รู้จัก การรักษาอาการนอนกรน
อาการนอนกรน เกิดในขณะนอนหลับ กล้ามเนื้อคอจะผ่อนคลายและหย่อนตัว ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง อากาศที่เคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง จะทำให้เกิดการสั่นของเนื้อเยื่อคอ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการแคบลงหรืออุดตันของทางเดินหายใจ อาการนอนกรนจึงเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติกับร่างกายเกิดขึ้นแล้ว
อาการนอนกรน
กรนธรรมดา (Primary snoring) เป็นการนอนกรนที่ไม่เป็นอันตราย เพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ปกติไม่มีผลกระทบต่อตัวเองมากนัก แต่อาจมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน ทำให้นอนหลับยาก เนื่องจากเสียงดัง
กรนอันตราย (Obstructive sleep apnea : OSA) โดยมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย กรณีนี้นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว ถ้าผู้ป่วยไม่รักษา อาจมีผลกระทบจากการนอนไม่พอ อาทิ ทำงานหรือเรียนได้ไม่เต็มที่ เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือเดินทาง นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดในสมอง โดยผู้ป่วยอาจเสียชีวิต โดยเฉพาะถ้าดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (AHI) ≥ 20 ต่อชั่วโมง
การแยกอาการนอนกรน
ปัจจุบันสามารถทำได้โดย การตรวจการนอนหลับ (Sleep test or polysomnography) เพื่อแยกประเภทของการกรน และในกรณีที่เป็นกรนแบบอันตราย ยังใช้บอกความรุนแรงของโรค ตามภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีขึ้น
โดยผลการตรวจการนอนหลับ บ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็น
- กรนธรรมดา: ถ้าดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบา < 5 ครั้งต่อชั่วโมง
- ภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดาและกรนอันตราย: ถ้าดัชนีหยุดหายใจ และหายใจแผ่วเบา < 5 ครั้งต่อชั่วโมง แต่มีดัชนีของการตื่นสูง และมีอาการเหมือนกรนอันตราย
- กรนอันตราย: ถ้าดัชนีหยุดหายใจ และหายใจแผ่วเบา ≥ 5 ครั้งต่อชั่วโมง โดยมีความรุนแรงอยู่ในระดับ
ดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบาต่อชั่วโมง (AHI) | ระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำที่สุด ขณะนอนหลับ | |
น้อย (mild) | 5 - 14 | 86 - 90 |
ปานกลาง (moderate) | 15 - 29 | 70 - 85 |
รุนแรง (severe) | ≥ 30 | ≤ 69 |
การส่องกล้องตรวจ
การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบน จะทำให้ทราบถึงตำแหน่ง และสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนได้
การรักษา
การรักษา มี 2 ทาง เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบในการดำเนินชีวิต การใช้เครื่องมือช่วย กรณีที่อาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัด
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ลดน้ำหนัก ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักเกิน ต้องลดให้น้ำหนักอยู่ในระดับที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีไขมันมาพอกรอบคอหรือทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ การลดน้ำหนัก จะช่วยลดไขมันในบริเวณดังกล่าว ทำให้อาการดีขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้ป่วยต้องขยันออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายในแบบแอโรบิคที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วอย่างต่อเนื่อง เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค อื่น ๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วันขึ้นไป การออกกำลังกายจะเป็นการเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย และเนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยควบคุมน้ำหนักตัวอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ชนิดง่วง หรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เบียร์ ไวน์ วิสกี้ เหล้า โดยเฉพาะก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น และสมองตื่นตัวช้าลง ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่ ภายใน 4 – 6 ชั่วโมง ก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนบวม ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น นอกจากนั้นสารนิโคติน (nicotine) อาจกระตุ้นสมอง ทำให้ตื่นตัว และนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่สนิท ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยมีแนวโน้มที่นอนหลับได้ไม่เต็มที่ โดยสมองจะถูกปลุกให้ตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่ จากการที่สมองขาดออกซิเจนเป็นระยะ ๆ ตลอดคืน
- นอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ จะช่วยลดบวมของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้บ้าง และควรนอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น
- ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก พ่นวันละครั้งก่อนนอน ซึ่งยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังจะช่วยหล่อลื่น ทำให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้
- การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน ( Continuous positive airway pressure (CPAP)) ปกติเวลานอน เพดานอ่อน และลิ้นไก่ที่ยาว และโคนลิ้นที่โต จะตกลงมาบังทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ลมที่เป่าเข้าไป จะไปถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก (Pneumatic splint) ทำให้ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ป่วยไม่กรน และไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย หรือเป็นกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงรุนแรง ซึ่งควรลองใช้ในผู้ป่วยทุกราย ก่อนพิจารณาการผ่าตัดเสมอ ปัจจุบันตัวเครื่อง CPAP มีขนาดเล็ก สามารถพกพาไปที่ไหนๆได้ค่อนข้างสะดวก การรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยควรใช้เครื่อง CPAP ทุกคืน
- การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral appliance) ปกติเวลานอนหงาย ขากรรไกรล่างและลิ้นจะตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม จะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกัน และเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า และป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย หรือเป็นกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง (ดัชนีหยุดหายใจ และหายใจแผ่วเบา < 30 ต่อชั่วโมง)
- การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นการทำให้ขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น ควรพิจารณาวิธีนี้ ถ้าผู้ป่วยได้ลอง CPAP แล้วปฎิเสธการใช้ CPAP และเครื่องมือทางทันตกรรม ซึ่งการผ่าตัดจะทำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน การผ่าตัดไม่ได้ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจหายขาด หลังผ่าตัดอาการอาจยังเหลืออยู่ หรือมีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สิ่งสำคัญยังคงเป็นการควบคุมน้ำหนักตัว และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ
ข้อมูลต้นฉบับ : รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. 2560 “ขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรน” (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา : www.si.mahidol.ac.th (11 มากราคม 2560)
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com