ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

หลอดลมอักเสบ

หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบที่เยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นทางผ่านของอากาศเข้าไปยังปอด กระบวนการอักเสบส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมมีการบวมและหนาตัว  มีการปล่อยสารคัดหลั่งเป็นมูกเหนียวออกมามากขึ้น สารคัดหลั่งจะไปอุดตันทางเดินหายใจ ขวางทางเดินของอากาศ อาการหลักของผู้ป่วยคืออาการไอ นอกจากนั้นอาจพบอาการหายใจไม่สะดวก เหนื่อย หายใจมีเสียงดัง และมีเสมหะร่วมด้วย

 

ประเภทของหลอดลมอักเสบ

ภาวะหลอดลมอักเสบ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ดังนี้

  1. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis)1 เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม อาการมักเป็นแบบชั่วคราวและสามารถหายได้เองในระยะเวลาหลักวันหรือสัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะ โดยอาการไออาจยาวนานถึง 2 – 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัส โดยพบว่าเพียงแค่ประมาณ 1-10% เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
  2. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis)2 หลอดลมอักเสบเรื้อรังเป็นภาวะที่ค่อนข้างร้ายแรงกว่าหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง โดยอาจไอนานกว่า 3 เดือน ในแต่ละช่วงของปี และมีอาการติดต่อกันนานกว่า 2 ปี ผู้ป่วยจะมีการอักเสบที่ผิวเยื่อบุในหลอดลม ซึ่งเป็นผลมาจากสารที่สร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุในหลอดลมอย่างต่อเนื่อง เช่น สารพิษในควันบุหรี่ หรือจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยจะมีการหลั่งเมือกและเสมหะออกมาค่อนมาก เสมหะจะเหนียวข้น และกำจัดได้ยาก จนอาจปิดกั้นหลอดลม ทำให้มีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย และอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหลอดลมอักเสบเรื้อรังมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • สาเหตุของหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ประมาณเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และมักเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อินฟลูเอนซ่า ชนิด เอ และ บี (Influenza A and B), พาราอินฟลูเอนซ่า (Parainfluenza), โคโรไวรัส (Coronavirus), อะดีโนไวรัส (Adenovirus), และไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นต้น
    .
    ส่วนน้อยที่หลอดลมอักเสบเฉียบพลันอาจมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma), คลาไมเดีย นิวโมนิเอ (Chlamydia pneumonia), สเตรปโตคอคคัท นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumonia), โมแรกเซลล่า คาทาราลิส (Moraxella catarrhalis), ฮิโมฟิลลุส อินฟลูเอนซ่า (Haemophilus influenza), บอร์ดาเทลเลีย เพอร์ทัสสีส (Bordatelia pertussis) โดยการติดเชื้อแบคทีเรียมักเป็นเชื้อแทรกซ้อนที่พบในผู้สูงอายุ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเด็กเล็ก
    .
    หลอดลมอักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วยบางราย มีสาเหตุจากสารที่สร้างความระคายเคืองให้ทางเดินหายใจ ได้แก่ ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง ควันไอเสียรถยนต์ หรือน้ำย่อยที่ขย้อนขึ้นมาในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
    .
  • สาเหตุของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เกิดจากสารพิษหรือสารที่สร้างความระคายเคืองให้ทางเดินหายใจ ที่เรารู้จักกันดีคือสารพิษในบุหรี่ โดยจะทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอด สาเหตุอื่น เช่น มลพิษในอากาศ ฝุ่น ควันไฟ สารเคมีที่ฟุ้งกระจายในอากาศ เป็นต้น
    .
    นอกจากนี้ภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรังอาจพบได้ใน ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้เป็นเวลานาน และคนที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย ๆ ในช่วงวัยเด็ก

 

อาการ

ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบมีอาการไอเป็นอาการหลัก ร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการสำคัญของภาวะหลอดลมอักเสบเฉียบพลันคือ อาการไอ ในวันแรก ๆ ผู้ป่วยจะไอและมีเสมหะเพียงเล็กน้อย เสมหะจะใสหรือเป็นสีขาว อาจพบอาการของโรคหวัดร่วมด้วย เช่น การมีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะโดยอาจพบว่ามีไข้ได้ในวันแรก ๆ โดยเป็นที่น่าสนใจว่าแม้เสมหะจะข้นเป็นสีเหลืองเขียวปนก็ไม่ได้บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียเสมอไป3 อาการไออาจอยู่ได้นานกว่า 2 – 3 สัปดาห์ บางคนอาจไอมากจนเจ็บหน้าอก มีอาการหายใจเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด และอาจมีเสียงแหบได้
  • อาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรังคือ อาการไอและมีเสมหะอย่างเรื้อรัง ไอนานกว่า 3 เดือน และติดต่อกันนานกว่า 2 ปี ในระยะแรกจะมีสีเสมหะสีขาว และมักมีเสมหะออกมามากในช่วงตื่นนอน จนหลายคนต้องขากเสมหะในตอนเช้า ในระยะต่อมาผู้ป่วยจะไอมากขึ้นและมีเสมหะมากขึ้นตลอดวัน เสมหะอาจเป็นสีเหลืองเขียว หายใจมีเสียงหวีด หายใจเหนื่อย หายใจไม่ทันโดยเฉพาะเวลาออกแรกมาก โดยพบว่าหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นลักษณะของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease; COPD) ชนิดหนึ่ง

 

การวินิจฉัย 

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหลอดลมอักเสบจากการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยซักประวัติอาการ การไอ ลักษณะเสมหะ ช่วงเวลาไอ ระยะเวลาที่ไอหรือมีเสมหะ ประวัติการสูบบุหรี่ การได้รับสารพิษที่อาจสร้างความระคายเคืองทางเดินหายใจ สถานที่อยู่ อาชีพ ประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจ และโรคร่วมอื่นๆ

การตรวจร่างกาย โดยใช้อุปกรณ์หูฟัง (Stethoscope) ฟังปอดจากการหายใจของผู้ป่วย หรืออาจตรวจเพิ่มเติม โดยตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ตรวจเพาะเชื้อจากเลือดหรือเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด (Pulmonary function test หรือ Spirometry) ทั้งนี้ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์

 

การรักษา

โรคหลอดลมอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง สามารถรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

  • การรักษาหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจและทำให้ไอมากขึ้น เช่น อากาศเย็น ฝุ่น ควัน เป็นต้น
    .
    แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ หรือยาละลายเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีอาการไอ หรือมีเสมหะเหนียวข้นระคายคอ ยาลดไข้ในผู้ป่วยที่มีไข้ ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูกในผู้ป่วยที่มีน้ำมูก ส่วนน้อยที่จะเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ จึงแนะนำว่าควรพยายามหลีกเลี่ยงถ้าไม่จำเป็น โดยข้อมูลพบว่าการให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ลดระยะเวลาการไออย่างมีนัยสำคัญ และพบว่าอาจเพิ่มโอกาสของเชื้อที่จะดื้อยาและผลข้างเคียงจากการได้รับยาปฏิชีวนะ1 เนื่องจากส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงแนะนำให้รักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสตามความจำเป็น นอกจากนั้นถ้าแพทย์ตรวจพบว่ามีเสียงปอดที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ อาจพิจารณาให้ยาพ่นขยายหลอดลม แต่ต้องระวังผลข้างเคียง เช่น อาการใจสั่น มือสั่น เป็นต้น
    .
    โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนไข้ไต เบาหวาน จะมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนและเกิดโรคที่รุนแรงขึ้น เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด และรีบพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงขึ้น.
  • การรักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง2 โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้รุนแรงได้ ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรังควรเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลอดลมอักเสบ และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ หรือมลพิษที่เป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ รักษาประคับประคองตามอาการโดยใช้ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาพ่นขยายหลอดลม ยาพ่นกลุ่มสเตียรอยด์ พบว่าภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หากปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกต้อง จะมีการอักเสบและทำลายหลอดลมต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการลดลงของสมรรถภาพปอด พัฒนาเป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอย่างเด็ดขาด เพื่อช่วยชะลอและควบคุมการดำเนินของโรค

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

ข้อแนะนำ

  1. หลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักเกิดหลังจากป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และถึงแม้เชื้อก่อโรคจะถูกกำจัดไปแล้ว แต่ผู้ป่วยมักจะยังมีอาการไอเรื้อรังต่ออีกเป็นเดือน ซึ่งเกิดเนื่องจากหลอดลมที่ถูกกระตุ้นจากกระบวนการอักเสบ จะยังมีความไวต่อสารที่มากระตุ้น เช่น ควัน ฝุ่น ลม อากาศเย็น มากกว่าปกติ ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
  2. ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันควรพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ดื่มน้ำสะอาด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  3. ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด และรีบมาพบแพทย์เมื่ออาการแย่ลง เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป
  4. ผู้ป่วยที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้กลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอมีเลือดปน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
  5. ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรังที่มีอาการในระยะเริ่มแรก ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุและควรเลิกสูบบุหรี่ เพื่อรักษาสภาพหลอดลมและปอด ไม่ให้ถูกทำลายไปจนส่งผลต่อสมรรถภาพปอดในระยะยาว
  6. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าคลินิกเลิกสูบบุหรี่
  7. ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ควรรับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วน และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

.
การป้องกัน

  1. เลิกสูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีมลภาวะ เช่น ควัน ละออง สารเคมี และควรใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานเมื่อจำเป็นต้องอยู่ในมลภาวะเป็นเวลานาน
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หรือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อนิวโมคอกคัส โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ โรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
  6. ใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานเมื่อต้องอยู่สภาวะที่อาจมีการระบาดของโรคติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ


เอกสารอ้างอิง
 

  1. Kinkade S, Long NA. Acute Bronchitis. Am Fam Physician. 2016;94(7):560-5.
  2. Kim V, Criner GJ. Chronic bronchitis and chronic obstructive pulmonary disease. Am J Respir Crit Care Med. 2013;187(3):228-37.
  3. Altiner A, Wilm S, Däubener W, et al. Sputum colour for diagnosis of a bacterial infection in patients with acute cough. Scand J Prim Health Care. 2009;27(2):70-3.


ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

รศ.พญ. นฤชา จิรกาลวสาน

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง นฤชา จิรกาลวสาน จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับ American Board of Internal Medicine, American Board of Pulmonary Medicine, American Board of Critical Care Medicine และ American Board of Sleep Medicine ขณะนี้เป็นอาจารย์ประจำ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความสนใจในเรื่อง โรคหืด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก