ล้มเหลวได้ ผิดพลาดได้ แต่เราต้องเรียนรู้กับมัน
รศ. พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง
ประชาสัมพันธ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
สาขาวิชาต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แรงบันดาลใจในการเลือกแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีวิทยา แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ตอนนั้นทางบ้านอยากให้เป็นแพทย์ เพราะคุณพ่อในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก เรียนหนังสือเก่งแต่ต้องหยุดเรียนออกมาทำการค้า จึงอยากให้ครอบครัวมีความสุข และตอนเด็กๆ เราได้เห็นบทบาทแพทย์ ในมุมมองที่เป็นคนไข้ แพทย์ประจำตัวคุณย่า ศ. นพ. เสนอ อินทรสุขศรี และกุมารแพทย์ ประจำตัวเรา คือ ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา จึงรู้สึกประทับใจวิชาชีพแพทย์ และด้วยความที่ชอบวิชาชีววิทยา คิดว่าไปทางวิทยาศาสตร์การแพทย์น่าจะเป็นประโยชน์
จากนั้นเอนทรานซ์ติดที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงปี 4 ได้ขึ้นวอร์ดศัลยกรรมเป็นวอร์ดแรก ได้เห็นตัวอย่างการทำงานหนักเพื่อคนไข้ของอาจารย์และแพทย์ประจำบ้าน ช่วงชั้นคลินิกใช้เวลาในการเรียนหนักขึ้น พักผ่อนน้อยลง แต่รู้สึกสนุก ได้เจอคนไข้ ได้มีประสบการณ์จริง ตอนที่ผ่านอายุรศาสตร์ เจอคนไข้วัยรุ่นเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว มาแอดมิดให้คีโม เราชวนคนไข้คุย ไปเยี่ยมเขาบ่อย ๆ เอาหนังสือที่เขาชอบมาให้อ่าน หลังจากนั้นผ่านไป 2 ปีพยาบาลที่วอร์ดเล่าให้ฟังว่าคนไข้คนนี้มาตามหาคุณหมอ เขาหายดีเลยอยากเอาขนมมาให้ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก ถึงแม้เป็นนิสิตแพทย์ ก็สามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับคนไข้ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้อยากทำแบบนี้ต่อไป พอจบแพทย์ ไปรับเลือกเป็นแพทย์ใช้
ทุนของ รพ.จุฬาฯ ทำอินเทิร์น 1 ปี อยู่ที่ โรงพยาบาลจังหวัดนครนายก และกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางเลือกเรียนกุมารแพทย์ ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกุมารแพทย์ประจำตัวเรา ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รู้สึกว่าอาจารย์เป็นแพทย์ที่เก่ง วินิจฉัยได้แม่นยำ มีเทคนิคชวนคุย ฉีดยาโดยที่ไม่ให้เห็นเข็มและอาจารย์รักคนไข้มาก ๆ ช่วงเป็นนิสิตแพทย์ รู้สึกชอบแผนกเด็ก มีความสุขมากเวลาได้อุ้มเด็ก จึงเลือกเรียนกุมารแพทย์ 3 ปี ตอนนั้น ได้พบท่าน ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเรา บุคลิกของอาจารย์นุ่มนวล ใจดีกับคนไข้และเพื่อนร่วมงานทุกคน เป็นอาจารย์ที่เก่งมาก และ รศ. พญ. สุมาลี ศรีวัฒนา เป็นอาจารย์อาวุโสที่วินิจฉัยคนไข้ได้แม่นยำและเอาใจใส่คนไข้มาก ๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนต่อเฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่ออีก 2 ปี จากนั้นไปศึกษาต่อที่ University of California, San Francisco, USA ไปเป็น visiting fellow อีก 2 ปี ศึกษาเกี่ยวกับการทำวิจัยในเชิงลึก ในเรื่องของ Molecular endocrinology การทำวิจัยทาง Basic science research มีโอกาสได้ดูคลินิกเบาหวานและต่อมไร้ท่อที่ทันสมัย ตอนนั้นโปรแกรมไดเรกเตอร์และ mentor ของเราคือ โปรเฟสเซอร์ Walter miller ซึ่งเป็นอาจารย์อีกท่านที่เป็นคนสำคัญ
ของเรา ถ่ายทอดวิชาความรู้ วิชาชีวิต ได้เรียนรู้การทำงานวิจัยชั้นยอดได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และทีมงานดูแลคนไข้ครบวงจรเพื่อมาพัฒนาระบบบริการบ้านเรา เพื่อมาเซ็ตอัพทีมที่จุฬาฯ และกลับมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อเด็กจนถึงปัจจุบัน
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์
เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ อยากให้งานในพันธกิจ 3 ด้าน ขับเคลื่อนไปด้วยกันเป้าหมายทางด้านงานบริการ คือ การดูแลผู้ป่วย สร้างระบบบริการที่ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งโรคเบาหวานเป็นอะไรที่ชัดมาก จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมสหสาขาที่มีความพร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกัน ตอนที่กลับมาก็เริ่มแผนงาน โดยเข้าไปคุยกับทุกฝ่าย ขอความช่วยเหลือ มีการจัดค่ายเบาหวานชวนทีมงานไปหลายสิบชีวิต รวมถึงผู้ปกครองและครอบครัวมาเข้าร่วม เป็นการสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายไปในทิศทางเดียวกัน พอมาใช้ชีวิตร่วมกันในค่ายได้เห็นความลำบากของคนไข้ ได้รู้ปัญหาของทุกฝ่าย ทุกคนยินดีช่วยเหลือกันทำให้งานที่สานต่อ มีความราบรื่น และวันหนึ่งที่เราไม่อยู่ ทีมจะยังเดินไปได้ คือ กงล้อต้องหมุนไปด้วยตัวของเขาเอง ในที่สุดประโยชน์ที่จะได้คือ คนไข้จะได้เข้าถึงบริการที่เป็นมาตรฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และปีที่แล้ว เรามีเป้าหมายการตั้งคลินิกต่อมไร้ท่อเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้จัดทำเป็น Transitions Clinic เป็นคลินิกต่อมไร้ท่อเปลี่ยนผ่าน เราอยากจะส่งต่อคนไข้ลูก ๆ ของเราที่เรารักให้ถึงฝั่งอย่างมีความสุขปลอดภัย จึงจับมือคุยกับทีมเบาหวานผู้ใหญ่ ศ. ดร. นพ. วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและศูนย์ความเป็นเลิศเบาหวานฯ ท่านให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากโดยมีเวิร์คช้อปหลายครั้งระหว่างทีมเด็กและผู้ใหญ่มีหมอเด็กหมอผู้ใหญ่ออกตรวจคนไข้ด้วยกัน ประชุมวางแผนการรักษาด้วยกัน ให้คนไข้มาผ่านคลินิกนี้ 1 ปี ทั้งการตรวจ รับยา ทำที่คลินิกผู้ใหญ่ จนคนไข้มั่นใจแล้วว่า คุณหมอผู้ใหญ่ท่านนี้เข้าใจเขา ทำให้การส่งต่อเป็นไปอย่างราบรื่น
เป้าหมายด้านการเรียนการสอน เวลาที่ทีมเบาหวานไปออกตรวจ OPD หรือทีมนักสังคมสงเคราะห์ ทีมเบาหวาน ไปเยี่ยมโรงเรียน เยี่ยมบ้านเยี่ยมคนไข้เบาหวานรายใหม่ เราพานิสิตแพทย์ไปเรียนตรงนั้นด้วย จะได้เรียนรู้ชีวิตผู้ป่วยจริง ๆ ว่ากว่าเขามาถึง รพ. ไม่ได้มาง่าย ๆ การจะส่งเขากลับบ้าน เราต้องทำงานอีกมาก คุณครูที่โรงเรียนจะดูแลผู้ป่วยอย่างไร แก้ไขน้ำตาลตก ปรับยาการออกกำลังกาย ตรงนี้ต้องวางแผน ติดตามอย่างดี นิสิตแพทย์ไปเยี่ยมคนไข้ กลับมาเล่าให้ฟังเขาได้เรียนรู้ มีความเห็นอกเห็นใจคนไข้ เป้าหมายที่เขาวาดไว้อาจไปไม่ถึงเพราะขาดแคลนอุปกรณ์เราต้องดูแลในมิติทางจิตสังคมด้วย ซึ่งนิสิตแพทย์จะเห็นภาพตรงนี้ชัดเจนมาก
เป้าหมายด้านงานวิจัย เราเป็นมหาวิทยาลัยต้องผลิตองค์ความรู้ใหม่ เพื่อสังคม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน นี้คือพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเก็บข้อมูลทำ Routine to research พัฒนาระบบให้ดี และเก็บข้อมูล ตีพิมพ์ ทำงานวิจัย เผยแพร่ผลงานไปด้วยงานวิจัยเหล่านี้ให้แพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของเรา ทำวิทยานิพนธ์ เราเป็นที่ปรึกษา เขาเก็บข้อมูล เรียนรู้ เขียนผลงานตีพิมพ์ทีมก็นำผลการศึกษาเหล่านี้มาพัฒนาบริการหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ
เรายังต้องการแพทย์ที่รับฟังคนไข้กุมมือเขา เห็นอกเห็นใจเขา ซึ่งเครื่องจักรทำแทนเราไม่ได้
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
คนแรก ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตั้งแต่ตนเองเป็นแพทย์ประจำบ้านได้เห็นการใช้ชีวิตของอาจารย์ในบทบาท หัวหน้าหน่วยงานต่อมไร้ท่อ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสมาคมวิชาชีพ ของต่อมไร้ท่อในเด็กในระดับภูมิภาค เห็นบทบาทของท่านที่เป็นคุณพ่อของลูกชาย 2 คน เห็นความทุ่มเทในการทำงานควบคู่กับการดูแลครอบครัวท่านทำทุกบทบาทได้ดี เป็น One of a kind จริง ๆ ก็มองท่านเป็นตัวอย่างในแง่เป็นแพทย์ เป็นอาจารย์ เป็นนักบริหาร ที่ประสบความสำเร็จ และแบ่งเวลาได้ดีทั้งครอบครัว ตนเอง และหน่วยงานด้วย
คนที่สอง ผศ. พญ. เทวี วัฒนา เป็นกุมารแพทย์ ทางด้านโรคไต อาจารย์เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ชี้นำอาจารย์แพทย์รุ่นน้อง เห็นอาจารย์ในบทบาทผู้ขับเคลื่อนงานดูแลคนไข้เรื้อรังของ รพ.จุฬาฯ Psycho-social team มีทีมนักสังคมสงเคราะห์คุณครู จิตแพทย์ ซึ่งมาดูแลคนไข้ร่วมกัน มีการประชุมทีมสม่ำเสมอ อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกในส่วนงานตรงนี้ขึ้นมา ทำให้ช่วยสนับสนุนทีมบริบาลคนไข้โรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกด้วย
คนที่สาม หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพุทธนิกายเซน ที่ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม เป็นพระภิกษุที่ผ่านความยากลำบากมาในช่วงสงครามโลก สงครามเวียดนาม ถูกขับไล่ออกจากประเทศ ท่านเป็นสายเมตตา การยุติความรุนแรงด้วยสันติภาพ ด้วย Nonviolent คำสอนและวิธีการของท่านเป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วโลก เทคนิคของท่านนำมาฝึกและใช้ในงานได้ง่าย ทำอย่างไรที่จะผ่านความขัดแย้งโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดชังกันหลักการนี้ใช้ได้ทุกระดับ ทุกความสัมพันธ์ ทั้งครอบครัว ตนเอง เพื่อนร่วมงานและผู้ป่วย และหลักการนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่าง ทำให้งานทุกอย่างราบรื่น
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี และบ่มเพาะความกรุณากับผู้คนรอบ ๆ ตัว ภาพลายเส้นของหลวงปู่ที่แปะในห้องทำงานของตัวเองคือ “Breathe and Smile”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์ของไทยเข้าสู่ยุคไอที ใช้ AI มากในฐานะแพทย์ เราคงไม่สามารถสร้างนิสิตแพทย์ให้เก่งเอาชนะ AI ต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกันเราต้องรักษาคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ที่ AI ชนะเราไม่ได้คือเรื่องความเห็นอกเห็นใจกัน ความกรุณาต่อกันการรับฟังกัน เรายังต้องการแพทย์ที่รับฟังคนไข้กุมมือเขา เห็นอกเห็นใจเขา ซึ่งเครื่องจักรทำแทนเราไม่ได้ มองว่าอนาคตแพทย์รุ่นใหม่ต้องมีทักษะตรงนี้ให้ดี ซึ่งโรงเรียนแพทย์ก็ต้องพยายามบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ให้กับบัณฑิตรุ่นใหม่
ที่มา : www.cimjournal.com
.