ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด (Ankle sprain)
ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด (Ankle sprain) มักจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น หกล้มแล้วข้อเท้าบิด ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเท้าเคล็ดได้บ่อย คือ เคยมีประวัติข้อเท้าเคล็ดมาก่อน รองเท้าไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นรอบข้อเท้าไม่แข็งแรง กีฬาบางชนิด เช่น บาสเกตบอล แบดมินตัน เป็นต้น เอกซเรย์ข้อเท้า โดยส่วนใหญ่มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ถ้ามีอุบัติเหตุรุนแรง อาจพบมีกระดูกหัก ร่วมด้วย
ระดับความรุนแรง ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด
- ระดับที่หนึ่ง เส้นเอ็นยึดข้อถูกเหยียดออกมากเกินไป และบางเส้นใยอาจฉีกขาด จะมีอาการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือเคลื่อนไหวข้อ แต่มักจะไม่บวม ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 อาทิตย์
- ระดับที่สอง เส้นเอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร รวมทั้งมีอาการบวมและฟกช้ำ เพราะเส้นเลือดล็ก ๆ ฉีดขาด ทำให้มีเลือดออก เวลาลงน้ำหนักจะรู้สึกปวด มักจะหายใน 4 – 6 อาทิตย์
- ระดับที่สาม เส้นเอ็นยึดข้อเส้นหนึ่งหรือหลายเส้นฉีกขาดจากกันทั้งหมด มีอาการปวด บวมและฟกช้ำมาก เคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักไม่ได้ อาจใช้เวลารักษา 6 – 10 เดือนจึงจะหายสนิท ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงมาก ในกรณีเป็นนักกีฬาอาชีพ อาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น
ถ้าข้อเท้าบวมมาก เดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือลองรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 วัน จะต้องตรวจหาสาเหตุว่า เกิดจากอะไร
แนวทางการรักษา ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด
แนวทางรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเส้นเอ็นที่ได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งมีแนวทางทั่วไปดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเท้า เช่น การใช้ไม้ดาม ใส่
เฝือก ใช้ผ้ายืดพัน หรือใช้ไม้เท้าพยุงเวลาเดิน
- ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 1 ใช้ผ้ายืดพัน หรืออุปกรณ์พยุงข้อเท้า
- ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 2 ใส่เฝือก 2 – 4 อาทิตย์
- ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 3 ใส่เฝือก 4 – 6 อาทิตย์ หรือผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น
- ในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรกให้ประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง เป็นต้น
- เมื่อพ้นระยะ 24 – 48 ชั่วโมง จึงประคบด้วยความร้อน เช่น น้ำอุ่น กระเป๋าไฟฟ้า ครีมนวด เป็นต้น
- ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เช่น เวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น
- ถ้าปวดมากอาจรับประทานเลือด เช่น ยาพาราเซตตามอล หรือยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ (NSAIDs)
- บริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเท้า
- เคลื่อนไหวข้อ 6 ทิศทาง (กระดกขึ้น-งอลง บิดเข้า-บิดออก หมุนวนเข้า-หมุนวนออก) หรือ อาจใช้วิธีบริหารโดยเคลื่อนไหวปลายเท้า เหมือนกับการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ ๆ ก็ได้
- บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5 – 10 วินาที ใน 4 ทิศทาง คือ กระดกขึ้น งอลง บิดเท้าเข้าด้านใน และบิดเท้าออกด้านนอก ถ้าไม่ปวด ให้ถ่วงน้ำหนัก 0.5 – 4 กิโลกรัมที่บริเวณปลายเท้า หรือใช้เท้าดันกับขอบโต๊ะ อาจใช้ยางยืดหรือผ้ารัดที่ปลายเท้าเพื่อเพิ่มแรงต้านให้มากขึ้น ร่วมกับยืนยกส้นเท้า ยกปลายเท้าขึ้น
- บริหารประสาทรับความรู้สึกของข้อเท้า
- ยืนหรือนั่ง เหยียบบนหมอนนุ่ม ๆ แล้วลงน้ำหนัก ตามส่วนต่าง ๆ คือ ส้นเท้า ปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอก
- วางเท้าบนแผ่นไม้ ที่เอียงกระดกได้ แล้วเหยียบให้แผ่นไม้กระดกไปทั้ง 4 ทิศทาง
- ยืนเท้าเดียว แล้วบิดตัว
- กระโดดเชือก (ต้องรอให้หายปวด ไม่มีอาการเสียวในข้อ ไม่มีข้อบวม)
อาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง
โดยส่วนใหญ่ข้อเท้าเคล็ดมักจะหายใกล้เคียงปกติ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่มีผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง (ปวดนานกว่า 6 อาทิตย์) เคลื่อนไหวข้อได้ไม่เต็มที่ และเกิดข้อเท้าเคล็ดซ้ำได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจาก
- ไม่ได้ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ไม่ดี กล้ามเนื้อลีบ
- มีเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าที่ฉีกขาดยื่นเข้าไปในข้อเท้า เมื่อกระดกข้อเท้าขึ้นก็จะถูกกระดูกหนีบทำให้ปวด
- มีกระดูกแตกร่วมด้วย แล้วมีกระดูกติดผิดรูป
- เส้นเอ็นฉีดขาดหลายเส้น แล้วไม่ได้รักษา ทำให้เส้นเอ็นไม่ติด หรือเส้นเอ็นติดในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม
เมื่อไรถึงจะกลับไปเหมือนกับปกติ
- เมื่อเคลื่อนไหวข้อเท้า และเดินลงน้ำหนักโดยไม่ปวด สามารถยืนเขย่งยกส้นเท้าขึ้น นานกว่า 20 วินาที ยืนขาข้างเดียว (หลับตา) นานกว่า 30 วินาที และเส้นเอ็นกล้ามเนื้อข้อเท้า มีความแข็งแรง 70 – 80% เทียบกับข้างปกติ
- ถ้าลองวิ่งในแนวตรง วิ่งวนเป็นวงกลมหรือรูปเลขแปด แล้วไม่ปวด ก็ให้ลองวิ่งแบบสลับฟันปลา ถ้าสามารถวิ่งสลับฟันปลา โดยไม่ปวด และรู้สึกว่าข้อเท้ามั่นคงดี ก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้แต่ต้องค่อยปรับความเร็ว-ความหนัก และถ้ารู้สึกผิดปกติ เจ็บ-บวมผิดปกติ ให้หยุด หรือลดความเร็ว-ความหนัก ต้องปรับเพิ่มลดตามอาการให้เหมาะสม
- ข้อเท้าเคล็ดจะหายเป็นปกติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ระดับความรุนแรง วิธีรักษาที่เหมาะสม การบริหารหรือทำกายภาพบำบัดเป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลารักษา ประมาณ 2 – 6 อาทิตย์ แต่เส้นเอ็นจะหายเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน จึงควรใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้าอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อเท้าเคล็ดซ้ำ
ภาพประกอบจาก : www.iwalk-free.com