ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

เชื้อราในช่องคลอด

เชื้อราในช่องคลอด

เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง เกิดจากการติดเชื้อราบริเวณปากช่องคลอดและในช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการอักเสบ การระคายเคือง และคันที่บริเวณดังกล่าว เชื้อราเป็นเชื้อสาเหตุอันดับสองรองจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ จากข้อมูลพบว่า 75% ของผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน เคยเป็นโรคนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และ 45% เคยเป็นโรคนี้มากกว่า 1 ครั้ง

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย

อาการสำคัญที่พบได้บ่อยคือ “อาการคัน” บริเวณรอบปากช่องคลอดและในช่องคลอด โดยอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปวดแสบปวดร้อนขณะถ่ายปัสสาวะ ปวดเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หลังอาการคันบางรายอาจมีตกขาวผิดปกติ โดยเป็นก้อนข้นเหนียว สีขาวหรือสีเหลืองนวลคล้ายตะกอนนมบูด บางรายอาจเกิดผื่นแดงที่บริเวณช่องคลอดร่วมด้วย


เมื่อไรควรไปพบแพทย์

  • ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อยามารักษาเอง
  • ผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อราในช่องคลอด 4 ครั้งต่อปีหรือมากกว่า ต่อปี แพทย์อาจต้องให้ยาต้านเชื้อรานานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค นอกจากนี้ยังอาจมีความจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุจากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

 

สาเหตุ

เชื้อราที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบในช่องคลอด เป็นเชื้อราในกลุ่มแคนดิด้า (Candida) ซึ่งสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือ “แคนดิด้า อัลบิแคนส์” (Candida albicans) เชื้อราสายพันธุ์นี้พบเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ถึง 80 – 92% เนื่องจากสามารถเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี

ปกติเชื้อแคนดิด้า อัลบิแคนส์อาศัยอยู่ได้หลายอวัยวะในร่างกาย ทั้งในช่องปาก ช่องคอ ทางเดินอาหาร ผิวหนัง โดยสามารถผ่านจากทางเดินอาหารออกมาทางทวารหนัก และปนเปื้อนไปตกอยู่ในช่องคลอดได้ แต่ในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นที่สามารถผลิตสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมในช่องคลอดไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแคนดิด้า อัลบิแคนส์รา ทำให้ในสภาวะปกติต่อให้มีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย ก็ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อมีปัจจัยที่ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในร่างกายหรือในช่องคลอดเกิดการเปลี่ยนแปลง เชื้อนี้ก็สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ในที่สุด

 

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยที่ทำให้สภาพร่างกายหรือสภาวะในช่องคลอดของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนเกิดการติดเชื้อแคนดิด้า อัลบิแคนส์ มักเกี่ยวข้องกับโรค ฮอร์โมน ยา และภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังต่อไปนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างจะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นของร่างกายได้ เมื่อไม่มีเชื้อแบคทีเรียที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลกรดด่างในช่องคลอดจึงเป็นโอกาสให้เชื้อราเจริญเติบโตจนก่อโรคได้
  • ภาวะเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการทำงานของภูมิคุ้มกัน T-cell เสื่อมลง ส่งผลให้ความสามารถในการกำจัดเชื้อของร่างกายน้อยลง
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มขึ้น เอสโตรเจนมีผลให้ไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งพบได้ในสารน้ำในช่องคลอดมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ไกลโคเจนจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคส ช่วยให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
  • ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน (ยากลุ่มสเตียรอยด์หรือยาเคมีบำบัด) จะมีผลให้ความสามารถในการต่อสู้หรือยับยั้งเชื้อของร่างกายลดต่ำลงจนไม่อาจต่อสู้กับเชื้อราได้
  • การใช้ผลิตภัณฑ์สวนล้างช่องคลอด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะรบกวนสมดุลกรดด่างในช่องคลอด และทำให้เชื้อราเติบโตจนก่อโรคได้

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักถามอาการและอาการแสดง เช่น อาการคัน การตกขาวที่ผิดปกติ การปวดแสบ ประวัติการติดเชื้อราหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

สำหรับผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษา จำเป็นต้องตรวจหาความผิดปกติภายในช่องคลอด โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อเก็บสารคัดหลั่งหรือเก็บตัวอย่างตกขาวมาตรวจเพิ่มเติม

การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะใช้วิธีการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหายีสต์ หรือเชื้อราที่มีลักษณะเป็นเส้นไยหรือไฮฟา (hyphae) นอกจากนี้ แพทย์อาจส่งเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อสาเหตุ การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะช่วยให้แพทย์ทราบชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ และหาวิธีการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การรักษา

เชื้อราในช่องคลอดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาใช้เฉพาะที่ ทั้งชนิดครีมทาหรือเหน็บช่องคลอด และรูปแบบยารับประทาน การรักษาเชื้อราในช่องคลอด เบื้องต้นจำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มที่มีการติดเชื้อทั่วไปแบบไม่ซับซ้อน (Uncomplicated infection) หรือกลุ่มติดเชื้อซับซ้อน (Complicated infection) เพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง

  • กลุ่มติดเชื้อทั่วไปแบบไม่ซับซ้อน (Uncomplicated infection).
    ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการไม่รุนแรง เกิดอาการนาน ๆ ครั้ง (น้อยกว่า 4 ครั้งต่อปี) เป็นผู้ที่มีสุขภาพดี และไม่ได้ตั้งครรภ์ เชื้อสาเหตุส่วนใหญ่คือ แคนดิด้า อัลบิแคนส์ ผู้ป่วยสามารถซื้อยาต้านเชื้อราที่ขายทั่วไปมาใช้ควบคู่กับการดูแลตนเองที่บ้านได้ ระยะเวลาการรักษาค่อนข้างสั้น ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาดี และอาการจะดีขึ้นใน 2 – 3 วัน สูตรยาที่ใช้รักษา ได้แก่

    • ยา Clotrimazole 500 mg เหน็บช่องคลอดครั้งเดียวก่อนนอน หรือ Clotrimazole 100 mg เหน็บช่องคลอดวันละครั้งก่อนนอนนาน 6 วัน
    • ยา Fluconazole 150 mg รับประทานครั้งเดียว
    • ยา Itraconazle 200 mg กินวันละ 2 ครั้งนาน 1 วัน
  • กลุ่มติดเชื้อที่มีความซับซ้อน (Complicated infection).
    ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นเชื้อราในช่องคลอดได้บ่อย อาจมากกว่า 4 ครั้งต่อปี มีการกลับเป็นซ้ำหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากเพิ่งให้การรักษาไป มีอาการรุนแรงพบอวัยวะเพศบวมแดงมาก หรือมีรอยแตกของผนังช่องคลอด หรือตั้งครรภ์

    .
    การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง แนะนำให้ไปพบแพทย์ทั่วไปหรือสูตินารีแพทย์ การรักษาจะใช้เวลาค่อนข้างนาน (มากกว่า 2 สัปดาห์) และการเลือกยาจะพิจารณาจากสภาวะของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น กรณีตั้งครรภ์จำเป็นต้องเลือกยาที่ปลอดภัยที่สุด
    .
    การใช้ยาฆ่าเชื้อราจำเป็นต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ยากลุ่มเอโซลอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ตับอักเสบ และผื่นแพ้ยาได้ ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทันที นอกจากนี้ ยากลุ่มเอโซลจะเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น เช่น ยาลดไขมันในเลือด หรือยาต้านเชื้อไวรัส ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งยาโรคประจำตัวที่ใช้อยู่ให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้ง

 

คำแนะนำ

  1. ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาเชื้อราในช่องคลอด ควรให้ความร่วมมือใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด แม้ยาจะสามารถฆ่าเชื้อได้ดีและผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน แต่ก็ไม่ควรหยุดใช้ยาก่อนครบคอร์สการรักษา เพราะอาจเกิดการกลับเป็นซ้ำ หรือเกิดเชื้อดื้อยาได้
  2. เชื้อราในช่องคลอด ไม่ได้เป็นข้อห้ามไม่ให้ร่วมเพศกับคู่นอน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากอาจเกิดอาการเจ็บขณะร่วมเพศ และถึงแม้โอกาสติดต่อไปยังคู่นอนจะน้อยมาก แต่ถ้าพบคู่นอนมีอาการคันที่อวัยวะเพศ หรือมีการอักเสบที่บริเวณปลายองคชาต ก็ควรรักษาด้วยยาทาฆ่าเชื้อรา เพื่อบรรเทาการติดเชื้อ
  3. ผู้ป่วยกลุ่มซับซ้อน ซึ่งมักมีอาการรุนแรง มีการกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังรักษา แนะนำให้ปรึกษาสูตินารีแพทย์ และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
  4. ผู้ป่วยกลุ่มซับซ้อน แนะนำให้รักษาโรคร่วมต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดเชื้อราในช่องคลอด เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ ก็ควรรักษาเบาหวานควบคู่ไปจนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นไปตามเกณฑ์

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะทำให้สมดุลกรดด่างเปลี่ยนไป จนทำให้เกิดเชื้อราได้
  • รักษาความสะอาดที่บริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศ
  • สวมใส่ผ้าสะอาด ไม่ปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน
  • เปลี่ยนแผ่นอนามัยอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการใช้แผ่นอนามัยแบบสอด
  • เลือกสวมใส่กางเกงหรือกระโปรงที่ไม่คับหรือรัดแน่นเกินไป ใส่แล้วรู้สึกโล่งสบาย ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเนื้อผ้าที่มีการถ่ายเทอากาศดี ไม่ทำให้เกิดการอับชื้น

 

แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com  www.siphhospital.com  www.cdc.gov

ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก