ทำไมต้องฝึกปั๊มหัวใจ (CPR)
การทำ CPR นั้นไม่ใช่เรื่องยากและเป็นทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการปั๊มหัวใจที่ทุกคนควรฝึกฝนติดตัวไว้เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในยามฉุกเฉิน เมื่อเราต้องเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่พบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ก็จะทำให้เราสามารถยื้อเวลา แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที
ปั๊มหัวใจ (CPR) คืออะไร
การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ CPR คือวิธีการปั๊มช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้วเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นได้ใหม่อีกครั้ง สมองคนเราหากขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกิน 4 นาที จะทำให้เกิดการสูญเสียเซลล์สมองบางส่วนอย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ แต่สมองส่วนที่เสียไปจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ CPR จึงเป็นวิธีการที่จะช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้เป็นอย่างดี
เหตุผลที่เราควรฝึกฝนการทำ CPR ปั๊มหัวใจ
- CPR ช่วยชีวิตคนได้จริงๆ คนทั่วโลกมากมายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ ภาพที่หลายคนอาจเคยเห็นคือ ผู้ป่วยจะล้มฟุบลงกับพื้น หมดสติ แล้วหยุดหายใจในที่สุด ในกรณีเช่นนี้หากไม่ได้รับการทำ CPR ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก เราสามารถใช้วิธีทำ CPR กู้ชีวิตผู้ป่วยกลับคืนมาได้หากทำอย่างถูกต้อง
- เชื่อหรือไม่ว่ายังมีการใช้ CPR ช่วยชีวิตผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลยังไม่มากพอ ดังนั้นหากเราทุกคนฝึกฝน
การทำ CPR อย่างถูกวิธีก็จะสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ทุกที่ทุกเวลา และหากเกิดเหตุฉุกเฉินให้เรากลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง เราก็จะได้รับการช่วยชีวิตอย่างถูกต้องเช่นกัน - การทำ CPR ไม่ใช่การทำ Mouth-to-mouth หลายคนลังเลที่จะทำ CPR ให้ผู้ป่วยเพราะเข้าใจผิดว่าต้องใช้วิธีเป่าปากเพื่อช่วยหายใจ แต่ความจริงแล้ว CPR คือการใช้แรงกดที่หน้าอกของผู้ป่วยโดยใช้มือหรือเครื่อง AED (เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) หรือหากใช้ควบคู่กันทั้ง 2 อย่างก็จะเพิ่มความสัมฤทธิผลมากยิ่งขึ้นถึง 45%
- ขั้นตอนการทำ CPR คือสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่ายมาก เมื่อพบเจอเหตุฉุกเฉินและมีผู้ป่วย ควรประเมินสภาพแวดล้อมว่าตรงนั้นคือที่ที่ปลอดภัยหรือไม่ ดูว่าผู้ป่วยยังมีสติอยู่หรือไม่ หากหมดสติ ลองคลำหาชีพจร หากไม่พบให้รีบขอช่วยเหลือด่วนภายใน 4นาที เพราะหากเกิน 4 นาที ออกซิเจนในสมองผู้ป่วยจะหมดไป รีบแจ้งหน่วยงานแพทย์ฉุกเฉินเช่น ศูนย์เอราวัณ (โทร 1646 เฉพาะในพื้นที่ กทม.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (โทร. 1669 ทั่วประเทศ) และเริ่มทำ CPR ทันที
- ระลึกไว้เสมอว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักเกิดขึ้นที่บ้าน เมื่อมีผู้เสียชีวิต เรามักได้ยินญาติ ๆ พูดเสมอว่า หากมีผู้ช่วยปั๊มหัวใจน่าจะช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ หากทุกคนฝึกฝนการทำ CPR เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น และเราอาจได้ใช้วิธีนี้ช่วยคนใกล้ตัวหรือแม้แต่ผู้เป็นที่รักของเราเอง
10 ขั้นตอนการทำ CPR
- เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมก่อนเข้าไปช่วยเหลือ
- ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้างหากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้นอนตะแคง
- แต่หากผู้ป่วยไม่หายใจ โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 เพื่อขอเครื่อง AED
- ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำ CPR ทันที
- ทำ CPR ด้วยการกดหน้าอก ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ผู้ทำ CPR วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มกดหน้าอกให้ลึกลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
- หากมีเครื่อง AED ให้เปิดเครื่อง ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก
- ติดแผ่น AED หรือแผ่นนำไฟฟ้าตรงใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
- ปฏิบัติตามแนะนำที่เครื่อง AED บอก เมื่อเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อก และกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งให้ช็อก ให้ทำการกดหน้าอกต่อไป
- กดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง ทำ CPR และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
- ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
จะเห็นได้ว่าการศึกษาจดจำขั้นตอนเหล่านี้ไว้จะมีประโยชน์มากในเวลาคับขัน ทุกคนควรเรียนรู้ไว้และสนับสนุนให้คนรอบข้างเรียนรู้ด้วย เพราะนอกจากช่วยชีวิตผู้อื่นได้แล้ว ผู้อื่นก็อาจจะใช้ขั้นตอนนี้ช่วยชีวิตเราได้เช่นกัน
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.everydayhealth.com
ภาพประกอบจาก : www.flickr.com