โรคงูสวัด
โรคงูสวัด (Varicella zoster) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคสุกใส พบมากในผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น โรคนี้ ไม่มีอันตรายร้ายแรงและหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่อาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทหรือเกิดภาวะแทรก ซ้อนตามมาได้ ในรายที่เสียชีวิตมักเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนแอและขาดภูมิต้านทานที่มากพอ
อาการ
อาการของโรคงูสวัดจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้
- ระยะที่หนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะว่าในช่วงนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลงแล้ว ทำให้เชื้อไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนขึ้น เกิดการติดเชื้อที่ปมประสาท ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน อยู่ลึก ๆ ตามแนวเส้นประสาท
- ระยะที่สอง หลังจากปวดแสบปวดร้อน 2 – 3 วันแล้ว จะเริ่มมีผื่นแดง แล้วต่อมาจะเริ่มเป็นตุ่มน้ำใส เรียงตัวกันเป็นกลุ่มเป็นแนวยาว ตามเส้นประสาทของร่างกาย กระจายตัวกันเป็นหย่อม ๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา และพบบ่อยในบริเวณรอบเอว รอบหลัง หรือแม้แต่รอบศีรษะ ตุ่มน้ำใส นี้จะแตกออกมาเป็นแผลแล้วตกสะเก็ด และสามารถหายไปได้เองภายในเวลา 2 สัปดาห์
- ระยะที่สาม เมื่อตุ่มแตกและแผลหายดีแล้ว ผู้ป่วยอาจยังรู้สึกปวดแสบปวดร้อนอยู่ลึก ๆ โดยเฉพาะตามรอยแนวของโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งอาการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน โดยผู้สูงอายุอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้เป็นเดือนและปี
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus, VZV) โดยเมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย จะเริ่มแสดงอาการออกมาเป็นโรคสุกใสก่อน โดยเป็นตุ่มขึ้นตามตัว แตกออกและเป็นสะเก็ดแห้ง เมื่ออาการเหล่านั้นหายไปแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะยังคงซ่อนตัวอยู่ตามปมประสาทโดยไม่มีการแบ่งตัว โดยคนที่เคยติดเชื้อและเป็นโรคสุกใส จะมีโอกาสเกิดเป็นโรคงูสวัดได้ถึง 20% เมื่อร่างกายเริ่มอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น อายุมากขึ้น มีโรคประจำตัว เชื้อที่แฝงตัวอยู่ตามปมประสาท ก็จะเกิดการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนและกระจายอยู่ตามปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปวดบวม และมีตุ่มที่ผิวเรียงเป็นแนวตามเส้นประสาท ซึ่งโดยทั่วไปเป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำ ยกเว้นในบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก
โรคนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ เนื่องจากภูมิคุ้มกันมีแนวโน้มลดต่ำลงตามอายุที่มากขึ้น แต่กลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติจะมีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) หรือผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV/AIDS) รวมถึงผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ (Steroid) หรือยาที่ได้หลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักถามประวัติสุขภาพ เช่น ประวัติการป่วยโรคสุกใส โรคประจำตัวอื่น ๆ มีการตรวจดูอาการของผื่นและตุ่มน้ำและอาการอื่น ๆ และมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและตรวจอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค
การรักษา
การรักษาโรคงูสวัด จะใช้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและรักษาตามอาการ ร่วมกับดูแลความสะอาดบริเวณผิวหนังที่มีตุ่มน้ำ โดยแพทย์จะพิจารณาใช้ยาดังนี้
- ยาต้านไวรัส ปัจจุบันมียาที่ใช้ต้านเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทั้งโรคสุกใส งูสวัด และเริม โดยสามารถลดการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสได้ดี หากใช้ก่อนมีตุ่มน้ำใสหรือภายหลังเกิดตุ่มน้ำใสไม่เกิน 2 – 3 วัน โดยต้องทานยาตามจำนวนครั้งและจำนวนวันให้ครบและต่อเนื่องตามแพทย์กำหนด เช่น รับประทานวันละ 5 ครั้ง ต่อเนื่อง 7 – 10 วัน เป็นต้น
- ยารักษาตามอาการ แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาแก้ปวด ยากลุ่มลดอาการอักเสบ และยาทาบางชนิดที่สามารถช่วยลดอาการผื่นคันร่วมด้วย แต่หากพบว่าแผลหายแล้ว แต่อาการปวดปมประสาทยังคงอยู่ แพทย์อาจพิจารณาส่งต่อให้แพทย์เกี่ยวกับระบบประสาทต่อไป
- รักษาความสะอาด สามารถบรรเทาอาการได้โดยการอาบน้ำเย็น หลีกเลี่ยงแสงแดด และไม่ควรแกะหรือเกาแผลที่เป็นงูสวัดอย่างเด็ดขาด ถ้ามีแผลเปิดที่เกิดจากตุ่มที่แตกแล้ว ให้รักษาความสะอาด ล้างแผล เพื่อทำให้แผลปราศจากเชื้อแบคทีเรีย
- สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโรคงูสวัดขึ้นตา ควรทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยตรง ซึ่งแพทย์จะใช้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา
- สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำและต้องเข้ารับการรักษาตัวภายในโรงพยาบาลจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ภาวะแทรกซ้อน
- การปวดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งพบได้บ่อยภายหลังการติดเชื้อ อาการปวดอาจจะคงอยู่นานหลายปี หรืออาจปวดตลอดชีวิต แม้ตัวโรคจะจางไปแล้วก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้มักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นอาการที่รุนแรง แต่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
- ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ส่งผลให้การรักษาโรคงูสวัดหายช้าลง คือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนทับลงไปบนแผลตุ่มน้ำจากโรคงูสวัด ซึ่งมักเกิดจากพฤติกรรมการรักษาความสะอาดผิวหนังที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้เล็บแกะและเกาบริเวณทีเป็นตุ่มผื่น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายตัวได้มากขึ้น แผลหายช้า และอาจทำให้เกิดการลุกลามในพื้นผิวข้างเคียง
- เชื้อแพร่กระจายสู่ทารกในครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นงูสวัด เชื้อโรคจะแพร่กระจ่ายเข้าสู่ทารกได้ ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ มีอากาสที่ทารกจะคลอดออกมาอาจพิการ หรือสมองพัฒนาได้ไม่เต็มที่ได้
การติดต่อ
โรคงูสวัดเป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่เชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus) สามารถติดต่อไปสู่คนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันผ่านการสัมผัสผื่น แผล ตุ่มในช่วงพุพองของโรค ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคสุกใส ซึ่งจะเป็นอันตรายในคนบางกลุ่ม เช่น ทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ
ข้อแนะนำและการป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสุกใส และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัดด้วย
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคงูสวัด โดยแม้ว่าจะเป็นในภายหลังก็สามารถลดความรุนแรงและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคลงได้อย่างมาก
- หมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ และอยู่ห่างจากผู้ป่วยโรคสุกใส เพื่อลดโอกาสในการติดต่อ
แหล่งข้อมูล : inderm.go.th si.mahidol.ac.th