ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคจิตเภท คือ เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของความคิด การรับรู้ประสาทสัมผัส การแสดงออกทางอารมณ์ และการแสดงออกทางพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหลงผิดไปจากความเป็นจริง ความคิดที่ไม่สมเหตุผล อาการประสาทหลอน (โดยเฉพาะอาการหูแว่ว) มีการแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แปลกแยกไปจากปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งการดูแลตนเอง การเรียนหรือการทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้มีหลายปัจจัยร่วมกัน โรคนี้มักเป็นเรื้อรังและมีการกำเริบซ้ำได้

 

โรคจิตเภท เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการโรคจิต (psychotic disorder) ที่พบได้บ่อยที่สุดและมีความรุนแรง พบว่า ในประชากรทุก ๆ 100 คน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคจิตเภท 1 คน และพบได้บ่อยในเพศชายและเพศหญิงเท่า ๆ กัน ช่วงอายุที่จะเกิดอาการป่วยครั้งแรกส่วนใหญ่ในเพศชายคือ ช่วงวัยรุ่นถึงอายุ 25 ปีและในเพศหญิงคือ ช่วงอายุ 25 – 35 ปี สำหรับการรักษานั้นจะเป็นแบบผสมผสานทั้งการใช้ยาร่วมกับการบำบัดและฟื้นฟูทางจิตสังคม ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยจิตเภท

 

สาเหตุการเกิด โรคจิตเภท

  • ปัจจัยจากพันธุกรรม พบว่า ผู้ที่มีญาติป่วยด้วยโรคจิตเภทมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าคนทั่วไป 10 เท่า โดยเฉพาะการเป็นฝาแฝด พี่น้อง หรือลูกของผู้ป่วย
  • ปัจจัยจากสารสื่อประสาท พบว่า ในสมองของผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหลอนและความคิดหลงผิด พบว่า มีระดับของสารสื่อประสาทชนิด “โดปามีน (dopamine)” และ “เซโรโทนิน (serotonin)” ที่เสียสมดุลไป โดยระดับของโดปามีนที่สูงผิดปกติจะเกี่ยวข้องด้านบวก (positive symptoms) ได้แก่ ประสาทหลอน ความคิดหลงผิดและพฤติกรรมแปลกแยก ในขณะที่ระดับของเซโรโทนินที่สูงผิดปกติจะเกี่ยวข้องกับทั้งอาการด้านบวกและอาการด้านลบ (negative symptoms) ได้แก่ อารมณ์เฉยเมย เฉื่อยชา แยกตัวเก็บตัว ขาดสมาธิ เป็นต้น
  • ปัจจัยจากโครงสร้างสมอง พบว่า สมองของผู้ป่วยมีขนาดเล็กลงจากจำนวนเซลล์ประสาทที่ลดลง รวมถึงโครงสร้างของสมองหลายตำแหน่งมีการทำงานของที่ผิดปกติไป ส่งผลให้วงจรหรือโครงข่ายสมองส่วนต่าง ๆ ถูกรบกวนการทำงานจนก่อให้โรคจิตเภทได้
  • ปัจจัยจากครอบครัวและการเลี้ยงดู พบว่า เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคและทำให้โรคกำเริบซ้ำได้ เพราะมีผลต่อการปรับตัวเมื่อเกิดความเครียดหรือปัญหาชีวิต เช่น ในวัยเด็กมีการเติบโตในครอบครัวที่มีบรรยากาศห่างเหิน ไม่เป็นมิตร ไม่อบอุ่น และการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองมีลักษณะจุกจิกจู้จี้ในเรื่องต่าง ๆ ตำหนิวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปและใช้อารมณ์ที่รุนแรง
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม พบว่า เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคและทำให้โรคกำเริบซ้ำได้ เช่น การที่สภาพสังคมบีบคั้นกดดัน ความยากจน การอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด หรือการอยู่ในสังคมที่ห่างเหิน โดดเดี่ยว ไม่เป็นมิตร
  • ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรคและทำให้โรคกำเริบซ้ำ เช่น การใช้สารเสพติด ความเครียดอย่างรุนแรง เป็นต้น

 

การวินิจฉัย โรคจิตเภท

จิตแพทย์ส่วนใหญ่นิยมอ้างเกณฑ์การวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้วินิจฉัยโรค ซึ่งโรคจิตเภท มีเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรค ดังนี้

  1. ลักษณะอาการสำคัญ ที่ต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไปต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน และต้องมีอาการในข้อ (1), (2) หรือ (3) อย่างน้อยใน 1 ข้อ
    • อาการหลงผิด (delusion)
    • อาการประสาทหลอน (hallucinations)
    • การพูดจา การสื่อสารแปลกแยก เช่น พูดไม่เป็นเรื่องราว พูดไม่ปะติดปะต่อ พูดคนละเรื่อง
    • พฤติกรรมแปลกแยก หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม
    • อาการด้านลบ ได้แก่ อารมณ์เรียบเฉย พูดน้อยหรือไม่พูด เฉื่อยชาหรือขาดความกระตือรือร้น ขาดสมาธิ สูญเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาและการใช้เหตุผล
  2. อาการสำคัญดังกล่าวส่งผลต่อหน้าที่การทำงาน/การเรียน การดูแลตัวตัวเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
  3. ช่วงเวลาที่มีอาการต้งเป็นอย่างต่อเนื่องนาน 6 เดือนขึ้นไป โดยต้องมีอาการในข้อ A. อย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งเรียกว่า ระยะกำเริบ (active phase) และใน 6 เดือนนี้อาจรวมระยะเวลาที่เป็นอาการนำ (prodromal) หรืออาการที่หลงเหลือภายหลังจากการรักษา (residual phase)
  4. อาการต่าง ๆ ดังกล่าวต้องไม่ได้เป็นผลต้องโรคทางกายอื่น โรคทางจิตเวชอื่น ๆ และจากการใช้สารเสพติด

 

อาการและอาการแสดง โรคจิตเภท

  1. อาการด้านบวก (positive symptoms) หมายถึง ผู้ป่วยมีความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่ผิดแปลกประหลาดไปจากคนทั่วไป ได้แก่
    • ความหลงผิด เป็นความเชื่อที่ฝังแน่นไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเหตุผล ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น เชื่อว่ามีคนติดตามและคิดปองร้าย เชื่อว่าคู่ครองมีชู้ เชื่อว่าถูกไสยศาสตร์มนต์ดำ เชื่อว่ามีร่างกายถูกควบคุมจากคลื่นวิทยุ หรือเชื่อว่าสื่อสารทางจิตและอ่านใจคนได้ เป็นต้น
    • อาการประสาทหลอน ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทมักมีอาการประสาทหลอนทางการได้ยิน (หูแว่ว) มากกว่าอาการประสาทหลอนรูปแบบอื่น เนื้อหาของหูแว่วมีได้หลากหลาย เช่น ได้ยินคนอื่นนินทาตนเอง ได้ยินเสียงสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ยินเสียงคุยหลายคนพูดคุยกัน เป็นต้น
  2. อาการด้านลบ (negative symptoms) หมายถึง ผู้ป่วยขาดการมีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่คนทั่วไปจะมีเป็นปกติ ได้แก่ พูดน้อยลงหรือไม่พูดเลย ไม่แสดงอารมณ์หรือเฉยเมย ไม่สบตา ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น แยกตัวจากสังคม เก็บตัว สนใจดูแลตนเอง รักษาความสะอาด เป็นต้น
  3. ความบกพร่องของการความคิดและการทำงานของสมอง (cognitive symptoms) หมายถึง การสูญเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจแก้ไขปัญหา การคิดเชิงนามธรรม การวางแผน สมาธิไม่ดี ความจำแย่ลง คิดช้า และการรู้จักกาลเทศะเสียไป ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียน การปรับตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคมของผู้ป่วยโรคจิตเภท

 

การตรวจประเมินเพื่อให้การวินิฉัย

  1. การสัมภาษณ์ทางจิตเวช เป็นขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญที่สุด แพทย์จะซักถามอาการต่าง ๆ โดยไล่เรียงตามลำดับเวลา ซึ่งการสัมภาษณ์นี้ แพทย์จะสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากทั้งผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น คนในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง) คำถามประกอบด้วย
    • อาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ และอาการต่าง ๆ ที่พบรวมในปัจจุบัน
    • ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัวและการรักษา
    • ประวัติการใช้สารเสพติด
    • ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว โดยเน้นประวัติโรคทางจิตเวชและการฆ่าตัวตาย
    • บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
    • ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
  2. การตรวจสภาพทางจิต เป็นกระบวนการที่รวมการสังเกตและการประเมินจากสัมภาษณ์ทางจิตเวช ร่วมกับแบบคำถามที่มีการประเมินด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยประกอบด้วยการประเมินลักษณะท่าทางโดยทั่วไป การเคลื่อนไหว การแต่งกาย การแสดงออกของอารมณ์ การพูดสื่อสาร เนื้อหาเรื่องราวที่พูด เนื้อหาความคิดและกระบวนการคิด การรับสัมผัส รวมถึงการทดสอบเกี่ยวกับการทำงานของสมอง เช่น สมาธิ ความจำ ความรู้ทั่วไป การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา
  3. การตรวจร่างกาย การตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจร่างกายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วย รวมทั้งตรวจระบบประสาทและสมอง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคทางกายที่อาจเป็นสาเหตุของอาการทางจิตโดยเฉพาะในการป่วยครั้งแรก นอกจากนี้ การตรวจทางร่างกายยังมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้ยารักษาอาการทางจิตและยาร่วมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้มีผลรักษาที่ดีและเกิดอาการข้างเคียงจากยาให้น้อยที่สุด
  4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจส่งตรวจเลือด ส่งตรวจทางรังสีวินิจฉัย หรือส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ เพื่อยืนยันการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจว่าอาการทางจิตนั้นไม่ได้มีสาเหตุจากโรคทางกาย หรือจากสารเสพติด และเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ยารักษาอาการทางจิตและยาร่วมต่าง ๆ อย่างหมาะสม เพื่อให้มีผลรักษาที่ดีและเกิดอาการข้างเคียงจากยาให้น้อยที่สุด

 

การรักษา โรคจิตเภท

เนื่องจากโรคจิตเภทมีสาเหตุหลักจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทและโครงสร้างของสมอง ร่วมกับปัจจับอื่น ๆ อีกหลายปัจจัย ดังนั้นการรักษาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ การรักษาด้วยยารักษาอาการทางจิต ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคมและการฟื้นฟูสมรรถภาทางกายและใจ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษา การให้คำปรึกษาและการทำจิตบำบัด เพื่อคลายความทุกข์ใจและให้กำลังใจ การฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาและทักษาะการสื่อสาร เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเครียดและสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น โดยการรักษาทางจิตสังคมนี้ให้แก่ทั้งผู้ป่วยและญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย ด้วยเหตุนี้เอง การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความจำเพาะตัวที่มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน จึงมีความยากและต้องเป็นใช้เวลาและทรัพยกรต่าง ๆ เพื่อที่ช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดีและเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

หลักในการรักษาอาจแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ตามอาการ ได้แก่

