12 สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้าสำหรับท่านชาย
บทความนี้จะมุ่งอธิบายถึงสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าในผู้ชายเท่านั้น โดยแยกอธิบายทั้งหมด 12 สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้าสำหรับท่านชาย จะมีอะไรบางเราไปลองศึกษาด้วยกันค่ะ
ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพศชายที่เป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 5 ล้านรายต่อปี โดยอาการที่พบบ่อยสำหรับโรคซึมเศร้า ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง ได้แก่ ผู้ป่วยจะโศกเศร้าและขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง แต่บางครั้งอาจพบอาการอีกหลายแบบที่พบไม่บ่อยนัก ซึ่งการที่ประชาชนได้รับทราบถึงสัญญาณเริ่มต้น ย่อมเป็นผลดีในแง่ของการเฝ้าระวังโรคได้ ในทางทฤษฎี เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้า ไม่ได้ระบุตามเพศ หรืออายุ หากแต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น อาการของโรคซึมเศร้า มีได้หลากหลาย แตกต่างกันในเพศชาย และเพศหญิง
1. เหนื่อยเพลีย
เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกาย และด้านอารมณ์ อาการแรกที่พบได้บ่อย ก็คือผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยเพลีย มีการเคลื่อนไหวที่ช้ากว่าปกติ เชื่องช้าทั้งการเคลื่อนไหว การพูดและกระบวนการคิด ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวไว้ว่า อาการเหนื่อยเพลีย และความเชื่องช้าทางกาย พบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
2. ความผิดปกติของการนอน
ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งจะมาปรึกษาแพทย์ด้วยนอนไม่หลับ หรือบางครั้งอาจจะตื่นนอนตอนเช้าเร็วผิดปกติ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งญาติจะนำตัวมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการนอนมากจนเกินไป โดยกลุ่มนี้ถึงแม้ว่านอนมากขนาดไหน แต่ผู้ป่วยจะยังมีอาการเหนื่อยเพลียตลอด เหวี่ยงบ่อย และตื่นนอนบ่อย ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ความผิดปกติของการนอนก็เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ชายที่มาปรึกษาแพทย์เช่นกัน
3. อาการผิดปกติทางกายอื่น ๆ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักมาด้วยอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดหลัง ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุทางกายทั้งหมด เมื่อได้รับการตรวจทางกายทั้งหมดแล้ว พบว่าผลการตรวจปกติทั้งหมด จึงจะเข้าได้กับอาการทางกายจากโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักฝังใจว่าต้องมีความผิดปกติทางกายซ่อนอยู่เสมอ และมักไม่ยอมรับง่าย ๆ ว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า ในทางปฏิบัติหากผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์ด้วยความผิดปกติทางกาย แพทย์ก็มักจะรักษาความเจ็บป่วยทางกาย โดยน้อยคนนักที่จะให้ความสนใจที่จะหาสาเหตุจากภาวะซึมเศร้า
4. หงุดหงิดง่าย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียใจทุกครั้งที่แสดงอารมณ์หงุดหงิดให้ผู้อื่นเห็น อารมณ์หงุดหงิดง่ายมักมีที่มาจากการมองโลกในแง่ลบของผู้ป่วย ซึ่งการมองโลกในแง่ลบเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะซึมเศร้า และอารมณ์หงุดหงิดก็เป็นพื้นฐานของอารมณ์โกรธ และอาจมีเรื่องทะเลาะกับผู้อื่นบ่อยครั้ง
5. โกรธและชอบมีเรื่องกับคนอื่น
จากอารมณ์หงุดหงิดในข้อที่แล้ว หากไม่สามารถระงับอารมณ์ได้ก็จะทำให้เกิดอารมณ์โกรธ และอาจทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นได้ ซึ่งแน่นอนว่าผลของการกระทำย่อมรุนแรงกว่า ผู้ป่วยบางคนหากได้ทำความผิดลงไปอาจเลือกที่จะทดแทนความผิดนั้น ด้วยการทำตัวให้เข้มแข็งเพื่อปกปิดสิ่งที่เป็นปมด้อยนั้นไว้ บางคนอาจมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและเข้าสังคมไม่ได้
6. ขาดสมาธิ
ผู้เชี่ยวชาญบางท่าน กล่าวว่าเมื่อเราเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้น สมอง และหน่วยปฏิบัติงานทุกอย่างของร่างกายจะเกิดความล้มเหลวและเชื่องช้า เหมือนหน่วยปฏิบัติงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลช้า เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าจะเกิดความคิดในแง่ลบมารบกวนจิตใจตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้เต็มที่ ผู้ป่วยจะไม่สามารถคงตนให้อยู่กับงานเพียงอย่างเดียวได้ สมาธิสั้น และไม่สามารถรับส่งข้อมูลต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม
7. เครียด
บางครั้งผู้ป่วยอาจสับสนระหว่าง “เครียด” กับ “ซึมเศร้า” ซึ่งทั้งสองภาวะนี้อาจเป็นเหตุหรือผลซึ่งกันและกันก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการเครียดง่าย เจออะไรก็เครียด เครียดแล้วก็เศร้า ในขณะเดียวกันในคนที่เครียดบ่อย ๆ ความเครียดอาจเป็นตัวชักนำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสมอง พร้อมทั้งเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาก็ได้
8. ภาวะวิตกกังวล
ถือเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวช ผู้ป่วยมักวิตกกับเรื่องทุกเรื่องที่อยู่รอบตัวจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย พบว่าภาวะวิตกกังวลมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า
9. ติดยา
จากการศึกษาพบว่า ในคนที่ดื่มสุราประจำพบว่ามีภาวะซึมเศร้าถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา นอกจากนั้นยังพบภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดอีกด้วยซึ่งพบได้บ่อยมากในเพศชาย บางครั้งมักเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่ว่าเมื่อมีอาการของภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นก็พยายามที่จะหาสารเคมีต่าง ๆ มาช่วยเพื่อกดอาการเหล่านั้นให้ลดลง ทำให้ผู้ป่วยติดยาเสพติดในที่สุด
10. ความผิดปกติทางเพศ
เป็นสิ่งที่พบบ่อยมากสำหรับผู้ป่วยภาวะซึมเศร้ามักมาพบแพทย์ด้วยอาการไม่มีความสนใจ หรือกระตือรือร้นทางเพศ บางคนอาจมาด้วยนกเขาไม่ขัน แน่นอนว่าสิ่งนี้คือความภาคภูมิใจของผู้ชายทุกคน หากเกิดความผิดปกติทางเพศขึ้นย่อมทำให้ผู้ป่วยที่เดิมซึมเศร้าอยู่แล้ว อาการซึมเศร้ายิ่งรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติทางเพศดังกล่าวนี้อาจเป็นผลจากความผิดปกติทางกายอย่างอื่นก็ได้ หรืออาจเป็นผลจากยาบางชนิดก็ได้ ดังนั้น มีความจำเป็นต้องหาสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ให้หมดเสียก่อน ก่อนตัดสินใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
11. ไม่กล้าตัดสินใจ
เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดสมาธิ เมื่อไม่สามารถคงตนอยู่กับงานต่าง ๆ ได้แล้ว การตัดสินใจต่าง ๆ ย่อมทำได้ไม่ดีไปด้วย บางครั้งทำไม่ได้แม้กระทั่งเสนอทางเลือกให้กับงานที่ทำ
12. ความคิดฆ่าตัวตาย
สิ่งนี้พบบ่อยกว่าในเพศหญิง แต่ส่วนใหญ่มักไม่ถึงตาย ในขณะที่ถ้าเพศชายมีความคิดฆ่าตัวตายแล้ว มักทำได้สำเร็จและทำได้ในครั้งแรกที่ลงมือด้วย ปัจจัยอีกข้อที่สำคัญ คือ อายุ พบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้ามีโอกาสฆ่าตัวตายได้มากกว่า และพบว่าร้อยละ 70 ของผู้ตายเคยมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการต่าง ๆ ของภาวะซึมเศร้าแล้วในช่วง 1 เดือนก่อนฆ่าตัวตาย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่สิ่งปกติสำหรับผู้สูงอายุ อย่าละเลยที่จะดูแลจิตใจของผู้สูงอายุ และเฝ้าระวังอาการแสดงต่าง ๆ ที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ก่อนที่ผู้สูงอายุจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย
สัญญาณเตือนทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมาถือเป็นลักษณะที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ป่วยเพศชายที่มีภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าหากมีอาการเหล่านี้แล้วท่านชายทุกคนจะต้องเป็นโรคซึมเศร้า ทางที่ดีที่สุด หากไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนเองเผชิญอยู่อย่าลืมมาปรึกษาแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้านได้ ก่อนที่อาการของโรคจะลุกลาม รุนแรง จนยากเกินเยียวยา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : healthline .(2008) .12 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าสำหรับท่านชาย .12 ธันวาคม 2558.
แหล่งที่มา: www.healthline.com
ภาพประกอบจาก : www.ayushveda.com