“ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร
“ไวรัส” คืออะไร ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร
ไวรัส (Virus) เป็นเชื้อก่อโรคขนาดเล็กมาก ต้องขยายนับแสนเท่าจึงจะมองเห็น มีโครงสร้างหลักเพียงสายพันธุกรรม DNA หรือ RNA หุ้มด้วยโปรตีน ลักษณะสำคัญคือ ไวรัสไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง การมีชีวิตและเพิ่มจำนวนของไวรัส จะเป็นลักษณะของการรุกรานเข้าไปภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น แล้วควบคุม ปรับเปลี่ยนกลไกต่าง ๆ ให้เซลล์นั้น ทำหน้าที่ช่วยให้ไวรัสแบ่งตัว เพิ่มจำนวนแบบทวีคูณ ต่อมาเซลล์ดังกล่าวค่อย ๆ ตายลง ไวรัสจะเคลื่อนย้ายเข้าไปยึดครองเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง ถ้าเซลล์ของอวัยวะนั้น ๆ ถูกทำลายไปจำนวนมาก จากเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส รวมทั้งปฏิกิริยาหรือภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิตที่ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อด้วย จะก่อให้เกิดโรคขึ้น
สำหรับเชื้อก่อโรคชนิดอื่น ๆ นอกจากไวรัส ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว พยาธิ เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งเซลล์ในการแบ่งตัวแบบไวรัส
“ไวรัส” เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้อย่างไร ทำให้เกิดโรคอะไรบ้าง
ไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางผิวหนังและเยื่อบุ ทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไวรัสจะเข้าไปในเซลล์ได้ต้องอาศัย “กุญแจจำเพาะที่จะไขเปิดประตูแต่ละบาน” ของเซลล์ได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสแต่ละแบบ แต่ละสายพันธุ์ ส่งผลให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ดีในอวัยวะที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดการก่อโรคในอวัยวะหรือในระบบที่แตกต่างกันด้วย ตัวอย่างเช่น ไวรัสในโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ไวรัสยังทำให้เกิดกาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออก โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส โรคพิษสุนัขบ้า ลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
โรคติดเชื้อไวรัสรักษาอย่างไร เหมือนหรือต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ หรือไม่
จากข้อก่อนหน้า ไวรัสจะรุกราน อาศัยและเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น คล้ายกับเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเอง จึงเป็นการยากในการค้นคว้าหายาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโดยไม่กระทบเซลล์ปกติ ขณะเดียวกันไวรัสชนิด RNA ยังกลายพันธุ์เก่งเพื่อเอาตัวรอดจากยาได้ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การก่อโรคของไวรัสหลายชนิดค่อนข้างช้า จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตื่นตัวและสร้างแอนติบอดีและภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ มาทำลายเชื้อและเซลล์ติดเชื้อ ทำให้โรคติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่หายได้เอง
การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสในปัจจุบัน จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการในโรคที่หายได้เอง เช่น การให้ยาลดไข้ ลดน้ำมูก ลดการไอ ลดการอักเสบ เป็นต้น ส่วนการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งมีใช้อยู่ในบางโรคที่ก่อโรครุนแรง เช่น ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาต้านไวรัสตับอักเสบ B และ C ยาต้านไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการทำลายเชื้อหรือยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อในเซลล์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลงและหายจากโรคได้ ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา จะช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่รุกรานร่างกายโดยตรงได้ด้วย แต่เชื้อไวรัสบางชนิดก็ยังกบดานหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ได้ เช่น ไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสเริ่ม เป็นต้น ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นมาก่อโรคได้อีกเมื่อไม่ได้กินยาต้านไวรัส
ภูมิคุ้มกันของร่างกายคืออะไร ทำไมถึงจัดการกับไวรัสได้
ระบบภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งในระบบหลัก ๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดไม่ให้สิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดโรค ประกอบด้วย 2 ระบบย่อยทำงานประสานกันคือ ระบบภูมิคุ้มกันทั่วไปและภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ โดยการกำจัดไวรัสแบบจำเพาะนั้น ร่างกายต้องใช้เวลาระหว่าง 1 – 7 วัน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเร่งผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เพื่อสร้างแอนติบอดี ที่มีความสามารถในการเข้ากำจัดเชื้อไวรัสชนิดที่รุกรานเซลล์โดยตรง และมีการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์เพื่อไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ รวมทั้งการสร้างเซลล์ความจำให้จำไวรัสได้และพร้อมที่จะผลิตภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ ออกมาต่อต้านเชื้อไวรัสตัวเดิมเมื่อถูกรุกรานอีก อย่างไรก็ตาม การสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะจะทำได้ดีและมีประสิทธิภาพเมื่อร่างกายของผู้รับเชื้อมีความแข็งแรงเพียงพอด้วย
วัคซีนต้านไวรัส (Antiviral vaccines) สำคัญและมีบทบาทอย่างไรในการป้องกันโรคจากไวรัส
จากการที่ภูมิต้านทานของร่างกายแบบจำเพาะ ต้องรอให้ไวรัสรุกราน และอาศัยระยะเวลาหนึ่ง ถึงจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับที่จัดการกับเชื้อไวรัสได้ ในระหว่างนั้นผู้ติดเชื้ออาจเสี่ยงหรือเป็นโรคไปแล้ว
วัคซีนจึงเข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่ เสมือนไวรัสเทียมที่รุกรานเข้ามาในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับเชื้อไวรัสหรือตำแหน่งตรงผิวไวรัสที่เป็น “กุญแจจำเพาะ” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงต่อตำแหน่งที่ผิวไวรัสชนิดนั้น ๆ ขึ้นมา ก่อนที่ร่างกายจะติดเชื้อจริง เมื่อมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือการฉีดครบโดส ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่รุกรานจะขึ้นสูงพอที่จะต่อสู้กับไวรัสตัวจริงที่อาจรุกรานร่างกายในอนาคต
ทั้งนี้วัคซีนบางชนิด อาจมีการแนะนำให้ฉีดทุกปี เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันให้สูงพอ และเพื่อให้มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อที่ระบาดในปีนั้น ๆ
ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs) มีบทบาทอย่างไร
ปัจจุบันยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรงเป็นยาที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสทั้งในเซลล์และห้ามเชื้อมิให้หลุดออกมาจากเซลล์หรือเข้าไปในเซลล์ได้ใหม่ ยาต้านไวรัสชนิดต่าง ๆ จึงถูกพัฒนาเพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย ทำให้อวัยวะที่ติดเชื้อไม่ถูกทำลายต่อไปและหยุดยั้งการดำเนินโรคหรือปฏิกิริยาที่รุนแรงมากกว่าปกติจากภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการติดเชื้อ ทำให้มีเวลาเพียงพอที่จะสร้างภูมิต้านทานแบบจำเพาะต่อไวรัสที่รุกรานและโรคไม่กำเริบได้ การมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงจะเป็นอีกทางเลือกในการที่แพทย์จะนำมาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากไวรัส และป้องกันการติดเชื้อในคนปกติ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสได้
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19 | โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้ | ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ | ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง | การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง | การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง | ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : ศ.เกียรติคุณ นพ. อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภาพประกอบ : www.freepik.com