  1. การรักษาในระยะอาการกำเริบ (active phase) หมายถึง การรักษาในระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการกำเริบ ทั้งในการป่วยครั้งแรกหรือครั้งถัด ๆ มา โดยมีเป้าหมายของการรักษา คือ ควบคุมอาการที่กำเริบโดยเร็ว การจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย การควบคุมอาการก้าวร้าวรุนแรง และการสร้างสัมพันธภาพในการรักษากับผู้ป่วยและญาติ ญาติควรมีส่วนร่วมในการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อให้ญาติเห็นความสำคัญของการรักษาและสร้างความร่วมมือที่ดีในระยะต่อ ๆ ไป ในระยะกำเริบนี้อาจต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติพิเศษ เพื่อแยกสาเหตุจากโรคทางกายหรือจากสารที่ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับโรคจิตเภท รวมทั้งประเมินสภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ในระยะนี้จะเน้นการการใช้ยารักษาอาการทางจิตเป็นหลัก ร่วมกับยาร่วมอื่น ๆ เพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ ลดความก้าวร้าว และต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมและเฝ้าระวังการเกิดอาการข้างเคียงจากยา เพื่อให้การรักษาอาการข้างเคียงได้ทันท่วงที หากอาการรุนแรงมากหรือใช้เวลานานกว่าจะตอบสนองต่อยา จิตแพทย์จะพิจารณาใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy; ECT) ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือก่อความเดือดร้อนรบกวนส่วนรวม ปฏิเสธการเจ็บป่วยและการรักษา หรือมีปัญหาอื่นที่ต้องดูแลใกล้ชิด เช่น มีอาการข้างเคียงจากยารุนแรง หรือเพื่อควบคุมเรื่องยา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยา หรือมีปัญหาในการวินิจฉัย แพทย์จะพิจารณาให้รับรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่วนการรักษาทางจิตสังคมสำหรับระยะกำเริบ บุคลากรทางการแพทย์จะประเมินปัจจัยทางจิตสังคมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และให้ความช่วยเหลือในด้านจิตสังคมที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนตามความเหมาะสม การให้ความรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติรับทราบข้อเท็จจริงเพื่อเพิ่มความร่วมมือ และมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการลดสิ่งเร้าหรือความกดดันที่มีต่อผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ยุ่งยากหรือต้องใช้สมาธิความตั้งใจมาก การสื่อสารแบบกระชับชัดเจน เข้าใจง่าย และกำหนดกิจกรรมประจำวันเป็นลำดับขั้นที่แน่นอน
  2. การรักษาในระยะอาการทุเลา ระยะนี้อาการต่าง ๆ ที่กำเริบเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยเริ่มพอที่จะควบคุมตนเองได้บ้าง การสื่อสารดีขึ้นและอาการด้านบวกยังคงมีอยู่แต่ความรุนแรงลดลง แต่ยังหลงเหลืออาการด้านลบอยู่ เป้าหมายในการรักษาในระยะนี้ คือ การควบคุมอาการโดยการใช้ยาในขนาดเท่ากับขนาดในการรักษาระยะอาการกำเริบนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีในการป่วยครั้งแรก เพื่อลดโอกาสที่โรคจะกำเริบซ้ำ และในผู้ป่วยที่มีการกำเริบซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง ควรรักษาด้วยยาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคมที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูทักษะในการดำเนินชีวิต ทักษะในการเข้าสังคม และทักษะการแก้ปัญหา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเครียดและสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ในระยะนี้กิจกรรมต่าง ๆ จะยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนรูปแบบได้มากขึ้น หากผู้ป่วยกลับไปทำงานควรเปลี่ยนลักษณะงานเป็นงานที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบหรือมีความกดดันมากนัก และการพูดคุยกับญาติให้ลดความคาดหวังในตัวผู้ป่วยลง เสริมสร้างความเข้าใจ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและให้กำลังใจให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

การดำเนินโรคและการพยากรณ์

การดำเนินโรคของโรคจิตเภทมีลักษณะที่จะกลับเป็นซ้ำได้อีกภายหลังอาการสงบลงและอาจเป็นเริ้อรังตลอดชีวิต ผู้ป่วยที่มีอาการในครั้งแรกสามารถฟื้นคืนไปสู่ภาวะปกติของตนเองได้อย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการกำเริบซ้ำและเมื่อมีการกำเริบซ้ำบ่อยขึ้น จะส่งผลต่อความเสื่อมสมรรถถภาพการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังพบว่าเมื่อป่วยด้วยโรคจิตเภทแล้วผู้ป่วยจะเปราะบางมากขึ้นต่อสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นการรักษาในช่วง 5 ปีแรกนับจากการป่วยด้วยโรคจิตเภทครั้งแรกนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงพยากรณ์ของโรคที่ดีหรือไม่ในระยะ เมื่อเวลาผ่านไป ความรุนแรงของกลุ่มอาการด้านบวกจะลดลง ในขณะที่กลุ่มอาการด้านลบจะรุนแรงมากขึ้น

มีการศึกษาถึงผลการรักษาในระยะ 5 – 10 ปีภายหลังจากการป่วยครั้งแรก พบว่า ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 – 20 เท่านั้นมีผลการรักษาที่ดี ในขณะที่มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยะจะมีการกำเริบซ้ำ การกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำ มีอาการป่วยด้วยภาวะอารมณ์ผิดปกติ และการฆ่าตัวตาย ดังนั้นการรักษาโรคนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากทั้งการใช้ยาและการบำบัดทางจิตสังคม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปสู่สภาวะเดิมที่เคยเป็นและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งของผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม

  

แหล่งที่มา

  1. Stahl’s Essential Psychopharmacology: Neuroscientific Basis and Practical Applications, 4th Edition, 2013
  2. Kaplan and Sadock’s Synopsis of Psychiatry: Behavioral Sciences/Clinical Psychiatry 11th Edition, 2014
  3. ตำราจิตเวชศาสตร์ธรรมศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก