ช็อปปิ้งยังไง…สุขภาพยังดี
สำหรับสาว ๆ ทั้งหลาย การช็อปปิ้งถือเป็นกิจกรรมแสนสนุกและโปรดปรานตลอดกาล บางคนสามารถเดินช็อปปิ้งได้นาน ๆ อย่างไม่รู้เบื่อจนหลงลืมเวลา พอรู้ตัวอีกทีก็ปวดเมื่อยไปทั้งร่างกาย และเมื่อกลับบ้าน บางคนก็ต้องตกใจกับจำนวนเงินที่จ่ายไป เมื่อเห็นของสวย ๆ งาม ๆ วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการช้อปปิ้งที่ดีต่อร่างกาย จิตใจ และกระเป๋าเงินด้วยมาฝากกัน
- เตรียมตัวก่อนไปช็อปปิ้งด้วยการนอนหลับให้เต็มอิ่ม กินอาหารรองท้องไปบ้าง ถ้าไม่อยากรู้สึกโหย แม้คุณจะวางแผนไปนั่งสั่งอาหารอร่อย ๆ ที่ร้านสวย ๆ ซึ่งหมายตาไว้ก็ตาม
- สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่ใส่สบายและคล่องตัว เลือกคัชชูหรือรองเท้าแตะที่ใส่แล้วไม่เมื่อยเท้า หรือจะสวมรองเท้าผ้าใบเลยก็ตามสะดวก
- สาว ๆ ที่หิ้วกระเป๋าใบยักษ์เป็นประจำ เมื่อไปช้อปปิ้งควรเปลี่ยนกระเป๋าใบเล็ก ใส่ของที่จำเป็นอย่างกระเป๋าเงิน โทรศัพท์มือถือ และกุญแจรถเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าคุณจะต้องหิ้วถุงเพิ่มอีกหลายชิ้น
- ใช้รถเข็นที่ห้างสรรพสินค้ามีไว้ให้บริการ คุณจะได้ไม่ต้องหิ้วถุงหนัก ๆ เอง และยังดูออกได้ง่ายด้วยว่าซื้ออะไรไปแล้วบ้าง แถมยังไม่เสี่ยงกับการที่ถุงจะขาดอีกด้วย
- หากต้องหิ้วถุงเอง พยายามอย่าหิ้วถุงด้วยมือข้างเดียวนาน ๆ หรือหิ้วถุงหนักเกินไป ใช้บริการฝากของถ้ารู้สึกว่าเริ่มมีถุงมากเกินจะถือเองไหว
- จดรายการของเบื้องต้นที่อยากซื้อและงบประมาณสำหรับวันนั้น ไม่มีอะไรแย่เท่าการช็อปปิ้งจนหมดตัวแล้วต้องอดต่อไปทั้งเดือน แม้ว่าคุณมีทุนเพื่อช้อปปิ้งเหลือเฟือ การตั้งงบประมาณก็เป็นวิธีที่ดีเพื่อฝึกตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินไป
- พยายามใช้เงินสดเท่าที่มี ใช้บัตรเครดิตให้น้อยที่สุด เพราะในการจ่ายเงินสดคุณจะรู้สึกถึงเงินที่จ่ายไปมากกว่าการรูดบัตร ป้องกันการซื้อสินค้าราคาแพงเกินไปหรือไม่จำเป็นได้
- เปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้า สิ่งสำคัญที่สุดควรอยู่ที่ความจำเป็น ความมีประโยชน์ ความทนทาน ความคุ้มราคา ความสวยงาม และความถูกใจ บางอย่างที่คิดว่าซื้อมาแล้วจะถูกซุกอยู่ในตู้เฉย ๆ ก็อดใจรอไว้ก่อน เพราะคุณอาจไม่ต้องการมันจริง ๆ ก็ได้
- ชวนเพื่อนที่มีเหตุผลในการใช้เงินไปด้วย เผื่อเพื่อนจะได้ช่วยดึงสติตอนคุณอยากได้ของที่ไร้เหตุผลหรือแพงเกินไป และเพื่อนยังช่วยคุณสำรวจข้อบกพร่องของสินค้า และเป็นนักวิจารณ์ส่วนตัวได้ด้วยว่าชุดที่คุณซื้อเหมาะกับตัวคุณแค่ไหน
- อย่าเห็นแก่ของแถมหรือของลดราคา คิดให้ดีว่าเมื่อซื้อมาแล้วจะได้ใช้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ อย่าซื้อ
- อย่าลืมต่อรองราคาหรือถามเกี่ยวกับส่วนลดพิเศษด้วย บางร้านแม้พนักงานลดราคาให้เองไม่ได้ แต่มีส่วนลดพิเศษสำหรับลูกค้าประจำหรือเงื่อนไขพิเศษแบบต่าง ๆ สำหรับบัตรเครดิต
- เก็บใบเสร็จไว้เสมอ เผื่อสินค้ามีปัญหา ถ้ายังไม่รีบใช้ อย่าเพิ่งแกะป้ายราคาออก เผื่อเปลี่ยนใจอยากขายต่อภายหลัง
- เมื่อแวะนั่งที่ร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่ถูกใจ พยายามสั่งอาหารที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มแต่น้อย เพราะคุณคงไม่อยากช็อปปิ้งต่อหลังจากนั้นแบบสติครึ่ง ๆ กลาง ๆ
- กำหนดเวลาช็อปปิ้งไว้คร่าว ๆ บางคนเผลอตัวช็อปปิ้งหนักเป็นวันๆ ผลคือต้องปวดหลัง ปวดเอว ปวดแขน บ่า ไหล่ ไปอีกนาน ถ้าจำเป็นต้องใช้เวลานาน ๆ ควรหาเวลานั่งพักผ่อนเป็นระยะ นั่งจิบชากาแฟในร้านน่ารัก ๆ หายเหนื่อยแล้วค่อยลุยต่อก็ยังได้
ด้วยเคล็ดลับต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ คงช่วยให้ขาช็อปแหลกมีแนวทางการช็อปปิ้งที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจขึ้น ลองหาวิธีที่เหมาะกับตัวคุณเอง หาเคล็ดลับส่วนตัวให้เจอ เพื่อจะกลายเป็นสาวนักช็อปที่มีเหตุผล ร่างกายไม่พังหลังออกตะลุยช็อป และจิตไม่ตกหลังจากกลับถึงบ้าน
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.betterhealth.vic.gov.au
ภาพประกอบ : www.unsplash.com