โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Ischemic heart disease) เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการแน่นหน้าอกเป็นครั้งคราว เช่น ขณะโกรธจัด รีบจัด เครียด หรือออกกำลังกาย เรียกอาการแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดว่า Angina pectoris โดยหากปล่อยไว้ไม่ได้ทำการรักษา อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรุนแรงจากการที่เลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอกรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย และหากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลันทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ตามมาได้
โรคนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุมากขึ้นจะมีโอกาสพบมากขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดำเนินชีวิตที่ขาดกิจกรรมเคลื่อนไหว ขาดการใส่ใจในการกินอาหาร และออกกำลังกายไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงมากกว่าในผู้ที่มีการเคลื่อนไหว กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม
อาการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
กรณีที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงกลางอก โดยอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ซ้าย ด้านในของแขนซ้าย บางครั้งอาจปวดร้าวไปคอจนถึงขากรรไกรล่างได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่เกิด 10 นาที อาการจะทุเลาหายไปเมื่อได้พัก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเหมือนแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย
กรณีที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงกลางอก เช่นเดียวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่จะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่า แม้ว่าได้พักอาการก็จะไม่หายไป ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเหงื่อออกมาร่วมด้วยได้ ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการหอบเหนื่อย จากภาวะหัวใจวายหรือเกิดภาวะช็อก โดยจะมีเหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเต้นเบาหรือ ความดันโลหิตตก ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตในทันทีได้
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มีหลายสาเหตุ สาเหตุหลักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) โดยการมีคราบไขมันเกาะสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจขาดความยืดหยุ่นและเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และไขมันที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุหรือปัจจัยอื่น เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไตเรื้อรัง ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ รวมถึงการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น มีความเครียดสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะซักประวัติสุขภาพผู้ป่วย ประวัติสุขภาพครอบครัวในส่วนของโรคที่เกี่ยวข้อง การตรวจร่างกายทางระบบหัวใจ ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, ECG) นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาตรวจพิเศษเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) การเดินสายพาน (Exercise stress test) การฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography)
การรักษา
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง และอาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ และทำให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น แนวทางการรักษามีดังนี้
- การรักษาด้วยยา โดยแพทย์อาจใช้ยาชนิดเดียว หรืออาจใช้ยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อช่วยในการรักษาเช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยากลุ่ม ACE inhibitor, ยากลุ่ม Calcium channel blocker, ยากลุ่ม Beta blocker, ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) หรือยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant) ในกรณีที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น
บางกรณี แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนผ่านหลอดเลือดหัวใจไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
- การรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (Balloon angioplasty) โดยการสอดท่อที่มีปลายติดอุปกรณ์คล้ายบอลลูน เข้าไปที่หลอดเลือดหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดบริเวณที่อุดตันหรือตีบ นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งขดลวด (Stent) ที่สามรถกางออกเพื่อให้ผนังหลอดเลือดหัวใจในบริเวณดังกล่าวขยายอยู่ตลอดเวลา
- การรักษาด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass grafting) โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดดำที่บริเวณขาหรือหลอดเลือดแดงที่ทรวงอกหรือข้อมือมาเชื่อมหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเป็นทางเบี่ยงของการไหลเวียนของเลือดให้สามารถผ่านตำแหน่งที่มีการตีบไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังหรือมีอาการเรื้อรัง อาจพบภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อกจากหัวใจ (Cardiogenic shock) หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หัวใจวาย (Heart failure) หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นต้น
ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เป็นประจำ และควรพกยาขยายหลอดเลือดหัวใจติดตัวไว้ใช้เวลามีอาการ ซึ่งมีทั้งแบบยาอมใต้ลิ้นหรือยาแบบ spray
- ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภายหลังออกจากโรงพยาบาล ควรพักฟื้นที่บ้านสักระยะ หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก งดการร่วมเพศเป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์หลังได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ โดยเมื่อกลับไปทำงานแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้แรงมาก ทั้งนี้นอกเหนือจากการกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปฏิบัติตัวเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ เช่น การกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว การออกกำลังกายให้เหมาะสม การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบ งดการสูบบุหรี่ในรายที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เป็นสิ่งจำเป็น
- ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารในทุกมื้อ โดยไม่ควรรับประทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยเท่าที่พออิ่ม เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำ
- ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานในส่วนที่เกินจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน สำหรับการออกกำลังกายนั้นควรออกให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายอย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง อาจเลือกกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การวิ่ง เดิน หรือเต้น และเล่นกีฬาประเภทต่างๆ เมื่อมีโอกาส
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียดเรื้อรัง การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับน้อย เป็นต้น
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง อย่างเคร่งครัด
- หากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรวางแผนรับมือ เช่น จดรายละเอียดยาที่ใช้ ยาที่แพ้ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้สะดวก รวมถึงผู้ป่วยควรพกข้อมูลติดต่อของคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน คนในครอบครัวควรช่วยกันดูความผิดปกติ เพราะยิ่งพบเร็วก็จะทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น และสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
แหล่งข้อมูล
- นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 421-425
- www.thaiheart.org
- Knuuti J, Wijns W, Saraste A, Capodanno D, Barbato E, Funck-Brentano C et al. 2019 ESC Guidelines for the diagnosis and management of chronic coronary syndromes. Eur Heart J. 2020;41(3):407-77.
- Roffi M, Patrono C, Collet JP, Mueller C, Valgimigli M, Andreotti F et al. 2015 ESC Guidelines for the management of acute coronary syndromes in patients presenting without persistent ST-segment elevation. Eur Heart J. 2016;37(3):267-315.
- Levine GN, Steinke EE, Bakaeen FG, Bozkurt B, Cheitlin MD, Conti JB et al. Sexual activity and cardiovascular disease. Circulation. 2012;125(8):1058-72.
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com