ข้อปฏิบัติต้องรู้ เมื่อคุณหมอให้กลับบ้าน
ข้อปฏิบัติต้องรู้เมื่อคุณหมอให้กลับบ้าน สำหรับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ซึ่งนาน ๆ ครั้งจะเข้าโรงพยาบาลที พอถึงเวลาที่จะต้องออกจากโรงพยาบาล มีความกังวลใจว่า จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เราเรียบเรียงบทความจากจาก Health at home มานำเสนอให้ทุกท่านรู้สึกมั่นใจมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกจากโรงพยาบาล
1. ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร เข้าใจตรงกับแพทย์ไหม
ก่อนออกจากโรงพยาบาลทุกครั้ง ควรตรวจสอบกับแพทย์เจ้าของไข้ ถึงโรคที่เป็นทุกครั้ง เพราะหลายครั้งผู้ป่วยอาจมีหลายโรค หรือมีแพทย์หลายคนที่ร่วมดูแล การสื่อสารให้ชัดเจน จะทำให้การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ที่บ้านเป็นไปอย่างถูกต้อง
2. เตรียมความพร้อมของบ้านและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ประเมินว่าสิ่งแวดล้อมที่บ้านเหมาะสมกับระดับความหนักเบาของโรค ที่ผู้ป่วยเป็นไหม เช่น จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยพักที่ชั้นล่างของบ้านหรือเปล่า ต้องเพิ่มทางขึ้นลงแบบพื้นสโลปไหม อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแล เช่น เตียงผู้ป่วย วอล์คเกอร์ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ ที่นอนลม เป็นต้น
3. วิธีปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ที่บ้าน
กิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำขณะอยู่ที่บ้าน เช่น การกิน การนอน การเข้าห้องน้ำ การทำกายภาพบำบัด การให้อาหารทางสาย สิ่งเหล่านี้ผู้ป่วยโดยเฉพาะญาติผู้ป่วย ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี ว่าจะทำอย่างไร ทำที่ไหน ใครเป็นคนทำ เพราะการกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
4. ผู้ดูแลขณะอยู่ที่บ้าน
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ญาติ หรือครอบครัวผู้ป่วย ต้องพิจารณาความเหมาะสมของผู้ที่มารับผิดชอบ กรณีที่ญาติดูแลเองต้องมีการหาข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้อง กรณีที่ต้องจ้างผู้ดูแล ควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ประวัติอาชญากรรม ทักษะความสามารถ และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย
5. ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องป้องกัน
ควรทราบถึงสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงของการป่วย สิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการป่วยอีกครั้ง อย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงที่น้ำตาลจะสูง หรือต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจวายอาจต้องระวังปริมาณน้ำ และเกลือ
6. อาการสัญญาณเตือนของโรค คืออะไร
ควรรู้ว่าผู้ป่วยมีโรค และโรคร่วมอะไรบ้าง เมื่อมีอาการแล้วเบื้องต้นควรปฏิบัติอย่างไร มีความเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที การบันทึกข้อมูลประจำวันของผู้ป่วย เช่น สัญญานชีพ ระดับค่าน้ำตาล อาการทั่วไปในแต่ละวันจะช่วยให้เราติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด และจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ถ้ามีผู้ดูแลร่วมดูแลหลายคน
7. ยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทาน
จากสถิติพบว่า ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวเฉลี่ย 3 – 4 โรค และยาก็เป็นสิ่งที่ตามมา นอกจากนั้น ทุกครั้งที่นอนโรงพยาบาล แพทย์ก็มักสั่งยาเพิ่มเติมกลับบ้านมาด้วย ดังนั้น ผู้ดูแลจะต้องรู้จักยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยรับประทานให้ดี เช่น อะไร คือ อาการข้างเคียงของยา อะไร คือ อาการแพ้ยา เมื่อมีอาการเหล่านั้นควรปฏิบัติอย่างไร
8. วันนัดหมายกับแพทย์
ผู้ดูแลและญาติผู้ป่วย ควรตรวจสอบวันนัดหมายกับแพทย์ให้ถูกต้อง และต้องมีการตรวจสอบว่า ในวันนัดผู้ป่วยต้องมีการเตรียมตัวอะไรบ้าง เช่น ต้องงดน้ำงดอาหารเพื่อเจาะเลือดหรือไม่ และควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดไปให้แพทย์ดูทุกครั้ง
9. เบอร์โทรติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
ควรมีการรวบรวมเบอร์ติดต่อในกรณีที่ฉุกเฉินเอาไว้ เบอร์ของลูก หรือคนในครอบครัว (กรณีมีผู้ดูแลข้างนอกมาดูแล) เบอร์ของแพทย์ หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ และที่สำคัญ 1669 คือ เบอร์ติดต่อฉุกเฉินที่โทรได้ 24 ชั่วโมง
10. ประวัติการรักษา
ควรขอประวัติการรักษาของผู้ป่วย และผลทางห้องปฏิบัติการไว้เสมอ ในกรณีมีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ หรือในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ การมีประวัติการรักษา และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจช่วยลดการตรวจซ้ำซ้อนลงได้
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.medium.com
ภาพประกอบ: www.pexels.com