ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

โรคออฟฟิศซินโดรม

off disease

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เป็นที่ทราบกันว่า อาการปวดกล้ามเนื้อคอ หลังและไหล่ เป็นอาการที่เกิดได้ปกติ ในผู้ที่ออกกำลังกายแต่ขาดการอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ แต่ในปัจจุบัน อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้ที่ออกกำลังกายเท่านั้น ยังเกิดในผู้ที่ทำงานประจำ โดยเฉพาะงานในลักษณะที่ต้องนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ จึงเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจสำหรับหลายๆคนในวัยทำงาน

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถแบ่งแยกตามระบบของกระดูกและกล้ามเนื้อได้เป็น 9 ประเภท คือ กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofacial pain syndrome) เอ็นรัดข้อมืออักเสบและกดทับเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) เส้นประสาทตึงตัวผิดปกติ (Nerve tension) กล้ามเนื้อด้านนอกของแขนช่วงล่างอักเสบ (Tennis elbow) ปลอกหุ้มเส้นเอ็น ข้อมืออักเสบ (De Quervain’s tenosynovitis) นิ้วล็อก (Trigger finger) เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis) ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (Postural back pain) และหลังยึดในลักษณะแอ่นตัว (Back dysfunction)

ทั้งนี้ยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะตามความรุนแรง คือ

  • ระยะที่ 1 อาการเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หลังจากทำงาน แต่เมื่อได้นวด ยืดกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายก็หายได้
  • ระยะที่ 2 อาการปวดอักเสบคงอยู่ยาวนาน แม้จะนวด ยืดกล้ามเนื้อหรือนอนหลับพักผ่อนแล้ว ก็ยังรู้สึกปวดอยู่
  • ระยะที่ 3 อาการปวดไม่ทุเลาลงเลย ยังปวดมาก แม้จะทำงานเบาแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการอย่างรุนแรง มักมีอาการปวดกระบอกตา ตาแห้ง ตาพร่า หรือแสบตาง่าย เนื่องจากการจ้องคอมพิวเตอร์ยาวนาน ทำให้ดวงตากะพริบน้อยกว่า 20 ครั้งต่อนาที ทำให้เสี่ยงเป็นโรคตาแห้ง หรือ Dry eye syndrome ร่วมด้วย

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
มีอาการปวดเจ็บ พัก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็ไม่หาย มีแนวโน้มเป็นถี่ขึ้นจนกระทบกระเทือนการดำเนินชีวิตปกติ

 

สาเหตุ

ออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการอักเสบที่บริเวณเส้นประสาท กล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด ของอวัยวะส่วนที่ใช้งาน หรือมีการกดทับด้วยน้ำหนักที่มากกว่าปกติ เช่น นิ้วมือ ข้อมือ ลำคอ แขน และหลัง โดยมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 3 ประการ คือ

  • การทำงานในท่าเดิมอย่างต่อเนื่อง การอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เช่น โอเปอเรเตอร์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน นักธุรกิจออนไลน์ ฯลฯ ล้วนต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ยาวนานต่อเนื่องวันละมากกว่า 6 ชั่วโมงรวมถึงความเคยชินบางอย่าง เช่น นั่งไขว่ห้าง นั่งหลังค่อม ก้มหรือเงยคอมากเกินไป ทำให้เกิดการทิ้งน้ำหนักอย่างไม่สมดุล จึงเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมากกว่าอาชีพอื่น ๆ
  • การออกกำลังกาย โดยขาดการอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอ ปัจจุบันคนวัยทำงานหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง ขี่จักรยาน ไตรกีฬา (วิ่ง-ว่ายน้ำ-และปั่นจักรยาน) และอื่น ๆ การขาดการอบอุ่นร่างกายทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายที่เพียงพอ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้ง่าย
  • พฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้ขยับตัว ข้อนี้อาจคล้ายกับข้อแรก แต่จะไม่เกี่ยวกับการนั่งทำงาน เช่น การติดมือถือ การติดเกมออนไลน์ กีฬาอีสปอร์ต แม้เป็นวิธีคลายเครียดของคนที่ทำงานออฟฟิศจำนวนหนึ่ง แต่ก็เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจากกล้ามเนื้ออักเสบในระยะยาวได้

การรักษา

อาการออฟฟิศซินโดรมเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการพักสายตา ยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทได้ผ่อนคลาย โดยอาจทายาบรรเทาอาการได้ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้ ในระยะเริ่มต้น

แต่หากอาการรุนแรงปานกลางถึงมาก จำเป็นต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ข้อต่อต่าง ๆ และยาบรรเทาอาการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมการนั่งยืนเดิน ทั้งในและนอกเวลางาน

ในส่วนของการใช้ยานั้น แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ โดยมียาหลายรูปแบบ ให้เลือกใช้ได้ตามความสะดวก อาทิ

  1. ยาเม็ดแก้ปวดทั่วไป คือ ยาพาราเซตามอล เพื่อลดปวด-แก้ไข้ ที่มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบ
  2. ยาเม็ดแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants) ได้แก่ ยา Orphenadrine และยา Tolperisone ซึ่งมีผลข้างเคียง คือทำให้รู้สึกง่วง จึงต้องระวังการขับขี่ยานพาหนะ และเลี่ยงการทำงานที่ต้องมีความละเอียดหรือต้องตัดสินใจสูง
  3. ยาเม็ดแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ได้แก่ ยา Diclofenac, Naproxen, Piroxicam, Aspirin และ Indomethacin เป็นยาที่ต้องระวังการใช้ เนื่องจากมีโอกาสแพ้ยาสูง (มักมีอาการผื่นแดงคัน แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก) เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเป็นพิษต่อไตในระยะยาวได้
  4. ยาเม็ดแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroids) เป็นยาที่แก้ปวดอักเสบได้ดี แต่มีผลเสียมาก หากใช้ต่อเนื่อง เช่น เกิดอาการบวม กดภูมิคุ้มกันร่างกายทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นแผลหายช้า ฯลฯ
  5. ยาทาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นตัวยาเดียวกับ NSAIDs รูปแบบรับประทาน ในข้อ 3 เช่น ตัวยา Diclofenac ต้องระวังการแพ้ยาเช่นเดียวกัน
  6. ยาทาแก้ปวด ที่ไม่มีส่วนผสมของ ยากลุ่ม NSAIDs (ทำให้ลดโอกาสแพ้ได้) และสามารถใช้ทาได้บ่อย ๆ เนื่องจากออกฤทธิ์เฉพาะที่ โดยนิยมใช้ส่วนผสมจากน้ำมันระกำ (Methyl salicylate) และเมนทอล (Mentol) จึงทำให้มีทั้งสูตรร้อนและสูตรเย็น ให้เลือกใช้ได้ เช่น แบรนด์น้ำมันมวย เคาเตอร์เพน นีโอติก้าบาล์ม เป็นต้น
  7. แผ่นปิดแก้ปวด ตัวยาเดียวกับ ข้อ 6 แต่มีความสะดวกในการใช้ยิ่งขึ้น สามารถปิดแผ่นกาวตามร่างกาย เช่น ข้อมือ หลังคอ บ่า ไหล่ และหลัง เพื่อให้ออกฤทธิ์แก้ปวดอย่างยาวนาน 4 – 6 ชั่วโมง มีทั้งสูตรร้อนและเย็นเช่นกัน
  8. ยาทาแก้ปวดที่ทำจากสารสมุนไพร ผ่านการวิจัยระดับสากลมาแล้วว่าสามารถลดอาการปวดอักเสบในโรคออฟฟิศซินโดรมได้ เช่น สารสกัดจากเม็ดลำไย สารสกัดแคปไซซิน (Capsicin) จากพริก เป็นต้น

 

ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่รีบรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายเรื้อรังต่อกล้ามเนื้อและระบบประสาท (โดยเฉพาะที่นิ้ว ข้อมือและแขนแล้ว) ยังมีอาการแทรกซ้อนในระบบอื่น ๆ ตามมาอีกมาก เช่น อาการหูอื้อ หายใจไม่อิ่ม ปวดไมเกรน วูบหรือวิงเวียนบ้านหมุน ชามือและแขน แขนขาอ่อนแรง กระดูกสันหลังคด จนถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกดทับเส้นประสาท

รวมทั้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Chronic non-communicable diseases ,NCDs) อันได้แก่ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และมีพฤติกรรมการกินอาหารจุบจิบ ของทอด-มัน ขนมหวาน น้ำอัดลมและเครื่องดื่มต่าง ๆ มากขึ้น ในระหว่างการนั่งทำงานอยู่กับที่

นอกจากนี้ ออฟฟิศซินโดรมยังมีผลเสียต่อสุขภาพจิตด้วย มีการวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่มีอุปนิสัย “บ้างาน” หรือทำงานหักโหม นอกจากจะมีอาการทางกายของโรคออฟฟิศซินโดรมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคทางอารมณ์ หรือ โรคทางจิตเวชมากขึ้นได้ ราว ๆ 3 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น (Attenteion Deficit Hyperactivity Disorder, ADHD) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder, OCD) โรควิตกกังวล (Anxiety) โรคซึมเศร้า (Depression) โรคเครียด (Stress disorder) และโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ที่แสดงออกเป็นอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนเพลีย รู้สึกเมื่อยล้า ฯลฯ

 

การป้องกัน โรคออฟฟิศซินโดรม

การดูแลตนเองและแนะนำคนใกล้ชิด เพื่อป้องกัน “โรคออฟฟิศซินโดรม” ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. การไม่สวมรองเท้าส้นสูงโดยไม่จำเป็น เพราะทำให้การถ่ายเทน้ำหนักไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ในระยะยาวจะมีปัญหาที่กระดูกสันหลังได้ง่าย
  2. เช็คระดับเบาะเก้าอี้ ควรให้ต่ำกว่าเข่า และปรับพนักพิงให้พอดีกับหลัง หรือเสริมเบาะให้พอดีเมื่อนั่งทำงาน
  3. ปรับท่าทางทำงานทุก 20 นาที ด้วยการบิดตัวไปมา ลุกเดินไปดื่มน้ำ-เข้าห้องน้ำ ยืนแกว่งแขนทุก ๆ ชั่วโมง เป็นต้น
  4. การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น เมาส์คอมพิวเตอร์ควรเลือกแบบที่ใช้งานได้ถนัด ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ รวมถึงเม้าส์ปากกา ที่เหมาะกับงานแต่ละอย่าง รวมถึงการวางระดับจอคอมพิวเตอร์ ควรให้พอดีกับระดับสายตา ไม่ควรก้มหน้าหรือเงยหน้าเป็นเวลานาน
  5. วอร์มอัพกล้ามเนื้อ ด้วยท่าทางและเวลาที่เหมาะสมเพียงพอ ก่อนการออกกำลังกาย และคูลดาว์นหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง
  6. ไม่นอนพับแขน เพราะทำให้เกิดการกดทับกล้ามเนื้อคอ ไหล่ และทำให้กล้ามเนื้อที่หลังตึงอักเสบ

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก