเท้า ให้เลี่ยงท่าที่ทำให้ชาและลดการยืนหรือเดินนาน ๆ
  • ชาทั้งเท้า ข้างใดข้างหนึ่ง มักชาขึ้นมาถึงใต้เข่า เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บที่สะโพก ควรปรึกษาแพทย์
  • ชาด้านนอกของต้นขา คล้ายยืนล้วงกระเป๋ากางเกง เส้นประสาทจะถูกกดทับที่ขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก
  • ชาเป็นแถบจากสะโพกลงไปถึงเท้า เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์

 

  1. อาการชาอื่น ๆ ที่ควรปรึกษาแพทย์
    เช่น ชาครึ่งซีก (ซ้ายหรือขวา) ชาครึ่งตัว (บนหรือล่าง) ชาบริเวณใบหน้าและศีรษะ หรือชาเป็นแถบบริเวณอื่น ๆ

การศึกษารูปแบบของอาการชาหลาย ๆ ลักษณะนี้ จะเกิดประโยชน์เมื่อผู้อ่านมีอาการแล้วสังเกตตำแหน่งได้ถูกต้อง ทำให้รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และควรไปปรึกษาแพทย์หรือไม่

ที่สำคัญคือถ้าจะไปปรึกษาแพทย์ก็ต้องตั้งสติ สังเกตอาการให้ชัด ๆ อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าปวด และ/หรือชาตรงตำแหน่งไหน เพราะจะช่วยให้วินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง อย่าอธิบายแบบมั่ว ๆ เพราะถ้าแพทย์ไม่ละเอียดเกิดผ่าตัดไปแบบมั่วๆ บ้าง ถือว่าแพทย์และผู้ป่วยเองก็มีส่วนเหมือนกัน    

 

บทความ : นพ. พินิจ ลิ้มสุคนธ์. นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่ 372. เมษายน 2553. “เรียนรู้ เรื่องเหน็บชา”
แหล่งที่มา : https://www.doctor.or.th/article/detail/10723
ภาพประกอบจาก : http://www.ultimatebowling.com

 


-ความดันเลือด-Blood-pressure-re.jpg

ความดันโลหิต หรือ ความดันเลือด (Blood pressure) คือ ความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งเรียกว่า ความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) และเมื่อหัวใจพักคลายตัว ซึ่งเรียกว่า ความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) ดังนั้น การรายงานผลความดันโลหิต จึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ โดยจะบันทึกความดันซีสโตลิกเป็นตัวแรก หรือ ตัวบน ส่วนความดันไดแอสโตลิกจะบันทึกเป็นตัวตามหรือตัวล่าง เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 หมายความว่า ความดันซีสโตลิค คือ 120 ส่วนความดันไดแอสโตลิค คือ 80

 

หน่วยวัดความดันโลหิต คือ มิลลิเมตรปรอท (มม. ปรอท) ทั้งนี้เพราะเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้ในระยะแรกก่อนมีเครื่องชนิดอัตโนมัติ (Automatic blood pressure monitor) วัดจากความดันเลือดที่สามารถดันสารปรอทให้เคลื่อนที่ได้สูงกี่มิลลิเมตร

การวัดความดันโลหิต โดยทั่วไปวัดที่แขน วัดได้ทั้งแขนซ้ายหรือแขนขวา ซึ่งให้ค่าความดันโลหิตได้เท่ากัน ยกเว้น เมื่อมีโรคของหลอดเลือดแขนตีบ (พบได้น้อยมาก ๆ) ทั้งนี้การวัดความดันฯ วัดได้ทั้งในท่านอนหงายหรือท่านั่ง และควรพักอย่างน้อย 5 – 10 นาที ก่อนวัดความดันฯ เพราะการออกแรงจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ในภาวะทั่วไปที่ไม่ใช่ โรคความดันโลหิตสูง แต่สามารถส่งผลให้ความดันฯสูงขึ้นได้ ที่พบบ่อย คือ การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว อาการไข้ ยาบางชนิด เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน (เช่น Levothyroxine) อารมณ์/จิตใจ (เครียด โกรธ กังวล) กินอาหารเค็ม นอกจากนั้น คือ ช่วงกลางวันความดันฯจะสูงกว่าช่วงนอนพักและช่วงกลางคืน และผู้ใหญ่ความดันฯจะสูงกว่าเด็ก

ความดันโลหิตจัดเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพที่สำคัญ (ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ชีพจร และอุณหภูมิของร่างกาย) ซึ่งสามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเป็นความสำคัญเบื้องต้นที่บอกถึง โรคความดันโลหิตสูง  การทำงานของหัวใจและโรคหัวใจ

นอกจากนั้น ทุก ๆ คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 หรือ 20 ปี ควรมีการตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อคัดกรอง โรคความดันโลหิตสูง และเมื่อพบเริ่มมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง แพทย์ พยาบาลจะได้แนะนำการดูแลตนเองหรือวินิจฉัยหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เพื่อการป้องกัน โรคความดันโลหิตสูง และเพื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านั้นแต่เนิ่นๆ เพื่อผลการรักษาควบคุมโรคได้ดีกว่า เมื่อตรวจพบหลังจากมีอาการผิดปกติแล้ว

  • ความดันโลหิตปกติ คือ 90 – 119 / 60 – 79 มม.ปรอท
  • ความดันโลหิตในผู้มีแนวโน้มจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง  คือ 120 – 139 / 80 – 89 มม.ปรอท
  • โรคความดันโลหิตสูงระยะ 1 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140 – 159 / 90 – 99 มม.ปรอท
  • โรคความดันโลหิตสูงระยะ 2 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง คือ ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 180/ 110 มม.ปรอทเป็นต้นไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาจจาก โรคหัวใจล้มเหลว สมองสูญเสียการทำงาน และ/หรือไตล้มเหลว
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน คือความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้ จากการทำงานล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต

อนึ่ง ความดันโลหิตสูงวินิจฉัยจากความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวขึ้นสูงกว่าปกติ ทั้งนี้เมื่อวัดความดันฯผิดปกติ ให้วัดซ้ำอีกครั้ง ห่างกันประมาณ 5 นาทีหลังพักประมาณ 5 – 10 นาที ถ้าค่าการวัดยังผิดปกติ จึงจะถือว่าความดันฯผิดปกติจริง

.
บรรณานุกรม
1. Madhur,M. et al. Hypertension http://emedicine.medscape.com/article/241381-overview#showall [2014,July26]

 

ผู้เขียน : ศ.เกียรติคุณ.  พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์. “ความดันโลหิต ความดันเลือด (Blood pressure)” (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://haamor.com/th/ความดันโลหิต
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 

 


-Immune-system.jpg

ร่างกายของมนุษย์ทุกคนต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อม ซึ่งมีทั้งที่เหมาะสม ไม่เหมาะสม เป็นภัยหรือไม่เป็นภัยกับร่างกาย โดยร่างกายได้พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกรานจากสิ่งแปลกปลอม ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น จุลินทรีย์โดยเฉพาะที่เป็นเชื้อโรค เซลล์มะเร็ง เซลล์ปลูกถ่าย รวมถึงสารเคมี ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เกสรดอกไม้  ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในร่างกาย

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

  1. ไขกระดูก (Bone marrow) เป็นโพรงที่อยู่ตรงกลางของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกท่อนยาว มีหน้าที่ในการผลิตเม็ดเลือดขาว (White blood cells, Leukocytes) ทุกชนิด รวมถึงเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด
  2. ต่อมไทมัส (Thymus gland) เป็นต่อมที่เม็ดเลือดขาวชนิดทีลิมโฟไซต์ (T- Lymphocyte) ซึ่งถูกสร้างจากไขกระดูกมาพัฒนาจนสมบูรณ์ ก่อนส่งสู่กระแสเลือด เพื่อทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน
  3. ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) เป็นต่อมรูปไข่ กระจายอยู่เป็นระยะตามหลอดน้ำเหลือง ทำหน้าที่กรองน้ำเหลือง โดยเป็นที่อยู่ของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ที่คอยทำลายเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะแบคทีเรียที่เข้ามาสู่ร่างกาย รวมถึงการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่หมดอายุ
  4. ม้าม (Spleen) เป็นที่อยู่ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) และลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) รวมถึงการทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่หมดอายุ

 

การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

เมื่อร่างกายสัมผัสเชื้อโรค (Pathogen) หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จะมีกลไกการทำงาน อธิบายพอเข้าใจดังนี้

  • ด่านที่ 2 การป้องกันโดยการทำงานของเม็ดเลือดขาว ในกรณีที่เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมสามารถผ่านด่านที่ 1 เข้าสู่ร่างกายได้ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ จากนั้นเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ จะร่วมกันทำงานโดยเม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์ (Phagocyte) ได้แก่ เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) แมคโครฟาจ (Macrophage) และนิวโทรฟิล (Neutrophil) จะเข้าจับกินเชื้อโรค โดยเฉพาะแบคทีเรียเรียก กระบวนการฟาโกไซโตซิส (Phagocytosis) หลังจากนั้นทั้งเชื้อโรคและเม็ดเลือดขาวจะตายแล้วกลายเป็นหนอง  นอกจากนี้ยังมีอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ช่วยขัดขวางการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส เซลล์เอ็นเค (Natural killer cell) ช่วยในการทำลายเซลล์เนื้องอก (Tumor cell) และเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส  รวมถึงการมีระบบคอมพลีเมนต์ (complement system) ที่กลุ่มของโปรตีนในซีรัมหรือน้ำเลือด ช่วยให้แบคทีเรียที่มีแอนติบอดี (Antibody) เกาะอยู่ ถูกเซลล์จับกินได้ง่ายขึ้นทั้งนี้กลไกการป้องกันในด่าน 1 และด่าน 2 นั้น ถือเป็นกลไกการป้องกันแบบไม่เฉพาะเจาะจง (Nonspecific defense mechanism) มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล
  • ด่านที่ 3 การป้องกันโดยการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม เรียก แอนติเจน (Antigen) แบบเฉพาะเจาะจง โดยในขั้นตอนนี้ จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ทั้งชนิดบี (B-lymphocyte) และชนิดที (T-lymphocyte)โดยบี ลิมโฟไซต์ เมื่อสัมผัสแอนติเจนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์พลาสมา (Plasma cell) เพื่อทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี เรียก อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin)  เพื่อตอบสนองต่อแอนติเจนแต่ละชนิดอย่างจำเพาะเจาะจง ปกติร่างกายจะสามารถสร้างแอนติบอดีได้ภายใน 14 วัน ขึ้นกับชนิด ปริมาณและวิธีการเข้าสู่ร่างกายของแอนติเจนนั้นๆ นอกจากนี้บางส่วนของบี ลิมโฟไซต์ ยังเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เมมเมอรี่ (Memory cell) เพื่อจดจำแอนติเจนที่เคยเข้ามา และสร้างแอนติบอดีได้เร็วขึ้นหากมีเชื้อเดิมเข้ามาในร่างกายอีกสำหรับที ลิมโฟไซต์จะมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเซลล์ที ที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม (Cytotoxic T-cell, CD8+) มีหน้าที่ตรวจจับและทำลาย เซลล์มะเร็งเซลล์ติดเชื้อไวรัส เซลล์จากอวัยวะปลูกถ่าย เป็นต้น กลุ่มที่สองเซลล์ที ผู้ช่วย (Helper T-cell, CD4+) มีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ และกลุ่มที่ 3 เป็นเซลล์ที กดภูมิคุมกัน (suppressor T-cell) มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ให้มีการตอบสนองมากเกินไป

 

การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

นอกเหนือจากภูมิคุ้มกันที่ได้มาตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายยังสามารถรับภูมิคุ้มกันได้หลังจากคลอด (Acquired immunity) แบ่งเป็น 2 ชนิด

  • ภูมิคุ้มกันก่อเอง (Active immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดจากร่างกายได้รับแอนติเจน หรือเชื้อโรคที่อ่อนกำลังลง จนไม่สามารถทำอันตรายต่อสุขภาพ โดยการนำมาฉีด กิน หรือทาที่ผิวหนัง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนไอกรน โปลิโอ วัณโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น
  • ภูมิคุ้มกันรับมา (Passive immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการสกัดจากเลือดของสิ่งมีชีวิต แล้วนำมาฉีดให้ร่างกายต้านทานโรคได้ทันที เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มโรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก คอตีบ เป็นต้น หรือการได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ตั้งเเต่อยู่ในครรภ์

 

โรคระบบภูมิคุ้มกันที่พบบ่อย

โรคภูมิแพ้   โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง   โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

โรคภูมิแพ้ เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อการถูกกระตุ้น โดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ผง  เชื้อรา ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ อาหารบางอย่าง ซึ่งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ สารเหล่านี้จะไม่มีอันตรายใด ๆ โรคภูมิแพ้จัดเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย

โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมีความผิดปกติ โดยจะต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่อ อวัยวะของตนเอง ผู้ป่วยอาจมีอาการ ผื่นแดงตามใบหน้า ตาแห้ง ตัวบวม ขาบวม ปวดหัว ปวดบวมตามข้อต่อกระดูก ผมร่วง สมอง และระบบประสาทเสียหาย เป็นต้น โรคนี้มีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือ โรคภูมิแพ้ เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematous: SLE)

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อมหรือบกพร่อง ทำให้เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าปกติ อาการมักจะรุนแรง เรื้อรังและเสียชีวิตในที่สุด

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.livescience.com  www.britannica.com  th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 


-Lymphatic-system.jpg

ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบหมุนเวียน (Circulatory system) ในร่างกาย ประกอบด้วย น้ำเหลือง (Lymph) หลอดน้ำเหลือง (Lymphatic vessel) ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) รวมอวัยวะน้ำเหลือง (Lymphatic organ) มีหน้าที่หลักคือ นำของเหลวที่ซึมออกมาจากหลอดเลือดฝอยกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำ รวมถึงสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

น้ำเหลือง (Lymph) เป็นของเหลวที่ซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยออกมาอยู่ระหว่างเซลล์หรือรอบ ๆ เซลล์ ต่อมาของเหลวบางส่วนกลับเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง เรียก น้ำเหลือง มีส่วนประกอบคล้ายกับพลาสมา (Plasma) ในเลือด แต่มีโปรตีนน้อยกว่า และไม่มีเม็ดเลือดแดง
อย่างไรก็ตามส่วนประกอบนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นกับว่าน้ำเหลืองมาจากอวัยวะใด เช่น น้ำเหลืองที่มาจากบริเวณลำไส้เล็กซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการดูดซึมไขมันสูง ทำให้น้ำเหลืองมีลักษณะคล้ายน้ำนม ขณะที่น้ำเหลืองที่มาจากบริเวณต่อมน้ำเหลือง จะมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์จำนวนมาก

หลอดน้ำเหลือง (Lymph vessel) เป็นท่อตันมีอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยมีทิศทางมุ่งเข้าสู่หัวใจ เริ่มจากท่อน้ำเหลืองฝอยจากบริเวณต่าง ๆ มารวมเป็นท่อน้ำเหลืองขนาดใหญ่ขึ้น ไหลเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองหลักของร่างกาย ได้แก่ ท่อน้ำเหลืองทางด้านซ้าย (Left lymphatic duct) หรือท่อน้ำเหลืองทอราซิก (Thoracic duct)  และท่อน้ำเหลืองทางด้านขวา (Right lymphatic duct) ก่อนไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำ จนถึงหลอดเลือดดำใหญ่ เวนาคาวา (Venacava) และเข้าสู่หัวใจ

หลอดน้ำเหลืองมีลักษณะคล้ายกับหลอดเลือดดำ โดยมีลิ้นกั้นป้องกันการไหลกลับของน้ำเหลือง การไหลของน้ำเหลืองจะไปอย่างช้า ๆ จากการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ หลอดน้ำเหลือง จากความแตกต่างของความดันระหว่างหลอดน้ำเหลืองเล็กและหลอดน้ำเหลืองใหญ่ รวมถึงการหายใจเข้าทำให้ปอดขยายตัว

ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) เป็นต่อมที่เชื่อมต่อกับหลอดน้ำเหลือง โดยกระจายอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างทางเข้าสู่หลอดเลือดดำและหัวใจ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้และขาหนีบ ภายในต่อมน้ำเหลืองมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะช่วยในการกรองแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด
นอกจากต่อมน้ำเหลืองแล้ว ยังมีอวัยวะอื่น ๆ รวมเรียกว่าอวัยวะน้ำเหลือง (Lymphatic organ) ดังนี้

ต่อมทอนซิล (Tonsil) เป็นต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ มีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ทำหน้าที่ดักจับและทำลายจุลินทรีย์ที่ผ่านมาในอาหารไม่ให้ผ่านเข้าสู่หลอดอาหารและกล่องเสียง ถ้าทอนซิลติดเชื้อจะมีอาการอักเสบและบวมขึ้น

ต่อมไทมัส (Thymus gland) เป็นต่อมไร้ท่อมีตำแหน่งอยู่ตรงทรวงอก ด้านหน้าหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่ของต่อมไทมัสทำหน้าที่พัฒนาเม็ดเลือดขาวชนิด ที ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) โดยเซลล์ที่สร้างจะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดและน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายจากผู้อื่นด้วย

ม้าม (Spleen) จัดเป็นต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีตำแหน่งอยู่ใต้กะบังลมด้านซ้ายติดกับด้านหลังของกระเพาะอาหาร โดยมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ช่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด และสร้างแอนติบอดี (Antibody) รวมถึงการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่หมดอายุ

 

โรคระบบน้ำเหลืองที่พบบ่อย

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ   วัณโรคต่อมน้ำเหลือง   มะเร็งต่อมน้ำเหลือง   บวมน้ำเหลือง
 

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะบวม แดง ร้อน กดเจ็บของต่อมน้ำเหลือง บางครั้งมีหนอง และ/หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ แขนขาบวม มักพบที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ ลำคอ ใต้คาง ใต้รักแร้ และบริเวณขาหนีบ
อาการดังกล่าวบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น การติดเชื้อหวัด วัณโรค โรคเอดส์ หรือการเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง

วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายได้เป็นระยะเวลานาน สามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม หายใจ ซึ่งนอกเหนือจากการติดเชื้อและเป็นวัณโรคปอด ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่แล้ว  เชื้อนี้ยังสามารถติดไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำลาย สมอง ลำไส้ ได้อีก
ผู้ป่วยวัณโรคต่อมน้ำเหลือง จะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต กลายเป็นฝีและแตกออกมีหนอง ปัจจุบันการแพทย์พัฒนามากขึ้น วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มี 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Lymphoma) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma) โดยคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์จะมีการแบ่งตัวจนไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง พบในวัยผู้ใหญ่หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

บวมน้ำเหลือง เป็นภาวะที่มีการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองชั้นใต้ผิวหนัง อันเนื่องมาจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกันถูกอุดกั้นหรือถูกทำลาย จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ การผ่าตัด ภาวะติดเชื้อ หลอดเลือดดำขอดหรือตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ใช้นิ้วกดแล้วเป็นรอยบุ๋ม แต่สามารถยุบบวมเองได้
ต่อมาผิวหนังมีความผิดปกติ เกิดการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนังมาก ผิวมีสีคล้ำและหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการอักเสบ ติดเชื้อใต้ผิวหนัง นำสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.britannica.com  www.livescience.com  th.wikipedia.org    
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 


.jpg

ผิวหนังเป็นเนื้อเยื่อห่อหุ้มร่างกายที่อยู่ชั้นนอกสุด  โดยผิวหนังของผู้ใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ  3,000  ตารางนิ้ว มีความหนา 1 – 4 มิลลิเมตร ภายในชั้นผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึกจำนวนมาก เพื่อรับรู้การสัมผัส การกด ความเจ็บ และอุณหภูมิร้อนเย็น และหน้าที่สำคัญ ๆ อีกหลายอย่าง

 

โครงสร้างของผิวหนัง

ผิวหนังแบ่งตามโครงสร้างออกได้เป็น  3  ชั้นคือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

  1. ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นผิวหนังที่อยู่ชั้นบนสุด คลุมอยู่บนหนังแท้ มีความหนาตั้งแต่ 0.05 ถึง 5 มิลลิเมตร บริเวณที่บางสุดคือรอบดวงตา บริเวณที่หนาสุดคือฝ่าเท้า หนังกำพร้าประกอบด้วยเซลล์เรียงซ้อนกันเป็นชั้นบาง ๆ อีก 5 ชั้นย่อย โดยเซลล์ชั้นในจะเลื่อนตัวดันเซลล์ชั้นบนหรือชั้นนอกสุด ให้หลุดเป็นขี้ไคลออกไป ผิวหนังชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือด เส้นประสาทรวมถึงต่อมต่าง ๆ หากผิวหนังชั้นนี้ได้รับอันตราย เราจะไม่รู้สึกแต่อย่างใด ทั้งนี้หนังกำพร้าจะเป็นทางผ่านของรูเหงื่อ เส้นขนและไขมัน ชั้นนี้จะมีเซลล์เม็ดสี (Melanin) โดยมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน
  2. ผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นผิวหนังที่อยู่ชั้นล่างถัดจากชั้นหนังกำพร้า มี 2 ชั้นย่อย ผิวหนังชั้นนี้ประกอบด้วยเนื้อเยื่อคอลลาเจน (Collagen) อีลาสติน (Elastin) และตัวประสานเนื้อเยื่อไฮยารูรอน (Hyaluronic acid) ทำให้ผิวหนังมีความแข็งแรง และมีความยืดหยุ่นโดยมีหลอดเลือดฝอย ปลายประสาทรับความรู้สึก ระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และรากขน/ผม กระจายอยู่ทั่วไปในชั้นหนังแท้
  3. ผิวหนังชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutis) อยู่ในสุดของชั้นผิวหนัง ประกอบด้วยไขมัน คอลลาเจน หลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ความหนาของชั้นใต้ผิวหนังจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะ และเพศ ผิวหนังชั้นนี้ช่วยในการรับแรงกระแทก เป็นฉนวนกันอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และยึดเหนี่ยวระบบผิวหนังไว้กับร่างกาย

