งานแบบนี้ เสี่ยงนอนไม่หลับ นอนไม่พอ
ร่างกายของคนเรา คุ้นเคยกับการทำกิจกรรมในตอนกลางวันและพักผ่อนในตอนกลางคืน โดยมีสมองและฮอร์โมนคอยควบคุมชีวิต ให้ดำเนินไปตามวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) อย่างไรก็ตาม การทำงานในบางอาชีพ เป็นอุปสรรคสำคัญในการที่ปฏิบัติตัวตามวงจรนี้ มาดูว่ามีอาชีพอะไรบ้าง
1. ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ
ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ท้าทาย แต่บางครั้งการทำงานโดยต้องปลุกตัวเองให้ตื่นตัวตลอดทั้งคืน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย นั่นเป็นเพราะรูปแบบการทำงาน ขัดกันกับวงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย ส่งผลให้นอนหลับไม่พอ เกิดการหลับในอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะกับคนที่มีอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ
2. ผู้ดูแลระบบออนไลน์
ในขณะที่ข้อดีของระบบเครือข่ายออนไลน์ในปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการในการสั่งซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคได้อย่างสะดวกสบายตลอด 24 ชั่วโมง แต่ข้อเสียที่ไม่อาจมองข้าม คือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลระบบจะต้องอดหลับอดนอน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลระบบ อาจนำมาซึ่งภาวะ นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย
3. คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในกะกลางคืน และพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง การดำเนินชีวิตแบบนี้ นอกจากมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงานกับเครื่องจักรแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน
และโรคซึมเศร้า
4. ผู้บริหาร
สำหรับผู้บริหารแล้ว ความเครียดในการบริหารงาน บริหารคน บวกกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ส่งผลกระทบโดยตรงกับการพักผ่อน ยิ่งใช้ชั่วโมงในการทำงานมากเท่าไหร่ ช่วงเวลาการพักผ่อน รวมถึงการนอนก็น้อยลงไปเท่านั้น และการนอนน้อย ก็ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
5. นักข่าว
ในชั่วโมงที่การนำเสนอข่าวแข่งกันด้วยความสด อาชีพนักข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้ผลิตรายการ แทบจะต้องใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมง อุทิศให้กับการผลิตและรายงานข่าวให้ทันเหตุการณ์ การทำงานเช้ายันเช้า หรือเย็นจนถึงดึกดื่นอีกคืน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอาชีพนี้
6. พยาบาล
การดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล เป็นงานหนัก ต้องใช้ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน พยาบาลแทบทุกคนทำงานและเข้าเวร มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน (ส่วนใหญ่อยู่ที่ 12 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ ) ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพแล้ว ยังลามไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานให้กับประชาชนอีกด้วย
7. นักวิเคราะห์ทางการเงิน
ยิ่งเป็นนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศ เช่น ยุโรป หรือเอเชีย ความต่างของเวลา ทำให้ร่างกายและสมองต้องปรับตัว ปรับชั่วโมงการทำงานที่ผิดจากเวลาปกติ นานวันไปจะส่งผลเสียต่อวงจรนาฬิกาชีวภาพของร่างกายได้
8. ตำรวจ
งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามปรับตัว ให้พร้อมกับการเข้าเวรในกะเช้าและกะกลางคืนหมุนเวียนกันไป
9. แพทย์ฝึกหัด
แม้จะคุ้นเคยกับการอดหลับอดนอน ในการเรียนการสอบตอนเป็นนักเรียนแพทย์ แต่ภาวะนั้นไม่ได้จบลง การเป็นแพทย์ฝึกหัดที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตอนกลางคืน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กับแพทย์หลายคน รวมทั้งการนอนน้อย ยังอาจส่งผลต่อความผิดพลาดในการวินิจฉัยผู้ป่วยอีกด้วย
10. นักบิน
อาชีพนักบินกับการอดนอน และนอนในเวลาที่แตกต่างแทบจะเป็นของคู่กัน ทั้งนักบินที่บินระยะสั้นแต่หลายเที่ยวบิน หรือนักบินที่บินทางไกลข้ามทวีป จะต้องเจอปัญหาการบินข้ามเวลามาซ้ำเติม การนอนหลับให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันความอ่อนล้า หรือ Pilot Fatigue ซึ่งจะทำให้คุณภาพการทำงานของนักบินลดลง กระทบต่อการตัดสินใจ และความปลอดภัยในการบิน
11. ครอบครัวที่มีลูกอ่อน
เลิกคิดถึงการนอนหลับยาว ๆ เมื่อเจ้าตัวน้อยพร้อมจะตื่นทุกสองสามชั่วโมงตลอดคืน งานวิจัยพบว่าคุณแม่มือใหม่อาจได้นอนถึง 7 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่การนอนที่มีคุณภาพไม่มีทางหลับสนิทได้ แต่โชคดีที่สถานการณ์นี้จะคลี่คลายขึ้น เมื่อ 16 สัปดาห์ผ่านไป
12. คนขับรถบรรทุก
เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรในช่วงกลางวัน การเดินทางในเวลากลางคืน คือ เวลาที่คนขับรถนิยม แต่มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่เกิดจากการหลับในของคนขับ
13. บาร์เทนเดอร์
งานกลางคืนที่หลายคนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ยิ่งดึกยิ่งตาสว่าง แต่นั่นหมายถึงสมดุลในการนอนตามธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวงจรนาฬิกาชีวภาพกำลังถูกทำลายไป โดยไม่รู้ตัว
อดนอนเป็นอาชีพ ส่งผลเสียอย่างไร
การนอนผิดเวลาบ่อย ๆ ทำให้วงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน วงจรการหลับและตื่นถูกรบกวน หลายคนต้องประสบปัญหานอนไม่หลับ ตามมาด้วยความรู้สึกอ่อนเพลียหลับยาก หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพอีกมากมาย
อย่าเพิ่งตกใจ ทางแก้ยังมี
- พยายามปรับเวลาเข้านอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
- สร้างบรรยากาศการนอนให้เป็นเหมือนเวลากลางคืนมากที่สุด
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแสงไฟ ไม่มีเสียงดังรบกวน
- ในเวลาทำงานกะดึก พยายามหาเวลางีบบ้างซัก 15-30 นาที
- เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ช่วยซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ
- ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แถมช่วยให้หลับสนิทขึ้น
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com