โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นโรคที่มีการอักเสบอย่างเรื้อรัง โดยมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณข้อต่อหลาย ๆ ข้อในร่างกาย สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ มองเนื้อเยื่อข้อต่อเป็นสิ่งแปลกปลอม โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 20 – 30 ปี และ 50 – 60 ปี โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในช่วงอายุน้อย แต่ในช่วงอายุมาก พบได้ทั้ง 2 เพศเท่า ๆ กัน
อาการ
อาการที่พบบ่อย
ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้อ่อน ๆ น้ำหนักตัวลดลง และอาการอักเสบรอบ ๆ ข้อ ได้แก่
- อาการปวด บวม แดง อุ่น ตามข้อต่อขนาดเล็กพร้อมกันหลาย ๆ ข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า บางครั้งอาจพบที่ข้อขนาดใหญ่ เช่น ข้อไหล่ ข้อศอก โดยอาการนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เมื่อใช้งานข้อนาน ๆ จะปวดมากขึ้น
- อาการข้อฝืดแข็ง ข้อขยับลำบาก มักจะเกิดขึ้นหลังจากไม่ได้เคลื่อนไหวข้อสักระยะเวลาหนึ่ง เช่น ตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ
นอกจากนี้ ยังสามารถพบความผิดปกติที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ปุ่มเนื้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules) ซึ่งเป็นปุ่มเนื้อนิ่ม ๆ บริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย เช่น ข้อศอก เนื้อเยื่อปลายแขน อาการอักเสบที่กล้ามเนื้อ ปอด เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือด อาการของระบบประสาท เช่น อาการชาและอ่อนแรง และอาจมีอาการอักเสบร่วมกับมีม้ามโตและเม็ดเลือดขาวต่ำ สามารถติดเชื้อและอาจเสียชีวิตได้
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการปวดตามข้อ ข้อฝืดข้อติดขัดเวลาไม่ขยับตัวนาน ๆ หรือหลังตื่นนอน โดยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุวางแผนการรักษาทันที
สาเหตุ
เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองมากเกินไป จนทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงเยื่อหุ้มข้อ จนเกิดการปวดและอักเสบขึ้นมา โดยนานไปจะมีการทำลายกระดูก กระดูกอ่อนปลายข้อต่อและเอ็นกล้ามเนื้อ จนทำให้ข้อต่อผิดรูป โดยปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น ได้แก่
- พันธุกรรม โดยพบว่า 10% ของผู้ป่วยมีญาติที่เป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด
- การสูบบุหรี่ ความอ้วน
- ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
การวินิจฉัย
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางรังสี และตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเกณฑ์ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะอยู่ใน 4 จาก 7 ข้อ ดังนี้
- อาการข้อแข็งฝืดในตอนเช้า เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง แล้วอาการข้อฝืดหรือขยับไม่ได้นั้นหายไป
- มีอาการปวดและบวมข้อมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป
- มีอาการอักเสบของข้อในมือร่วมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น นิ้วมือ ฝ่ามือหรือข้อมือ
- อาการอักเสบที่เกิดขึ้นต้องเกิดขึ้นทั้งข้างซ้ายและขวา
- พบปุ่มเนื้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules)
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid Factor ในเลือด
- การตรวจด้วยรังสี พบความผิดปกติของกระดูกรอบข้อ เช่น กระดูกรอบข้อบางลง
การรักษา
เป้าหมายในการรักษา เน้นลดการปวด บวม อักเสบของข้อ ป้องกันการเสียหายและผิดรูปของข้อเพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงการรักษาภาวะอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับตัวโรค โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้
- การใช้ยา โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหลาย ๆ ตัวร่วมกัน ทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อลดอาการและป้องกันการทำลายข้อในระยะยาว โดยกลุ่มยาที่ใช้ ได้แก่
- ยาต้านการอักเสบเอนเสด (NSAIDs) เพื่อลดอาการบวมและอักเสบของข้อต่อเท่านั้น
- ยาสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อลดความรุนแรงของการอักเสบและลดการดำเนินของโรคให้ช้าลง
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินของโรคหรือยากลุ่ม DMARDs (Disease-Modifying Antirheumatic Drugs) เพื่อลดความรุนแรง ชะลอการดำเนินของโรค อีกทั้งควบคุมอาการที่เกิดจากการอักเสบ
- ยาต้านการทำงานของสารเคมีในกระบวนการอักเสบ เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบและลดการดำเนินของโรคได้
- ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกาย กรณีการใช้ยากลุ่ม DMARDs ไม่ได้ผล
- การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของข้อ เช่น การบริหารข้อมือ ข้อต่อต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่น ขยับได้ง่ายขึ้น การแนะนำอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วย ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ
- การผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียม เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว ช่วยลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการ
ทั้งนี้โรคที่สงบแล้ว อาจกลับมากำเริบได้อีก ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องติดตามการรักษา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรคไม่ให้กลับมารุนแรง และเพื่อให้การรักษาได้ผลดี ควรมาพบแพทย์ภายใน 1 ปีแรกที่เริ่มมีอาการ
ภาวะแทรกซ้อนของโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และดูแลป้องกันไม่ดี อาจเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคติดเชื้อ โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) โรคหัวใจ เป็นต้น
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com