 

หน้าที่ของผิวหนัง

  1. ป้องกันและปกปิดอวัยวะภายในไม่ให้ได้รับอันตราย
  2. ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง
  3. ป้องกันไม่ให้น้ำภายนอกซึมเข้าไปในร่างกาย และน้ำในร่างกายระเหยออกไป
  4. ขับเหงื่อซึ่งเป็นของเสียออกจากร่างกาย ทางต่อมเหงื่อ
  5. ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ผ่านทางหลอดเลือดฝอยและการระเหยของเหงื่อ
  6. รับความรู้สึกสัมผัส เช่น ร้อน หนาว เจ็บ เป็นต้น
  7. ช่วงสร้างวิตามินดีให้แก่ร่างกาย โดยแสงแดดจะเปลี่ยนไขมันที่ผิวหนังให้เป็นวิตามินดีได้

 

ส่วนของผิวหนังที่เปลี่ยนรูปแบบ

เล็บ พัฒนามาจากหนังกำพร้า เป็นแผ่นแข็งยืดหยุ่นได้ มีลักษณะโปร่งแสง ส่วนที่ยื่นพ้นปลายนิ้ว ไม่มีหลอดเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยง ทำให้สามารถตัดเล็บได้ ส่วนที่ฝังอยู่ในผิวหนังเรียก รากเล็บ ด้านใต้ของเล็บมีปลายประสาทและหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก การงอกของเล็บเฉลี่ย 1 มิลลิเมตรต่อสัปดาห์ โดยเล็บเท้างอกช้ากว่าเล็บมือ

ขนหรือผม พัฒนามาจากหนังกำพร้าชั้นที่อยู่ลึก โดยอยู่ในรูขุมขน มีส่วนที่โผล่พ้นผิวหนังขึ้นมาเรียก เส้นขน/ผม และส่วนที่ฝังอยู่ในรูขุมขนเรียก รากขน/ผม  ที่โคนของรากขน/ผม จะมีกระเปาะรากขน/ผม ภายในกระเปาะนี้จะมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงและมีปลายประสาทมาควบคุม พร้อมทั้งยังมีการเชื่อมต่อกับต่อมไขมันและกล้ามเนื้อเส้นขน ขน/ผมจะมีเซลล์เม็ดสีซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ รวมถึงการมีอายุมากขึ้นเซลล์เม็ดสีจะมีน้อยลง ทำให้เกิดขน/ผมหงอกได้

 

ต่อมที่อยู่ในชั้นของผิวหนัง

ต่อมไขมัน (Sebaceous gland) เป็นต่อมรูปกระเปาะเล็ก ๆ อยู่ในชั้นหนังแท้ พบได้ในผิวหนังเกือบทั้งหมดที่มีขน โดยมีมากที่หนังศีรษะ ใบหน้าและรอบๆ รูเปิดต่างๆ เช่น ทวารหนัก จมูก ปาก โดยไม่พบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันจะเคลือบผิวหนัง ขน/ผมเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น

ต่อมเหงื่อ (Sweat gland) เป็นต่อมอยู่ที่ผิวหนังเกือบทุกแห่งของร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปากและบางส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเส้นเลือดบริเวณต่อมเหงื่อจะส่งของเสียเข้าสู่ท่อของต่อมเหงื่อ ของเสียหรือเหงื่อที่ได้นั้นจะถูกต่อมเหงื่อขับถ่ายออกทางผิวหนังชั้นนอกสุด และมีการระเหยอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลาย ๆ ครั้งร่างกายไม่รู้สึก แต่เมื่ออุณหภูมิภายนอกหรืออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ร่างกายจะมีการขับเหงื่อออกมาในปริมาณมากขึ้น เห็นเป็นเหงื่อที่เปียกค้างรอการระเหยอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย

เหงื่อ (Sweat) ประกอบด้วยน้ำถึงร้อยละ 99 และสารอื่น ๆ อีกร้อยละ 1 เช่น เกลือโซเดียมคลอไรด์ สารอินทรีย์พวกยูเรีย แอมโมเนีย กรดอะมิโน น้ำตาล และกรดแลกติก โดยเหงื่อมีสภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ

 

โรคระบบผิวหนังที่พบบ่อย

ผิวหนังอักเสบ   ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง   โรคงูสวัด   โรคเริม

 

ผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของผิวหนัง ทำให้เกิดอาการผื่นคัน บวม แดง อาจมีแผลพุพอง มีหนอง มีการตกสะเก็ด เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยโรคที่ทำให้ผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผื่นผิวแห้ง โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม ทั้งนี้โรคหรือภาวะที่เป็นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จะไม่มีการติดต่อไปยังผู้อื่น แต่จะทำให้รู้สึกคัน ระคายเคือง ปวดหรือเจ็บได้

โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) โดยเชื้อไวรัสนี้จะทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากหายแล้ว เชื้อสามารถหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาทของร่างกายเป็นระยะเวลานาน ในระหว่างนั้น เมื่อร่างกายอยู่ในช่วงที่อ่อนแอ เช่น พักผ่อนน้อย อดนอนต่อเนื่อง อายุมากขึ้น  เป็นผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง เชื้อจะเกิดการแบ่งตัวและแสดงอาการในรอบที่สอง เป็นโรคงูสวัด

โรคเริม  เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสเชื้อ สัมผัสกับแผล ใช้ของร่วมกับผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยเชื้อไวรัสจะยังคงอยู่แม้อาการสงบลง และจะกลับมาแสดงอาการอีกในช่วงที่ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ ทำให้ผิวแห้ง แดง มีผื่นตามบริเวณต่าง ๆ และมีอาการคันอย่างต่อเนื่อง อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบในเด็กมากกว่าวัยอื่น ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยตรง แต่อาจรักษาได้โดยบรรเทาอาการและป้องกันการลุกลามไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com  en.wikipedia.org  www.eucerin.co.th  www.med.cmu.ac.th
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

     


-re.jpg

ระบบโครงร่าง (Skeleton system) เป็นระบบที่เป็นที่ยึดเกาะของระบบกล้ามเนื้อ (Muscular system) เพื่อช่วยในการค้ำจุนร่างกาย ปกป้องอวัยวะภายใน รักษาร่างกายให้คงตัว ช่วยในการเคลื่อนไหวในทุก ๆ ด้าน อาทิ นั่ง นอน เดิน หยิบจับ ออกกำลัง เป็นต้น เป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส นอกจากนี้ไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อกระดูกชั้นในจะสร้างเม็ดเลือดแดง รวมถึงเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ในระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

  1. กระดูก (Bone) เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อกระดูก มีความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา โดยมีการพัฒนาให้มีรูปแบบของกระดูกที่แตกต่าง และสอดคล้องกันกับการทำงานของร่างกาย เช่น กะโหลกศีรษะ (skull) มีลักษณะแบนแต่แข็งแรงมาก กระดูกต้นขา มีลักษณะเป็นแกนยาว มีจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ผู้ใหญ่จะมีกระดูกจำนวน 206 ชิ้น แบ่งออกตามตำแหน่งในร่างกายเป็น 2 ประเภท ดังนี้
    • กระดูกแกนลำตัว (Axial skeleton) มีจำนวน 80 ชิ้น ได้แก่ กระดูกกะโหลกศีรษะจำนวน 29 ชิ้น กระดูกสันหลัง 51 ชิ้น
    • กระดูกสาขาของร่างกาย (Appendicular skeleton) มีจำนวน 126 ชิ้น เป็นกระดูกที่แยกออกมาจากกระดูกแกนลำตัว ประกอบด้วย กระดูกแขน 60 ชิ้น กระดูกขา 60 ชิ้น กระดูกสะบัก 2 ชิ้น เชิงกราน 2 ชิ้น และ ไหปลาร้า 2 ชิ้น
      นอกจากนี้ หากดูตามรูปร่างของกระดูกยังสามารถแบ่งได้เป็น กระดูกแบบยาว เช่น กระดูกแขนขา หน้าแข้งกระดูกแบบสั้น เช่น กระดูกข้อมือ ข้อเท้า กระดูกแบบแบน เช่น กระดูกศีรษะ กระดูกอก กระดูกรูปร่างไม่แน่นอน เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกอุ้งเชิงกราน และกระดูกแบบสั้นฝังตัวอยู่ในเอ็น เช่น กระดูกสะบ้าโครงสร้างภายในของกระดูก
      โดยเฉพาะกระดูกแบบยาว ด้านนอกจะเป็นเนื้อเยื่อกระดูกในส่วนที่อัดแน่น (Compact bone) ส่วนปลายจะเป็นเนื้อเยื่อกระดูกในส่วนที่โปร่ง (Spongy bone) โดยปลายด้านที่เป็นข้อต่อจะมีกระดูกอ่อน (Articular cartilage) อยู่ที่ผิว
      ส่วนแกนกลางของกระดูก จะมีโพรงกระดูกที่มีหลอดเลือดและไขกระดูก (Bone marrow) อยู่ โดยไขกระดูกนี้จะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ให้กับร่างกาย ที่ผิวด้านนอกของกระดูกยกเว้นด้านข้อต่อ จะมีเยื่อหุ้มกระดูก (Periosteum) เป็นช่องทางทางในการนำเลือด สารอาหาร มาเลี้ยงเซลล์กระดูก ตลอดจนเป็นทางผ่านของเส้นประสาทที่มายังกระดูกด้วย
  2. กระดูกอ่อน (Cartilage) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีโปรตีนหลายชนิด เช่น คอลาเจน เป็นสวนประกอบที่มีความอ่อนนุ่มกว่ากระดูก แต่แข็งกว่ากล้ามเนื้อ สามารถเป็นเนื้อเยื่อในระบบโครงร่างได้ พบในบริเวณข้อต่อต่างๆของร่างกาย รวมถึงโครงร่างของ ใบหู จมูก และหลอดลม กระดูกอ่อนไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง โดยเซลล์ของกระดูกอ่อนจะแลกเปลี่ยนสารอาหารโดยแพร่ผ่านคอลลาเจนสู่เส้นเลือดด้านนอก ทั้งนี้กรณีเซลล์กระดูกอ่อนถูกทำลายจะซ่อมแซมตัวเองได้แต่ช้า เนื่องจากมีเมตาบอลิซึมที่ต่ำ
  3. ข้อต่อและเอ็นเชื่อมกระดูก (Joint & Ligament) ข้อต่อจะเป็นบริเวณที่กระดูก 2 ชิ้นมาต่อกัน โดยมีเอ็นและองค์ประกอบอื่น ๆ รวมถึงกล้ามเนื้อช่วยยึดเสริมความแข็งแรง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
    • ข้อต่อเส้นใย (Fibrous joints) มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันยึดกระดูกเข้าไว้อย่างแน่นหนา ไม่มีช่องว่างระหว่างข้อต่อ เป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ได้แก่ ข้อต่อกะโหลกศีรษะ
    • ข้อต่อกระดูกอ่อน (Cartilage joints) มีกระดูกอ่อนขั้นระหว่างกระดูกทั้งสองข้างที่มาต่อกัน ไม่มีช่องว่างระหว่างข้อต่อ ข้อต่อประเภทนี้เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย ได้แก่ ข้อต่อกระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูกเชิงกราน
    • ข้อต่อชนิดซิลโนเวียล (Sylnovial joint) เป็นข้อต่อที่มีแคปซูลหุ้มข้อ ภายในแคปซูลจะมีเยื้อหุ้มข้อ ถัดจากเยื่อหุ้มข้อจะเป็นโพรงข้อต่อ ภายในโพรงจะมีน้ำไขข้อ (Sylnovial fluid) ที่สร้างจากเนื้อเยื่อรอบแคปซูลหุ้มข้อ เพื่อช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนที่ได้สะดวก นอกจากนี้ ผิวของกระดูกที่มาเชื่อมกันเป็นข้อต่อชนิดนี้ จะมีส่วนที่เรียกว่ากระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular cartilage) ร่วมอยู่ด้วย
      เราสามารถแบ่งชนิดของข้อต่อชนิดซิลโนเวียล  (Sylnovial joint) ตามลักษณะการเคลื่อนไหว ได้เป็นข้อต่อแบบวงรี เคลื่อนไหวได้ 2 ทาง เช่น ข้อต่อบริเวณคอ ข้อต่อแบบเดือย
      เคลื่อนไหวโดยหมุนรอบแกน เช่น ข้อต่อต้นคอกับฐานกะโหลกศีรษะ ข้อต่อแบบลูกกลมในเบ้ากระดูก เช่น ข้อต่อหัวไหล่ ข้อต่อแบบอานม้า ลักษณะโค้งเว้าสอดคล้องกันพอดี เช่น ข้อต่อนิ้วมือกับกระดูกฝ่ามือ ข้อต่อแบนราบ เช่น ข้อต่อที่กระดูกข้อมือ และสุดท้ายข้อต่อแบบบานพับ มีการเคลื่อนไหวคล้ายบานพับประตู เช่น ข้อศอก ข้อเข่า

สำหรับเอ็นกระดูก (Ligament) เป็นกลุ่มหรือมัดของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเส้นใย (Fibrous tissue) ที่ช่วยยึดกระดูกและกระดูกชิ้นอื่นเข้าไว้ เพื่อประกอบขึ้นเป็นข้อต่อ (Joint) โดยจะมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น
ต่างจากเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) ซึ่งไม่มีความยืดหยุ่น แต่หากเอ็นกระดูกเจอแรงดึงมากเกินไป อาจจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ ทั้งนี้ในข้อต่อชนิดซิลโนเวียลจะมีเอ็นแคปซูล (Capsular ligament) เป็นส่วนของแคปซูลข้อต่อ  โดยเอ็นนอกแคปซูล (Extra-capsular ligament) ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกเข้าด้วยกันและช่วยรักษาเสถียรภาพของข้อต่อ เอ็นในแคปซูล (Intra-capsular ligaments) ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของข้อ และทำให้ข้อต่อมีพิสัยการเคลื่อนไหวกว้างขึ้น

 

โรคระบบโครงสร้างที่พบบ่อย

โรคข้อเสื่อม   โรครูมาตอยด์   โรคเกาต์   โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ   โรคกระดูกพรุน   โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ พบได้บ่อยที่ข้อเข่า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมที่รุนแรงขึ้น

โรครูมาตอยด์ เป็นโรคที่มีการอักเสบของส่วนต่าง ๆ ร่างกาย ไม่ใช่เพียงที่ข้อ โดยเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติและไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตัวเอง  เช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอด หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

โรคเกาต์ เป็นโรคที่มีการอักเสบจากการมีกรดยูริคในเลือดสูง จนเกิดการตกผลึกของกรดยูริคตามข้อต่าง ๆ เป็นเหตุให้ข้อมีการอักเสบ  ปวด ร้อน บวม แดง และเจ็บเมื่อถูกสัมผัส พบบ่อยตามข้อต่อขนาดเล็ก เช่น ข้อกระดูกฝ่าเท้า และข้อกระดูกฝ่ามือ มีปัจจัยเสี่ยงจากหลายสาเหตุ อาทิ กินอาหารมีสารพิวรีนสูงต่อเนื่องเป็นประจำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบที่ข้อต่อ ทั้งแบบข้อเดียวหรือหลายข้อ เฉียบพลันหรือเรื้อรัง มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน โรคตับ โรคมะเร็ง หรือกินยากดภูมิต้านทานกรณีที่รักษาช้า หรือไม่ได้รับยาที่เหมาะสม อาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคกระดูกพรุน กระดูกเริ่มเสื่อมและบางลงเนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก โดยจะเกิดความเสี่ยงจากการแตกหรือหักของกระดูก พบได้บ่อยบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก หรือข้อมือ รวมทั้งยังสามารถเกิดได้กับกระดูกส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูกที่รองรับแรงกระแทกจากการใช้งานของกระดูกสันหลังเสื่อมลง ทำให้ขาดความยืดหยุ่น พร้อมทั้งไปกดทับเส้นประสาท จนมีอาการปวดตามแนวของเส้นประสาทนั้น พบได้บ่อยตรงข้อต่อด้านล่างของกระดูกเอว และข้อต่อบริเวณคอ

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : th.wikipedia.org  www.haamor.com  th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 

     


-Muscular-system.jpg

โดยพื้นฐานแล้วกล้ามเนื้อเชื่อมโยงกับความแข็งแรงของร่างกาย โดยช่วยคงรูปร่างท่าทาง ยึดข้อต่อต่าง ๆ เข้าไว้ และช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคุมการเดิน พูด นั่ง ยืน รับประทานอาหารและกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ รวมถึงการยิ้มและการแสดงออกทางสีหน้า ดวงตา นอกจากนี้กล้ามเนื้อยังช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายดำเนินไปได้ เช่น การเต้นของหัวใจ การบีบตัวของเส้นเลือด กระเพาะอาหาร ลำไส้ การทำงานของปอด เป็นต้น  

 

ชนิดของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อในร่างกาย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

  1. กล้ามเนื้อลายหรือกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeleton muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานอยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary muscle) ควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลาง เป็นกล้ามเนื้อที่มีมากที่สุดในร่างกาย กล้ามเนื้อลายจะเกาะอยู่กับกระดูก และมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเซลล์ของกล้ามเนื้อลายจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีหลายนิวเคลียส และมีลายตามขวาง เรียกเส้นใยกล้ามเนื้อ (Muscle fiber) และหลายๆเส้นใยกล้ามเนื้อรวมกันเป็นมัดกล้ามเนื้อ หลายๆมัดกล้ามเนื้อขนาดเล็กรวมกันเป็นมัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ แต่ละเซลล์ของกล้ามเนื้อลายจะมีปลายประสาทมาเลี้ยง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหดตัว เมื่อต้องการใช้งาน
  2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ (Non-voluntary muscle) พบที่อวัยวะภายในของร่างกาย เช่น หลอดอาหาร หลอดเลือด ลำไส้ เซลล์มีนิวเคลียสเดียว และไม่มีลายตามขวาง ที่เยื่อหุ้มเซลล์จะมีบริเวณที่ถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังเซลล์ข้างเคียง การหดตัวของกล้ามเนื้อประเภทนี้จะถูกควบคุม โดยระบบประสาทอัตโนมัติ ดังนั้นกล้ามเนื้อประเภทนี้จึงไม่มีปลายประสาทไปเลี้ยงทุกเซลล์ ยกเว้นบางอวัยวะภายใน
  3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ (Non-voluntary muscle) ถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจะมีลักษณะเป็นลายพาดขวาง และมีหลายนิวเคลียสเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อลาย

 

การทำงานของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อโครงร่างจะมีปลาย 2 ข้างยึดเกาะกับกระดูก ข้างที่เกาะกับกระดูกส่วนใกล้ลำตัวเรียก จุดเกาะต้น ส่วนที่อยู่ปลายอีกด้านเรียก จุดเกาะปลาย โดยส่วนที่เกาะกับกระดูก จะมีลักษณะเป็นเอ็นสีขาวเรียก เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) ทั้งนี้การทำงานของกล้ามเนื้อจะประสานในทิศทางตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ (Antagonism) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสมองสั่งให้เรางอแขน กล้ามเนื้อไบเซพ (Biceps muscle) จะหดตัว และกล้ามเนื้อไตรเซฟ (Triceps muscle) จะคลายตัว กรณีที่เราเหยียดแขน กล้ามเนื้อไบเซฟจะคลายตัว และกล้ามเนื้อไตรเซฟจะเปลี่ยนมาหดตัว เป็นต้น ปกติแล้วกล้ามเนื้อสามารถหดตัวได้ราว 1 ใน 3 ของความยาวปกติ ยิ่งมีการหดตัวมาก กล้ามเนื้อก็ยิ่งแข็งและหนาขึ้น

 

โรคระบบกล้ามเนื้อที่พบบ่อย

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ   โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง   โรคปวดกล้ามเนื้อ   โรคกล้ามเนื้อเสื่อม   เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

 

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นภาวะอักเสบที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นใยกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและล้า ภายหลังการเดินหรือยืนเป็นเวลานาน อาการเจ็บและบวมที่กล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ หรือเป็นอาการเรื้อรัง ทั้งนี้สาเหตุอาจมาจากการติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็ได้

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ยิ้มได้น้อยลง หายใจลำบาก มีปัญหาการพูด การเคี้ยว การกลืน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดนี้ เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย การรักษาในปัจจุบันเน้นการบรรเทาอาการ

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จากไขสันหลังและสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติกับการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อโดยตรง

โรคปวดกล้ามเนื้อ เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายแบบเรื้อรัง ร่วมกับอาการอ่อนล้า มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ปัญหาจิตใจและอารมณ์ อาการของโรคมักจะเกิดหลังได้รับบาดเจ็บ การผ่าตัด การติดเชื้อ หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นสตรี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่ามีความผิดปกติในระบบประสาทส่วนกลาง

โรคกล้ามเนื้อเสื่อม เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด โดยมีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อลายค่อย ๆ เสื่อมสภาพ และอ่อนแรงลง เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ป่วยมักเป็นเพศชาย

เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ  เป็นการบวมเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกเข้าไว้ด้วยกัน เอ็นกล้ามเนื้อจะมีการหดเกร็งทุกครั้งที่กล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่าง ๆ มีการขยับเขยื่อน ดังนั้น สาเหตุของการอักเสบ จึงมักเกิดจากการใช้งานอวัยวะส่วนนั้นหนักหรือการได้รับบาดเจ็บซ้ำ ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า เข่า หัวไหล่ ข้อศอก สะโพก

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.innerbody.com  www.britannica.com  th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 

 

     


-เกี่ยวกับสมอง-Brain-ภัทร.jpg

สมอง (Brain) เป็นอวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) มีน้ำหนัก 1,400 กรัม ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด โดยสมองจะรับรู้โลกภายนอกผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตาเห็น หูได้ยิน จมูกรับกลิ่น ปากรับรส และผิวหนังรับสัมผัส โดยสมองจะดึงข้อมูลเดิมที่ถูกจัดเก็บไว้ในหน่วยความจำ มาคิด วิเคราะห์รวมกับข้อมูลที่รับเข้าไปใหม่ แล้วแสดงออกมาผ่านการทำงานของอวัยวะในระบบร่างกาย เช่น การพูด การเคลื่อนไหว กริยาท่าทาง สอดคล้องกันจนเป็นพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งรวมถึงการตอบสนองต่อสถานการณ์เครียด เช่น การเจ็บป่วย การสูญเสีย โดยส่งผลถึงอัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจของเรา

 

ส่วนประกอบของสมอง

สมองส่วนหน้า (Forebrain) 

  1. ออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb) สมองส่วนนี้อยู่ทางด้านหน้าสุด ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น โดยในคนจะมีการพัฒนาน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น แต่จะดมกลิ่นได้ดี โดยอาศัยเยื่อบุในโพรงจมูก
  2. ซีรีบรัม (Cerebrum) หรือสมองใหญ่ เป็นส่วนของสมองที่อยู่หน้าสุด และมีขนาดโตที่สุด  มีผิวด้านนอกเป็นเนื้อสีเทา ส่วนด้านในเป็นเนื้อสีขาว ที่บริเวณผิวด้านนอกมีรอยหยักเป็นร่องมากมาย รอยหยักนี้ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวของสมอง เพื่อให้สามารถใส่เซลล์ประสาทได้ในกะโหลกศีรษะ ในทางการแพทย์มีการศึกษาถึงตำแหน่งต่าง ๆ รวมถึงรอยหยักในสมอง เพื่อกำหนดขอบเขตการทำงานของสมองที่เฉพาะเจาะจงสมองส่วนซีรีบรัม ทำหน้าที่เกี่ยวกับ ความรู้ ความจำ ความรู้สึกนึกคิด เชาว์ปัญญา และเป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น ศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ศูนย์ควบคุมการพูด การรับรู้ภาษา ศูนย์กลางการมองเห็น การรับรส การได้ยิน และการดมกลิ่นสมองซีรีบรัม แบ่งเป็นสองซีก (Cerebral hemisphere) และแต่ละซีกจะแบ่งได้เป็น 4 พู
    • พูด้านหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก พื้นอารมณ์ โดยพูด้านซ้ายควบคุมการทำงานร่างกายซีกขวา พูด้านขวาจะควบคุมการทำงานร่างกายซีกซ้าย
    • พูกลาง (Parietal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกด้านสัมผัส เช่น ร้อน ปวด หนาว เป็นต้น
    • พูด้านข้าง (Temporal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการได้ยิน การดมกลิ่น การเข้าใจภาษา เป็นต้น
    • พูด้านหลัง (Occipital lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น
  3. ทาลามัส (Thalamus) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากสมองซีรีบรัมลงมา โดยอยู่ในตำแหน่งที่สามารถส่งกระแสประสาทออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของสมองได้ในทุกทิศทาง ทาลามัสทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมในการรับกระแสประสาทที่ถูกส่งจากอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ผ่านทางไขสันหลัง เข้าสู่ก้านสมอง (Brainstem) จนถึงทาลามัส หลังจากนั้นทาลามัสจะทำการแยกกระแสประสาทส่งไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้องในทางกลับกัน เมื่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการสั่งการ ทาลามัสจะรับคำสั่งพร้อมส่งคำสั่งดังกล่าว ผ่านก้านสมอง สู่ไขสันหลังและเส้นประสาทของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวทำงานตามคำสั่งของสมอง
  4. ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างของสมองทาลามัส และติดกับต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ (Central nervous system) และเชื่อมโยงการทำงานกับระบบต่อมไร้ท่อ โดยการสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งมีบทบาทในเรื่องสมดุลของปริมาณน้ำ และสารละลายในเลือด รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก ระบบนาฬิกาชีวภาพ การหิว การอิ่ม และความรู้สึกทางเพศ

 

สมองส่วนกลาง (Midbrain)

เป็นสถานีรับส่งกระแสประสาท ระหว่างสมองส่วนหน้า (Forebrain) กับสมองส่วนหลัง (Hindbrain) และสมองส่วนหน้ากับนัยน์ตา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนัยน์ตา ทำให้ลูกนัยน์ตากลอกไปมาได้ และควบคุมการปิดเปิดของม่านตาในเวลาที่มีแสงสว่างเข้ามามากหรือน้อย

 

สมองส่วนหลัง (Hindbrain)

  1. ซีรีเบลลัม (Cerebellum) หรือสมองน้อย เป็นสมองส่วนท้าย มี 2 ซีก ซ้ายและขวา ด้านนอกเป็นเนื้อสีเทา ด้านในเป็นเนื้อสีขาว ผิวมีรอยหยัก เช่นเดียวกับซีรีบรัมแต่มีขนาดเล็กกว่า มีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมและประสานงาน เพื่อให้การทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปอย่างราบรื่นเป็นปกติ รวมถึงทำให้สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความละเอียดได้ ในรอยโรคที่เกิดในซีรีเบลลัม จะทำให้เกิดความผิดปกติในการทรงตัว การเคลื่อนไหว และสมดุลของร่างกาย
  2. พอนส์ (Pons) มีตำแหน่งอยู่ทางด้านหน้าของซีรีเบลลัม และติดต่อกับสมองส่วนกลาง เป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างซีรีบรัมกับซีรีเบลลัม และระหว่างเซรีเบลลัมกับไขสันหลังมีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมการเคี้ยว การหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวบริเวณใบหน้า ควบคุมการหายใจ
  3. เมดัลลา ออบลองกาตา (Medulla oblongata) เป็นสมองส่วนที่อยู่ท้ายสุด โดยติดต่อกับสมองพอนส์ทางด้านบน และไขสันหลังทางด้านล่าง มีหน้าที่สำคัญ  คือ มีบทบาทในเรื่องการเต้นของหัวใจ การหายใจ การหมุนเวียนเลือด ความดันเลือด และเป็นศูนย์ปฏิกิริยาสะท้อนกลับบางชนิด เช่น การไอ การจาม การสะอึก เป็นต้น

 

ก้านสมอง (Brainstem)

ก้านสมองเป็นแกนกลางของสมอง ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ สมองส่วนกลาง (Midbrain) สมองพอนส์ (Pons) และสมองส่วนเมดัลลา ออบลองกาตา (Medulla of oblongata)

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.livescience.com  www.mayfieldclinic.com  amazingpeoplebrain.wordpress.com
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 


-Endocrine-system.jpg

ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system) เป็นระบบสื่อสารภายในร่างกาย ผ่านฮอร์โมน (Hormone) โดยทำหน้าที่ควบคุมเชื่อมโยง ติดต่อประสานและทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย โดยการทำงานจะอยู่ในลักษณะช้า ๆ และส่งผลในระยะยาว เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย การพัฒนาของระบบสืบพันธ์ การมีประจำเดือน การเผาผลาญ การควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ เป็นต้น

ต่อม (Gland) ในร่างกายมนุษย์สามารถแบ่งตามการส่งสารเคมีที่หลั่งออกมา ได้เป็นต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) หรือต่อมไม่มีท่อ ต่อมประเภทนี้จะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า ฮอร์โมน (Hormone) เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลือง เพื่อไปควบคุมหรือดัดแปลงสมรรถภาพของเซลล์ที่อวัยวะเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ และอัณฑะ สำหรับต่อมมีท่อ (Exocrine gland) จะมีการหลั่งสารที่ต่อมสร้าง ผ่านทางท่อของต่อมส่งไปยังอวัยวะเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำตา ต่อมน้ำนม ต่อมเหงื่อ

โดยมีบางต่อม เป็นทั้งต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่อ เช่น ตับอ่อน หลั่งน้ำย่อยผ่านท่อเข้าสู่ลำไส้เล็ก ขณะเดียวกันมีการหลั่งฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด หรืออัณฑะสร้างตัวอสุจิส่งออกทางท่อ ขณะเดียวกันยังมีการหลั่งฮอร์โมนเพศเข้าสู่กระแสเลือด

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

  1. ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต่อมขนาดเล็กอยู่ติดกับด้านหลังของต่อมไทรอยด์ ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone-PTH) หรือพาราทอร์โมน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย อันส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก และการทำงานของกล้ามเนื้อ
  2. ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) เป็นต่อมที่ตั้งอยู่ด้านบนของไต (Kidney) ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนสำคัญ ๆ หลายชนิด เช่น ฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenalin) ช่วยให้ร่างกายมีความพร้อมเมื่ออยู่ในภาวะเครียด ตกใจกลัว ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด กดภาวะภูมิคุ้มกัน และต้านการอักเสบ ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ช่วยควบคุมความดันโลหิตในร่างกาย รวมถึงฮอร์โมนเพศ
  3. ตับอ่อน (Pancreas) อยู่ด้านซ้ายของช่องท้อง วางตัวตามแนวส่วนโค้งของลำไส้เล็กส่วนต้น บริเวณที่เรียกว่า Islets of Langerhans จะเป็นกลุ่มเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) มีบทบาทในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) เป็นต่อมที่อยู่ติดกับส่วนล่างของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) หลั่งฮอร์โมนที่สำคัญ ๆ ของร่างกาย เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกและกล้ามเนื้อ ฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin) กระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ควบคุมลักษณะทางเพศ รวมถึงฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เซลล์เม็ดสีสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น
  5. ต่อมไทรอยด์ (Thyroid) เป็นต่อมที่อยู่ส่วนล่างด้านหน้าของคอ ติดกับหลอดลมและกล่องเสียง ต่อมนี้หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก สมองและระบบประสาท รวมถึงการควบคุมอัตราเมตาบอลิซึม (Metabolism) ภายในร่างกาย
  6. ต่อมไพเนียล (Pineal ) เป็นต่อมที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) มีผลต่อวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในรอบวันได้
  7. ต่อมไทมัส (Thymus) เป็นต่อมที่อยู่ใต้กระดูกอก และด้านหน้าหัวใจ มีขนาดใหญ่ในเด็กและฝ่อเล็กลงเมื่ออายุมากขึ้น ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin) กระตุ้นให้มีการสร้าง T-lymphocyte ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  8. ต่อมเพศ (Gonad) ในเพศชายคือ อัณฑะ (Testis) เป็นทั้งต่อมมีท่อและต่อมไร้ท่อ โดยผลิตอสุจิ (Sperm) ส่งออกทางท่อ และหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และลักษณะต่างๆของความเป็นชาย ในเพศหญิงรังไข่ (Ovary) จะผลิตไข่ (Ovum) ให้พร้อมและตกจากรังไข่สลับข้างกันทุกเดือน พร้อมทั้งหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และลักษณะต่าง ๆ ของความเป็นเพศหญิง รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะทำหน้าที่ระงับไม่ให้ไข่สุกระหว่างตั้งครรภ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีประจำเดือนระหว่างตั้งครรภ์

 

โรคระบบต่อมไร้ท่อที่พบบ่อย

โรคเบาหวาน   โรคของต่อมไทรอยด์   โรคอ้วนที่เกิดจากต่อมทำงานผิดปกติ   โรคพีซีโอเอส (PCOS)   โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ   โรคมะเร็งตับอ่อน   โรคออโต้อิมมูนหรือภูมิต้านตนเอง

 

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดหรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดเพื่อส่งต่อให้เซลล์ไปใช้เป็นพลังงานมีความผิดปกติ หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดแดงและอวัยวะที่เกี่ยวข้องเสื่อม เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนตามมา

โรคของต่อมไทรอยด์ เป็นโรคที่ทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ทำให้มีไทรอยด์ฮอร์โมนมากหรือน้อยกว่าปกติ จนเกิดผลกระทบกับร่างกาย โดยกรณีที่มีฮอร์โมนมากกว่าปกติ จะมีอาการเหนื่อย ใจสั่น ขี้ร้อน น้ำหนักลด เหงื่อมาก ตาโปน แขนขาอ่อนแรง กรณีที่มีฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ จะมีอาการความคิดช้า เฉื่อยชา ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หน้าบวม

โรคอ้วน เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายจนเกินปกติ โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป โดยภาวะดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนคือ การทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ เช่น โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองเป็นต้น

โรคพีซีโอเอส (PCOS) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนในร่างกายสตรี โดยการทำอัลตร้าซาวด์จะพบถุงน้ำเล็กๆ (Cyst) หลายใบในรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีลักษณะของฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีสิว หรือขนดกกว่าผู้หญิงทั่วไป

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ อาการนี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายในช่วงวัยใดก็ได้ แต่ก็มักจะพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวมีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง รวมถึงระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดลง ระดับฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin) เพิ่มขึ้น และภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไป

โรคมะเร็งตับอ่อน พบได้เรื่อยๆ แต่ไม่บ่อย ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อมะเร็งลุกลามไป ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง เช่น ปวดท้องโดยปวดร้าวไปที่หลัง  เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน อุจจาระสีซีด คันตามผิวหนัง อาจคลำได้ก้อนในท้อง และอาการอื่น ๆ ตามอวัยวะที่มะเร็งลุกลามไป เป็นต้น

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com  en.wikipedia.org  www.emedicinehealth.com  www.haamor.com
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

 

 

     


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก