ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคกรดไหลย้อน (Gastro Esophageal Reflux Disease: GERD) เป็นโรคที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร (Stomach acid) ซึ่งอยู่ในรูปของน้ำย่อย (Gastric juice) น้ำดี (Bile) อื่น ๆ ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ทนต่อกรด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณหลอดอาหารเกิดการอักเสบ หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยไม่ได้รับการแก้ไขการอักเสบจะรุนแรงขึ้น จนเกิดความผิดปกติตามมา เช่น หลอดอาหารเป็นแผล เกิดการตีบแคบ และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

 

ทั้งนี้ในภาวะปกติหลอดอาหารจะมีการบีบตัว (Peristalsis) เพื่อไล่อาหารลงสู่กระเพาะอาหาร โดยมีหูรูด (Lower esophageal sphincter – LES) และกระบังลมที่ทำงานสัมพันธ์กัน  คอยปิดเพื่อป้องกันการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหาร ในคนปกติทั่วไปสามารถมีกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้ แต่มักไม่ทำให้เกิดอาการหรือรอยโรคใด ๆ มากมายกับหลอดอาหาร  แต่ในกรณีที่หูรูดดังกล่าวทำงานบกพร่อง  กรดดังกล่าวจึงสามารถไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองต่อหลอดอาหาร และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้โรคกรดไหลย้อน สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักพบกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว

 

อาการ

อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  • การปวดแสบปวดร้อนบริเวณอก (heartburn) โดยเฉพาะหลังกินอาหาร อาจแย่ลงในตอนกลางคืน
  • การจุกเสียดแน่นท้องคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อยเรอเปรี้ยว แสบคอ บางครั้งรู้สึกแน่นคอเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ ทำให้มีอาการแสบคอและกลืนอาหารได้ลำบาก นอกจากนี้ในกรณีที่มีกรดไหลย้อนในตอนกลางคืน ยังสามารถพบอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
  • ไอเรื้อรัง เสียงแหบในตอนเช้า เจ็บคอเรื้อรัง มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ ในบางรายกรดไหลย้อนขึ้นมาถึงโพรงหลังจมูก เกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง นอกจากนั้นกรดไหลย้อนยังอาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดมีอาการกำเริบได้

ในเด็กมักพบอาการไอเรื้อรัง อาการหอบเหนื่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจมีอาการปอดอักเสบ มีอาการอาเจียนหลังจากการดื่มนม อาจมีภาวะซีดเนื่องจากมีเลือดออกบริเวณหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร น้ำหนักลด การเจริญเติบโตช้าผิดปกติ


ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

  • เมื่อมีอาการแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการร้าวปวดกรามหรือปวดแขน เหนื่อยมากขึ้น เพราะอาการดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจได้
  • เมื่อมีกลืนลำบาก อาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอเปรี้ยว โดยเฉพาะหลังทานอาหาร

 

สาเหตุ

สาเหตุหลักเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter – LES) เช่น หูรูดหย่อนและปิดไม่สนิท ทำให้กรดและอาหารที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร สำหรับปัจจัยที่ทำให้หูรูดบริเวณดังกล่าวหย่อน ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ การสูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากเป็นสาเหตุให้หูรูดหย่อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกรดไหลย้อน โดยลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนาน เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพอง ที่ทำให้มีอาการไอบ่อย ๆ การไอบ่อย ๆ เป็นชุด ๆ ทำให้เกิดกดไหลย้อนได้
  • สาเหตุทางด้านสรีระวิทยา เช่น การมีรูปร่างอ้วน หญิงในขณะตั้งครรภ์ การใส่กางเกงรัดรูปเป็นประจำ สรีระดังกล่าวเป็นการเพิ่มแรงดันบริเวณช่องท้อง ทำให้เพิ่มโอกาสในการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารขึ้นสู่หลอดอาหาร
  • สาเหตุด้านพฤติกรรมการกิน เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด และอาหารที่ย่อยยาก ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ตลอดจนการรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ โดยเฉพาะมื้อก่อนนอน ล้วนเพิ่มโอกาสในการเป็นกรดไหลย้อนได้
  • โรคเครียด และซึมเศร้า เป็นการเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร มีโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก หากไม่พบสาเหตุหรืออาการที่ชัดเจน แพทย์จะพิจารณาการตรวจชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroendoscopy) เพื่อตรวจความรุนแรงของการอักเสบ แผล รอยตีบ ในหลอดอาหารรวมถึงกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น หรือโรคแทรกซ้อนที่อาจพบ เช่น แผลในกระเพาะ เนื้องอก รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมได้
  • การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Esophageal Manometry) เพื่อตรวจดูการบีบตัวของหลอดอาหาร โดยใช้เครื่องวัดความดันบริเวณผนังของหลอดอาหาร อีกทั้งยังช่วยดูการสำลักและการหย่อนของหูรูดได้

 

การรักษา

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน แพทย์สามารถพิจารณาเริ่มจาก

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค อาทิ การเลิก แอลกอฮอล์ กาแฟ การสูบบุหรี่ การควบคุมน้ำหนัก การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารมื้อก่อนนอน ในบางรายที่มีอาการรุนแรง
  2. เคี้ยวอาหารในแต่ละคำให้ละเอียดมาก ๆ ก่อนกลืน
  3. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด ไม่เปรี้ยว หลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่มีเส้นใย fiber มาก และถั่ว ซึ่งจะทำให้ย่อยยากท้องอืด
  4. การรับประทานยาร่วมด้วย ยาที่ใช้ในการรักษาแบ่งได้หลายกลุ่ม ได้แก่
    • ยาลดกรด ใช้บรรเทาอาการปวดแสบท้อง ยายับยั้งการหลั่งกรด ที่ใช้บ่อย ๆ เช่น ยายับยั้งการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง
    • ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร (prokinetic drugs) จะช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านจากหลอดอาหารไป กระเพาะ และลำไส้เล็กได้รวดเร็วขึ้น
  5. การผ่าตัดทางหน้าท้องหรือผ่อนกล้อง เพื่อซ่อมแซมหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารจะช่วยป้องกันกรดไหลย้อนได้ แพทย์จะพิจารณารักษาผู้ป่วยที่มีอาการกรดไหลย้อนรุนแรง ไม่สามารถหายได้ด้วยการใช้ยา หรือผู้ป่วยที่อาจมีอาการกลับมาเป็นซ้ำหลังจากการหยุดยา

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  1. ปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ควรปรับปรุง เช่น
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำย่อยหลั่งในขณะที่ท้องว่าง
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร เช่น อาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มี gas
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลมในทางเดินอาหาร เช่น ถั่วทุกชนิด มันฝรั่งแห้ง ผักที่ย่อยยาก เช่น แตงกวา ดอกกะหล่ำ หัวหอม บร็อคโคลี่ ผลไม้ที่ย่อยยาก เช่น ลูกเกด กล้วย ฝรั่ง มะม่วงดิบ ลูกพรุน เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ครีม ซอสครีม นม เป็นต้น ทั้งนี้เครื่องดื่มเหล่านี้อาจทำให้หูรูดหย่อนตัว รวมถึงลดการบีบตัวของทางเดินอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น
    • การรับประทานอาหารแต่ละมื้อควรทานอาหารปริมาณพอเหมาะ หรือการแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ ไม่ควรทานอาหารจนเต็มกระเพาะ และไม่ควรนอนหรือนั่งนาน ๆ ทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ ในท่ายืน และเดิน อย่างน้อย ครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะนั่งหรือ 3 ชม. ก่อน นอนหลับ และควรนอนท่าตะแคงซ้าย
    • ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
    • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงการไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป อันเป็นการเพิ่มแรงดันที่กดช่องท้อง เพิ่มโอกาสในการที่กรดไหลย้อนสูงขึ้น
  2. กรณีที่แพทย์พิจารณาให้ใช้ยา รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และหากมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นอก ไอเรื้อรังรักษาไม่หายและเจ็บแสบคอมากกว่าปกติ เจ็บเวลากลืนหรือกลืนแล้วติดคอ สำลักบ่อย อาเจียนบ่อย อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้การปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่ถูกโภชนาการ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การตรวจสุขภาพตามความจำเป็น นอกจากจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคกรดไหลย้อนแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคชนิดอื่น ๆ ไปอีกทางด้วย

 

แหล่งข้อมูล : th.wikipedia.org  www.mayoclinic.org  www.medicalnewstoday.com  www.pobpad.com  รศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ โรคกรดไหลย้อน บทความวิชาการ จัดทำโดยสมมาคมประสาททางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหวไทย
ภาพประกอบ : www.freepik.com


-edit.jpg

ไข้หวัด หรือโรคหวัด (Common Cold) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ประกอบด้วย จมูก คอ ไซนัส กล่องเสียง พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่า โดยเฉลี่ยปีละ 6 – 12 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่เต็มที่ ส่วนผู้ใหญ่ติดเชื้อหวัดโดยเฉลี่ยปีละ 2 – 3 ครั้ง

 

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมีเชื้อไวรัสมากกว่า 200 ชนิดจาก 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ยังมีไวรัสกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) กลุ่มฮิวแมน พาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Human para-influenza virus) กลุ่มอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) กลุ่มอาร์เอสไวรัส (Respiratory syncytial virus-RSV) กลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus)  กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และกลุ่มเฮิร์บ ซิมเพลคไวรัส (Herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคหวัดขึ้นในแต่ละครั้ง จะเกิดจากการได้รับเชื้อหวัดหรือเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว หลังจากนั้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น โดยการเกิดโรคหวัดในครั้งต่อไปจะเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เวียนไปเรื่อย ๆ

เนื่องจากเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งผ่านทางการไอ จาม หายใจรดกัน ทำให้ละอองอากาศที่มีเชื้อหวัดลอยเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่อาจติดอยู่ตามข้าวของ เครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส ภายหลังนำมือไปจับบริเวณตา ปาก และจมูกทำให้เชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกาย  ทั้งนี้พบว่าการสัมผัสโดยตรงทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าการหายใจเอาละอองอากาศเข้าไป นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ การอยู่ในสถานที่แออัด ห้องเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสสัมผัส ไอ จามใส่กันได้ง่าย เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหวัดมากขึ้น หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสะสม ผู้ที่ติดบุหรี่ สารเสพติด ล้วนเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ยังไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์แน่ชัดว่าจากสาเหตุใด อากาศที่เปลี่ยนทำให้ระบบทางเดินหายใจมีความไวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการติดหวัดได้ง่ายในช่วงฤดูดังกล่าว

 

อาการ

อาการสำคัญของโรคไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะด้วยเล็กน้อย มักเป็นเสมหะขาว เจ็บคอ หายใจไม่สะดวกจากเยื่อบุจมูกบวมหรือน้ำมูกอุดตัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อตัว ในเด็กมักมีไข้ เด็กเล็กอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย วัยผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้หรือไข้อ่อน ๆ

ถ้าเป็นอยู่นานหลายวัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนจากใส เป็นน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว อาจมีไข้สูงขึ้น และอาจมีอาการจากการที่เชื้อติดซ้ำลุกลามไปจนเกิดการอักเสบที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ทอนซิลบวมโต มีหนองจากการเป็นทอนซิลอักเสบ ปวดมึน หนักหน้าผาก โหนกแก้ม รวมถึงมีเสมหะข้นเหลืองเขียวจากการเป็นไซนัสอักเสบ เสียงแหบ เจ็บหน้าอก เสมหะขุ่นข้นจากการเป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น


เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์

ผู้ใหญ่มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 2 วัน มีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายไปแล้ว เจ็บคออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีดและหายใจหอบเหนื่อย หรือ ปวดบริเวณโหนกแก้มหรือไซนัส ในเด็กแรกเกิด ถึง 12 สัปดาห์ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 1 วัน อาการของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด เด็กมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง หรือมีอาการงอแงมากขึ้น

ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีความคล้ายคลึงกัน แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยอาการไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า อาการสำคัญคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และรู้สึกไม่สบายตัวจนมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนอาการไข้หวัดทั่วไป จะมีความรุนแรงไม่มาก มีเพียงอาการ ไข้ ไอและน้ำมูกไหล และเจ็บคอเป็นอาการเด่น

 

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยโรคหวัดส่วนใหญ่ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในรายที่มีไข้สูงมาก อาการซับซ้อนหรือมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่อาการในระยะแรกคล้ายกับโรคหวัด  เช่น ไข้เลือดออก ไข้ออกผื่น เป็นต้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ ประวัติการระบาดของโรค และตรวจร่างกายในกรณีที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่โรคหวัดทั่วไป ทั้งนี้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเบื้องต้นจะแยกได้จากตำแหน่งที่แสดงอาการ เช่น โรคหวัดจะมีอาการทางจมูกเป็นหลัก โรคคอหอยอักเสบจะมีอาการบริเวณลำคอเป็นหลัก โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการไอเป็นหลัก โดยทั่วไปจะไม่สามารถระบุประเภทของไวรัสได้จากอาการ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยเอกซเรย์ และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก การตรวจเลือด เพื่อใช้ในการยืนยันผล หรือในรายที่มีไข้สูง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดครบ (Complete Blood Count) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรือการตรวจดูค่าเกล็ดเลือด เพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

 

การรักษา

ไข้หวัดเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในกรณีที่รู้แน่ชัดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา การรักษาจึงไม่มีวิธีการเฉพาะ โดยมักเป็นการปฏิบัติตัวของคนไข้ ร่วมกับการใช้ยาประคับประคองตามอาการ ยกเว้นถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย  จึงจะให้ยาปฏิชีวนะ ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อและน้ำมูก การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกหรือน้ำอุ่น เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ขึ้นสูง
  • อาจมีการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ในผู้ใหญ่ ใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้  มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ เจ็บคอใช้ยาอม สมุนไพรหรือสเปรย์พ่นคอเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการลงได้
  • ในกรณีที่มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ influenza A B แพทย์ สามารถที่จะสั่งยาต้านไวรัส โอเซลตามีเวีย ให้แก่ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหญิงตั้งครรภ์

สำหรับเด็กเล็ก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ซึ่งจะมียาและอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะจะปลอดภัยที่สุด

  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีอาการแพ้และผลข้างเคียงกับผู้รับประทานยา เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดแม้อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจทำให้เกิดภาวะปวดอักเสบนิวโมเนีย โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

บุคคลทั่วไป

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อหวัด โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในข่ายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน มิถุนายน ก่อนเข้าหน้าฝน

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากในช่วงนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันยังเป็นการลดความเสี่ยงในการนำเชื้อหวัดไปแพร่ให้กับผู้อื่นได้

 

พ.อ. นพ. ยศวีร์ วงศ์เจริญ
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แหล่งที่มา : นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ตำราการตรวจและรักษาโรคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2544.   www.mayoclinic.org   www.medicinenet.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก