โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย โดยพบบ่อยเป็นอันดับสองในชายไทย และ พบบ่อยเป็นอันดับสี่ในหญิงไทย โดยมีการประมาณว่าผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นโรคมะเร็งปอดรายใหม่ปีละสองหมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ แปดพันกว่าคนในปี พ.ศ.๒๕๕๐ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือการสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่มีรายงานไว้คือ การอาศัยหรือทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศ
อาการที่ชวนสงสัย
ไอเรื้อรังนานกว่าสามสัปดาห์ ไอแล้วมีเลือดปนออกมากับเสมหะ เสียงแหบ โดยเฉพาะยิ่งในบุคคลที่สูบบุหรี่ อาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยเช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ท่านที่มีอาการเช่นนี้ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าท่านจะเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่
การตรวจวินิจฉัยโรค
ภาพถ่ายรังสีปอด พบว่ามีก้อนในปอด (ดังรูปที่แสดง) หรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
แต่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายคือ การตรวจพบเซลล์มะเร็งจากเสมหะ หรือ จากการเจาะน้ำในช่องปอด การตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอไปตรวจ หรือ การส่องกล้องหลอดลมเพื่อตัดชิ้นเนื้อจากหลอดลม
นอกจากนี้แพทย์จะส่งตรวจพิเศษอื่นๆอีกเพื่อประเมินระยะของโรค เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ปอดและช่องท้องส่วนบน ตรวจหามะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก (Bone scan)
การวางแผนการรักษา
วิธีรักษาโรคมะเร็งปอดมีวิธีหลักอยู่สามวิธี คือ ผ่าตัด ฉายรังสี และการรักษาด้วยยา แพทย์จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น
- ระยะที่หนึ่ง และระยะที่สอง ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายขาดได้สูง ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยวิธีผ่าตัด แต่ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรงพอที่จะผ่าตัดได้ แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาโดยวิธีการฉายรังสีแทน
- ส่วนระยะที่สาม อาจเลือกได้หลายรูปแบบ เช่น ให้ยาเคมีบำบัดไปก่อน เมื่อโรคยุบดีค่อยผ่าตัด แต่ถ้าไม่ค่อยยุบอาจเปลี่ยนไปใช้วิธีฉายรังสี หรือ แพทย์อาจแนะนำให้ยาเคมีบำบัดไปพร้อมๆกับการฉายรังสีตั้งแต่แรก
- ระยะที่สี่ ถ้ามีร่างกายแข็งแรง แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งแม้จะไม่หายขาดแต่อาจช่วยให้ก้อนเนื้อยุบเล็กลง ทำให้มีอาการดีขึ้น และอาจช่วยเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตให้ยาวนานขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมียาใหม่หลายชนิด ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ายาเก่าและมีอาการข้างเคียงที่น้อยกว่าให้เลือกใช้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ แพทย์อาจแนะนำแค่รักษาตามอาการ
พ.อ. ผศ. กสานติ์ สีตลารมณ์
แพทยศาสตร์บัณฑิต วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ อายุรศาสตร์ทั่วไป
อ.ว. อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com