ยาเสื่อมสภาพรู้ได้อย่างไร
ยาเสื่อมสภาพรู้ได้อย่างไร เมื่อผู้ป่วยได้รับยาจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยา ก็มักจะเข้าใจว่ายาดังกล่าวสามารถใช้ได้ตราบเท่าที่ยังไม่หมดอายุ แต่ในความเป็นจริงยาอาจมีคุณลักษณะ (เช่น รูปร่าง สี กลิ่น รสชาติ) คุณภาพ (เช่น ปริมาณตัวยาสำคัญ สารเจือปน) หรือประสิทธิผลการรักษา ที่แตกต่างไปจากตอนที่ผลิตออกมาใหม่ ๆ
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง) หรือการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ยาเสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
การเสื่อมสภาพของยาเกิดขึ้นได้ใน 3 ลักษณะ คือ
- การเสื่อมสภาพทางเคมี ได้แก่ การลดลงของปริมาณตัวยาสำคัญ และการเพิ่มขึ้นของสารสลายตัว
- การเสื่อมสภาพทางกายภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของรูปร่าง สี กลิ่น รสชาติ ความใสหรือขุ่น หรือการเกิดตะกอน
- การเสื่อมสภาพทางจุลชีววิทยาได้แก่ การปนเปื้อนของเชื้อเกินระดับปลอดภัย
การเสื่อมสภาพของยาทั้งสามลักษณะมีความเกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มขึ้นของสารสลายตัวอาจทำให้กลิ่น รสชาติของยาเปลี่ยนไป หรือก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะนำยาที่เสื่อมสภาพมาบริโภค
การตรวจสอบการเสื่อมสภาพของยามักทำในห้องปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การเสื่อมสภาพทางกายภาพบางประการเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้เอง บทความนี้จึงขอเสนอข้อแนะนำเบื้องต้น ในการสังเกตการเสื่อมสภาพของยาทางกายภาพเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ยาอย่างปลอดภัย
ผู้เขียน : ศ.ดร.ภญ. ลีณา สุนทรสุข. ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2559. “ยาเสื่อมสภาพรู้ได้อย่างไร”. (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก : http://the-toast.net , http://powertotheparent.org