ความดันโลหิตต่ำ
ความดันโลหิต (Blood pressure) เป็นหนึ่งใน 4 สัญญาณชีพของมนุษย์ ประกอบไปด้วยชีพจร (Pulse) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature) และความดันโลหิต ที่สามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้
ความดันโลหิตหรือความดันเลือด (Blood pressure) คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน วัดที่แขนซึ่งจะได้ค่าที่วัด 2 ค่า โดยค่าตัวแรกหรือค่าตัวบน เรียกค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด และค่าตัวตามหรือค่าตัวล่าง เรียกค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว โดยความดันปกติควรจะต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท โดยหากสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท จะเป็นความดันโลหิตสูง และหากต่ำกว่า 90/60 มม.ปรอท จะเป็นความดันโลหิตต่ำ ทั้งนี้การวัดความดันโลหิตควรวัดในขณะพัก และวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ห่างกันและหาค่าเฉลี่ยที่วัดได้
โดยความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) อาจต่ำเพียงความดันซีสโตลิค หรือไดแอสโตลิกตัวใดตัวหนึ่ง หรือต่ำทั้งสองตัวก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์ไม่จัดความดันโลหิตต่ำเป็นโรค แต่จัดเป็นภาวะ หากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในทางการแพทย์ยังจัดว่าสุขภาพเป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา พบได้ทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน และพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ
อาการ
อาการที่พบบ่อย
ภาวะความดันโลหิตต่ำบางคนไม่มีอาการใด ๆ ในรายที่มีอาการสามารถพบได้ดังนี้ ตาลาย ตาพร่า มองไม่ชัดเจน ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง ทรงตัวไม่อยู่ หน้ามืด เป็นลม กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ผิวซีด/ตัวเย็น โดยอาการที่เป็นชั่วคราว สามารถนั่งพัก ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ในรายที่เป็นบ่อยๆ พักแล้วก็ไม่หายหรือมีอาการอย่างอื่นด้วย ควรพบแพทย์ทันทีเพราะปล่อยไว้อาจทำให้สมองขาดเลือด หมดสติ ชัก นำไปสู่โรคแทรกซ้อนหรืออุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยง
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ ได้แก่
- ผู้สูงอายุ โดยต้องระวังภาวะนี้อาจทำให้มีอาการวิงเวียน เกิดการล้มได้ง่าย
- ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียน รุนแรง หรือภาวะลมแดด ดื่มน้ำน้อย
- ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคของต่อมไทรอยด์ และภาวะซีด
- ผู้ที่กินยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาโรคความดันโลหิตสูง และยาโรคเบาหวาน
สาเหตุ
ภาวะความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต การแพ้ยา สารเคมี อาหารอย่างรุนแรง
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตสูง ยาไวอากร้า (Viagra) ยาทางจิตเวชบางชนิด
- การตั้งครรภ์ในระยะ 6 เดือนแรก
- โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคของต่อมหมวกไต โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับหัวใจละหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคพาร์กินสัน
- สุดท้ายจากพันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การวินิจฉัย
แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น การตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาภาวะช็อก ตรวจระดับความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตต่ำ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด (Blood Tests) การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter and Event Monitors) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ จะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
การรักษา
แนวทางการรักษาจะเป็นการเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เบื้องต้นมีวิธีการดังนี้
- การรักษาด้วยการใช้ยา โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ โดยยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ยาเพิ่มความดันโลหิต (Vasodilator) ยาแอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic Hormone) ยาทางจิตเวชบางตัว (Antipsychotic agents) และยาสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นต้น
- การให้น้ำเกลือ ในผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือในผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะช็อกขึ้น อาจได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น
- การปรับเปลี่ยนยา หากสาเหตุความดันโลหิตต่ำมาจากการทานยาตัวใดตัวหนึ่งเป็นประจำอยู่
นอกจากนี้ แพทย์จะวางแผนการรักษาโรคหลักที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันต่ำควบคู่ไปด้วย เช่น หากความดันต่ำจากฮอร์โมนผิดปกติ อาจส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ หากความดันต่ำจากการติดเชื้อ อาจส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์ทางด้านโรคติดเชื้อ หรือวางแผนการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วยตัวเอง เป็นต้น
ข้อแนะนำ และการป้องกัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หรือมากกว่านั้น หากอากาศร้อน เป็นหวัด หรือเสียน้ำมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ และเพิ่มปริมาณเลือดให้สูงขึ้น
- ควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ และแบ่งเป็นหลายมื้อ จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
- รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือ เพราะโซเดียมจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- ระมัดระวังเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าอื่น โดยเฉพาะขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน ควรหาที่ยึดจับเมื่อเปลี่ยนท่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- เลือกสวมถุงน่องที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- ควรยกระดับศีรษะให้สูงกว่าลำตัวในขณะนอน
- ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ควบคู่ไปกับภาวะความดันโลหิตต่ำ
แหล่งข้อมูล
- www.pobpad.com
- www.mayoclinic.org
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com