กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (overactive bladder หรือ OAB) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ การปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน ไม่สามารถรอหรือกลั้นได้ โดยอาจจะมีภาวะปัสสาวะเล็ดหลังอาการดังกล่าว รวมด้วยหรือไม่ก็ได้ ทำให้ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำอย่างเร่งรีบหลาย ๆ ครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำ เป็นปัญหาที่พบบ่อย ที่สร้างความกังวลและความยุ่งยากในการชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง
OAB เป็นภาวะที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มีแนวโน้มจะพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างเหมาะสม
อาการ
อาการที่พบบ่อย
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder, OAB) เป็นกลุ่มอาการเรื้อรังที่ประกอบด้วย
- ปวดปัสสาวะเฉียบพลัน โดยรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาอย่างฉับพลัน รอต่อไม่ได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาการนี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีน้ำปัสสาวะเพียงเล็กน้อยในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะออกมาไม่มาก
- ปัสสาวะบ่อย มักมีการถ่ายปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้งในตอนกลางวัน และมากกว่า 1 ครั้ง ในตอนกลางคืน
- บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา จากการปวดปัสสาวะเฉียบพลัน และเข้าห้องน้ำไม่ทันเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์
ถึงแม้ว่าภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน การเดินทาง อื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษา เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
สาเหตุ
ในระบบขับถ่ายปัสสาวะนั้น เมื่อไตผลิตน้ำปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะไหลผ่านท่อไตมาเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ โดยรอยต่อระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะจะมีชุดกล้ามเนื้อที่ทำงานเป็นหูรูดเปิดปิดการไหลของน้ำปัสสาวะ หูรูดนี้จะถูกควบคุมโดยระบบประสาท โดยเมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะมาก และอยู่ในสถานที่ที่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ สมองจะสั่งงานให้หูรูดคลายตัว กระเพาะปัสสาวะบีบตัวให้การขับปัสสาวะเป็นไปอย่างปกติ
ในผู้ที่มีภาวะ OAB จะมีความผิดปกติของสัญญาณดังกล่าว ทำให้มีการการคลายตัวของหูรูดอย่างเฉียบพลัน อาจรวมถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทั้งที่น้ำในกระเพาะปัสสาวะอาจยังไม่เต็มความจุ สาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจส่งผล ดังนี้
- โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคของระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและท่อปัสสาวะมีการทำงานที่ผิดปกติ
- กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะเองมีการทำงานที่ผิดปกติ
- ความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณ จากการมีอายุที่เพิ่มขึ้น
- การรับประทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
- การรับประทานเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยภาวะ OAB ได้โดยการสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติทางสูตินรีเวชในผู้หญิงร่วมกับการตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ได้แก่
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อหรือมีเม็ดเลือดแดงในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แยกโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันออกไปได้
- การทำบันทึกเวลาปัสสาวะ (Voiding diary) เพื่อดูความถี่ปริมาณ และอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมา และกิจกรรมขณะนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ว่าดื่มเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไร และปริมาณน้ำปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะสามารถกลั้นอยู่ได้
- การตรวจวัดปัสสาวะตกค้างหลังถ่ายปัสสาวะ เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าซาวด์ หรือเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่ตกค้างเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจยูโรไดนามิกส์ (Urodynamics) ในผู้ป่วยบางราย และในบางสถานพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาตรวจยูโรไดนามิกส์ เพื่อตรวจดูว่ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง หรือมีปัสสาวะตกค้างหลังขับถ่ายหรือไม่
การรักษา
การรักษากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีหลายวิธี ทั้งนี้การรักษามักเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยจะทำให้อาการลดลง ในบางรายถึงขั้นอาการดีขึ้นจนหายไปเลย หลังจากนั้นจึงพิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่าง เช่น
- ลดปริมาณการดื่มน้ำ โดยเฉพาะการดื่มน้ำก่อนเข้านอน และการลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา น้ำอดลม โซดา น้ำผลไม้ และแอลกอฮอล์
- ฝึกกลั้นปัสสาวะ โดยพยายามยืดระยะระหว่างการเข้าห้องน้ำในแต่ละครั้งให้นานขึ้น เช่น จากทุก 1 ชม. ยืดออกเป็น 2 หรือ 3 ชม. ก่อนเข้าห้องน้ำในครั้งถัดไป
- ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise) จะทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดส่วนนอกของท่อปัสสาวะมีการหนาตัวและแข็งแรงมากขึ้น โดยการบริหารดังกล่าวจะเพิ่มแรงต้านในท่อปัสสาวะให้สูงขึ้น มี reflex ไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และป้องกันปัสสาวะไม่เล็ดราดได้อีกด้วย
- การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด หลักๆเป็นยาช่วยคลายหรือลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ 2 กลุ่ม คือ ยากลุ่ม Anticholinergic Drug อาจมีผลข้างเคียง คือ ปากแห้ง ตาแห้ง ปัสสาวะค้าง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ท้องผูก การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป และยากลุ่ม Beta 3-adrenoceptor agonist อาจมีผลข้างเคียง คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้น จนบางครั้งสามารถหยุดยาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายยังจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปในระยะยาวเพื่อควบคุมอาการต่างๆ
- การรักษาด้วยวิธีอื่น กรณีการรักษาโดยวิธีข้างต้นไม่หาย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลได้
- การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum toxin) เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ โดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวและอาการปวดปัสสาวะฉับพลันลดลง โดยยาจะให้ผลการรักษาประมาณ 5-9 เดือน จากนั้นอาจต้องฉีดซ้ำหากจำเป็น วิธีนี้สามารถพิจารณาในผู้ป่วยที่ทานยาไม่ได้ผล หรือต้องการลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารับประทาน อย่างไรก็ตามยาตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการปัสสาวะไม่ออกได้
- การใช้อุปกรณ์ปรับสมดุลระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ (Neuromodulator) โดยการฝังเข็ม การใช้แผ่นแปะเพื่อส่งกระแสไฟฟ้า หรือการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดจะทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
- การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเพิ่มความจุในการเก็บน้ำปัสสาวะ แต่มีผลข้างเคียงหลายด้าน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเพิ่มเติม
ข้อแนะนำและการป้องกัน
- ควรควบคุมปริมาณการดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ให้มากเกินไป
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย เช่น กาแฟ น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้ เครื่องดืมแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อย จนรบกวนคุณภาพการนอนหลับได้
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันท้องผูกซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้น และทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากลดอาการท้องผูกได้ ปัญหาของการปัสสาวะจะลดน้อยลง
- ฝึกกลั้นปัสสาวะหรือฝึกกำหนดเวลาในการขับถ่ายปัสสาวะ
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำ หรืออย่างน้อย ๆ ต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์ เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น
แหล่งข้อมูล : www.mayoclinic.org www.si.mahidol.ac.th www.bumrungrad.com International Urogynecological Association (IUGA). Overactive bladder: A Guide for Women. 2011.
ภาพประกอบ : www.freepik.com