ว่านชักมดลูก มีประโยชน์อย่างไร
ว่านชักมดลูก หรือว่านทรหด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma xathorrhiza จัดอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae ซึ่งเป็นพืชสกุลเดียวกับขมิ้นชัน และส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยา คือ เหง้า หรือหัว จากการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ พบว่า ว่านชักมดลูกออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบมากในเพศหญิง แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า
ดังนั้น การนำมาใช้ประโยชน์ทางยาจึงเหมาะกับสตรีวัยหมดประจำเดือน สตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ สตรีที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก หรือสตรีหลังคลอดบุตร เพราะมีสรรพคุณทางยาตามที่มีการบันทึกไว้ในตำรายาไทยว่า ว่านชักมดลูกเมื่อมีการนำมาฝานตากแดดให้แห้ง นำไปบดเป็นผง ปรุงเป็นยาทั้งในรูปแบบยาเดี่ยว หรือยาตำรับ แก้มดลูกพิการ แก้มดลูกปวดบวม ชักมดลูกให้เข้าอู่ในสตรีหลังคลอดบุตร ขับน้ำคาวปลา แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย แก้ริดสีดวงทวาร แก้มะเร็ง และแก้ฝีต่าง ๆ นอกเหนือจากการรับประทานเป็นยาแล้ว ก็ยังมีสตรีบางกลุ่มที่นิยมทานว่านชักมดลูกเพื่อประโยชน์ในเรื่องความสวยความงาม บำรุงผิวพรรณให้เต่งตึง
ผลข้างเคียงจากการรับประทานว่านชักมดลูก
หากใช้ในปริมาณที่สูง หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ คือ มีเลือดออกในช่องคลอด มีอาการปวดท้อง และจากการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า สารสกัดจากว่านชักมดลูกนั้นจะมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และเกลือน้ำดี ส่งผลให้ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลได้ จากฤทธิ์ในการกระตุ้นการหลั่งน้ำดี จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดี และเนื่องจากออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศ รายใดที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับการเจริญ หรือการก่อกลายพันธุ์ของเนื้อร้าย เช่น มะเร็ง ซีสต์ หรือเนื้องอก จึงไม่ควรที่จะรับประทานยาที่ปรุง หรือสกัดจากว่านชักมดลูก เพราะอาจจะส่งผลให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้นก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวควรปรึกษาผู้รู้ หรือแพทย์ก่อน
ภาพประกอบจาก: www.medherbguru.gpo.or.th