กลากและเกลื้อน
โรคกลาก (Ringworm Tinea, Dermatophytosis) และโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor, Tinea versicolo) เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) พบได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย โดยโรคกลากจะเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว อาจมีอาการอักเสบและคันร่วมด้วย สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย ส่วนโรคเกลื้อนจะเป็นผื่นทรงกลมหรือทรงรี ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะมีสีจางหรือเข้มกว่าผิวปกติ โรคเกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ
โรคกลาก
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่ผิวหนัง ผิวหนังเป็นจุดแดงหรือปื้นแดง ขอบผื่นมีทั้งแบบที่ยกนูนหรือแบบเรียบ มีตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำรอบผื่น ผิวหนังแห้งเป็นขุยลอกหรือแตก กลากสามารถเกิดได้ในหลาย ๆ จุดของร่างกายและมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น กลากหรือเชื้อราที่ศีรษะ กลากที่เท้า กลากที่มือ กลากที่เล็บ กลากที่ลำตัว กลากที่ใบหน้า กลากที่ขาหนีบ เป็นต้น
ภาพจาก : Thailandonlinehospital.com/th
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่อพบว่ามีผื่นหรือตุ่มแดงเป็นวงขึ้นตามร่างกาย รักษาด้วยการทายารักษากลากด้วยตนเอง ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการลุกลามมากขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย
สำหรับอาการที่ตำแหน่งอื่น เช่น ที่หนังศรีษะ หากมีอาการผมร่วง เป็นรังแค มีผื่นแดงที่โคนผม หรือที่เล็บ หากมีอาการ เล็บหนา เปราะ มีสีเปลี่ยนไป หรือเล็บแยกตัวออกจากหนังใต้เล็บ ควรไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุ
โรคกลากเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งสามารถเจริญเติบโตบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนอยู่ในผิวหนังชั้นนอก เล็บ และเส้นผม โรคกลากสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรค หรือสัมผัสเชื้อราที่อยู่ในดินและทราย
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกลาก ได้แก่ ผิวหนังบริเวณที่เปียกชื้นบ่อย ๆ ผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีสูง นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงสูงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
การวินิจฉัย
เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ สอบถามอาการ ดูลักษณะและตำแหน่งของผื่นหรือรอยโรค โดยหากยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ แพทย์จะพิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยนำเซลล์ผิวหนังมาย้อมสี เพื่อตรวจหาเชื้อทางกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งมักจะพบการเปลี่ยนแปลง โดยผิวหนังชั้นนอกหนาตัวขึ้นและมีการสร้างเคราติน (Keratin) มากขึ้น ผิวหนังชั้นในที่เป็นหนังกำพร้ามีการบวมน้ำ พบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่รอบ ๆ หลอดเลือดในชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) และสามารถพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค
การรักษา
เมื่อเริ่มมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยให้โรคลุกลาม ยาที่ใช้รักษาอาจจะใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา สำหรับยาทาเฉพาะที่ แพทย์จะให้ยาชนิดที่เหมาะกับสภาพของผื่น เช่น ถ้าเป็นตามตัว มีสะเก็ด ผิวค่อนข้างแห้ง อาจใช้ยาทาที่เป็นขี้ผึ้ง แต่ถ้าเป็นบริเวณซอกที่อับชื้นหรือผื่นมีตุ่มหนอง ตุ่มน้ำใส ต้องใช้ยาประเภท ครีม ผง น้ำยาป้ายทา เป็นต้น
ส่วนยากิน ขนาดและระยะเวลาที่ให้จะต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเชื้อราที่ใด ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะหรือผิวหนัง จะกินยานานประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นเชื้อราที่เล็บมือจะให้กินนานประมาณ 4 – 6 เดือน ส่วนเชื้อราของเล็บเท้าไม่นิยมให้ยากิน เพราะไม่ทำให้หายขาดได้ ข้อสำคัญคือ ต้องรักษาความสะอาดอย่าให้เท้าอบ หรือเท้าเปียกชื้น เชื้อราตามซอกเท้าจะดีขึ้นโดยการใช้ยาทาเฉพาะที่
ภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน
โดยทั่วไปโรคกลากมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมคุ้มกัน ที่อาจทำให้การรักษาหายช้า นอกจากนี้ การเกาผิวหนังบ่อย ๆ อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
สำหรับการป้องกันนั้น เนื่องจากการติดเชื้อจากการสัมผัสเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผิวหนังหรืออวัยวะส่วนอื่น
โรคเกลื้อน
อาการ
ผู้ป่วยจะเป็นผื่นแบนราบ รูปทรงกลมหรือทรงรี มีขอบเขตของผื่นที่ชัดเจน ผิวสัมผัสบริเวณที่เป็นผื่นจะเป็นขุยละเอียด อาจมีสีแตกต่างกันเนื่องจากการทำงานของเม็ดสีเปลี่ยนไป เช่น สีชมพู เทา น้ำตาล สีขาว ระยะเริ่มจะเป็นผื่นวงขนาดเล็กหลายวง ต่อมาวงผื่นอาจเชื่อมกัน กลายเป็นผื่นผิวหนังขนาดใหญ่ มักเป็นตามบริเวณลำตัว โดยเฉพาะที่หน้าอกและแผ่นหลัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค
ภาพจาก : Medthai.com
สาเหตุ
โรคเกลื้อนมีสาเหตุจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia spp.) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดที่สามารถก่อโรคได้แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ Malassezia globosa, Malassezia sympodialis, Malassezia furfur เชื้อราเหล่านี้ปกติอาศัยอยู่เฉพาะผิวหนังชั้นนอก ในชั้นที่เรียกว่าชั้นขี้ไคลเท่านั้น เมื่อมีปัจจัยบางอย่าง เช่น สภาพอากาศที่ร้อนชื้นมาก ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด ปริมาณและชนิดของไขมันบนผิวหนัง ทำให้เชื้อราเปลี่ยนรูปร่าง ทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนัง
สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเกลื้อน ได้แก่ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานมาก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ สอบถามอาการ ดูลักษณะและตำแหน่งของผื่นหรือรอยโรค โดยหากยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค
การรักษา
โรคเกลื้อนสามารถรักษาให้หายด้วยยาต้านเชื้อราในรูปแชมพู ครีม หรือยารับประทานก็ได้
- การใช้ครีมหรือเจลขจัดเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อรา มีพื้นที่เล็ก ๆ เป็นจุด อาจรักษาด้วยการทาครีมขจัดเชื้อรา วันละ 1 – 2 ครั้ง โดยไม่ต้องล้างออก
- การใช้แชมพูขจัดเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อรา เป็นผื่นกว้าง การทาแชมพูบริเวณที่ติดเชื้อราทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออก และทาซ้ำนาน 5 – 7 วัน ทั้งนี้อาจต้องผสมน้ำเพื่อให้เจือจางลงก่อนทา
- การใช้ยาต้านเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อราเป็นบริเวณกว้าง หรือการใช้แชมพูและครีมไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจได้รับยาชนิดรับประทานจากแพทย์ เป็นระยะเวลา 1 – 4 สัปดาห์
ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เกลื้อนจะค่อย ๆ หายและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยผิวหนังจะเริ่มกลับมาเป็นสีปกติภายในระยะเวลา 1 – 2 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นแต่อย่างใด ทั้งนี้การตากแดดบ่อย ๆ จะช่วยเร่งผิวที่เป็นรอยด่างให้กลับมาเป็นสีเดิมได้เร็วขึ้น
ส่วนในผู้ที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ และมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราให้รับประทาน 2 – 3 ครั้งต่อเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีก
ภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน
เกลื้อนไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพียงแต่จะทำให้ผิวหนังเกิดรอยด่างเป็นดวง ๆ แลดูไม่สวยงาม และอาจก่อให้เกิดความรำคาญในขณะที่มีอาการคัน โดยโรคเกลื้อนมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดเชื้อราเป็นประจำ ทุก 2 – 4 สัปดาห์ หรือวันละ 1 ครั้ง ในช่วง 2 – 3 วันก่อนออกไปทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอากาศร้อนนาน ๆ หรือทำให้มีเหงื่อออกมาก
แหล่งที่มา
- www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online
- www.pobpad.com
- www.medthai.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com