ไวรัสโคโรน่า และไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 มีที่มาที่ไป การแพร่ระบาด และการเข้าสู่ร่างกายอย่างไร
ไวรัสโคโรนา (Coronavirus, CoV) เป็นไวรัสที่ก่อโรคทั้งในสัตว์และคน โดยในคนมักทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ ความรุนแรงแตกต่างตามสายพันธุ์ ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาจนถึงโรคปอดติดเชื้อ และอักเสบรุนแรงจนเสียชีวิต เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 600 คน โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 900 คน
ไวรัสโคโรน่า 2019 (Coronavirus disease 2019, COVID-19) ที่กำลังระบาดและก่อให้เกิดโรคโควิด 19 คาดกันว่า มีศูนย์กลางการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมาลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ กลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลกข้อมูลจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 164 ล้านราย ผู้เสียชีวิต 3.4 ล้านราย (วิกิพีเดีย 18/5/2021)
ปัจจุบันพบเชื้อไวรัสโควิด 19 แพร่ติดต่อในลักษณะหยดละออง (droplet) จากการพูด ตะโกน ไอ จามของผู้ติดเชื้อ เข้าสู่ร่างกายผู้ใกล้ชิดในระยะ 1 – 2 เมตร และละอองฝอย (aerosol) ลอยในอากาศไปได้ไกล 8 – 10 เมตร ในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ผ่านทางจมูก ทางเดินหายใจ ลงปอด และการสัมผัสสารคัดหลั่งจากหยดละอองที่ติดตามพื้นผิวสัมผัสในบริเวณใกล้เคียง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู สิ่งของที่ใช้ร่วมกัน โดยผู้สัมผัสนำมาแคะจมูก ขยี้ตา ซึ่งเป็นบริเวณที่เนื้อเยื่ออ่อน ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้
เมื่อเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าไปสู่ร่างกายแล้ว มีการดำเนินของโรคอย่างไร แพร่เชื้อได้ตอนไหน เมื่อไรจะหาย
เชื้อไวรัสโควิด 19 หลังจากเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนขึ้นมาระดับหนึ่ง เรียก ระยะฟักตัว ระหว่าง 2 – 14 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 วัน แล้วจึงเริ่มมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูก ต่อมาเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างที่เรียกว่า “โควิดลงปอด” จะมีอาการไอถี่ หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงเสมหะในปอด เสมหะมีเลือดปน ในรายที่รุนแรงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด
ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนหน้าวันมีอาการ ระหว่าง 1 – 3 วัน ดังนั้น หากผู้ติดเชื้อมีอาการ 10 วัน ผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้ใกล้ชิดได้มากกว่า 10 วัน
สำหรับระยะเวลาการรักษาตัว ผู้ที่ภูมิต้านทางแข็งแรง และมีอาการน้อย ร่างกายจะกำจัดเชื้อหรือหายได้เองประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่เชื้อลงปอดและมีอาการรุนแรง ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 8 สัปดาห์ กรณีอาการรุนแรงมาก ต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียู ต้องใช้เวลานานเป็นหลาย ๆ เดือนในการรักษาให้หายกลับมา
จะรู้แน่ ๆ ได้อย่างไรว่า เชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ร่างกายแล้ว
การตรวจหาเชื้อโควิด หากตรวจเจอหรือผลตรวจเป็นบวก แสดงว่ามีการติดเชื้อจริง หากตรวจไม่เจอหรือผลตรวจเป็นลบแสดงว่า ตรวจไม่พบเชื้อ ต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรก 5 – 7 วัน เนื่องจากมีบางสาเหตุที่อาจทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ เช่น เพิ่งรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ตำแหน่งที่เก็บเชื้อ เชื้ออยู่ในระยะฟักตัว เป็นต้น
เชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ร่างกายแล้ว มีอาการอย่างไร อาการรุนแรงมากน้อยอย่างไร
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั่วโลก 80% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 20% มีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (WHO, Q&A on COVID-19) 5% อาการรุนแรงมาก ต้องรักษาห้อง ICU และ 2.0% เสียชีวิต โดยอาการที่พบส่วนใหญ่จะเป็น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และอาจหายได้เอง ในรายที่ไม่หายจะมีอาการ “โควิดลงปอด” เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ในรายที่เป็นรุนแรงหรือรุนแรงมาก จะมีอาการปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว อาจมีภาวะแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการใด ๆ เลยและหายได้เอง สามารถแพร่เชื้อได้ไหม
ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ไม่มีอาการใด ๆ ทั้งก่อนและหลังการตรวจพบเชื้อ สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ใกล้ชิดได้ เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการ เรื่องนี้สำคัญมากเนื่องจากอาจมีคนจำนวนมากที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการ ยังไม่ได้กักตัว (Quarantine) ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ ยังไม่ได้แยกตัว (Isolation) โดยใช้ชีวิตปกติ และแพร่เชื้อไปยังผู้ใกล้ชิดจำนวนมาก
ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และเสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไหน
ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ/หรือมีโรคประจำตัวหลัก ๆ คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคอ้วน โรคมะเร็ง
.
การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ทำอย่างไร
การรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 หลัก ๆ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อฟื้นฟูอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิต้านทานขึ้นมากำจัดเชื้อได้ทันเวลา ในเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
หากตรวจพบผู้ติดเชื้อจะมีมาตรการแยกตัว (Isolation) ไปรพ.สนามหรือ Hospitel
- กรณีที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จะมีการสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิ วัดความดัน ให้ยาบรรเทาอาการในบางราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 14 วัน
- กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น จะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาล แพทย์จะพิจารณาให้ยาและรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) การเอกซเรย์ปอด การวัดค่าออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
- หากรุนแรงกว่านั้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน ให้การรักษาด้านอื่น ๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน รวมทั้งพิจารณาย้ายผู้ป่วยเข้าห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) ในกรณีอาการยังไม่ดีขึ้น
ไวรัสโควิด 19 มีสายพันธุ์ย่อยหรือมีการกลายพันธุ์ไหม มีผลต่อการรักษาอย่างไร
ปัจจุบันพบไวรัสโควิด 19 หลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ S และ L เริ่มที่จีน โดยสายพันธุ์ S มาระบาดรอบแรกในไทย สายพันธุ์ L ระบาดในยุโรป แล้วพัฒนาเป็นสายพันธุ์ G และ V โดยสายพันธุ์ G แพร่ระบาดไปทั่วโลก และพัฒนาเป็น GH และ GR พบสายพันธุ์ G (GH) มาระบาดที่ประเทศไทยด้วย ส่วนที่ยุโรปจะเป็น สายพันธุ์ GR เป็นส่วนใหญ่ โดยมีที่กลายพันธุ์ คือ B.1.1.7(GR,G) พบที่อังกฤษ สายพันธุ์ B.1.351(GH,G) พบที่แอฟริกาใต้ สายพันธุ์ P.1(GR) พบที่บราซิล สายพันธุ์ B.1.617.2 พบที่อินเดีย ทั้งนี้บางสายพันธุ์ แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธ์ุอื่น ส่งผลให้ควบคุมได้ยาก บางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วลุกลามได้เร็ว อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย ทำให้แพทย์ต้องติดตามการรักษาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยอาจติดเชื้อคนละสายพันธุ์ (ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ)
กรณีติดเชื้อแล้วหายเป็นปกติแล้ว ร่างกายโดยเฉพาะการทำงานของปอดจะเหมือนเดิมไหม
ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และอาการน้อย น่าจะหายได้โดยไม่มีผลในระยะยาว ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีแนวโน้มที่ปอดจะเสียหาย หากดูจากโรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง อาจต้องมีการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย (ECMO) และอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ๆ ในการฟื้นสภาพการทำงานของปอดให้กลับมาใกล้เคียงปกติอีกครั้ง
สามารถอ่านอัพเดทสถานการณ์ โรคโควิด 19 ได้ที่ www.ddc.moph.go.th/viralpneumonia
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19 | “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร | ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ | ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง | การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง | การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง | ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์
ภาพประกอบ : www.freepik.com