ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคอ้วน (Obesity) เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมือง ใช้เวลาเดินทางมากขึ้น ไม่มีเวลาทำอาหาร เลือกอาหารสุขภาพทานได้น้อยลง มีการรับประทานอาหารประเภทสะดวกทำ สะดวกซื้อมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านั้นหลายประเภทมีไขมันและคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) มาก ประกอบกับการออกกำลังกายน้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) และโรคอ้วน (Obesity) ง่ายขึ้น

 

ภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด(1-2) โรคกระดูกและข้อ(3-4) โรคระบบทางเดินอาหารรวมถึงการเกิดภาวะไขมันเกาะตับ(5) และมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ ตับ น้ำดีท่อน้ำดี ตับอ่อน เต้านม มดลูก ไทรอยด์และมะเร็งเม็ดเลือดขาว(6) นอกจากนี้การวิจัยพบว่าภาวะอ้วนลงพุงมีความสัมพันธ์กับภาวะต้านอินซูลิน และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วนจึงมีผลทำให้ปีสุขภาวะลดลง จากการเกิดโรคเรื้อรัง มีผลให้คุณภาพชีวิตลดลง(7-10)

โดยโรคอ้วนสามารถบอกได้จากการวัดปริมาณไขมันในร่างกายว่ามีมากน้อยเพียงใด ส่วนการวัดปริมาณไขมันในช่องท้องและไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องจะชี้บอกว่าเป็นโรคอ้วนลงพุงหรือไม่ แต่การวัดปริมาณไขมันในร่างกายต้องใช้เครื่องมือพิเศษและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ในทางปฏิบัติจึงใช้ค่าดัชนีมวลกายเพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจโรคอ้วนลงพุง

  1. ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI)
    คำนวณจากการใช้ค่าน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยค่าที่ได้และความหมายสามารถอ่านได้จากตารางคำนวณค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนในคนไทยและชาวเอเชีย(11) คือ ผู้ที่มีค่า BMI อยู่ที่ 25 กก/ม2 ขึ้นไป สำหรับเกณฑ์น้ำหนักเกิน คือบุคคลที่มีค่า BMI ระหว่าง 23 – 24.9 กก/ม2 แต่มีบางกรณีที่น้ำหนักที่มากไม่ได้มาจากไขมัน แต่เป็นกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกาย
  2. การวัดรอบเอว
    ตำแหน่งที่วัดเส้นรอบเอว คือ จุดกึ่งกลางระหว่างขอบล่างของกระดูกซี่โครงและขอบบนของกระดูกเชิงกราน ให้วัดในท่ายืนตรงขณะหายใจออก ควรวัดในตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารโดยพันสายวัดแนบกับลำตัว ไม่รัดแน่นจนเกินไป และสายวัดขนานกับพื้น

    .
    การตัดสินอ้วนลงพุงโดยการวัดเส้นรอบเอว มีข้อดีหลายประการ คือ เป็นดัชนีที่คาดคะเนมวลไขมันในช่องท้อง การวัดทำได้ง่าย มีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกายใช้ทำนายการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนได้ดี เกณฑ์การตัดสินอ้วนลงพุงในผู้ใหญ่โดยเส้นรอบเอว คือ ในเพศชายมีเส้นรอบเอว ตั้งแต่ 90 ซม.ขึ้นไป และในเพศหญิงมีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไป การตัดสินอ้วนลงพุงนอกจากการใช้ค่าวัดเส้นรอบเอวเกินค่ามาตราฐานดังกล่าวข้างต้นแล้ว การใช้ค่าเส้นรอบเอวไม่เกินค่าที่คำนวณจากส่วนสูงหารด้วยสองในทั้งสองเพศ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดสินอ้วนลงพุงได้ดี

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ผู้เป็นโรคอ้วนอาจจะไม่มีอาการ บางรายจะมีความรู้สึกหายใจติดขัด นอนกรนจากปัญหาการหายใจ เหนื่อยง่าย ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกแล้ว อาจมีอาการของโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะอ้วน เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ กรดไหลย้อน ข้อเสื่อม เป็นต้น

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีภาวะอ้วนต้องพยายามควบคุมน้ำหนัก แต่ถ้าไม่สำเร็จหรือผู้ที่มีอาการของโรคอ้วน กระทบคุณภาพในการดำเนินชีวิต และผู้ที่มีอาการของโรคแทรกซ้อนควรไปพบแพทย์

 

สาเหตุ (12, 13, 14)

ภาวะอ้วนและโรคอ้วน เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานออกไปได้หมดในแต่ละวัน โดยเหลือเก็บไว้ในรูปของไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใต้ผิวหนัง ช่องท้อง อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเกิดขึ้นจากปัจจัยหลัก ๆ คือ พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิด เช่น กินมากเกินพอดี กินอาหารที่มีไขมันชนิดไม่ดี ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความต้องการ นอกจากนี้ ยังเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ ลูกที่มีพ่อและแม่อ้วนทั้งคู่จะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 80 ในขณะที่ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 40(12)
  • ออกกำลังกายไม่เพียงพอ กิจกรรมในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกายเป็นการใช้พลังงานหลักนอกเหนือจากพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในขณะพัก หากกิจวัตรประจำวัน ส่วนใหญ่เป็นการนั่ง นอน ประกอบกับออกกำลังกายไม่เพียงพอ ขณะที่มีพฤติกรรมการกินที่ผิด ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนหรือโรคอ้วนได้เร็วขึ้น
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ มีการศึกษาพบว่าการนอนหลับน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมง ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดน้อยลง เช่น ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่มีบทบาทในการลดความอยากอาหาร และฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่มีหน้าที่กระตุ้นการใช้พลังงานของร่างกาย(15)
  • อารมณ์และจิตใจ ส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดสำหรับบางคนได้ เช่น บางคนดีใจจะกินบ่อย ในขณะที่บางคนกลุ้มใจ กังวลใจ จะกินบ่อย หรือบางคนกังวล เครียดจะออกกำลังกาย ในขณะที่บางคนมีความสุข ถึงจะออกกำลังกาย เป็นต้น
  • เพศ ผู้หญิงสามารถอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะมีพฤติกรรมการกินอาหารบ่อยกว่า มีช่วงเวลาการตั้งครรภ์ทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้น ผู้หญิงบางคนเป็นโรคอ้วนจากการตั้งครรภ์รวมถึงการมีกล้ามเนื้อน้อย ทำให้การเผาผลาญพลังงานของกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย
  • อายุ อายุที่มากขึ้น ร่างกายจะมีการเผาผลาญพลังงานลดน้อยลง โอกาสที่จะเกิดภาวะอ้วนจึงมีเพิ่มขึ้น
  • ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ หากร่างกายได้รับเป็นเวลานาน อาจทำให้อ้วนได้ หรือในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือใช้ยาคุมกำเนิด ก็สามารถทำให้อ้วนได้
  • โรคบางชนิด เช่น ไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroid) จะทำให้ร่างกายลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีบทบาทในการเผาผลาญพลังงาน โรคคุชชิ่งซินโดรม (Cushing’s syndrome) ทำให้ระดับฮอร์โมนคอรติซอล (Cortisol) เพิ่มสูง ทำให้เกิดไขมันสะสมตามใบหน้า ช่องท้องและหน้าอก รวมถึง โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองเป็นต้น

 

การวินิจฉัย

ในรายที่คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI) พบว่า อยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมในการกิน ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ประวัติสุขภาพของครอบครัว โดยอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบผลความผิดปกติแล้วนำไปสู่การวางแผนรักษา

ในกรณีที่เป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีภาวะอ้วน แพทย์จะทำการรักษาที่โรคดังกล่าวก่อน สำหรับในรายที่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคอ้วน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อระบุถึงโรคดังกล่าว เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

 

การรักษา

การรักษาโรคอ้วนจะปรับตามระดับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะพิจารณาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อให้การลดน้ำหนักสัมฤทธิ์ผลร่วมกับการรับประทานยาตามความจำเป็น เริ่มจาก

  • การควบคุมอาหาร ปรับพฤติกรรมการกินและประเภทของอาหารที่กิน เพื่อให้ร่างกายได้ปริมาณพลังงานไม่มากไปกว่าที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน โดยผู้ชายที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรบริโภค 1,500 – 1,800 แคลอรี่/วัน ส่วนผู้หญิงควรบริโภคแคลอรี่ 1,200 – 1,500 แคลอรี่/วัน ทั้งนี้ควรลดปริมาณแคลอรี่ของอาหารต่อวัน เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผัก อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันไม่ดี โดยปัจจุบันมีสูตรอาหาร (Diet) หลายสูตรที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการเลือกใช้สูตรอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้
  • การออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก เหมาะกับวัยและความแข็งแรงของร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินจากการรับประทาน รวมถึงการเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายด้วย
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเพิ่มกิจกรรมที่ใช้พลังงานให้มากขึ้น เช่น การเดินขึ้นบันได การจอดรถให้ไกลเพื่อเพิ่มระยะในการเดิน การลุกขึ้นเดินเพื่อลดเวลาในการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เป็นต้น
  • การใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาตามแนวทางดังนี้
    • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย 27.0 – 29.9 กก./มและมีความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เช่น คนในครอบครัวป่วยด้วยโรคดังกล่าว จะพิจารณาให้ยาภายหลังการการคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
    • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย ได้ตั้งแต่ 30.0 กก./มขึ้นไป จะให้ใช้ยาภายหลังการรักษาด้วยการคุมอาหาร ออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้การใช้ยาจะต้องพิจารณาในผู้ที่เหมาะสมเท่านั้น เช่น ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี และหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
      .
      ทั้งนี้ ยาลดน้ำหนักที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาจะอยู่ในกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
      .
    • ยาลดความรู้สึกอยากอาหาร เช่น ยาเฟนเตอมีน (Phentermine) เป็นยาที่มีฤทธิ์กดสมอง ทำให้ลดความอยากอาหาร มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายสารกระตุ้นที่ชื่อ แอมฟาตามีน(Amphetamine) จึงมีผลข้างเคียงมาก จึงถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
    • ยายับยั้งการดูดซึมไขมันจากอาหารที่รับประทาน ได้แก่ ยาออร์ลิสแตท (Orlistat) เช่น ยี่ห้อ Xenical และ Alli มีผลข้างเคียง ได้แก่ อุจจาระมีไขมันปน มีไขมันไหลออกจากทวารหนัก แต่ข้อดีที่ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะโยโย่ในภายหลัง
    • ยาควบคุมความอยากอาหาร ได้แก่ ยาลอร์คาเซริน (Lorcaserin) ยี่ห้อ Belviq ทำให้มีความรู้สึกอิ่มเร็ว จึงรับประทานอาหารได้น้อยลง
    • ยาสูตรผสมระหว่าง ตัวยาเฟนเตอมีน (Phentermine) และตัวยาโทพิราเมต (Topiramate) โดยเป็นสูตรออกฤทธิ์เร็ว หรือ Extended-Release เช่น ยี่ห้อ Qsymia ลดน้ำหนักโดยผ่าน 2 กลไกออกฤทธิ์ คือ มีผลต่อสัญญาณเคมีในสมอง และไปกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เพิ่มประสิทธิผลในการลดน้ำหนักได้ดีขึ้น
    • ยาสูตรผสมระหว่าง ตัวยานาลเทรกโซน (Naltrexone) ที่ใช้ลดอาการติดสุรา และตัวยาบูโพรพิออน (Bupropion) ที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า ใช้ลดน้ำหนักด้วยการออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้ลดความอยากอาหาร และลดพฤติกรรมการบริโภคตามอารมณ์ได้
  • การเข้ากลุ่มบำบัด ทำให้ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนเหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วางแผนอย่างเป็นระบบ และตั้งเป้าหมายร่วมกันในการลดน้ำหนัก โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) แพทย์จะพิจารณาใช้ในผู้ที่มีค่า BMI สูงมากกว่า 40.0 กก./มขึ้นไป หรือ มีค่า BMI ในช่วง 35.0 – 40.0 กก./มและมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทั้งนี้การผ่าตัดมีหลายแบบ เช่น การสร้างถุงเชื่อมกระเพาะอาหารส่วนบนกับลำไส้เล็ก เพื่อให้อาหารผ่านกระเพาะเร็วขึ้น การนำห่วงไปรัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง เพื่อให้รับประทานอาหารได้ลดลง โดยสามารถปรับขยายกระเพาะในภายหลังได้ หรือการตัดกระเพาะอาหารบางส่วนออก เพื่อให้มีขนาดเล็กลง เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ควรมีการคำนวณปริมาณพลังงานที่ร่างกายใช้ในแต่ละวัน (Total Daily Energy Expenditure, TDEE) โดยนำค่า BMR ซึ่งเป็นค่าพลังงานที่ร่างกายใช้ในขณะพัก คูณด้วยค่าปัจจัยกิจกรรม ซึ่งแตกต่างกันตามรูปแบบในการใช้ชีวิตของแต่ละคน นำค่าที่ได้มาวางแผนในการรับประทานอาหารและปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต
  • ควรให้ความสำคัญกับการทานอาหารในทุกมื้อ โดยไม่ควรทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน และอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ค่าพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารควรน้อยกว่าค่าปริมาณพลังงานที่ร่างกายใช้ในแต่ละวัน ในผู้ที่ต้องการลดความอ้วน
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานในส่วนที่เกินจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน เช่น วันนี้มื้อกลางวันทานอาหารมากกว่าปกติ ตกเย็นควรออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเผาผลาญพลังงานในส่วนเกิน กรณีที่ไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายไม่เพียงพอ ร่างกายจะเก็บพลังงานส่วนเกินไว้ในรูปไขมันที่ทำให้อ้วน สำหรับการออกกำลังกายนั้นควรออกให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายอย่างน้อย 150 – 300 นาที/สัปดาห์ อาจเลือกกิจกรรมง่าย ๆ อย่างการวิ่ง เดิน หรือเต้น และเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ เมื่อมีโอกาส ส่วนผู้ที่เคยรักษาภาวะอ้วนและต้องการป้องกันไม่ให้กลับมาอ้วนอีก ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 60 นาที
  • ควรมีการจดบันทึกและติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนการทานอาหาร การออกกำลังกาย และพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการลดความอ้วน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากไม่แน่ใจว่าตนกำลังเผชิญกับภาวะอ้วนหรือไม่ หรือต้องการทราบวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากภาวะอ้วน สามารถปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง
  1. Singh GM, Danaei G, Farzadfar F, StevensGA, Woodward M, Wormser D, et al. The age-specific quantitative effects of metabolic risk factors on cardiovascular diseases and diabetes: a pooled analysis. PLoS One 2013; 8(7): e65174. 3.
  2. Emerging Risk Factors Collaboration, Wormser D, Kaptoge S, Di Angelantonio E, Wood AM, Pennells L, Thompson A, et al. Separate and combined associations of body-mass index and abdominal adiposity with cardiovascular disease: collaborative analysis of 58 prospective studies. Lancet 2011; 377: 108595.
  3. Jiang L, Rong J, Wang Y,  Hu F, Bao C, L X, Zhao Y. The relationship between body mass index and hip osteoarthritis: a systematic review and meta-analysis. Joint Bone Spine 2011; 78: 150-5.
  4. Jiang L, Tian W, Wang Y, Rong J, Bao C, Liu Y,  et al. Body mass index and susceptibility to knee osteoarthritis: a systematic review and metaanalysis. Joint Bone Spine 2012; 79: 291-7.
  5. Lauby-Secretan B, Scoccianti C, Loomis D, Grosse Y, Bianchini F, Straif K. Body fatness and cancer — viewpoint of the IARC Working Group. N Engl J Med 2016; 375: 794-8.
  6. Castillo JJ, Reagan JL, Ingham RR, Furman M, Dalia S, Mitri J. Obesity but not overweight increases the incidence and mortality of leukemia in adults: a meta-analysis of prospective cohort studies. Leuk Res 2012; 36: 868-75.
  7. Jia H, Lubetkin EI. The impact of obesity on health-related quality-of life in the general adult US population. J Public Health 2005;14:156–64. [PubMed]
  8. Larsson U, Karlsson J, Sullivan M. Impact of overwieght and obesity on health-related quality of life- a Swedish population study. Int J ObesRelatMetabDisord. 2002;14:417–24. [PubMed]
  9. Sach TH, Barton GR, Doherty M, Muir KR, Jenkinson C, Avery AJ. The relationship between body mass index and health-related quality of life: comparing the EQ-5D, EuroQol VAS and SF-6D. Int J Obes (Lond) 2007;14:189–96.
  10. Wee HL, Wu Y, Thumboo J, Lee J, Tai ES. Assocation of body mass index with Short-Form 36 physical and mental component summary scores in a multiethinic Asian population. Int J Obes (Lond) 2010;14:1034–43.
  11. WHO/IASO/IOTF. The Asia-Pacific perspective: redefining obesity and its treatment. Health Communications Australia:Melbourne. ISBN 0-9577082-1-1.2000.
  12. Taheri S, Lin L, Austin D, Young T, Mignot E. Shortsleep duration is associated with reduced leptin, elevated ghrelin, and increased bodymass index. PLoS Med. 2004 Dec;1(3):e62. Epub 2004 Dec 7.

 

แหล่งข้อมูล : th.wikipedia.org  www.mayoclinic.org  www.haamor.com
ภาพประกอบ : www.pngtree.com


.jpg

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงเกิดหนาตัว มีความแข็ง ขาดความยืดหยุ่นและอาจถึงขั้นตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวลดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายและใกล้เคียงไม่เพียงพอ ในกรณีที่ตีบตันจะทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายของหลอดเลือดที่ตีบตัน ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อบริเวณส่วนปลายเท้าตาย ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรือตัน

 

อาการ

โรคหรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยผู้ที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะไม่ทราบจนกระทั่งเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ได้แก่

  1. หลอดเลือดที่คอหรือสมอง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการ อัมพาต อัมพฤกษ์ เวียนศีรษะ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  2. หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด ปวดเค้นอก แน่นหน้าอก เหมือนมีสิ่งของมาทับอาจจะปวดร้าวมาไหล่และแขนซ้ายด้านใน เหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย กรณีเป็นรุนแรงทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
  3. หลอดเลือดที่ขา อาจทำให้เกิดอาการปวดเวลาเดิน ชา มีแผลจะหายช้า เท้ามีสีดำคล้ำ อาจจะเกิดส่วนที่ดำและตายในส่วนปลายของตำแหน่งที่ตีบตันบริเวณเท้า
  4. เส้นเลือดที่ไต จะทำให้มีความดันโลหิตสูงและถ้าเป็นรุนแรงอาจจะทำให้ไตวายได้

 

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการมีไขมันหรือแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และการสะสมของไขมันและสารอื่น ๆ รวมถึงเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดการอักเสบ มีเกล็ดเลือดมาเกาะ และแผ่นคราบ (plaque) หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจจะแตกออกและเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้หลอดเลือดแดงแข็ง มักเกิดในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ พบในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กเป็นส่วนน้อย

 

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

WordPress Tables Plugin
  • การสูบบุหรี่*
    ความรุนแรงของความเสี่ยง อาจจะพิจารณาจาก จำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน x จำนวนปี

    สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นนิโคตินและความถี่ที่สูบ
    นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลในครอบครัวก็เพิ่มความเสี่ยงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง
  • ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน** อาจจะคำนวณจากดัชนีมวลกายหรือรอบเอว
    • ดัชนีมวลกาย (Body mass index) = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (ม.)2
      ตัวอย่าง ส่วนสูง 1.68 เมตร น้ำหนัก 68 กก. ดัชนีมวลกายเท่ากับ 68/(1.68)2 = 24.1 กก/ม2
      ปกติ ดัชนีมวลกายถ้ามากกว่า 23 กก/ม2 จะถือว่าน้ำหนักเกินและเพิ่มความเสี่ยง
    • รอบเอว ชาย ไม่ควรเกิน 90 ซม. หญิง ไม่ควรเกิน 80 ซม.
      หรือ รอบเอวไม่เกิน ส่วนสูง/2
  • ความดันโลหิตสูง*** ตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ที่สถานพยาบาล
    • แม้แต่ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอทในกลุ่มที่อ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ไขมันผิดปกติ****
    • ไขมันที่ไม่ดี คือ ระดับ LDL-C ถ้ามากว่า 190 มก./ดล. ถือว่าความเสี่ยงสูงมาก การรักษาควรให้ลดระดับ LDL-C เท่าใด ขึ้นกับความเสี่ยง เช่น น้อยกว่า 100 มก./ดล. ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น เบาหวาน หรือ น้อยกว่า 70 มก./ดล. ในผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ไขมันที่ดี คือ HDL-C เพศชายควรมีระดับ มากกว่า HDL-C 40 มก./ดล. และเพศหญิง ควรมากกว่า 50 มก./ดล. และถ้ามากกว่า 60 มก./ดล. อาจจะมีส่วนในการป้องกันโรคหัวใจ
  • เบาหวานหรือระดับน้ำตาลสูง*****
    • แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลสูงถึงระดับเบาหวาน แต่มีค่าน้ำตาลก่อนอาหารมากกว่า 100 มก./ดล. หรือน้ำตาลสูงที่ 2 ชั่วโมงหลังรับทานน้ำตาล 75 กรัม มากกว่า 140 มก./ดล. ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

  

การประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

บุคคลทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย application หรือ ทางอินเตอร์เน็ตที่ดูโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดและการแนะนำการปฏิบัติตนใน Thai CV risk score* ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลความเสี่ยง ได้แก่ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ประวัติโรคเบาหวาน ระดับความดันตัวบน ในกรณีที่ไม่ใช้ผลเลือดไขมัน จะใช้ ค่าวัดรอบเอวและส่วนสูง หรือถ้ามีผลเลือด จะใช้ค่า โคเลสเตอรอล LDL-C HDL-C

* https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (ตามรายละเอียดในข้อสาเหตุ) พร้อมการตรวจร่างกาย การตรวจหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รอบเอว น้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต อาการแสดงของหลอดเลือดแดงแข็งบริเวณอวัยวะที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคลำชีพจรที่เท้า ฟังเสียงฟู่ที่ท้อง หลัง และคอ

ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น

  1. การตรวจเพื่อเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. การตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใช้เทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์หรือการสแกน เพื่อดูความผิดปกติหลอดเลือด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) การทำดอปเปอร์อัลตร้าซาวด์ (Doppler ultrasound) เพื่อวัดความดันและการไหลของเลือดในหลอดเลือดที่คาดว่าผิดปกติ
  3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อวินิจฉัยและหาตำแหน่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test) เพื่อตรวจหาการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
  4. การฉีดสารทึบแสงพร้อมการเอ็กซเรย์ (Angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด

 

การรักษา

ภายหลังการวินิจฉัย รู้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ภาวะของโรคร่วมหรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาตามแนวทาง

  1. การรักษา/ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของ
    • การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ยาลดไขมัน ซึ่งยาที่มีหลักฐานชัดเจนส่วนใหญ่ คือ ยากลุ่มสแตติน (Statin) นอกจากนี้อาจจะใช้ยากลุ่มอื่นร่วมถ้าไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจากยากลุ่มสแตติน (Statin) ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเอจอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น ยาลดระดับน้ำตาลในผู้เป็นเบาหวาน อาจจะพิจารณายากลุ่มเอส จี แอล ที ทู อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 inhibitor) หรือ จีแอลพีวัน รีเซ็บเตอร์อโกนิส (GLP-1RA) หรือ เม็ทฟอร์มิน (metformin) หรือ ไพโอกลิททาโซน (pioglitazone)
    • การไม่ใช้ยา มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร กินให้ถูกโภชนาการ เน้นอาหารสุขภาพ เช่น ปลา ผัก ข้าวกล้อง ผลไม้ไม่หวานจัด การเพิ่มการออกกำลังกายตามสุขภาพร่างกายและอายุ งดบุหรี่รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง แอลกอฮอล์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกปล่อยวาง เป็นต้น
  2. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยยาป้องกันเกาะกันของเกล็ดเลือด (antiplatelet) เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคพิโดรเกล (clopidrogel) หรือ ยาอื่นๆ หรือการใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาลิน (Warfarin) ในกรณีที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดร่วมด้วย แต่ในกรณีที่หลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลันพิจารณายาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic)  
  3. การขยายหลอดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำบอลลูน (Balloon) การใช้ลวดตาข่าย (Stent) ถ่างหลอดเลือด
  4. การผ่าตัดทำบายพาส (artery bypass grafting) เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงที่หัวใจโดยการนำหลอดเลือดดำที่ขามาเชื่อมหลอดเลือดแดงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างทางเบี่ยงข้ามบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างปกติ ลดอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด

ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดของอวัยวะใด การตีบตันเกิดในตำแหน่งใดของหลอดเลือด อายุ สุขภาพร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ผู้ป่วยต้องปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและบางรายซึ่งส่วนใหญ่อาจจะต้องใช้ยาควบคุมเพื่อชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติเพิ่มเติม ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันที แม้ว่าอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงในการที่อาการดังกล่าวจะกลับมา และส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ มากกว่าเดิม
  • บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันและชะลอภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ได้โดย
    • การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยควรงดสูบบุหรี่ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
    • การควบคุมอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการทานอาหารในทุกมื้อ ไม่ควรทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน และอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • การออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
    • การควบคุมน้ำหนัก ควรให้ความสำคัญกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้
    • รักษา/ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานให้ได้ตามเป้าหมาย
    • ตรวจสุขภาพเพื่อดูการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และการทำงานของไต เพื่อคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
.
.
แหล่งที่มา
  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Atherosclerosis
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-20350569
  3. https://www.honestdocs.co/atherosclerosis-cur
  4. https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk
ภาพประกอบจาก : www.pngtree.com

 


-ในผู้ป่วยเบาหวาน.jpg

ค่าน้ำตาลปกติก่อนอาหารและหลังอาหาร

ค่าน้ำตาลปกติก่อนอาหาร หลังอดอาหาร จะมีค่า 70 – 99 มก/ดล. แต่ถ้า 100 – 125 มก/ดล. จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก/ดล. จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อได้รับการตรวจตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป แต่จะมีบางรายที่ค่าน้ำตาลก่อนอาหารน้อยกว่า 126 มก/ดล. แต่เป็นโรคเบาหวานถ้ามีการตรวจพิเศษโดยการรับประทานน้ำตาล  75 กรัม และมีระดับน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมง มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล. จะเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน และถ้าน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร ตั้งแต่ 140 – 199 มก/ดล. จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารอยู่ในเกณฑ์ปกติ1

ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีมากจะมีค่า น้ำตาลหลังอาหารที่ 1 – 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มก/ดล. ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 6.5% แต่ ถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหาร ไม่เกิน 180 มก/ดล.ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 7%

 

การวินิจฉัยน้ำตาลสูงหลังอาหาร

ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางรายอาจจะไม่ได้มีการตรวจน้ำตาลหลังอาหาร ซึ่งการวินิจฉัยน้ำตาลสูงหลังอาหารสามารถทำได้โดยการตรวจน้ำตาลหลังอาหารโดยการตรวจเลือด หรือ เจาะปลายนิ้วหลังรับประทานอาหาร 1 – 2 ชั่วโมง หรือการใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลตลอดเวลา ถ้าผู้เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารดี แต่มีค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) สูง ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำตาลสูงหลังอาหาร การตรวจน้ำตาลหลังอาหารมีส่วนช่วยในการทราบ ชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งพบว่าชาวเอเชียมีการบริโภคคาร์โบไฮเดรตสูงทำให้ระดับน้ำตาลหลังอาหารเพิ่มขึ้นสูงกว่าชาวยุโรป

 

ผลเสียของระดับน้ำตาลสูงหลังอาหารมีผลเสียอย่างไรบ้าง

ภาวะน้ำตาลสูงหลังอาหารจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงเป็น 2 เท่าแม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารปกติ  จากกการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าน้ำตาลมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด  และการที่มีน้ำตาลหลังอาหารสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าน้ำตาลก่อนอาหารสูง2-3

เมื่อมีการศึกษาโดยใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลตลอดเวลา มีการศึกษาผลของระดับน้ำตาลก่อนอาหารและหลังอาหารว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อย่างไร การศึกษาในคนเอเชียพบว่าในกลุ่มที่ควบคุมไม่ดีเป็นผลจากน้ำตาลก่อนอาหารร้อยละ 60 และประมาณร้อยละ 40 เป็นผลจากน้ำตาลหลังอาหาร PPG

 

การลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร

  • การรับประทานอาหาร
    • ชนิดอาหาร การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic index) ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (glycemic index) คือ การวัดการดูดซึมของอาหารเทียบกับอาหารมาตรฐาน ได้แก่ ข้าวเจ้า ซึ่งมีไกลซีมิคอินเดกซ์ เท่ากับ 100 โดยผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอาหารที่มี ไกลซีมิคอินเดกซ์ ต่ำ เพราะดูดซึมได้น้อยกว่า4 เช่น การบริโภคข้าวกล้อง จะมีค่าน้ำตาลหลังอาหารต่ำกว่า ข้าวขาวและข้าวเหนียว การบริโภคประเภท ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้นจะมีดัชนีน้ำตาลน้อยกว่าก๋วยเตี๋ยว การบริโภคผลไม้ควรหลีกเลี่ยง ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
    • ปริมาณอาหาร ถึงแม้การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic index) แต่รับประทานในปริมาณมากจะทำให้มีระดับน้ำตาลหลังอาหารสูงกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงแต่ปริมาณน้อยกว่าได้
    • ลำดับการรับประทานอาหาร เช่น ตัวอย่างการรับประทานอาหารชาวญี่ปุ่น จะรับประทานข้าวเป็นจานสุดท้าย โดยรับประทานอาหารผักและอื่น ๆ ก่อน จะมีระดับน้ำตาลหลังอาหารที่สูงขึ้นน้อยกว่า
    • การรับประทานอาหารเส้นใยร่วม การรับประทานอาหารเส้นใยร่วม จะช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร 
  • การออกกำลังกาย การออกกำลังกายหลังอาหาร เช่น การเดิน 10 – 15 นาที อาจจะช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร
  • ยาที่ลดน้ำตาลหลังอาหาร การรักษาด้วยยา5-10 ถ้าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารสูงร่วมกับน้ำตาลสูงหลังอาหารอาจจะใช้ยาลดน้ำตาลชนิดใดก็ตามเพื่อลดน้ำตาลก่อนอาหารจะช่วยลดน้ำตาลหลังอาหารเช่นกัน แต่ถ้าน้ำตาลก่อนอาหารสูงไม่มาก ยาที่สามารถลดระดับน้ำตาลหลังอาหารด้วยยา ได้แก่ ยากลุ่ม อัลฟ่า กลูโคซิเดสอินฮิบิเตอร์ (AGI) แต่อาจจะมีผลข้างเคียง ทางเดินอาหาร เช่น ผายลม แน่นท้อง, ยากลุ่ม  glinide แต่อาจจะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ, ยากลุ่ม ดีพีพี 4 อินฮิบิเตอร์ ส่วนที่เป็นยาชนิดฉีด ได้แก่ ยา GLP-1 analog และอินซูลินชนิดที่ออกฤทธิ์สั้น

 

แหล่งที่มา

  1. Expert Committee on the Diagnosis and Classification of Diabetes Mellitus. Follow-up report on the diagnosis of diabetes mellitus. Diabetes Care 2003; 26:3160–7.
  2. Bonora E, Muggeo M, Post prandial blood glucose as a key factor for cardiovascular disease in type II diabetes: The epidemiologic evidence. Diabetologia 2001; 44: 2107-14.
  3. Hanefeld M, Koehler C, Henkel E , et al. Post-challenge hyperglycemia related more strongly than fasting hyperglycemia with carotid intema media thickness: the RIAD Study. Diabet Med 2000; 7: 835-40.
  4. Poster-Powell, Kaye. The Glycemic Index Guide. The glycemic index factor for people with diabetes. Hodder & Stroughtron Book; 1997: 74-93.
  5. Ghosh JM. Trial of Low Glycemic Diet and Acarbose Therapy for Control of Post-prandial Hyperglycemia in Type 2 Diabetes Mellitus, Preliminary report. Int J Diab Dev Ctries [Internet]. 2005 [cited 2013 Jul 2];25(3). Available from: http://www.diabetes.org.in/ journal/2005_july-sept/original_article3.pdf.
  6. Nattrass M, Lauritzen T. Review of prandial glucose regulation with repaglinide: a solution to the problem of hypoglycaemia in the treatment of Type 2 diabetes? Int J Obes Relat Metab Disord J Int Assoc Study Obes 2000; 24 Suppl 3:S21–31.
  7. Okada K, Yagyu H, Kotani K, Yamazaki H, Ozaki K, Takahashi M, et al. Effects of miglitol versus sitagliptin on postprandial glucose and lipoprotein metabolism in patients with type 2 diabetes mellitus. Endocr J 2013; 60(7):913-22.
  8. Holst JJ. Glucagon-like peptide-1: from extract to agent. The Claude Bernard Lecture, 2005. Diabetologia 2006; 49:253–60.
  9. Singh J. RAPID ACTING INSULIN ANALOGUES. [cited 2013 Jul 5]; Available from: http:// apiindia.org/pdf/medicine_update_2012/ diabetology_05.pdf 66. Galli-Tsinopoulou A, Stergidou D. Insulin analogues for type 1 diabetes in children and adolescents. Drugs Today Barc Spain 1998. 2012 Dec;48(12):795–809.
  10. Rosenfalck AM, Thorsby P, Kjems L, Birkeland K, Dejgaard A, Hanssen KF, et al. Improved postprandial glycaemic control with insulin Aspart in type 2 diabetic patients treated with insulin. Acta Diabetol 2000; 37:41–6.
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก