“พฤติกรรมการบริโภคเค็ม” อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างเดียวหลังจากมีการศึกษาพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 มีความเสี่ยงที่จะมีส่วนร่วมทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง และป่วยเป็นโรคเบาหวาน ได้เช่นกัน
ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร
ฝุ่นละออง PM 2.5 (Particulate matter 2.5) คืออนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่เห็นลอยในบรรยากาศ โดยมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ที่พบและเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 – 10 ไมครอน และ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากควันเสียจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซลจากยานพาหนะ ควันเสียจากการใช้พลังงานถ่านหินหรือน้ำมันดีเซลในโรงงานอุตสาหกรรม การปิ้ง เผาประกอบอาหาร และการเผาชีวมวลในช่วงก่อน-หลังฤดูการเพาะปลูก ในเขตเมืองจะประสบปัญหาภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า เพราะมีหลายปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง อาทิ การสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาชีวมวลร่วมกับฝุ่นจากเขตเมือง ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ เพราะเป็นละอองที่ประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ประกอบกับภูมิศาสตร์ของเขตเมืองมีอาคารสูง จึงเกิดลมนิ่งได้ง่ายกว่าทำให้มีความเสี่ยงในการรับฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า
ผลกระทบต่อสุขภาพ
- ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งโรคไต
ฝุ่นละอองเป็นปัญหาและภัยต่อสุขภาพได้ทุกรูปแบบ ในช่วงแรกได้มีการตระหนักถึงภัยต่ออาการทางเดินหายใจและโรคหัวใจเป็นหลัก อย่างไรก็ดีฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นมีผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งไตด้วยเช่นกัน จากการศึกษาในประเทศจีน 282 เมือง พบว่า ผู้ที่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตอักเสบ ชนิด membranous nephropathy โดยที่ระดับฝุ่นที่ผู้ป่วยสัมผัสมีปริมาณ ตั้งแต่ 6 – 114 ug/m3 (เฉลี่ย 52.6 ug/m3) การสัมผัสฝุ่นทุก ๆ 10 ug/m3 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคไตขึ้นร้อยละ 14 การศึกษาในสหรัฐอเมริกา US Veterans กว่า 2 ล้านคนพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เพิ่มขึ้น ในไต้หวันก็พบเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และสตรีผลจะรุนแรงขึ้น - ความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้อากาศเป็นพิษหรือฝุ่นละอองจะสัมพันธ์กับการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการยืนยันการศึกษาจากหลายประเทศร่วมกัน พบว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ร่วมกับการที่ไตขับโซเดียมลดลง มีการคั่งของโซเดียมในร่างกายและเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น - เบาหวานเพิ่มขึ้น
ฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ยังสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในยุโรปและอิหร่านพบว่า การสัมผัสฝุ่นละออง PM และ NOx เป็นเวลานาน จะสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสตรีที่อายุน้อยกว่า 50 ปี
โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคต ดังนั้น ฝุ่นละออง PM 2.5 จึงเป็นทั้งสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ กลไกคือมีทั้งการกระตุ้นภาพประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นการสร้างสารก่อการอักเสบ มีความผิดปกติของเซลล์บุหลอดเลือด (endothelium) ทำให้หลอดเลือดหดตัว ผลระยะยาวจากความดันโลหิตสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่ม เช่น สูบบุหรี่ ภาวะอ้วนและเบาหวาน ก็จะทำให้โอกาสเป็นโรคไตสูงมาก สรุป ฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลต่อทุกอวัยวะ สารการอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากฝุ่นนี้จะเข้าสู่ร่างกายแพร่กระจายไปทุกอวัยวะ รวมทั้งมีผลโดยตรงต่อไป เราต้องร่วมมือกันหาแนวทางลดมลภาวะ PM 2.5 เช่น ลดการเผาไหม้ หาแหล่งพลังงานใหม่ และหลีกเลี่ยงจากฝุ่นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com