ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Ankle-sprain.jpg

ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด (Ankle sprain) มักจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น หกล้มแล้วข้อเท้าบิด ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเท้าเคล็ดได้บ่อย คือ เคยมีประวัติข้อเท้าเคล็ดมาก่อน รองเท้าไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นรอบข้อเท้าไม่แข็งแรง กีฬาบางชนิด เช่น บาสเกตบอล แบดมินตัน เป็นต้น เอกซเรย์ข้อเท้า โดยส่วนใหญ่มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ถ้ามีอุบัติเหตุรุนแรง อาจพบมีกระดูกหัก ร่วมด้วย

ระดับความรุนแรง ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด

  • ระดับที่หนึ่ง เส้นเอ็นยึดข้อถูกเหยียดออกมากเกินไป และบางเส้นใยอาจฉีกขาด จะมีอาการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือเคลื่อนไหวข้อ แต่มักจะไม่บวม ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 อาทิตย์
  • ระดับที่สอง เส้นเอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร รวมทั้งมีอาการบวมและฟกช้ำ เพราะเส้นเลือดล็ก ๆ ฉีดขาด ทำให้มีเลือดออก เวลาลงน้ำหนักจะรู้สึกปวด มักจะหายใน 4 – 6 อาทิตย์
  • ระดับที่สาม เส้นเอ็นยึดข้อเส้นหนึ่งหรือหลายเส้นฉีกขาดจากกันทั้งหมด มีอาการปวด บวมและฟกช้ำมาก เคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักไม่ได้ อาจใช้เวลารักษา 6 – 10 เดือนจึงจะหายสนิท ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงมาก ในกรณีเป็นนักกีฬาอาชีพ อาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น

ถ้าข้อเท้าบวมมาก เดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือลองรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 วัน จะต้องตรวจหาสาเหตุว่า เกิดจากอะไร

แนวทางการรักษา ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด 

แนวทางรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเส้นเอ็นที่ได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งมีแนวทางทั่วไปดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเท้า เช่น การใช้ไม้ดาม ใส่
    เฝือก ใช้ผ้ายืดพัน หรือใช้ไม้เท้าพยุงเวลาเดิน
  • ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 1 ใช้ผ้ายืดพัน หรืออุปกรณ์พยุงข้อเท้า
  • ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 2 ใส่เฝือก 2 – 4 อาทิตย์
  • ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 3 ใส่เฝือก 4 – 6 อาทิตย์ หรือผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น
  1. ในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรกให้ประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง เป็นต้น
  • เมื่อพ้นระยะ 24 – 48 ชั่วโมง จึงประคบด้วยความร้อน เช่น น้ำอุ่น กระเป๋าไฟฟ้า ครีมนวด เป็นต้น
  • ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เช่น เวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น
  • ถ้าปวดมากอาจรับประทานเลือด เช่น ยาพาราเซตตามอล หรือยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ (NSAIDs)
  1. บริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเท้า
  • เคลื่อนไหวข้อ 6 ทิศทาง (กระดกขึ้น-งอลง บิดเข้า-บิดออก หมุนวนเข้า-หมุนวนออก) หรือ อาจใช้วิธีบริหารโดยเคลื่อนไหวปลายเท้า เหมือนกับการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ ๆ ก็ได้
    ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด
  • บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5 – 10 วินาที ใน 4 ทิศทาง คือ กระดกขึ้น งอลง บิดเท้าเข้าด้านใน และบิดเท้าออกด้านนอก ถ้าไม่ปวด ให้ถ่วงน้ำหนัก 0.5 – 4 กิโลกรัมที่บริเวณปลายเท้า หรือใช้เท้าดันกับขอบโต๊ะ อาจใช้ยางยืดหรือผ้ารัดที่ปลายเท้าเพื่อเพิ่มแรงต้านให้มากขึ้น ร่วมกับยืนยกส้นเท้า ยกปลายเท้าขึ้น
    ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด
  1. บริหารประสาทรับความรู้สึกของข้อเท้า
  • ยืนหรือนั่ง เหยียบบนหมอนนุ่ม ๆ แล้วลงน้ำหนัก ตามส่วนต่าง ๆ คือ ส้นเท้า ปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอก
  • วางเท้าบนแผ่นไม้ ที่เอียงกระดกได้ แล้วเหยียบให้แผ่นไม้กระดกไปทั้ง 4 ทิศทาง
  • ยืนเท้าเดียว แล้วบิดตัว
  • กระโดดเชือก (ต้องรอให้หายปวด ไม่มีอาการเสียวในข้อ ไม่มีข้อบวม)

ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด

อาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง

โดยส่วนใหญ่ข้อเท้าเคล็ดมักจะหายใกล้เคียงปกติ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่มีผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง (ปวดนานกว่า 6 อาทิตย์) เคลื่อนไหวข้อได้ไม่เต็มที่ และเกิดข้อเท้าเคล็ดซ้ำได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจาก

  • ไม่ได้ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ไม่ดี กล้ามเนื้อลีบ
  • มีเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าที่ฉีกขาดยื่นเข้าไปในข้อเท้า เมื่อกระดกข้อเท้าขึ้นก็จะถูกกระดูกหนีบทำให้ปวด
  • มีกระดูกแตกร่วมด้วย แล้วมีกระดูกติดผิดรูป
  • เส้นเอ็นฉีดขาดหลายเส้น แล้วไม่ได้รักษา ทำให้เส้นเอ็นไม่ติด หรือเส้นเอ็นติดในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม 

 

เมื่อไรถึงจะกลับไปเหมือนกับปกติ

  • เมื่อเคลื่อนไหวข้อเท้า และเดินลงน้ำหนักโดยไม่ปวด สามารถยืนเขย่งยกส้นเท้าขึ้น นานกว่า 20 วินาที ยืนขาข้างเดียว (หลับตา) นานกว่า 30 วินาที และเส้นเอ็นกล้ามเนื้อข้อเท้า มีความแข็งแรง 70 – 80% เทียบกับข้างปกติ
  • ถ้าลองวิ่งในแนวตรง วิ่งวนเป็นวงกลมหรือรูปเลขแปด แล้วไม่ปวด ก็ให้ลองวิ่งแบบสลับฟันปลา ถ้าสามารถวิ่งสลับฟันปลา โดยไม่ปวด และรู้สึกว่าข้อเท้ามั่นคงดี ก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้แต่ต้องค่อยปรับความเร็ว-ความหนัก และถ้ารู้สึกผิดปกติ เจ็บ-บวมผิดปกติ ให้หยุด หรือลดความเร็ว-ความหนัก ต้องปรับเพิ่มลดตามอาการให้เหมาะสม
  • ข้อเท้าเคล็ดจะหายเป็นปกติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ระดับความรุนแรง วิธีรักษาที่เหมาะสม การบริหารหรือทำกายภาพบำบัดเป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลารักษา ประมาณ 2 – 6 อาทิตย์ แต่เส้นเอ็นจะหายเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน จึงควรใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้าอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อเท้าเคล็ดซ้ำ

 


ภาพประกอบจาก : www.iwalk-free.com

 


-osteoperosis-H2C00.jpg

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) หรือกระดูกโปร่งบางคือ ภาวะที่ปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น

 

โรคกระดูกพรุนพบบ่อยรองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ การสูญเสียเนื้อกระดูกไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันและให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่จะเกิดกระดูกหัก

ในวัยเด็กปริมาณเนื้อกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุ 30 – 35 ปี หลังจากนั้นเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้า ๆ แต่ในผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงสูญเสียปริมาณเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ 30 – 40 แต่ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้เพียงร้อยละ 10

พบว่าในผู้หญิงอายุ 60 – 70 ปีเป็นโรคนี้ ร้อยละ 40 และในผู้หญิงอายุมากว่า 80 ปี จะเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60 จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

 

โรคกระดูกพรุน

ภาพจาก : beyondthedish.files.wordpress.com

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

  1. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้หญิงที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ทำให้ขาดฮอร์โมน
    เอสโตรเจน
  2. รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น ทานอาหารโปรตีนสูง (เนื้อสัตว์) โซเดียมสูง (รสเค็ม) แต่มีแคลเซียมต่ำ
  3. กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน หรือมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
  4. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน ดื่มน้าอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน
  5. ขาดการออกกำลังกาย ที่มีการแบกรับน้ำหนัก
  6. น้ำหนักตัว โดยเฉพาะในผู้หญิง จะพบว่าคนรูปร่างผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วน
  7. เป็นโรคบางอย่าง เช่น ไตวาย เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ พิษสุราเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย
    โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
  8. ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ (ยาธาตุน้ำขาว) ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
  9. ผู้สูงอายุ เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการขาดแคลเซียมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ หรือลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และอาจร่วมกับการขาดวิตามินดี เพราะผู้สูงอายุมักไม่ได้ออกไปสัมผัสกับแสงแดด

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

  • โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปกติ จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง แต่ทำให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น เช่น ลื่นล้มหรือตกจากเก้าอี้ เป็นต้น ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อยคือ ข้อมือ หัวไหล่ หลังสะโพก และส้นเท้า
  • ผู้สูงอายุที่มีหลังโก่งหรือความสูงลดลง เกิดจากกระดูกสันหลังค่อย ๆ ยุบลง โดยความสูงลดลงมากกว่า 1.5 นิ้ว เมื่อเทียบกับความสูงที่สุดช่วงอายุ 25 – 30 ปี (ความสูงที่สุด มีค่าเทียบเท่ากับความยาวจากปลายนิ้วทั้งสองข้าง)
  • เอกซเรย์กระดูก ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง เป็นต้น
  • วัดความหนาแน่นเนื้อกระดูก เช่น วัดด้วยคลื่นเสียงอัลตร้า รังสีเอกซ์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจสารเคมีในเลือด เป็นต้น
  • การตัดชิ้นเนื้อกระดูกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำในรายที่จำเป็นเท่านั้น

ปัจจุบันมีการคัดกรองโรคกระดูกพรุนที่หลากหลาย เช่น การคำนวณดัชนีคัดกรองความเสี่ยง Osteoporosis Self-Assessment Tool for Asian (OSTA) หรือ Khon Kaen Osteoporosis Study Score (KKOS) การวัดกระดูกส้นเท้า (quantitative ultrasound calcaneus measurement หรือ QUS) องค์การอนามัยโลกแนะนำการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเรียกว่า FRAX® ซึ่งประชาชนหรือบุคลากรทางการแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักภายใน 10 ปีข้างหน้าได้

สำหรับการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนที่เป็นมาตรฐาน (gold standard) ในปัจจุบันยังต้องอาศัยเครื่องวัดมวลกระดูก Dual energy X-ray absorptiometry (DXA) ซึ่งเป็นวิธีการวัดความหนาแน่นของกระดูกที่แม่นยาที่สุด อย่างไรก็ตาม เครื่องมือนี้ไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกโรงพยาบาลจะมีตามโรงพยาบาล ขนาดใหญ่เท่านั้น เกณฑ์การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนด้วย DXA ซึ่งกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก แสดงเป็น ค่า T-score

  • 0 ถึง – 1 (ศูนย์ ถึง ลบ หนึ่ง) แปลว่า อยู่ในเกณฑ์ ปกติ
  • – 1 ถึง – 2.5 (ลบหนึ่ง ถึง ลบสองจุดห้า) แปลว่า กระดูกบาง
  • ค่าน้อยกว่า – 2.5 (น้อยกว่า ลบสองจุดห้า) แปลว่า กระดูกพรุน
  • ค่าน้อยกว่า – 2.5 และ มีกระดูกหัก แปลว่า กระดูกพรุน ขั้นรุนแรง

หมายเหตุ การแปลผลจะเทียบค่าที่วัดได้กับค่ามาตรฐานที่มี เพศ อายุ เชื้อชาติ ใกล้เคียงกัน

การวัดกระดูกส้นเท้า (quantitative ultrasound calcaneus measurement หรือ QUS) เป็นวิธีตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ มีข้อดีคือ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสี่ยงกับการได้รับรังสีและราคาถูก แต่มีความคลาดเคลื่อนพอสมควร ถ้าวัดแล้วมีค่าผิดจากปกติมากเกินไป เช่น อายุน้อยแต่กระดูกบางมาก เป็นต้น ก็ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ ก่อนให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน

 

ข้อบ่งชี้ในการตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก

  1. เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบครั้งต่อไป
  2. ผู้ที่มีปัจจัยความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนสูง
  3. เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคหรือประเมินการสูญเสียเนื้อกระดูกว่าอยู่ในกลุ่มที่มีการสูญเสียกระดูกอย่างรวดเร็วหรือไม่ เพื่อที่จะได้หาวิธีป้องกันและให้การรักษาตั้งแต่แรก ๆ
  4. ใช้ในการติดตามผลการรักษา ซึ่งอาจตรวจซ้ำทุก 1 – 2 ปี

 โรคกระดูกพรุน

ภาพจาก : back.vsebolezni.com

 

ผู้ที่ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

  • ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน (โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี) หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่
    ออกทั้งสองข้าง
  • ถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระดูก แล้วพบว่ากระดูกบางผิดปกติ
  • มีกระดูกหักเกิดขึ้นทั้งที่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ข้อเท้าพลิก ยกของหนัก ลื่นล้มหรือตกจากเก้าอี้ โดยเฉพาะกระดูกหักในบริเวณ ข้อมือ ข้อไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก และกระดูกส้นเท้า
  • ผู้สูงอายุ ที่รู้สึกว่ากระดูกสันหลังผิดปกติ เช่น หลังโก่ง หลังคด หรือ ความสูงลดลงมากกว่า 1.5 นิ้วเมื่อเทียบกับความสูงที่สุดช่วงอายุ 25-30 ปี (ความสูงที่สุดสามารถวัดได้เทียบเท่ากับความยาวจากปลายนิ้วทั้งสองข้าง)
  • เป็นโรคบางอย่าง เช่น ไตวาย เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ พิษสุราเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง เป็นต้น
  • รับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ (ยาธาตุน้ำขาว) ยาขับปัสสาวะ
  • รูปร่าง ผอมหรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • มีประวัติครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุน หรือ มีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
  • สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน ดื่มน้าอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน

 

แนวทางการรักษา

ปัจจุบันรักษาโดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่

  1. การออกกำลังกาย ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำ (สเต็ปแอโรบิก) ลีลาศ ยกน้าหนัก เป็นต้น จะช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกในบริเวณที่รับน้าหนักได้ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นประมาณร้อยละ 60 – 70 ของชีพจรสูงสุด (ชีพจรสูงสุด = 220 ลบด้วยอายุของผู้ที่ออกกำลังกาย) ออกไปสัมผัสกับแสงแดดในช่วงเช้าและเย็น อย่างสม่ำเสมอและนานเพียงพอ (ประมาณ 15 – 20 นาที ต่อวัน)
  2. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทาให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น รับประทานอาหารให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูงและโซเดียมสูง แต่เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน หรือ ดื่มน้าอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน หลีกเลี่ยงยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ (ยาธาตุน้ำขาว) ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
  3. การรักษาด้วยยาจะมียาอยู่หลายกลุ่มซึ่งมักจะต้องใช้ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น
    • ฮอร์โมนเอสโตรเจนราลอกซีฟีน
      ต้องได้รับฮอร์โมนภายใน 3 – 5 ปีหลังเริ่มหมดประจำเดือน และใช้ติดต่อกัน 5 – 6 ปี จึงจะได้ผลดีที่สุด ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง และ ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม โรคตับ หลอดเลือดดำอุดตัน
    • แคลเซียม 
      • อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง น้าเต้าหู้ ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ายา เป็นต้น
      • ถ้าได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอนานประมาณ 18 เดือน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้
      • ในผู้สูงอายุ ควรได้รับแคลเซียม ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน แคลซิโทนินหรือวิตามินดี 
        จึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น
      • แคลเซียมชนิดเม็ดฟู (ละลายในน้า) ก็จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซียมชนิดอื่น ๆ แต่ก็จะมีราคาสูงกว่า
    • ฮอร์โมนแคลซิโตนิน
      ฮอร์โมนแคลซิโตนินมีทั้ง ชนิดฉีดและชนิดสเปรย์พ่นจมูก สามารถเพิ่มเนื้อกระดูกได้ ร้อยละ 5 – 10 ใน 2 ปีแรกของการใช้ยา และลดโอกาสเกิดกระดูกหักได้ร้อยละ 30 – 40 ช่วยลดอาการปวดกระดูกได้ แต่มีข้อเสียคือต้องใช้ติดต่อกัน 2 – 3 เดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 – 17,000 บาท
    • ยาบิสฟอสโฟเนต
      บิสฟอสโฟเนต เช่น เอเลนโดรเนต ริสซิโดรเนต ไอแบนโดรเนต โซลิโดรเนต เป็นต้น ช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกได้ร้อยละ 5 – 8 ลดโอกาสเกิดกระดูก หักได้ร้อยละ 50 ต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 3 – 6 เดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 9,600 – 16,000 บาท ต่อปี ซึ่งอาจต้องใช้ติดต่อกัน 2 – 3 ปีจึงจะเห็นผลชัดเจน
    • ยากลุ่มอื่น เช่น ฟลูออไรด์ เทสโตสเทอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) พาราไทรอยด์ฮอร์โมน
      สตรอนเตียม เป็นต้น

การเลือกวิธีการรักษาต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค ความรุนแรงของโรค ผลดีผลเสียของวิธีรักษาแต่ละวิธี และค่าใช้จ่าย เพราะต้องรักษาต่อเนื่องหลายปี หรืออาจจะต้องรักษากันตลอดชีวิต


แนะนำอ่านเพิ่มเติม

  • แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553 โดย มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
  • แนวทางเวชปฏิบัติโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2548 โดย สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ


-H2C00-1.jpg

โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคที่เกิดอาการอักเสบ เนื่องจากมีกรดยูริก (Monosodium urate monohydrate – MSU) ตกตะกอน ใน ข้อและอวัยวะต่าง ๆ ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า และพบบ่อยในผู้ชายอายุ 35 ปี ขึ้นไป ผู้หญิงจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน

 

อาการและอาการแสดง

  • ข้ออักเสบฉับพลัน ปวด บวม แดง ร้อน อย่างชัดเจน มักมีอาการอักเสบมากที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงแรก
  • พบบ่อยที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หลังเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก อาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ๆ
  • ระยะแรก จะมีการอักเสบ ข้อเดียวนาน 1 – 2 วัน ปีละ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 60 จะกลับมีอาการซ้ำอีกภายใน 1 ปี) แต่ถ้าไม่ได้รักษา การอักเสบจะบ่อยขึ้น นานขึ้น เป็นหลายข้อพร้อมกัน มีก้อนผลึกกรดยูริกหรือก้อนโทฟัส (Tophus) ทำให้ข้อผิดรูป และกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อเสื่อมอย่างถาวร
  • มีโอกาสเกิดนิ่วในไต ร้อยละ 20 และมีโอกาสเกิดไตวาย ร้อยละ 10
  • ถ้าเป็นเรื้อรัง อาจพบก้อนโทฟัส ที่ข้อศอก ข้อเท้า ใบหู ก้อนอาจแตก และมีสารคล้ายชอล์กสีขาว ผลึกกรดยูริกออกมา แต่ถ้าก้อนไม่แตกเอง ก็ไม่ควรไปผ่า เพราะแผลจะหายช้ามาก
  • ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้แสดงว่าเป็นโรคเกาต์แบบรุนแรง เช่น ปริมาณกรดยูริกในเลือดสูง มีก้อนโทฟัส เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย มีอาการไตอักเสบ หรือมีนิ่วในไต เป็นต้น

 

โรคเกาต์

 ภาพจาก : www.webmd.com

  

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์

  • เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบในโรคเกาต์ที่แน่นอน (definite) คือ การตรวจพบผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium urate crystal) จากน้ำไขข้อหรือก้อนโทฟัส ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจผลึก อาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเกาต์ของ Rome (Rome criteria) โดยอาศัยเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
    • ข้อบวมเจ็บซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและหายภายใน 2 อาทิตย์
    • ระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชายและมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิง
    • พบก้อนโทฟัส (tophus)
  • 2015 Gout Classification Criteria An American College of Rheumatology/European League Against Rheumatism Collaborative Initiative The entry criterion for the new classification criteria requires the occurrence of at least 1 episode of peripheral joint or bursal swelling, pain, or tenderness.
    • The presence of MSU crystals in a symptomatic joint/bursa (i.e., synovial fluid) or in a tophus is a sufficient criterion for classification of the subject as having gout, and does not require further scoring.
    • The domains of the new classification criteria include clinical (pattern of joint/bursa involvement, characteristics and time course of symptomatic episodes), laboratory (serum urate, MSU negative synovial fluid aspirate), and imaging (double contour sign on ultrasound or urate on dual-energy computed tomography, radiographic gout-related erosion).
    • The sensitivity and specificity of the criteria are high (92% and 89%, respectively).

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยจะต้องมีข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนฉับพลัน เป็น ๆ หาย ๆ และไม่ได้อาศัยการเจาะเลือด ตรวจกรดยูริกเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดว่า เจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูง เป็นเกาต์ แต่ถ้าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกต่ำ ไม่เป็นเกาต์ ถ้าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูง แต่ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ แต่จะเรียกว่า ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ไม่ต้องรักษา ยกเว้นมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 13.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศชาย และ 10.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง หรือการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะมากกว่าวันละ 1,100 มิลลิกรัม เมื่อรับประทานอาหารตามปกติ จะพบอุบัติการณ์ของไตทำงานบกพร่องและนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น ควรพิจารณาให้การรักษา

 

โรคเกาต์

ภาพจาก : theheartysoul.com

 

สาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ

  • การบาดเจ็บหรือข้อถูกกระทบกระแทกแบบไม่รุนแรง โดยตอนกระแทกจะไม่ค่อยเจ็บ แต่ต่อมาเจ็บมากขึ้น
  • อาหารที่เป็นของแสลง ไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในบางคน แต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงควรสังเกต จดบันทึกชนิดอาหารที่ทานก่อนเกิดข้ออักเสบ และหลีกเลี่ยงของแสลง โดยเฉพาะช่วงที่มีข้ออักเสบ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ไก่ เป็ด ห่าน น้ำต้มกระดูก กุ้งทะเล หมึก หอย ซุปก้อน กะปิ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง พืชบางชนิด เช่น ถั่ว เห็ด กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก สะเดา สะตอ ผักโขม หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า แตงกวา ของหมักดอง
  • เหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ
  • อากาศเย็นหรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้า หรือ ก่อนฝนตก เป็นต้น
  • ยา เช่น แอสไพริน ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ

 

แนวทางรักษา

  1. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ
  2. ลดการใช้งานของข้อที่อักเสบถ้าในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจจำเป็นต้องใส่เฝือกชั่วคราว เพื่อให้ข้ออยู่นิ่ง ๆ
  3. ยา
    • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs, เอนเสด) เป็นยาบรรเทาอาการเท่านั้นไม่ได้รักษาโรค เมื่ออาการดีขึ้น ไม่ปวด ไม่บวม ไม่แดง ไม่ร้อน ก็หยุดยาได้ มีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะคลื่นไส้ ท้องอืด แสบท้อง จุกแน่นลิ้นปี่ แผลในกระเพาะอาหาร หน้าบวม ตาบวม ขาบวม
    • ยา โคชิซีน (colchicine) ถ้ามีการอักเสบมากก็จะต้องใช้ยาปริมาณมาก ทาให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน ซึ่งถ้าเกิดอาการข้างเคียงมาก ให้ลดปริมาณยาลง หรือ หยุดยาไว้ก่อน

      • การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
        • ถ้ามีข้ออักเสบบ่อย เช่น ข้ออักเสบทุก 1 – 2 เดือน ควรพิจารณาให้ยา 3 – 1.2 มก./วัน รับประทานทุกวัน
        • ถ้ามีข้ออักเสบไม่บ่อย เช่น ทุก 3 – 4 เดือนขึ้นไป อาจพิจารณาให้ยาเฉพาะช่วงที่เริ่มมีอาการปวดข้อ
      • การพิจารณาหยุดยา colchicines
        • ถ้าผู้ป่วยไม่มีปุ่มโทฟัส ให้พิจารณาหยุดยาเมื่อ ไม่มีข้ออักเสบ และควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการ เป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน
        • ถ้าผู้ป่วยมีปุ่มโทฟัส ให้พิจารณาหยุดยาเมื่อ ปุ่มโทฟัสหายไป และควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการเป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน
    • ยาลดกรดยูริก ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก และยาเร่งการขับกรดยูริก
      • ควรเริ่มยา หลังจากข้ออักเสบหายสนิทแล้วเท่านั้น แต่ ในกรณีที่ใช้ยาอยู่แล้ว ให้ยาเดิมต่อไป ไม่ควรปรับขนาดยาลดกรดยูริกที่ผู้ป่วยได้รับขณะที่มีข้ออักเสบ
      • ตั้งเป้าหมายให้กรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับเท่ากับหรือต่ำกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ ในกรณีที่มีก้อนโทฟัสแล้วอาจตั้งเป้าหมายลดระดับกรดยูริกในเลือดลงมาเท่ากับหรือต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
      • ระยะเวลาของการให้ยาควรให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้ยาไปจนผู้ป่วยไม่มีอาการอักเสบของข้อหรือให้จนปุ่มโทฟัสหายไปหมดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 – 5 ปี ในรายที่มีประวัตินิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะมากกว่า 800 มก./วัน ต้องพิจารณาให้ยาลดกรดยูริกชนิดยายับยั้งการสร้างกรดยูริกไปตลอด
      • แนวทางการใช้ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (Xanthine oxidase inhibitor เช่น allopurinol febuxostat)
        • มีปุ่มโทฟัส
        • มีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะมากกว่า 800 มก./วัน
        • มีประวัติหรือตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
        • ใช้ยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไตไม่ได้ผล
        • แนวทางการใช้ยาเร่งการขับกรดยูริก (Uricosuric agents)
      • อายุน้อยกว่า 60 ปี
        • หน้าที่การทำงานของไตปกติ การใช้ยา probenecid ควรมีค่า CCr มากกว่า 80 cc/min การใช้ยา benzpromarone ควรมีค่า CCr มากกว่า 30 cc/min)
        • มีการขับกรดยูริกออกทางไตน้อยกว่า 800 มก./วัน
        • ไม่มีประวัติหรือตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
        • ควรแนะนาให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร หรือเปลี่ยนสภาวะความเป็นกรดของปัสสาวะให้เป็นด่าง (alkalinization; urine pH 6.5 – 7) โดยให้ potassium citrate หรือ potassium bicarbonate หรือ soda mint
    • ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ จะใช้ในกรณีที่มีข้ออักเสบอย่างรุนแรง และผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ เท่านั้น เพราะการฉีดยาเข้าข้อจะมีผลเสียค่อนข้างมาก เช่น ติดเชื้อในข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และกล้ามเนื้อรอบข้อลีบ


แนะนำอ่านเพิ่มเติม

  • 2015 Gout Classification Criteria An American College of Rheumatology/European League Against Rheumatism Collaborative Initiative
  • ARTHRITIS & RHEUMATOLOGY Vol. 67, No. 10, October 2015, pp 2557–2568
  • 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 1: Systematic Nonpharmacologic and Pharmacologic Therapeutic Approaches to Hyperuricemia
  • Arthritis Care & Research Vol. 64, No. 10, October 2012, pp 1431–1446
  • 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 2: Therapy and Antiinflammatory Prophylaxis of Acute Gouty Arthritis
  • Arthritis Care & Research Vol. 64, No. 10, October 2012, pp 1447–1461
  • แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ (Guideline for Management of Gout) โดย สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555 (ปรับปรุงจากแนวทางเวชปฏิบัติภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและโรคเกาต์ ปี พ.ศ. 2544)
  • แนวทางเวชปฏิบัติ ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) และโรคเก๊าท์ (Gout) โดยสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย


ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ


-Osteoarthritis-of-Knee.jpg

โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of Knee) จะมีพยาธิสภาพหลักอยู่ที่ กระดูกอ่อน (articular cartilage) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลงและขรุขระ กระดูกงอกบริเวณขอบข้อ และน้ำไขข้อมีการสูญเสียคุณสมบัติ ทำให้มีปริมาณมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นลดลง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจทวีความรุนแรงขึ้นตามลาดับ

 

มีปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น อายุ (พบบ่อยเมื่ออายุเกิน 40 ปี) น้ำหนักตัวมาก เพศ (ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า) การใช้ข้อไม่เหมาะสม อุบัติเหตุ กระดูกหัก เส้นเอ็นฉีกขาด ติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

 

อาการ

อาการและอาการแสดง อาจพบเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรก อาการจะไม่มาก และเป็น ๆ หาย ๆ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็จะมีอาการมากขึ้น หรือเป็นตลอดเวลา เช่น

  • ปวดเข่า มักจะระบุตำแหน่งไม่ได้ รู้สึกเมื่อยตึงที่น่อง ข้อพับเข่ามีเส้นเอ็นอักเสบ ทาให้ปวด กดเจ็บ ด้านในเข่าและหน้าแข้ง
  • ข้อฝืด เหยียดงอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับเข่า ถ้านั่งยอง คุกเข่า นั่งพื้น แล้วลุกลำบาก
  • ข้อบวม ร้อน เพราะมีการอักเสบทำให้น้ำไขข้อมากขึ้น มีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่าจากเยื่อบุข้อเข่าโป่งออก
  • เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก หรือ มีกระดูกงอก ทาให้ข้อผิดรูป กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง เดินกะเผลก

เอกซเรย์พบมีช่องของข้อเข่าแคบลง มีกระดูกงอก แต่ความผิดปกติทางเอกซเรย์ อาจไม่สัมพันธ์กับอาการ (เอกซเรย์มีข้อเสื่อมมากแต่ไม่ค่อยปวด) จึงไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้น ผู้ที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือก่อนการผ่าตัด

โรคข้อเข่าเสื่อม

http://www.kinetesisspineandjoint.ca/knee_osteoarthritis

 

ACR Clinical Classification Criteria for Osteoarthritis of the knee:

Using history and physical examination

  • pain in the knee and 3 of the following
    • Over 50 years of age
    • Less than 30 minutes of morning stiffness
    • Crepitus on active motion
    • Bony tenderness
    • Bony enlargement
    • No palpable warmth of synovium

 

แนวทางรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาด จุดมุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีคือ บรรเทาอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร

 

การจัดการและการใช้ยา

  • ขณะปวด ให้พักการใช้ข้อเข่า
  • ใช้ยาต้านการอักเสบชนิดทาภายนอก หรือ ยาทาเจลพริก
  • ประคบด้วยความเย็น/ความร้อน กายภาพบำบัด การฝังเข็ม
  • ผ้ารัดเข่าเฝือกอ่อนพยุงเข่า (แต่ถ้าใส่ติดต่อกันนาน จะทาให้กล้ามเนื้อลีบ) ถ้ามีเข่าผิดรูป ให้ใส่เป็น สนับเข่าแกนเหล็กด้านข้าง หรือใช้อุปกรณ์พยุงเข่า (knee brace / support)
  • บริหารกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและป้องกันข้อติด เพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อรอบข้อ
  • ยาบรรเทาอาการ เช่น Acetaminophen, Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา และต้องระวังภาวะแทรกซ้อน
  • ยากลุ่ม SYSADOA (Symptomatic slow acting drugs for osteoarthritis) เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine sulfate) หรือไดอะเซอเรน (Diacerein) ถือว่าเป็น “ทางเลือก” ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน ให้หยุดยา แต่ถ้าอาการดีขึ้น แนะนำให้ใช้ต่อไม่เกิน 6 เดือน และหยุดยาอย่างน้อย 6 เดือน
  • ฉีดน้ำไขข้อเทียม ช่วยให้อาการดีขึ้น เฉลี่ย 6 เดือน – 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง (13,000 – 16,000 บาท) จึงแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ รักษาด้วยวิธีอื่น ๆไม่ได้ผล แต่ยังไม่อยากผ่าตัด หรือผ่าตัดไม่ได้
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือเจาะดูดน้ำไขข้อ ถึงแม้ทาให้อาการปวดดีขึ้นรวดเร็ว แต่ผ่านไป 1 – 2 เดือน จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม และมีผลข้างเคียงสูง เช่น ข้อเสื่อมเร็วขึ้น กระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ ติดเชื้อ แต่ถ้าจำเป็น ขณะ ฉีดยา หรือเจาะข้อ ต้องป้องกันการติดเชื้ออย่างดี เช่น ใช้ผ้าปลอดเชื้อ ถุงมือปลอดเชื้อ เป็นต้น ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ มากกว่าปีละ 2 – 3 ครั้ง หลังฉีดต้องลดการใช้เข่า 1 – 2 อาทิตย์และใส่ผ้ารัดเข่าร่วมด้วย

โรคข้อเข่าเสื่อม

http://www.kinetesisspineandjoint.ca/knee_osteoarthritis

 

การผ่าตัด

  • การส่องกล้องผ่าตัดในข้อ (Arthroscopic surgery) เฉพาะในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการเนื่องจาก มีหมอนรองข้อเข่า (meniscus) หรือกระดูกอ่อนหลวม (Loose bodies) หรือมีแผ่นเนื้อ (Flap) ทำให้ข้อเข่ายึดเหยียดงอไม่ได้หรือเดินแล้วล้มเท่านั้น และไม่แนะนำ การเจาะล้างข้อเข่า (Needle lavage) ครูดหรือเจาะเนื้อเยื่อในข้อ (Arthroscopic abrasion or drilling) รวมทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีเข่าผิดรูป เพราะไม่ให้ประโยชน์
  • การผ่าตัดจัดแนวกระดูก (Realignment osteotomy) ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในช่องเพียงด้านเดียว (Unicompartment) ซึ่งมีอาการ แต่ยังแข็งแรงแคล่วคล่อง (Active) และมีแนวกระดูกผิดปกติ (Malalignment)
  • การผ่าตัดกระดูกจัดแนวแข้งด้านบน (High Tibial Osteotomy: HTO) ในผู้ป่วยอายุน้อยและยังมีกิจกรรมมาก (young, active) โดยผู้ป่วยต้อง งอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา ยังมีกระดูกอ่อนผิวข้อด้านในคงเหลืออยู่ ไม่มีการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าด้านนอกและกระดูกอ่อนผิวสะบ้าหรือมีน้อยมาก และเข่ายังมั่นคงดีหรือมีการเลื่อนไปด้านนอกหรือความไม่มั่นคงไม่มากนัก
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total knee arthroplasty) เป็นต้น การผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย ใช้ในผู้ที่มีอาการมาก รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ดีขึ้น เนื่องจากมีข้อจากัด เช่น ข้อเข่าเทียมจะใช้ได้แค่ 10 – 15 ปี เป็นต้น แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะดีในแง่ลดอาการปวด เคลื่อนไหวข้อได้ดีขึ้น

ข้อบ่งชี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ ต้องมีลักษณะซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ทุกข้อดังต่อไปนี้

  • ให้การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด มากกว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ผล
  • มีผิวข้อเข่าทุกผิวเสื่อมอย่างรุนแรง (Severe tri-compartmental osteoarthritis)
  • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป

ข้อห้าม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้

  • ข้อเสื่อมเหตุประสาทพยาธิสภาพ (Neuropathic arthritis)
  • มีการติดเชื้อในข้อในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา
  • มีการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อเหยียดเข่าอย่างสิ้นเชิง

ข้อแนะนำการดูแลตนเอง

  1. ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีคำนวณตัวเลขสุขภาพ มากกว่า 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรลดน้ำหนักลงให้อยู่ในระดับใกล้เคียงมาตรฐานหรืออย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวขณะที่มีอาการปวดข้อ เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้าวิ่งจะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว (การถีบจักรยาน เข่าจะรับแรงกดเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น) ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง อาการปวดก็จะลดลงด้วย
  2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี หลีกเลี่ยง การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น
  3. เวลาอาบน้ำ หรือสระผมควรใช้ เก้าอี้นั่ง เพื่อป้องกันการลื่นหกล้มขณะอาบน้ำ
  4. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่ง (แบบนั่งราบ) หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มีรูตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน และควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน
  5. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่าเมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี
  6. ไม่ควรนอนราบบนพื้น เพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น
  7. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว
  8. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ควรขยับเปลี่ยนท่าหรือเหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ
  9. การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน
  10. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ หลีกเลี่ยง ทางลาดเอียงหรือทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และมีขนาดกระชับพอดี
  11. ใช้ไม้เท้า ในช่วงที่มีอาการปวด หรือในผู้ที่มีข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก (ลดแรงกระทำต่อข้อเข่าได้ประมาณร้อยละ 25 ของน้ำหนักตัว) และช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือไม้เท้าในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือไม้เท้าในข้างที่ถนัด
  12. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น การทรงตัวดีขึ้น
  13. ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น แนะนำให้ออกกาลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละ 20 – 40 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
• แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2554
http://www.rcost.or.th/web/
• ACR Diagnostic Guidelines Osteoarthritis
http://www.hopkinsarthritis.org/physician-corner/education/arthritis-education-diagnostic-guidelines/

 

ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ


.jpg

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis: MG) เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ หรือเรียกว่า โรคภูมิต้านตัวเอง ทำให้กล้ามเนื้อลาย (Voluntary Muscle หรือ Striated Muscle) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อบริเวณ แขน ขา ดวงตา ใบหน้า ช่องปาก กล่องเสียง และกล้ามเนื้อซี่โครงที่ใช้ในการหายใจ ไม่สามารถหดตัวได้ตามปกติ ทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

 

จากข้อมูลที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 10 ราย ต่อประชากร 100,000 คน โดยพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เพศหญิงมากกว่าเพศชาย

 

อาการ

มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ (ไม่มีอาการเจ็บปวด) โดยที่อาการจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของกล้ามเนื้อ เช่น

  • กล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาอ่อนแรง จะมีอาการหนังตาตกข้างใดข้างหนึ่ง ลืมตาไม่ขึ้น รวมถึงการมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน เห็นภาพซ้อน เป็นต้น
  • กล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก จะมีอาการเพดานปากหรือลิ้นอ่อนแรง พูดไม่ชัด เคี้ยวไม่ได้ กลืนลำบาก สำลักอาหาร เป็นต้น
  • กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรง จะทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของหน้าได้ มีการแสดง
    สีหน้าเปลี่ยนไป
  • กล้ามเนื้อบริเวณลำคอ แขน ขาอ่อนแรง ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เช่น เดินตัวตรงได้ยาก ทรงตัวลำบาก มีปัญหาในการยกของ หรือเดินขึ้นบันได เป็นต้น
  • กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจอ่อนแรง จะทำให้หายใจลำบากโดยเฉพาะเมื่อนอนราบ หรือหลังออกกำลังกาย

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
เมื่อสังเกตพบอาการผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย กล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก จากการที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรพบแพทย์ทันที

ในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเรื้อรัง หรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Myasthenia Crisis) จากปัญหาของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroid) หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid) ส่งผลให้การเผาผลาญในร่างกายของผู้ป่วยผิดปกติ รวมถึงเนื้องอกที่ต่อมไทมัส มีโอกาสเกิดได้ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

 

สาเหตุ

เชื่อว่าเกิดจากการแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Disorder) แบ่งเป็น

  • สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibodies) และการส่งสัญญาณประสาท ปกติระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะผลิตแอนติบอดี้ออกมาเพื่อทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่ในผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง แอนติบอดี้จะไปทำลายหรือขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่ปลายระบบประสาทบนกล้ามเนื้อแต่ละมัด ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวได้
  • ต่อมไทมัส (Thymus Gland) เป็นต่อมที่อยู่บริเวณกระดูกอก มีส่วนในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผลิตสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ไปขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน ในเด็กจะมีต่อมไทมัสขนาดใหญ่และจะค่อย ๆ เล็กลงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะมีขนาดของต่อมไทมัสที่ใหญ่ผิดปกติ หรือผู้ป่วยบางรายมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีสาเหตุมาจากเนื้องอกของต่อมไทมัส ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10 ในผู้ป่วยสูงอายุ

 

การวินิจฉัย

เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากการสอบถามประวัติอาการผู้ป่วย และอาจมีการทดสอบด้วยอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม ได้แก่

  • การตรวจระบบประสาท โดยดูการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดูความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การรับสัมผัส การมองเห็นและการทรงตัว เป็นต้น
  • การตรวจการชักนำประสาท (Nerve Conduction Test) มีวิธีการทดสอบ 2 วิธี คือ Repetitive Nerve Stimulation Test เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรงซ้ำ ๆ ด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบความสามารถของเส้นประสาทในการส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อ และการตรวจด้วยไฟฟ้า (Electromyography) เป็นการวัดกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปยังกล้ามเนื้อ
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจปริมาณแอนติบอดี้ โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะมีแอนติบอดี้ที่ไปยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อจำนวนมาก
  • การทดสอบ Edrophonium Test หรือ Tensilon Test จะทำการทดสอบเมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจระบบประสาทและการตรวจเลือด โดยการฉีด Edrophonium Chloride เพื่อไปยับยั้งการปล่อยตัวจากตัวรับคำสั่งของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ทำให้แอซิติลโคลีนจับกับตัวรับคำสั่งบนกล้ามเนื้อได้นานขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อไม่เกิดการอ่อนแรง แต่วิธีนี้มีข้อเสีย เนื่องจากมีผลข้างเคียงได้ จึงต้องทดสอบโดยแพทย์ประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) ซีทีสแกน (CT-scan) หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging scan : MRI scan) เพื่อตรวจสอบต่อมไทมัสว่ามีก้อนหรือมีขนาดผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) เพื่อประเมินสภาพการทำงานของปอดและการหายใจ
  • การทำสอบด้วยถุงน้ำแข็ง (Ice Pack Test) แพทย์จะนำถุงน้ำแข็งมาวางบริเวณที่มีอาการตาตกนาน 2 นาที และวิเคราะห์การฟื้นตัวจากอาการตาตกและทำการวินิจฉัยต่อไป

 

การรักษา

การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีหลายวิธีในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน โดยคำนึงถึงความรุนแรงของอาการ อายุ ตำแหน่งของโรค มีวิธีการรักษาดังนี้

  1. การรับประทานยา ได้แก่
    • ยากลุ่ม Cholinesterase Inhibitors เช่น ไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine) ยาจะไปยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน ส่งผลให้การส่งสัญญาณระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อดีขึ้น ยากลุ่มนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยอาจมีผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น เหงื่อออก น้ำลายไหลท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นต้น
    • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) เพื่อช่วยยับยั้งการสร้างแอนติบอดี้ที่ผิดปกติ โดยอาจมีผลข้างเคียงเช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กระดูกบาง ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
    • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) เช่น อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) จะยับยั้งการสร้างแอนติบอดี้ ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลานาน จึงจำเป็นตรวจระบบภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจมีผลข้างเคียงเช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ตับอักเสบ ไตอักเสบ และการติดเชื้อ
  2. การเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า (Plasmapheresis) เพื่อลดปริมาณแอนติบอดี้ที่จะไปยับยั้งการส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ วิธีการรักษานี้ให้ผลเพียงไม่กี่สัปดาห์และอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตลดลง มีเลือดไหล หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
  3. การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous Immunoglobulin: IVIg) วิธีนี้จะช่วยปรับการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้สร้างแอนติบอดี้ที่ปกติมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การฉีดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน มีความเสี่ยงและมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง น้อยกว่าการเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น หนาวสั่น วิงเวียน ปวดศีรษะ และบวมน้ำ เป็นต้น
  4. การฉีดริทูซิแมบ (Rituximab) เพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดขาว และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  5. การผ่าตัดต่อมไทมัส ในกรณีที่พบเนื้องอกที่ต่อมไทมัส

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

เนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกันก็ยังไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นโรคนี้จึงไม่มีวิธีป้องกัน สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงควรดูแลสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียดและสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกหนาวหรือร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่หนักเกินไป
  • ติดตั้งราวจับในบริเวณที่พักรักษาตัว ในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย เช่น บริเวณทางลาด บันไดขึ้นลง ห้องน้ำโดยเฉพาะส่วนเปียก
  • หาอุปกรณ์ทุ่นแรง ลดการทำงานของกล้ามเนื้อในส่วนที่อ่อนแรง เพื่อปรับให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น แปรงสีฟันไฟฟ้า เครื่องนวด อุปกรณ์รีโมทต่าง ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักเกิน เพราะกล้ามเนื้อจะต้องทำงานหนักเพื่อรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ควรรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่ายและอ่อนนุ่ม ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นหลาย ๆ มื้อ
  • ป้องกันการติดเชื้อด้วยการหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยและการมีสุขอนามัยที่ดี รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยติดเชื้อ หากมีการติดเชื้อควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
  • รับประทานยาให้ถูกต้องตามที่แพทย์แนะนำ ควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

 

แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com  www.honestdocs.co
ภาพประกอบ : www.freepik.com


.jpg

กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) หมายถึง กลุ่มอาการอักเสบของเซลล์กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ มักพบเป็นการอักเสบเรื้อรังได้บ่อยกว่าการอักเสบแบบเฉียบพลับ

 

อาการและอาการแสดง

แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • อาการทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ
  • อาการจากตัวกล้ามเนื้อที่อักเสบ เช่น กล้ามเนื้อบวมและเจ็บเมื่อจับคลำหรือเมื่อใช้งาน ถ้าจับจะรู้สึกร้อน ในระยะยาวกล้ามเนื้อจะลีบจากเซลล์กล้ามเนื้อกลายเป็นพังผืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามการทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ เช่น แขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ จากการอักเสบของกล้ามเนื้อแขนขา การกลืนลำบากจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหลอดอาหารหรือกล้ามเนื้อในลำคอ การหายใจลำบากหรือหายใจเองไม่ได้จากการอักเสบของกล้ามเนื้อซี่โครง เป็นต้น
  • อาการจากสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากโรคมะเร็ง กล้ามเนื้ออักเสบจากเชื้อไวรัส กล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมันในเลือดสแตติน (Statins) เป็นต้น

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
หากพบว่ามีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่น ปวด ร้อน บวม แดง ต่อเนื่องกันนานเกิน 3 วัน หรือ ลองรักษาด้วยตัวเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตามความเหมาะสม

 

สาเหตุ

แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

  • กลุ่มที่ยังไม่ทราบแน่ชัด (Idiopathic inflammatory myopathy) แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของตนเอง หรือกล้ามเนื้ออักเสบอาจเป็นอาการแสดงส่วนหนึ่งของโรคออโตอิมูนก็ได้ กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักเป็นแบบเรื้อรัง รักษาไม่หาย ตัวอย่างเช่น
    • Polymyositis (PM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกัน พบบ่อยในกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา กล้ามเนื้อหลอดอาหาร
    • Dermatomyositis (DM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกับมีผื่นผิวหนังอักเสบ แดง เป็นสะเก็ดร่วมด้วยเสมอ โดยมักพบที่ใบหน้า ลำคอ รอบตา และผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดดเป็นประจำ โรคนี้พบเกิดร่วมกับโรคมะเร็งได้ประมาณ 10%
    • Inclusion body myositis (IBM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อทุกมัดแต่มักเป็นซีกเดียวกันเช่นซ้ายหรือขวา โดยจะค่อย ๆ แสดงอาการ จนมีอาการกล้ามเนื้อลีบ โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นปี
  • การติดเชื้อ (Infectious myositis) จากการที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรคฉี่หนู เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อมักเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน และมีการพยากรณ์โรคที่ดี เนื่องจากสามารถรักษาให้หายไปพร้อม ๆ กับโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ได้ ในเด็ก อาจพบอาการกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง ตามหลังการติดเชื้อ เช่น อักเสบกล้ามเนื้อน่องจนเดินไม่ได้จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
  • การมีหินปูนจับ (Myositis ossification) มักเกิดหลังจากการบาดเจ็บจนฟกช้ำ มีเลือดออกภายในกล้ามเนื้อ ร่างกายจะมีการซ่อมแซม จนเกิดเป็นเนื้อเยื่อกระดูกในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเจ็บปวดเมื่อคลำหรือใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักไม่รุนแรง โดยทั่วไปสามารถรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ร่างกายดูดซึมหินปูนหรือกระดูกที่เกิดขึ้นให้หมดไปได้
  • ยา (Drug-induced myositis) ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โดยอาการมักเกิดหลังเริ่มรับประทานยา หรือหลังใช้ยานั้นเป็นเวลานาน หรือใช้ยาหลายตัวพร้อมกัน เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) ยารักษาโรคเกาต์ (Cochicine) ยา Interferon เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยจาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา การตรวจร่างกาย การตรวจคลำกล้ามเนื้อมัดที่เกิดอาการ การตรวจเลือด เช่น CBC ที่บอกถึงการติดเชื้อ ค่าเอนไซม์ที่บอกถึงมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ (CK, Creatine kinase หรือ CPK, Creatine phosphokinase) ค่าสารภูมิต้านทานหรือสารก่อภูมิต้านทานของโรค การตรวจสภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

 

การรักษา

แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ

  1. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ในกรณีที่มีการอักเสบไม่มาก
    • การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) (Paracetamol, Acetaminophen) การประคบร้อนและประคบเย็น ในช่วง 1 – 3 วันแรก เพื่อบรรเทาอาการและลดการอักเสบ
    • พักใช้งานกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ และการใช้อุปกรณ์ช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อมัดที่อักเสบนั้นเกิดการเคลื่อนไหวหรือให้เคลื่อนไหวได้น้อยที่สุด
    • การยืดและบริหารกล้ามเนื้อเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการยึดติด รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อที่อักเสบเมื่ออาการดีขึ้น เป็นต้น
  2. การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด) ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือ ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
  3. การรักษาสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ แนวทางนี้จะแตกต่างกันขึ้นกับโรคหรือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น การปรับวิธีการรักษามะเร็ง เมื่อมีการอักเสบของกล้ามเนื้อจนส่งผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตผู้ป่วย การหยุดหรือเปลี่ยนยา เมื่อการอักเสบของกล้ามเนื้อเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึง การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ปฏิบัติตามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำโดยรับประทานยาให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง เข้ารับการตรวจรักษาตามนัดหมายทุกครั้ง อาจไปพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด หากอาการที่เป็นแย่ลง เช่น ปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น หรืออาการผิดปกติหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ มีไข้ มีผื่น ปัสสาวะขัด เป็นต้น
  • ในส่วนการป้องกันจะเน้นการป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งแตกต่างกันไป เช่น
    • ป้องกันการใช้กล้ามเนื้อผิด โดยออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหม มีการวอร์มอัพและคูลดาวน์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
    • ป้องกันการติดเชื้อ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ใช้หน้ากากอนามัย
    • ใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ เมื่อซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

 

แหล่งข้อมูล : www.medlineplus.gov  www.healthline.com  www.pobpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com


.jpg

สาเหตุที่พบบ่อย

  1. กล้ามเนื้ออักเสบ หรือกล้ามเนื้อคล็ด คอตกหมอน มักเกิดจากอิริยาบถ หรือท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแหงน หรือก้มหน้าเป็นเวลานาน นอนในท่าที่คอบิดไปข้างใดข้างหนึ่ง นอนหนุนหมอนที่สูง หรือแข็งเกินไป
  2. ความเครียด หรือปัญหาสายตา กล้ามเนื้อจะหดเกร็ง ทำให้ปวดคอ ท้ายทอยหรือขมับ ในช่วงบ่ายหรือเย็น
  3. อุบัติเหตุ ทำให้คอเคลื่อนไหวมากหรือเร็วกว่าปกติ เกิดกล้ามเนื้อ/เส้นเอ็นฉีกขาด หรือกระดูกคอเคลื่อน
  4. หมอนรองกระดูกแตก (เคลื่อน) กดทับเส้นประสาท หรือกดทับไขสันหลัง มีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน และมือมีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง กามือไม่แน่น ถือของแล้วของตก เดินขาสั่น เดินเซ หรือกระตุก บางครั้งอาจมีอาการกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ (อุจจาระ หรือปัสสาวะราด) ร่วมด้วย
  5. กระดูกคอเสื่อม พบบ่อยในผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ทุกคน เพราะในผู้สูงอายุทั่วไปก็พบว่ามีกระดูกงอก กระดูกเสื่อมได้ โดยไม่มีอาการและลักษณะของกระดูกงอกจากเอกซเรย์ก็ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการปวด แต่ถ้าเป็นกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท หรือกดทับไขสันหลังอาการคล้ายกับข้อ 4
  6. กลุ่มอาการปวดไขสันหลัง โดยไม่ทราบสาเหตุ (พังผืดอักเสบ) เมื่อใช้งานกล้ามเนื้อนั้น ก็จะปวดมากขึ้นและรู้สึกอ่อนแรง มีจุดที่กดเจ็บชัดเจนและอาจคลำได้เป็นก้อนพังผืดแข็ง ๆ

อื่น ๆ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์โรคกระดูกสันหลังยึดติด (AS) การติดเชื้อแบคทีเรีย หูอักเสบ ไมเกรน เป็นต้น

 

การรักษาเบื้องต้น

  1. ระวังอิริยาบถ หรือท่าทางที่ไม่ถูกต้อง
    • หลีกเลี่ยง การก้มหรือแหงนคอนานเกินไป หรือบ่อยเกินไป ถ้าจำเป็นก็ควรหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อคอ หรือขยับเคลื่อนไหวคอ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ สัก 2 – 3 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง
    • หมอน ควรจะมีความนุ่มและยืดหยุ่น จนแนบส่วนโค้งของคอ มีความหนาพอเหมาะทำให้คออยู่ในแนวตรง (เมื่อมองจากด้านข้าง) หลีกเลี่ยงการนอนอ่านหนังสือหรือดูทีวี เพราะทำให้คอแหงนมากเกินไป
  2. ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำอุ่น อาจใช้ครีมนวด ร่วมด้วยแต่อย่านวดแรงเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำมากขึ้น
  3. รับประทานยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  4. กายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ เช่น
    • ใส่เครื่องพยุงคอ ซึ่งควรใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทาให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น
    • ดึงถ่วงน้ำหนักกระดูกคอ (ดึงคอ) นวดกล้ามเนื้อ ประคบด้วยความร้อน ความเย็น หรืออัลตร้าซาวน์

 

อาการที่ควรตรวจหาสาเหตุ หรือส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง

  1. ปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน หรือ มือ โดยอาจจะมีอาการชา หรือ กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  2. ขาชาหรือขาอ่อนแรง เวลาเดินรู้สึกว่าขาจะสั่น เดินเซ เดินแล้วจะล้ม หรือรู้สึกขากระตุก
  3. กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ ทำให้มีอุจจาระ หรือปัสสาวะราด
  4. ลองดูแลรักษาตนเอง 2-3 วัน แล้วไม่ดีขึ้น หรือรู้สึกเป็นมากขึ้น

 

วิธีบริหาร คอ

  • เริ่มบริหาร ภายหลังจากอาการปวดทุเลาแล้ว
  • ถ้าบริหารแล้วปวดมากขึ้นให้ลดจานวนครั้งลง หรือหยุดบริหารท่านั้นไว้ก่อน
  • ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ควรทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อย่างน้อยวันละ 2 – 3 รอบ) ติดต่อกัน 3-4 เดือน

 


ภาพประกอบจาก : http://www.thebodyworksclinic.com

 


-รักษาอย่างไรดี-H2C00-hcc.jpg

จุดมุ่งหมายของการรักษา เพื่อให้กระดูกที่หัก เมื่อหายแล้ว กลับมาอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ลดผลข้างเคียง ลดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบาบัดได้เร็ว และกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด

 

แนวทางรักษา

วิธีไม่ผ่าตัด เช่น ใช้ผ้ายืดพัน ใส่อุปกรณ์พยุงข้อ ใส่เฝือก

  • ข้อดี คือ ไม่เจ็บ ไม่ต้องเสี่ยงกับการรับเลือด ไม่ต้องเสี่ยงกับการให้ยาระงับความรู้สึก ฉีดยาชาเฉพาะที่ บล็อกหลัง หรือดมยาสลบ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือถ้าต้องนอนก็มักไม่กี่วัน เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
  • ข้อเสีย คือ ต้องใส่เฝือกนาน (ประมาณ 2 – 4 อาทิตย์) กระดูกที่หักอาจไม่ติด ติดช้าหรือติดผิดรูป เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการพักเป็นเวลานาน เช่น กล้ามเนื้อลีบ ข้อติด แผลกดทับ ปอดติดเชื้อ ท้องผูก เป็นต้น

วิธีผ่าตัด เช่น ผ่าตัดทำความสะอาด และจัดกระดูกให้เข้าที่ แล้วใส่เฝือก ใส่เหล็ก หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงกระดูก เช่น ลวด แผ่นเหล็ก แกนเหล็ก แท่งเหล็กดามกระดูกด้านนอก

  • ข้อดี คือ สามารถจัดกระดูกให้เข้าที่ได้ดีกว่า เริ่มทำกายภาพบำบัดได้เร็ว ดำเนินชีวิตปกติได้เร็วขึ้น
  • ข้อเสีย คือ การติดเชื้อ ผลแทรกซ้อนของยาระงับความรู้สึก เสียเลือด ต้องพักในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายสูง ถ้าผ่าตัดใส่แผ่นเหล็กในบางตำแหน่ง เมื่อกระดูกติดสนิทจะต้องผ่าตัดเพื่อเอาแผ่นเหล็กออก

https://gojiactivesdiet.com/1069/incomplete-fracture.html

 

กระดูกหักที่ควรผ่าตัด เช่น

  • กระดูกหักหลายตำแหน่ง
  • กระดูกหักตำแหน่งเดียวแต่หลายชิ้น
  • กระดูกแตกเข้าข้อ
  • กระดูกหักเคลื่อนไปมาก
  • มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก
  • มีการบาดเจ็บของเส้นเลือด เส้นประสาทร่วมด้วย
  • กระดูกหักในบางตำแหน่ง เช่น กระดูกข้อสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกปลายแขน
  • กระดูกหักในผู้สูงอายุ เพื่อให้ทำกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนพักนาน

แต่ละทางเลือกมีทั้งข้อดี ข้อเสีย การตัดสินใจว่าจะรักษาแบบไหนจึงขึ้นอยู่กับแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าควรจะรักษาวิธีไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ แต่ผู้ที่จะตัดสินใจเลือกแนวทางรักษา ในขั้นตอนสุดท้าย คือ ตัวผู้ป่วยเอง

 

กระดูกหัก เมื่อไรจะหาย

ตามธรรมชาติ ร่างกายจะซ่อมแซมกระดูกที่หัก ให้กลับมาติดกันได้อยู่แล้ว แพทย์เป็นเพียงผู้ที่ช่วยจัดกระดูก ให้กลับเข้ามาอยู่ในแนวที่ดี ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อให้อวัยวะนั้นกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม ซึ่งการจัดกระดูกนี้ อาจทำได้ทั้งวิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด

ระยะเวลา ตั้งแต่กระดูกหัก จนติดสนิท (หายสนิท) ประมาณ 4 – 6 เดือน จะแตกต่างกันในแต่ละคน ส่วนจะติดดีหรือไม่ดี ติดเร็วหรือติดช้านั้น ปัจจัยสำคัญส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น

  • อายุ เด็ก กระดูกจะติดดีและเร็ว ผู้สูงอายุ กระดูกก็จะติดช้า
  • กระดูกที่หักเคลื่อนที่ไม่มาก ก็จะติดดีกว่า กระดูกที่หักแล้วเคลื่อนที่มาก
  • กระดูกหักหลายชิ้น ก็จะติดช้า
  • มีการติดเชื้อ ก็จะติดช้า
  • กระดูกที่แตกเข้าในข้อ ก็จะติดช้า
  • ถ้าไม่ทำกายภาพบำบัด ไม่ออกกำลังบริหารข้อและกล้ามเนื้อ กระดูกก็จะติดช้า
  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง ยาเม็ดแคลเซียม ยา Ossein-Hydroxyapatite อาจช่วยกระดูกติดเร็วขึ้น

 

https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases–conditions/distal-humerus-fractures-of-the-elbow/

 

ระยะเวลาของการซ่อมแซมกระดูก สาหรับผู้ที่อยู่ใน ช่วงวัยหนุ่มสาว แบ่งเป็น

ระยะที่ 1
กระดูกเริ่มติด ใช้เวลาประมาณ 4 – 6 อาทิตย์ 
ช่วง 2 อาทิตย์แรก จะมีอาการปวดมาก บวมมาก

อาทิตย์ที่ 3-4 อาการปวดลดลง แต่ถ้าเอกซเรย์จะเห็นรอยกระดูกหัก ซึ่งแสดงว่ากระดูกยังไม่ติดสนิท ต้องระมัดระวังการใช้อวัยวะที่มีกระดูกหัก เช่น งดยกของหนัก เดินลงน้ำหนักบางส่วนโดยใช้ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน ถ้าลงน้ำหนักหรือใช้แรงมากเกินไป กระดูกอาจหักซ้ำ เหล็กดามกระดูกที่ใส่ไว้ อาจหัก หรือ สกรูถอนออก

ในระยะนี้ บางคนคิดว่าหายแล้วเพราะไม่ปวด ใช้แรงหรือลงน้ำหนักเต็มที่ ช่วงแรกก็พอทำได้ แต่เมื่อผ่านไปสักพัก เหล็กดามกระดูกและกระดูกที่เพิ่งเริ่มติด ก็หักซ้ำ ทำให้ต้องเริ่มรักษากันใหม่ แต่ว่าผลการรักษากระดูกที่หักซ้ำครั้งที่สองนี้ จะไม่ค่อยดีเหมือนกับผลการรักษาในครั้งแรก

ระยะที่ 2
กระดูกติดสนิท ต้องใช้เวลาอีก 3 – 5 เดือน หลังจากระยะที่ 1 รวมทั้งหมด 4 – 6 เดือน

แพทย์จะนัดเอกซเรย์ทุก 1 – 2 เดือน ถ้าไม่เห็นรอยกระดูกหัก จึงถือว่ากระดูกติดสนิท หายสนิท ดังนั้นควรมาตรวจตามแพทย์นัด และ สอบถามแพทย์ว่า กระดูกติดสนิทหรือยัง ถ้าแพทย์ตอบว่า กระดูกติดสนิทแล้ว จึงจะถือว่าหาย สามารถทำทุกอย่างได้ตามปกติ

การรักษากระดูกหักต้องใช้เวลานานหลายเดือน และ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติ ที่จะปฏิบัติตามคาแนะนาของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลของการรักษาออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้รูป


-H2C00V1.jpg

กระดูกไหปลาร้า เป็นตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย แต่มักไม่มีอันตรายร้ายแรง และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน ยกเว้นกระดูกติดทับซ้อนกันทำให้กระดูกนูนขึ้น ไม่เรียบเหมือนปกติ กระดูกไหปลาร้าหัก มักเกิดจากการเอามือยันพื้นขณะเกิดอุบัติเหตุ หรือถูกกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้า

 

แนวทางรักษากระดูกหัก

  1. วิธีไม่ผ่าตัด ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
    • รับประทานยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
    • อุปกรณ์พยุงไหล่ เช่น ผ้าคล้องแขน ผ้ารัดไหล่รูปเลขแปด เป็นต้น ในระยะแรกจะมีอาการปวด บวม กดเจ็บ หรือคลำได้ปลายกระดูกที่หัก บางครั้งอาจได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกัน เวลาขยับไหล่ ขยับแขน ไอจาม แต่สามารถทำกิจกรรมดำเนินชีวิตประจำวันและบริหารข้อไหล่ได้ โดยมีหลักง่าย ๆ ว่า “ถ้าทำแล้วไม่ปวด ก็ทำได้ แต่ถ้าทำแล้วปวดก็ให้หยุด”
    • การใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ มีจุดประสงค์เพื่อ ลดการเคลื่อนไหวของกระดูกหัก จะได้ไม่ปวด เท่านั้น (ไม่ได้ใส่เพื่อให้กระดูกเข้าที่เหมือนปกติ) ดังนั้นเมื่อรักษาหายแล้ว กระดูกจะติดผิดรูป ทำให้กระดูกไหปลาร้านูนกว่าปกติ อาจดูแล้วไม่สวยงามแต่ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาในการใช้งาน
    • โดยทั่วไปจะใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ไว้ 4 – 6 อาทิตย์ สามารถถอดอุปกรณ์พยุงไหล่ ออกได้ในบางช่วง เช่น อาบน้ำหรือนอน เป็นต้น เพียงแต่เมื่อถอดอุปกรณ์พยุงไหล่ออก เวลาขยับไหล่ อาจรู้สึกปวดมากขึ้น
    • หลังจาก 4-6 อาทิตย์ กระดูกจะเริ่มติด ถ้าเคลื่อนไหวไหล่แล้วไม่ค่อยปวด สามารถถอดอุปกรณ์พยุงไหล่ออกได้เลย (กระดูกติดสนิท ใช้เวลา 4 – 6 เดือน)
    • การบริหารข้อไหล่สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ช่วงที่กระดูกหัก โดยมีหลักเบื้องต้นว่า “ถ้าทำแล้วไม่ปวด ก็ทำได้ แต่ถ้าทำแล้วปวดก็ให้หยุด” ถ้าไม่บริหารข้อไหล่ จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อไหล่ติด กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง ซึ่งจะรักษายากและทำให้ผลการรักษาไม่ค่อยดี
  2. วิธีผ่าตัด

    • ผ่าตัดทำความสะอาดบาดแผลแต่ไม่ใส่เหล็ก แล้วใส่เครื่องพยุงไหล่ไว้
    • ผ่าตัดใส่เหล็กเพื่อยึดตรึงกระดูก เช่น ลวด แผ่นเหล็ก แกนเหล็ก

ข้อบ่งชี้ ที่ควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เช่นกระดูกหักหลายชิ้น หรือแตกเข้าข้อ

  • ปลายกระดูกที่หัก เคลื่อนที่ห่างกันมาก
  • มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก
  • กระดูกไม่ติด และมีอาการปวด

 

อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์

  • มีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น
  • มือบวมมาก รู้สึกชาที่บริเวณปลายนิ้วมือ หรือ รู้สึกแขนอ่อนแรง
  • ปวดไหล่ หรือปวดแขนมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
  • มีไข้สูง แผลบวมหรือมีหนอง ปวดแผลมาก

การรักษาอาจแตกต่างกัน ต้องสอบถามแพทย์ผู้ให้การรักษาท่านว่า ควรจะรักษาด้วยวิธีไหน แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด การตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะเลือกวิธีรักษานั้น ท่านต้องตัดสินใจ ด้วยตนเอง

  

วิธีบริหาร ข้อไหล่

1. เหวี่ยงแขนเป็นวงกลม ค่อย ๆ หมุนเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำ 10 เที่ยว ยืนก้มเล็กน้อย
(ใช้มืออีกข้างจับโต๊ะเพื่อช่วยพยุงตัว) หรือนอนคว่าอยู่บนเตียง
ถ้าไม่ปวดมาก อาจถือน้ำหนัก 1 – 2 กิโลกรัม เพื่อช่วยให้หมุนได้ง่ายขึ้น

กระดูกไหปลาร้าหัก

2. ท่าหมุนข้อไหล่ ทำซ้ำ 10 เที่ยว

กระดูกไหปลาร้าหัก

———-ก. หมุนไปข้างหน้า              ข. เคลื่อนหน้าหลัง              ค. หมุนย้อนกลับ

 

3. ท่ายกแขน ศอกเหยียดตรง ยกสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำ 10 เที่ยว

กระดูกไหปลาร้าหัก

 

———-ก. ด้านหน้า                    ข. ด้านหลัง                     ค. ด้านข้าง

 

4. ท่ายกไม้ ยกสูงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำ 10 เที่ยว

กระดูกไหปลาร้าหัก

——ก. ด้านหน้า             ข. ด้านข้าง ซ้ายขวา             ค. ด้านหลัง        ง. ด้านหลัง ข้อศอกงอ
————————————————————— ข้อศอกตรง             (ไม้ชิดหลัง)

 

5. ท่านิ้วไต่ผนัง ให้สูงมากที่สุดเท่าที่จะทนปวดได้ ทำ 10 เที่ยว ทำเครื่องหมายไว้ ครั้งต่อไป พยายามทำให้สูงกว่าเดิม อย่าเขย่งหรือเอียงตัว

กระดูกไหปลาร้าหัก

 

————————ก. หันหน้าเข้าผนัง         ข. หันข้างเข้าผนัง

 

6. ท่าชักรอก นาเชือกคล้องผ่านรอกเหนือศีรษะทางด้านหน้า จับปลายเชือกทั้งสองข้าง ใช้แขนที่ไม่ปวดดึงเชือกลง เพื่อดึงแขนข้างปวดขึ้น ให้สูงมากที่สุด ทำ 10 เที่ยว

กระดูกไหปลาร้าหัก

 

7. ท่าใช้ผ้าถูหลัง มือที่อยู่ด้านบนดึงผ้าขึ้นให้มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับ มือด้านล่างดึงผ้าลงให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 ทำ 10 เที่ยว

 

กระดูกไหปลาร้าหัก

 

ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้รูป


-H2C-555.jpg

ทำไมต้องใส่เฝือก (Cast) หรือเฝือกชั่วคราว (Slap) เพื่อดามกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บให้อยู่นิ่ง ๆ ช่วยลดอาการปวด บวม และกล้ามเนื้อหดเกร็ง ป้องกันไม่ให้กระดูกที่หักเคลื่อนที่ หลังจากได้รับการจัดเข้าที่แล้ว หรือใส่ดัดกล้ามเนื้อ ดัดข้อ เพื่อแก้ไขความพิการ

 

แบ่งเป็นเฝือกครึ่งเดียวหรือเฝือกอ่อน (Slap) และเฝือกเต็มรอบหรือเฝือกแข็ง (Cast) โดยเฝือกครึ่งเดียวจะแข็งแรงน้อยกว่าเฝือกเต็มรอบ แต่ถอดออกได้ง่ายกว่า ในระยะแรก ถ้ามีอาการบวมมาก อาจใส่เฝือกครึ่งเดียวหรือเฝือกชั่วคราวไว้ก่อน และเมื่ออาการบวมลดลงจึงมาใส่เป็นเฝือกเต็มรอบอีกครั้ง

 

ชนิดของเฝือก

ปัจจุบันมีเฝือกให้เลือกอยู่ 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

  • เฝือกปูน ซึ่งเป็นการนำปูนพลาสเตอร์มาเคลือบบนผ้าฝ้าย เมื่อใส่แล้วก็จะมีสีขาว
    • ข้อดี ราคาค่อนข้างถูก การใส่เฝือกและการตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ง่าย
    • ข้อเสีย น้ำหนักมาก แตกร้าวง่าย ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ห้ามลงน้ำหนักที่เฝือก ระบายอากาศไม่ดี มักเกิดอาการคัน เวลาถ่ายเอกซเรย์ จะมองไม่ค่อยเห็นรอยกระดูกหัก ถ้าเฝือกแน่นหรือหลวมก็ต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่
  • เฝือกพลาสติก (Fiber cast) เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีหลายสีให้เลือก
    • ข้อดี น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี สีสวยงาม ความแข็งแรงสูง แต่ก็ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ห้ามลงน้ำหนักเต็มที่ เวลาถ่ายเอกซเรย์ จะเห็นรอยกระดูกหักได้ชัดเจนกว่า เฝือกแน่นหรือหลวมก็ต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่
    • ข้อเสีย ราคาแพง (แพงกว่าเฝือกปูนประมาณ 8 – 10 เท่า) การตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ยาก มักเปลี่ยนใหม่
  • เฝือกลม (Air cast) มีใส่เฉพาะที่ เท้า ข้อเท้า ขา และมีเฉพาะสีเทา
    • ข้อดี น้ำหนักเบา ความแข็งแรงสูงสามารถเดินลงน้ำหนักบนเฝือกได้ โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ระบายอากาศได้ดี มีถุงลมปรับให้แน่นหรือหลวมได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเฝือก สามารถถอดเฝือกออกได้เอง
    • ข้อเสีย ราคาแพง  ไม่สามารถปรับให้เข้ากับกระดูกที่คดผิดรูป

การรักษาด้วยวิธีใส่เฝือก

www.youtube.com/watch?v=4w76zbUHH-g

 

เมื่อไรถึงจะต้องเปลี่ยนเฝือก

  • เฝือกปูน เฝือกพลาสติก เมื่อใส่ไปช่วงหนึ่ง ประมาณ 2 อาทิตย์ เฝือกมักจะหลวม เนื่องจาก บวมลดลง หรือกล้ามเนื้อลีบ ต้องตัดเฝือกเก่าออกแล้วใส่ใหม่ แต่ถ้าเป็นเฝือกลม สามารถเพิ่มลมให้เฝือกแน่นขึ้นได้
  • เมื่อกระดูกเริ่มติด ประมาณ 4 – 6 อาทิตย์ ก็อาจเปลี่ยนเป็นเฝือกชั่วคราว เพื่อสะดวกในการบริหาร

 

ถ้ารู้สึกบวม ทำอย่างไร

ในช่วง 48 – 72 ชั่วโมงแรก สามารถลดอาการบวมโดย

  • ยกแขนหรือขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยเฉพาะขณะพักผ่อน เช่น ใช้ผ้าคล้องแขน วางบนเก้าอี้ หรือหมอน
  • ขยับนิ้วหรือนิ้วเท้า ส่วนที่อยู่นอกเฝือกบ่อย ๆ และเคลื่อนไหวข้อที่อยู่นอกเฝือกบ่อย ๆ
  • ประคบเย็นบนเฝือก โดยนำน้ำแข็งใส่ในถุงพลาสติก ใส่น้ำเล็กน้อย แล้วห่อด้วยผ้าแห้ง นำไปหุ้มรอบเฝือก
  • บริเวณกระดูกหัก การประคบเย็นเพียงจุดเดียวจะไม่ค่อยได้ผลเหมือนการประคบเย็นรอบเฝือก

 

สัญญาณอันตรายหลังการใส่เฝือก หรือเฝือกชั่วคราว ควรพบแพทย์โดยด่วน

  • ปวดหรือชามากขึ้น เฝือกคับแน่นมากขึ้น หลังจาก ยกสูง ประคบเย็น และ รับประทานยา แล้ว
    อาการไม่ดีขึ้น
  • ผิวหนังบริเวณขอบเฝือก บวมแดง มีแผลติดเชื้อหรือน้ำซึมเปื้อนเฝือก ไหลออกมาจากเฝือก หรือเฝือกมีกลิ่นเหม็น
  • ปลายนิ้วหรือเล็บ เขียวคล้าหรือซีดขาวกว่าข้างปกติ ไม่สามารถขยับนิ้วมือนิ้วเท้า หรือขยับแล้วปวดมาก
  • เฝือกหลวม หลุด หรือเฝือกหัก แตก ร้าว ผิดรูป

 

การรักษาด้วยวิธีใส่เฝือก

www.youtube.com/watch?v=y1n623RB1CY

 

การดูแลเฝือกปูน เฝือกพลาสติกหรือ เฝือกชั่วคราว

  • อย่าให้เฝือกเปียกน้ำ เวลาอาบน้ำให้หุ้มเฝือกด้วยถุงพลาสติก 2 ชั้น แล้วรัดปากถุงด้วยเชือกหรือยางยืดให้แน่น
  • ถ้าเฝือกเปียกน้ำ ให้ใช้พัดลม หรือไดร์เป่าผม เป่าเฝือกให้แห้ง ห้ามใช้ ไฟลนเฝือก
  • ไม่ควรลงน้ำหนักเต็มที่บนเฝือก จนกว่าเฝือกจะแข็งแรง (เฝือกพลาสติก 1 ชม. เฝือกปูน
    2 – 3 วัน)
  • วางเฝือกบนวัสดุนิ่มๆ เวลาเคลื่อนย้าย ควรประคองเฝือก อย่างระมัดระวัง อย่าให้กระทบกระแทก
  • ระวังอย่าให้สิ่งสกปรก ทรายหรือฝุ่น เข้าไปในเฝือก ไม่ควรใส่แป้งฝุ่นเข้าไปในเฝือก
  • ถ้ามีอาการคัน ไม่ควรใช้ไม้ หรือ สิ่งอื่นใส่เข้าไปในเฝือกเพื่อเกา เพราะอาจเกิดแผลถลอก
    หรือเกิดแผลติดเชื้อ
  • ถ้าคันมากให้ใช้ 75% แอลกอฮอล์ หยอดลงไปในเฝือกให้ไหลไปบริเวณที่คัน หรือใช้สเปรย์แป้ง
  • ไม่ควรตัดขอบเฝือกเอง หรือตัดเฝือกให้สั้นลง ไม่ควรดึงสำลีรองเฝือกออก

 

การเอาเฝือกปูน เฝือกพลาสติกออก

จะใช้เลื่อยสาหรับตัดเฝือกโดยเฉพาะใบเลื่อยจะสั่นด้านข้าง เมื่อใบเลื่อยโดนสำลีรองเฝือก สำลีจะไม่ขาด ทำให้ไม่เป็นอันตราย ขณะตัดเฝือกจะมีเสียงดังและรู้สึกร้อนจากการเสียดสีบ้างเล็กน้อย

 

การดูแลหลังจากเอาเฝือกออก

  • ทำความสะอาดผิวหนัง เบา ๆ ด้วยสบู่และน้ำ อาจทาน้ำมันหรือโลชั่นเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
  • เริ่มเคลื่อนไหวข้อที่ถอดเฝือกออกทันที โดยค่อย ๆ ทาเพิ่มขึ้น ทาเท่าที่ทาได้ ทาบ่อย ๆ
  • ถ้ามีอาการบวม ควรยกแขนหรือขา ให้สูงกว่าระดับหัวใจ เช่น ใช้ผ้าคล้องแขน วางบนเก้าอี้หรือหมอน

 

แนวทางรักษาทั่วไป

โดยทั่วไป จะนัดมาตรวจครั้งแรกหลังจากใส่เฝือกไว้ 2 อาทิตย์ ถ้าเฝือกหลวม อาจต้องเอกซเรย์หรือเปลี่ยนเฝือกใหม่ แต่ถ้าเฝือกแน่นและแข็งแรงดีอยู่ ก็ใส่เฝือกเดิมแล้วนัดมาตรวจซ้ำอีก 2 อาทิตย์ เพื่อตัดเฝือกออก โดยปกติใส่ 2 – 4 อาทิตย์ หลังจากนั้นจะนัดทุก 1 – 2 เดือน เพื่อตรวจซ้ำว่า เส้นเอ็นหรือกระดูกหายสนิทหรือยัง ปกติใช้เวลา 4 – 6 เดือน แต่เฝือกจะใส่ไว้แค่  2 – 4 อาทิตย์ ดังนั้นถึงแม้ว่าจะเอาเฝือกออกแล้ว เส้นเอ็นหรือกระดูก ก็ยังไม่หายสนิท จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยระมัดระวังในการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด

 

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ที่ระบุใต้รูป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก